📌 สรุปบทเรียนอรรถาธิบาย ซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ EP 8 [ฮ.ศ. 1444]
🗓️ค่ำคืนที่ 11 รอมฎอน ฮ.ศ.1444 ตรงกับ 1 เมษายน 2566
▪️สอนโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลิมีนซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี”
________________
🌻📑คำนาศีฮัต : ขอชูโกรในเนียะอฺมัตและเตาฟีกแห่งเดือนรอมฎอนอันจำเริญนี้ ที่อัลลอฮฺ ทรงประทานให้กับเราทุกคน เพื่อเตรียมเสบียงสำหรับโลกหน้า อันเป็นเสบียงที่มีค่าและสมบูรณ์ยิ่ง
และสิ่งที่อยากจะเน้นย้ำในคืนนคะคือ ✨การตระเตรียมเสบียงในเดือนรอมฎอนนั้น อย่าได้มองเพียงมุมมองเดียว✨
🔹มุมมองในการมอง
การนาศีฮัตวันนี้ เราจะเปลี่ยนแนวกันนิดหนึ่ง… เพราะต้องบอกก่อนว่าเราแทบจะไม่ได้พูดถึงเดือนรอมฎอนในมุมมองนี้กันเลย พี่น้องอาจจะได้ยินเป็นครั้งแรกถึงการนาศีฮัตครั้งนี้ และที่สำคัญ ผมเชื่อว่าการนาศีฮัตครั้งนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจถึงเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
ฮะดิษบทนี้ (ที่เราได้ขึ้นกระดานกัน) คือสิ่งที่จะชี้ถึงมุมมองที่จะพูดถึงกัน และ ทุกครั้งที่เดือนรอมฎอนครั้นปีใด หรือในครั้งหน้าจะมาถึง ขอให้เราอย่าลืมมุมมองนี้ เพราะถือเป็นมุมมองที่สำคัญ “อย่างยิ่ง”
👉🔺ฮาดิษจากท่านอิมามญะอฺฟัร อัศศอดิก (อ.)
อุลามาอฺมัจญลิซีย์ได้รายงานเอาไว้ในหนังสือของท่าน ซาดุลมะอาด โดยท่านอิมาม (อ.) กล่าวไว้ว่า
لَيْسَ الصِّيَامُ مُجَرَّدَ الاِمْتِنَاعِ عَنِ الطَّعَامِ وَالشَّرَابِ. بَلْ يَجِبُ أَن تَحْفَقُوا السِنَتَكُمْ مِنَ الكَذِبِ وَأَعْيُنَكُمْ مِنَ النَّفْرَةِ الْمُحَرَّمَةِ .. وَأَقْصِرُوا الْأَمَلَ وَكُونُوا فِي انْتِقَارِ الْفَرَجِ وَظُهُورِ قَائِمِ آلِ مُحَمَّدٍ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَآلِهِ وَسَلَّمَ
ซาดุลมะอาด เล่ม 1 หน้า 78
อรรถธิบาย…📚การถือศีลอดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การกินและการดื่ม
— “แน่นอนว่าเดือนรอมฎอนศีลอดเป็นวาญิบ”
บางคนอาจเพิ่มเติมว่า แน่สิ… ถ้ามิใช่การกินและการดื่มแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของตักวา การบริจาค การให้อาหารคนยากคนจน ….
— “แท้จริง… มันมีมุมมองที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเสียด้วยซ้ำ” อาทิ
📚จงระวังลิ้นของพวกเจ้าด้วย…
—นั่นคือ ระวังคำพูด
แน่นอน ถ้าเป็นเรื่องของคำพูด เราก็คงจะนึกถึงเรื่องของการโกหก นินทา ใส่ร้าย ด่าทอเป็นอันดับแรก…
ทว่าบาปที่เกี่ยวข้องกับ “ลิ้น” หรือ “คำพูด” นี้ มันมิได้จำกัดแค่การนินทาเท่านั้น
แต่มันครอบคลุมถึง “การพูดที่ทำให้คนอื่นเสียใจ” แม้แต่ “การพูดความจริงบางประการ” ก็ตาม ดังนั้นเราต้องระมัดระวัง
📚และต้องระมัดระวังดวงตาของพวกเจ้าด้วย…
ที่มิใช่เพียงเรื่องของการมองเพศตรงข้าม แต่รวมถึงการมองผู้อื่นด้วยอารมณ์ใคร่ทางเพศ หรือเชิงชู้สาว/หนุ่ม
📚และขอให้ลดการดำเนินชีวิตแบบฝันลม ๆ แล้ง ๆ …
แน่นอน การใคร่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้น ถือเป็นอันตรายสำหรับจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้มนุษย์ต้องเสียเวลาชีวิตไปกับมัน ยังเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เกิดความใคร่อยาก และหลงอยู่ในวังวนของความคิดที่ไม่สามารถเป็นไปได้ —
สิ่งสำคัญก็คือเราควรนำเวลาเหล่านี้มาทำความรู้จัก เข้าหาพระองค์ และทำการวิงวอนขอต่อพระองค์ดีกว่า เพราะพระองค์เท่านั้นที่จะรู้แจ้งและเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ให้แก่เราได้…
และสิ่งสุดท้ายคือ…
📚จงทำตนให้เหมือนกับผู้ที่รอคอยการปรากฎของอิมามมะฮฺดี (อ.ญ.) อย่างแท้จริง…
👉ถามว่าทำไมดือนรอมฎอน การถือศีลอดจึงเป็นวาญิบ…?
ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เราได้กระทำสิ่งเหล่านี้ อันเป็นส่วนสำคัญในการชะล้างและขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อจิตวิญญาณของมนุษย์
❤️สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญ ของการถือศีลอด
และแน่นอน นอกจากเราจะทำการ “งดพฤติกรรมเหล่านี้” แล้ว อีกสิ่งหนึ่งคือเราจะต้องทราบเป้าหมายของการถือศีลอดด้วยเช่นเดียวกัน
บางอามั้ลอาจสูญเปล่าด้วยซ้ำ หากเรากระทำมันโดยไม่ตรงตามเป้าหมาย
👉กลับมาถึงเรื่องของอามั้ลเหล่านี้ เราอาจจะสงสัยว่า… แล้วการถือศีลอดโดยการรอคอยท่านอิมามมะฮฺดี (อ.ญ.) นั้น เราจะต้องกระทำอย่างไรหรือ…
คำตอบนั้นง่ายมาก ไม่ต่างจากเส้นผมบังภูเขาเลย…
นั่นคือ การอ่านดุอาอฺ การวิงวอน 🤲🏼
และดุอาอฺที่สำคัญในเดือนนี้เลยก็คือ… ดุอาอฺอิฟติตาฮฺ 🤲🏼
💠ความประเสริฐของดุอาอฺอิฟติตาฮฺ
รู้หรือไม่ว่าดุอาอฺอิฟติตาฮฺนั้น เป็นดุอาอฺที่มาจากท่านอิมามมะฮฺดี (อ.) ซึ่งได้ส่งตรงไปยังท่านอบูญะอฺฟัร มูฮัมหมัด บิน อุษมาน อัมรี (ท่านเป็นตัวแทนท่านที่ 2 ของท่านอิมาม (อ.) ในยุคฆอยบะตุลซุฆรอ หรือ การเร้นกายระยะสั้น ดำรงตำแหน่งในช่วงฮิจเราะอฺศักราชที่ 267 – 304 หรือ 305 สืบต่อจากบิดาของท่าน อุษมาน บิน สะอีด ที่เป็นตัวแทนท่านแรก )
ท่านได้ส่งตรงดุอาอฺและได้รับสั่งให้อ่านทุกวันในเดือนรอมฎอน โดยถือเป็นมุสตะฮับอย่างหนึ่ง
👉แน่นอน การดุอาอฺหรือวิงวอนมิใช่เพียงการกล่าวถ้อยคำโดยปราศจากการเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญคือ ควรมีการอ่านพร้อมกับการไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา
ในเนื้อหาของ 🤲🏼ดุอาอฺอิฟติตาฮฺ🤲🏼 หากเราได้อ่าน จะทราบดีว่าดุอาอฺนี้เป็นเสมือนหนังสือแห่งอุดมการณ์ ที่หากเรามีจิตวิญญาณของการปฏิวัติแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปอ่านอุดมการณ์ปฏิวัติ เช่นมาร์กซิสต์ คอมมิวนิสต์ เสรีนิยม หรืออื่น ๆ จากที่ไหน
ดังนั้น เพื่อจะชี้ว่า ดุอาอฺบทนี้เพียงพอที่จะเป็นแหล่งรวมอุดมการณ์และสร้างความเข้าใจในแนวทางแห่งการปฏิวัติโลกอย่างแท้จริง
👉ดุอาอฺบทนี้ ประกอบด้วยส่วนที่มีการสรรเสริญเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) บรรดานบี ท่านหญิงฟาติมะฮฺบุตรีแห่งศาสนทูต และบรรดาอิมาม (อ.) ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของท่านอิมามมะฮฺดี (อ.) ตั้งแต่การรับอะมะนะฮฺจากเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) การซูฮุรหรือปรากฎกายของท่าน สถานะแห่งการเป็นผู้เรียกร้องไปยังคัมภีร์และศาสนาของพระองค์เพื่อให้ศาสนาของพระองค์มั่นคงและเข้มแข็ง รวมถึงการที่ท่านได้เป็นผู้สืบทอดอำนาจของโลกใบนี้ภายใต้ความยุติธรรมและความสันติ จะไม่มีชีริกใด ๆ ปรากฎอยู่บนโลกใบนี้อีก ซึ่งหมายถึง ในยามภารกิจของท่านประสบความสำเร็จ
นี่คือความสำคัญแห่งการรอคอยการปรากฎกายของท่านอิมามมะฮฺดี (อ.ญ.) และการปฏิบัติตนในฐานะผู้รอคอยท่านอิมาม (อ.)
และแน่นอน อามั้ลสำคัญอามั้ลหนึ่งในฐานะผู้รอคอยในช่วงรอมฎอน คือ การอ่านดุอาอฺอิฟติตาฮฺ 🤲🏼
อินชาอัลลอฮฺ ปีนี้คือปีแรกที่เราได้มีการอ่านดุอาอฺอิฟติตาฮฺ ภายในมัสญิดรุฮุลลอฮฺของเรา (หากใครต้องการดุอาอฺนี้ ผู้สรุปได้แนบลิงค์ไดรฟ์เอาไว้ข้างล่าง ซึ่งประกอบด้วยคำอ่านอาหรับ คำอ่านไทย และความหมาย จัดทำโดยมัสยิดรุฮุลลอฮฺ เพื่อให้พี่น้องได้ทำการวิงวอนและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอิมามมะฮฺดี (อ.ญ.) อินชาอัลลอฮฺ ขอให้เราได้เป็นผู้รอคอยอย่างแท้จริงด้วยเถิด)
——
👉กลับมาสู่เนื้อหาของเรา👈
วันนี้ ประโยคจากซิยารัตที่เราจะมาทำความเข้าใจประโยคแรกคือ …
وَالتَّامِينَ فِي مَحَبَّةِ اللَّهِ
🤲🏼แปลว่า … ผู้ที่รักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างหมดหัวใจ ❤️
อัตตามีน ฟี มะฮับบะติลลาฮฺ … ในความรักต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)
ถามว่าทำไมถึงใช้คำว่า تامين
คำนี้มาจาก اسم فاعل (อิซมุลฟาอิลหรือคำนามบ่งบอกผู้กระทำ) ของคำว่า “تمم”
แปลว่า… จบหมด ครบกระบวน 🌸
ความหมายโดยรวมคือ หมดหัวใจ… ❤️❤️
“หมด” ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงไม่เหลือ แต่หมายถึง كمال (กะมาล) หรือก็คือ สมบูรณ์
👉ดังนั้น อะฮฺลุลบัยต์ (อ.) นี้เองจึงถือเป็นกลุ่มชนที่ “รักอัลลอฮฺ” มากที่สุด
ดังคำว่า تمم ที่ช่วยเน้นย้ำถึงความรักที่ลึกล้ำเช่นเดียวกับดวงใจที่อยู่ใต้ก้นมหาสมุทรแห่งความรักนั้น
พวกท่าน คือผู้ที่รักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างสุดหัวใจ อย่างสมบูรณ์
❓อะไรคือเครื่องพิสูจน์หรือ… ? ❓
❤️เราจะยกตัวอย่างวาทะของท่านอิมามอาลี (อ.) วาทะหนึ่งที่เป็นหลักฐานของความรักนี้ได้เป็นอย่างดี
“โอ้ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) หากพระองค์ทรงส่งฉันไปสู่นรกแล้ว ฉันก็จะยังคงประกาศให้ชาวนรกรู้ว่า ฉันนั้นรักพระองค์”
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความรักที่ชาวอะฮฺลุลบัยต์มีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)
👉และแน่นอน หากจะให้เราเพิ่มเติมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความรัก” เราไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความหมายหรือนิยามมากมาย
เพราะแน่นอน ไม่มีใครไม่รู้ว่าความรักคืออะไร ?
แต่ก็อยากให้มาดูความหมายของ “ความรัก” ในนิยามของภาษาอาหรับกัน
👉ความรัก (حب) คือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความโกรธ (غاضب)
ยกตัวอย่าง… ดังที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกล่าวถึงท่านหญิงฟาติมะฮฺ (ส.) ว่า
“อัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธกับการโกรธกริ้วของฟาติมะฮฺ และทรงพึงพอใจกับความพึงพอใจของฟาติมะฮฺ”
ดังนั้น หากเขารักสิ่งใด เขาก็จะไม่มีความโกรธกริ้วในสิ่งนั้น
คือ มันอยู่ตรงกันข้ามกัน
👉ขอยกฮะดิษบทหนึ่งที่เป็นคำกล่าวของท่านอิมามญะอฺฟัร อัศศอดิก (อ.) รวมถึงอิมาม (อ.) ท่านอื่น ๆ เมื่อถูกถามเรื่องศาสนา
هَلِ الدِّينُ إِلا الْحُبُّ وَالْبُغْضُ
แปลว่า : ในศาสนา ไม่มีสิ่งใด นอกจากสองอย่างนี้เพียงเท่านั้น
นั่นคือ الْحُبُّ หรือความรัก
และ الْبُغْضُ หรือความเกลียดชัง
ถ้าใครไม่มีความรักในศาสนานี้ (الْحُبُّ) แสดงว่าเขามีความเกลียดชัง (الْبُغْضُ)
และถ้าใครไม่มีความเกลียดชัง (الْبُغْضُ) ในศาสนานี้ แสดงความว่าเขามีเพียงความรัก (الْحُبُّ)
👉และยังมีฮะดิษบทอื่น ๆ กล่าวอีกว่า ❤️ไม่มีอะไรในศาสนานี้นอกจาก “ความรัก”❤️
แน่นอน…. หากมีผู้หนึ่งกำลังยืนหยัดในศาสนานี้ ท้ายสุด เขาจะไปจบที่ “ความรัก”
และบรรดาอิมาม (อ.) ก็ล้วนพิสูจน์ในความรักนี้ทั้งสิ้น
❤️อิมามอาลี (อ.) ได้พิสูจน์ในมุนาญาตของท่านว่าศาสนาล้วนไปจบที่ความรัก
❤️และอิมาม ฮูเซน (อ.) ที่พิสูจน์ในกัรบาลา ที่สามารถนิยามได้ว่า กัรบาลาคือแก่นแท้ของความรัก
👉ท่านได้ขึ้นคุฏบะฮฺในคืนที่ 10 ของอาชูรอ และปลดเปลื้องพันธนาการทุกอย่างกับบรรดาอัศฮาบ (أصحاب) ของท่าน โดยกล่าวว่า
“บรรดาทรราชมิได้ต้องการสิ่งใดนอกจากตัวฉันเท่านั้น หากมันได้ตัวฉัน มันก็จะไม่ทำอันตรายต่อพวกเจ้าทุกคน ฉะนั้น ฉันขอปลดเปลื้องวาญิบและพันธะทั้งมวล (ดังเช่นบัยอัตหรือการยอมรับความเป็นผู้นำของท่านอิมาม (อ.)) ที่พวกเจ้ามีต่อฉัน บัดนี้พวกเจ้าเป็นอิสระแล้ว หากพวกเจ้าต้องการจากฉันไป ก็มิเป็นบาปแก่พวกเจ้า”
ถามว่าบรรดาอัศฮาบเลือกที่จะจากท่านอิมามฮูเซน (อ.) ไปหรือไม่
แน่นอน… ว่า ไม่จากท่านไป.. แม้เพียงสักคนเดียว
พวกเขาเลือกที่จะร่วมสู้ไปกับท่านอิมาม (อ.) จนวาระสุดท้าย
นี่คือตัวอย่างของ “ความรัก” ในศาสนาอย่างบริสุทธิ์
👉ดังนั้น การนับถือศาสนาให้ปลอดภัย คือการนับถืออย่างไรก็ได้ให้ “ความรัก” (الْحُبُّ) เกิด
หากเราไม่มีสิ่งใด แสดงว่าเรามีสิ่งตรงกันข้าม
นั่นคือ หากเราไม่มีความรัก แสดงว่า เรามีความโกรธ (الْبُغْضُ)
📖ในซูเราะอฺ อัลฮุญุรอต โองการที่ 7 มีกล่าวไว้ ความว่า
وَحَبَّبَ اِلَيْكُمُ الْاِيْمَانَ وَزَيَّنَهٗ فِيْ قُلُوْبِكُمْ
(ซึ่งทำให้พวกเจ้ามีความรักในอิมานแล้ว)
وَكَرَّهَ اِلَيْكُمُ الْكُفْرَ وَالْفُسُوْقَ وَالْعِصْيَانَ
(และทำให้พวกเจ้าไม่ชอบในการฝ่าฝืนและการทำบาป)
บางครั้งความรัก ถูกใช้ตรงข้ามกับคำว่า …. كَرَّهَ แปลว่า ไม่ชอบ รังเกียจ
👉ในหัวใจของเจ้า อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และนบี (ศ็อลฯ) ได้ทำให้หัวใจของพวกเจ้ามีความรักในอิมานแล้ว และเจ้าก็จะไม่ชอบสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนและการกระทำบาปต่าง ๆ นานา)
“ความรักในอัลกุรอาน จึงใช้ตรงกันข้ามกับความเกลียดเช่นเดียวกัน”
👉จริง ๆ คำว่า كَرَّهَ แม้จะยังมีความหมายในระดับที่ไม่ถึงขั้นเกลียด (ก็คืออาจจะยังแค่ไม่ชอบเท่านั้น) แต่ส่วนหนึ่ง كَرَّهَ กัรรอฮะ หรือความไม่ชอบ ก็อาจจะเป็นขั้นต้นที่นำไปสู่ بُغْضُ หรือความเกลียดชังได้เช่นเดียวกัน
เช่น แม้นเราจะมีความไม่พอใจในกฎเกณฑ์ของศาสนาบางประการ แล้วเราปล่อยไว้ให้ความไม่พอใจในหลักการเหล่านั้นคงอยู่ ไม่ยอมทำความเข้าใจหรือพัฒนาความรักในศาสนานี้ต่อไป สิ่งนี้ก็อาจพัฒนาไปสู่การรังเกียจในศาสนาได้เช่นเดียวกัน
เฉกเช่นพวกที่รังเกียจอะฮฺลุลบัยต์ (อ.) สุดท้ายก็นำไปสู่การเข่นฆ่า
👉เมื่อเรารู้ว่านิยามของความรักนั้นเป็นอย่างไรแล้ว
เราก็มาดูถึงวิธีการเพิ่มพูนความรัก ว่าจะทำได้อย่างไร…?
🔺ฮาดิษจากท่านอิมามญะอฺฟัร อัศศอดิก (อ.)
ท่านอิมามญะอฺฟัร อัศศอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้ในฮะดิษของท่าน ซึ่งถูกบันทึกไว้ในมิศบาฮุชชะรีอะฮฺ หัวข้อที่ 1 หน้า 4 ว่า
إِذَا تَجَلَّى ضِيَاءُ الْمَعْرِفَةِ فِي الْفُؤَادِ هَاجَ رِيحُ الْمَحَبَّةِ
ความว่า : เมื่อไหร่ก็ตาม ที่แสงสว่างแห่งมะอฺริฟัตตะญัลลา (ปรากฎขึ้น) เข้ามาใน ฟูอาด (หัวใจ) สายลมแห่งความรักก็จะพัดผ่าน…
ท่านอิมาม (อ.) ได้บอก หนึ่งในความรักที่จะทำให้เรามีความรักต่อศาสนา นั่นก็คือ มะอฺรีฟัต
👉พูดถึงมะอฺรีฟัตแล้ว ใช่ว่าเราต้องเป็นถึงระดับอะยาตุลลอฮฺ (ที่เป็นมะอฺรีฟัตชั้นสูง ซึ่งพวกท่านเหล่านั้นก็ล้วนมีความรักต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในระดับสูงเช่นเดียวกับมะอฺรีฟัตของท่าน)
มะอฺรีฟัตต่างมีชั้นลำดับของมัน ตามระดับความรักต่อศาสนาในแต่ละบุคคล
กระนั้น ทุกคนก็มีความรักต่อศาสนาได้เช่นเดียวกัน
ส่วนมะอฺรีฟัตนั้น คือการพัฒนาไปตามระดับความรู้ที่เรามี
ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีมะอฺรีฟัต ?
นั้นคือ เราต้อง “ศึกษา” “เรียนรู้”
👉เช่นเดียวกับวันนี้ที่เราได้มีมะอฺรีฟัตต่อดุอาอฺอิฟติตาฮฺและการถือศีลอดเพิ่มขึ้นแล้ว
และเมื่อเรามีมะอฺรีฟัตต่อเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น เราก็จะมีความรักต่อศาสนาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน…
🌻วะศ็อลลัลลอฮุอะลา มูฮัมหมัด วาอาลีมูฮัมหมัด….🌻
———
ลิงค์ไฟล์ดุอาอฺอิฟติตาฮฺ : https://drive.google.com/file/d/17Q9NXeKt8jVJI9U1KSM7ePGGv8vIGz7N/view?usp=share_link
ในนามของ มัสญิดรุฮุลลอฮฺ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช
📝สรุปบทเรียนโดย عباس بونرگسی
___________
Website : syedsulaiman. com
Facebook : @syedsulaiman. th
Instagram : @syedsulaiman. th
YouTube : Syedsulaiman. com
รับฟังบทเรียนฉบับสมบูรณ์⬇️
https://fb.watch/j-6prBsgtc/?mibextid=v7YzmG