ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)
ค่ำที่ ๒ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๑ กันยายน ๒๕๖๒)บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดบทความโดย กัสมา พีรูซอะลีภาพประกอบโดย ญะฟัรศอดิก บินฮูเซน
อัลฮัมดุลิลลาฮ ขอชูโกรในเนี๊ยะมัตและเตาฟิก แห่งเดือนมูฮัรรอมุลฮะรอมเดือนที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และถ้าเราได้รับเตาฟิก แห่งการเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว เราก็จะประสบความสำเร็จและจะกลายเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอย่างแท้จริง เราจะได้ไม่นับถือศาสนาแบบอมลูกอม ซึ่งเป็นตามวาทกรรมที่อิมามฮูเซน(อ)ได้กล่าวไว้
🌎 ประเภทของมนุษย์
ท่านอิมามฮูเซน(อ) ได้แบ่งหมวดมนุษย์ที่นับถือศาสนาออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. มนุษย์ที่นับถือศาสนาที่แท้จริง
ฮะดิษรายงานว่า มนุษย์ประเภทนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคลที่มีคุณภาพทางศาสนา ถ้าหากเขาถูกทดสอบ ไม่ว่าจะถูกทดสอบหนักหน่วงขนาดไหน ถ้าหากใช้นิยามจากฮะดิษนี้ เขาก็จะอมมันอยู่ตลอดเวลา แม้นจะหวานอมขมกลืนอย่างไร เขาก็ยังจะรักษาศาสนา
๒. มนุษย์ที่นับถือศาสนาแบบอมลูกอม(ทอฟฟี่)
มนุษย์ประเภทนี้ ถ้าหากถูกทดสอบด้วยความขมขึ้นมา เขาก็จะบ้วนทิ้ง นี่คือ ฮะดิษบทหนึ่งในกัรบาลา (อินชาอัลลอฮ รายละเอียดเกี่ยวกับฮะดิษนี้จะอรรถาธิบายในมัจญลิสอื่นๆ )
⚫ ลำดับเหตุการณ์การปฏิวัติของอิมามฮูเซน(อ)
ภาคแรก : การเข้าใจกองคาราวานของอิมามฮูเซน(อ) เคลื่อนไหวออกจากมะดีนะห์มุ่งสู่มักกะห์
ภาคที่สอง : การเข้าใจการเคลื่อนไหวที่ขบวนการปฏิวัติของอิมามฮุเซน(อ)ออกจากมักกะห์สู่กัรบาลา
ภาคที่สาม : การเข้าใจเหตุการณ์การเคลื่อนไหวจากกัรบาลาสู่ซีเรีย และจากซีเรียกลับมายังมาดีนะห์อีกครั้งหนึ่ง
➡️ภาคแรก : การเข้าใจกองคาราวานของอิมามฮูเซน(อ) เคลื่อนไหวออกจากมะดีนะห์มุ่งสู่มักกะห์
แท้จริงแล้ว สูงสุดของการเข้าใจในศาสนา คือ การเข้าใจในเรื่องราวมุฮัรรอม เรื่องราวแห่งกัรบาลา เรื่องราวแห่งอาชูรอ และเข้าใจเรื่องราวตั้งแต่มะดีนะห์มุ่งสู่มักกะห์
หากถามว่า อิมามฮูเซน(อ)ออกจากมะดีนะฮ์ไปมักกะฮ์เพื่ออะไร
คำตอบ : เบื้องต้น เพื่อไปขอความช่วยเหลือจากมักกะฮ์ เหตุเพราะเข้าใกล้ฤดูกาลของการทำฮัจญ์ จนกระทั่งรู้แล้วว่าไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะขอความช่วยเหลือจากชาวมะดีนะฮ์ แต่เพื่อให้บันทึกในประวัติศาสตร์ในภายภาคหน้า เมื่อเหตุการณ์กัรบาลาอฺเกิดขึ้น ชาวมะดีนะฮ์จะได้ไม่พูดว่า “เราไม่รู้….เพราะว่าฮูเซนไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากเรา”
และวันนั้น ข้อพิสูจน์สำหรับชาวมะดีนะฮ์ถูกทำให้สมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นอิมามฮูเซน(อ)ก็เดินทางเข้าสู่มักกะฮ์
➡️ ภาคที่สอง : การเข้าใจการเคลื่อนไหวที่ขบวนการปฏิวัติของอิมามฮุเซน(อ)ออกจากมักกะห์สู่กัรบาลาอฺ
ในระหว่างอยู่มักกะฮฺ อิมามฮูเซน(อ) ออกสาส์นจำนวนหนึ่งเพื่อเรียกร้องทำความเข้าใจ แต่ไม่ได้แตกต่างกับที่มะดีนะฮฺ ท่านออกสาส์นให้เห็นถึงการปกครองที่ชั่วช้า และอันตรายที่จะเกิดขึ้นถ้าบนีอุมัยยะฮฺได้ขึ้นมาปกครองอิสลาม
แต่เพราะมันเข้าสู่ช่วงของเทศกาลฮัจญ์ คนเริ่มทยอยเข้ามาปฏิบัติฮัจญ์ อย่าลืมว่าอิมามฮูเซน (อ) ออกจากมักกะฮฺในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ซึ่งใกล้จะประกอบพิธีฮัจญ์อย่างสมบูรณ์ บุคคลที่อยู่ในมักกะฮฺซึ่งทั้งชาวมักกะฮฺและบรรดาฮุจญาต บุคคลเหล่านี้มิได้เข้าใจในเรื่องราวศาสนา ได้แต่เวียนบ้านของอัลลอฮ์ที่เป็นอิฐเป็นปูน แต่ลืมตัวแทนของอัลลอฮฺ อิบาดะฮฺที่ปราศจากความเข้าใจอย่างแท้จริงไม่มีประโยชน์ใด เราเคยบอกไปแล้วว่า อิบาดะฮฺที่ปราศจากวิลายัตไม่มีค่าใดๆ
ต่อมาอิมามฮูเซน (อ) จึงหันหลังให้กับการทำฮัจญ์ในปีนั้นและก็ได้ออกจากมักกะฮฺ มุ่งสู่อิรัก จริงๆแล้วเราพูดถึงด้านซอเฮรฺ
ดังนั้น อย่าไปปนในด้านความรู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ) เพราะท่านนั้นรู้แล้วว่าที่สุดท้ายของท่านคือ กัรบะลาอฺ ในการชี้ว่า บุคลากรของอัลลอฮฺ ไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตัวแบบทางด้านในเพียงอย่างเดียว ทว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเป็นปกติในด้านนอก ถึงแม้ว่าทางด้านในจะรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเบื้องต้นที่ออกจากมักกะฮฺอิมามฮูเซน (อ) ไม่ได้กำหนดเส้นทางเพียงแต่มุ่งสู่อิรักก่อน การมุ่งสู่อิรักในก็เพราะมีจดหมายจากชาวกูฟะฮฺ แต่ในระหว่างเส้นทางข่าวคราวการทรยศ หักหลังของชาวกูฟะฮฺ ก็มาถึงอิมามฮุเซน (อ) เรื่อยๆ
จนกระทั่งข่าวการเป็นชะฮีดของท่านมุสลิม บิน อะกีล ราชทูตของท่านอิมามฮูเซน (อ) ที่ได้ส่งไปยังเมืองกูฟะฮฺเพื่อให้รับการบัยอัตจากบุคคลที่เขียนจดหมายถึงท่านว่าให้มายังกูฟะฮฺ ที่พิสูจน์ตามที่มีริวายะฮฺรายงานเอาไว้คือ มีถึง 25,000 ฉบับ หรือ 25,000 คน บางฉบับอาจจะมีคนเซ็นชื่อจำนวน5-10 คน ขณะที่มีจดหมายเป็นหมื่นๆ ฉบับ จำนวนคนบัยอะฮฺ อย่างน้อยที่สุดคือ 25,000 คน
เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ) ออกจากมักกะฮฺได้สักพัก ข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น แต่ในระหว่างทางท่านอิมามได้แวะยังบ้านต่างๆ ในระหว่างที่มุ่งสู่อิรัก จนกระทั่งใกล้ถึงชายแดนอิรัก ท่านได้พักอยู่บ้านหลังหนึ่ง บ้านสุดท้ายของมิตรสหายที่ชื่อว่า ชะกูก
ต่อมาเมื่อคนอิรักที่ผ่านไปมารู้ว่าท่านอิมามฮูเซน (อ)พักอยู่ที่บ้านหลังนี้ก็ได้เข้าพบและได้รายงาน สรุปง่ายๆว่าท่านอิมามฮูเซน (อ) เริ่มได้รับข่าวร้าย ตั้งแต่ยังไม่ทันเหยียบดินแดนอิรัก และเป็นข่าวร้ายที่มองในมุมมองคนทั่วไป มันคือข่าวร้ายที่น่ากลัว จากความหวังที่มีว่าอย่างน้อยที่สุดในรายชื่อที่ส่งมาในจดหมาย 25,000 คน เกือบจะไม่เหลือสักคนเดียว ถือเป็นข่าวร้ายมาก สำหรับการต่อสู้ สำหรับการปฏิวัติ แต่ข่าวต่างๆ เหล่านี้ไม่มีผลใดๆต่อท่าน
อิมามฮูเซน(อ) มิได้แสดงอาการตกใจใดๆ และไม่ได้มีความกังวลใดๆ จริงๆแล้วมีเหตุผลมากมาย ทว่าหนึ่งในเหตุผลที่มีอยู่ในกุรอาน คือโองการในซูเราะฮฺ ฮัจญ เพราะท่านอิมามฮูเซน (อ) นั้นเคารพภักดี อิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ อย่างแท้จริง
เมื่ออิมามฮูเซน (อ) ได้ยินข่าวร้ายทั้งหมด ท่านได้พูดในบ้านของชะกูกว่า แท้จริงภารกิจของอัลลอฮฺ(ซบ)นั้น ต้องทำทุกอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ ( ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ) ประสงค์จะให้คนทั้งโลกมาช่วยอิมามฮุเซน (อ) อัลลอฮฺทำได้ แต่วิถีนี้มันจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงประสงค์
➡️ ภาคที่สาม การเข้าใจเหตุการณ์การเคลื่อนไหวจากกัรบาลาสู่ซีเรีย และจากซีเรียกลับมายังมาดีนะห์อีกครั้งหนึ่ง
และนี่คือเหตุผลที่ว่า แม้นเรื่องราวนี้ได้ผ่านพ้นไปยาวนานนับพันๆปี แต่มนุษย์ก็ต้องรำลึกถึงเรื่องราวนี้ เพราะความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่าย
ทว่า ณ เวลานี้ขอสรุปสั้นๆว่า (ส่วนรายละเอียดจะค่อยๆอรรถาธิบายในภายหลัง) เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวที่เหนือเหตุผลและสติปัญญา โดยเบื้องต้นก็ต้องใช้เหตุผลและสติปัญญา เพราะการทำความเข้าใจให้ได้อย่างลึกซึ้งนั้น จะต้องมีสิ่งหนึ่ง ที่เหนือเหตุผลและสติปัญญา
อย่างไรก็ดี สติปัญญา และเหตุผลนั้น เป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่เราจะต้องเหยียบหรือก้าวขึ้นไป จริงอยู่การนับถือศาสนาอย่างมีเหตุผลและอย่างมีสติปัญญานั้นถูกต้องและจำเป็น แต่สูงสุดของมัน คือ การนับถือศาสนาด้วยความรัก
แม้บางอย่าง มนุษย์อาจไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยเหตุผล และด้วยสติปัญญา แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มีความรักที่แท้จริง มนุษย์ก็จะสามารถเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องราวแห่งกัรบาลา เรื่องราวแห่งอาชูรอ
อย่าได้คิดว่า มัจญลิสนี้และการฟังเรื่องราวนี้ไม่สำคัญ สมมติ ใครคนหนึ่ง แม้เคยร่วมมัจญลิสนี้มาแล้วถึง 2 ปี แต่ถ้าเขามาแล้วไม่ฟัง มาแล้วคุยกันเอง พึงรู้เถิด หากพฤติกรรมเป็นเช่นนี้ อย่าได้คิดว่า จะเข้าใจเรื่องราวอันสูงส่งต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น สูงส่งเกินกว่ามนุษย์จะคิดได้
กอปรกับยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แม้แต่ผมเอง ขนาดค้นคว้าแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ยังไม่เข้าใจ ที่ยังคงต้องค้นคว้าเพื่อไขปริศนากันต่อไป
ดังนั้น ถ้ายิ่งไม่ให้ความสำคัญ เช่น มาร่วมมัจญลิสบ้างไม่มาบ้าง มาแล้วฟังบ้างไม่ฟังบ้าง มาแล้วคุยกันเองบ้าง อะไรบ้าง แน่นอนว่าพี่น้องจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะเราไม่ได้จัดมัจญลิสนี้ เพื่อหวังจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชีอะฮ์ ตรงนี้ต้องการชี้ว่า การปฏิวัติของท่านอิมามฮูเซน(อ) ยิ่งใหญ่และสูงส่งในมิติต่างๆอย่างมหาศาล
จริงๆแล้วที่เราปฏิบัติทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ตามที่อาจารย์รอฟิอีได้กล่าว นั่นก็คือ เพื่อรักษาอะดั๊บของมันก่อน เพราะคนที่ไม่มีอะดั๊บจะไม่ได้รับสิ่งอื่นใดที่ลึกซึ้งในขั้นต่อไป
อะดั๊บ คือ สิ่งแรก คนที่มีอะดั๊บ(มารยาท) สิ่งอื่นๆเขาก็อาจจะได้ แต่ถ้าไม่มีมารยาท ในการดำเนินชีวิต สมมติ ในเดือนมุฮัรรอม เมื่ออะดั๊บยังไม่มี อย่าได้คิดว่าจะได้อะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านี้
คำว่า “ลึกซึ้ง” ในที่นี้ หมายถึง เราสามารถหลั่งน้ำตาและหลั่งเลือดได้
นี่คือ การเข้าถึงศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อชี้ว่า ศาสนานี้จบที่ตรงนี้ จบที่เราพร้อมหลั่งเลือดในหนทางของศาสนา ซึ่งถ้าเราพูดในหนทางของชีอะฮ์ นั่นก็คือ เราพร้อมที่จะหลั่งเลือดเพื่อแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์(อ)นั่นเอง
คำถาม : ในยุคนี้ เราพร้อมที่จะหลั่งเลือดเพื่อแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ไปสุดถึงตรงไหน
คำตอบ : จุดสูงสุดของการหลั่งเลือด เป้าหมายเพื่อการปรากฏของอีมามมะฮ์ดี (อญ.) นั่นเอง
ด้วยกับเรื่องราวแห่งกัรบาลา วีรกรรมอันนี้ยิ่งใหญ่มหาศาล และเป็นที่ทราบกันดีว่า ยิ่งค้นคว้ามากเท่าใด ก็ยิ่งพบว่า มีส่วนที่ลึกลงไปรอคอยการค้นคว้าของเราอยู่
ดังนั้น ถ้าชีวิตของเราไม่มีอะดั๊บเลย ตื่นเช้ามาก็ดูทีวี ดูอะไรต่อมิอะไร ซิยารัตอาชูรออาจจะอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง ทั้งๆที่ในเดือนนี้ ซิยารัตอาชูรอเป็นสิ่งที่อะลุลบัยต์วาซียัต เพื่อย้ำเตือนไว้อย่างมากมายว่า ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ อย่าได้ละเลยสิ่งนี้เป็นอันขาด อีกทั้งเมื่อใดที่อ่านแล้ว อย่าได้อ่านเพียงอย่างเดียว แต่จงอ่านทุกวันอย่างตั้งใจ โดยใช้เวลาอ่านประมาณหนึ่งชั่วโมงในตอนเช้า หรือตอนไหนก็ได้ ในการพินิจพิจารณาเพื่อศึกษาหาความหมายของมันให้ได้มากที่สุด
🌎 อิมามฮูเซน(อ)นักปฏิวัติไร้พรมแดน
ผู้มีสติปัญญาทุกคนที่ถวิลหาความจริง เขาจะพบความมหัศจรรย์จากการอ่านซิยารัตอาชูรอ ยิ่งเขาอ่านทุกวันอย่างใคร่ครวญ จะยิ่งได้เห็นเรื่องราวใหม่ๆ ทำให้เขากลายเป็นผู้รู้จักคิดวิเคราะห์ พิจารณาสถานการณ์ต่างๆ อย่างระมัดระวัง รวมทั้งได้อะไรหลายๆอย่างมาเฉลยเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมเรื่องราวต่างๆของท่านอิมามฮูเซน(อ) นั้น จึงเป็นเรื่องราวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อิสลาม และยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ
ความจริงแล้ว เรื่องความรู้ทางศาสนานั้น ได้บอกหลายครั้งแล้วว่า ความรู้ของบางอาเล็มอุลามาอฺนั้น ท่านบอกว่า…
“เรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺ เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยหนึ่ง ที่มีสาขาวิชาการต่างๆให้ศึกษาอย่างมากมาย และในแต่ละสาขาวิชานั้นๆ ยังจำแนกเป็นประเภทต่างๆ แยกย่อยออกมาให้ศึกษาได้อีกมากมาย”
ดังนั้น หากทุกคนจัดเวลาให้กับตนเอง ทำการศึกษาค้นคว้าคำพูดของนักสู้ นักคิด นักเขียน นักปราชญ์ นักปฏิวัติ และศรัทธาชนทั้งที่เป็นมุสลิม และที่ไม่ใช่มุสลิม ที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าเขาเป็นนักสู้จริง ไม่ว่าจะเพื่อประชาชน เพื่อชาติของเขา หรือเพื่อศาสนาของเขา
เหล่านี้ทั้งหมดแทบจะกล่าวได้ว่า พวกเขามีอิมามฮูเซน (อ) เป็นต้นแบบแห่งการปฎิวัติขณะที่ถูกกดขี่และอธรรม และเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อกรกับอำนาจทุจริตและฉ้อฉลจากทุกรูปแบบ ตราบจนถึงทุกวันนี้
ณ ตรงนี้ ขอยก 3-4 ท่านพอสังเขปดังนี้ (ซึ่งจริงๆแล้วมีเป็นร้อยๆท่านที่นำเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ)มาเป็นแบบอย่าง)
🔻 อันตวน บัรรอ (นักเขียนชาวเลบานอน)
อันตวน บัรรอ เขียนว่า “หากฮูเซนเป็นของเรา เราจะปักธง และบอกเล่าเรื่องราวของเขาไปยังทุกพื้นที่ในโลก และเรียกร้องเชิญชวนผู้คนเข้าสู่ศาสนาคริสต์ ด้วยกับเรื่องราวของฮูเซน”
และเขายังเขียนไว้ว่า “ไม่มีสงครามใดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอดีต ที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจและความนับถือ รวมทั้งที่จะให้บทเรียนได้มากไปกว่าการพลีชีวิตของฮูเซน ในสมรภูมิแห่งกัรบาลาอฺ” (Husayn in Christian Ideology)
🔻 นักวิชาการชาวคริสเตียนในเลบานอน
ท่านเขียนว่า “ในคริสเตียน ถ้าเรามีอิมามฮูเซน(อ) หรือว่าถ้าอิมามฮูเซน(อ)เป็นคริสเตียน วันนี้เราจะทำให้มนุษย์ทั้งโลกเป็นคริสเตียน โดยใช้เรื่องราวของ อิมามฮูเซน (อ) เพียงเรื่องเดียว”
🔻 มหาตมะ คานธี (นักปฏิวัติและผู้นำทางจิตวิญญาณชาวอินเดีย)
มหาตมะ คานธี หนึ่งในนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นอาณานิคม และการถูกกดขี่ เมื่อถูกถามว่า จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้นี้ท่านได้มาจากไหน ซึ่งคำพูดนี้ไม่ได้ยกเมฆ แต่ในประวัติศาสตร์ มีหลักฐานบันทึกที่คนทั่วโลกยอมรับ ด้วยกับเรื่องราวของท่านอิมามฮูเซน(อ) ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการต้านทานโดยไม่ใช้ความรุนแรงของมัน
ท่านเขียนไว้ว่า “ผมมีความศรัทธาว่าความเจริญก้าวหน้าของศาสนาอิสลามไม่ได้อาศัยการใช้ดาบของ ผู้นับถือศาสนาเลย แต่เป็นผลมาจากการสละพลีขั้นสูงสุดของฮุเซน(อ) นักบุญผู้ยิ่งใหญ่”
นี่คือ เหตุผลหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้จิตวิญญาณของ มหาตมะ คานธี เกิดความเข้มแข็ง และเกิดความเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ จนกระทั่งสามารถปลดปล่อยอินเดียจากการกดขี่ของนักล่าอาณานิคมของอังกฤษได้สำเร็จ โดยท่านได้กล่าวเสริมว่า
“ การต่อสู้อันนี้ ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากอิมามฮุเซน(อ) ที่ไม่ยอมรับการกดขี่”
สิ่งนี้บ่งบอกถึง นี่ไม่ใช่ประเด็นของการแบ่งแยกประเทศ แต่ประเด็นหลักที่แท้จริง คือ การไม่ยอมรับการกดขี่นั่นเอง
🔻 เนสสัน เมนเดล่า (มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้)
เนลสัน เมนเดล่า เป็นนักเคลื่อนไหว และเป็นนักต่อสู้ที่ต่อต้านการเหยียดสีผิวในแอฟริกาใต้ ในช่วงปี พศ. 2503 รัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ปกครองโดยชาวผิวขาวมีนโยบายเหยียดผิวได้สั่งห้ามและปราบปรามอย่างหนัก จนกระทั่งท่านถูกจับ เมื่อปี พศ. 2505 แต่ท่านยืนหยัดที่จะต่อสู้
ขณะที่รัฐบาลที่ปกครองโดยชาวผิวขาว ได้ใช้คุกเป็นเครื่องข่มขู่ ซึ่งเบื้องต้นของการต่อสู้ ท่านถูกขัง ถูกทรมานในคุกในรูปแบบต่างๆ แต่ละปีที่ผ่านไป
ในระหว่างนั้นได้ปฏิเสธ ที่จะลงลายเซ็นว่า ท่านยอมแพ้ ท่านไม่ยอมสิโรราบ ที่จะทำตามข้อเสนอของรัฐบาลผิวขาว ที่จะปล่อยตัวเขาเพื่อแลกกับการยุติบทบาท เช่น ถ้าออกมาจะต้องไม่ก่อหวอดประท้วง ต้องไม่ยกให้คนดำขึ้นมามีสิทธิ
ด้วยกับข้อเสนอนั้น คือ เงื่อนไขแห่งความอัปยศ ปีที่1 ยังเข้มแข็งปีที่ 2 3 4 5 จนกระทั่งถึงปีที่ 20 ท่านคิดว่าไม่ไหวและเริ่มจะท้อแท้แล้ว แต่เมื่อคิดจะยอมแพ้ ท่านก็นึกถึงการต่อสู้ของอิมามฮูเซน(อ)
บริบทนี้ บ่งชี้ว่า วิถีการดำเนินของนักต่อสู้เหล่านี้เรียนรู้ศึกษาชีวประวัติบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก
คำพูดของเนลสัน เมนเดล่า ที่เมื่อนึกถึงการต่อสู้ของอิมามฮูเซน(อ)ซึ่งแน่นอน ท่านจะต้องอ่านอย่างละเอียด ท่านบอกว่า “แม้เราจะอยู่ในคุก ก็ยังมีอาหารและน้ำให้ดื่มกิน แต่ที่กัรบาลาอฺ ขนาดถึงขั้นไม่มีน้ำกิน อีกทั้งแนวร่วมที่กัรบะลาอฺมีเพียงเจ็ดสิบสองคนเท่านั้น พวกเขายังยืนหยัดที่จะต่อสู้ กลับกันกรณีของเรา ยังมีแนวร่วมที่รออยู่ข้างนอกนับล้านคน”
และนี่คือ เหตุผลที่ทำให้ท่านตัดสินใจสู้ต่อ จนกระทั่งปี พศ.2533 ท่านถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี จนได้รับอิสรภาพและได้ลุกขึ้นมาปลดปล่อยประเทศของท่าน ให้พ้นจากการกดขี่จากชาวผิวขาว ซึ่งเป็นชนส่วนน้อย ที่เข้ามาบุกและมาเป็นเจ้าของประเทศ
เมื่อถูกถามท่านว่า ทำไมท่านอดทนถึงขนาดนี้ ท่านตอบว่า ตอนที่ฉันอยู่ในคุกนั้นก็เกือบจะหมดหวังแล้ว แต่หลังจากที่ฉันได้อ่านเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ) จิตวิญญาณการเป็นนักต่อสู้จึงกลับมาใหม่
นี่คืออิมามฮูเซน ที่โลกรู้จัก
หลายคนอาจฟังเรื่องราวที่เรายกตัวอย่างบ่อยครั้งแล้ว แต่เราจำเป็นต้องพูดซ้ำในบางหัวข้อ ในหลายๆครั้ง ในหลายๆปีนั้น เป้าหมายก็เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะเหตุการณ์แห่งกัรบาลาแสดงให้เห็นถึงการเสีย สละที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และเพื่อให้เห็นถึงการเป็นปรปักษ์กันระหว่างความดีกับความ ชั่ว บุญกับบาป ความถูกต้องกับความผิด และความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิมามฮูเซน (อ) (หัวหน้าของความดีงาม) กับยะซีด ลน.(หัวหน้าของความเลวทราม)
หากถามว่า จิตวิญญาณเหล่านี้เรามีหรือไม่ (เราต้องถามตัวเอง) เราพร้อมหรือไม่ในการต่อสู้เพื่อศาสนาในลักษณะนี้
เพราะการต่อสู้ในรูปแบบนี้ไม่เคยปรากฏในโลก ดังนั้น ด้วยกับเหตุผลนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อิสลาม และในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ และที่สำคัญการต่อสู้ลักษณะนี้ยิ่งใหญ่ ณ อัลลอฮ (ซบ.) ด้วย
ทว่าใช่ว่า ยุคก่อนอิมามฮูเซน(อ) ไม่มีคนต่อสู้ ใช่ว่าไม่มีผู้เสียสละเพื่อพระองค์ จริงๆแล้วมีมากมาย นับตั้งแต่ยุคของนบีอาดัม(อ.) จนถึงยุคของท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) แต่อัลลอฮ(ซบ) ทรงเลือกเรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ) ให้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สำหรับพระองค์
อย่าลืมว่า อิมามฮูเซน(อ) ได้รับอนุญาต จากอัลลอฮ(ซบ) ให้บรรดาอิมาม เรียกฉายาอิมามฮูเซน(อ) ว่า ยาซารัลลอฮ์ (يَا ثَارَ اللهِ) อันหมายถึง ผู้ที่จะทวงหนี้เลือดหรือผู้ที่มีสิทธิ์ในหนี้เลือดนั่นคือ อัลลอฮฺ(ซบ) เป็นฉายาหนึ่งซึ่งไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้รับมาก่อน
คำว่า ‘ยาซารัลลอฮ’ (يَا ثَارَ اللهِ) แปลว่า อัลลอฮ(ซบ) คือ ผู้ทวงหนี้เลือดที่แท้จริงของอิมามฮูเซน(อ) โดยปรกติแล้วเมื่อมนุษย์ผู้หนึ่งผู้ใดถูกสังหารและถูกฆ่าโดยละเมิด ผู้ที่ทำการทวงคืนความเป็นธรรมให้นั้น ต้องเป็นวงศ์วานหรือสายเลือดของเขา (ตัวเขา บุตรชายของเขา ญาติพี่น้องของเขา)
ทว่ากรณีของอิมามฮูเซน(อ) ความยิ่งใหญ่ของการพลีในครั้งนี้ ผู้ที่มารับรองเป็นเจ้าของหนี้เลือดนี้คือ อัลลอฮฺ(ซบ)
ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้ ท่านอิมามฮุเซน(อ)จึงเป็น ‘ซารัลลอฮฺ’ และในคำว่า ‘ซารัลลอฮ’ ก็มีเรื่องราวต่างๆอีกมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺ
🌎 ขบวนการปฏิวัติที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก
ทำไมเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และคำตอบนี้สำคัญกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากที่สุดด้วย
พึงจำไว้เลยว่า เรื่องราวของอิมามฮูเซน (อ)ไม่ได้มีเพียงหนึ่งคำตอบ แต่วันนี้เราจะเฉลยหนึ่งคำตอบว่า ทำไมเรื่องราวเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สำหรับอัลลอฮฺ สำหรับนบี สำหรับมนุษยชาติ และสำหรับทุกๆคนที่เป็นอิสระชน รวมทั้งมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นทาสของสิ่งใด
คำว่า ‘ทาส’ ในที่นี้มิได้หมายความว่า ต้องมีคนเอาโซ่มาล่ามเพียงอย่างเดียว จริงๆแล้วความหมายของมันมีมากกว่านั้น ดังนั้น อย่าได้คิดว่า เราไม่ได้เป็นทาส เพราะเราก็เป็นทาส เช่น บางคนเป็นทาสของฮาวานัฟซู บางคนเป็นทาสของดุนยา บางคนเป็นทาสของสิ่งอื่นๆ
ดังนั้น สำหรับมนุษย์ที่ไม่ได้เป็นทาสของสิ่งใด มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้ามนุษย์เป็นทาส เป็น.“عبيد الدنيا” (เป็นทาสของดุนยา) ในการนับถือศาสนาเขาก็เป็นทาสของดุนยา ในที่นี้ก็คือ กลุ่มบุคคลที่เป็นทาสของดุนยา ทาสของฮาวานัฟซฺที่มานับถือศาสนา รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นทาสของดุนยาที่มาเป็นชีอะฮ์
“انا الناس عبيد الدنيا”
“อินนันนาส อะบีดุดดุนยา ” เพราะมนุษย์นั้นคือทาสของดุนยา
นี่เป็นฮาดิษหนึ่งแห่งบทเรียนกัรบาลา ที่บอกถึงปัญหาของมนุษย์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนากันได้ดีอย่างสมบูรณ์แบบนั้น เนื่องจากพวกเขาตกเป็นทาสของดุนยา พวกเขาจึงไม่เข้าใจสิ่งต่างๆเหล่านี้ เพราะการเป็นทาสของดุนยานั้น จะมาในรูปแบบต่างๆกัน บางครั้งอาชีพการงาน ก็ทำให้เป็นทาสของดุนยาได้
อนึ่งการหาทางออกที่เป็นคำตอบที่สำคัญ ก็คือ ศึกษาวีรกรรมที่กัรบาลาอฺ เพราะวีรชนเหล่านั้น ได้มอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเช่นกันให้กับอิสลาม ให้กับสิ่งที่อัลลอฮฺขอ ให้กับสิ่งที่นบีขอ ถามว่า อัลลอฮฺขออะไร นบีขออะไร อิสลามอันนี้ขออะไร
เราได้อธิบายไปแล้วเมื่อวาน(คืนที่ ๑) แบบสมบูรณ์ ตามขอบเขตของมันว่า ศาสนานี้ได้สรุปไปที่ขอให้มีความรักต่ออะฮ์ลุบบัยต์ (อ) ขอให้มีความรักต่อลูกหลานนบีผู้บริสุทธิ์ ขอเพียงเท่านี้อย่างอื่นไม่ขอ
ด้วยกับศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อถูกถามว่า อะไรที่จะมาเป็นรางวัลแห่งความยิ่งใหญ่เหล่านี้ อัลลอฮ(ซบ) ทรงตรัสว่า ให้รักในอะฮ์ลุยบัยต์ รักในลูกหลานนบีผู้บริสุทธิ์เท่านั้น ยิ่งใหญ่เพียงพอที่สุด ในการจะตอบแทนอิสลามอันยิ่งใหญ่ เพราะวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ คือ การตอบแทนอิสลามอันยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะพวกเขาได้มอบความรัก พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่เพราะมันเป็นวาญิบ แต่พวกเขาได้ทำหน้าที่เพราะความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สูงสุด ดังนั้น ก่อนที่จะมาทำความเข้าใจให้ละเอียดกว่านี้เรามาทำความเข้าใจ ในเรื่องของความรักก่อน
🔴 นิยาม ปรัชญา “ความรัก”
ในภาษาอาหรับ คำว่า ความรักโดยทั่วๆไปที่ใช้กันโดยส่วนมาก มีอยู่ ๓ คำ ซึ่งนิยามความหมายต่างกันดังนี้
๑. ความรัก แบบ ฮุบ ( حب )
๒.ความรักแบบเอชกฺ( عشق )
๓.ความรักแบบมะวัดดะฮ์ ( مودة )
➡️ ๑. ความรัก แบบ ฮุบ ( حب )
คำว่า ฮุบ (حُّب) ยาฮาบีบี(یا حبیبی) ยามัฮบูบี (یا محبوبی) คือ ความรักทั่วไป ทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ในความหมายที่หนึ่ง ซึ่งอัลลอฮฺ(ซบ) ตรัสให้นบีบอกประชาชาติ ให้ขอความรักลักษณะนี้
🔻 ซูเราะฮ์อัล อิมรอน โองการที่ 31
——————
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي
(กุลอินกุนตุม ตุฮิบบู นัลลอฮุ ฟัตตะบีอูวนี ) ความว่า จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน
เบื้องต้นให้นบีขอความรักแบบนี้ก่อน ทีนี้เรามาดูกันว่าความรักมีนิยามต่างกันอย่างไรบ้าง ทว่านี่คือ ความหมายที่หนึ่ง ที่บอกว่า ความรักประเภทนี้ในอัลกุรอานก็มี ถ้าเรามีความรักแบบที่หนึ่ง อัลฮัมดูลิลละห์ นับว่ายิ่งใหญ่เพียงพอ ทั้งนี้ยังไม่ใช่ก้าวสุดท้าย แต่เป็นก้าวแรก ซึ่งจริงๆแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า พวกเราจำนวนมากยังไม่มี ‘ฮุบ’ ในศาสนากันเลย
รักในศาสนาแบบฮุบ ( حب ) มีพยัญชนะตัว ฮา(ح) กับ ตัวบา (ب ) เมื่อรวมกันอ่านว่า ‘ฮุบ’ ผันไปตามภาษาอาหรับถ้าคนไหนที่เราฮุบเขา เขาก็จะเป็น “มะฮ์บูบ”(محبوب) ของเรา
คำว่า ‘มะฮ์บูบ’ คำนี้ก็สำคัญ คำว่า ‘ฮุบ’ ก็สำคัญ ซึ่งถ้าหนักไปกว่านั้น ก็จะเป็นอะฮิบบา(احباء)คือ รักมากยิ่งขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในหมวดของคำว่า ‘ฮุบ’
➡️ ๒.ความรักแบบเอชกฺ( عشق ) จะสูงกว่า คำว่า ฮุบ
กรณี ความรักแบบเอชกฺ สำหรับคนที่เคยเรียนตารีกัต เรียนซูฟี ก็จะมีความลึกซึ้งในความหมายที่สอง
เราพบว่า ในมาเลเซียก็มีการตั้งชื่อลูกว่า ออชิก, ออชีกีน หมายถึง ผู้ที่มีความรักแบบเอชกฺ มีพยัญชนะตัว อีน (ع) ชีน (ش ) กอฟ( ق )
นี่คือความรักประเภทที่สอง ซึ่งสูงกว่าความรักประเภทแรก แต่ทั้งนี้ จะไม่มีใครสามารถไปถึง “เอชกฺ” ได้ ถ้าหากเขาไม่มี “ฮุบ” เว้นแต่ เมื่อมนุษย์มีฮุบอย่างสมบูรณ์ เขาก็จะพัฒนาไปมีความรักแบบเอชกฺ ซึ่งเอชกฺ ก็จะเป็นสิ่งที่เริ่มเข้าใจได้ยากขึ้น
เพราะในนิยามความรักแบบเอชกฺ( عشق ) เป็นความรักที่เหนือเหตุผลและเหนือสติปัญญา ทว่าสำหรับพวกเราแล้ว แม้นแต่ความรักที่มีเหตุผลและสติปัญญาพวกเราบางคนก็ยังมีไม่ได้ อีกทั้งไม่รู้ว่า จะเข้าใจหรือเปล่า
อินชาอัลลอฮฺ หากมีเตาฟิก มัจญลิสในปีนี้เราจะอรรถาธิบายในเรื่องการถอดรหัสลับกัรบาลาอฺบ้าง ซึ่งต่อไปจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของประวัติศาสตร์มากเกินไป เพราะจริงๆแล้วประวัติศาสตร์ทุกคนรู้มามากพอสมควรแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับอิมามฮูเซน(อ) ยะซีด ชิมร์ อิบนิซิยาด บรรดาชื่อเหล่านี้ สำหรับพวกเราคิดว่า คงรู้จักแล้วว่าเป็นใคร ถือว่าจบ
ดังนั้น ในมัจญลิสต่อไป เราจะเข้าไปในรหัสลับ รหัสลึกๆของกัรบาลาอฺ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า ทำไม จะต้องติดตามทุกปี ทำไมจะต้องฟังทุกปี และทำไมจะต้องมีการรำลึกทุกปี
‘เอชกฺ’( عشق ) เป็นออชิก(คนรัก) คือ ผู้ที่เอชกฺ ถ้าแปลเป็นไทย ก็คือ ผู้ที่มีความรักอีกเหมือนกัน ซึ่งถ้าใครมีอันนี้อย่างแท้จริงได้สมบูรณ์ เขาก็จะเป็นเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ เพราะบรรดาอุรฟาอฺต่างๆ (عرفاء) ก็ได้เรียกตนเองว่าเป็น ออชิก
ออชิก หมายถึง ผู้ที่มีเอชกฺ ต่ออัลลอฮ ต่อศาสนา และต่ออะไรอีกหลายอย่าง
นี่คือความหมายที่สองที่เหนือเหตุผลและสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์
หมายเหตุ : บรรดาอุรฟาอฺต่างๆ (عرفاء) เป็นคำพหูพจน์ ของ อาริฟ แปลว่า อาริฟหลายคน
➡️ ๓.ความรักแบบมะวัดดะฮ์ ( مودة ) คือ ความรัก ที่สูงส่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายด้วยภาษา เพราะ คำว่ามะวัดดะฮ์ ทางด้านภาษาอาหรับ จำไว้เลยว่า มีเหตุผลในการใช้คำที่เหมือนกันเพียงแต่ว่า คนทั่วไปจะสัมผัสมันได้สักขนาดไหนในการจำแนกว่า ทำไมตรงนั้นใช้ฮุบ ทำไมตรงโน้นใช้เอชกฺ ทำไมตรงนี้ใช้มะวัดดะฮ์
ทว่าสูงสุดของความรัก ที่เราพูดเป็นภาษาไทย คือ มะวัดดะฮ์ หากจะกล่าวโดยสรุป คำว่า ‘มะวัดดะฮ์’ ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็คือ ความรักที่สูงสุด และ เมื่อ ‘เอชกฺ’ อยู่เหนือเหตุผลและสติปัญญาแล้ว จะเหลือนิยามอะไรสำหรับมะวัดดะฮ์อีก ดังนั้น มะวัดดะฮ์จึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่อัลลอฮ และที่นบีขอ
กุล (قُلْ) มูฮัมหมัด จงกล่าว แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺขอและได้บอกผ่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ให้นบีมูฮัมหมัดพูดแทนพระองค์ นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ก็ขอ และอัลลอฮ(ซบ)ก็ขอ
🔻 ซูเราะฮฺ อัลชูรอ โองการที่ 23
قُلْ لَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا
ความว่า จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันมิได้ขอรางวัล(ค่าตอบแทน)ใดๆ
ดังนั้น ไม่ต้องพูดถึงรางวัลเรื่องวัตถุ รวมทั้งอะไรทั้งหมด แต่ถ้าจะพูดถึงรางวัลในการตอบแทนศาสนา ขอเพียงอย่างเดียว คือ
“ الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ”
(มะวัดดะตะฟิลกุรบา )
มีความรักให้กับสายเลือด หรือ ญาติสนิททางสายเลือด
จะเห็นได้ว่า แม้นแต่ความรักแบบ ‘ฮุบ’ ส่วนมากของมนุษย์ยังไม่มีเลย ส่วนความรักแบบ ‘เอชกฺ’ ไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นแล้ว ความรักแบบมะวัดดะฮ์ แทบจะกล่าวได้ว่า มีน้อยมาก
ทีนี้มาดูในประวัติศาสตร์ ขอยกเฉพาะที่บันทึก ที่ได้รับการรับรองยืนยันแล้วว่า กลุ่มบุคคลที่ได้มอบรางวัลมะวัดดะฮ์ให้กับอะฮฺลุลบัยต์(อ) มอบมะวัดดะฮ์ให้อิมามฮูเซน(อ) อย่างแท้จริง มีเพียง 72 คนเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่มีเพียงแค่นี้ แต่ที่ยกมานั้นเฉพาะที่มีบันทึกรับรอง
อนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ อย่าลืมว่า ก่อนที่จะไปถึงมะวัดดะฮ์ ต้องมีฮุบก่อน ถ้าเราไม่มีความรักในศาสนาแบบความรักทั่วไป ซึ่งถือว่าหนัก จริงๆแล้ว นิยามคำว่า ‘ฮุบ’ นั้นหนักอยู่เเล้ว ตรงนี้บ่งชี้ว่า ไม่มีวันที่เราจะเป็นออชิก(ที่รัก) หรือ ไม่มีวันที่เราจะมี ‘เอชกฺ’ได้
และตราบใดที่ ‘มูฮับบา’ หรือ ‘ฮุบ’ เรายังไปไม่ถึง เช่นนี้แล้ว คำว่า มะวัดดะฮ์ แทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะมะวัดดะฮ์ ในความหมายของมันนั้น เกินสติปัญญาของมนุษย์ทั่วไปจะเข้าใจได้ หรือ หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก หมายความว่า มนุษย์จะไม่มีวันเข้าใจมะวัดดะฮ์ ถ้ายังไม่มีฮุบและไม่มีเอชกฺในศาสนา
หมายเหตุ : ปรัชญา นิยามแห่งความรัก
เริ่มจาก ฮุบ➡️ เอชกฺ➡️ มะวัดดะฮ์
แน่นอนไม่มีวันเข้าใจว่า ทำไมมะวัดดะฮ์ จึงบอกว่า หลังจากกุรอ่านได้กล่าวถึงเรื่องมะวัดดะฮ์แล้ว โองการอื่นๆก็ได้ถูกนำมาอธิบายว่า
مِنْ أَجْرٍ إِنْ هُوَ إِلَّا ذِكْرٌ لِلْعَالَمِينَ
สิ่งที่ขอไป ไม่มีอะไรเลย เว้นแต่ ซิกรุล ลิลอะลามีน
คำอธิบาย : นี่คือ ข้อพิสูจน์ที่แสดงถึง สิ่งที่ขอนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มหาศาล แต่กระนั้น “อัศฮาบแห่งกัรบาลาอฺ” คือ ผู้มอบสิ่งนี้ให้กับอะฮ์ลุลบัยต์ ทั้งมิตรสหายและลูกหลานของอิมามฮูเซน(อ) ได้มอบมะวัดดะฮ์ให้กับอิมามฮูเซน (อ)
แน่นอนเมื่อไปถึงมะวัดดะฮ์แล้ว ไม่มีเหตุผล ไม่มีคำพูด แม้สติปัญญาก็จินตนาการไปไม่ถึง และสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่า อัศฮาบแห่งกัรบาลาอฺ คือ กลุ่มบุคคลที่มอบมะวัดดะฮ์อย่างแท้จริงให้กับอิมามฮูเซน(อ) นั้นศึกษาได้จากซิยารัตวะริษที่เราใช้ซิยารัตให้กับพวกเขา
🔴คุณลักษณะบุคลากรที่พระเจ้าคัดสรร
เรากำลังพูดถึงบรรดาอัศฮาบที่ได้พลีทุกสิ่งทุกอย่างเคียงข้างท่านอิมามฮูเซน (อ.)ในแผ่นดินกัรบาลาอฺ สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่า อัศฮาบแห่งกัรบาลาอฺ คือ กลุ่มบุคคลที่มอบมะวัดดะฮ์อย่างแท้จริงให้กับอิมามฮูเซน(อ) นั้น ศึกษาได้จากซิยารัตวะริษที่เราใช้ซิยารัตให้กับพวกเขา
อนึ่ง ซิยารัตวะริษ เป็นซิยารัตที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรดาอะอิมมะฮ์(อ) โดยตรง ซึ่งหากว่า ทุกคนพินิจพิจารณาในประโยคท้ายๆของซิยารัตวะริษ จะพบคุณลักษณะของพวกท่าน ในท่อนที่เรากำลังกล่าวสลามไปยังบรรดาอัศฮาบของอิมามฮูเซน (อ.) ณ แผ่นดินกัรบาลาอฺนั่นเอง
อินชาอัลลอฮ์ พวกเราทุกคนมีเตาฟิก ที่ได้อ่านในทุกค่ำคืนของวันศุกร์ เพราะนี่คือ ‘คอส’ สำหรับซิยารัตอัศฮาบแห่งกัรบาลาเป็นการเฉพาะเท่านั้น
▪️ประโยคที่ ๑
السَّلامُ عـَلَيكُم يااَولياءَ اللهِ وَاَحـِبـائَهُ
ความว่า สลามมายังพวกท่าน (บรรดาอัศฮาบ) ผู้เป็นเอาลิยาอฺของอัลลอฮ์ และผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ์”
คำอธิบาย : สลามมายังพวกท่านโอ้ญูน,โอ้ฮะบีบ บิน มะซอเฮร ,โอ้โฮร ,โอ้มุสลิม บิน เอาสะญะฮ์ ,โอ้อัสลัม อัลอิรานี ,สลามมายังท่านผู้เป็นเอาลิยาอฺของอัลอฮ และผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ์ โดยในประโยคท้ายนี้ ไม่ได้บอกว่า พวกเขารักอัลลอฮมากที่สุด แต่ในสลามบอกว่าพวกเขา คือ คนที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด
ซึ่งหากจะถอดรหัสประโยค “พวกเขาคือ กลุ่มชนที่อัลลอฮรักมากที่สุด” ประโยคนี้หากแปลกลับกันก็มีนัยยะซ่อนอยู่ โดยกรุอ่านบอกว่า
🔻 ซูเราะฮ์ นุฮ โองการที่ 6
——————
فَلَمْ يَزِدْهُمْ دُعَائِي إِلَّا فِرَارًا
( ฟะลัม ยะซิดฺฮุม ดุอาอี อิลลา ฟีรอรอ )
แต่การเรียกร้องเชิญชวนของข้าพระองค์มิได้เพิ่มพูนสิ่งใดแก่เขานอกจากการหลบหนี
หมายความว่า เว้นแต่พวกเขาอะฮิบบาอัลลอฮฺก่อน นั่นหมายความว่า เขาต้องรักอัลลอฮมากที่สุดก่อน อัลลอฮ์จึงรักเขามากที่สุด
ทว่าบางโองการบอกว่า เพราะอัลลอฮฺรักเขา และเขาก็รักอัลลอฮฺ ⬇️
🔻 ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โองการ 54
فَسَوْفَ يَأْتِي اللَّهُ بِقَوْمٍ يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ
“ก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์”
การพิจารณาประโยค ⬇️
“يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ”
(ยูฮิบบุฮุม วะยูฮิบบูนาฮุ) เพราะอัลลอฮฺรักเขา และเขาก็รักอัลลอฮฺ ดังนั้น เมื่อ พวกเขารักอัลลอฮ อัลลอฮฺจึงรักพวกเขามากที่สุด และเขาก็รักอัลลอฮฺมากที่สุด ด้วยเหตุผลนี้ พวกเขาจึงเป็นเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺ
▪️ประโยคที่ ๒
السَّلام ُعـَلَيكُم يا اصـفـِياءَ اللهِ وَاوِدّائَهُ
(อัสลามุอลัยกุม ยา อัศฟิยา อัลลอฮฺ วะอะวิดดาอะฮ์)
ความว่า : สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้เป็นอัศฟียาอัลลอฮ์ หมายถึง ผู้ที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงคัดสรร ท่อนนี้ชี้ว่า หากอัลลอฮ์ไม่ทรงเลือก หรือ คัดสรร ด้วยพระองค์เอง ก็จะไม่มีวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ
จะเห็นได้ว่า ความเข้มข้น เริ่มมากยิ่งขึ้น จากที่เราให้สลามมายังพวกเขา โอ้ญูน โอ้ฮูร โอ้ฮะบีบ บิน มะซอเฮร โอ้มุสลิมอิบนิ เอาสะญะฮ์ สลามมายังพวกท่านโอ้เหล่าชนที่อัลลอฮทรงเลือกแล้ว
อินชาอัลลอฮฺ หลังจากวันนี้ไปแล้วทุกคืนวันศุกร์ เวลาอ่านให้เข้าใจความหมายอันนี้
يا اصـفـِياءَ اللهِ
และผู้ที่อัลลอฮทรงคัดสรร
(وَاوِدّائَهُ )
โอ้ผู้ที่เป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺมะวัดดะฮ์มากที่สุด
จริงๆแล้ว คำว่า “อะวิดดาอะฮ์” คือรากศัพท์ที่มาจาก คำว่า มะวัดดะฮ์ เพื่อชี้ว่า อัลลอฮฺมีมะวัดดะฮ์ต่อพวกเขา เพราะเขาก็มีมะวัดดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ และคนแบบนี้เท่านั้น ที่มีความรักสูงสุดต่ออัลลอฮฺทั้งแบบฮุบ และทั้งแบบมะวัดดะฮ์ จึงทำให้พวกเขาถูกเลือกให้ได้เป็น ⬇️
▪️ประโยคที่ ๓
السَّلامُ عـَلَيكُم يا اَنصـارَ دينِ اللهِ
“อัสสลามุอลัยกุม ยาอันศอรุดดีนิลลาฮ์”
(สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ที่เป็นผู้ช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮ์)
คำอธิบาย : ต้องแบบพวกท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือศาสนาของอัลลอฮฺ
▪️ประโยคที่ ๔
السَّلامُ عـَلَيكُم يا اَنـصـارَ رَسـُولِ اللهِ
“อัสลามุอลัยกุม ยาอันศอรุน รอซูลลิลลาฮฺ”
(สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ที่เป็นผู้ช่วยเหลือรอซูลของอัลลลอฮ์)
คำอธิบาย : ต้องแบบท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)
▪️ประโยคที่ ๕
السَّلامُ عـَلَيـكُم يـا اَنـصـارَ اَميرِ المُؤمِنـين
“อัสลามุอลัยกุม ยาอันศอรุน อมีรุลมุอฺมินีน”
(สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ที่เป็นผู้ช่วยเหลือในความอดทน และความเหน็ดเหนื่อยของอะมีริลมุมินีนอะลี ยิบนิอาบีตอลิบ (อ.)
คำอธิบาย : ต้องแบบพวกท่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ช่วยเหลืออะมีริลมุมินีนอะลี ยิบนิอาบีตอลิบ(อ.)
🔴 อัศฮาบแห่งกัรบาลาอฺ คือ บุคลากรที่พระเจ้าคัดสรร
▪️ประโยคที่ ๖
السَّلامُ عـَلَيكُم يا اَنـصـارَ فـاطـِمةَ الزهراء سَيدةِ نِساءِ العـالَمينَ
“อัสลามุอลัยกุม ยาอันศอรอ ฟาฏิมะตัซซะฮฺรอ ซัยยิดะตินิซา อิลอะลามีน”
(สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ช่วยเหลือให้ความพยายามและการเสียสละของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (สลามมุลลอฮฯ) สตรีผู้เป็น “ประมุขหญิง” แห่งสากลจักรวาลประมุขสตรี)
คำอธิบาย : คนที่มีคุณลักษณะรักศาสนาอย่างแท้จริง และอย่างสมบูรณ์เท่านั้น จึงจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์-อัซซะฮ์รอ(สลามุลลอฮฯ)ได้ และในวันกียามัต พวกเขาจะภาคภูมิใจขนาดไหน เมื่อบุคคลเหล่านี้ฟื้นคืนชีพมาในนามของอันศอรุลฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)
ในขณะที่พวกเราทั้งหมดหวังการช่วยเหลือจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)ในวันกียามัต ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับพวกเขา เพราะบริบทของพวกเขา คือ ผู้ช่วยเหลือฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)บนโลกนี้
ดังนั้น ปราศจากความรัก มนุษย์ไม่สามารถที่จะไปถึงตำแหน่งทางศาสนานี้ได้ และตราบใดที่ยังดำเนินชีวิต ตามแบบคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า “ตัวกู-ของกู” เพราะคำเตือนของท่านก็คือ “อย่าเห็นอะไรๆ เป็น “ตัวกู” หรือ “ของกู” แต่จงทำอะไรๆ ด้วยความรู้ตัวอย่างแจ่มแจ้ง แล้วเราก็จะไม่เป็นทุกข์”
ในการชี้ว่า ถ้าเมื่อใดที่เรามีแต่ “ตัวกู-ของกู” ขึ้นมา นั่นคือ จบ อย่างอื่นไม่ต้องถามแล้ว เพราะปัญหาทั้งหมดมาจากตัวกู-ของกู
ซึ่งเมื่อเริ่มจากตัวกู-ของกู และทุกอย่างก็เป็นของกูหมด แต่ถ้าตัวกูไม่ใช่ของกูเมื่อใด ทุกอย่างก็ไม่ใช่ของกูทั้งหมด แต่เพราะเราต่างหากที่ทำเป็นตัวกู-ของกู ทุกอย่างก็เลยเป็นของกูทั้งหมด ซึ่งอิสลามก็มีคำสอนนี้ เรียกว่า อะนานิยะฮฺ “(انانیه)” แปลว่า การยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง
ดังนั้น เมื่อใดที่เรายึดตนเองเป็นที่ตั้ง แน่นอนไม่มีวันที่จะได้รับเกียรติ แต่กรณีของพวกเขาในวันกียามัต หน้าตาจะชื่นบานขนาดไหน เมื่อพวกเขาเดินออกไป คนทั้งโลกก็จะชื่นชมพวกเขา
นี่คือ อันศอรุลฟาฏิมะฮ์ ผู้ที่ช่วยเหลือฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)บนโลกนี้
▪️ประโยคที่ ๗
السَّلامُ عـَلَيكُم يا اَنـصـارَ اَبـي مُحـَمَّدٍ الحـَسـَنِ بـن عـليٍّ الوَلي الناصِح
(อัสลามุอลัยกุม ยาอันศอรอ อะบามูฮัมมัด อัลฮะซัน นิบนิ อะลิยุล วะลินนา ศิฮฺ)
“สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ที่ช่วยเหลืออิมามฮะซัน อัลมุจตะบา(อ.) อิบนิ อาลี(อ)
▪️ประโยคที่ ๘ จนกระทั่งสุดท้าย
السَّلامُ عَلَيكُم يا اَنصارَ اَبـي عَبـدِ اللهِ الحـسـين
(อัสลามุอลัยกุม ยาอันศอรอ อะบาอับดิลลาฮิลฮูเซน)
สลามยังพวกท่าน โอ้ !!! ผู้ที่ช่วยเหลือท่านอิมามฮูเซน (อ.)
โอ้ผู้ที่ช่วยเหลืออบาอับดิลลาฮิลฮูเซนโดยตรง
▪️ประโยคที่ ๙
بـاَبـي اَنتُم وَاُمي طِبـتُم وطابـَتِ الأرضُ الّتـي فـيها دُفـِنـتُم
(บิอะบี อันตุม วะอุมมี ฏิบตุม วะฏอบะติล อัรฎุลละติ ฟีฮา ดุฟินตุม)
ประโยคนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเน้น คำว่า طِبـتُم‘ฏิบตุม’ คือ นอกจากบรรดาอัศฮาบ คือ ผู้ที่เยี่ยมยอด ดีมาก ดีเลิศ สวยงาม สง่างาม ประเสริฐเลิศหรู แล้ว ยังย้ำสำทับอีกว่า…
และดินกัรบาลาอฺกลายเป็นดินที่มีค่าได้นั้น เป็นเพราะพวกท่าน(บรรดาอัศฮาบ)ถูกฝังอยู่ ณ ที่แห่งนั้น และที่ยิ่งกว่านั้นเป็นเพราะเลือดของพวกท่านถูกหลั่ง ณ แผ่นดินแห่งนั้น
وطابـَتِ الأرضُ الّتـي فـيها دُفـِنـتُم
(วะฏอบะติล อัรฎุลละติ ฟีฮา ดุฟินตุม)
และทำให้แผ่นดินนั้นมีค่า มีบะรอกัต มีความมงคลต่างๆ เพราะพวกท่านถูกฝัง ณ แผ่นดินแห่งนั้น
คำอธิบาย : ไม่ใช่พวกท่านถูกฝังในแผ่นดินที่มีเกียรติ แต่แผ่นดินนั้นมีเกียรติเพราะได้ฝังพวกท่าน เพราะพวกท่านจึงทำให้แผ่นดินนั้นมีเกียรติ เพราะเลือดและร่างกายของพวกท่าน จึงทำให้แผ่นดินกัรบาลาอฺมีเกียรติ ไม่ใช่ว่าแผ่นดินกัรบาลาอฺมีเกียรติ แล้วทุกคนต้องไปตายที่นั่น
หากจะกล่าวโดยสรุป เลือดและร่างกายของคนเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้แผ่นดินกัรบาลาอฺมีค่านั่นเอง
▪️ประโยคที่ ๑๐
وَفـُزتُم فـَوزاً عـَظـيماً فـَيالَيتَني كـُنتُ مَعـَكُم فَاَفوُز فوزاً عَظيما
(วะฟุซตุม เฟาซัน อะซีมัน ฟะยา ลัยตะนี กุนตุ มะอะกุม ฟะอะฟุซ เฟาซัน อาซีมา)
โดยท่อนแรก
وَفـُزتُم فـَوزاً عـَظـيماً
และพวกท่านได้ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
ทีนี้มาดูท่อนต่อมา
فـَيالَيتَني كـُنتُ مَعـَكُم
(ฟะยาลัยตะนี กุนตุ มะอะกุม) คำอธิบาย : เป็นท่อนที่คนส่วนมาก ที่อ่านซิยารัตจะโกหก ให้สังเกตุตรง ‘ยาลัยตะนา’ นี้ เป็นคำที่เราอุทานว่า โอ้ อนิจจา ในวันนั้นเราน่าจะอยู่ร่วมกับพวกท่าน เพื่อที่เราจะได้ประสบความสำเร็จเหมือนกับพวกท่านด้วย และตามด้วยท่อนสุดท้าย
فَاَفوُز فوزاً عَظيما
(ฟะอะฟุซ เฟาซัน อาซีมา) จึงเป็นการอุธรณ์เพื่อที่เราจะได้ประสบความสำเร็จ เหมือนกับพวกท่านด้วย
ทว่าความหมายโดยรวมของท่อนนี้ แม้จะโกหกก็จริง แต่เป็นการโกหกเพื่อการขับกล่อมตัวตนของเรา ให้มีจิตวิญญาณเฉกเช่นเดียวกับบรรดาอัศฮาบของท่านอิมามฮูเซน (อ.)นั่นเอง