“อรรถาธิบาย ซิยารัตญามิอะฮ์กะบีเราะฮ์” บทเรียนที่ 1 ตอนที่ 1

1370

“อรรถาธิบาย ซิยารัตญามิอะฮ์กะบีเราะฮ์”

บทเรียนที่ 1 (19 มิถุนายน 2558=ค่ำคืนที่ 3 รอมฎอน 1436)

 
♔ أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ ♔
♔ بسم الله الرحمن الرحيم ♔
♔ الحمد لله الذیی لو لا ان هدآنا الله ♔
♔ثم الصلوة والسلام علی حبیبنا وشفیعنا ومولانا محمد ♔

♔ اللهم صل على محمد وال محمد ♔
وعلی اهل بیته الطیبین الطاهرین المعصومین والمظلومین و لعنة الله علی اعدائهم اجمعین
من الان الی قیام یوم الدین
رَبِّ اشْرَحْ لِي صَدْرِي وَيَسِّرْ لِي أَمْرِي وَاحْلُلْ عُقْدَةً مِّن لِّسَانِي يَفْقَهُوا قَوْلِي

 

وعلی اهل بیته الطیبین الطاهرین المعصومین والمظلومین
و لعنة الله علی اعدائهم اجمعین
من الان الی قیام یوم الدین
رَبِّ اشْرَحْ لِي صَدْرِي وَيَسِّرْ لِي أَمْرِي
وَاحْلُلْ عُقْدَةً مِّن لِّسَانِي يَفْقَهُوا قَوْلِي


♔ السلام عليكم ورحمة الله وبركاته ♔
อัลฮัมดูลิลลาฮ ก่อนอื่นขอชูโกรในเนียะมัตและเตาฟิกต่างๆ ที่เอกองค์ อัลลอฮ (ซบ) ได้ประทานให้กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเนียะมัตและเตาฟิก แห่งเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการทำอิบาดัต เดือนแห่งการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ เดือนแห่งบะรอกัต เดือนที่พระองค์มอบความโปรดปรานเป็นพิเศษแด่ปวงบ่าวของพระองค์ และเตาฟิกที่สำคัญที่สุดที่พระองค์ทรงมอบให้เราในเดือนนี้ คือเตาฟิกแห่งการแสวงหาความรู้ เตาฟิกแห่งวิชาการ เตาฟิกแห่งจิตวิญญาณ หรือ มะอฺนาวีย์ ที่พวกเราทุกคนจะต้องให้ความสำคัญ

 

♔ ความรู้ในศาสนา คือ สิ่งที่นำมาสู่มะอฺรีฟัต ♔
ความรู้ในศาสนานั้น นำไปสู่การได้มาซึ่งมะอฺรีฟัต และมะอฺรีฟัต คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จทุกๆด้านในการนับถือศาสนา และหัวข้อที่เราได้เรียนรู้ไป คือ หัวข้อเกี่ยวกับการมีมะอฺรีฟัตต่ออะอิมมะฮฺ ต่ออะฮลุลบัยต์ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการยึดมั่นต่อแนวทางนี้
เนื้อหาที่เราได้เลือกขึ้นมาสอน เป็นเนื้อหาที่อยู่ในบทซียารัตบทหนึ่ง คือ ซียารัตญะมีอะฮฺกะบีเราะฮ เป็นซียารัตที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรดาอะอิมมะฮ(อ) และสามารถนำมาใช้ซียารัตได้กับทุกๆอิมาม
ในเนื้อหาของซียารัตนี้ สามารถกล่าวได้ว่า เป็นเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์ที่สุด นี่คือ ซียารัตที่เราได้เรียนรู้ และกำลังจะเรียนรู้กัน

ฉะนั้น ถ้าพี่น้อง ตั้งใจศึกษา ทำความเข้าใจ จดบันทึก คำอ่าน ความหมาย พร้อมกับคำอธิบาย เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่มีมะอฺรีฟัตในการซียารัตอะอิมมะฮฺ และอะฮลุลบัยต์(อ) ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของพี่น้องเองด้วย
ในเดือนรอมฎอน เราอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มากนัก เพราะในปีหนึ่งๆ หรือ ในระยะหนึ่งเดือนนี้ เราอาจจะได้เรียนเพียงประมาณ 10 ประโยคของบทซียารัต แต่หากว่า พี่น้องตั้งใจทบทวน และเรียนรู้บทซียารัตในช่วงต้นๆครบสมบูรณ์ ก็จะช่วยให้ การอธิบายช่วงประโยคท้ายๆสั้นลงได้ เพราะในเนื้อหาต้นๆของซียารัตบทนี้ ได้พยายามอธิบายให้เข้าใจในภาพรวม และได้อธิบายไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว
ดังนั้น ถ้าพี่น้องตั้งใจทบทวน ประโยคต่างๆในซียารัตบทนี้ เช่น

(السلام علیک یا اهل البیت النبوة)
“อัสสลามุอลัยกายาอะฮลุลบัยตินะบูวะฮฺ” หมายความว่าอย่างไร ?

(وموضع الرسالة)
วะเมาฏิอัรริซาละฮฺ มีความหมายว่าอย่างไร ?

ก็จะทำให้พี่น้องสามารถเข้าใจเนื้อหาโดยรวมของซียารัตบทนี้ได้ไม่ยากนัก
ซียารัต คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง เรา กับ บรรดาอะฮลุลบัยต์(อ) ในปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ กระทั่งถึงประโยคหนึ่งของบทซียารัต ซึ่งเราจะได้มาเรียนรู้ต่อในปีนี้ ประโยคนั้นก็คือ

(واعلام التقی)
“วะอะลามุตตฺกอ”
อะฮลุลบัยต์ คือ ‘อะอฺลามุตตฺกอ’ หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งตักวา

นี่เป็นอีกคุณลักษณะหนึ่ง อันเป็นสถานภาพที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของอะฮลุลบัยต์(อ)
♔ ความหมายเบื้องต้นของคำว่า “อะอฺลาม” (اعلام) ♔
เบื้องต้นเราต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ‘อะอฺลาม’ กันก่อน

คำว่า ‘อะอฺลาม’(اعلام) ในภาษาอาหรับ หมายถึง การประกาศหรือการแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ เราสามารถเปรียบเทียบกับสัญญาณการจราจร ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุด สำหรับทำความเข้าใจเนื้อหานี้
หากถามว่า : สัญลักษณ์มีไว้เพื่ออะไร ? มีไว้เพื่อสิ่งใด ?

คำตอบคือ : สัญลักษณ์มีไว้เพื่อ บ่งบอกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตัวอย่างเช่น สัญญาณจราจร มีไว้เพื่อบอกถึง กฎเกณฑ์ในการขับขี่
และหากถามต่อว่า : เมื่อเห็นสัญลักษณ์ เรามีหน้าที่อย่างไร ต่อสัญลักษณ์เหล่านั้น ?

คำตอบคือ : เมื่อเห็นสัญลักษณ์ เรา มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญลักษณ์ต่างๆเหล่านั้น

 

ตัวอย่าง

เมื่อเราขับรถ แล้วพบกับสัญลักษณ์ “ทางตัน” ก็จะต้องเปลี่ยนเส้นทาง การไม่ปฏิบัติตามสัญลักษณ์นั้น จะทำให้รถของเราชนพินาศยับเยิน เหตุเพราะ เราไม่ได้ปฏิบัติตตาม ‘อะอฺลาม’ หรือ สัญลักษณ์นั้น เมื่อคนขับรถ เห็นสัญญาณต่างๆในลักษณะนี้ เขาจึงต้องให้ความสำคัญกับมัน

หากเราไม่ให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์เหล่านี้ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีสูงขึ้น ซึ่งนี่คือ ความหมายของคำว่า ‘อะอฺลาม’
ในการเดินทาง มีสัญลักษณ์ต่างๆ และในการทำงานอื่น ก็มีสัญลักษณ์ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน หากไม่ปฏิบัติตามสัญลักษณ์ เขาจะต้องพบกับภัยพิบัติ อันเกิดมาจากการไม่ให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์เหล่านั้น
ดังนั้น หากต้องการให้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยในโลกนี้ เขาก็จะต้องปฏิบัติตามสัญลักษณ์ต่างๆที่ได้บอกไว้
♔ มนุษย์ คือ นักเดินทางที่กำลังมุ่งไปสู่พระผู้เป็นเจ้าของเขา ♔
เมื่อนำเรื่องสัญลักษณ์ในการเดินทางมาเปรียบเทียบกับเนื้อหาของเรา จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างเท่าใดนัก การเดินทางของมนุษย์ในโลกนี้ มีกฎมีระเบียบ บ่งชี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งมนุษย์จะต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้น วิถีชีวิตของมนุษย์ ก็จะประสบกับอันตราย และวิถีชิวิตในโลกหน้าก็จะประสบกับอันตรายเช่นเดียวกัน และในความเป็นจริง โลกหน้านั้นอันตรายยิ่งกว่า
มนุษย์ทุกคนที่ปรากฎตัวอยู่บนโลกนี้ คือ นักเดินทาง ประโยคที่กล่าวว่า…

( إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ)
“อินนาลิลลาฮ วะ อินนาอิลัยฮิรอญิอูน”

(แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิของอัลลอฮ์และแท้จริงเราจะกลับไปยังพระองค์[1])
เป็นการแสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นเป็นผู้เดินทาง บรรดาอาเล็มอุลามาอฺได้อธิบายว่า…

( إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ) หมายถึง มนุษย์ทุกคนนั้น เป็นนักเดินทาง จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง มนุษย์ทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปหาอัลลอฮ (ซบ) นับแต่วินาทีแรกที่เราจุติบนโลกนี้ การนับถอยหลังสู่พระองค์ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว
♔ การเดินทางทางจิตวิญญาณของมนุษย์ และบั้นปลายของการเดินทางที่ “สำเร็จ” และ “ล้มเหลว” ♔
ทางที่เรากำลังมุ่งไปสู่พระองค์ อันที่จริง มีความอันตรายกว่าทางของมนุษย์ในโลกนี้ ตัวตนและจิตวิญญาณของเรา คือ สิ่งที่กำลังมุ่งสู่พระองค์อย่างแท้จริง มิใช่เนื้อหนังมังสา พวกเขากำลังมุ่งสู่ความเป็นนิรันดร์ ภายหลังจากที่มนุษย์ได้อำลาโลกนี้ไปแล้ว พวกเขาจะไม่มีวันตายอีก พวกเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างนิรันดร์
หากเขาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ก็จะได้อยู่ในสถานที่ที่ดีงาม หรือ ที่เราเรียกว่า “สวรรค์” ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเดินทาง ก็จะได้ไปอยู่ในสถานที่อันเลวร้าย หรือมุ่งสู่”นรก” นั่นคือคนที่ประมาทในการเดินทางทางจิตวิญญาณของเขา

 

♔ หลักประกันที่จะช่วยเหลือมนุษย์ในการเดินทาง ♔
คำถาม : การเดินทางทางจิตวิญญาณในครั้งนี้ มีอะไรเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด สำหรับมนุษย์?

อะไรที่จะเป็นเพื่อนร่วมการเดินทางของเรา ที่จะช่วยเหลือไม่ให้เราประสบภัยพิบัติต่างๆทางจิตวิญญาณ หรือล้มเหลวในการเดินทาง ?
คำตอบ : ศาสนาได้ให้คำตอบแก่มนุษย์ว่า มนุษย์จะต้องเดินทางควบคู่กับตักวา หรือ ควบคู่ความยำเกรงต่ออัลลอฮ (ซบ)
คำถาม : ทำไมมนุษย์จะต้องมีตักวาควบคู่ไปกับการเดินทางของเขา ?

คำตอบ : ตักวา หมายถึง การระมัดระวัง ในทุกย่างก้าวของชีวิต นี่ไม่ใช่การย่างก้าวทางสรีระ ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเดินด้วยเท้า

ย่างก้าว ในที่นี่ หมายถึง การดำเนินชีวิตของเรา จะต้องมีตักวา

ในทุกๆความคิด ทุกๆการกระทำ ทุกๆอิริยาบท และเหตุที่ต้องเป็นเช่นนั้น เพราะ ในการเดินทางของเรา มีอันตรายต่างๆอย่างมากมาย

เมื่อในทางโลกนี้ พวกเขาจะต้องระมัดระวังอันตราย การเดินทางในโลกหน้าก็เช่นกัน อันตรายในการเดินทางในโลกหน้า ก็คือ ศัตรูทางจิตวิญญาณของมนุษย์
ฉะนั้น มนุษย์ที่ใฝ่หาความสำเร็จในการเดินทาง เขาก็จะต้องมีตักวา ในทุกย่างก้าวของชีวิต
เส้นทางเดียวเท่านั้นที่จะนำมนุษย์ไปสู่พระองค์ได้ ไปสู่ความพึงพอใจของพระองค์ มุ่งสู่สวรรค์ของพระองค์ คือ เส้นทาง ที่เรียกว่า…
“الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ”

ขอพระองค์ทรงชี้นำให้เราสู่ทางที่เที่ยงตรง ซึ่งเราต่างได้รับรู้กันแล้วว่า ‘ซีรอฏอลมุสตากีม’ เป็นเส้นทางที่ยากลำบาก เป็นเส้นทางที่ไม่ได้เดินกันง่ายๆ นี่คือ ความสำคัญของตักวา
♔ เพราะเหตุใด การเดินอยู่บนซีรอฏอลมุสตากีม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ♔
มีฮาดิษจำนวนหนึ่ง ได้ทำการชี้แจงถึงความยากลำบากในการเดินบนเส้นทางนี้ ฮะดิษบางบทรายงานว่า “الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ” “เล็กกว่าเส้นผม คมกว่ามีดโกน”

การเดินทางกลับสู่ อัลลลอฮ (ซบ) ที่หมายถึงการกลับสู่ความสำเร็จนั้น มันไม่ได้ง่าย อย่างที่มนุษย์ทั่วไปคิด
เมื่อศาสนาได้บอกไว้เช่นนี้ ว่าเส้นทางนี้ ‘เล็กกว่าเส้นผม คมกว่ามีดโกน’ เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับการเดินบน ซีรอฎ บนโลกนี้ เช่น การเดินไต่ลวด การเดินไต่เชือก ข้ามตึก ข้ามภูเขา ข้ามตึกสูง จะเห็นว่า พวกเขาเดินด้วยความระมัดระวัง พวกเขาจะถือไม้ถ่วงให้เกิดความสมดุล หากขาดความสมดุลเพียงเล็กน้อยเมื่อใด ผู้ที่เดินอยู่จะตกสู่เบื้องล่างทันที เขาจะเดินทางช้าๆ และค่อยๆลากขาไป แต่ถ้าหากต้องเดินบนทางที่มีความอันตรายมากกว่านี้ หากการเดินบนเส้นทางนี้ เล็กกว่าเส้นผม คมกว่า มีดโกน จะเกิดอะไรขึ้น ?
การเดินบน “الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ” จึงมีความยากเย็นกว่าอย่างแน่นอน เพราะ ต้องเดินอย่างระมัดระวังยิ่งกว่าเดินอยู่บนโลกนี้ เพราะ

หนึ่ง คือ จะต้องไม่ให้ตัวเองตกจาก ซีรอฎ

สองคือ จะต้องเดินไม่ให้บาดขา
การที่ศาสนาเปรียบเทียบถึงทางเดิน ‘ซีรอฏอลมุสตากีม’ว่า มีความยากลำบากถึงเพียงนี้ ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระ เพิกเฉย ไม่ใช่นึกจะพูดอะไรก็พูด นึกจะทำอะไรก็ทำ คนเหล่านี้ ไม่มีวันที่จะผ่านการเดินบน ซีรอฏอลมุสตะกีม ส่วนมากนั้น ล้วนตกอยู่เบื้องล่าง และการเดินบนเส้นทางนี้ อันตราย ยิ่งกว่าที่เราคิด
หากเราประมวลเรื่องราวต่างๆที่มีอยู่ในอัลกุรอ่าน และ ฮะดิษ จะพบว่า จะมีความน่ากลัวต่างๆอย่างมากมาย เราจะเข้าใจทันทีว่า ทำไมศาสนา จึงได้เน้นย้ำถึง “ตักวา” เน้นย้ำถึงการดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างมีตักวา อย่างระมัดระวัง เพราะในระหว่างที่กำลังเดินทางไปสู่ความพึงพอใจของพระองค์อัลลอฮ(ซบ) บนซีรอฎ ยังมีศัตรูตลอดเส้นทางของเราอยู่ และศัตรูตัวนั้น ก็คือ ไชฏอน เพราะ
1. มนุษย์ คือ ผู้เดินทาง
2 .เดินทางไปสู่อัลลอฮ (ซบ)

3 .ทางสู่พระองค์ คือ ซีรอฎอลมุสตากีม

4. ซีรอฏอลมุสตากีม เป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยง และอันตรายเป็นอย่างมาก และมีศัตรูอยู่ในเส้นทาง
ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน ได้ยืนยันไว้หลายรูปลักษณะ ที่ไชฏอน ได้จัดการกับมนุษย์ ในซีรอฏอลมุสตากีม บางโองการอธิบายว่า

“(قَالَ فَبِمَا أَغْوَيْتَنِي لَأَقْعُدَنَّ لَهُمْ صِرَاطَكَ الْمُسْتَقِيمَ)

“มันกล่าวว่า ด้วยเหตุที่พระองค์ได้ทรงให้ข้าพระองค์ตกอยู่ในความหลงผิด แน่นอนข้าพระองค์จะนั่งขวางกั้นพวกเขา ซึ่งทางอันเที่ยงตรงของพระองค์”
ฉันจะนั่งขวางเส้นทาง ไม่ให้เดินต่อไปได้ หากคิดจะเดินต่อไป พวกเจ้าจะต้องข้ามฉันไปให้ได้ อีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า มันไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ มันยังเข้าโจมตีอีกด้วย
(ثُمَّ لَآتِيَنَّهُمْ مِنْ بَيْنِ أَيْدِيهِمْ وَمِنْ خَلْفِهِمْ وَعَنْ أَيْمَانِهِمْ وَعَنْ شَمَائِلِهِمْ ۖ وَلَا تَجِدُ أَكْثَرَهُمْ شَاكِرِينَ)

“แล้วข้าพระองค์จะมายังพวกเขา จากเบื้องหน้าของพวกเขา และจากเบื้องหลังของพวกเขาและจากเบื้องขวาของพวกเขา และจากเบื้องซ้ายของพวกเขา และพระองค์จะไม่พบว่าส่วนมากของพวกเขานั้น เป็นผู้ขอบคุณ”
ฉันจะเข้าโจมตีเขาจากด้านหน้า ด้านหลัง ด้านขวา ด้านซ้าย
(พี่น้องสามารถศึกษาในรายละเอียดได้ จากบทเรียน วิชา ไชฏอนศึกษา)

อัลกุรอ่านต้องการจะบอกกับมนุษย์ว่า พวกเขาจะต้องระวังภัยจากด้านหน้า จากด้านหลัง จากด้านซ้าย จากด้านขวา และแต่ละภัยมีหลายรูปแบบ
เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับอันตรายมากมายหลายรูปแบบเช่นนี้ศาสนาจึงได้ชี้ทางให้แก่มนุษย์ มีเพียงตักวาเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งหมด ในการย่างก้าวแต่ละช่วงชีวิตของเขาได้

(โปรดติดตามตอนที่ 2)
♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔

บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

ณ มัสยิดรุฮุลลอฮ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ศ 19 มิถุนายน 2558=ค่ำคืนที่ 3 รอมฎอน 1436

ถอดบทความโดย : มูฮำหมัดเบเฮสตี้ บิน อิสกันดาร์

ภาพประกอบโดย มูฮัมหมัดฮูซัยนี บิน ซัมซูดีน
♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔