ความรักในการเสียสละและการพลีของ “ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส”

8
ธารธรรม เนื่องในวันคล้ายวันประสูติท่านอบัลฟัฎล์ อัล-อับบาส อิบนิอะลี (อ) ขอแสดงความยินดียังท่านอิมามประจำยุคสมัย อิมามมะฮ์ดี(อ) ผู้มาโปรดโลก และผู้ศรัทธาทุกท่าน.
บางส่วนจากการบรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามฯ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
___________________

•••‘ท่าน อบุลฟัฏลฺ อัลอับบาส ’ คือ ผู้สร้างความสมบูรณ์ให้กับวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ อย่างแท้จริง

ดังนั้น สำหรับมนุษย์ทุกชนชั้นที่จะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงจำเป็นต้องศึกษาเกล็ดความรักแบบฉบับอันยิ่งใหญ่ของวีรชนหนึ่ง ที่สำแดงในด้านของความจงรักภักดี และความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มหาบุรุษผู้นี้มีนั่นเอง

จริงๆแล้ว เรื่องราวความรักในการพลีและการเสียสละของ ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส นั้น มีมากมาย แต่ด้วยกับเวลาไม่เพียงพอ จะขอยกมาเพียงหนึ่งตัวอย่าง

รายงานบันทึกว่า เมื่อ ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ได้รับหน้าที่ ให้ไปหาน้ำให้อิมามฮูเซน(อ) และลูกหลาน ซึ่งทุกคนทราบดีว่า อิมามฮูเซน(อ)ไม่ได้ดื่มน้ำมาหลายวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้จะยังมีน้ำอยู่บ้าง แต่ก็มีสำหรับให้เด็กๆ ดื่มกินเพียงเท่านั้น

จนมาถึงวันอาชูรอ น้ำสำหรับเด็กๆที่มีอยู่บ้างก็หมดไป ซึ่งท่านอับบาส คือ คนที่รู้อย่างลึกซึ้งที่สุดว่า อิมามฮูเซน(อ) กระหายน้ำขนาดไหน

แน่นอนในสถานะที่เป็นมนุษย์ ทุกคนย่อมรู้ดีว่า มนุษย์ต้องการน้ำจะขนาดไหน และจะเกิดอะไรขึ้นในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ

ดังนั้น เมื่อท่านอับบาส ได้รับมอบหมายให้ไปหาน้ำ ซึ่งแต่ละริวายัตในเรื่องคำสั่งอาจจะมีขัดแย้งกันบ้าง เช่น บางคนรายงานว่า อิมามฮูเซน(อ)ให้ออกไปหา ในขณะที่บางคนรายงานว่า ท่านอับบาส มาขออนุญาต เพื่อจะทำภารกิจอันนี้เอง

อย่างไรก็ตาม แม้ที่มาของรีวายัตจะเป็นอย่างไร แต่หัวใจหลักของภารกิจนี้ คือ การหาน้ำมาให้ถึงกระโจม(คัยมาห์) เพื่อเอาน้ำมาให้ถึงอิมามฮูเซน(อ) และเด็กๆ และลูกหลานให้ได้ ซึ่งในริวายัตยังได้บอกอีกว่า ท่านหญิงสุกัยนาได้มาจูงมือท่านอับบาสเข้าไปในกระโจม “โอ้ท่านอาเดินตามฉันมา”

ทว่าเมื่อท่านอับบาส เข้าไปในกระโจมเพื่อจะไปเอาถุงน้ำที่แขวนอยู่ ซึ่งข้างในถุงไม่มีน้ำสักหยดแล้ว ขณะเดียวกันท่านอับบาสก็เห็นสภาพเด็กๆนอนกลางกองทราย

บางริวายัตรายงานว่า เด็กๆได้ยกเสื้อของตัวเองและเอาหน้าอกทาบไปบนพื้นทรายที่เคยมีน้ำหยดอยู่ เพื่อจะเอาความชุ่มช่ำ แต่ความจริงก็ไม่มีใครได้ดื่มน้ำจนถึงตอนบ่ายของวันอาชูรอ

แน่นอนว่า ท่ามกลางทะเลทรายดั่งมีไฟแผดเผา ร้อนเหลือเกิน สิ่งที่อับบาสได้ยินเด็กๆร้องหิวน้ำ หิวน้ำ หิวน้ำ จากอาการขาดน้ำ ทำให้เด็กๆบางคนนั้นมีอาการที่ร่อแร่ เป็นอย่างมาก

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ท่านอับบาส จึงขอท่านอิมามฮูเซน (อ) ว่า

“ฉันจะออกไปเอาน้ำให้ลูกหลาน เพราะสภาพที่ฉันเห็นลูกหลานหิวน้ำอยู่นั้น ฉันไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”

อนึ่งที่สำคัญ เมื่อ ท่านอับบาส รับภารกิจอันนี้ จะเห็นได้ว่า ความรักในภารกิจ ความรักในการเสียสละ ความรักในการพลี ท่านก็ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างสุดๆ จนสามารถตีฝ่าวงล้อมไปถึงลำธารน้ำได้สำเร็จ

ณ ลำธาร ขณะท่านอับบาสกำลังบรรจุน้ำใส่ถุง ด้วยกับตัวท่านก็ไม่ได้ดื่มน้ำมาหลายวันแล้ว จึงได้เอามือของท่านกวักน้ำขึ้นมาเพื่อจะดื่ม แต่ระหว่างนั้น มือก็ค้างอยู่กลางอากาศ พลันนึกถึงการกระหายของเมาลา และเด็กๆท่านจึงไม่ยอมจิบน้ำก่อน ท่านยอมเสียสละไม่ขอดื่มน้ำ เพื่อจะเอาน้ำไปให้เมาลาและเด็กๆที่กระโจมก่อน

ด้วยเหตุผลนี้ ท่านอับบาสจึงเทน้ำที่อยู่ในอุ้งมือลงลำธารเช่นเดิม จากนั้น ท่านก็กระโดดขึ้นบนหลังม้าแล้วควบทะยานฝ่าวงล้อมของศัตรูไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ศัตรูที่ชื่อ อุมัร อิบนิ ซะอด์ ลน. ซึ่งตั้งมั่นทำทุกอย่าง โดยออกคำสั่งว่า “อย่าให้น้ำ แม้แต่หยดเดียว ก็ไม่ให้ ได้พากลับไปยังกระโจมของลูกหลานของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อล)”

ต่อมา เมื่อทหารของฝ่ายศัตรู ได้รับคำสั่งเช่นนั้น จึงเข้าโจมตี แต่ด้วยท่านอับบาส คือ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ การต่อสู้ การฟาดฟันครั้งยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้น ทว่าด้วยเพียงคนเดียว จึงไม่สามารถที่จะชนะกองทัพจำนวนมากได้ ท่านก็ค่อยๆอ่อนแรงลง แต่ท่านก็ยังฝ่าฟันออกไป จนกระทั่ง ศัตรูที่แอบข้างต้นไม้ ได้ฟันแขนข้างขวาของท่านขาด

ถามว่า เมื่อแขนข้างขวาขาดสะบั้น ท่านอับบาส หยุดภารกิจไหม

คำตอบ คือ ไม่!!! ท่านก็ยังคงควบม้าบุกต่อไป ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง ศัตรูอีกตนหนึ่ง ก็บุกไปฟันแขนข้างซ้ายขาดอีกข้างหนึ่ง

คำถามต่อมา ท่านอับบาส หยุดภารกิจไหม

คำตอบ ก็คือ ไม่ !!! ในเมื่อท่านอับบาส รับภารกิจนี้มาจากอิมามฮูเซน(อ) มาแล้ว แน่นอนท่านอับบาส ต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

กอปรกับ ท่านอับบาส รักในภารกิจของท่านอย่างสุดซึ้ง ทว่าเพื่อจะชี้ว่า บริบทแห่งการเสียสละนี้ คือ “ความรัก” ซึ่งถ้าเราจะใช้คำว่า “รักอย่างมัวเมา ก็ไม่ผิดนัก” เพราะเป็นการรักอย่างมัวเมาในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

นี่คือ อีกคุณลักษณะหนึ่งของเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ ที่ชี้ว่า เขามัวเมาในอัลลอฮ์ ซึ่งในฮะดิษก็ใช้คำนี้ (ด้วยกับเวลาไม่พอ จึงไม่ขออธิบายในรายละเอียด) ในที่นี้ หมายถึง “รักในภารกิจ”

ขอย้อนกลับมายังความรัก ความเสียสละของท่านอับบาส เมื่อแขนทั้งสองข้างขาดสะบั้น ตาทั้งสองข้างของท่านก็เริ่มมองไม่เห็นเช่นกัน ซึ่งเกิดจากทหารคนหนึ่งได้ขว้างก้อนหินก้อนหนึ่งโดนหน้าผากของท่าน จึงทำให้เลือดของท่านไหลหยดลงเข้าตาทั้งสองข้าง จึงทำให้ท่านมองเส้นทางไม่เห็น และเริ่มมองไม่เห็นศัตรู

กระนั้นก็ตาม ด้วยความเป็นห่วงถุงนํ้าจะตก เมื่อไม่มีแขน ท่านอับบาส จึงใช้ปากคาบถุงน้ำและเชือกม้าในเวลาเดียวกันแล้วควบม้าต่อไป

ฝ่ายศัตรูเห็นว่าตัดแขนทั้งสองข้างแล้ว ยังไม่สามารถที่จะหยุดท่านอับบาสได้ มันก็ได้ยิงห่าธนู เข้ามาที่ร่างของท่าน กระทั่งท่านถูกทุบด้วยท่อนเหล็กตกลงจากหลังม้า สุดท้ายน้ำก็ไปไม่ถึงกระโจม

ทว่าความรัก ความเสียสละของท่านอับบาส ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในช่วงที่ท่านอับบาสหายใจเฮือกสุดท้ายในอ้อมแขนอิมามฮูเซน(อ) ท่านอับบาสได้ขอร้องว่า

“โปรดอย่าเอาฉันไปฝัง ณ เวลานี้ และโปรดอย่าให้เด็กๆเห็นศพของฉัน เพราะถ้าหากเด็กๆเห็นศพของฉันในสภาพนี้ ความหวังของเด็กๆที่จะได้ดื่มน้ำก็จะหมดไป และเมื่อหมดความหวังความหิวโหยก็จะเพิ่มขึ้น”

บทสรุป นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งในบุคลิกภาพของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ เมื่อได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นภารกิจหนึ่งภารกิจใด พวกเขาจะทำด้วยความรักอย่างสมบูรณ์•••