ถอดเนื้อหาการบรรยาย มัจลิสค่ำคืนตาซูอา 9 มูฮัรรอม 1444 บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม วัลมุสลีมีน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ณ มัสยิดรูฮุลลอฮ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
__________
อัลฮัมดุลิลละฮ์ ขอชูโกรในเนียะมัต และเตาฟีกที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) ได้ประทานให้เราทุกคนมีชีวิตที่ยืนยาวจนมาถึงเดือนมุฮัรรอมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในค่ำคืนนี้ คืนแห่งตาซูอา คืนแห่งการไว้ทุกข์ไว้อาลัย ให้กับบุคลากร ให้กับกลุ่มชนที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ(ซ.บ)
สิ่งหนึ่ง..บางครั้ง หากเราช่วยกันเน้นย้ำ สร้างความรู้สึกนี้ให้กับตนเองได้ ก็จะมีคุณค่าเป็นอย่างมาก นั่นคือว่า หากเรารำลึกถึงอัศฮาบกัรบาลาอฺ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นวีรบุรุษ วีรสตรี เอาลาด หรือว่าอัศฮาบ เราจะต้องนึกถึงประโยคหนึ่ง ในบทซิยารัตวาริษะว่า เรากำลังรำลึกถึงกลุ่มชนที่เป็น “อาฮิบบาอัลลอฮ” ( أَحِبَّاءَالله)— เป็นกลุ่มชนที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) รักมากที่สุด ทั้งๆที่ก่อนหน้ากลุ่มชนเหล่านี้นั้น มีบุคลากรของอัลลอฮ(ซ.บ) อย่างมากมาย เฉพาะที่เป็นนบีนั้น ก็มี 124,000 องค์ และวะซีย์อีก อย่างต่ำคือ 124,000 องค์ และมีบุคลากรของอัลลอฮ (ซ.บ.) อีกอย่างมากมาย แต่บุคลากรของอัลลอฮ(ซ.บ) ทั้งหมด ที่เคยปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์นั้น … 72 คนที่กัรบาลาอฺ เป็นกลุ่มชนที่ ”อะฮิบบาอัลลอฮ” เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ(ซ.บ.)รักมากที่สุด
[และ] “อัสฟิยาอัลลอฮ” (يَا أَصْفِيَاءَ اللَّهِ ) — เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ(ซ.บ) “เลือก” มาเพื่อทำภารกิจอันนี้ แน่นอนกัรบาลาอฺ อาชูรอ มีมุมมอง มีเนื้อหาอย่างมากมาย ผมขอยืนยันเลยว่า เหมือนกับมหาสมุทร ซึ่งไม่มีใครดำลงไปในมหาสมุทรได้ทั้งหมด ไม่ว่าเราจะลงลึกสักขนาดไหน ก็อาจจะพูดได้ว่า ยังไม่ถึงเศษเสี้ยวของความเป็นจริง ซึ่งบางอาเล็มอุลามา อาจจะเปรียบเทียบว่า เหมือนกับมหาวิทยาลัย แต่จริงๆแล้ว เหมือนกับมหาสมุทร ตามแต่ใครจะนิยามคำเปรียบเทียบ บางนิยามก็ถูกมอบให้โดยเอาลิยาของอัลลอฮ(ซ.บ) อย่างเช่น ท่านอายาตุลลอฮญาวาดี ออมูลี ซึ่งเป็นทั้งนักปราชญ์ และอื่นๆ ซึ่งท่านได้เปรียบเทียบว่า กัรบาลาอฺ คือ “สระน้ำอัลเกาษัร”
ท่านได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับอาชูรอโดยเฉพาะ มีชื่อว่า เกาษัรแห่งกัรบาลา หรือว่า เกาษัรแห่งอาชูรอ — อย่าลืมว่า เมื่อเราเอ่ยคำว่า “เกาษัร” นั้น มันคือ น้ำอัมฤต หรือ น้ำทิพย์ กล่าวคือ เราจะต้องฝึกมองเรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺ ไม่ให้เป็นเพียงแค่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เข้มข้น หรือเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ดุเดือด แม้มุมมองอันนี้จะถูกต้อง แต่ทว่ามันยังมีมุมมอง ที่ลึกไปกว่านั้น คือจะต้องมองว่า มันเป็นเรื่องราวที่ ”ศักดิ์สิทธิ์” ด้วย และก็ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่เคยปรากฏ ไม่ว่าเราจะแตะไปที่มุมหนึ่งมุมใดของมัน
ดังนั้น เมื่อเรามองไปที่แง่มุมนี้ เราจะรู้ว่า แม้เราจะร่วมรำลึกกันไปอีก 100 ปี หรืออีก 1000 ปี ทว่าเนื้อหาและเรื่องราวของมันก็จะไม่มีวันหมดสิ้น พี่น้องบางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราจึงต้องร่วมรำลึกกันทุกปี ? และอันที่จริงแล้ว ยิ่งนับวัน ความเข้มข้นของการรำลึก ความเข้มข้นของความเข้าใจ มันก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เช่น ถ้าเรามองในแง่มุมว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ การเข้ามาในการรับรู้ การเข้ามาอยู่ในเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์นี้ ลองคิดดูว่า เสมือนเราได้ดื่มน้ำแห่งเกาษัร ซึ่งถ้าหากว่า อายาตุลลอฮฺ ญาวาดี ออมูลี ไม่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เราก็อาจจะคิดว่า สระน้ำแห่งเกาษัรนั้น เราคงจะได้ดื่มมันในโลกหน้า ในสวรรค์เพียงเท่านั้น แต่เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นมา ในการเขียนของท่าน อาจจะเป็นเพียงแก้วหนึ่ง หรือหยดหนึ่งนั้น แต่สามารถที่จะทำให้มนุษยชาติได้ดื่มกิน [น้ำทิพย์อัลเกาษัร] ตั้งแต่ในโลกนี้ โดยน้ำอมฤต น้ำทิพย์ เป็นน้ำที่ใครก็ตามที่ได้ดื่มกินมันนั้น เขาผู้นั้น จะหลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง หลุดพ้นจากทุกๆ พันธนาการ — และเกาษัรอาชูรอ เกาษัรแห่งกัรบาลา แต่จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหา ถวิลหา ที่จะได้สัมผัส ที่จะได้ดื่มกินมันอย่างจริงจัง เราถึงจะได้บารอกัตแห่งการรำลึกนี้อย่างแท้จริง
เพราะการรำลึกถึงเรื่องราวในศาสนา เรื่องราวที่เป็น “อิบรัต” (عبرت ) เรื่องราวที่เป็นแบบฉบับ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าการรำลึกถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่อดีตมา ไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญ เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จะไม่เป็นผู้ที่เล่าเรื่องเอง
เรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกัรบาลาอฺ เช่น เรื่องนบีมูซา (อ) ใครเป็นผู้เล่า? — เรื่องนบีมูซา (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีอิบรอฮิม (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีอาดัม (อ) อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่า… เรื่องนบีสุไลมาน(อ) นบีดาวูด(อ) นบียะกูบ(อ) ทุกๆนบี … แม้แต่เรื่องนบีคัยเดร์ (อ) เรื่องของบางนบี ที่ไม่เคยรู้จักกันว่ามีนบีคนนี้อยู่ในโลก อัลลอฮ(ซ.บ) เป็นผู้เล่า ดังนั้นการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวของศาสนา จึงแสดงให้เห็นว่า มันจะต้องมีแง่มุมที่สำคัญของมันเป็นอย่างมาก และด้วยเหตุนี้ ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน จึงมีเรื่องเล่าจากอัลลอฮ(ซ.บ) เป็นจำนวนมาก
ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญมาก ว่ามีเป็นสัดส่วนจำนวนเท่าใดของอัลกรุอาน ผมก็จำไม่ค่อยได้ แต่รู้ว่า อัลกรุอานนั้น เป็นเรื่องของการเล่าเรื่องเป็นส่วนมากโดยเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) และในรายละเอียดอื่นๆ ของมัน บรรดาศาสดา หรือบรรดานบี จะนำมาเล่าต่อ
ทำไมเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จึงเล่าเรื่องอย่างมากมาย?
ทำไมเอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) จึงเล่าเรื่องอย่างมากมาย โดยเฉพาะ ทรงเล่าให้กับบรรดานบีฟัง?
มีปรัชญาของมัน มันมีมุมมองที่พิเศษของมันว่า เหตุผลลอันหนึ่ง ทำไมถึงมีการเล่าเรื่องราวต่างๆ อย่างมากมาย ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน? — ซึ่งในคำถามนี้ เราก็ต้องหาคำตอบที่ดีที่สุด เราต้องหาคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดว่า ทำไมอัลกรุอานส่วนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องเล่าต่างๆ ที่เอกองค์อัลลอฮ (ซ.บ) เป็นผู้เล่าเอง และในคำตอบที่ดีที่สุดคำตอบหนึ่งนั้น อยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน อยู่ในซุเราะฮ์ อัล-ฮูด โองการที่ 120
โดยโองการก่อนหน้านี้ อัลลอฮ(ซ.บ) ก็ทรงเล่าเรื่องของบรรดานบีต่าง ๆ ให้ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ได้รับรู้ ได้รับฟัง และท่านนบี (ศ็อลฯ) ก็ถ่ายทอดต่อไปยังอุมมัต หรือประชาชาติของท่าน เมื่ออัลลอฮฺ(ซ.บ)เล่าเรื่องต่าง ๆ จบลง อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็ให้เหตุผลอันหนึ่ง ซึ่งในอายัตนี้ มีประมาณ 4 เหตุผล เป็น 4 คำตอบที่บอกว่า ทำไมเอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงเล่าเรื่อง ซึ่งในซูเราะฮ์ อัลฮูด โองการที่ 120 หลังจากที่พระองค์เล่าเรื่องบรรดาศาสดาต่าง ๆ จบลงแล้ว เอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ)ได้ตรัสว่า:
_________
وَكُلًّا نَّقُصُّ عَلَيْكَ مِنْ أَنبَاءِ الرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ ۚ وَجَاءَكَ فِي هَـٰذِهِ الْحَقُّ وَمَوْعِظَةٌ وَذِكْرَىٰ لِلْمُؤْمِنِينَ
และทั้งหมดนี้เราได้บอกเล่าแก่เจ้า จากเรื่องราวของบรรดาร่อซูล เพื่อทำให้จิตใจของเจ้าหนักแน่น และได้มายังเจ้าแล้วใน(เรื่องราวเหล่านี้) ซึ่งความจริง และข้อตักเตือน และข้อรำลึกสำหรับผู้ศรัทธาทั้งหลาย
(ซูเราะหฺฮูด – 120)
_________
คำอธิบาย: — ที่เรา เอามาเล่าให้เจ้าฟังว่า สมัยนบีอดัม(อ) เป็นอย่างไร ท่านนบีอาดัม(อ) โดนชัยฏอนหลอกแบบใดบ้าง… ท่านนบีอิบรอฮีม (อ) ถูกโยนกองเข้ากองไฟได้อย่างไร ด้วยเหตุอันใด ท่านได้ทำอะไรบ้าง ท่านนบีนูฮฺ(อ) ได้ต่อสู้แบบไหน ท่านอดทนอย่างไร จนกระทั่งน้ำท่วมโลกนั้น [และ ฯลฯ] พระองค์เล่าไปทั้งหมดนั้น
— เหตุผลที่หนึ่ง ที่มีในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ตามที่เอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงเล่าเรื่องนั้น เพราะ…
وَكُلًّا نَّقُصُّ عَلَيْكَ مِنْ أَنبَاءِ الرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ
เหตุผลที่ 1:
เหตุผลแรกของการเล่าเรื่องต่าง ๆ นั้น เพื่อจะให้
“จิตใจของเจ้านั้นเข้มแข็ง และหนักแน่น”
ดังนี้ เราจึงได้คำตอบแล้ว เรื่องเล่าในอัลกุรอาน เอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) เล่ามา เพื่อให้เราเข้มแข็ง และหนักแน่น โดยมีท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) เป็นบุคคลแรก [ในฐานะผู้ฟัง] — แสดงว่าอย่างไร? แสดงว่าเรื่องเล่าเหล่านี้ มีพลังเป็นอย่างมาก
مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ
— ‘เล่ามาเพื่อเพิ่มพลังให้กับเจ้า เล่าเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเจ้า’ — นี่คือเหตุผลที่หนึ่ง ซึ่งต้องไปดูเนื้อเรื่องต่าง ๆ ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับบรรดาศาสดา อย่างเช่น [เรื่องราวของ] ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ตามที่ท่านลุยคนเดียว ด้วยขวานเล่มเดียว เพื่อให้ดูเป็นแบบอย่างว่า นี่คือแบบฉบับ หรืออีกเรื่อง ที่ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ถูกส่งลงไปในกองไฟ ที่ท่านต่อสู้จนถูกโยนลงไปในกองไฟ ซึ่งถ้าอัลลอฮฺ(ซ.บ) ไม่ประสงค์จะให้มอดไหม้ ไฟก็จะต้องเย็น — นี่แหละที่เขาเรียกในภาษาอาหรับว่าเป็น “อิบรัต” เป็นแบบฉบับให้ได้เข้าใจ ซึ่งแน่นอน มีหลายแง่มุมที่จะนำมาอธิบาย ให้ ‘พวกเจ้าได้มั่นใจว่า อัลลอฮฺ (ซ.บ)ไม่มีวันทอดทิ้งบุคลากรของพระองค์ ไม่มีวันทอดทิ้งผู้รับใช้พระองค์’ — ข้างต้น คือเหตุผลอันที่หนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดมาก
ดังนั้น เรื่องราวในอัลกุรอาน จึงเป็นเรื่องราวที่ควรศึกษา ควรที่จะอ่าน เพราะเรื่องเล่าหรือ เรื่องราวนั้นเป็นเรื่องที่จะทำให้เรานั้น “หนักแน่นและเข้มแข็ง” เรื่องเล่าในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นเรื่องเล่าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับมนุษย์
เหตุผลที่ 2:
อันที่ 2 เหตุผลที่ต้องเล่านั้น — وَجَاءَكَ فِي هَـٰذِهِ الْحَقُّ— “เพื่อจะถ่ายทอดสัจจธรรม”
อาจจะมีคนพูดไปทางนู้น ในเรื่องนี้ อาจจะมีคนพูดไปทางนี้ ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซ.บ) จึงเป็นผู้เล่าเรื่องจริง ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้รับรู้ถึงสัจธรรม เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามแต่ในโลกนี้ หากไม่ตรงกับเรื่องของอัลกุรอานให้ถือว่าเป็นเท็จเอาไว้ก่อน ซึ่งตรงนี้ เราอาจจะไม่ลงในรายละเอียดของแต่ละข้อ
เหตุผลที่ 3:
وَمَوْعِظَةٌ — เหตุผลข้อที่ 3 ในการนำเรื่องเล่าต่าง ๆ ในอดีต และเล่าโดยอัลลอฮฺ(ซ.บ) นั้น ก็เพื่อจะเป็นการตักเตือนมนุษย์
เรื่องตักเตือน ก็มีแง่มุมของมัน ตักเตือนทั้งในเรื่องทางด้านบวก ให้เราได้ดูว่า นี่คือวิถีทางของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว และนี่คือวิธีทางของผู้ที่ประสบกับความพินาศ นี่คือวิถีชีวิตของเขา เป็นเยี่ยงนี้ ให้เราได้ดู เรื่องเล่าเหล่านี้เรียกว่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจ เป็นอุทาหรณ์เตือนใจมนุษย์ ซึ่งมีแบบฉบับต่าง ๆ อย่างมากมาย ทั้งแบบฉบับของผู้ที่ประสบความสำเร็จ และแบบฉบับของผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแบบฉบับของผู้ที่ทำตนเองพังพินาศ จริง ๆ แล้วมีอุทาหรณ์อย่างมากมาย
ข้อสังเกต
สำหรับอัลลอฮฺ(ซบ.)นั้น มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่กลายเป็นสิ่งที่มีค่า จริง ๆ แล้วมีรายละเอียดเยอะมาก ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เรื่องชาวถ้ำ มีหมาตัวหนึ่ง ขอตามชาวถ้ำไปด้วย สุดท้ายมันก็ได้ติดตามไปด้วย ในตอนแรกที่ผมเคยไปดูในรายละเอียด เจ้าของหมา และชาวถ้ำได้เอาก้อนหินขว้างมัน ไม่ให้มันตามมา เมื่อขว้างหลาย ๆ ครั้ง มันก็ยังยืนยันที่จะตาม หัวหน้าชาวถ้ำจึงบอกว่า ‘สงสัยคงเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮฺ(ซ.บ) ให้มันตามเรามาด้วย’ มันก็เข้ามา และตามมา คอยเฝ้าระแวดระวังภัย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวถ้ำ และเมื่อจะพูดถึงชาวถ้ำ ในอัลกุรอาน อัลลอฮฺ (ซ.บ) ต้องพูดถึงมันด้วย และพูดถึงมันหลายครั้งด้วย — นี่เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ
_______
سَيَقُولُونَ ثَلَاثَةٌ رَّابِعُهُمْ كَلْبُهُمْ وَيَقُولُونَ خَمْسَةٌ سَادِسُهُمْ كَلْبُهُمْ رَجْمًا بِالْغَيْبِ ۖ وَيَقُولُونَ سَبْعَةٌ وَثَامِنُهُمْ كَلْبُهُمْ
••• พวกเขาจะกล่าวกันว่า ชาวถ้ำนั้นมีสามคน ที่สี่ก็คือสุนัขของพวกเขา และอีกกลุ่มจะกล่าวว่า มีห้าคน ที่หกก็คือสุนัขของพวกเขา ทั้งนี้เป็นการเดาในสิ่งที่ไม่รู้ และอีกกลุ่มหนึ่งจะกล่าวว่ามีเจ็ดคน และที่แปดก็คือสุนัขของพวกเขา•••
______
[จากโองการอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟี: 22] กล่าวคือ “หมา” ถูกเอ่ยในนั้น แม้แต่หมา ถ้าร่วมภารกิจของพระเจ้า อัลลอฮฺ(ซ.บ) ก็นับมัน แม้เป็นหมา อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็นับ — หากใครเข้าใจประโยคนี้ อัลฮัมดุลิลละฮฺ ถือว่าโชคดีมากในคืนนี้ — [ประโยคที่ว่า] ถ้าหมา เข้าร่วมภารกิจกับพระผู้เป็นเจ้า หมาตัวนั้น เอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ.) ก็นับมัน
เรื่องเล่าแบบนี้ แน่นอน อุลามาจะต้องตีความ อุลามาจะต้องถอดความ คำว่า “หมา” ถูกเอ่ยในอัลกุรอานถึงสามสี่ครั้ง “วากัลบูฮุม” (كَلْبُهُمْ) — ‘และมันนอนท่าไหน และหมาของเขาก็ได้นอนหันหน้าไปปากถ้ำ’ อัลกุรอานกล่าวถึงนะว่า มันนอนท่านี้ ยืดเท้าของมันไปข้างหน้าเช่นนี้ — ดังนั้น หมาก็มีความสำคัญ หากเข้าร่วมขบวนการกับเอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) นี่คือเป้าหมาย ให้เราได้พบว่า อันที่จริงแล้ว ศาสนานี้เป็นแบบนี้
เหตุผลที่ 4:
وَذِكْرَىٰ لِلْمُؤْمِنِينَ — เรื่องเล่าต่าง ๆ จะเป็นข้อตักเตือน และจะเป็นข้อรำลึก จะเป็นซิกรุลลินมุมีนีน
นี่คือเหตุผลอันหนึ่ง ในการเล่าเรื่องต่าง ๆ โดยเอาจากเรื่องที่มีอยู่ในอัลกุรอานก่อน ท่านอิมามคาเมเนอี ได้ใช้ประโยชน์จากประเด็นนี้เป็นอย่างมาก เมื่อไม่นานมานี้ ท่านพูดบ่อยเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้ง บางสถานการณ์ในอิหร่าน ทำให้คนอิหร่านกลุ่มหนึ่ง ที่มีศรัทธาอ่อนแอ หรือมีข้อมูลอ่อนแอ หรือมีความอ่อนแอในด้านใดก็ตามแต่ เกิดคำถาม เช่น ‘เราจะชนะมั้ย? เราจะแพ้อเมริกามั้ย? เราจะนั้นมั้ย เราจะนี้มั้ย’ — ซึ่งข่าวคราวเหล่านี้ ได้ไปถึงยังท่านอิมามคาเมเนอี ดังนั้น ทำให้ในการบรรยายของท่านบ่อยครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้ ท่านจะอ่านอายัตนี้ เพื่อชี้นำว่าเราจะต้องมีความศรัทธา ในการต่อสู้ เราจะต้องมีความศรัทธา เราต้องเข้มแข็ง เราต้องอดทน เราต้องเชื่อมั่นว่า เอกองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ) อยู่กับเราอย่างแน่นอน ถ้าเราคือผู้ศรัทธา ถ้าเราทำเพื่อพระองค์ ผู้ที่ศรัทธา ที่ทำเพื่อพระองค์ เขาจะไม่มีวันพบกับทางตัน ท่านจึงอ่านอายัตนี้….
จำได้หรือไม่ เมื่อท่านนบีมูซา(อ) พาบนีอิสรออีลออกจากฟิรอูน(ล.น) เป็นกองคารวานที่ยิ่งใหญ่ เผ่าพันธุ์บนีอิสรออีลทั้งหมดอยู่ในกองคารวานนี้ และเมื่อออกมาได้ไม่นาน ฟิรอูน(ล.น) ก็ส่งกองทัพเข้ามาไล่ล่า ไล่มาๆ คนพวกนี้เมื่อได้เห็นกองทัพเริ่มเข้ามาใกล้ เริ่มได้ยินเสียง ก็เริ่มหนี ๆ จนไปถึงทะเล ไปชนกับทะเลแดง และกองทัพของฟิรอูน(ล.น) ก็เข้าใกล้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมองเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งในอัลกุรอานเล่าให้ฟังว่า
فَلَمَّا تَرَاءَى الْجَمْعَانِ قَالَ أَصْحَابُ مُوسَىٰ إِنَّا لَمُدْرَكُونَ
“ครั้นเมื่อแต่ละฝ่ายได้มองเห็นกัน พวกพ้องของมูซาได้กล่าวว่า แท้จริงเราถูกตามทันแล้ว”
(ซูเราะหฺอัชชุอะรออ์ – 61)
คำอธิบาย: — เมื่อทั้งสองฝ่ายได้มองเห็นซึ่งกันและกัน และสหายหรือชาวบนีอิสรออีลกล่าวว่า
إِنَّا لَمُدْرَكُونَ
หมายถึง — ‘เสร็จแล้วเรา โดนแน่ พวกฟิรอูนมาถึงเราแน่ เมื่อข้างหน้าเป็นทะเล ข้างหลังก็เป็นกองทัพของฟิรอูน เราจะต้องถูกตามทันแน่นอน หมดแล้วกับพวกเรา ข้างหน้าเป็นทะเล จะไปได้อย่างไร?’
ท่านนบีมูซาได้กล่าวว่า
قَالَ كَلَّا ۖ إِنَّ مَعِيَ رَبِّي سَيَهْدِينِ
เขา (มูซา)ได้กล่าวว่า “ไม่หรอก แท้จริงพระเจ้าของฉันทรงอยู่กับฉัน พระองค์ทรงขี้แนะทางแก่ฉัน
(ซูเราะหฺอัชชุอะรออ์ – 62)
คำอธิบาย: — ท่านนบีมูซา(อ) กล่าวว่า ‘หามิได้หรอก อยู่กับฉันนั้นคือ อัลลอฮฺ เดี๋ยวพระองค์จะนำทางเราเอง เราอยู่กับอัลลอฮฺตลอดเวลา’
إِنَّ مَعِيَ رَبِّي سَيَهْدِينِ
‘อัลลอฮฺอยู่กับฉัน อัลลอฮจะนำทางเรา’ — เมื่อสิ้นเสียงคำตอบของนบีมูซา(อ) —
فَأَوْحَيْنَا إِلَىٰ مُوسَىٰ أَنِ اضْرِب بِّعَصَاكَ الْبَحْرَ ۖ
ดังนั้น โอ้มูซาจงนำไม้เท้าฟาดไปยังทะเล — และทะเลก็แยกเป็น 12 สายให้บนีอิสรออีลได้ข้าม
ท่านเราะฮ์บัร อิมามคาเมเนอี นำโองการนี้มาอ่าน เพื่อปลอบประโลมชาวอิหร่านว่า เราจะไม่มีวันพบกับทางตัน เราจะไม่มีวันพบกับความพินาศ เมื่อเราทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง นั่นคือเหตุผลอันที่หนึ่ง นั่นคือเหตุผลที่เอกอัลลอฮฺ (ซ.บ) เล่าเรื่องเหตุการณ์ต่างๆ ให้บรรดานบี และก็ถ่ายทอดให้กับมนุษย์ฟัง นี่คือสาเหตุหลัก เป็นปรัชญาหรือฮิกมะฮ์ของกีศอศ
(قصاص) ในอัลกรุอาน นี่คือเหตุผล ตามที่อัลลอฮได้(ซ.บ) อธิบาย มันมีเรื่อง มันมีแง่มุมต่างๆ อย่างมากมาย
เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในอัลกุรอาน
ทั้งนี้ ในบรรดาเรื่องเล่าทั้งหมด ซึ่งเราเริ่มจากอัลกรุอานก่อน ในเรื่องเล่าทั้งหมดนั้น เรื่องเล่าที่เยี่ยมที่สุด ที่ดีที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด ที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) เล่าให้กับท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) คือ เรื่องราวของนบีอิบรอฮีม(อ) เพราะมีแง่มุมต่างๆ อย่างมากมาย
ท่านนบีบางองค์อาจจะมีเพียงบางแง่มุม เช่น ท่านนบีอาดัม(อ) มีแง่มุมของการต่อสู้กับกลลวงของชัยตอน ซึ่งเราต้องศึกษาว่า ชัยตอนหลอกนบีอาดัม(อ) ได้แบบไหน ตรงไหนที่นบีอาดัม(อ) พลาด เพื่อจะเอามาใช้กับตัวเราเอง นี่คือเหตุผลของกีศอศในอัลกรุอาน
นบีนุฮ์ (อ) อาจจะมีมุมมองของความอดทน นบีมูซา(อ) อาจจะมีมุมมองของความกล้าหาญ กล้าหาญตรงไหน ก่อนจะได้รับคำสั่ง รับภารกิจ ท่านได้หลุดพ้นไปจากฟิรอูนแล้ว ทว่าเมื่อมีภารกิจ ท่านก็ต้องกลับมาหาฟิรอูนอีก และท่านก็กลับมา
แต่ละนบีมีมุมมอง อย่างไรก็ตาม ท่านนบีอิบรอฮีม (อ.) มีมากที่สุด มีหลายแง่มุม หลายบทบาท บทบาทของสามี ของผู้เป็นพ่อ บทบาทของผู้ปราบเจว็ด มีหลายสิ่งหลายอย่าง จากบทบาทที่ท่านได้แสดง จนถึงบทบาทของการเป็นอีมาม ท่านนบีอิบรอฮีม (อ) มีบทบาทอย่างมากมาย จนกระทั่งท่านนบีอิบรอฮิม (อ) กลายเป็นแบบฉบับหนึ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) “เสนอ” ในวันนั้น [ต้องใช้คำว่า “เสนอ”] ในเบื้องต้นว่า ให้เป็นแบบฉบับของมนุษยชาติก่อน ซึ่งอัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้ยืนยันในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน ในซูเราะห์มุมตาอานะ โองการที่ 4
قَدْ كَانَتْ لَكُمْ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ فِي إِبْرَاهِيمَ وَالَّذِينَ مَعَهُ إِذْ قَالُوا لِقَوْمِهِمْ
แน่นอนได้มีแบบอย่างอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้วใน (ตัว) อิบรอฮีม และบรรดา (มุอฺมิน) ผู้ที่อยู่ร่วมกับเขา
คำอธิบาย: — ตรงนี้พูดกับอุมมัตของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ให้รู้ไว้ว่า ‘แบบอย่าง แบบฉบับที่ดีที่สุดนั้น อยู่ในนบีอิบรอฮีม (อ) และบรรดาผู้ที่ตามแบบอย่างของอิมรอฮีม (อ)’
‘และผู้ที่ตามแบบอย่างของนบีอิบรอฮีม(อ)’ ณ ที่นี้นั้น บรรดาอาเล็มอุลามา ได้ตัฟซีรว่า ไม่ใช่เฉพาะบุคคลที่อยู่ในยุคของนบีอิบรอฮีม(อ) บรรดาผู้ที่ตาม คือ ทุกคน จนถึงพวกเรา — โองการนี้ต้องการจะบอกว่า ‘แบบอย่างของอิบรอฮีม (อ) นั้น เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเจ้า และแบบอย่างของผู้ที่อยู่กับอิบรอฮีม(อ) ก็คือแบบอย่างที่ดี’— และบรรดาอาเล็มอุลามา บอกว่า ณ ที่นี่ หมายถึงทุกคนที่ตามแบบของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่อยู่ในยุคสมัยของท่าน แม้แต่พวกเราก็เช่นเดียวกัน เราที่ดำเนินรอยตามแบบฉบับของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) หากเราดำเนินรอยตามท่าน.. เราก็คือแบบอย่างของมนุษยชาติ
เราตามนบีอิบรอฮีมตรงที่เราทำฮัจญ์ หนึ่งในอิบาดัตที่สูงสุดอันหนึ่งที่มนุษย์ทำ คือ เราทำฮัจญ์ เพราะความยิ่งใหญ่ความประเสริฐในยุคต้น แบบฉบับของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ได้ถูกยอมรับว่าเป็นฉบับของมนุษยชาตินั้น ทั้งหมดที่นบีอิบรอฮีม(อ) ได้แสดง ในบริบทหนึ่ง อัลลอฮ (ซ.บ) ได้รวบรวมมา และให้เป็นแบบฉบับของการทำฮัจญ์
ในแบบฉบับของการทำฮัจญ์ มีการซะแอ ใครที่เคยไปทำฮัจญ์ ก็จะรู้ว่ามีการเดินซะแอ ซึ่งเป็นแบบฉบับของท่านหญิงฮาญัร (อ) หญิงที่อดทน หญิงที่ภักดี หญิงที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่ง หรือพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ไม่ว่าจะเดือดร้อน จะลำบากแค่ไหน ก็จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของอัลลอฮ (ซ.บ) ในวันนั้น การที่เอกองค์ของอัลลอฮ (ซ.บ)บอกกับท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ว่า ‘เอาลูกกับภรรยาไปทิ้งยังแผ่นดินหนึ่ง’
غَيْرِ ذِي زَرْعٍ
เป็นพื้นที่ๆไม่มีน้ำ ไม่มีความชุ่มฉ่ำ ไม่มีอะไรเลย แห้งแล้ง และก็กันดารที่สุดในโลก พระองค์สั่งให้ ‘เอาไปทิ้ง แล้วเจ้ากลับมา’ — นบีอิบรอฮีม (อ) ไม่ถามอะไร นู่น หรือนี่ หรือนั่น เมื่ออัลลอฮ (ซ.บ) บอกให้เอาไปทิ้ง และพาลูกน้อยมาอิสมาอีล เอาไปทิ้งไว้ตรงนั้นด้วย พอถึงมักกะฮ์ ซึ่งในวันนั้นยังไม่มีมักกะฮ์ วันนั้นคือโขดหิน เป็นที่ๆ แห้งแล้งที่สุด ให้ตั้งท่านหญิงฮาญัร(อ) เอาไว้ แล้วหันหลังเดินกลับเลย… กลับไปไหน? กลับไปปาเลนส์ไตน์ ท่านหญิงฮาญัร(อ) กล่าวถาม ‘ท่านจะไปไหน?’ เรียกท่านนบีอิบรอฮีม(อ) สองสามครั้ง พอครั้งที่สาม ท่านหญิงฮาญัร (อ) ไม่ถามแล้ว ถามไปคำเดียวว่า ‘ที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าใช่ไหม?’ … ท่านนบีอิบรอฮีม (อ) พยักคอแล้วเดินจากไปเลย… ท่านหญิงฮาญัร(อ) น้อมรับ ‘ไม่เป็นไร ฉันจะอดทน’ — ดังนั้น เพราะความอดทน การน้อมรับสาส์นของพระองค์ การตัดสินใจของผู้หญิงคนนี้ … มนุษย์ทั้งโลกจึงต้องไปเลียนแบบ
ทุกคนที่ไปทำฮัจญ์ จนถึงวันนี้ ก็ไปเลียนแบบท่านหญิงฮาญัร (อ) ซึ่งท่านชะฮีดอาลี ดร.ชะรีอะตี นักปราชญ์ของชาวอิหร่านคนหนึ่งได้บอกว่า การที่เราไปทำฮัจญ์ เราไปเดินซะแอเหมือนกับว่า เราไปเดินรอบรอดกระโปรงของหญิงผู้ศรัทธาคนหนึ่ง ท่านใช้คำนี้เลย ‘เหมือนกับว่า เราทั้งหญิง และชายรอดกระโปรงตามรอยกระโปรงของหญิงผู้ศรัทธา’ หญิงที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ (ซ.บ) — ซึ่งไม่ใช่สนุก ไม่ใช่แค่เอาไปทิ้งไว้กลางป่า เอาไปทิ้งไว้ในแผ่นดินที่ไม่มีอะไรเลย แม้แต่นกก็ไม่เคยบินผ่าน แต่เมื่อเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า นางบอก นางพร้อม ที่จะน้อมรับ ในยุคนั้น แบบอย่างของท่านหญิงฮาญัร(อ) จึงเป็นต้นแบบของความศรัทธา
ต่อมา เป็นตัวอย่างของผู้เป็นบุตร — เมื่ออยู่ไป อยู่มา ท่านนบีอิสมาอีล(อ) ก็โตขึ้น และเริ่มที่จะมีความต้องการน้ำ จากการที่ท่านนบีอิสมาอีล(อ) คลอดขึ้นมาแล้วต้องการน้ำ ต้องมีน้ำ ต้องใช้ชำระ ต้องใช้ดื่มกิน เมื่ ไม่มีน้ำ ท่านหญิงฮาญัร (อ) จึงต้องวิ่งไปมาระหว่างภูเขาซอฟาและมัรวะฮ์ นางวิ่งไปวิ่งมาอยู่ 7 รอบเพื่อจะหาน้ำ แต่ก็ไม่มีน้ำ นางวิ่งอย่างมีหวัง ยังหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า น้ำก็ไหลมาจากเท้าของท่านนบีอิสมาอีล(อ) เมื่อมีน้ำ นกก็เริ่มบินเวียน และเมื่อมีนก ชาวทะเลทรายก็รู้แล้วว่า ถ้านกเวียนตรงไหน แปลว่าตรงนั้นต้องมีแหล่งน้ำ
จนกระทั่ง เมื่อท่านนบีอิสมาอีล(อ) ค่อยๆโตขึ้น ซึ่งก็ยังเป็นเด็กอยู่ ยังน่ารัก น่าถนุถนอม ทุกสิ่งทุกอย่าง อัลลอฮ (ซ.บ)ก็ได้ดลใจให้ท่านนบีอิบรอฮีม(อ) รู้ว่า นี่แหละคือศาสดาที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่ง ศาสดาที่ให้กำเนิดของบรรดาศาสดาที่ยิ่งใหญ่ในโลก นบีอิบรอฮีม(อ) ก็หลงรักนบีอิสมาอีล (อ) เป็นอย่างมาก เมื่อรักจนสุดหัวใจแล้ว พระองค์ก็มีคำสั่งมาว่าให้เชือดนบีอิสมาอีล — สำหรับพวกเรา เพียงแค่ให้ละหมาด ให้ถือบวช ให้จ่ายซะกาต ให้คุมฮิญาบให้เรียบร้อย เรายังทำไม่ได้เลย ผู้หญิงอย่าพูดเสียงดัง เราก็ยังทำไม่ได้ ให้ระวังตัวกับผู้ชายแปลกหน้า เรายังทำไม่ได้ เรายังไม่ถึงขนาดเอาไปทิ้งกลางป่า ยังไม่ต้องก่อน เพียงแค่นี้ แค่คำสั่งเหล่านี้ เราก็ยังไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามอัลลอฮ (ซ.บ) ได้เลย…
[กลับไปยังเรื่องท่านนบีอิบรอฮิม (อ) ] — ท่านนบีอิบรอฮิม (อ) ก็ฝันถึงหลายคืน จนกระทั่งสุดท้ายต้องบอกกับลูก... ท่านนบีอิบรอฮิม (อ) บอกกับท่านนบีอิสมาอีลว่า ‘โอ้ลูกรัก พ่อฝันไป เมื่อคืนพ่อฝันว่า มีคำสั่งให้เชือดเจ้า
أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَىٰ ۚ
ลูกจะว่าอย่างไร?…
ตรงนี้ กำลังจะบอกถึง เหตุผลที่อัลลอฮ (ซ.บ) เล่าเรื่องต่างๆให้เจ้าฟัง
وَكُلًّا نَّقُصُّ عَلَيْكَ مِنْ أَنبَاءِ الرُّسُلِ مَا نُثَبِّتُ بِهِ فُؤَادَكَ ۚ
“เพื่อใจหนักแน่นและมั่นคง” — เข้าใจความเป็นมาของศาสนาของอัลลอฮ (ซ.บ)
จากเรื่องของท่านนบีอิบรอฮิม (อ) ท่านนบีอิสมาอีล (อ) เมื่อได้ยินดังนั้น จึงกล่าว
يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ
سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ
(ซูเราะหฺอัศศอฟฟาต: 102)
‘โอ้พ่อจ๋า ทำเถอะ ทำตามที่พ่อได้รับคำสั่งมา หากพระองค์ประสงค์ افعل ทำเลย ทำตามคำสั่งที่พ่อได้รับมา’
‘อินชาอัลลอฮ พ่อไม่ต้องเป็นห่วง ฉันเป็นผู้ที่อดทนอย่างแน่นอน’
อัลลอฮ (ซ.บ) ซึ้งในคำพูดของเด็กน้อยคนนี้ว่า ถ้าพระเจ้าต้องการให้ฉันถูกเชือดคอหอย ฉันก็พร้อม อัลลอฮ (ซ.บ)ซึ้ง จึงนำเอาอันนี้เป็นบทบัญญัติในการทำฮัจญ์ ในการเรียนรู้ที่พลีตัวเอง ความพร้อมที่จะพลีตนเอง ไม่ใช่ผู้อื่น พวกเราส่วนมากพร้อมที่จะพลีผู้อื่นไม่ใช่พลีตัวเอง
ด้วยเหตุนี้ การที่เราไปทำฮัจญ์ เรากำลังไปเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะมุสลิมมะฮ์ อินชาอัลลอฮ์ ถ้ามีบุญได้ไปทำฮัจญ์ พยายามเข้าไปถึงจิตวิญญานของท่านหญิงฮาญัร(อ)ก่อน เพราะถ้าเราเริ่มเข้าไปถึงจิตวิญญาณของการตออัตต่ออัลลอฮ (ซ.บ)ต่อสามี ของท่านหญิงฮาญัร(อ) แล้ว วันหนึ่ง อินชาอัลลอฮ์ เราก็อาจจะไปถึงจิตวิญญาณของท่านหญิงซัยหนับ(อ) ท่านหญิงซัยหนับ(อ) กับท่านหญิงฮาญัร(อ) ห่างกันราวฟ้ากับดิน อัลลอฮ (ซ.บ) จึงให้ดูเป็นแบบฉบับก่อน นี่คือ แบบฉบับ
ฮัจญ์ที่เป็นสัญลักษณ์ และฮัจญ์ที่เป็นการกระทำของจริง
ดังนั้น ในพิธีการทำฮัจญ์ จึงเป็นเพียง symbolic (สัญลักษณ์) ของการฝึกฝน .. symbolic นี้ ผมไม่ได้พูดเอง อุลามาท่านหนึ่งที่เป็นเอาลิยาของอัลลอฮฺ อยาตุลลอฮฺ ชิสตารี หากจำไม่ผิด อุลามาท่านนี้เป็นชะฮีดด้วย เป็นทั้งเอาลิยา และเป็นชะฮีด ได้บอกว่า: ‘ฮัจญ์ ของอิบรอฮิม (อ) นั้น คือ ฮัจญ์ symbolic’ แต่ฮัจญ์ของฮูเซน (อ) นั้น เป็นฮัจญ์ของจริง’ — ตัวจริง เสียงจริง เชือดคน ไม่ได้เชือดแพะ หรือเชือดแกะ
เพราะฉะนั้น เมื่อถูกฝึกฝนในการทำฮัจญ์ เรารออะไร? รอเราทำความเข้าใจ การตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง บางครั้งในศาสนานี้ เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องพลีลูก พลีภรรยา พลีครอบครัว เราก็จะต้องพลี ต้องเรียนรู้จากฮัจญ์ของท่านนบีอิบรอฮิม(อ) แต่ที่สำคัญ ที่เราจะต้องรู้อีกต่อไปว่า ในการเล่าเรื่องราว (قصاص ) ของอัลลอฮ์ (ซ.บ) มีการเล่าอยู่ 2 แบบ
1.เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
2.เล่าเรื่องที่ยังไม่เกิด ยังไม่เอามาอยู่ในอัลกุรอาน
เราจะต้องยอมรับว่า เรื่องราวแห่งกัรบาลา ถูกเล่ามาก่อนหน้านี้แล้ว เล่ามาตั้งแต่สมัยนบีอาดัม(อ) ยังไม่เกิด เมื่อท่านนบีอาดัม(อ) เกิด จึงเล่าให้ท่านนบีอาดัม(อ) ฟัง รวมถึงนบีอิบรอฮีม(อ) เช่นกัน เรามีหลักฐาน เรามีฮะดิษมากมาย
สำหรับกรณีของท่านนบีอาดัม (อ) ท่านก็ถูกเล่าไปในรูปแบบหนึ่ง โดยอัลลอฮฺ(ซ.บ) จะหาจังหวะ หาโอกาสเล่าเรื่องกัรบาลาให้ท่านนบีอาดัม(อ) ฟัง เช่นเดียวกับการเล่าให้นบีนูฮฺ(อ) ฟัง และเล่าให้เกือบๆทุกนบีฟังทั้งหมด ในโอกาสต่างๆ ตามแต่จังหวะจะเอื้ออำนวยให้ทำความเข้าใจ ตามแต่ที่บรรดาศาสดาจะประสบโอกาส กล่าวคือ อัลลอฮฺ (ซ.บ) จะให้ประสบเหตุ เพื่อจะเล่าเรื่องกัรบาลาให้ฟัง
ยกตัวอย่างสั้นๆ — ท่านนบีอาดัม (อ) ได้ถูกเล่า ก็เมื่อครั้งที่ท่านได้ถามหนทางในการขออภัยโทษว่า จะทำอย่างไรให้อัลลอฮฺ (ซ.บ) ยอมรับการกลับตัว อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงส่งญิบรออีลลงมาสอนท่านนบีอาดัม(อ)ว่า ถ้าจะขอให้ขอด้วยนามของปัญจฺตัน หรือ คอมซะฮฺ คือในนามของห้าคน กล่าวคือ ขอด้วยนามของ “มุฮัมมัด อาลี ฟาฏิมะฮฺ ฮาซัน และฮุเซน” — นบีอาดัม(อ) จึงขอตามนั้น เมื่อขออัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็ทรงตอบรับ อัลลอฮฺ(ซ.บ) หันมาคุยกับท่านนบีอาดัม(อ) ต่อ พระองค์ทรงยอมรับการเตาบัต เมื่ออัลลอฮฺ(ซ.บ) รับการเตาบัตของท่านนบีอาดัม(อ) ท่านนบีอาดัม(อ) สงสัย จึงถาม ‘ยาอัลลอฮฺ ตอนที่ขอด้วยนามของปัญจตัน ทั้ง ทั้งห้านี้ ตอนเอยชื่อนบี(ศ็อลฯ) ก็อัลฮัมดุลิลละฮฺ ตอนเอ่ยชื่ออิมามอาลี(อ) ก็อัลฮัมดุลิลละฮฺ ตอนเอ่ยชื่อของท่านหญิงหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ก็โอเค อิมามฮาซัน(อ) ก็โอเค แต่ทำไมเมื่อฉันเอยชื่อของฮุเซน(อ) ทำไมจิตใจของฉันมันเศร้าหมอง เหมือนกับว่า มีความเศร้ามาครอบงำจิตใจของฉัน เกิดอะไรขึ้น?
อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงบอกว่า ‘ที่เอ่ยชื่อของฮุเซน และความเศร้าได้เกิดขึ้นกับใจของเจ้านั้น เป็นเพราะว่า…จากนั้น… เรื่องราว กัรบาลาก็ถูกเล่าให้กับนบีอาดัม (อ.) … นี่ก็คือการเล่าของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และทุกนบี ที่เราจะไม่ลงรายละเอียด อันนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวแห่งกัรบาลา
โองการ ที่พิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของวีรกรรมกัรบาลาอย่างชัดแจ้ง
ทว่า เรามีอายัตอัลกุรอาน ที่สามารถจะฟันธง และพิสูจน์ได้ชัดว่า มันคือเรื่องใหญ่จริงๆ อย่างน้อยหนึ่งอายัต ที่ได้ยืนยันในสิ่งนี้ กล่าวคือ ในตอนที่ท่านนบีอิบรอฮิม (อ.) ถูกสั่งให้เชือดนบีอิสมาอีล (อ) ในซูเราะฮฺที่ 37 อัซซอฟฟาต์ โองการที่ 102
“โอ่พ่อจ๋า! พ่อจงปฏิบัติตามที่พ่อได้ถูกบัญชามาเถิด หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ พ่อจะเห็นฉันว่า ฉันอยู่ในหมู่ผู้มีความอดทน”
เมื่อท่านนบีอิสรออีล (อ) พูดจบ นบีอิบรอฮิม(อ) ก็กดหัวนบีอิสรออีล(อ) ลงไปแล้วก็ขยับมีด แต่ไม่เข้า ในริวายัตรายงานว่า ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) สงสัยในความคมของมีด จึงเอามีดไปเหวี่ยงตีหิน มันกลับขาดออกเป็นสองท่อน จึงนำกลับมาเชือดใหม่ แต่ก็ไม่เข้า ตอนนั้นเอง อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงส่งญิบรออีลลงมา เพื่อจับมือของท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ว่า ‘ไม่ต้องแล้ว เรายอมรับแล้วว่า เจ้านั้นกล้าเชือด แต่การเชือดในครั้งนี้ถูกยกออกไป เราไถ่ถอนการเชือดอิสมาอีลด้วยการเชือดที่ยิ่งใหญ่กว่า’ — อัลกุอานใช้คำนี้
وَفَدَيْنَاهُ بِذِبْحٍ عَظِيمٍ
‘และเราได้ไถ่ถอนการเชือดอิสมาอีล ด้วยการเชือดที่ยิ่งใหญ่กว่า’
ในริวายัตบอกว่า และท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ก็ได้ถาม ‘ยาอัลลอฮฺ จะมีการเชือดอะไร ที่ยิ่งใหญ่ การเชือดที่ยิ่งใหญ่กว่าคืออะไร?’ — อัลลอฮฺ(ซ.บ) จึงได้เล่าเรื่องกัรบาลาให้ท่านนบีอิบรอฮิม(อ) ฟัง นบีอิบรอฮิม(อ)ได้รับรู้เรื่องกัรบาลาจากตรงนี้
ดังนั้น จากอายัตนี้ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้บอกว่า ‘และเราได้ไถ่ถอนการเชือดอิสมาอีล’ ซูเราะฮฺอัซซอฟฟาต์ (โองการที่ 107) ด้วยการเชือดที่ยิ่งใหญ่กว่า และก็ได้บอกว่า จะมีการเชือดลูกหลานของมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ผู้เป็นฮะบีบุลลอฮฺ เล่ารายละเอียดทั้งหมดว่าคือการเชือดท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่กัรบาลา
ดังนั้น เป้าหมายของการเล่าเรื่องราวของบรรดานบี ก็เพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่อสร้างแบบฉบับให้กับมวลมนุษยชาติ และเรื่องราวของกัรบาลาก็ได้เกิดขึ้นแล้ว…
วีรกรรมกัรบาลา เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ที่พิเศษเหนือกว่าทุกเรื่องราว
ความยิ่งใหญ่ในเรื่องราวของกัรบาลาความสำคัญความสมบูรณ์อยู่ที่กัรบาลาครบหมดทุกบริบทเราจะใช้คำง่ายๆคือว่าเมื่อฮัจญ์คือการพลีดังนั้นฮัจญ์ของท่านอิมามฮุเซน(อ) จึงเป็นฮัจญ์ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าฮัจญ์ของท่านนบีอิบรอฮิม (อ.)
เราไม่ได้พูดในเรื่องของอะฮ์กาม แต่เรากำลังพูดในเชิงปรัชญา เชิงเป้าหมาย เพราะฮัจญ์ของท่านนบีอิบรอฮิม(อ) มีผู้แสดงแบบอยู่เพียงสามคน ท่านหญิงฮาญัร (อ) ท่านนบีอิสมาอีล(อ) และท่านนบีอิบรอฮิม(อ) แต่ฮัจญ์ที่กัรบาลา ทุกสิ่งทุกอย่างมีสมบูรณ์ มีผู้แสดงแบบ ที่จะเป็นแบบอย่างให้กับมวลมนุษยชาติทั้งหมด มีบทบาทที่สมบูรณ์ของสตรี ไม่ใช่เพียงแต่ท่านหญิงฮาญัร(อ) ท่านหญิงฮาญัร (อ) ได้แสดงเพียงแต่บางบทบาทเท่านั้น แต่ท่านหญิงซัยนับ (อ) รับบทบาททุกอย่าง
เรื่องของท่านนบีมูซา (อ) เรื่องของท่านนบีอิบรอฮิม (อ) อัลลอฮฺ (ซ.บ) เล่าในอัลกุรอาน เพื่อให้มนุษย์ได้มั่นใจว่า ‘พระองค์จะทรงไม่ทอดทิ้ง ผู้ที่รับใช้พระองค์จะไม่มีวันพบกับทางตัน’ — แต่ก็เพียงการแสดงให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งเท่านั้นแต่ที่กัรบาลามีทุกแง่มุมมีครบทุกชนชั้นทุกแบบฉบับของมนุษย์มีเด็กมีสตรีมีบทบาทของท่านหญิงซัยนับ(อ) มีบทบาทของภรรยามีบทบาทของพี่สาวมีบทบาทของน้องสาวมีบทบาทของลูกสาวมีบทบาทของแม่เฒ่ามีบทบาทของคนที่เป็นทาสมีบทบาทของคนผิวดำมีบทบาทของคนแก่ชราแลเแต่ละบทบาทของแต่ละคนก็มีความสำคัญเท่ากันหมด
และยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ที่สำคัญในตัวของมันเอง เพียงแต่เราจะต้องถอดรหัสให้ได้ บางคนอาจจะยาก แต่บางคนก็ไม่ยาก เช่น การปรากฏตัวของ “ฮาบีบ อิบนฺ มุซอฮิร” ผู้เฒ่าชราที่สุดในบรรดาวีรชน เพื่อจะบอกมนุษย์ว่า ไม่ว่าจะแก่สักขนาดไหน ไม่มีใคร มีสิทธิ์หันหลังให้กับการรับใช้ศาสนา ฮาบีบ อิบนฺ มุซอฮิรต้องเอาผ้าผูกตา ยกหนังตาขึ้นมา เพราะว่าความชราทำให้ตาปิด แต่ตาปิดอย่างนี้ ไม่ใช่ข้ออ้างว่า ไม่ต้องรับใช้ศาสนา และเป็นการรับใช้ที่ไม่ธรรมดา แม้นแต่รับใช้ถึงชีวิตแล้วก็ยังไม่เป็นข้ออ้าง นี่คือหนึ่งในเหตุผลของการที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เลือกให้ฮาบีบปรากฏ — อย่าลืม กัรบาลาเลือกไปเองไม่ได้ ต้องให้อัลลอฮฺเลือก يَا أَصْفِيَاءَ اللَّهِ แปลว่า ‘โอ้ผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงคัดเลือกแล้ว’ أَحِبَّاءَالله และ ‘เป็นที่รักยิ่งของพระองค์’ … ไม่ใช่เรารักพระองค์นะ แต่พระองค์ทรงรักเรายิ่ง…
“ญูน” – ในสังคม ในสายตาของมนุษย์ ในฐานันดรจะต่ำสักขนาดไหน ต่ำที่สุดแล้ว ถ้าทาสผิวดำตัวเหม็นไม่มีนามสกุลด้วย อัลลอฮฺ(ซ.บ) บอกไม่สำคัญ เอาทาสผิวดำ ตัวเหม็น ต่ำที่สุดของสังคมมนุษย์แล้ว อัลลอฮฺ (ซ.บ) พาเทิดไปเป็นสูงสุด กลายเป็นเอาลียาอฺของพระองค์ ทาสผิวดำ ที่ไม่มีนามสกุล ก็เป็นเอาลียาอฺของอัลลอฮฺ(ซ.บ) ได้ เหตุผลที่คนประเภทญูนจึงปรากฏอยู่ในวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ความต่ำต้อยไม่ได้เป็นข้ออ้างใดๆเลย แต่ต้องแสดงตัวตน ต้องแสดงความพร้อม
ยังมีอีกหลายบทบาทในกัรบาลา หากต้องถอดรหัส การปรากฏตัวของ มุสลิม บินเอาซะญาอฺ เจ้าของคำพูด: ‘ถูกฆ่า ถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ปลิวไปกับสายลม แล้วกลับมาฟื้นคืนชีพใหม่ เวียนเป็นอย่างนี้ถึงพันครั้ง เราก็จะไม่มีวันทิ้งท่าน โอ้ ฮุเซน’
เขาพูดคำนี้ในเวลาใด? — เวลาที่ท่านอิมามฮุเซน(อ) ปลดเปลื้องทุกๆพันธนาการ อิมามฮุเซน(อ) ก่อนเข้าสู่การพลี ก่อนเข้าสู่การชะฮีด ท่านอิมามได้ปลดเปลื้องทุกๆพันธนาการ ‘วันนี้ไม่วาญิบแล้ว ที่พวกเจ้าต้องอยู่กับฉัน ที่ผ่านมาสมบูรณ์แล้ว ที่ผ่านมาทุกคนได้รับสวรรค์แล้ว’ ตรงนี้เอง ‘ได้รับสวรรค์แล้ว’ แต่เขาขออยู่ต่อ แม้อิมามฮุเซน(อ) ยืนยันแล้ว หากพูดในภาษาของผม คือ ‘ได้รับสวรรค์แล้ว แต่ขอตายในดุนยาอีกสักครั้งหนึ่ง’
ดังนั้น การปรากฏตัวของมุสลิม บินเอาซะญาอฺ เป็นการยืนยันว่า บุคลากรของอัลลอฮ์ ไม่ยึดติดอยู่กับพันธนาการใดๆ แม้นแต่สวรรค์ ตรงนี้สูงเป็นอย่างมาก สูงมากที่สุด
นี่คือ เหตุผลอันหนึ่งที่กัรบาลา จึงเป็นกิศอฮ์ ที่ถูกเล่าตั้งแต่นบีอาดัม จนมาถึงวันนี้ และวิธีการเล่า ก็ไม่เหมือนกับเรื่องอื่นๆ เรื่องอื่นๆอยู่ในอัลกุรอาน แต่เรื่องของอิมามฮูเซน (อ) ทุกครั้งที่จะดื่มน้ำ ต้องนึกถึงอิมามฮูเซน (อ) ในละหมาดต้องตั้งดินกัรบาลา เพื่อนึกถึงอิมามฮูเซน (อ) เมื่อเห็นคนพลัดถิ่น ให้นึกถึงเรื่องกัรบาลา เมื่อเห็นคนเชือดแพะ ให้นึกถึงกัรบาลา และฯลฯ ทำอย่างไรก็ตามแต่ ให้มนุษยชาติรำลึกแต่เรื่องราวกัรบาลา เพื่อที่ ‘จิตใจเจ้าจะได้เข้มแข็ง เจ้าจะได้มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี’ วิธีเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์มีเกียรติยศ และศักดิ์ศรี คือ แบบฉบับแห่งกัรบาลาเท่านั้น
ดังนั้น การปรากฏตัวของวีรชนแต่ละคน จึงมีบทบาททุกคน และในแต่ละคน ก็มีแง่มุมของตนเอง ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด สำหรับการปรากฏตัวของแต่ละคน
และในบรรดาบุคลากร ที่ปรากฏตัวนั้น มีบุคคลหนึ่ง ที่มีบทบาท ที่มีแบบฉบับที่สมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งไม่ว่าเข้าไปตรงจุดใด ก็จะพบแต่ความพิเศษในตัวของเขา
ซึ่งเป็นเจ้าของของค่ำคืนนี้ คือ การปรากฏตัวของท่านอบัลฟัฎลิล อับบาส (อ) ต้นแบบของสาวกแห่งกัรบาลา เพราะท่านอับบาส (อ) มีแง่มุมต่างๆที่ควรศึกษาเป็นอย่างมาก สำหรับเกียรติยศที่ท่านได้รับมาก่อนหน้านี้นั้น กล่าวคือ ท่านอิมามอะลี (อ) นับท่านเป็นลูกของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ)
แบบฉบับของท่านอับบาส (อ) คือ แบบฉบับอะไร?
แบบฉบับของท่านอับบาส (อ) คือ แบบฉบับของความกล้าหาญ ศักดิ์ศรี อัคลาก แบบฉบับของความเสียสละ ทุกๆแบบฉบับ
ท่านอบัลฟัฎลิล อับบาส อิบนฺ อะลี (อ) คือ ใคร? — ท่านอับบาส (อ) คือ บุตรของท่านหญิงอุมมุลบะนีน (อ) และผ่านการตัรบียัตมาอย่างดี โดยแม่ ที่มีความจงรักภักดีต่ออะฮ์ลุลเบต (อ)
ท่านหญิงอุมมุลบะนีน (อ) คือ คนที่ตัรบียัตอัคลากให้กับท่านอับบาส (อ) อัคลากที่สมบูรณ์ที่สุด ที่จะเป็นสาวกที่ดีของท่านอิมามฮูเซน (อ) การปรากฏตัวของท่านอับบาส สำคัญเป็นอย่างมาก
ในสถานภาพทางดุนยา ท่านอับบาส มีศักดิ์เป็นน้องชาย มีพ่อเดียวกับอิมามฮูเซน (อ) แต่ในประวัติศาสตร์กลับบันทึกว่า ท่านไม่เคยผยอง ท่านไม่เคยคิดว่าตัวของท่านเสมอ หรือ เทียบเท่าอิมามฮูเซน (อ) ท่านเรียกอิมามว่า “เมาลา” เรียก “ยาซัยยิดี” ในทุกๆคำ
เพราะเป็นคำสั่งเสียของท่านหญิงอุมมุลบะนีน (อ) ซึ่งมี 4 ประการ ที่ท่านได้สั่งเสียอยู่ตลอดเวลา:
- เจ้าอย่าเดินล้ำหน้าท่านอิมามฮูเซน (อ) อย่างเด็ดขาด
- เจ้าจงอย่าเรียกอิมามฮูเซน (อ) ว่า พี่ชาย จงเรียกเมาลา หรือ ซัยยิดี
- เจ้าจงอย่าดื่มน้ำ ก่อนอิมามฮูเซน (อ)
- จงรำลึกอยู่เสมอว่า แม่ของเจ้าคือ ทาส และแม่ของฮูเซน(อ) นั้นคือ นาย
ท่านอบัลฟัฎลิลอับบาส (อ) ยืนหยัดกับสิ่งนี้ ที่ท่านอุมมุลบะนีน (อ) สั่งเสียไว้ตลอดเวลา และเพื่อที่ท่านอับบาส (อ) ถูกเตรียมการมาเพื่อสิ่งนี้ เพื่อแสดงวีรกรรมอันนี้ ซึ่งเราจะต้องรู้อีกว่า เหตุการณ์กัรบาลา ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญ อะฮ์ลุลเบต (อ) ทุกๆคน รู้ในรายละเอียด…
วีรกรรมที่“บท”ของมันถูกเขียนขึ้นโดยเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)
ภารกิจอันนี้ ไม่ใช่ภารกิจที่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์บีบบังคับ หากจะพูดให้เข้าใจก็คือ “บท” นั้นถูกเขียนโดยอัลลอฮ (ซ.บ) — อัลลอฮ (ซ.บ) เขียนบทเอง ผู้แสดงคือ บรรดาวีรชนแห่งกัรบาลา ซึ่งสมัครใจที่จะแสดง
ภารกิจอันนี้ ไม่ใช่ภารกิจที่เกิดขึ้น เพราะสถานการณ์บีบบังคับ หากจะพูดให้เข้าใจก็คือ “บท” นั้นถูกเขียนโดยอัลลอฮ (ซ.บ) — อัลลอฮ (ซ.บ) เขียนบทเอง ผู้แสดงคือ บรรดาวีรชนแห่งกัรบาลา ซึ่งสมัครใจที่จะแสดง
ส่วนหนึ่งรู้ถึงชะตากรรมที่จะเกิดขึ้น บางคนรู้หมด บางคนอาจจะรู้ไม่หมด อย่าคิดว่าท่านหญิงซัยหนับ(อ)จะไม่รู้นะ เหตุการณ์วันที่ท่านแต่งงานกับท่านญะฟัร(อ) เงื่อนไข คือ แต่งก็ได้ ‘แต่เมื่อฮูเซน(อ) ออกเดินทางท่านจะต้องอนุญาติให้ฉันเดินทางร่วมกับฮูเซน(อ)’ — ชี้ว่า ในรายละเอียดนั้น ท่านหญิงซัยหนับ(อ) รู้ว่า ภารกิจหนึ่งที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ต้องทำ มีนางเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่สำคัญอันนี้ รู้รายละเอียดทุกอย่าง รู้ถึงขั้นว่า วันหนึ่งมีคนมาบอก ท่านหญิงอุมมุลบานีนให้ไปดูท่านอิมามอะลี(อ)ให้หน่อย ซึ่งท่านกำลังฝึกการเป็นนักรบให้กับท่านอับบาส(อ) รู้สึกว่าฝึกแปลกจัง ท่านหญิงอุมมุลบานีน(อ) จึงรีบไปดูว่าเห็นคนรายงานว่า อิมามอะลีฝึกการขี่ม้าให้แก่ท่านอับบาสแบบแปลกๆ อุมมุลบานีน(อ)ไปถึงพอดี ก็เห็นอิมามอะลี(อ) กำลังฝึกให้ท่านอับบาส(อ) ขี่ม้าโดยมัดมือไขว้หลัง อับบาส(อ) ขึ้นไปบนหลังม้า กระโดดโดยเอามือไขว้หลัง แล้วก็กระโดดลงมา ควบม้าให้เร็ว พออับบาส(อ) ลงมา โดยเอามือไขว้หลัง อับบาส(อ) ก็ตกมาจากหลังม้า หน้าคมำลงไปบนพื้นทราย อิมามอะลี(อ) ก็วิ่งเข้าไปกอด เอาลูกมาสวมกอดไว้ แล้วก็หลั่งน้ำตาเพียงเล็กน้อย แต่ไม่พูดอะไร รู้แม้แต่รายละเอียดว่า วันหนึ่งบุตรชายผู้เป็นนักรบคนนี้ต้องตกมาจากหลังม้าโดยไม่มีมือค้ำ อิมามอะลี(อ) จึงฝึกล่วงหน้าให้ท่านอับบาส(อ) ขี่ม้าโดยอิมามอะลี(อ) นั้นมัดมือไว้
วันที่อิมามฮูเซน(อ) จะออกจากมะดีนะห์ เพื่อมุ่งสู่กัรบาลา เมื่ออับบาส(อ) ได้มาลาอุมมุลบานีน เพื่อจะไปปกป้องท่านอิมามฮูเซน(อ) อุมมุลบานีน(อ) ก็รู้ว่านางคลอดอับบาส(อ) มาเพื่อภารกิจอันนี้ จึงบอกว่า… ‘แม่มีคำสั่งเสียครั้งสุดท้ายกับเจ้า สั่งเสียเรื่องเดียว ถ้าเจ้าทำสิ่งนี้ไม่ได้ ถือว่าน้ำนมของแม่ ไม่ฮาลาลสำหรับเจ้า’
ท่านอับบาสตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อท่านหญิงอุมมุลบานีนพูดคำนี้ออกมา — ‘อะไรกันถึงขนาดนี้เลยหรอแม่?’… อุมมุลบานีนบอก ‘โอ้อับบาส เจ้าจงอย่ากลับมา ถ้าไม่มีฮูเซนกลับมา‘ …อับบาสก็รับปากว่า… ‘แน่นอน ฉันจะไม่กลับมา ถ้าไม่มีฮูเซนกลับมา‘ … อุมมุลบานีนก็ได้ขอพรให้กับลูก แล้วก็มุ่งสู่กัรบาลา…