คอลัมน์ “ขอคิดขอเขียน” (ตอนที่ 3)

    256

    วันนี้มาติดตามตอนที่ 3 กันต่อ…ในบทสัมภาษณ์​ของ ท่านผู้นำมุสลิมชีอะฮ์ไทย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ประเด็น เบื้องหลังธงดำ – ธงแดง แห่งเกียรติยศ

    เบื้องหลัง ที่มาของ “ธงแดง”

    ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ให้สัมภาษณ์กรณีที่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้อันเชิญ “ธงแดง” ขึ้นสู่ยอดโดมมัสยิดญัมการอน ซึ่งเป็นหนึ่งในมัสยิดที่มีความสำคัญและศักดิสิทธิ์ ในประเทศอิหร่าน ภายหลังเหตุการณ์สหรัฐลอบสังหารนายพลกอเซม สุไลมานี โดยซัยยิดสุไลมานได้อธิบายว่า “ธงสีแดงนี้ เป็นธรรมเนียมของบานีฮาชิม”

    อนึ่ง “บานีฮาชิม คือ ต้นตระกูลของท่านศาสดามูฮำหมัด (ศ็อลฯ) กล่าวได้ว่า ธงดังกล่าว เป็นธงสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของบานีฮาชิม ซึ่งหากถามว่า ธงนี้จะถูกชักขึ้นเมื่อไหร่?

    คำตอบคือ เมื่อมีคู่แค้น และมีสงคราม ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่บุคคลในตระกูลของบานีฮาชิมถูกสังหาร บานีฮาชิมจะชักธงนี้ขึ้นบนหลังคาบ้าน และธงนี้จะไม่ถูกชักลง จนกว่าจะสำเร็จโทษผู้ที่สังหาร”

    การชักธงแดง จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) และต้นตระกูลของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และเมื่อท่านศาสดาเป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม วิถีปฏิบัติของท่าน จึงถูกนำมาใช้ในอิสลาม

    ดังนี้แล้ว “ธงแดง” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ “ธงรบ” ของอิสลาม โดยเฉพาะในนิกายชีอะฮ์ อันเป็นแนวทางที่ “สืบเนื่องมาจากบานีฮาชิม” ซึ่งจะมีการเทิดเกียรติ มอบความรัก และแสดงความเคารพเป็นพิเศษไปยังครอบครัว วงศ์วาน และตระกูลของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)

    ที่มาของ “ธงดำ”

    ในกรณีของ “ธงดำ” ที่หลายคนอาจสงสัยและสับสนกับธงสีแดงนั้น ซัยยิดสุไลมานชี้แจงว่า “ธงดำ เป็นธงแห่งการไว้ทุกข์”

    “ธงดำ คือ ธงแห่งการไว้ทุกข์ – ตามความเชื่อของมุสลิมชีอะฮ์นั้น ระบุว่า อิมามมะฮ์ดี อ. (อิมามท่านสุดท้าย) จะมาชักธงนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านปรากฏ

    กล่าวคือ ธงนี้เคยถูกชักอย่างยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อท่านอิมามฮูเซน(อ) ถูกสังหาร ณ แผ่นดินกัรบาลา ในคราวนั้น คนของบานีฮาชิม ได้ทำการชักธงดำขึ้นทั้งหมด เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในยุคหลังการจากไปของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)แล้วนะครับ ซึ่งได้มีการชักธง ทั้งธงสีดำ และธงสีแดง ตามบ้านเรือนของบนีฮาชิม จนกระทั่ง นำไปสู่ขบวนการล่าสังหารบรรดาตัวการ ที่มีส่วนร่วมในการสังหารท่านอิมามฮูเซน(อ) หลังจากได้สังหารตัวการทั้งหมดแล้ว ธงนี้จึงถูกชักลง เก็บไว้ครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การชักธงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน นั่นคือ สำหรับครั้งนี้”

    ซัยยิดสุไลมานอธิบายถึงเรื่องความเชื่ออิมามมะฮ์ดีว่า “เกี่ยวกับอิมามมะฮ์ดี (อ.) นะครับ เป็นความเชื่อที่มีอยู่ในทุก ๆ ศาสนา โดยในศาสนาพุทธ จะเรียกว่า การเชื่อในพระศรีอารย์ ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลักการก็คือ การเชื่อในผู้มาโปรด ซึ่งความเชื่อนี้ ก็มีทั้งในศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู รวมถึงในศาสนาโซโรอัสเตอร์ก็มี อันนี้ผมศึกษาทุก ๆ ทุกความเชื่อในแต่ละศาสนามาแล้ว ซึ่งหมายถึงโลกทั้งโลกที่มีศาสนา โดยเฉพาะศาสนาที่เป็นเทวนิยม จะมีความเชื่ออันหนึ่งร่วมกัน คือการเชื่อในผู้มาโปรด โดยมุสลิมก็มีความเชื่อนี้เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่จะมาโปรดโลก และนำความยุติธรรมมาสู่โลก ดั่งที่ว่ามานี้ มุสลิมจะเรียกเขาว่า อิมามมะฮ์ดี ขณะที่ชาวพุทธ จะเรียกว่า พระศรีอารย์ หรือพระศรีอริยเมตไตรย์ และในฮินดู โซโรอัสเตอร์ คริสต์ หรือยิวก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีลักษณะที่เหมือนกัน คือเป็นผู้มาโปรดโลก นำความยุติธรรม และความสงบสุขมาสู่โลก”

    นี่เป็นความเชื่อโดยหลัก อย่างไรก็ดี มุสลิมจะมีความเชื่อ และรายละเอียดที่สมบูรณ์มากเกี่ยวกับผู้มาโปรดโลกผู้นี้ ขณะที่นิกายชีอะฮ์ (12 อิมาม) จะมีรายละเอียด(เกี่ยวกับความเชื่อนี้) มากกว่ามุสลิมอื่น ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อที่นำมาเป็นหลักการปฏิบัติ และนำไปสู่การปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี

    ฟังให้ดีนะครับ ตรงนี้สำคัญมาก การปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี นำอิหร่านเข้าสู่การเป็นรัฐอิสลาม เพื่อวางรากฐาน สำหรับการกลับมา(ปรากฎ)ของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) โดยมีองค์ประกอบหลัก ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและจัดตั้ง กองทัพพิเศษเพื่อสนับสนุนพันธกิจของอิมามมะฮ์ดี อย่างเช่น กองกำลังอัลกุดส์ ที่มีท่านนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ที่ถูกสังหารคนนี้ เป็นผู้บัญชาการ และท่านเองก็เคยออกมาพูดบ่อยๆว่า ท่านกำลังทำงานรับใช้อิมามมะฮ์ดีครับ

    Wanyamilah S.✍🏻