ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)
ค่ำที่ ๑ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๒)
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ถอดบทความโดย วราภรณ์(ซัยหนับ) บินตี นาบาวี
การพลีที่เหนือหลักนิติศาสตร์
อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ก่อนอื่นขอชุโกรในเนี๊ยะมัตและเตาฟีกอันยิ่งใหญ่ที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ) ทรงประทานให้กับพวกเราทุกๆคนที่ได้มีชีวิตยืนยาว จนมาถึงมูฮัรรอมอีกปีหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเนี๊ยะมัตและเตาฟีกที่ใหญ่หลวงนัก
ดังนั้น ด้วยกับค่ำคืนแห่งเดือนที่จะผลิตน้ำตา และจุดความเร่าร้อนในกระแสเลือดของเรา ซึ่งถ้าเราสามารถตกผลึกสองสิ่งนี้ได้ อินชาอัลลอฮ์ เราคือ ผู้สำเร็จในการนับถือศาสนา เพราะเรื่องราวและวีรกรรมนี้ บอกว่า น้ำตาเพียงหยดเดียวที่ได้หลั่งให้กับเรื่องราวนี้ เพียงพอที่จะดับไฟนรกทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเรา
แน่นอน ความร้อนความทุกข์ทรมานในไฟนรกนั้นมนุษย์ในโลกนี้ไม่สามารถที่จะจินตนาการได้ว่า อนุภาพของมันร้อนขนาดไหน แต่ถ้าเราศึกษาในรายงาน(ริวายัต)นั้น พึงรู้เถิดว่า หยดเดียวของเปลวเพลิงที่หลุดมาจากนรก หากตกลงมายังโลกนี้ ความร้อนของมันเพียงพอที่จะเผาโลกทั้งหมดให้เป็นจุณได้
หลายๆคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ว่า ไฟนรกนั้นแผดเผาได้ทุกอย่าง กระนั้นก็ตาม เมื่อรีวายัตบอกว่า ความร้อนของไฟนรกเพียงหยดเดียวสามารถแผดเผาโลกทั้งโลกได้ ทว่าด้วยอานุภาพแห่งน้ำตา เพียงหยดเดียวที่เราหลั่งให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ)หรือลูกหลานของท่าน หรืออัศฮาบของท่านนั้น ถือเป็นเพียงพอเช่นกันที่สามารถดับไฟนรกทั้งหมดได้
ดังนั้น ด้วยกับหยดเดียวของเปลวไฟที่หลุดจากนรกสามารถเผาโลกให้เป็นจุณได้ แต่เมื่อมีรีวายัตให้หลักประกันแล้วว่า หยดเดียวของน้ำตาของเราที่ได้หลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ) และขบวนการปฏิวัติอันนี้ สามารถดับไฟนรกทั้งหมดได้เหมือนกันนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของเราด้วย
กอปรกับคืนนี้เป็นค่ำคืนแรกของมุฮัรรอมุลฮะรอม จึงขอให้ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องอะดั๊บต่างๆ เพื่อให้รู้ว่า ทำอย่างไรให้เราได้หลั่งน้ำตาให้กับอิมามฮูเซน(อ) ,ท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) และบรรดาชูฮาดาแห่งกัรบาลา
หากจะกล่าวโดยสรุป น้ำตาในบริบทข้างต้นเท่านั้น คือ หลักประกันของเรา อินชาอัลลอฮ์ เราก็จะรอดพ้น เพราะอะมั้ลอิบาดัตต่างๆที่เราทำนั้น เช่น การนมาซ การถือศีลอด การไปทำฮัจย์ หรือ อะไรก็ตาม อาทิ การบริจาค การช่วยเหลือ ฯลฯ ยังไม่ใช่หลักประกันที่แน่นอน
แน่นอนว่า อามั้ลต่างๆ ไม่ใช่หลักประกัน จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ปรากฏมนุษย์คนใดกล้ายกมือประกาศว่า นมาซของฉันอัลลอฮ์(ซบ)รับแล้ว ฮัจย์ของฉันอัลลอฮ์(ซบ)รับแล้ว ศีลอดของฉันอัลลอฮ์(ซบ)รับแล้ว หรือแม้จะเป็นอะมั้ลอิบาดัตอะไรก็ตาม ก็ไม่มีใครกล้าที่จะยกมือกล่าวยืนยันว่า อะมั้ลของฉันอัลลอฮ์(ซบ)ตอบรับแน่นอน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้นว่า การนมาซ การถือศีลอด การไปทำฮัจย์ รวมทั้งอะมั้ลอิบาดัตอะไรต่างๆทั้งหมด ยังไม่ใช่หลักประกันให้กับมนุษย์ แต่ในฮะดิษได้ยืนยันว่า ให้เรามีความหวัง แม้เป็นความหวังที่เราไม่กล้าฟันธง ทว่าน้ำตาที่หลั่งให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ)นั้นสูงส่งกว่านั้นมาก ดั่งที่อาจารย์รอฟีอีได้กล่าวว่าเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ)นั้น อยู่เหนือมิติในเรื่องของฟิกหรือเรื่องของหลักนิติศาสตร์ และบางครั้งอยู่เหนือเรื่องของอูศูลลุดดีน
หมายเหตุ : ประเด็น “เครื่องมือพิเศษที่อยู่เหนือหลักนิติศาสตร์ทั่วไป” ผู้เรียบเรียง ขอยกเนื้อหาปรมัตถ์การพลี สดุดีอาชูรอ ปี 2561 มาประกอบบทความ
🔴 รหัสยะการไว้อาลัยด้วยน้ำตา คือ เครื่องมือพิเศษที่อยู่เหนือหลักนิติศาสตร์ทั่วไป
ท่านซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ได้ปาฐกถา เมื่อ 4 มุฮัรรอม ปี 2561 ความว่า ท่านอยาตุลลอฮฺ บะฮาอุดดีนีย์ ได้กล่าวว่า…
“เครื่องมือที่ท่านอิมามฮูเซน(อ.)ใช้นั้น คือ เครื่องมือพิเศษ
ที่อยู่เหนือหลักนิติศาสตร์ทั่วไป ดังนั้นไม่ควรดูแคลนเครื่องมือของท่าน และการไว้อาลัยนี้ เป็นการฟื้นฟูการนมาซและมัสยิด”
คำอธิบาย : เครื่องมือที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ใช้ คือ เครื่องมือพิเศษ (ความหมายนี้ สูงมาก ซึ่งในแต่ละประโยคที่ท่านกล่าวออกมานั้น ในมัจญลิซ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการอรรถธิบาย)
ในการชี้ว่า เครื่องมือที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ใช้ในการปฏิวัติที่กัรบาลา นั้น เป็นเครื่องรักษา สร้างหลักประกัน สร้างความมั่นคงให้กับศาสนาของท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) และเป็นเครื่องมือพิเศษที่อยู่เหนือหลักนิติศาสตร์ทั่วไป….
ประโยคดังกล่าว เชื่อว่า หลายๆท่าน คงพอฟังมาบ้างแล้ว ทว่าสำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องหลักนิติศาสตร์เป็นอย่างไรนั้น จะอธิบายพอสังเขป
ด้วยกับประโยคที่ว่า “เครื่องมือที่ท่านอิมามฮูเซน(อ.)ใช้นั้น คือ เครื่องมือพิเศษที่อยู่เหนือหลักนิติศาสตร์ทั่วไป”
🔻 ข้อสังเกต : เพราะการลุกขึ้นปกป้องในครั้งนั้น การพลีในครั้งนั้น ชี้ไปที่… มันเป็น “การพลีเหนือหลักนิติศาสตร์”
“ เหนือหลักนิติศาสตร์” คือ เหนือกว่า คำว่า “วาญิบ” เหนือกว่า คำว่า “ฮะร่าม” และเหนือกว่า สิ่งที่เป็นหน้าที่ของเราไปแล้ว แต่เป็น “การปฏิวัติด้วยความรัก”
🔴 นิยาม การปฏิวัติด้วยความรัก
๑. ความรักไม่ใช่เรื่องของนิติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของมะอฺรีฟัตในเรื่องอัคลาค
๒. ความรักในศาสตร์ของศาสนานั้น ไม่ใช่เรื่องฟิกเกาะฮฺ ไม่ใช่เรื่องอะฮฺกาม อะฮฺกามมีหน้าที่เพียงบังคับให้ปฎิบัติ บังคับให้นมาซ บังคับให้ถือศีลอด บังคับให้คลุมฮิญาบ บังคับให้ไปทำฮัจญ์
ทว่าความรักในนมาซ ความรักในฮิญาบ ความรักในอิฟฟะฮ์ (การรักนวลสงวนตัว ด้วยการดำรงอยู่ในความบริสุทธิ์) ในปรัชญาของมัน คือ มันเป็นเรื่องอัคลาค มันป็นเรื่องมะอฺรีฟัต
เพื่อชี้ว่า เครื่องมือที่อิมามใช้ นั้น ไม่ใช่ข้อสั่งใช้ที่ศาสนากำหนด ดังนั้น จึงไม่ควรดูแคลนเครื่องมือของท่าน อีกทั้งการไว้อาลัยนี้เป็นการฟื้นฟูการนมาซและการฟื้นฟูมัสยิด
จงอย่าได้ดูแคลนการรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ) ประโยคที่ท่านพูดนี้ หมายถึง นมาซยังคงเหลือทุกวันนี้ มัสยิดยังไม่กลายเป็นโบสถ์ ยังไม่กลายเป็นสิ่งอื่น ยังไม่กลายเป็นสิ่งที่ทำชีริก ก็เพราะการปฎิวัติของท่านอิมามฮูเซน(อ)ด้วยเครื่องมือพิเศษอันนี้
اشهد انک اقمت الصلاة و أتيت الزكاة
“อัชชะดุ อัลนะกะ อะกอมตัสศอลา วะอาตัยตัซซะกา”
ขอปฎิญาณว่า ท่านอยาตุลลอฮฺ บะฮาอุดดีนีย์ คือผู้ที่ยืนหยัดให้นมาซยังคงอยู่
หากจะกล่าวโดยสรุป บุคคลใดก็ตามที่มอบความรัก และน้ำตาของเขา ให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ)นั้น พึงรู้ไว้เถิด ท่านอิมามฮูเซน(อ)ตอบรับหมด โดยไม่เลือกชาติและศาสนา ซึ่งอินชาอัลลอฮ์ ถ้ามีเตาฟีก เราก็จะได้เปิดด้วยการนำเรื่องต่างๆมาอรรถธิบายในวาระต่อไป
ดังนั้น เมื่ออิมามฮูเซน(อ)ไม่เลือกชาติและศาสนา อัลลอฮ์(ซบ)ก็ไม่เลือกชาติและศาสนาเช่นกัน ซึ่งยุทธศาสตร์หนึ่งของอิมามฮูเซน(อ) นั่นก็คือ การยึดหลักคำสอนของศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)และเจริญรอยตามท่านศาสดาตลอดมา จึงทำให้เห็นหลักการต่อสู้ที่ว่า แท้จริงอิมามฮูเซน(อ)ไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะชีอะฮ์เพียงเท่านั้น แต่ท่านเป็นของมวลมนุษยชาติ
บทสรุป อิมามฮูเซน(อ) มิได้พลีชีวิตของท่านเพื่อกลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่จริงๆแล้ว เป้าหมายของท่าน คือ คุณค่าและความดีงามที่เป็นสากลและเป็นของมวลมนุษย์ หมายความว่า ท่านคือผู้พลีชีพในหนทางของเสรีภาพ และได้อุทิศชีวิตของตนเพื่อเสรีภาพของมนุษยชาติในทางของสัจธรรม ความยุติธรรมและปฏิรูปสังคม
ดังนั้นแล้ว มนุษย์ทั้งหมดในหล้าโลกนี้ หากเขาได้มอบความรัก และน้ำตา ให้กับอิมามฮูเซน(อ) ไม่ว่ามนุษย์คนนั้น จะเผ่าพันธุ์ใด จะนับถือศาสนาอะไร อินชาอัลลอฮ์ เขาคือ ผู้ที่รอดพ้น
ด้วยเหตุผลนี้ บรรดาบุคลากรของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) บรรดาอะอิมมะฮ์(อ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้น้ำตาของพวกเรานั้นหลั่งออกมาให้กับเรื่องราวนี้ให้ได้
🌍 คำสั่งเสียจากบุคลากรของพระผู้เป็นเจ้า
แท้จริงแล้ว มารยาทสำหรับการเข้าสู่เดือนมุฮัรรอม เป็น ‘คำสั่งเสียของบุคลากรของศาสนา’ เริ่มตั้งแต่ ท่านรอซูลลุลอฮฺ(ศ็อลฯ) บรรดาอิมามและเอาลิยาอฺของอัลลอฮ์ ได้เน้นย้ำอย่างมากมาย ในการให้ความสำคัญต่อเดือนนี้โดยเฉพาะวันอาชูรอ
เพราะการไว้อาลัย ในกรณีการรำลึกถึงบุคลากรของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งหากผู้ใดก็ตามที่รำลึกไว้อาลัย ร่ำไห้ต่อท่านอิมามฮูเซน(อ) เขาจะถูกดึงดูดให้ศึกษาถึงเรื่องราวของท่าน ทั้งในแง่ของการขัดเกลา พัฒนาตน ทั้งในแง่การปฏิบัติต่อสังคม ทั้งในแง่การต่อสู้กับอำนาจมืด หรือแม้แต่ในแง่ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว
ในการชี้ว่า อิมามฮูเซน(อ) จะกลายเป็นแม่แบบการใช้ชีวิต สำหรับผู้รำลึก ดังนั้นการร้องไห้ไว้อาลัยถึงท่าน ในด้านหนึ่งแล้ว คือ การถักทอหัวใจเชื่อมโยงกับอิมามฮูเซน(อ)นั่นเอง
ดังนั้น หากต้องการจะได้รับเตาฟีกในเดือนมุฮัรรอม เราต้องให้ความสำคัญต่ออัคลาคของเดือนมุฮัรรอม และหากต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตในวิถีอิสลาม เราต้องให้ความสำคัญกับ ๑๐ วันแรกของเดือนมุฮัรรอม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
⚫🖋 ‘อะดั๊บ’(มารยาท) การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม
ประการที่ ๑ ให้ใส่เสื้อสีดำเพื่อไว้ทุกข์ไว้อาลัย
ประการที่ ๒ เมื่อจะดื่มน้ำให้รำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ)
ประการที่ ๓ เมื่อจะนมาซให้สุญูดบนดินกัรบาลาอฺ
ประการที่ ๔ หลีกเลี่ยงการสนุกสนานในเดือนมุฮัรรอม
ประการที่ ๕ หันหลังให้กับละครและความบันเทิงต่างๆ ที่ทำให้เราออกห่างจากการไว้อาลัย
ประการที่ ๖ ให้ประดับประดาสถานที่อาคารบ้านเรือนด้วยสีดำ
ประการที่ ๗ ร่วมมัจญลิสรำลึกวีรกรรมแห่งกัรบาลา เพื่อฝึกฝนตัวเราให้เป็นนักปฏิวัติ
ประการที่ ๘ อย่าเพลิดเพลินกับการกินอาหารที่เอร็ดอร่อย จนทำให้เราหลงลืมการไว้ทุกข์ไว้อาลัยประการที่ ๙ ทำความเข้าใจเนื้อหาบทดุอาอฺ บทซิยารัตต่างๆ โดยเฉพาะซิยารัตอาชูรอ จะช่วยทำให้เรารำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) และซิยารัตวาริษ จะช่วยทำให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอิมามฮูเซน(อ)
ประการที่ ๑๐ให้สำรวมตนให้มากที่สุด โดยสร้างบรรยากาศรอบตัวเรา ให้อยู่ในบรรยากาศที่โศกเศร้า เสมือนกับเราได้สูญเสียบุคคลที่รักของเราไป
🔻ประการที่ ๑ ให้ใส่เสื้อสีดำเพื่อไว้ทุกข์ไว้อาลัย
พึงจำไว้ว่า ทุกครั้งที่มีโอกาสรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ) บรรดาบุคลากรของศาสนาได้พยายามให้เราใช้โอกาสนั้นไว้ทุกข์ไว้อาลัย ด้วยการใส่ชุดดำเพื่อแสดงถึงความโศกเศร้า ดั่งตัวอย่างบรรยากาศที่เห็นในค่ำคืนแรกของมัจญลิซอิมามฮูเซน(อ) ของเดือนมุฮัรรอม ทุกคนรู้แล้วว่าค่ำคืนนี้ มีคำสั่งเสียของศาสนา ทุกคนจึงแต่งดำในการไว้ทุกข์
ดังนั้น หากยังมีใครสงสัยว่า มุสลิมใส่ชุดสีดำได้จริงหรือ ให้คำตอบเขาได้เลยว่า ในอิสลาม มีริวายัต มีฮะดิษการไว้ทุกข์ไว้อาลัยที่สามารถอ้างอิงได้อย่างมากมาย
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ในวันนี้มัศฮับวะฮาบี ซึ่งเป็นสายที่ยอมรับเรื่องราวศาสนาได้ยากที่สุด ได้ออกมายอมรับแล้วว่า มีฮะดิษจำนวนหนึ่งที่ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) มีคำสั่งให้แต่งชุดดำ ในกรณีหญิงที่สามีของนางเป็นชะฮีด และรวมถึงบนีฮาชิมที่คนในตระกูลของเขาเป็นชะฮีดหรือเสียชีวิต
ความจริงแล้ว ฮะดิษการไว้ทุกข์จากท่านรอซูลลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)โดยตรงยืนยันถึงสิ่งนี้มีเป็นจำนวนมาก ดังนี้แล้ว ผู้ใดที่สงสัยอยู่ จงหยุดและจงหมดข้อสงสัยได้แล้ว อีกทั้งต้องถือเป็นอะดั๊บ (มารยาท) ที่สำคัญประการหนึ่งในการร่วมรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ)
ดังนั้น หลังจากนี้เป็นต้นไป ถือว่า หมดข้อสงสัยจากบรรดาริวายัต ที่มาจากบรรดาอิมาม(อ) เพราะหลายๆมัศฮับได้ค้นคว้าพบแล้วว่า ทั้งหมดมาจากท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ที่มีคำสั่งเสียอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก
สาระศึกษา : จะเห็นได้ว่า ชีวิตเราทั้งชีวิตถูกทำให้ผูกด้วยกับบุคลากรของศาสนาไปยังเรื่องราวของท่านอิมามฮูเซน(อ) ซึ่งเราพูดให้ฟังในมัจญลิซทุกปี
ความจริงแล้ว ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสีนั้น มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา เพราะสีแต่ละสีนั้นให้ผลทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้คนเรามีความรู้สึกต่างกันไปตามสีนั้น เช่น ผ่อนคลาย หรือ หม่นหมอง
ดังนั้น ‘การใส่เสื้อดำ’ ก็เช่นกัน เพื่อชี้ว่า ที่ศาสนานำมาใช้ คือ จิตวิทยาประการหนึ่ง ส่วนในแง่มุมทางวิชาการ ตามหลักจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ก็ยอมรับ เพราะสีดำ คือ สัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงความหม่นหมอง นำความโศกเศร้า นำการไว้ทุกข์ อีกทั้งบ่งบอกถึงบุคลิกคนที่ใส่ชุดดำ จะไม่ค่อยร่าเริง
🔻ประการที่ ๒ เมื่อจะดื่มน้ำให้รำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ)
การผูกพันกับอิมามฮูเซน(อ) อีกอาดั๊บหนึ่งที่ถูกกำชับ คือ ทุกครั้งที่มีโอกาสดื่มน้ำให้รำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) เพราะไม่มีใครสามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่ดื่มน้ำ แต่ท่านยอมประสบมุศิบัตทั้งหมด ยอมพลีทุกสิ่งทุกอย่างก็เพื่อประชาชาติของท่าน
ดังนั้น อาดั๊บการดื่มน้ำ จึงเป็นการรำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) โดยทุกครั้งที่เราจะดื่มน้ำ ให้กล่าวสลามแก่ท่าน เพื่อให้เราเรียนรู้ว่า อิสลามดำรงอยู่ได้ เพราะนักรบในสมรภูมิกัรบาลา ที่จากโลกนี้ไปโดยไม่มีน้ำให้ได้ดื่มกิน
⚫🖋 ‘อะดั๊บ’(มารยาท) การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม
🔻ประการที่ ๓ เมื่อจะนมาซให้สุญูดบนดินกัรบาลาอฺ
ประการต่อมา บรรดาบุคลากรของศาสนายังคงพยายามทุกวิธีทาง เพื่อให้ชีวิตของเราทั้งชีวิต ได้ผูกพันกับท่านอิมามฮูเซน(อ) ก็คือ การนมาซที่สุญูดบนดินกัรบาลา
จริงๆแล้ว ไม่มีมุสลิมคนไหนมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่นมาซ ดังนั้น เมื่อเราเป็นมุสลิมเราต้องนมาซ ซึ่งหากจะสรุปโดยย่อ
“เมื่อนมาซห้าเวลา ทั้งห้าเวลานั้น ก็ต้องรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ)”
ทว่าการนมาซนั้น บรรดาบุคลากรของศาสนา ท่านนบี บรรดาอิมามต่างๆ ได้บอกล่วงหน้าแล้วว่า สูงสุดของการละหมาด คือ การละหมาดอย่างมีมะรีฟัต และดินที่ดีที่สุดในการใช้สุญูดต่ออัลลอฮ์(ซบ)คือ ดินกัรบาลาอฺ
🔻ประการที่ ๔ หลีกเลี่ยงการสนุกสนานในเดือนมุฮัรรอม
สิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีคำสั่งจากบุคลากรของศาสนาว่า ในเดือนมูฮัรรอม จนถึงวันที่ 20 เดือนซอฟัร คือ เดือนหรือวันเวลาแห่งการรำลึกที่ถูกกำหนดขึ้นโดยตรง
แน่นอนว่า มีริวายัตมากมายจากบรรดาอะอิมมะฮ์ได้แสดงแบบอย่าง ดั่งที่ท่านอิมามริฏอ(อ)และอิมามซัยนุลอาบีดีน(อ) รวมทั้งท่านอื่นๆได้แสดงแบบอย่างให้ดู รวมทั้งมีริวายัตจำนวนมากจากอัครสาวก ที่ได้รับการยืนยันแล้ว ความว่า…
“ทันทีที่ “هلال شهر محرم الحرام ”(จันทร์เสี้ยวแห่งเดือนมูฮัรรอม)มาถึง นับตั้งแต่วินาทีนั้นมา จนถึงอาชูรอ พวกเรา(อัครสาวก) ไม่เคยมีใครเห็นรอยยิ้มของท่านอิมามริฏอ(อ)อีกต่อไป”
และถ้าไปดูฮาดิษบทอื่นๆ ก็มีการบันทึกว่า จะไม่เห็นแม้แต่รอยยิ้มหรือหัวเราะของบรรดาอะอิมมะฮ์โดยเฉพาะใน 10 วันแรก หมายความว่า ความโศกเศร้านี้ครอบงำชีวิตของท่าน จนกระทั่ง 10 วันผ่านไป
เป้าหมายจะบอกว่า ฮาดิษและรีวายัตในเรื่องนี้มีรายงานเกือบทุกอิมาม และในรายงานยังกล่าวอีกว่า และความโศกเศร้าก็จะยิ่งเข้มข้นไปเรื่อยๆ โดยวันที่ 2 มูฮัรรอมความโศกเศร้า ความสำรวมนั้น จะมีมากกว่าวันที่ 1 และวันที่ 3 ความโศกเศร้า ความสำรวม ก็จะมีมากกว่าวันที่ 2 โดยจะเพิ่มความเข้นข้นแห่งความเศร้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงจุดสูงสุดของมัน ซึ่งสูงสุดของความโศกเศร้า ก็คือ วันที่10 ของเดือนมูฮัรรอม
จริงอยู่มนุษย์ทั่วไปอย่างพวกเรา อาจจะยังไม่มีจิตวิญญาณนี้โดยธรรมชาติ เพราะมิใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมตัวเอง ในการหลีกเลี่ยงเสียงหัวเราะ หลีกเลี่ยงความสนุกสนานบันเทิงเฮฮา รวมทั้งอะไรต่างๆ
ทว่าถ้าเราต้องการแสดงความรัก และร่วมไว้ทุกข์ให้กับอิมามฮูเซน(อ)อย่างแท้จริง จำเป็นต้องฝึกฝนและควบคุมให้ได้ ด้วยการละเว้นสิ่งต่างๆที่ทำให้เราสนุกสนานหรือหลงลืมการไว้ทุกข์ไว้อาลัย อีกทั้งต้องละเว้นวิถีชีวิตที่หมกหมุ่นกับสิ่งที่ไร้สาระต่างๆ รวมทั้งควบคุมตนเองอย่าให้มีเสียงหัวเราะในเดือนมุฮัรรอมเดือนแห่งการโศกเศร้านี้
🔻ประการที่ ๕ หันหลังให้กับละครและความบันเทิงต่างๆ ที่ทำให้เราออกห่างจากการไว้อาลัย
การละเว้นการดูหนังดูละคร แม้จะยังยากสำหรับพวกเรา เพราะความโศกเศร้าของเรา บางครั้งยังไม่เป็นธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจยังไม่เกิดความรักที่แท้จริง แต่ทั้งนี้เราก็ต้องฝึกฝน และต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆเข้ามาช่วย เพื่อทำให้จิตวิญญาณของเราสามารถผลิตน้ำตาให้อยู่ในความโศกเศร้าออกมา
ดังนั้น ในสิ่งที่จะเน้นย้ำ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของเดือนมุฮัรรอม ขอให้ทุกคนพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะรักษาอะดั๊บแห่งมูฮัรรอมให้ได้
➡️ สมมุติ : ถ้ามุสลิมะฮ์คนใดคนหนึ่งติดหนังติดละคร ที่ถึงขั้นอยู่ในช่วงพีคสุดๆ (Peak = จุดสูงสุด) ติดละครมาก ตรงนี้เพื่อจะบอกว่า ต้องปฏิวัติตัวตน ด้วยการทิ้งให้ได้ ซึ่งถ้าทิ้ง โดยไม่ดูละครที่ติดได้ แสดงว่า ความรักเริ่มจะฉายแสง
ทว่าถ้ายังใช้ชีวิตอย่างธรรมดา กลางคืนมาร่วมมัจญลิส กลางวันยังดูหนังดูละครเฮฮาสนุกสนาน โดยไม่ได้สนใจในชุดดำที่จะต้องไว้อาลัย แน่นอน เขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะความรักที่แท้จริงจะไม่เกิดขึ้นกับเขา
🔻ประการที่ ๖ ให้ประดับประดาสถานที่อาคารบ้านเรือนด้วยสีดำ
คำสั่งสอนของศาสนาบอกว่า ให้แต่งชุดดำ รวมทั้งให้ประดับประดาบ้านเรือนของเราด้วยสีดำ แต่จริงๆแล้วอาเล็มอุลามาอฺไปไกล และไปลึกมากกว่านี้ ซึ่งบางอย่างพวกเราอาจจะปฏิบัติไม่ได้ แต่อย่างน้อยควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะนำความสุขมาบ้าง โดยทั้งหมดนี้เพื่อจะหลั่งน้ำตา ให้น้ำตาของเรามีส่วนร่วมกับการปฏิวัติ หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือ เพื่อยกระดับทางจิตวิญญาณของเราไปด้วยนั่นเอง
เบื้องต้นการให้ได้หลั่งมาซึ่งน้ำตานี้เป็นเพียงบันไดขั้นแรก แต่บันไดขั้นอื่นๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ หลังจากผลิตน้ำตาในขั้นแรกให้ได้ก่อน จากนั้นก็จะมีขั้นตอนอื่นๆ และไปจบที่เราพร้อมที่จะหลั่งเลือดเพื่อสานต่อขบวนการนี้ ซึ่งแน่นอนในรายละเอียดมีสิ่งต่างๆที่เราจะต้องทำอย่างมากมาย
ทว่าทั้งนี้ การดำเนินชีวิตในหนทางของการเป็นบ่าวนั้น จงใช้ประโยชน์จากน้ำตา ซึ่งกว่าจะไปถึงผลลัพธ์ทางจิตวิญญาณในขั้นต่อไปนั้น จำเป็นต้องเรียนทำความเข้าใจระดับอนุบาลก่อน เพราะถ้าขั้นอนุบาลยังไม่ผ่าน พึงรู้เถิด อย่าได้คิดฝันว่า จะไปถึงจุดสูงสุดที่เป็นเป้าหมายของขบวนการนี้
ดังนั้น ถ้าการดำเนินชีวิตของเราในเดือนมูฮัรรอมยังคงปกติอยู่ อาจจะมีนิดหน่อยใน 24 ชม มีหนึ่งชั่วโมงที่ได้ร่วมรำลึกในมัจญลิส ซึ่งหากใครก็ตามรำลึกเพียงแค่นี้ เขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะความรักที่แท้จริงที่มีต่อท่านอิมามฮูเซน(อ)ที่มีต่อขบวนการอันนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
🔻ประการที่ ๗ ร่วมมัจญลิสรำลึกวีรกรรมแห่งกัรบาลา เพื่อฝึกฝนตัวเราให้เป็นนักปฏิวัติ
การร่วมฟังมัจญลิซไม่ใช่มาฟังแต่เรื่องเล่าแห่งประวัติศาสตร์ แต่จะทำอย่างไรให้เราได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ดั่งที่วีรชนแห่งกัรบาลาได้สร้างไว้ และเมื่อวันหนึ่งมาถึงจะได้ร่วมปฏิวัติกับอิมามมะฮ์ดี(อ)
กอปรกับคืนนี้เป็นคืนแรก จำเป็นต้องนาศิฮัตเรื่องนี้ก่อน ทุกคนจะได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาดั๊บการดำเนินชีวิตในเดือนมุฮัรรอม เพื่อชี้ว่า อย่ารักอิมามฮูเซน(อ) อย่าสำรวมและอย่าโศกเศร้าเพียงในมัจญลิสเพียงเท่านั้น ทว่าเราทุกคนต้องฝึกฝนที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
ดังนั้น ตามที่บอกไปแล้วว่า การฟังมัจญลิซด้วยหยดน้ำตาที่รู้คุณค่าของการสูญเสียนี้ จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง อีกทั้งสูงสุดในคุณค่าของน้ำตาเพียงหยดเดียวที่หลั่งให้กับขบวนการนี้ ไม่ว่าจะเพื่ออิมามฮูเซน(อ) เพื่อญูน เพื่อฮาบีบ เพื่อท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) เพื่อท่านหญิงสุกัยนา(สลามุลลอฮฯ) เพื่ออัสกัร รวมทั้งหมดแล้วนั้น มีค่าสุดที่จะคณานับ เพราะหยดน้ำตาที่ได้หลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ) และขบวนการปฏิวัติอันนี้ เพียงหยดเดียวเท่านั้นก็สามารถสยบเปลวไฟนรกให้จบได้ อินชาอัลลอฮ์ ชะตากรรมของเราในโลกหน้าจบ
ประการต่อมา ด้วยกับอัลลอฮ(ซบ) สั่งนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ให้ขอความรักแบบพิเศษ นัยยะนี้ อย่าลืมว่า เรื่องราวแห่งอะฮฺลุลเบต(อ) เป็นเรื่องราวที่เหนือมิติใดๆ เหนือมิติแห่งกาลเวลา ,สถานที่ และยุคสมัย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่องที่ยิ่งใหญ่นี้ ถือเป็นบุญสำหรับพวกเรา ที่มีโอกาสได้เป็นผู้รำลึก และการที่เราได้อยู่ในแนวทางนี้ พึงรู้เถิด ประโยคที่สูงสุดเกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้มีอยู่ในอัลกุรอาน ซึ่งเรียกง่ายๆว่า “อายัตกุลลา”
“อายัตกุลลา” คือ สิ่งที่อัลลอฮ์(ซบ)ขอ และขอผ่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)นั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก และเป็นสิ่งที่ประชาชาติไม่เคยได้ยินมาก่อน และไม่เคยคิดมาก่อนด้วยว่า ในการที่จะให้ตอบแทนบุญคุณของศาสนานั้น อัลลอฮ(ซบ) ให้นบีขอกับประชาชาติของท่านว่า
“قُلْ لَا”
(ขอเขาสิ บอกเขาสิ)
“قُلْ لَا أَسْأَلُكُمْ”
(กุลลา อัสอะลุกุม) ความว่า ไม่ขอรางวัลใดๆในการเผยแพร่ ในความเหน็ดเหนื่อย ในการที่ศาสดาของอัลลอฮ์(ซบ)ได้เสียเลือด เสียเนื้อ ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความทุกข์ทรมานมากที่สุด และทุกข์กว่าทุกๆนบีทั้งหมด
ทีนี้มาดูฮะดิษที่เกี่ยวข้อง จะขอยกบทหนึ่ง โดยท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) วจนะว่า…
“ما أوذي نبي مثل ما أوذيت”
(มา อุซิยา นบี มิสลิมา อูซิยตฺ) ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) วจนะว่า “จงรู้ไว้เถิด ไม่มีนบีองค์ใด หรือที่จะทุกข์ทรมานมากไปกว่าฉัน (ในการทำงานศาสนา)”
ดังนั้น จึงไม่ต้องจินตนาการแล้วว่า ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ทุกข์ทรมานมากขนาดไหนในการรับใช้ศาสนาของอัลลอฮ์(ซบ) และกว่าจะนำสัจธรรมมาถึงเราในทุกวันนี้ได้ และทุกข์ทรมานมากขนาดไหน ที่ต้องหันหลังให้กับบ้านเกิดเมืองนอน ทิ้งทรัพย์สินเงินทองและทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชาติของท่าน
🔻ประการที่ ๘ อย่าเพลิดเพลินกับการกินอาหารที่เอร็ดอร่อย จนทำให้เราหลงลืมการไว้ทุกข์ไว้อาลัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในยุคสมัยท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) เผยแผ่ศาสนา ท่านหญิงคอดียะฮ์(สลามุลลอฮฯ)วีรสตรีแห่งอิสลาม ได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ซึ่งตลอดเวลาในช่วงแห่งการทดสอบและความยากลำบากนั้น ทรัพย์สินของท่านหญิงถูกใช้จ่ายไปในหนทางของอิสลามทั้งหมด
ทว่าก่อนที่ท่านหญิงคอดียะฮ์(สลามุลลอฮฯ) สุภาพสตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งอิสลามท่านนี้จะจากโลกนี้ไปนั้น ปรากฏว่าท่านหญิงไม่มีแม้แต่อาหารจะกิน ซึ่งหากย้อนเวลาก่อนหน้านั้น เป็นที่รู้กันว่า ท่านหญิงคอดียะฮ์(สลามุลลอฮฯ) เป็นสุภาพสตรีที่นับได้ว่าเป็นเศรษฐีนีผู้มั่งคั่งคนหนึ่งแห่งเมืองมักกะห์ โดยสมัยนั้น ท่านหญิงทำธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศ ติดอันดับต้นๆ ในคาบสมุทรอาหรับ อาทิ มักกะห์ไปยังชาม ซีเรีย และเยเมนมาก่อนแล้ว
ทว่าเมื่อ ท่านหญิงคอดียะฮ์(สลามุลลอฮฯ) เข้ารับอิสลาม และได้ร่วมสืบสานอุดมการณ์ตามท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) นั้น ในบั้นปลายชีวิตของท่านหญิงไม่มีแม้แต่อาหารจะกิน ซึ่งเกิดจากการถูกบอยคอต ถูกแซงชั่นที่หุบเขาแห่งนบีฏอเล็บ
ริวายัตได้กล่าวว่า บางวันท่านหญิงต้องกินใบไม้เพื่อประทังความหิว
ในการชี้ว่า ครอบครัวนบีทุกข์ทรมานมากขนาดไหนนั้น แน่นอนเหนือกว่าการจินตนาการของเรา ไม่เพียงเท่านั้นบางครั้งขณะท่านนบีนมาซในมักกะห์ในยุคต้นๆ ทว่าเมื่อท่านเงยจากสุญูด บรรดากาเฟรมุชริกีนก็ได้เทสิ่งปฏิกูลลงบนศีรษะของท่าน
บางรายงานก็บอกว่า บางครั้งพวกกาเฟรมุชรีกีนก็เอารกของอูฐเทลงบนศีรษะของท่าน ซึ่งลักษณะการถูกกระทำแบบนี้ไม่ได้เกิดเพียงวันเดียว
หากจะกล่าวโดยสรุป จากเหตุการณ์การถูกกระทำทั้งหมดนี้ เพื่อจะอธิบายว่า นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ทุกข์ทรมานมากขนาดไหน เหน็ดเหนื่อยมากขนาดไหน ซึ่งจริงๆแล้วการจะตอบแทนรางวัลของท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)นั้น แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถตอบแทนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
กระนั้นก็ตาม ได้มีบรรดาศอฮาบะฮ์บางท่าน เกิดความซาบซึ้งในบุญคุณความเสียสละ และความอดทนของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) จึงรวมกลุ่มกันมาถามท่านนบี เพื่อจะตอบแทนบุญคุณ ซึ่งตลอดเวลา 23 ปี ที่ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ได้เสียสละในการนำศาสนาอันบริสุทธิ์มาให้กับประชาชาติ โดยพวกเขากล่าวว่า
“ยารอซูลุลลอฮ์ !!! ฉันจะตอบแทนท่านแบบไหน อย่างไร หรือ ทรัพย์สินเงินทองหรือมีอะไรที่พอจะตอบแทนให้ท่านได้บ้าง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณอันใหญ่หลวงนี้”
ทว่าในครั้งแรก ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) นิ่งเงียบ โดยไม่ได้ให้คำตอบในทันที แต่ขณะเดียวกันท่านนบีก็รอ จนกว่าอัลลอฮ์(ซบ)จะลงวะฮ์ยูลงมา ซึ่งเป็นอายัตที่เราอ่านไปในตอนต้นของมัจญลิส
➡️ ซูเราะฮฺ อัลชูรอ โองการที่ 23
قُلْ لَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ
ความว่า จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ฉันมิได้ขอรางวัล(ค่าตอบแทน)ใดๆ เพื่อการนี้เว้นแต่เพื่อความรักใคร่ในเครือญาติ (สายเลือดของศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ))
คำอธิบาย : อัลลอฮ(ซบ) ตรัสว่า จงกล่าวเถิดมูฮัมมัด จงตอบเขาไปว่า
“لَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا”
(ลาอัสอะลุกุม อะลัยฮิอัญรอ)
ความว่า ฉันมิได้ขอรางวัลใดๆ ในการงานนี้ ไม่มีสิ่งใดที่จะตอบแทนความเสียสละของฉันในการนี้ได้ แต่ถ้าพวกเจ้าคิดจะตอบแทนฉัน ขออย่างเดียว คือ “إِلَّا” (อิลลา) เว้นแต่ “الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ” (มะวัดดะตะ ฟิลกุรบา) ให้มีความรักต่อลูกหลานของฉัน ให้มีความรักต่อสายเลือดของฉัน
จากบริบทดังกล่าว เบื้องต้นสรุปได้ว่า ถ้าใครจะตอบแทนบุญคุณของศาสนานี้ หรือถ้าใครจะตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) ให้ตอบแทนด้วยการรักในลูกหลานของท่าน
และหลังจากนั้น ยังมีโองการอีกหลายโองการ ที่เข้ามาตัฟซีรความหมายของมะวัดดะฮ์ เข้ามาอธิบาย เนื้อหาที่สูงกว่า และสมบูรณ์กว่าอะยะฮ์ของมะวัดดะฮ์ขึ้นไปอีก
ดังนั้นแล้ว เมื่อพิจารณาคำสั่ง การขอความรักแบบ “الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ” นี้ จริงอยู่ คือ สิ่งที่นบีขอกับเรา(ประชาชาติ) แต่หากเราศึกษาอย่างลึกซึ้ง จะพบว่า อัลลอฮฺ(ซบ)ส่งนบีมาเพื่อชี้นำมนุษย์ ดังนั้น สิ่งที่ขอนี้ก็เพื่อมนุษย์
➡️ ซูเราะฮฺยาซีน โองการที่ 21
“اتَّبِعُوا مَن لَّا يَسْأَلُكُمْ أَجْرًا وَهُم مُّهْتَدُونَ”
ความว่า และพวกท่านจงปฏิบัติตามผู้ที่ไม่ได้เรียกร้องรางวัลใดๆจากพวกท่าน และพวกเขาเป็นผู้ได้รับทางนำ
คำอธิบาย : โองการข้างต้น พระองค์ยืนยันเพื่อเป็นตัวอย่างว่า นบีไม่ได้ขอรางวัลใดๆในการเผยแพร่ศาสนา ทว่ามีโองการหนึ่ง พระองค์มีคำสั่งให้นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ขอรางวัล
➡️ ซูเราะฮฺอัลฟุรกอน โองการที่ 57
“قُلْ مَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ مِنْ أَجْرٍ إِلَّا مَن شَاءَ أَن يَتَّخِذَ إِلَىٰ رَبِّهِ سَبِيلًا”
“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด ฉันมิได้ขอรางวัลใดๆจากพวกท่านในการเผยแพร่ เว้นแต่ว่าผู้ใดประสงค์ก็ให้เขายึดเป็นทางนำไปสู่พระผู้อภิบาลของเขา”
คำอธิบาย : อัลลอฮ(ซบ) ได้กล่าวโองการนี้ ว่า บรรดาศาสดาไม่ได้ขอรางวัลใดๆในการเผยแพร่ศาสนา แต่ในโองการนี้ พระองค์มีคำสั่งให้นบีมูฮัมหมัด(ศ็อล) ขอรางวัล
เห็นได้ว่า นัยยะนี้เป็นกรณีพิเศษกรณีหนึ่ง ซึ่งดูประหนึ่งว่า ท่านขอรางวัลเพื่อท่านเอง แต่แท้จริงแล้วที่อัลลอฮ(ซบ)ให้นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ขอสิ่งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ของพวกเจ้า(มวลมนุษย์)ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าพวกเจ้าปฏิบัติสิ่งนี้ พวกเจ้าก็จะได้รับฮิดายัต ได้รับทางนำ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาการขอรางวัลของท่านในครั้งนี้ ชัดเจนว่า ท่านไม่ได้ขอเพื่อตัวท่านเอง ทว่าท่านมีความจำเป็นต้องขอเพื่อประชาชาติของท่าน ซึ่งเป็นการขอรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่นำไปสู่การได้รับความดีและมรรคผลต่างๆ ให้กลับไปยังประชาชาติของท่าน
นี่คือ เหตุผลที่นบีขอ และสิ่งที่ขอนั้น ถ้าเรามอบสิ่งนี้ให้กับนบี แน่นอนเรามีแต่ได้ เราไม่ได้เสียอะไรเลย และยิ่งถ้าเรามอบความรับให้กับบรรดาอะฮฺลุลเบต(อ) เราก็จะยิ่งได้ความรัก ความเมตตาเพิ่มพูนขึ้นไปอีก
ดังนั้น หากเรามอบความรักให้กับบรรดาอิมาม และมอบความรักให้กับอิมามฮูเซน(อ) แน่นอนเราได้ เราได้ความรักที่มีต่ออิมามฮูเซน(อ)
คำถาม : ถ้าเป็นความรักที่แท้จริง ถามว่า มีคุณค่าหรือไม่
คำตอบ : แน่นอน ยิ่งได้คุณค่ากับผู้มอบความรัก
ในการชี้ว่า ยิ่งเรามอบความรักเรายิ่งได้ ยิ่งรักมากเรายิ่งได้มาก ยิ่งรักอย่างสุดชีวิต เราก็จะได้อย่างสุดๆในแบบที่เราไม่สามารถจินตนาการที่จะคณานับ
เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความรักกับอะฮ์ลุลเบตแบบสุดๆ เราก็จะได้รับการตอบแทนในแบบที่ประเมินคุณค่าไม่ได้ จริงๆแล้วไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ว่า จะได้อะไร แต่ถ้าใครจินตนาการได้เขาโกหก เพราะในอัลกุรอานยืนยันว่า ถ้าอัลลอฮ์(ซบ)จะตอบแทนคนที่ดี แบบสุดๆนั้น พระองค์จะตอบแทนแบบไหนอย่างไรนั้น ให้ศึกษาพระดำรัสในกรุอ่าน
➡️ ซูเราะฮ์อัต-ฏอลาค โองการที่ 3
وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ ۚ وَمَن يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ ۚ إِنَّ اللَّهَ بَالِغُ أَمْرِهِ ۚ قَدْ جَعَلَ اللَّهُ لِكُلِّ شَيْءٍ قَدْرًا
ความว่า และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว
คำอธิบาย : “وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ” ۚ
(วะยัรซูกูฮู มิน ฮัยสุลา ยะฮฺตะซิบ) และพระองค์จะตอบแทนแก่พวกเขา ในแบบเขาไม่คาดคิด ซึ่งชัดแจ้งอัลกุรอานบอกล่วงหน้า ถ้ามีความรักอย่างแท้จริง เขาก็จะได้ในแบบที่ไม่คาดคิด
สมมุติ : เราเสียสละเพื่อศาสนา (ซึ่งความจริงยังไม่เกิดขึ้นเพราะเรายังไม่ได้ทำอะไร) แต่ถ้าหากเราคิดว่า เมื่อเราเสียสละ เราจะต้องได้ในสิ่งที่เราคิดอย่างนั้นอย่างนี้ พึงรู้ไว้เถิด เราคิดผิด เพราะสิ่งที่อัลลฮ์(ซบ)จะประทานให้นั้นมากกว่าแน่นอน
‘อะดั๊บ’(มารยาท) การไว้อาลัยในศาสนา
อิสลาม
🔻ประการที่ ๙ ทำความเข้าใจเนื้อหาบทดุอาอฺ บทซิยารัตต่างๆ โดยเฉพาะซิยารัตอาชูรอ จะช่วยทำให้เรารำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) และซิยารัตวาริษ จะช่วยทำให้เราเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอิมามฮูเซน(อ)
➡️ 🖋 ความสำคัญของบทดุอาอฺ
เนื่องจากดุอาอฺจำนวนมาก มีผลต่อการขับกล่อมจิตวิญญาณของพวกเรา ให้เราได้เข้าอยู่ในแนวทางของบรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮ (ซบ.) จึงจะเข้าใจได้ว่า เราจำเป็นต้องรำลึกถึงถึงอิมามฮูเซน ท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)ในเหตุการณ์กัรบาลาอฺ และวันอาชูรอ
กอปรกับภายหลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺ บรรดาอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า การตั้งปณิธานเช่นนี้ เป็นการเน้นย้ำให้เราตระหนักในโอกาสที่ยังไม่ได้ถูกปิดลง ถึงแม้ว่าวันนั้น เราอาจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์กัรบาลาอฺก็ตาม โดยบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.) ต่างได้บอกกับพวกเราต่ออีกว่า
“کل یوم عاشورا کل ارض الکربلا”
(กุลลุโยม มินอาชูรอ กุลลุอัรฎิลกัรบาลา) : ทุกๆวันคือ วันอาชูรอ ทุกๆแผ่นดินคือกัรบาลาอฺ
➡️🖋 ‘อะดั๊บ’ความสำคัญของบทซิยารัตอาชูรอ
บรรดาอะฮฺลุลเบต(อ) มีวจนะว่า…
“พวกเราทั้งหมดเป็นมะซูม (ไม่มีบาป) เป็นชาวสรรค์ แต่เราก็ปฏิบัติตัวในเดือนมุฮัรรอมอันโศกเศร้านี้อย่างมีมารยาท”
อนึ่งประการสำคัญ จากแบบอย่างของบรรดาอิมามทั้งหมด นับตั้งแต่อิมามอะลี(อ)เป็นชะฮีด อิมามฮะซัน(อ)เป็นชะฮีดนั้น ไม่พบริวายัตจากบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ.)ให้เตรียมตัว ให้โศกเศร้า และให้ร้องไห้ล่วงหน้าแต่อย่างใด
ทว่ากลับกันบรรดาอิมามทั้งหมด กลับชี้พุ่งไปที่การไว้ทุกข์ไว้อาลัยเป็นพิเศษไปยังท่านอิมามฮูเซน (อ.) ทั้งๆที่การต่อสู้ การเป็นชะฮีดเป็นของทุกๆอิมาม แต่ทำไมความยิ่งใหญ่ทั้งหมดจึงมอบให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ.)
ดังนั้นแล้ว กรณีท่านอิมามฮูเซน(อ) ถ้าเราตั้งใจอ่านซิยารัตอาชูรอ (ซิยารัตอาชูรอเป็นซิยารัตหนึ่งที่สั่งเสียเป็นอย่างมากสำหรับบรรดาชีอะฮ์ทุกคน) ซึ่งเบื้องต้นการอ่านซิยารัตอาชูรอนั้นเป็นอาดั๊บที่สำคัญอันหนึ่งในการเข้าสู่มุฮัรรอม
อินชาอัลลอฮ์ คิดว่าทุกคนเริ่มอ่านตั้งแต่ค่ำคืนที่ 1 มุฮัรรอมกันแล้ว อย่างน้อยที่อะเล็มอุลามาอ์ให้การสนับสนุนบอกกล่าวกันมา คือ ให้อ่านซิยารัตออาชูรอไปจนถึงอัรบาอีน
อีกทั้งยังมีคำสั่งเสียอีกว่า โดยเฉพาะช่วง 10 วันแรกของเดือนมุฮัรรอม อย่าอ่านเพียงวันละครั้ง ซึ่งบางคนอาจะคิดว่าอ่านครั้งเดียวตอนกลางคืนที่สุเหร่า หรือที่บ้าน หรืออ่านที่ใดที่หนึ่ง ถือว่าพอเพียงแล้ว และพรุ่งนี้ในตอนกลางวันก็ไม่ต้องอ่านแล้ว ขอเตือนเลยว่า พี่น้องจะเสียใจ
ความจริงแล้ว การอ่านซิยารัตอาชูรอ วันละ 10 ครั้งนั้น ถือว่าไม่ได้มากมายอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่า จะให้อ่านวันละ 10 ครั้ง ทว่าเพียงต้องการแนะนำในช่วง 10 วันแรก ควรอ่านหลายๆครั้ง จะเป็นการดีแก่ตัวเราเอง หรือ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กลางวันหนึ่งครั้ง กลางคืนหนึ่งครั้ง จะดีเป็นอย่างมาก อีกทั้งเป็นการรักษาอะดั๊บหนึ่งในเดือนมุฮัรรอมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการรักษาอาดั๊บ อย่าลืมว่า มีบริบทที่ต้องผ่านขั้นตอนของมันอยู่ ซึ่งนอกจากต้องผ่านบริบทของอะดั๊บแล้ว ในเรื่องอัคลาคก็เช่นกัน เราก็ต้องเริ่มเข้าสู่อัคลาค ด้วยการอ่านซิยารัตอาชูรอในมุฮัรรอมเป็นอะดั๊บ และลำดับต่อมา พึงทำความเข้าใจเนื้อหาที่อยู่ในซิยารัตอาชูรอในเรื่องอัคลาคนั่นเอง
ดังนั้น เมื่ออ่านซิยารัตแล้ว เราต้องอ่านในแบบที่เข้าใจ จนกระทั่งไปสู่มะรีฟัตต่อซิยารัตอาชูรอ ความจริงแล้ว การอ่านอย่างมีอัคลาคนั้น ในบริบทของมันมีความหมายอยู่มากมาย แต่ก็ต้องรักษาอะดั๊บให้ได้ก่อน
ดังนี้แล้ว คิดว่า คงไม่มีชีอะฮ์ที่ไม่ได้อ่านซิยารัตอาชูรอในเดือนมุฮัรรอม
ขั้นตอนต่อมา หลังจากอ่านซิยารัตอาชูรออย่างรักษาอะดั๊บของมูฮัรรอมแล้ว เราก็ค่อยๆพัฒนาสู่อัคลาคของซิยารัตอาชูรอ โดยในที่นี้ ต้องการจะยกประโยคต้นๆในซิยารัตอาชูรอ ความว่า
وَجَلَّتْ وَعَظُمَتْ مُصِيبَتُكَ فِي السَّمَوَاتِ عَلَى جَمِيعِ أهْلِ السَّمَوَاتِ ،
“ความเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปของท่านที่ได้บังเกิดในชั้นฟ้า ช่างยิ่งใหญ่สำหรับชาวฟ้าทั้งมวล”
คำอธิบาย : มุษิบัตของท่าน ช่างยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ใดๆ เพราะความหมายบอกว่า สำหรับชาวฟ้าทั้งหมดนั้น ถือว่าเป็นมุษิบัตที่ใหญ่หลวงนัก จริงอยู่ทุกท่านก็มีมุษิบัต เช่น อิมามอะลี(อ) นบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ) ต่างก็มีมุษิบัต และการจากไป(การสูญเสีย)ของบุคคลเหล่านี้เป็นมุษิบัตสำหรับผู้ศรัทธาทุกคนด้วย
ทว่าในบรรดามุษิบัตทั้งหมด ไม่มีมุษิบัตใดที่จะยิ่งใหญ่เท่ากับมุษิบัตของอิม่ามฮูเซน(อ) ซึ่งมีกล่าวไว้หลายครั้งในซิยารัตอาชูรอ
ดังนั้น เมื่ออ่านแล้ว เราต้องค่อยๆ พัฒนา เฉกเช่นที่เรามาฟังมัจญลิซ เพื่อให้รู้ว่า การร่วมมัจญลิซในทุกค่ำคืนนั้น เป็นอะดั๊บหนึ่งของพวกเรา แต่หากสิ่งที่เราประสงค์ต้องการให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น เรายิ่งจะต้องพัฒนาเข้าสู่การมีอัคลาคในการฟังมัจญลิซ จนกระทั่งเข้าสู่การมีมะรีฟัตในการฟังมัจญลิซของอิมามฮูเซน(อ.)
➡️🖋 ความสำคัญของบทซิยารัตวะริษ
จากริวายัตของบรรดาอะอิมมมะฮ์ (อ.) เมื่อพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่และตำแหน่งของบรรดาชูฮาดาแห่งกัรบาลาอฺ
(ขอยกพอสังเขป) จากท่อนสุดท้ายของบทซิยารัตวะริษ (พยายามหาอ่านซิยารัตวะริษฉบับสมบูรณ์) จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า เหตุใดขบวนการนี้ จึงเป็นขบวนการที่อมตะ เพราะมันเป็นการกิยามของบรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮ์ (ซบ.) ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ต้องการจะสื่อว่า หากมุสลิมไม่ลุกขึ้นปกป้องศาสนา และทำการกิยามในวันนั้น ก็ให้พวกเขากล่าวอำลาให้กับศาสนาอิสลามได้เลย
หากจะกล่าวโดยสรุป ในโลกนี้ ปรากฏวีรชนกัรบาลาเกิดทุกแผ่นดินทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเกิดจากการเข้าใจเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ)และวีรชนแห่งกัรบาลาอย่างแท้จริง
ดังนั้นแล้ว หากเราต้องการเป็นนักต่อสู้ หรือ เป็นนักปฏิวัติที่มีจิตวิญญาณแห่งวีรชนกัรบาลา เราจะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาบทดุอาอฺ บทซิยารัตต่างๆ โดยเฉพาะซิยารัตอาชูรอ จะช่วยทำให้เรารำลึกถึงอิมามฮูเซน(อ) และซิยารัตวาริษ จะช่วยทำให้เราเห็นความยิ่งใหญ่ของอิมามฮูเซน(อ)นั่นเอง
⚫🖋 ‘อะดั๊บ’(มารยาท) การไว้อาลัยในศาสนาอิสลาม
🔻ประการที่ ๑๐ให้สำรวมตนให้มากที่สุด โดยสร้างบรรยากาศรอบตัวเรา ให้อยู่ในบรรยากาศที่โศกเศร้า เสมือนกับเราได้สูญเสียบุคคลที่รักของเราไป
การดำเนินชีวิตให้ได้ผูกพันกับท่านอิมามฮูเซน(อ) อีกหนทางหนึ่ง ก็คือ เมื่อเดือนมูฮัรรอมเข้ามาแล้ว ขอให้ทุกคนพยายามรักษาอะดั๊บไว้ให้ดี ด้วยการปฏิบัติให้อยู่ในสภาพที่เป็นการไว้ทุกข์ไว้อาลัยอย่างเคร่งครัด
ตัวอย่าง ถ้ายังเป็นเด็กๆ หรือวัยรุ่น ควรหยุดเล่นฟุตบอล หรือหยุดเล่นกีฬาชั่วคราว โดยสร้างบรรยากาศให้อยู่ในอาการที่สำรวมตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการสำรวมตนตลอด 24 ชั่วโมงนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องทำอย่างเคร่งครัดให้ได้ 10 วัน ทว่าถ้าเรามีเตาฟีกมากกว่านั้นก็ดำเนินต่อไป หมายความว่า หลังจาก 10 แห่งอาชูรอแล้ว ก็ให้สำรวมตนดำเนินต่อไปอีก 40 วัน
อินชาอัลลอฮ์ ถ้าเราเริ่มฝึกทุกปี ฝึกไปเรื่อยๆ อิมามฮูเซน(อ)ก็อาจจะตอบรับเรา และอาจจะชะฟาอัตให้กับเรา ซึ่งไม่ต้องเข้าไปในรายละเอียดทั้งหมด เพราะจะนำมาซึ่งความลำบากในการดำเนินชีวิต ทว่าขอเพียงคิดให้เป็นว่า การไว้ทุกข์ คืออะไร จะได้รู้ว่าอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ในมารยาทพื้นฐานทั่วไปนั้นเราก็ต้องปฏิบัติ โดยให้คิดว่า การไว้ทุกข์เป็นเสมือนกับเราได้สูญเสียบุคคลที่รักของเราไป
สมมติ วันนี้บิดามารดาของเราเสียชีวิตไป แน่นอนย่อมเท่ากับดับชีวิตจิตวิญญาณของเราไปด้วย เพราะการสูญเสียนี้ นำมาซึ่งอารมณ์เศ้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง ดังนี้แล้ว การสร้างความผูกพันกับอิมามฮูเซน(อ)ก็เช่นเดียวกัน ในการรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ) อย่างน้อยที่สุดกับท่าน เราก็ต้องมีปฏิกิริยาทางจิตใจที่แสดงถึงการอาลัยในความสูญเสียให้กับท่านด้วย
เพราะฉะนั้น พึงรักษาอะดั๊บการสำรวมตนนี้ไว้ เผื่อว่าเราจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซบ) เผื่ออะฮ์ลุลเบตจะหันมามองเรา และถ้าในชีวิตของเราอะฮ์ลุลเบต หรือ อิมามฮูเซน(อ)หันมามองแล้ว แน่นอน ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเราไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว
ดังนั้น อย่าเป็นชีอะฮ์ที่มีความรักต่ออะฮฺลุลเบตเพียงบนมัจญลิส เพราะบางคนที่ไม่มีเตาฟีก ขนาดมีโอกาสได้มามัจญลิสแล้ว แต่เขากลับนั่งคุยกัน แทนที่เขาจะตั้งใจฟังเนื้อหาของมัจญลิสให้เข้าหู ให้เข้าสู่จิตวิญญาณ
“أَعُوْذُ بِاللهِ”
(ข้าขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์) บางคนใช้เวลาแชท(พูดคุยท่างโซเชี่ยล) ให้มัจญลิสผ่านไปวันๆ เพื่อให้คนเห็นว่า เขามามัจญลิส ถ้าเป็นเช่นนี้ พึงรู้เถิด ไม่มีแล้วที่จะโชคร้ายมากกว่าบุคคลประเภทนี้ เพราะมันคือ ความอัปยศที่ไม่ผูกจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้
ดังนั้น อย่างน้อยให้ได้ 10 วัน ในการขจัดความอัปยศ เราจะได้ไม่ขาดทุนในความเป็นชีอะฮ์ของเรา ด้วยการมามัจญลิสในแบบของผู้ที่จะตักตวงอย่างแท้จริง และมาในแบบผู้ที่อยากจะทำความเข้าใจ ทำไมมันเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทั้งๆที่เกือบ1400 ปีมาแล้ว ทำไมมันยังรำลึกกันอย่างเร่าร้อน ทำไมถึงมีน้ำตาอย่างมากมาย ราวกับเหตุการณ์นี้พึ่งเกิดขึ้น ณ เวลานี้ หรือราวกับเหตุการณ์นี้พึ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
ด้วยกับคำถามเหล่านี้ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนค้นหาคำตอบให้ได้ เพราะรางวัลแห่งการหลั่งน้ำตาให้กับเหตุการณ์นี้ นับเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งยังไม่ขอกล่าวถึงรางวัลอื่นๆ แต่ ณ ตรงนี้จะขอกล่าวเฉพาะรางวัลของการหลั่งน้ำตาอย่างแท้จริงให้กับอิมามฮูเซน(อ)เพียงหยดเดียว เพียงพอแล้วที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับเราในโลกหน้า ส่วนอิบาดัตอื่นๆไม่มีใครมีความมั่นใจได้
ภายหลังริวายัตอื่นๆจากอิมามริฎอ(อ) และบรรดาอิมามท่านอื่นๆก็มีริวายัตตามมา ซึ่งบรรดาอิมามก็ได้กล่าวย้ำเตือนกับผู้คนในยุคของแต่ละท่านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชีวิตทั้งชีวิตของเจ้า ถ้าจะโศกเศร้า ถ้าจะร้องไห้ ถ้ามีเรื่องทุกข์ใจ มีความสูญเสีย หรือ มีมูซิบัตใดๆที่เกิดขึ้นกับเจ้าแล้ว หากเจ้าจะหลั่งน้ำตาแล้วไซร้ พึงเก็บน้ำตานั้นไว้แล้วร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ) เถิด
ฮะดิษจากอิมามริฎอ(อ)
“إِنْ كُنْتَ بَاكِياً لِشَيْءٍ فَابْكِ لِلْحُسَيْنِ بْنِ عَلِيٍّ”
(อินกุลตะ บากียันลิชัยอิลฟับกีลิลฮุเซนิบนิอะลี)
ความว่า หากเจ้าต้องการหลั่งน้ำตาให้แก่สิ่งใด จงหลั่งน้ำตาให้แก่ฮูเซน บิน อาลีเถิด
สมมุติ หากเราอยากจะร้องไห้กับปัญหาต่างๆของเรา ขอให้เก็บน้ำตานั้นไว้ก่อน ถึงแม้เรื่องของเราจะเศร้าขนาดไหน จงเก็บเอาไว้แล้วไปร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ) เพราะบางครั้งการร้องไห้ของเราในเรื่องอื่นๆนั้น ไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่มีประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วการร้องไห้กับอิมามฮูเซน(อ)นั้นมีประโยชน์แน่นอน
➡️ 🖋 ปุจฉา : ทำไมการหลั่งน้ำตาและการตะโกนเรียกอิมามฮูเซน(อ) จึงมีองค์คุณกับมนุษย์อย่างใหญ่หลวง
🖋 วิสัชนา : เบื้องต้นขออรรถาธิบายความสำคัญของน้ำตาที่หลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ)ก่อน จริงๆแล้วไม่ใช่น้ำตาเพียงอย่างเดียวที่มีองค์คุณ แต่ยังมีริวายัตอื่นๆ รายงานว่า แค่ชีวิตหนึ่งของเรา ได้ตะโกน “ยาฮูเซน” ด้วยกับชื่อนี้ก็เพียงพอเช่นกัน
มรรคผลจากการตะโกน ‘ยาฮูเซน’
“เมื่อมีสถานะเป็นชีอะฮ์และมีความรักต่ออะฮ์ลุลเบต แม้เพียงน้อยนิด เขาเหล่านั้นก็จะมีนูร(รัศมี)ปรากฏอยู่”
การกล่าวตะโกน ‘ยาฮูเซน’ นั้น นับว่า ไม่น้อยกว่าน้ำตา ซึ่งทุกคนอาจจะเคยฟังในมัจญลิสแห่งค่ำคืนลัยละตุลก็อดฺร์กันมาบ้างแล้ว
ด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ได้กระทำเรื่องไม่ดีงามต่างๆ ถูกตัดสินแล้วว่า บาปที่เขาก่อนั้นต้องลงนรก และเมื่อเขาเดินถึงประตูนรก มาละอิกัตที่เฝ้าประตูนรกก็ยังไม่ได้เปิดประตูให้ในทันที แต่ขณะกำลังจะเปิดประตูนรก มาละอิกัตได้เพ่งมองไปยังใบหน้าของชายผู้นี้ ซึ่งสิ่งที่เห็น นั่นก็คือ เขายังมีแววของความเป็นชีอะฮ์อยู่
ต่อมา หลังจากมาละอิกัตเพ่งพินิจใบหน้า มาละอิกัต จึงกล่าวว่า เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งเข้าไป พร้อมกับตั้งคำถามว่า เจ้าเป็นชีอะฮ์หรือเปล่า ชายคนนั้นจึงตอบว่า ใช่ ฉันเป็นชีอะฮ์
มาละอิกัต จึงถามต่ออีกว่า เจ้าไม่รู้จักใครเลยหรือ เจ้าไม่มีความดีอะไรเพียงพอที่จะขึ้นสวรรค์เลยหรือ ไหนลองตะโกนไปสิ เผื่อว่าอะฮ์ลลุลเบตจะได้ยินเสียงของเจ้า เผื่อว่าท่านจะยอมรับในความเป็นชีอะฮ์ของเจ้า และเผื่อว่าท่านจะมาช่วยเจ้าหน้าประตูนรกตรงนี้
เมื่อชายคนนี้ได้ยินเช่นนั้น จึงตะโกนอย่างสุดเสียงที่หน้าประตูนรก ฉันชื่อ…(เขาบอกชื่อของเขา) มีใครรู้จักฉันไหม
หลังจากที่ชายคนนี้ตะโกนออกไป ปรากฏว่าเสียงนี้ดังไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นสถานที่นั่งรวมพูดคุย(เสวนา)กัน ซึ่งหมายถึง “บ้านแห่งนบูวัต”
“บ้านแห่งนบูวัต”มีท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ท่านหญิงฟาฏีมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) ท่านอิมามอะลี(อ) ท่านอิมามฮาซัน(อ) ท่านอิมามฮูเซน(อ) และทุกท่านได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือมาจากประตูนรก
ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) กล่าวว่า หยุดก่อนๆมีใครรู้จักเสียงนี้หรือไม่ ตอนนี้อยู่หน้าประตูนรกและกำลังจะถูกนำไปสู่นรกแล้ว ท่านนบี(ศ็อลฯ) หันมาถามท่านอิมามอะลี(อ) หันมาถามท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) ถามท่านอิมามฮะซัน(อ) เคยได้ยินเสียงนี้ไหม (ถามเรียงกันมา )
อิมามอาลี(อ)ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) และท่านอิมามฮะซัน(อ) ตอบว่า ไม่เคยได้ยินเสียงนี้
ทว่าเมื่อ ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) หันมาถามท่านอิมามฮูเซน(อ) เคยได้ยินเสียงนี้ไหม ท่านอิมามฮูเซน(อ) ตอบว่า ฉันเคยได้ยินเสียงนี้มาครั้งหนึ่ง
ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ ถามอีกว่า เป็นเสียงอะไรโอ้หลานรัก
อิมามฮูเซน(อ) ตอบว่า ชายคนนี้เคยเปล่งเสียงตะโกนว่า “ยาฮูเซน” ในเดือนมูฮัรรอม
ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ : เขาเคยตะโกนว่า“ยาฮูเซน”หรือ
อิมามฮูเซน(อ) : ใช่ !!! เขาเคยตะโกน เมื่อท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ได้ยินเช่นนั้น จึงกล่าวว่า จงไปนำเขากลับมาที่นี่ อย่าให้เขาเข้านรกอย่างเด็ดขาด เพราะใครที่เคยตะโกนว่า“ยาฮูเซน” เข้านรกไม่ได้
นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับการชะฟาอัต แต่จริงๆแล้วมีเป็นร้อยๆเรื่อง เกี่ยวกับท่านอิมามฮูเซน(อ)ที่จะทำการชะฟาอัตมนุษย์ให้รอดพ้นจากนรก อาทิ ผู้ที่บริจาคในค่ำคืนแห่งมัจญลิสของท่านอิมามฮูเซน(อ) ผู้ที่เตรียมการเตรียมงานทั้งหมด ซึ่งมีเรื่องต่างๆมากมาย
อินชาอัลลอฮ์ หากมีเตาฟีกจะเอามาเล่าให้พี่น้องได้ศึกษากันในหลายๆรูปแบบ ทั้งแบบชัดเจน แบบตรง มีทั้งริวายัต มีทั้งเป็นเรื่องเล่า จากบรรดาอาเล็มอุลามาอฺที่อรรถาธิบายตรงกันว่า ทุกๆการมีส่วนร่วมที่นำถึงการรำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ) แม้จะมีส่วนร่วมเพียงอณูเดียว พึงรู้เถิดว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่สูญเปล่า
ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งหมด จงภูมิใจในสิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำมุษิบัต การหลั่งตา หรือว่าตะโกนว่า”ยาฮูเซน” การบริจาค การช่วยเหลือการจัดการต่างๆ การถ่ายทอดมัจญลิส หรืออะไรทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำเพื่อท่านอิมามฮูเซน(อ)ไม่มีวันสูญเปล่า แต่ทั้งนี้ถ้าเราไม่ทำลายมันเสียก่อน
อินชาอัลลอฮ์ ประเด็น “ถ้าเราไม่ทำลายเสียก่อน” ค่อยว่ากันในเรื่องรายละเอียด เพราะสิ่งนี้ก็สำคัญ ถ้าเราไม่ทำลายมันก่อน สิ่งนี้จะคงอยู่จนถึงวันสิ้นโลก และจะช่วยเหลือเราในทุกๆสถานที่แห่งอะลัมมุลกิยามัต (علم القیامة) อะลัมมุลฮัชรฺ(علم الحشر) อะลัมมุลมีซาน(علم المیزان)
ในการชี้ว่า ตาชั่งอามั้ลความดีของเรา อาจหนักไม่พอที่จะทำให้เราขึ้นสวรรค์ได้ หรือที่สะพานซิรอฏ อาจเป็นเพราะขาของเรา ยังไม่มั่นคงพอ ทำให้ไม่สามารถเดินต่อได้ ซึ่งหากเดินต่อไปเป็นต้องตกสะพานซิรอฏแน่นอน
ทว่ากิจกรรมของเราที่มอบให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ) มีความหนักพอที่จะส่งเราขึ้นสวรรค์ เพราะที่ซิรอฏอลมุสตะกีม อาจจะทำให้เราหลุดพ้นจากสะพานซิรอฏแล้วเข้าสู่สวรรค์ได้อย่างง่ายดาย และอีกมากมาย
ดังนั้น เพื่อชี้ว่า ความสำคัญของการรำลึกนี้ ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ยิ่งใหญ่จนถึงขั้นที่เราไม่สามารถที่จะจินตนาการ และไม่สามารถที่จะพูดให้หมดได้
หากถามว่าความยิ่งใหญ่ตรงนี้มาจากไหน ทำไมความยิ่งใหญ่ตรงนี้มันถึงยิ่งใหญ่มาก แน่น่อนมีคำตอบมีคำอธิบายอย่างมากมาย แต่สำหรับค่ำคืนนี้ ขอยกจากริวายัตเพียงหนึ่งเรื่อง ซึ่งจริงๆแล้วมีเป็นร้อยสาเหตุที่เรื่องราวของท่านอิมามฮูเซน(อ)เป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
● ปฐมบทผู้ที่ร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ)
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์กัรบาลาอฺ ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คือ บุคคลแรกที่ร่ำไห้ ส่วนท่านที่ร่ำไห้คนต่อมา คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ) ถัดมาคือ อิมามอาลี(อ) ถัดมาอีก คือ ท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี
แหล่งอ้างอิง : สาวกของท่านศาสดา 7 คนที่รายงานเรื่องนี้คือ ท่านอาลี, อะนัส บิน มาลิก, อุมมุลฟัฎลิ บินติลฮาริษ,อาอิชะฮ์,อุมมุ สะละมะฮ์,อบู ตูเฟล และอิบนุอับบาส และฮะดีษเรื่องนี้ เกือบถึงสถานะ มุะวาติร และเชคอัลบานีย์ ได้ตรวจสอบสารบบสายรายงานฮาดีษ(วจนะศาสดา)เหล่านั้นทั้งหมด และเขาได้วิจารณ์ว่า มีสถานะ ถูกต้อง
ดูหนังสือ ซิลซิละตุล อะฮาดีษ อัซ-ซอฮีฮะฮ์ เล่ม 3 : 159 ฮาดีษที่ 1171
● ท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี คือ ผู้เปิดเผยปฐมบทการร้องไห้
ในวันที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ถือกำเนิด วันนั้นท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี ไม่ใช่เป็นเพียงซอฮาบะฮ์แล้ว
ท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี เล่าว่า ในวันที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ถือกำเนิด ปฐมบทการร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ) คือ ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“เมื่อฉันทราบข่าวว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซาลามุลลอฮูอาลัยฮา ได้กำเนิดบุตรท่านที่ 2 คือ ท่านอิมามฮูเซน(อ) ด้วยความดีใจ ฉันจึงวิ่งไปที่บ้านของอาลี(อ) หรือ บัยตุลนบูวัต บ้านแห่งนบี (บ้านแห่งความเป็นนบี) พร้อมขออนุญาต ก่อนจะเปิดประตูเข้าไป เพื่อจะแสดงความยินดีกับท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ที่ได้หลานชายคนที่สอง ซึ่งข้างในนั้น มีท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) ท่านอิมามอาลี(อ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ)นั่งอยู่ และมีอิมามฮูเซน(อ)อยู่ในอ้อมกอดของท่านหญิง แต่ที่ฉันเห็น กลับกลายเป็นว่า ทุกคนทั้งหมดกำลังหลั่งน้ำตา”
🔴 “ซัลมาน มินนา อะฮ์ลุลเบต”
ท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี มิได้เป็นเพียงซอฮาบะฮ์ ทว่าตำแหน่งของท่านสูงส่งยิ่งกว่าซอฮาบะฮ์ ซึ่งเหตุผลที่ท่านได้รับเกียรติเป็น “سلمان منا اهل البیت” คือ ได้รับการยกระดับจากซอฮาบะฮ์ขึ้นมาเป็นอะฮ์ลุลเบตนั้น เป็นเพราะท่าน คือ ผู้หนึ่งที่เก็บความลับของอะฮ์ลุลเบตอย่างมากมาย
ทีนีขอย้อนกลับเข้าในเรื่อง “วันที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ถือกำเนิด” ท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี เล่าว่า ในวันที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ถือกำเนิด ปฐมบทการร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ) คือ ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
“เมื่อฉันทราบข่าวว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซาลามุลลอฮูอาลัยฮา ได้กำเนิดบุตรท่านที่สอง คือ ท่านอิมามฮูเซน(อ) ด้วยความดีใจ ฉันจึงวิ่งไปที่บ้านของอาลี(อ) หรือ บัยตุลนบูวัต บ้านแห่งนบี (บ้านแห่งความเป็นนบี) พร้อมขออนุญาต ก่อนจะเปิดประตูเข้าไป เพื่อจะแสดงความยินดีกับท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ที่ได้หลานชายคนที่สอง โดยข้างในนั้น มีท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) ท่านอิมามอาลี(อ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ)นั่งอยู่ และมีอิมามฮูเซน(อ)อยู่ในอ้อมกอดของท่านหญิง แต่ที่ฉันเห็น กลับกลายเป็นว่า ทุกคนทั้งหมดกำลังหลั่งน้ำตา”
ด้วยความตกใจ จึงถาม “ยารอซูลุลลอฮฺ เกิดอะไรขึ้น ฉันมาด้วยความดีใจ เพราะวันนี้เป็นวันแห่งการยินดีปรีดา เป็นวันแห่งความสุข เป็นวันที่เราจะต้องกล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮ์ บารอกัลลอฮ์ มูบาร็อกและอะไรๆอีกมากมาย ที่ท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ)ได้หลานชายคนที่สอง
ทำไมพวกท่านกลับนั่งร้องไห้
ทำไมท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) จึงร้องไห้หนักมาก
ทำไมบรรยากาศในบ้านหลังนี้จึงเป็นวันแห่งความโศกเศร้าเช่นนี้ ทั้งๆที่ในวันนี้เป็นวันแรกของการถือกำเนิดของอิมามฮูเซน(อ)”
ท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ตอบว่า โอ้ !!! ซัลมาน เอ่ย ที่ฟาฏิมะฮ์ และอาลีร้องไห้ เพราะฉันได้บอกพวกเขาว่า เมื่อสักครู่ญิบรออีลได้ลงมาตะฮ์ซียะฮ์ (แสดงความเสียใจ) บอกว่า อัลลอฮ(ซบ)ได้สั่งให้ฉัน(ญิบรออีล)ลงมาเล่าให้ท่านฟังว่า อัลฮูเซนจะถูกสังหารที่ริมฝั่งน้ำฟูรอตและเล่าเรื่องราวต่างๆที่จะเกิดกับเด็กน้อยที่ชื่อฮูเซนคนนี้
ในรีวายัตบอกว่า เรื่องนี้หนักหน่วงขนาด หากถามว่า ญิบรออีลเล่ารายละเอียดอะไร บอกอะไร ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) ถึงบอกให้เอากลับไป เด็กแบบนี้ไม่เอา
เบื้องต้นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ(สลามุลลอฮฯ)รับไม่ได้ หลังจากที่ได้ยินที่นบี(ศ็อลฯ)เล่าว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กน้อยคนนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (สลามุลลอฮฯ))ร้องไห้ แล้วยื่นทารก แล้วกล่าวว่า เอาเด็กคนนี้กลับไปเถิด ฉันไม่เอาเด็กแบบนี้ ถ้าเขาจะต้องทุกข์ทรมานในโลกดุนยาถึงขนาดนี้ เอากลับไปเถิด ฉันไม่เอา
ทว่าเมื่อท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ตอบกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)เพียงประโยคเดียวท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (สลามุลลอฮฯ) ก็ยินดีที่จะรับเด็กคนนี้ ยินดีที่จะเลี้ยงเด็กคนนี้ จนถึงวันที่เขาจากโลกนี้ไป ซึ่งประโยคนั้น ญิบรออีล กล่าวว่า ยารอซูลุลลอฮ์ บอกกับฟาฏิมะฮ์เถิด ถ้านางรับเงื่อนไขนี้ ตามรายละเอียดที่ฉันได้กล่าวไปทั้งหมด
ท่านรอซูลุลอฮ(ศ็อลฯ) จึงกล่าวว่า ถ้าเจ้ารับสิ่งนี้ “นบีพูดถึงความประเสริฐ ฟาซีลัตต่างๆที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)จะได้รับ และประโยคหนึ่งที่ท่านนบีพูด คือ การพลีครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพลีที่ยิ่งใหญ่ เพราะการพลีพร้อมกับวีรกรรมของลูกชายของเจ้าคนนี้ จะทำให้เกิดการปฏิวัติโลก และทำให้หลานคนสุดท้ายของเจ้านั้น ได้ปกครองโลกนี้ทั้งหมด และจะเป็นหลักประกันว่า อิสลามอันบริสุทธิ์นี้จะอยู่จนถึงวันสิ้นโลก
เมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (สลามุลลอฮฯ) ได้ยินคำว่า ฮูเซน แม้รายละเอียดเบื้องต้นท่านหญิงรับไม่ได้ แต่เมื่อได้ยินรายละเอียดทั้งหมดที่ตามมา ทำให้ท่านหญิงรับเงื่อนไข เมื่อรู้ว่าหลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺเกิดขึ้นแล้ว อิสลามอันบริสุทธิ์ที่พวกท่านได้ต่อสู้เสียสละกันมานั้น จะเป็นหลักประกันว่า ยังคงอยู่จนถึงวันสิ้นโลก
บทสรุป ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)รับรายละเอียดอันนั้น รับทั้งน้ำตา แต่มันเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติ เพราะมันคุ้มกับการพลีนั่นเอง
เรามาดูบางส่วน ซึ่งอินชาอัลลอฮ์ในค่ำคืนต่อๆไปรายละเอียดนี้จะมาอย่างสมบูรณ์ เบื้องต้นเมื่อประโยคแห่งอิสลามอันบริสุทธิ์จะอยู่จนถึงวันสิ้นโลก ซึ่งก่อนประโยคนี้จะมาท่านหญิงฟาฎิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)รับได้ บริบทนี้ขอยกเพียงบางส่วน
รีวายัตบอกว่า เด็กน้อยคนนี้เมื่อถึงวันนั้น เขาจะต้องถูกเชือดเสมือนกับการเชือดแพะ เชือดแกะ ไม่ใช่ถูกฟันด้วยดาบ หรือ ถูกแทงถูกยิงด้วยธนูแบบนักรบทั่วไป
ขอย้ำว่า เขาจะต้องถูกเชือดเสมือนกับการเชือดแพะเชือดแกะ และวิธีการเชือดก็ต่างกันด้วย การเชือดแพะเชือดแกะในอิสลามนั้นเป็นสุนัตเป็นมุสตะฮับ ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) สั่งว่าก่อนจะเชือดต้องเอาน้ำให้มันกินก่อน
⚫ วันแห่งการพลี
ในวันที่อิมามฮูเซน(อ)ถูกเชือดมีองค์ประกอบที่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการถูกเชือดมีรายละเอียดดังนี้ ➡️ประการแรก หลานรักของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คนนี้จะถูกเชือดโดยที่เขายังกระหายน้ำอยู่ เขาจะถูกเชือดในขณะที่คอหอยของเขานั้นแห้งผาดไม่มีน้ำ
➡️ประการที่สอง ลูกหลานของเขา เด็ก ผู้หญิง ลูกเด็กเล็กแดงก็จะต้องมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งถือว่าหนักหน่วงและใหญ่หลวงมาก อินชาอัลลอฮ์ จะอรรถาธิบายรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอื่นๆ เช่น ต้องเป็นเชลยศึก ต้องถูกจับล่ามโซ่ ต้องถูกลากไปในทะเลทรายที่ร้อนระอุ ต้องถูกแห่แหน จะต้องถูกขว้างปา เด็กทารก ลูกน้อยของฮูเซนอายุ 6 ขวบ จะต้องถูกยิงด้วยธนูที่คอหอย และมีมุศิบัตอีกมากมาย
หากจะกล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ต่างๆจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้อิสลามอันบริสุทธิ์ได้อยู่ถึงวันสิ้นโลก จริงๆแล้ว ญิบรออีล มาบอกมากกว่านี้ เช่น จะต้องถูกยิงด้วยธนูแทนที่จะได้ดื่มน้ำ จะต้องโดนธนูสามแฉกตัดคอหอยของเด็ก คอหอยเล็กๆลำคอเล็กๆของเด็กอายุเพียง 6 เดือน
เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว หากถามว่า รายละเอียดจบแค่นี้หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เพราะรายละเอียดยังมีอีกมาก
บรรดาอะฮ์ลุลเบต อิมามฮูเซน(อ) รู้ทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และรู้ว่า ศพที่ไร้วิญญาณของฮูเซน จะต้องถูกม้าศึกนับสิบตัวย่ำยับเยิน ร่างที่ไร้วิญญาณจะต้องโดนม้าเป็นสิบๆตัวย่ำยี ถามว่า ย่ำยีขนาดไหน ย่ำยีขนาดที่ซัยหนับน้องรักของฮูเซน จำไม่ได้ว่า นี่คือ ร่างของฮูเซน
นี่คือ บางส่วนในรายละเอียดที่ญิบรออีลนำมาบอก นับตั้งแต่วันที่ถือกำเนิด ท่านอิมามฮูเซน(อ)จนถึงวันที่ท่านเป็นชะฮีด บัยตุลนบูวัต บ้านแห่งนบี (บ้านแห่งความเป็นนบี)นับตั้งแต่วันนั้นบ้านของนบี จึงมีแต่น้ำตา
ด้วยเหตุนี้ ทุกคนในบ้าน เมื่อเห็นหน้าอิมามฮูเซน(อ) เมื่อรำลึกถึงเรื่องราวที่จะเกิดกับอิมามฮูเซน(อ) จึงมีน้ำตาตลอดมา
รีวายัตรายงานว่า ทุกครั้งที่นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)มาให้สลาม ในตอนต้นท่านยิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอนั่งสงบนิ่งได้สักพัก หลังจากท่านอิมามฮูเซน(อ) นั่งบนตักของท่าน น้ำตาของท่านก็จะเริ่มหลั่งออกมา ทว่าหลายๆคนที่ไม่รู้เรื่องก็จะถามว่ายารอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) อะไรกัน หลานรักนั่งบนตักของท่านน่ารักออกขนาดนี้ ทำไมท่านต้องหลั่งน้ำตาด้วย
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)ก็เช่นกัน หลายต่อหลายครั้ง เมื่อนึกถึงเรื่องราวนี้ ขณะที่ท่านหญิงกล่อมลูกน้อยไปน้ำตาก็หลั่งไป เลี้ยงไป ฝึกฝนกันไป รู้ทั้งรู้ว่า ภารกิจที่ลูกน้อยของท่านจะทำนั้นใหญ่หลวงนัก
เฉกเช่นกัน ท่านอิมามอะลี(อ) แม้เหตุการณ์จะเกิดต่างกรรม ต่างวาระ ทว่าน้ำตาของท่านก็หลั่งตลอดมา เพื่อชี้ว่า ทุกท่านเมื่อนึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ) นั้นตั้งแต่วันถือกำเนิดความเศร้าก็ได้ปกคลุมบัยตุลนบูวัต บ้านแห่งอะฮ์ลุลเบต จนถึงวันที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)เป็นชะฮีด หลังจากนั้นความโศกเศร้าก็จะอยู่ตลอดไปจนถึงวันสิ้นโลก
⚫ ทำไมอิมามอะลี(อ) จึงร่ำไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ)ในสงครามซิฟฟิน
ครั้งหนึ่งในสงครามซิฟฟิน สงครามที่อิมามอะลี(อ) ทำกับมุอาวียะฮ์ผู้ก่อกบฎต่ออิสลาม ผู้ก่อกบฎต่อคอลีฟะฮ์รอชิดีน สมัยนั้นท่านอิมามฮูเซน(อ)นำกองทัพไปตีอีกฝั่งหนึ่ง และประสบชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เมื่อชนะท่านอิมามฮูเซน(อ) จึงควบม้ากลับมายังกระโจม ท่านอิมามอะลี(อ)ก็ยืนรอรับลูกชายอยู่ที่หน้ากระโจม
บรรดาซอฮาบะฮ์จำนวนหนึ่ง ได้มายืนรอรับเพื่อแสดงความยินดีที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)สามารถนำชัยชนะกลับมาเช่นกัน แต่เมื่อทุกคนหันไปดูอิมามอะลี(อ)มองดูลูกน้อยของท่านที่กำลังควบม้ากลับมานั้น กลับเห็นว่า ระหว่างที่ลูกนำชัยชนะกลับมา อิมามอะลี(อ) ผู้เป็นพ่อยืนดูลูกไปก็หลั่งน้ำตาไป
ด้วยความสงสัย บรรดาซอฮาบะฮ์จึงถามว่า ยาอะมีรัลมุมินีน ท่านร้องไห้ด้วยเหตุอันใด ทั้งๆที่ลูกของท่านกำลังนำชัยชนะกลับมา อิมามอะลี(อ) ตอบไปว่า ฉันไม่ได้ร้องไห้กับเขาในวันนี้หรอก แต่ฉันกำลังร้องไห้ในวันที่ม้าตัวนี้มันควบกลับมาเอง แต่ผู้ขี่มันไม่ได้กลับมา
لاحول ولا قوة الا بالله العلي العظيم
ۗ وَسَيَعْلَمُ الَّذِينَ ظَلَمُوا أَيَّ مُنقَلَبٍ يَنقَلِبُونَ
⚫ มูซีบัต โดยซัยยิดญะฟัร ฮูซัยนี
ท่านอิมามอะลี(อ)หันไปบอกกับซอฮาบะฮ์ว่า ฉันไม่ได้จะร้องไห้ให้กับพวกเขาในวันนี้หรอก แต่ฉันกำลังร่ำไห้ให้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเขาในวันข้างหน้า วันที่เด็กๆในกระโจม รวมถึงบรรดาสตรีได้ยินเสียงม้าของท่านอิมามฮูเซน(อ)กลับมา
ท่านหญิงสุกัยนะฮ์(สลามุลลอฮฯ)วิ่งออกนอกคัยมาห์ ตะโกนว่า พ่อกลับมาแล้ว พ่อของเรากลับมาแล้ว น้องๆมาเร็ว มาเจอพ่อของเราอีกครั้งหนึ่ง
ทว่าภาพที่พวกเขาเห็น ก็คือ ซุลญานากลับมา แต่นายของมันไม่กลับมาด้วย ท่านหญิงสุกัยนะฮ์ก็เดินไปหาซุลญานา เป็นลูกของอิมาม พี่น้อง ไม่ต้องอธิบายอะไร
ท่านหญิงสุกัยนะฮ์ (สลามุลลอฮฯ) จึงรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็นพ่อ
ท่านหญิงสุกัยนะฮ์(สลามุลลอฮฯ) เดินไปหาซุลญานา แล้วค่อยๆลูบไปที่ลำคอของซุลญานา จากนั้นได้ดึงซุลญานามาใกล้ๆ เป็นอย่างไรเล่าม้าที่รัก ม้าผู้ซื่อสัตย์ของพ่อ
ฉันรู้แล้วว่าเกิดอะไรกับพ่อของฉัน แต่ซุลญานาจ๋า ฉันขอถามอะไรอย่างหนึ่งหน่อยได้ไหม ก่อนที่เขาจะฆ่าพ่อของฉัน เขาให้พ่อฉันดื่มน้ำหรือไม่
ยาฮูเซนนนนนนนนนนนน