“อรรถาธิบาย ซิยารัตญามิอะฮ์กะบีเราะฮ์” บทเรียนที่ 1 ตอนที่ 2

1265

“อรรถาธิบาย ซิยารัตญามิอะฮ์กะบีเราะฮ์”

บทเรียนที่ 1 ตอนที่ 2(19 มิถุนายน 2558=ค่ำคืนที่ 3 รอมฎอน 1436)

♔ اللهم صل على محمد وال محمد ♔

 

♔ คำว่า “ตักวา” เพียงคำเดียว ทำให้มนุษย์เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างมากมาย ♔

ตักวาคืออะไร ?

เราบอกว่าให้เดินอย่างระวัง นั้นเดินอย่างไร ?

เราต้องทำความรู้จัก คำว่า ‘ตักวา’ ที่มีรากศัพท์มาจาก คำว่า ‘วะ กอ ยา’(«و ق ی») ที่หมายถึง การขจัดภัยให้พ้นตัว

การระมัดระวัง คืออะไร ?

เราเข้าใจความหมายของคำว่าตักวาดีแค่ไหน ?

ตักวาจากสิ่งใด เกรงกลัวจากสิ่งใด บางโองการกล่าวให้เกรงกลัวอัลลอฮ(ซบ) และการเกรงกลัวอัลลอฮ (ซบ)นั้น เกรงกลัวแบบไหน ?
เนื้อหาของการมีตักวา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบางโองการกล่าวให้เกรงกลัวนรก เกรงอะไร แบบไหน?
ตัวอย่าง

คำพูดที่มี ‘ตักวา’ ก็คือ คำพูดที่อัลลอฮ (ซบ) ทรงพึงพอใจต่อคำพูดนั้น

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า อัลลอฮ(ซบ) ทรงพึงพอใจหรือไม่พอใจ ในคำพูดของเรา แน่นอนว่า การนินทา การให้ร้าย การป้ายสี หรือ คำพูดที่เป็นบาป การพูดมาก การพูดในสิ่งไร้สาระ คือ คำพูดที่อัลลอฮ (ซบ) ไม่พึงพอใจ และยังมีกรณีที่หากไม่พูด พระองค์ก็ไม่พึงพอใจอีกเช่นกัน

ดังนั้น ในบางครั้งการแยกแยะก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดาย ความเข้าใจเหล่านี้ยังเป็นเพียง ความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น แม้แต่การขอดุอาอฺของมนุษย์ ก็ยังต้องมีตักวาอยู่ในดุอาอฺนั้นด้วย

ขอด้วยความยำเกรงหมายความว่าอย่างไร ?

อะไรที่เราควรขอจากพระองค์

อะไร คือ สิ่งที่เราไม่ควรขอจากพระองค์

จะเห็นได้ว่า มีเรื่องมากมายในชีวิตที่เราจะต้องเรียนรู้จากคำว่า”ตักวา”เพียงคำเดียว

 

♔ปราศจากแบบอย่างที่สมบูรณ์ มนุษย์ไม่อาจเข้าใจความหมายของ“ตักวา”อย่างแท้จริง ♔
ดังนั้น ปราศจากแบบอย่าง ปราศจากผู้สอน ปราศจากบุคคลที่ เข้าใจตักวาอย่างแท้จริง ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถเข้าใจความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า “ตักวา”

ในหัวข้อนี้ เรากำลังทำความเข้าใจ ซียารัต ญะมีอะฮฺ กะบีเราะฮฺ ซึ่งเป็นซียารัตที่เปิดเผยสถานภาพของอะฮลุลบัยต์ (อ)

เรากำลังยืนยัน กับ บรรดา อะฮลุลบัยต์(อ) ในประโยคนี้ว่าพวกเขาคือ ………
(واعلام التقی)
“อะอฺลามุตตุกอ”
พวกเขา(บรรดา อะฮลุลบัยต์ อ.) คือ สัญลักษณ์แห่งตักวา ไม่เพียงเป็นผู้ที่มีตักวาเท่านั้น ทว่าพวกเขาคือ สัญลักษณ์ของตักวา
ตัวอย่าง

เพื่ออธิบายให้พี่น้องเข้าใจได้ง่ายขึ้น คือ เขาไม่ได้เป็นเพียงบุคคลที่ขับขี่ตามกฎจราจร แต่เขาคือ กฎจราจร

(ไม่เพียงแต่พวกเขาจะเป็นผู้ปฏิบัติจราจรเท่านั้น ด้วยประโยคนี้ พวกเขาคือ กฎจราจร !! )

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ต้องการขับขี่อย่างปลอดภัย จะต้องปฏิบัติตามพวกเขาทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นเดียวกันกับการเดินทางกลับสู่อัลลอฮ(ซบ) การมีตักวา จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการเดินทาง และผู้ใดที่ต้องการทำความเข้าใจความหมายของ “ตักวา” ในการเดินทางครั้งนี้ เขาจะต้องทำความเข้าใจผ่านบรรดาอะฮลุลบัยต์(อ) เพราะพวกเขา คือ ตัวตนแห่งตักวา ทุกการปฏิบัติ ทุกคำพูด ทุกความคิด ทุกความรู้สึกของพวกเขา คือ ‘อัตตุกอ’ (ตัวตนแห่งตักวา)
ดังนั้น การที่เรายืนยันว่า อะฮลุลบัยต์ คือ (واعلام التقی)”วะอะลามุตตฺกอ” เราก็จะต้องรู้หน้าที่ของเราต่อสิ่งนี้ คือ ทุกย่างก้าวในชีวิตของเรา จะต้องย่างก้าวตามอะฮลุลบัยต์(อ) หรือทุกบริบทแห่งการทดสอบ ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา หนทางที่จะหลุดพ้นจากเหตุการณ์ และบททดสอบที่เกิดขึ้น ก็คือ แบบฉบับของอะฮลุลบัยต์(อ)

“ปราศจากแบบฉบับนี้ ไม่มีวันที่มนุษย์จะรอดพ้นจากทุกภยันตราย ที่เขาจะต้องพบในเส้นทางนี้”

เราจะเห็นว่า บรรดาอะฮลุลบัยต์(อ) ต่างมีฉายานามในลักษณะนี้ เช่นท่าน อิมามอาลี (อ) ท่านคือ อิมามุลมุตตะกีน หรือ นายแห่งบรรดาผู้ยำเกรง คือแบบฉบับของผู้ยำเกรง
ดังนั้น เมื่อเจาะลึกลงไป คำว่า ‘ตักวา’ จึงมีความละเอียดอ่อน และมีความลึกซึ้ง จะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนกับการเดินบนเส้นทางที่เล็กกว่าเส้นผม คมกว่าใบมีด ตักวาก็เช่นกันมีรายละเอียดมากเช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่า ไม่นินทาคนแล้ว เราจะได้ตักวาทันที แต่หมายถึง ทุกความรู้สึกนึกคิดจะต้องมีตักวา ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ แบบฉบับของ ท่านอมีรุลมุอมีนีน (อ)
♔ แบบอย่างการมีตักวาอย่างลึกซึ้งของท่านอิมามอาลี(อ) ♔

ในสงครามซิฟฟิน กองทัพมีการยกทัพไปถึง สถานที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า ‘ซิฟฟิน’ ในสถานที่แห่งนั้น มีแอ่งน้ำอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้กองทัพของมุอาวียะฮฺ ได้รุดหน้าไปถึงสถานที่แห่งนั้นและทำการยึดแหล่งน้ำ จึงเป็นเหตุทำให้กองทัพของอิมาม อาลี(อ) ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำนี้ได้

ขณะเดียวกันมุอาวียะฮฺ ได้ออกคำสั่งกับทหารของตนว่า ไม่อนุญาตให้กองทัพฝ่ายอาลี(อ) มาตักน้ำดื่มกิน ด้วยคำสั่งห้ามดังกล่าว กลับทำให้กองทัพฝ่ายอิสลามได้รับประโยชน์ เมื่อขาดน้ำหลายวันกองทัพของอิมาม(อ) ก็เกิดความฮึกเหิมขึ้น เพื่อชิงแหล่งน้ำคืนมา จึงได้ตีทัพของมุอาวียะฮฺ จนฝ่ายมุอาวียะฮต้องสั่งถอยทัพ และทำให้กองทัพฝ่ายอิสลามเข้าถึงแหล่งน้ำอีกครั้ง

ทหารบางกลุ่มของอิมามอาลี(อ)ต้องการเอาคืน จึงเสนอห้ามให้ทัพฝ่ายศัตรูมาตักน้ำ
หากเราพิจารณาเชิงกลยุทธในศึกสงคราม หากจะทำเช่นนั้น ถือว่าย่อมทำได้ และถ้าอิมาม อาลี(อ)จะห้ามไม่ให้ ทัพฝ่ายศัตรูดื่มน้ำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน เพราะในประวัติศาสตร์ ทุกแม่ทัพก็เคยทำเช่นนี้ แต่ท่านอิมามอาลี(อ) มิได้กระทำเช่นนั้น อีกทั้งยังกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ท่านได้อนุญาตให้ฝ่ายศัตรูมาตักน้ำ เพราะท่านถือว่าเขาเป็นมนุษย์ และสิทธิของการดื่มกิน ยังคงมีอยู่
อิมามอาลี(อ) ประกาศ ไม่อนุญาตให้ทหารในทัพของท่าน ทำแบบเดียวกับมุอาวียะฮฺ ท่านกล่าวว่า…

“ถ้าเราทำแบบที่มุอาวียะฮฺทำ เรากับมุอาวียะฮฺ ก็จะไม่แตกต่างกัน ”
นี่คือ ความหมายของตักวา ในทุกๆด้านของชีวิต แม้แต่ในสงคราม ก็บัญชาการด้วยตักวา เป็นอีกคุณลักษณะหนึ่งที่พระองค์ต้องการสำแดงให้ประจักษ์ ในแบบฉบับของ ‘อิมามุลมุตตากีน’
และ ‘ตักวา’ ที่สำคัญและละเอียดอ่อนมากกว่านั้น กล่าวคือ เมื่อครั้งเกิดสงครามคอนดัก หรือ สงครามสนามเพลาะ ท่านอิมามอาลี(อ) สามารถล้มแม่ทัพฝ่ายมุชรีกีนคนหนึ่งได้สำเร็จ ในขณะที่แม่ทัพมุชรีกีนนอนบาดเจ็บล้มอยู่บนพื้นทราย ในช่วงที่ท่านกำลังเงื้อดาบจะปลิดชีพ พลันแม่ทัพคนนั้น ได้ถ่มน้ำลายใส่หน้าท่านอิมามอาลี(อ) และก่นด่าในคำที่ไม่เหมาะสม

อิมามอาลี(อ) จึงชะงักไปครู่หนึ่ง และถอยออก เดินไปเดินมาหลายรอบ เมื่อสงบ จึงหันกลับไปเงื้อดาบปลิดชีพศัตรูทันที

เดิมทีไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจ ว่า ทำไมท่านจึงแสดงออกเช่นนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ทุกคนถามท่านอิมามว่า…

ยาอาลี(อ) …ทำไมท่านถึงไม่ปลิดชีพมันไปเสียเลย ในตอนที่มันได้ถ่มน้ำลายและก่นด่าใส่ท่าน ?

ท่านอิมามตอบว่า “ในช่วงที่มันถ่มน้ำลาย และก่นด่าใส่ฉัน ฉันรู้สึกได้ถึงความโกรธ โมโห ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนตัวฉันไม่มีความโมโห แต่เมื่อมันได้ทำเช่นนั้น ทำให้ฉันเกิดบันดาลโทสะขึ้นมา ฉันจึงยั้งมือเอาไว้ก่อน เพราะฉันไม่ต้องการให้ความแค้นส่วนตัวปะปนกับการสังหารเพื่อพระเจ้าของฉัน

มิฉะนั้น หากฉันสังหารด้วยความแค้น การงานของฉัน ก็จะไม่บริสุทธิ์ มันจะไม่ใช่เพื่ออัลลอฮ(ซบ) อย่างสมบูรณ์ ฉันจึงถอยออกเพื่อให้เกิดความสงบก่อน ด้วยการนิ่งสงบและเมื่อสยบโทสะได้แล้ว ฉันจึงสังหารมัน ในฐานะที่มันเป็นศัตรูของอัลลอฮ(ซบ)

นี่คือ ข้อพิสูจน์ การตักวาของอะฮลุลบัยต์

จะเห็นได้ว่า ตักวาของบุคคลในระดับนี้ มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง พวกเขามีความยำเกรง มีความเกรงกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า ทุกๆการกระทำ ทุกๆคำพูด ทุกๆคมดาบที่ฟาดฟันศัตรู ไม่ใช่เพื่อความสะใจ ไม่ใช่ความแค้นส่วนตัวใดๆมาปะปนในการเคลื่อนไหว เพราะพวกเขามีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮ(ซบ) พวกเขารู้ว่า พระองค์กำลังจ้องมองและพระองค์รู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์

♔ จงตักวาต่อพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงได้ยินทุกคำพูด พระผู้ทรงรู้ถึงสิ่งที่ปกปิดในหัวใจ ♔

قال أمير المؤمنين (عليه السلام): أيّها الناس اتّقوا الله الذي إن قلتم سمع

ท่านอมีรุลมุอฺมีนีน(อ) ได้กล่าวว่า “โอ้มนุษยชาติ จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮ ผู้ซึ่งทรงได้ยินเมื่อพวกเจ้าพูด”

คำอธิบาย : ไม่มีคำพูดใดของเรา ที่เมื่อเปล่งเสียงออกไปแล้ว พระองค์จะไม่ได้ยิน หมายความว่าพระองค์ทรงได้ยิน ทุกคำพูดของมนุษย์ หากให้ร้ายใคร นินทาใคร ดูถูกใคร โกหกใคร พระองค์ทรงได้ยินทุกสิ่งที่เราพูด

وإن أضمرتم عِلم
และถ้าเจ้าซ่อนเร้นพระองค์ทรงรับรู้ [4]

คำอธิบาย จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮ(ซบ) ผู้ซึ่งได้ยินทุกสิ่งที่เจ้าพูด และไม่ว่าเจ้าจะเก็บซ่อนสิ่งใดไว้ในใจ พระองค์ก็ทรงรับรู้ถึงสิ่งนั้น บางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งผู้อื่นไม่ได้รับรู้ ก็คือ สิ่งที่พระองค์ทรงรับรู้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่าง

หากอิมามอาลี(อ) ฟาดฟันศัตรูของอิสลาม ด้วยโทสะ ก็ไม่มีมนุษย์คนใดรับรู้ แต่สาเหตุที่ทำให้ท่านอิมามอาลี(อ) ยั้งมือ เป็นเพราะท่านอิมามรู้ว่า พระองค์ทรงรู้ว่า ท่านกำลังโกรธในเรื่องส่วนตัว

นี่คือ ตักวาที่ท่านอิมามอาลี(อ) มีอยู่ ท่านจึงไม่เคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง จนกว่าจะทำให้ อามั้ลนั้นมีความบริสุทธิ์

คนที่มีความคิดเช่นนี้เท่านั้น คือ คนที่มีตักวา เพราะเขารำลึกอยู่เสมอว่า อัลลอฮ(ซบ) ทรงรู้ทุกการกระทำ ทุกคำพูด ทุกความรู้สึก ทุกความคิด แม้แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ เพราะแม้แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของมนุษย์ ในวันหนึ่ง พระองค์ก็จะนำมาสอบสวน
นี่คือ แบบอย่างของท่านอิมามอาลี (อ) ท่านคือ ผู้ที่ตระหนักอยู่เสมอว่า พระองค์รับรู้ ในชีวิตทุกย่างก้าว ของเรา ทั้งหมดอย่างสมบูรณ์

เราได้ยกตัวอย่างของอิมามอาลี(อ) เพื่ออธิบายถึงความละเอียดอ่อนของการมีตักวาอย่างสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่า คุณลักษณะบุคคลในระดับนี้ ด้วยกับความละเอียดอ่อนในเรื่องของการตักวา จึงทำให้พวกเขาไม่อาจปล่อยให้เวลาในยามกลางคืนผ่านไป โดยไม่ลุกขึ้นมานมาซ อีกทั้งพวกเขาไม่สามารถจะข่มตาหลับได้และจะต้องรู้ให้ได้ว่าในค่ำคืนนี้ ยังมีคนที่หิวโหยอยู่อีกไหม หากหลับลงไปในสภาพนี้ที่มีคนหิวกระหาย พระองค์จะพอใจไหม นี่คือ ความหมายของ ตักวาของพวกเขา
ดังนั้น อย่าได้สรุป หรือ จำกัดความว่า ‘การมีตักวา’ จะจบเพียงแค่ไม่นินทาคน ทว่าวิถีชีวิตของเรา จะต้องดำเนินไปในรูปแบบนี้ คือ รูปแบบของผู้ที่มีตักวา

ผู้มีตักวา เมื่อเขาอิ่ม เขาจะต้องรู้ว่า ยังมีใครอื่นหิวอีกไหม?

เขาจะต้องรู้ว่า ยังมีใครเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือหรือไม่?

เมื่อทำสงคราม ก็จะต้องทำสงครามอย่างมีตักวา เมื่อเขาบริจาค เขาก็จะต้องไม่โอ้อวด
ตักวา คือ เครื่องมือที่ดีที่สุดของมนุษย์ ในการเดินทาง และในการเดินทางมนุษย์จะต้องระมัดระวังอันตรายต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ทำไมเราถึงต้องระวัง เพราะเราคือ ผู้เดินทาง พลาดเมื่อไหร่ ออกนอกเส้นทางทันที ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ และเราไม่รู้ว่าโอกาสในการเริ่มใหม่ยังมีอยู่อีกหรือไม่ ฉะนั้น มนุษย์จะต้องเดินอย่างระมัดระวัง ต้องตักวาในทุกย่างก้าวของชีวิต ด้วยแบบฉบับของอะฮลุลบัยต์(อ)

 

♔ คำแนะนำจาก ซัยยิดอาลี คาเมเนอีย์ ในเรื่องการมีมะอฺรีฟัตต่อศาสดา ♔
เราทุกคนอยู่บน “ซีรอฏอลมุสตากีม” และการเดินทางในครั้งนี้ ไม่สิ้นสุดจนกว่า วิญญาณจะออกจากร่าง ตราบใดที่วิญญาณยังไม่ออกจากร่าง การเดินทางนี้ ก็ยังไม่จบ

ตัวอย่าง

ระยะทางมี 100 ก้าว เราเดินมาแล้ว 99 ก้าว ถ้าหากมาล้มที่ 99 ก็ไม่พบกับความสำเร็จ ในประวัติศาสตร์ มีตัวอย่างบุคคลที่ล้มเหลวอย่างมากมาย เพราะวิถีชีวิตไม่มีตักวา

ซัยยิดอาลี คาเมเนอีย์ ผู้นำสูงสุด เคยนำเสนอเรื่องที่ดีที่สุด ว่า หากต้องการทำความเข้าใจ “มะอฺรีฟัต” ในศาสนา ให้ดูตัวอย่าง วิถีดำเนินชีวิตของ ชิมรฺ อิบนิ ซิลเญาชัน (ลน)
ในยุคสมัยอิมามอาลี(อ) ชิมรฺ อิบนิ ซิลเญาชัน (ลน) ได้ไปถึง ชายแดนของการเป็นชะฮีด ใกล้ที่จะได้เป็นชะฮีดในอ้อมกอดของอิมามอาลี(อ)แล้ว เนื่องจากได้รับบาดเจ็บสาหัส ในสงครามซิฟฟิน ณ เหตุการณ์นั้นชิมรฺเกือบจะได้เป็นชะฮีดในฐานะผู้ที่ร่วมรบเคียงค้างอิมามอาลี(อ) แต่ทำไม ชิมรฺคนนี้กลับกลายเป็น ฆาตกรที่สังหาร อิมามฮูเซน(อ) ในกัรบาลาอฺ
คำถาม :ทำไม ชิมรฺ อิบนิ ซิลเญาชัน (ลน) ถึง เปลี่ยนแปลงได้ถึงเพียงนี้

คำตอบ : เพราะวิถีการดำเนินชีวิตของชิมรฺ คือ วิถีชีวิตที่ขาดตักวา ขาดความยำเกรงต่ออัลลอฮ (ซบ) การลืมพระองค์อัลลอฮ เพียงเสี้ยววินาทีเดียว ก็อาจทำให้มนุษย์หลุดจากเส้นทางแห่งซีรอฏอลมุสตากีม

เส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่อันตรายเป็นอย่างมาก มีศัตรูจำนวนมาก รอโจมตีอยู่ทุกทิศทาง จนกว่าวิญญาณของมนุษย์จะออกจากร่าง

ดังนั้น ตราบใดที่วิญญาณยังไม่ออกจากร่าง มนุษย์จะต้องมีตักวาทุกการกระทำ ทุกคำพูดอยู่เสมอ

บางคนสอบตกในเรื่องเล็กๆ หรือ เรื่องไม่เป็นเรื่อง
บางคน หลุดออกจากเส้นทางโดยไม่รู้ตัว

จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่วิญญาณยังไม่ออกจากร่าง จงรับรู้ไว้เถิดว่า การเดินทางจะต้องมีต่อไป เมื่อยังเป็นผู้เดินทางอยู่ สิ่งที่จะลืมไม่ได้ ก็คือ ตักวา และเมื่อการเดินทางยิ่งไกล รายละเอียดของตักวา ก็จะต้องมีมากยิ่งขึ้น

เราจะต้องเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตได้ตามแบบฉบับของอะฮลุลบัยต์(อ) เพราะไม่มีใครสามารถอธิบายถึงรายละเอียดของตักวาได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์เท่ากับคำสั่งสอนและแบบอย่าง และ ด้วยวิธีการนำตัวอย่าง จากอะฮ์ลุลบัยต์(อ) มาแก้ไขชีวิตของเรา
หากจะถามว่า ทำไม ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) จึงต้องบริจาค ชุดแต่งงานของท่านในวันแต่งงานด้วยให้กับขอทาน

คำตอบ เพราะท่านมีตักวา เพราะไม่รู้ว่า พระองค์จะทรงพึงพอใจไหม เมื่อเห็นท่านใส่ชุดแต่งงาน ในขณะที่คนอีกคนหนึ่ง ไม่มีเสื้อผ้าที่จะสวมใส่

แน่นอนว่า เรามีสิทธิมีเสื้อผ้าสวมใส่ที่สวยงาม แต่พวกเขา(บรรดาอะฮ์ลุลเบต)คิดถึงความพึงพอใจของพระเจ้าไว้ก่อนเสมอ
นี่คือ ตักวาของบรรดาอะฮฺลุลบัยต์ ในแบบอย่างของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) เราจะเห็นแบบอย่างและเรื่องราวในลักษณะนี้อย่างมากมาย เช่น เรื่องการให้ทานแก่เชลยศึก เด็กกำพร้า และผู้ยากไร้

ทั้งๆที่ตัวท่านหญิงก็หิวกระหาย แต่ท่านหญิงยังตอบว่า ฉันไม่ได้ต้องการคำขอบคุณของพวกท่าน แต่ฉันทำเพื่อพระองค์อัลลอฮ (ซบ) บ่งบอกว่า ท่านหญิงให้ความสำคัญยังเอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ยอมให้ตัวเองหิว เพื่อให้อีกคนอิ่ม เพราะถ้าเราหิว เราไม่ต้องตอบอะไรกับพระองค์อีก แต่หากเราอิ่ม แต่อีกคนหิว ก็จะไม่มีคำตอบใดๆให้กับอัลลอฮ(ซบ)ด้วยเช่นกัน นี่คือ ความหมาย ของ ตักวา
ดังนั้น อะฮลุลบัยต์ คือ แบบฉบับของตักวา คือ แบบฉบับของการเกรงกลัวต่ออัลลอฮ (ซบ)
หากเราต้องการทำความเข้าใจ คำว่า ตักวา คือ อะไร ?

จงเข้าไปดูในวิถีชีวิตของอะฮลุลบัยต์(อ) เหมาะสมอย่างยิ่งที่ซียารัตบทนี้ได้กล่าวถึงอะหลุลเบต์ว่า (واعلام التقی)”วะอะลามุตตฺกอ” พวกท่านไม่ได้เป็นเพียงผู้มีตักวาเท่านั้น ทว่า พวกท่านคือ สัญลักษณ์ของตักวา เป็นองค์คุณของตักวา หรือคือ ตัวตนของตักวานั่นเอง……….
อ้างอิง
[1] ซูเราะฮ บากอเราะฮ์ โองการที่ 156
[2] ซูเราะฮอะอฺรอฟ โองการที่ 16
[3] ซูเราะฮ อะอฺรอฟ โองการที่ 17
[4] روضة الواعظين، باب الزهد والتقوى 2: 437، البحار 70: 283; نهج البلاغة: قصار الحكم 203

♔ اللهم صل على محمد وال محمد ♔

♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔
อรรถาธิบาย ซิยารัตญามิอะฮ์กะบีเราะฮ์

บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

ณ มัสยิดรุฮุลลอฮ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ศ 19 มิถุนายน 2558 = ค่ำคืนที่ 3 รอมฎอน 1436

ถอดบทความโดย : มูฮำหมัดเบเฮสตี้ บิน อิสกันดาร์

ภาพประกอบโดย มูฮัมหมัดฮูซัยนี บิน ซัมซูดีน

♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔