สรุปบทเรียนอรรถาธิบาย ซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ EP.9 [ฮ.ศ.1444]

0

📌 สรุปบทเรียนอรรถาธิบาย ซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ EP 9 [ฮ.ศ. 1444]

🗓️ค่ำคืนที่ 12 รอมฎอน ฮ.ศ.1444 ตรงกับ 2 เมษายน 2566

▪️สอนโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลิมีนซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี”
________________

🌼เกริ่นนำ : แน่นอน เราได้มีการเปิดมัจญลิส เพื่อให้พี่น้องทุกคนได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญสองอย่าง คือ… “ความประเสริฐของเดือนรอมฎอน และการถือศีลอด”
อินชาอัลลอฮฺ ขอให้เราได้เก็บเกี่ยวทั้งสองประเด็นตลอดไป

และวันนี้สิ่งที่เราจะมาพูดถึงกันก่อนเรื่องอื่นใดคือเนื้อหาที่จะอยู่ในฮะดิษของท่านอิมามบาเก็ร (อ.) อิมามท่านที่ 5 แห่งบรรดา 12 ผู้นำของพวกเรา
ในฮะดิษนี้ ส่วนหนึ่งประกอบด้วยเรื่องราวของอิบาดัตอันสำคัญบางประการ ซึ่งนอกจากฮะดิษนี้ ยังปรากฎการรายงานถึงความสำคัญของอิบาดัตเหล่านี้ในฮะดิษอื่นด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจมีการรายางานด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกันไปเพียงเท่านั้น

👉🔺ฮาดิษจากอิมามบาเก็ร (อ.) ท่านได้กล่าวไว้ว่า…

‎بُنِيَ اَلْإِسْلاَمُ عَلَى خَمْسَةِ أَشْيَاءَ عَلَى اَلصَّلاَةِ وَ اَلزَّكَاةِ وَ اَلْحَجِّ وَ اَلصَّوْمِ وَ اَلْوَلاَيَةِ

คำอรรถธิบาย :…

‎👉بُنِيَ اَلْإِسْلاَمُ หรือโครงสร้าง หรือรากฐานสำคัญ ของอิสลามนั้น ประกอบด้วย 5 ประการ
ซึ่งหากเราขาดสิ่งนี้ไป อิสลาม “ในตัวเรา” ย่อมเกิดความไม่มั่นคงอย่างแน่นอน กล่าวคือ

❤️1. ศอลาตหรือการนมาซ เป็นโครงสร้างสำคัญทางจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง
และมีวาทะมากมายที่กล่าวถึงความสำคัญของการนมาซ ดังเช่น
ไม่มีศาสนาสำหรับคนที่ไม่มีการนมาซ (لا دين لمن لا صلاة له)
หรือว่า นมาซคือเสาหลักของศาสนา…
หรือแม้กระทั่งการกล่าวถึงความสำคัญของการนมาซว่า…
ถ้านมาซถูกยอมรับ ในวันกิยามัต ต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ ทุกอย่างจะถูกยอมรับหมด
ในวันกิยามัต เมื่อทุกคนถูกยื่นบัญชีไปยังมลาอิกะฮฺ ว่าจะพาไปสู่นรกหรือสวรรค์ เมื่อบัญชีนั้นถูกเปิด

แน่นอน.. เรื่องนมาซจะเป็นเรื่องแรกที่ถูกตรวจสอบ การนมาซนั้นจะถูกตรวจสอบว่าดี หรือครบถ้วน หรือสมบูรณ์ หรือไม่
และถ้าตรวจสอบแล้ว นมาซผ่านทุกประการ เราก็จะได้รับการส่งไปยังสรวงสวรร์ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องดูอามัลอื่น ๆ อีก
เรื่องนี้ยังถูกพูดถึงในถ้อยคำของอยาตุลลอฮฺเบญัต (محمدتقی بهجت فومنی ท่านได้จากไปในวันที่ 17 มีนาคม ปี ค.ศ.2009) โดยท่านได้พูดถึงความสำคัญของการนมาซว่า…
“นมาซนั้นถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของทุกอามั้ล หากนมาซนั้นสมบูรณ์ ทั้งในแง่นมาซครบถ้วนไม่เคยขาด ความมีสมาธิ ความไม่โอ้อวด เมื่อถึงวันตรวจสอบอามั้ล อามั้ลอื่นก็ไม่สำคัญอีก และเราจะได้เข้าสู่สรวงสวรรค์โดยทันที

ทว่าในทางตรงกันข้าม ถ้าการนมาซนั้นไม่ถูกยอมรับด้วยความผิดพลาดประการใดก็ตาม เราจะต้องถูกส่งไปสู่นรกก่อนเป็นอันดับแรก

และแน่นอน ขณะที่เขาอยู่บนดุนยา หากว่าแม้นเขาไม่มีการกระทำความดีใดเลยก็ตาม แต่เขาเลือกที่จะทุ่มเทเวลาเพื่อการปรับปรุงการนมาซของเขา กล่าวคือ นมาซให้ถูกต้องตามกฎการอ่าน เช่นการอ่านฟาติฮะ หรือการอาบน้ำนมาซให้ถูกต้อง ความถูกต้องเรื่องเฏาะฮาเราะฮฺ (ความสะอาดในศาสนบัญญัติ) การมีสมาธิ แม้นชีวิตเขาจะไม่มีความดีอื่นใดเลยก็ตาม แต่ถ้าเขาปรับปรุงการนมาซ “จนสมบูรณ์” ก็ถือว่าเขาได้กระทำความดีอย่างมหาศาลแล้วบนดุนยานี้…”

นี่คือความสำคัญของการนมาซ ที่ถูกจัดให้เป็นเสาหลักอันดับแรกของศาสนา

❤️2. การใช้จ่ายทรัพย์สินและภาษีในอิสลาม เช่น ซะกาต คุมสฺ นี่ก็เป็นส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะจัดเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจของศาสนาที่ถูกบัญญัติโดยอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
สิ่งนี้มิได้มีความสำคัญต่อตัวเราเท่านั้น แต่การจ่ายภาษีทางศาสนายังเป็นการส่งเสริมชีวิตของพี่น้องผู้ยากไร้อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงการสนับสนุนการศึกษาด้านศาสนา ให้พิจารณาดูโรงเรียนของเรา (ดังเช่นสถาบันอัลมะฮฺดี) ที่มีสวัสดิการมากมายตั้งแต่ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร เงินเดือนครูผู้สอน โดยปราศจากค่าใช้จ่ายของผู้เข้ารับการศึกษาเลยแม้แต่น้อยนิด ถามว่า… เราเอาเงินมาจากไหนในการสนับสนุนการศึกษานี้ แน่นอน ก็จากภาษีศาสนานี้เอง

ดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดของเรา แต่แท้จริงการจ่ายภาษีทางศาสนายังช่วยเหลือชีวิตคนยากจนและคนขัดสนอีกเป็นจำนวนมาก และตามการคำนวณแล้ว หากมุสลิมในทุกประเทศ ทุกฐานะ เลือกที่จะจ่ายภาษีทางศาสนาเหล่านี้ แน่นอน โลกเราจะไม่มีมุสลิมที่ลำบากเลยแม้แต่น้อย

และในอีกด้านหนึ่ง หากใครไม่ปฏิบัติตามเสาหลักของศาสนาในส่วนนี้ นั่นอาจทำให้เขาตกมุรตัดได้เลยเช่นกัน

❤️3. ฮัจญ์ ส่วนนี้เราทราบกันดีในฐานะส่วนหนึ่งของอามัลที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งมุสลิมผู้หนึ่งจะต้องมีโอกาสได้ไปแสวงบุญในพิธีฮัจญ์อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม แม้นจะเป็นวาญิบ แต่ก็ขึ้นกับฐานะของคนผู้นั้น นั่นคือ เป็นวาญิบสำหรับผู้ที่มีความสามารถ

❤️4. การถือศีลอด นี่ก็ถือเป็นหนึ่งในรากฐานของอิสลามอย่างหนึ่ง

ในการทำความเข้าใจว่า การถือศีลอดนั้น ไม่ได้พูดถึงเพียงในเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการถือศีลอดมุสตะฮับ ดังเช่นเดือนรอญับ และเดือนชะอฺบาน ที่เราจะต้องมองว่าเราจะถือศีลอดอย่างไรให้สมกับเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่การเป็นทหารของท่านอิมามมะฮฺดี (อ.)

และแน่นอน หากเป็นการถือศีลอดวาญิบในเดือนรอมฎอน เราก็ต้องถือศีลอดด้วยความเคร่งครัดอย่างมากที่สุด เพื่อไปสู่การเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์

และหากถามว่าเราควรจะถือศีลอดอย่างไร ในส่วนนี้เราได้เคยพูดถึงไว้ในบทเรียนตอนที่แล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า นอกจากการอดอาหารแล้ว ยังรวมถึงการระงับลิ้นของเขา หูของเขา ตาของเขา การฝันลม ๆ แล้ง ๆ และการกระทำตนให้สมกับการเป็นผู้รอคอยของอิมามมะฮฺดี (อ.)

❤️5. วิลายัตของอะฮฺลุลบัยต์ (อ.)
เป็น 1 ใน 5 ที่สำคัญที่สุด ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเพิ่มเติม (แต่เราจะค่อย ๆ เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับอามั้ลที่สำคัญในบทต่อไปเรื่อย ๆ เพราะทุกประเด็นนั้นต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันทั้งสิ้น อินชาอัลลอฮฺ)
———

👉ต่อไป เรามาเข้าสู่บทเรียนของเรากัน…
แน่นอน ในศาสนาของเรานั้น ความรักมีบทบาทอย่างมากที่สุด
ซึ่ง “ความรัก” อาจจะดูน้อยนิดสำหรับแนวทางอื่น ๆ
หากพี่น้องมัชฮับอื่นได้เข้ามาอยู่ในแนวทางนี้ เขาจะพบว่า เรื่องราวเกี่ยวกับ “ความรัก” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในแนวทางแห่งอะฮฺลุลบัยต์ (อ.)

👉ดังที่เรากล่าวไว้ในบทเรียนก่อนหน้า ถึงประเด็นที่ว่า “จุดสุดท้ายของผู้ยืนหยัดในศาสนา คือ ความรัก” ❤️❤️

🔺ฮะดิษจากอิมามอาลี (อ.)

อิมามได้เคยกล่าวไว้ในฮะดิษของท่านถึงการแบ่งรูปแบบผู้ประกอบอิบาดัตไว้เป็นสามจำพวกคือ…

‎ 👉إِنَّ قَوْماً عَبَدُوا اَللَّهَ رَغْبَةً فَتِلْكَ عِبَادَةُ اَلتُّجَّارِ وَ إِنَّ قَوْماً عَبَدُوا اَللَّهَ رَهْبَةً فَتِلْكَ عِبَادَةُ اَلْعَبِيدِ وَ إِنَّ قَوْماً عَبَدُوهُ شُكْراً فَتِلْكَ عِبَادَةُ اَلْأَحْرَارِ

ความว่า…

1.ผู้ที่ประกอบอิบาดัตเพราะความกลัว เช่น กลัวจะถูกลงโทษ กลัวอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะไม่รัก การประกอบอิบาดัตแบบนี้ คือการประกอบอิบาดัตเยี่ยงทาส ถามว่าดีไหม ? ดี แต่ยังไม่ที่สุด

2.ผู้ที่ประกอบอิบาดัตด้วยความคาดหวัง เช่น หวังรางวัลจากอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หวังสวรรค์ การประกอบอิบาดัตแบบนี้ ดีนหรือความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ของเขาเป็นความสัมพันธ์แบบพ่อค้า ถามว่าดีไหม ? ดีเช่นกัน แต่ยังไม่ดีที่สุด

3.ผู้ที่ประกอบอิบาดัตเพราะฮุบ (حب) หรือความรัก คือมิได้กลัวที่จะถูกลงโทษ หรือมิได้หวังที่จะขึ้นสวรรค์ เพียงประกอบอิบาดัตเพราะ “ความรักในพระองค์เท่านั้น” การประกอบอิบาดัตแบบนี้ คือการประกอบอิบาดัตของอิสรชนผู้ศรัทธา ซึ่งเป็นการประกอบอิบาดัตที่ “ดีที่สุด” เป็นการศรัทธาต่อพระองค์บนความอิสระของตนเอง มิได้มีสิ่งอื่นใดนอกจากความรัก

และแน่นอน การประกอบอิบาดัตเช่นนี้ก็มีแบบอย่างเช่นกันให้เราได้ปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน
นั่นคืออะฮฺลุลบัยต์ (อ.) ตามคำกล่าวไว้ในซิยารัตที่ว่า

‎👉وَالتَّامِينَ فِي مَحَبَّةِ اللَّهِ

ผู้ที่รักอัลลอฮฺจนหมดหัวใจ (التام)

นี่คือสถานะในความรักต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ของอะฮฺลุลบัยต์ (อ.)

👉ถามว่า ทำไมอะฮฺลุลบัยต์ (อ.) จึงมีความรักต่ออัลลออฮฺ (ซ.บ.) ถึงระดับนี้กัน
แน่นอนเราก็ต้องดูแบบอย่างการดำเนินชีวิตของะฮฺลุลบัยต์ (อ.) ซึ่งเราได้เกริ่นนำในบทเรียนก่อนหน้าไปแล้ว

👉ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักถึงนิยามของความรักกัน

🔺ท่านอยาตุลลอฮฺญะวาดี ออมูลี ได้อธิบายเกี่ยวกับความรักเอาไว้ว่า

#ความรักคือสิ่งที่มนุษย์มีความรู้สึกผูกพันกับมัน มีความสุขที่ได้อยู่ใกล้มัน
เช่น ถ้าพี่น้องได้นั่งกับใครสักคนหนึ่ง แล้วพี่น้องมีความสุข นั่นแสดงว่าเรามีความรักแล้ว
และแน่นอน ความรักมิใช่เพียงเรื่องของความรักในหนุ่มสาว แต่ยังรวมถึงความรักต่อผู้มีพระคุณ ผู้อุปถัมภ์ ญาติสนิทมิตรสหาย และรวมถึงสิ่งของ หรือการกระทำต่าง ๆ ดังเช่น การอ่านอัลกุรอาน หรือการกระทำอามัล อิบาดัต

ตัวอย่าง : กรณีของท่านนบี (ศ็อลฯ) เมื่อทุกครั้งที่เสียงอาซานดังขึ้น ท่านจะหยุดทุกภารกิจแล้วทำการนมาซทันที ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “การนมาซคือแก้วตาดวงใจของฉัน ฉันมีความสุขอย่างมากในการนมาซ”

👉อย่างไร นอกจากเรื่องของความรักหรือ حب ยังมีความรักอีกระดับหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นซึ่งจะสามารถนำมาอธิบายถึงความรักของท่านนบี (ศ็อลฯ) ที่มีต่ออิบาดัตได้เช่นกันนั่นคือ عشق ❤️🤲🏼
เผิน ๆ อาจจะมีความหมายดังเช่น حب แต่ในแง่ระดับแล้ว عشق สูงส่งกว่ามาก

👉ท่านอยาตุลลอฮฺยังได้ยกฮะดิษมาบทหนึ่งที่จะสามารถอธิบายถึงความหมายของ عشق ซึ่งท่านศาสดาได้กล่าวว่า

‎ أَفْضَلُ اَلنَّاسِ مَنْ عَشِقَ اَلْعِبَادَةَ فَعَانَقَهَا وَ أَحَبَّهَا بِقَلْبِهِ وَ بَاشَرَهَا بِجَسَدِهِ وَ تَفَرَّغَ لَهَا فَهُوَ لاَ يُبَالِي عَلَى مَا أَصْبَحَ مِنَ اَلدُّنْيَا عَلَى عُسْرٍ أَمْ عَلَى يُسْرٍ

จากอุศูลุลกาฟี เล่ม 2 หน้า 83

‎“ أَفْضَلُ اَلنَّاسِ مَنْ عَشِقَ اَلْعِبَادَةَ فَعَانَقَهَا ”

แปลว่า มนุษยชาติที่ประเสริฐที่สุด คือผู้ที่มีความรัก (عشق ) ต่ออิบาดัต

เบื้องต้นนับแต่เด็ก เราอาจถูกบังคับให้ทำการนมาซหรือถือศีลอดมาเสมอ
แต่แน่นอน เมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มมีความรักต่อมัน
สิ่งนี้เป็นเรื่องของการพัฒนา ดังเช่นการพัฒนาจิตวิญญาณของเราที่ ที่แน่นอนมันคงไม่ได้สูงส่งภายในวันเดียวหรือทันทีที่เราปฏิบัติ
เช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ ความรักในสิ่งหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและอาศัยเวลาหล่อหลอม

และเมื่อเราพัฒนาไปถึงขั้นที่เกิด عشق หรือความรักสูงสุด เราก็จะมีความสุขในการนับถือศาสนา
แน่นอน ในฮะดิษบทนี้ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้ใช้คำว่า นมาซ แต่ใช้คำว่า اَلْعِبَادَةَ (อิบาดัต) นั่นหมายถึงทุกการกระทำที่จะนำไปสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ต่อมา
‎“ وَ أَحَبَّهَا بِقَلْبِهِ وَ بَاشَرَهَا بِجَسَدِهِ ”

หมายความว่า เมื่อเขามีความรักแล้ว เขาจะสวมกอดมัน

👉ดังคนที่ได้เจอกับคนที่รัก แล้วเขาจะเข้าไปสวมกอดคนคนนั้น
นี่เป็นความรักซึ่งเสมือนอยู่ในระดับที่ “ยินดีทุกครั้งที่ได้พบเจอสิ่งนั้น”

มันเป็นความรักที่ยิ่งกว่า حب แต่อยู่ในระดับ عشق
แน่นอน عشق คือ حب ที่ได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
แล้ววันหนึ่งจากความรักระดับ حب จะได้รับการพัฒนาไปจนถึง عشق
รักแบบ عشق คือการรักที่สุดหัวใจ เป็นความรักด้วยหัวใจของเขา
ดังเช่นเมื่อท่านอิมามอาลี (อ.) ขี่ม้าผ่านกัรบาลา ทุกคราท่านจะร้องไห้ออกมา
👉แล้วท่านก็จะกล่าวว่า … ที่นี่แหละคือที่ที่บรรดาอุชชาค (عشاق) ต้องหลั่งเลือด
❤️อุชชาค (عشاق) คือผู้ที่ความรักในศาสนา❤️
ที่กัรบาลา จึงหมายถึง อุชชาค คือเหล่าวีรชนที่ عشق ในศาสนา หรือก็คือคนที่ไปไกลกว่าคำว่า حب แล้ว

📚แน่นอน คนแบบนี้ คือคนที่อิบาดัต จะอยู่แนบเนื้อของเขา แล้วเขาก็จะทำอิบาดัตด้วยตัวของเขาเอง (โดยไม่ต้องมีสถานการณ์ใดมาบีบบังคับ)
ดังเช่น แม้นเราจะต้องโหยหิวจากการถือศีลอด หรือแม้นเราจะต้องนมาซจนเจ็บหัวเข่า แต่เราจะรักการทำอิบาดัตด้วยตนเอง และเราจะทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับอิบาดัตนั้นโดยไม่รู้สึกกังขาหรือเบียดบังกิจกรรมอื่น ๆ
ดังเช่น ความรักในการอ่านอัลกุรอาน

👉คนบางคนว่างปั๊บ นินทาคน
หรือบางคนก็อ่านอัลกุรอาน นมาซมุสตะฮับ หรือซิกรุลลอฮฺ
และแน่นอน คนแบบหลัง บางคนก็สามารถทำได้วันละจำนวนมาก โดยที่การทำอิบาดัตนั้นไม่รบกวนชีวิตของเขาเลยแม้แต่น้อย
นั่นคือ การทำอิบาดัต ไม่ได้เป็นการรบกวนชีวิตของเขาเลย
คนกลุ่มนี้คือคนที่ عشق ในอิบาดัต หรือก็คือมีความรักในอิบาดัต
เขาจะไม่สนใจอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เขาจะไม่สนใจว่าเรื่องดุนยาจะเป็นอย่างไร

👉อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า คนกลุ่มนี้จะมิได้ทำงาน หรือเลี้ยงดูลูก
แน่นอน มีบางคนที่เอางานศาสนามาอ้างเพื่อกล่าวสนับสนุนตนเองว่า ตนไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อแสวงดุนยา
คนนี้คือคนที่เอาศรัทธาที่อ่อนแอมาอ้างในความต้องการใฝ่ต่ำของตน
ท่านนบี (ศ็อลฯ) ก็ได้กล่าวไว้ถึงความสำคัญของการประกอบอาชีพทางดุนยาเช่นเดียวกันดังฮะดิษที่กล่าวว่า…

👉“#จงทำงานในดุนยาเหมือนกับว่าจะเจ้าจะไม่มีวันตายไปจากโลกใบนี้

#และจงทำอิบาดัต ดังว่าเจ้าจะตายในวันพรุ่งนี้”

มันหมายความว่า จงทำงานในดุนยาให้เสมือนดังที่เขาจะไม่มีวันตาย (ยังมีเวลาในการเก็บเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ จากดุนยาอีกมากมาย)
และจงทำอิบาดัตราวกับว่าเขาจะไม่มีวันได้ทำอีก (ไม่มีเวลาในการเก็บเกี่ยวความดีเพื่อจะนำพาไปยังอาคิรัตอีก)

👉ดังนั้นท่านนบีจึงสนับสนุนให้เราผสานการทำงานทั้งในดุนยาและการแสวงหาอาคิรัตอย่างสมดุล

และใครที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง เขานั้นมิใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง

👉กลับมาสู่ประเด็ยเรื่องของความรักของเรากันต่อ….
ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทเรียนที่แล้ว สิ่งที่อยู่ต้องกันข้ามกับ الْحُبُّ คือ الْبُغْضُ
สำหรับผู้ที่มีความรักต่ออิบาดัตอย่างแท้จริง حب ของเขาจะพัฒนามาสู่ عشق

👉และแน่นอน สำหรับคนที่มีความเกลียดชัง الْبُغْضُ ความเกลียดชังของเขาก็อาจจะพัฒนากลายเป็นมักตัน مقتاً อันเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับ عشق
ดังเช่นโองการที่ได้รับการกล่าวไว้ในอัลกุรอาน

🔺ซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟฺ โองการที่ 3 ที่กล่าวว่า

‎كَبُرَ مَقۡتًا عِندَ ٱللَّهِ أَن تَقُولُواْ مَا لَا تَفۡعَلُونَ

หมายความว่า ความน่ารังเกียจที่สูงที่สุด (مَقۡتًا) ณ ที่อัลลอฮฺ นั้นคือ การพูดแต่ไม่ทำ

👉เข้าเรื่องต่อมา… 🌸
อีกเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันเลยก็คือ สำหรับความรักนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันจะมีได้เพียงหนึ่งเดียวสำหรับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น
เช่น #ถ้าพี่น้องรักอะฮฺลุลบัยต์ (อ.) #
เราก็ย่อมจะไม่มีวันรักศัตรูของอะฮฺลุบัยต์ (อ.)
เพราะเหตุใดหรือ ? เพราะความรักจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกันสองสิ่ง ณ เรื่องเดียวกัน

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เข้าใจง่ายที่สุด คือ…
ถ้าเรารักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แบบที่รักอย่างบริสุทธิ์ใจ เราจะรักดุนยาหรือไม่ ?

แน่นอนว่าไม่มีวันรัก
เพราะดุนยาเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
ดังเช่นที่พระองค์ตรัสในอัลกุรอ่าน

🔺ซูเราะฮฺอัลอะซาบได้กล่าวถึงไว้ในโองการที่ 4 ว่า

‎👉مَا جَعَلَ اللّٰهُ لِرَجُلٍ مِّنْ قَلْبَيْنِ فِيْ جَوْفِهٖ ۚوَمَا جَعَلَ اَزْوَاجَكُمُ الّٰـِٕۤيْ تُظٰهِرُوْنَ مِنْهُنَّ اُمَّهٰتِكُمْ ۚوَمَا جَعَلَ اَدْعِيَاۤءَكُمْ اَبْنَاۤءَكُمْۗ ذٰلِكُمْ قَوْلُكُمْ بِاَفْوَاهِكُمْ ۗوَاللّٰهُ يَقُوْلُ الْحَقَّ وَهُوَ يَهْدِى السَّبِيْلَ

‎“ مَا جَعَلَ اللّٰهُ لِرَجُلٍ مِّنْ قَلْبَيْنِ فِيْ جَوْفِهٖ “ หมายความว่า…

👉อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มิเคยสร้างหัวใจของมนุษย์ ให้มีสองดวงภายในแหล่งเดียวกัน

❤️แน่นอนนั่นเป็นที่ชัดเจนว่า ถ้ามนุษย์รักดุนยา มนุษย์จะไม่มีวันรักอัลลอฮฺ (ซ.บ.)❤️
มีตัวอย่างมากมายที่คนๆหนึ่งคลั่งไคล้ดุนยา และในที่สุดคนคนนั้นก็ทอดทิ้งความศรัทธาของเขาไป ซึ่งคนแบบนี้มิได้จำเป็นต้องมีเพียงคนที่ร่ำรวยเท่านั้น คนที่ยากจนก็มี และบางครั้งคนที่ยากจนก็มีความเห็นแก่ตัวมากกว่าคนที่ร่ำรวยด้วยซ้ำไป

👉 สิ่งที่ต้องตระหนักว่า การที่เราจะรักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้วมิได้รักในดุนยานั้น จะหมายรวมถึงการที่เราจะต้องไม่รักบิดามารดา ไม่รักภรรยาและบุตร หรือไม่รักเพื่อนสนิทมิตรสหายผู้ศรัทธา
หรืออาจหมายความว่าเราจะต้องทอดทิ้งทุกสิ่งบนดุนยา นั่นก็ไม่ใช่

👉แน่นอน คนที่รักอัลลอฮฺ จะรักในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสสั่งไว้ว่าควรให้ความสำคัญ
นั่นคือ บุคคลผู้นั้นจะมีความรักต่อบิดามารดา ภรรยาและบุตร และเพื่อนสนิทมิตรสหาย ซึ่งเป็นการรัก “เพื่อพระองค์”
รวมถึงจะทำการเก็บเกี่ยวดุนยาเพื่อเป็นเสบียงแห่งความดีงามในโลกหน้า

มาถึงบทสรุปสุดท้าย…🌷

🔺ฮะดิษของท่านอิมามอาลี (อ.) ในนะฮญุลบะลาเฆาะฮฺ ท่านได้กล่าวไว้ว่า

‎كَمَا أَنَّ اَلشَّمْسَ وَ اَللَّيْلَ لاَ يَجْتَمِعَانِ كَذَلِكَ حُبُّ اَللَّهِ وَ حُبُّ اَلدُّنْيَا لاَ يَجْتَمِعَانِ

👉ดวงอาทิตย์ และกลางคืนจะไม่อยู่ร่วมกัน 🌤🌙
หากดวงอาทิตย์ส่องสว่าง หมายความว่ากลางคืนได้จากไปแล้ว
และเป็นเช่นนี้แหละ ( كَذَلِكَ)
ความรักต่อดุนยาและความรักต่ออัลลอฮฺ จะไม่มีวันอยู่รวมกันอย่างแน่นอน

👉ดังเช่นที่เราได้กล่าวไว้ حُبُّ และ بُغْضُ ถือเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน
และเช่นเดียวกัน عشق และ مقتاً ก็เป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน

👉ดังนั้น หากเราอยากรักอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เราจะต้องอยู่ห่างไกลจากดุนยาก่อน
ยามใดที่เรามีความรักในดุนยา เมื่อนั้น ฮุบบุลลอฮฺ (ความรักต่ออัลลอฮฺ) จะออกจากหัวใจของเราทันที
แต่ถ้าหัวใจของเรามีฮุบบุลลอฮฺ (ความรักต่ออัลลอฮฺ) ภายในนั้นก็ย่อมจะปราศจากฮุบบุลดุนยา แม้แต่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งก็ตาม…
___________
ในนามของ มัสญิดรุฮุลลอฮฺ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช

📝สรุปบทเรียนโดย عباس بونرگسی