โอวาทวันนี้ 29/05/2560

52

นะบูวะห์ (ตอนที่ 15)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● ชุบฮะห์ (ข้อสงสัย) เกี่ยวกับมุอฺญิซาตของศาสดา(อำนาจที่เหนือธรรมชาติ)

● ชุบฮะห์ที่ 1

ตามหลักปรัชญาหรือหลักวิทยาศาสตร์ เรื่องของอิลลัตและมะลูล(หลักเหตุและผล)นั้น เป็นที่ยอมรับว่าทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีอิลลัต(เหตุ) และอิลลัตนี้สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักปรัชญาและวิทยาศาสตร์ อีกทั้งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ แต่การมีอยู่ของมุอฺญิซาต(ปฏิหาริย์ของศาสดา) แน่นอนมนุษย์ไม่สามารถหาอิลลัต(เหตุ)ของการเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้

ดังนั้น เรื่องมุอฺญิซาตจึงเป็นเรื่องที่ทำลายระบบอิลลัตมะลูล(หลักเหตุและผล) และสิ่งที่ทำลายอิลลัตมะลูลนั้น ก็จะถูกปฏิเสธตามหลักปรัชญา เพราะปรัชญาไม่ยอมรับมะลูล(ผล)ที่ไม่มีอิลลัต(เหตุ) และมีความเชื่อว่า มุอฺญิซาตไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามุอฺญิซาตมีจริง มนุษย์จำเป็นต้องยกเลิกกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ (ปรัชญาเรื่องของอิลลัตมะลูล) ออกจากระบบด้วย

คำถาม : เมื่อมีนักวิชาการให้ทัศนะว่า มุอฺญิซาตไม่สามารถหาอิลลัต(สาเหตุ)ของมันได้ เช่นนี้แล้ว เราจะอธิบายสิ่งที่เป็นปฏิหาริย์ทางด้านวิชาการ ที่อยู่ในวิถีทางของมนุษย์ หรืออยู่ในวิถีทางของจักรวาลอันไกลโพ้น และสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตได้อย่างไร

คำตอบ : ถึงแม้ว่าทุกๆสรรพสิ่ง ต้องมี(อิลลัต) คือ มีเหตุของมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์การวางกรอบ วางคำถามที่ผิดมาตั้งแต่แรก แน่นอนย่อมไม่สามารถไปถึงคำตอบที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อคำถามผิด เราจำเป็นต้องขจัดข้อสงสัยนี้ ด้วยการทำลายกรอบที่ผิดที่ถูกวางมาก่อน เพื่ออธิบายความผิดที่ว่า ทุกมะลูล(ผล)จะต้องค้นพบอิลลัต(เหตุ)ตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติของมันนั้น ตรงนี้เพื่อให้รู้ว่า ความจริงแล้วมีอิลลัตแต่เป็นอิลลัตที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่เหนือธรรมชาติ พบว่ามีมากมายที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถค้นพบอิลลัต(สาเหตุ)ของมันได้

จากการค้นคว้า วิทยาศาสตร์สามารถค้นพบอิลลัต(เหตุ)ของมะลูล(ผล)ได้เฉพาะเรื่องที่อยู่ในกฎเกณฑ์ธรรมชาติเท่านั้นเอง ทว่าในความเป็นจริงยังมีสิ่งที่เป็นสาเหตุในการมีอยู่ของมันอยู่เหนือธรรมชาติที่ถูกยอมรับว่ามันมีอยู่จริง ซึ่งสิ่งนี้ ถูกเรียกว่า เรื่องคอริกุลอาดะฮฺ(เรื่องที่เหนือธรรมชาติปกติทั่วไป)

● เรื่องคอริกุลอาดะฮฺ(เรื่องที่เหนือธรรมชาติปกติทั่วไป)

แน่นอนว่า ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ มนุษย์จะคิด สงสัยและพยายามตอบปัญหาเกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว ซึ่งช่วงแรกมนุษย์อาจคิดสัปสน ต่อมาเมื่อมนุษย์ เริ่มใช้สติปัญญา คิดตามหลักเหตุและผลเพื่ออธิบายความจริงของปรากฎการณ์เหนือธรรมชาตินั้นๆ ตรงนี้ที่จะบอกว่า ถ้ารู้หลักการดังกล่าว มนุษย์จะอธิบายปรากฎการณ์นั้นได้ มีการพูดถึงหลักสำคัญๆ ของปรัชญาได้ เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ได้ สามารถที่จะฝึกฝนได้ ซึ่งวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาก็ยอมรับว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง เช่น มนุษย์มีพลังพิเศษบางอย่าง บ้างเป็นเรื่องเวทมนต์คาถา หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่สาเหตุของมันเกิดจากการฝึกฝนพลังจิตต่างๆ และบางครั้งในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีสาเหตุ เพียงแต่บางสาเหตุนั้นๆ มนุษย์ยังไม่สามารถพิสูจน์การเกิดขึ้นของมันได้เท่านั้นเอง

ดังนั้น หากจะกล่าวสรุป การมีอิลลัต(สาเหตุ)ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอิลลัต(สาเหตุ) คือ มีอิลลัตอยู่แต่ยังไม่สามารถค้นพบ และในวันนี้อิลลัต(สาเหตุ)ที่สามารถพิสูจน์ได้นั้นจึงเป็นเฉพาะเรื่องที่อยู่ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้น ในขณะเดียวกันยังมีอิลลัต(สาเหตุ)ที่อยู่เหนือธรรมชาติที่สามารถทำให้เกิดมะลูล(ผล)ปรากฏให้เห็น

เช่นนี้แล้ว ความเชื่อในเรื่องมุอฺญิซาต แน่นอนไม่ได้ขัดกับระบบอิลลัตและมะลูล เพราะสาเหตุของการเกิดขึ้นของมุอฺญิซาตอยู่เหนือกฎธรรมชาติและอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่มนุษย์ยังไปไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่สามารถที่จะถูกพิสูจน์ด้วยกรอบกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติได้นั่นเอง

● ชุบฮะห์ที่ 2

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมีสาเหตุในการเกิดขึ้นของมัน(อิลลัต) และเป็นที่ยอมรับว่า โลกนี้เกิดมาจากระบบ อิลลัตมะลูล และระบบนี้เป็นซุนนะตุลลอฮฺ(แบบฉบับของอัลลอฮฺ) เป็นแนวทางในการสร้างของพระองค์

ตัวอย่าง : ฝน ที่อัลลอฮฺ(ซบ) ได้ทรงให้หลั่งลงจากฟากฟ้า

การที่พระองค์ทรงทำให้ฝนตก แน่นอนพระองค์ต้องให้มีบริบทการเกิดของฝน ฝนจะไม่ตกลงมาทันทีทันใดโดยไม่มีที่ไปที่มา บ่งชี้ว่า ขั้นตอนของมัน คือ ความร้อนได้เผาผลาญน้ำในแม่น้ำและทะเลให้ระเหยเป็นไอลอยขึ้นไปสู่ท้องฟ้า และไอเหล่านั้นได้มารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน หลังจากนั้นกลุ่มก้อนนี้ไปกระทบกับความเย็นบนชั้นบรรยากาศ เมื่อมันไปกระทบกับความเย็นมันจึงจะกลายเป็นน้ำ เมื่อมันเป็นน้ำ มันก็มีน้ำหนักและจะต้องตกลงมาเป็นฝนในที่สุด ซึ่งในอัลกรุอาน ได้บอกไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้

ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 164

إِنَّ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَاخْتِلَافِ اللَّيْلِ وَالنَّهَارِ وَالْفُلْكِ الَّتِي تَجْرِي فِي الْبَحْرِ بِمَا يَنفَعُ النَّاسَ وَمَا أَنزَلَ اللَّهُ مِنَ السَّمَاءِ مِن مَّاءٍ فَأَحْيَا بِهِ الْأَرْضَ بَعْدَ مَوْتِهَا وَبَثَّ فِيهَا مِن كُلِّ دَابَّةٍ وَتَصْرِيفِ الرِّيَاحِ وَالسَّحَابِ الْمُسَخَّرِ بَيْنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَعْقِلُونَ

“แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และเรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และในการให้ลมเปลี่ยนทิศทาง และให้เมฆซึ่งถูกกำหนดให้บริการ(แก่โลก) ผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา”

คำอธิบาย บ่งชี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามอิลลัตมะลูล(สาเหตุและผล) ของมัน

อีกตัวอย่าง การกำเนิดมนุษย์

ในคัมภีร์อัลกุรอาน เกี่ยวกับขั้นตอนการเจริญเติบโต และพัฒนาการของมนุษย์ กล่าวว่า เกิดจากการที่มนุษย์กินอาหารและมันได้ย่อยสลายกลายเป็นเลือด และถูกกลั่นกลองมาเป็น “หยดหนึ่งแห่งน้ำ” นับร้อยๆล้านหยดรวมกัน เรียกว่า เซลล์อสุจิ มันถูกเก็บไว้ที่ไขสันหลังของผู้ชาย
และเมื่อใดก็ตามที่มันได้รับการปฏิสนธิ ถูกผสมกับไข่ที่สุกของผู้หญิงถูกต้องตามหลักทุกอย่างแล้ว หลังจากนั้น มันก็จะเกิดการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์ม ค่อยๆก่อตัวเป็นก้อนเลือดและพัฒนาเป็นทารกต่อไป

เห็นได้ว่า ในการสร้างของพระองค์นั้นอยู่ในระบบ “ซุนนะตุลลอฮฺ”(แบบฉบับของอัลลอฮฺ) ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในซูเราะฮฺ อัลอะฮฺซาบ โองการ 62

سُنَّةَ اللَّهِ فِي الَّذِينَ خَلَوْا مِن قَبْلُ ۖ وَلَن تَجِدَ لِسُنَّةِ اللَّهِ تَبْدِيلًا

“นั้นคือแนวทางของอัลลอฮฺแก่บรรดาผู้ล่วงลับไปแล้วแต่กาลก่อน และเจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆในแนวทางของพระองค์(ซุนนะตุลลอฮฺ)”

คำอธิบาย : โองการดังกล่าวยืนยันว่า แบบฉบับของพระองค์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังนั้น ความเชื่อในมุอฺญิซาตนั้นเท่ากับพูดว่าซุนนะฮฺของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะเรื่องที่เป็นมุอฺญิซาตเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหนือธรรมชาติ จึงไม่มีระบบอิลลัตมะลูล และไม่เป็นไปตามซุนนะฮฺของพระองค์ ในที่นี้ หมายความว่า ไม่มีสาเหตุที่ไปที่มาตามขั้นตอนของมัน

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกสิ่งทุกอย่างของมันมีสาเหตุของมัน(อิลลัต) เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่า การจำกัดอิลลัตและมะลูลให้อยู่ในเรื่องธรรมชาตินั้น ถือเป็นข้อผิดพลาด เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อิลลัต(สาเหตุ)ของมันอยู่เหนือธรรมชาติ พึงตระหนักไว้ว่า ไม่ได้หมายความว่า มันไม่มีสาเหตุ แน่นอนมันมีสาเหตุในการเกิดของมันอยู่ เพียงแต่เรารู้ไม่ถึงเท่านั้นเอง

ดังนั้น เมื่อมันมีสาเหตุ จึงไม่ได้ขัดกับซุนนะฮฺของพระองค์ เพราะอิลลัตของมุอฺญิซาตก็เช่นกัน มันอยู่เหนือธรรมชาติ และอีกคำตอบหนึ่ง การจำกัดสรรพสิ่งให้มีเพียงหนึ่งอิลลัต นับว่าเป็นความผิดตามหลักวิชาการปรัชญา เช่น ตัวอย่างของไฟ คามจริงแล้วไฟโดยตัวของมัน เป็นได้ทั้งอิลลัตและมะลูล

กรณีแรก เราจะพูดถึงไฟในสถานะอิลลัต(สาเหตุ) ซึ่งผลของมันคือความร้อน แต่ถ้าเราจะพูดถึงไฟในสถานะมะลูล (ผล) กรณีนี้ สาเหตุในการเกิดของมัน คือ ออกซิเจนและไฟชนิดนี้ก็ไม่สามารถเกิดจากไนโตรเจนได้ กลับกันไฟที่เกิดมาจากไนโตรเจนก็เช่นกัน มันก็ไม่สามารถที่จะเกิดมาจากอออกซิเจนได้เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อศึกษาสมมติฐานการเกิดของไฟ เห็นได้ว่าบางกรณี ไฟเกิดมาจากออกซิเจน บางกรณีไฟเกิดจากไนโตรเจน บ่งชี้ว่า การเกิดขึ้นของไฟไม่ได้ถูกจำกัดเพียงสาเหตุเดียว หรือบางครั้งไฟอาจจะเกิดมาจากก๊าซอื่นๆมากมายหลายสาเหตุ และเรื่องของความร้อนที่เป็นผลของไฟก็เช่นกัน ความร้อนบางชนิดเกิดมาจากไฟ บางครั้งบางชนิดเกิดมาจากสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ไฟก็ได้ กรณีความร้อน เห็นได้ว่าสาเหตุของมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไฟเพียงอย่างเดียว และเพื่อพิสูจน์ว่าโลกนี้มีสรรพสิ่งมากมาย บางสิ่งเกิดมาจากสาเหตุหนึ่ง และบางสรรพสิ่งก็เกิดมาจากสาเหตุอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น เรื่องของมุอญิซาตก็เช่นเดียวกัน จึงไม่ได้ขัดกับทฤษฎีเหตุและผล

กลับมา กรณีไฟ เรายังพบอีกว่า ไฟบางชนิดเกิดขึ้นจากสาเหตุที่อยู่‘ใน’ธรรมชาติ ไฟบางชนิดเกิดขึ้นจากสาเหตุที่อยู่ ‘เหนือ’ ธรรมชาติ และเป็นที่น่าแปลก จนถึงทุกวันนี้แม้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ บางอย่างนักวิทยาศาสตร์ นอกจากยังไม่สามารอธิบายได้แล้ว พวกเขายังไม่สามารถค้นคว้าหาสาเหตุของมันได้อีกด้วย ตรงนี้ บ่งชี้ว่า ปฐมเหตุหรือสาเหตุไม่ได้ตายตัวและไม่ได้จำกัดแค่ในโลกตามกฎธรรมชาติหรือไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งเดียวเพียงเท่านั้น แต่ยังมีอิลลัต(สาเหตุ)ที่เหนือธรรมชาติรองรับอย่างมากมายเพื่อรอการค้นคว้าให้ได้นั่นเอง

● ชุบฮะห์ที่ 3

การพิสูจน์ความเป็นศาสดาด้วยมุอฺญิซาต (อำนาจที่เหนือธรรมชาติ) คือ หนึ่งในข้อวินิจฉัยความเป็นศาสดา แม้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด ที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปสามารถรู้ได้ ทว่ากลับพบว่าในประวัติศาสตร์และในอัลกุรอาน การแสดงมุอฺญิซาตกลับถูกปฏิเสธจากศาสดาบ่อยครั้ง เห็นได้จากหลายๆครั้งที่มีประชาชาติในยุคท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) ขอให้แสดงมุอฺญิซาต แต่พระองค์กลับลงโองการห้ามไม่ให้ศาสดาสำแดง

คำถาม : การกระทำดังกล่าวเท่ากับศาสดาปฏิเสธความสำคัญของมุอฺญิซาตหรือไม่ และการปฏิเสธการแสดงมุอฺญิซาตเท่ากับเป็นการปฏิเสธความสำคัญของมุอฺญิซาตในการพิสูจน์ความเป็นศาสดาหรือไม่?

ขอยกตัวอย่าง ซูเราะฮฺ อัลยูนุส โองการ 20

وَ يَقُولُونَ لَوْ لَا أُنزِلَ عَلَيْهِ ءَايَةٌ مِّن رَّبِّهِ فَقُلْ إِنَّمَا الْغَيْبُ لِلَّهِ فَانتَظِرُواْ إِنىِّ مَعَكُم مِّنَ الْمُنتَظِرِين

“และพวกเขากล่าวว่า ทำไมอภินิหารจากพระผู้อภิบาลของเขา จึงไม่ถูกประทานมาให้เขา จงกล่าวเถิด (มูฮัมหมัด)(ศ็อล)แท้จริงสิ่งเร้นลับนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พวกเจ้าจงคอยดูเถิด แท้จริงฉันนั้นอยู่กับพวกเจ้าในบรรดาผู้รอคอย”

คำอธิบาย : ท่านศาสดาไม่ได้แสดงมุอฺญิซาตให้พวกเขาดู ซึ่งแตกต่างกับกรณีของท่านศาสดามูซา(อ)ที่พระองค์สั่งให้วางไม้เท้า จากนั้นมุอฺญิซาตก็ได้เกิดขึ้น เพราะไม้เท้าของท่านศาสดามูซา(อ)ได้กลายเป็นงูใหญ่ แต่กรณีของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)นั้น พระองค์สั่งให้รอและไม่อนุญาตให้แสดง

ซูเราะฮฺอัลอันอาม โองการ 109

وَ أَقْسَمُواْ بِاللَّهِ جَهْدَ أَيْمَانهِِمْ لَئنِ جَاءَتهُْمْ ءَايَةٌ لَّيُؤْمِننَُّ بهَِا قُلْ إِنَّمَا الاَْيَاتُ عِندَ اللَّهِ وَ مَا يُشْعِرُكُمْ أَنَّهَا إِذَا جَاءَتْ لَا يُؤْمِنُون

“และพวกเขาได้สาบานต่ออัลลอฮฺหนักแน่นอย่างยิ่งว่า ถ้าหากมีสัญญาณ(อภินิหาร)มายังพวกเขา พวกเขาจะศรัทธาเนื่องด้วยสัญญาณนั้น จงกล่าวเถิดโอ้มูฮัมหมัดว่า แท้จริงสัญญาณทั้งหลายนั้นอยู่ที่อัลลอฮฺเท่านั้น ซึ่งการงานของพวกเขาและยังพระเจ้าของพวกเขานั้น คือการกลับไปของพวกเขา แล้วพระองค์ก็จะทรงบอกแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขาจะทำกัน”

คำอธิบาย : โองการนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)ไม่ได้แสดงมุอฺญิซาต(อภินิหาร) เป็นเพราะแท้จริงเมื่อมันมาแล้วพวกเขากลับไม่ศรัทธา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงไม่อนุญาต

คำถาม : ถามว่ามันขัดแย้งกันหรือไม่ ในเมื่อมุอฺญซาตเป็นสิ่งสำคัญในการพิสูจน์ความเป็นศาสดา

คำตอบ : ส่วนมากของโองการลักษณะนี้ เกิดขึ้นหลังจากความเป็นศาสดาของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)ถูกพิสูจน์คุณสมบัติและสัญลักษณ์การเป็นศาสดาทั้งสามประการแล้ว ทั้งด้วยวิธีทางสติปัญญาถึงพฤติกรรมคำสั่งสอนของท่าน ทั้งจากการยืนยันจากศาสดาก่อนหน้าและส่วนมากบรรดาผู้ที่ขอให้ศาสดาแสดงมุอฺญิซาตนั้นเป็นชาวบนีอิสรออีล

ประเด็นนี้ บ่งชี้ว่า พวกเขา(ชาวบนีอิสรออีล)รู้ บาทหลวงของพวกเขาก็รู้มาก่อนแล้ว ที่รู้เพราะพระองค์ได้พิสูจน์ไปแล้วว่า ศาสดาได้กล่าวถึงชื่อ ‘อะห์หมัด’ และมีอูฐสีแดงเป็นยานพาหนะ ปรากฏในคัมภีร์ของพวกเขาล่วงหน้าไว้แล้ว

ในทำนองเดียวกัน ท่านศาสดาอิสลามก็ได้แสดงมุอฺญิซาตต่างๆไปอย่างมากมายแล้วด้วย แต่คนพวกนี้ต่างหาก ที่มาขอแบบล้อเล่น สนุกสนาน บางครั้งมาในรูปแบบเยาะเย้ย ตามอารมย์แบบไม่มีฮิกมะฮฺ ดังกล่าวนี้ พระองค์จึงไม่อนุญาตให้แสดง เพื่อย้ำว่า ตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า มุอฺญิซาตไม่มีความสำคัญ ทว่าสถานการณ์นี้นั้นหมดเวลาที่จะแสดงแล้ว และอัลกุรอานก็มีหลายโองการที่ยืนยันว่า พวกเขาต้องการที่เยาะเย้ยล้อเล่นกับท่านศาสดา ดังนี้

ซูเราะฮฺอัศศอฟฟาต โองการที่ 14

وَإِذَا رَأَوْا آيَةً يَسْتَسْخِرُونَ

“และเมื่อพวกเขามองเห็นสิ่งปาฏิหาริย์พวกเขาก็ชักชวนกันเยาะเย้ย”

โองการที่ 15

وَقَالُوا إِنْ هَٰذَا إِلَّا سِحْرٌ مُّبِينٌ

“และพวกเขากล่าวว่า “นี่มิใช่อื่นใดเลย นอกจากเล่ห์กลอย่างชัดแจ้ง”

เห็นได้ว่า เมื่อมุอฺญิซาตถูกแสดงให้พวกเขาเห็น พวกเขากลับเยาะเย้ย ดังนั้น ในบางครั้ง การแสดงมุอฺญิซาต จึงไม่เป็นสิ่งที่นำมนุษย์เขาสู่ศรัทธาได้เสมอไป

ซูเราะฮฺอัลกอมัร โองการที่ 2

وَإِن يَرَوْا آيَةً يُعْرِضُوا وَيَقُولُوا سِحْرٌ مُّسْتَمِرٌّ

“และเมื่อพวกเขาเห็นสัญญาณ (ปาฏิหาริย์) พวกเขาก็ผินหลังให้และกล่าวว่า นี่คือมายากลที่มีมาก่อนแล้ว”

คำอธิบาย : อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นว่า มีคนจำนวนมากที่เห็นมุอฺญิซาต แต่ผลที่เห็นกลับไม่มีประโยชน์ต่อการนำพวกเขาให้เข้าสู่การศรัทธาหรือเชื่อในศาสดา และถ้ายังแสดงอีก สำหรับพวกเขา จึงเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ถือว่าไม่มีสติปัญญา ไม่มีฮิกมะฮ์ใดๆทั้งสิ้น

ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม ที่ส่งผลในการนำประชาชาติเข้าสู่การศรัทธา เมื่อนั้นการแสดงมุอฺญิซาตก็จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่ไม่มีประโยชน์ พระองค์จึงไม่อนุญาตให้แสดง แต่ถ้าทรงอนุญาตให้แสดง ก็เพียงเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถึงแม้นรู้ว่า แสดงไป ไม่ได้มีประโยชน์อะไร แต่ที่พิสูจน์อีกครั้งก็เพื่อพิสูจน์สำทับว่า ถึงพิสูจน์ไปมันก็ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับพวกเขาอีกต่อไป ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องแสดง “มุอฺญิซาต” อีกในภายหลังนั่นเอง


ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 16)