ปรมัตถ์ แห่งขันติธรรม (ตอนที่ 2)

66

ประเภทของการชี้นำ

อัลกุรอานคือคัมภีร์ที่ทรงประทานทางนำแก่มวลมนุษยชาติ ทางนำ (ฮิดายะฮฺ) ที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้น มี 2 ประเภท

การฮิดายะฮฺประเภทที่ 1 “เป็นการฮิดายะฮฺโดยทั่วไป” ทุกคนสามารถรับรู้จากคัมภีร์นี้ได้คือ هُدً۬ىلِّلنَّاسِ   หนึ่งในคุณลักษณะของ อัลกุรอานนั้นคือ “ฮุดันลินนาซ” มนุษย์ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากคัมภีร์นี้ คำว่า “มนุษย์ทุกคน” ก็ไม่ได้แบ่งแยกศาสนา “ฮุดันลินนาซ” สามารถที่จะชี้นำมนุษย์ ความศรัทธาในศาสนาไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการที่จะได้รับประโยชน์จากพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน เพราะบางครั้งมนุษย์ที่ไม่ได้ศรัทธาในศาสนา ไม่ได้ศรัทธาในเอกองค์ อัลลอฮฺ(ซบ) กล่าวคือยังไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยซ้ำก็สามารถได้รับประโยชน์ จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้นด้วย เพราะคัมภีร์นี้คือหนึ่งใน คุณลักษณะ هُدً۬ىلِّلنَّاسِ  คือทรงประทานทางนำแก่มวลมนุษยชาติทั้งหมด ถ้าเขาจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

ขอยกตัวอย่างระบบเศรษฐกิจเป็นอุทาหรณ์ มนุษย์คิดว่าเศรษฐกิจแบบใดดีที่สุดสำหรับตน เพราะระบบเศรษฐกิจนั้นแต่ละสำนักต่างก็ถือว่าของตนดีกว่า ไม่สามารถสรุปได้ว่าทุนนิยมดีกว่าสังคมนิยม หรือสังคมนิยมดีกว่าทุนนิยม แต่สำหรับคัมภีร์อัลกุรอานได้ทรงประทานเรื่องนี้เอาไว้หลายโอกาสพอที่จะรวบรวมเป็นหมวดหมู่โดยเฉพาะว่าด้วยเรื่องของดอกเบี้ย (ริบาอฺ)

อัลกุรอานได้ปฏิเสธระบบดอกเบี้ย อัลกุรอานได้ประณามระบบดอกเบี้ย อัลกุรอานชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายการทำลายเศรษฐกิจของระบบดอกเบี้ย อัลกุรอานไม่อนุญาตระบบดอกเบี้ย ถ้าจะรวบรวมทุกๆ โองการที่พูดถึงเรื่องนี้ก็จะได้หมวดหนึ่งว่าด้วยเรื่องของระบบดอกเบี้ย การที่อัลกุรอานปฏิเสธเรื่องนี้นั้นได้บอกเหตุผลถึงความดีความเลวร้ายและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ อัลกุรอานจึงประณามต่อต้านระบบดอกเบี้ยอย่างเด็ดขาดและประกาศว่า “ใครก็ตามที่ยึดระบบดอกเบี้ยเป็นหลักเศรษฐกิจเขาได้ประกาศสงครามกับอัลลอฮฺ(ซบ) และรอซูลของพระองค์” ส่วนรายละเอียดเหตุผลที่ลึกซึ้งเป็นหน้าที่ของ ผู้ศรัทธาจะต้องเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์เอาเอง

แม้แต่เรื่องของการอุปโภค บริโภคประจำวันของมนุษย์ พระองค์ได้ทรงประทานทางนำเอาไว้เช่นเดียวกันตัวอย่าง เช่น การบริโภคเนื้อสัตว์อันใด ฮาลาล…… อันใดฮะราม…… เนื้อหารายละเอียดนั้นมีการอธิบายเหตุผลเอาไว้อย่างชัดเเจ้ง บ้างมีรายละเอียดโดยตรง บ้างก็คงเป็นรหัสยะที่ต้องศึกษาค้นคว้า สำหรับมนุษย์บอกแต่รวมความว่าควรบริโภคอย่างไรจึงจะเป็นหลักโภชนากการที่ดีที่สุดแก่มวลมนุษยชาติ!!!!

วัฒนธรรมการแต่งกายก็ได้ทรงประทานเรื่องนี้เอาไว้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างการแต่งกายของสตรีมุสลิมเมื่อถึงวัยอันควรแล้วมีความจำเป็นจะต้องแต่งกายอย่างมิดชิด…… สวยงาม…… รายละเอียดมนุษย์ก็จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เอาเองเช่นเดียวกัน แต่โดยรวมเป็นประโยชน์และเป็นคุณต่อมนุษย์ทั้งสิ้น นี่คือตัวอย่างสั้นๆ ของฮิดายะฮฺประเภทที่ 1

ฮิดายะฮฺประเภทที่ 2 คือ “ฮิดายะฮฺคอศ” เป็นฮิดายะฮที่ชี้เฉพาะเจาะจงในเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ความศรัทธาเป็นเงื่อนไขหลัก เพราะถ้าขาดความศรัทธาแล้ว มนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงฮิดายะฮฺส่วนนี้ได้ พระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน เรียกฮิดายะฮฺประเภทนี้ว่า هُدً۬ى لِّلۡمُتَّقِينَ

ตั้งแต่เริ่มต้นซูเราะฮฺ อัลบากอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 1 พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยรหัสยะหนึ่งแล้วทรงตรัสว่า

    الٓمٓ   ،   ذَٲلِكَ ٱلۡڪِتَـٰبُ لَا رَيۡبَ‌ۛ فِيهِ‌ۛ هُدً۬ى لِّلۡمُتَّقِينَ

ความว่า “อะลีฟ ลาม มีม ไม่มีความคลางแคลงสงสัยใดๆ ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลกุรอานนี้มีไว้เพื่อนำทางเหล่ามุตตะกีน”

คำว่า “มุตตะกีน” นั้นสูงกว่า “มุสลิม” สูงกว่า “มุอฺมิน”

“มุตตะกีน” คือ มุสลิม มุอฺมินที่มีความยำเกรง มีความศรัทธาอย่างเข้มข้น ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ(ซบ) อย่างสูงส่งจึงจะเรียกว่าเป็นคนที่มี “ตักวา” อัลกุรอานจึงบอกว่ามีไว้เพื่อนำทางเหล่า “มุตตะกีน”

จากการศึกษาพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพบว่า โองการหนึ่งบอกว่า هُدً۬ى لِّلنَّاسِ

อีกโองการหนึ่งบอกว่า  هُدً۬ى لِّلۡمُتَّقِينَ  แสดงว่า อัลกุรอานมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง คือ هُدً۬ى لِّلنَّاسِ  อีกส่วนหนึ่ง คือ هُدً۬ى لِّلۡمُتَّقِينَ ส่วนนี้แหละที่มุสลิมจำเป็นจะต้องศึกษาเรียนรู้ให้ละเอียด ลึกซึ้ง ถ้าเรามุสลิมแค่ไม่บริโภคเนื้อสุกร เนื้อสุนัข แค่นี้แล้วเขาดำรงนมาซ คลุมฮิญาบอย่างนี้ถือว่าเป็นมุสลิมที่ปฏิบัติศาสนาเพียงด้านนอก ปฏิบัติแค่นี้ผู้ปฏิเสธก็สามารถทำได้ เพราะมีผู้ปฏิเสธ ผู้ตั้งภาคีจำนวนมากในปัจจุบันนี้ที่ไม่บริโภคเนื้อสุกร ทั้งนี้เขาไม่ได้ศรัทธาตามหลักศาสนาอิสลาม เพียงแต่เขาเชื่อว่าเป็นการบริโภคที่ไม่เอื้อต่อหลักโภชนาการที่ดี

ถ้ามุสลิมคิดว่าการนับถือศาสนาอิสลามง่ายๆ เพียงด้านนอกก็คงไม่ได้รับประโยชน์ในรายละเอียดลึกซึ้งจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้เลย เพราะครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานล้วนแล้วแต่ต้องอรรถาธิบายถึงคุณประโยชน์จำเป็นต้องอาศัยผู้รู้แนะนำสั่งสอน และมุสลิมต้องมีความศรัทธาเชื่อมั่นเป็นที่ตั้ง


……………………………………………………………………………………………………………………………………………………… ปาฐกถา เนื่องในวโรกาสต้อนรับเดือนรอมฎอนอันทรงเกียรติ

(บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี)……………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ติดตามอ่านต่อ ปรมัตถ์ แห่งขันติธรรม (ตอนที่ 3)