นะบูวะห์ (ตอนที่ 13)
♡ ความเป็นศาสดา ♡
– ซุบฮะห์(ข้อสงสัย)ในความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดา
● ซุบฮะห์ที่ 8
ซูเราะฮฺ อัลฟัตฮฺ โองการที่ 1-2
إِنَّا فَتَحْنَا لَكَ فَتْحًا مُّبِينًا
“แท้จริงเราได้พิชิตแก่เจ้าซึ่งเป็นชัยชนะอย่างชัดแจ้ง”
لِّيَغْفِرَ لَكَ اللَّهُ مَا تَقَدَّمَ مِن ذَنبِكَ وَمَا تَأَخَّرَ وَيُتِمَّ نِعْمَتَهُ عَلَيْكَ وَيَهْدِيَكَ صِرَاطًا مُّسْتَقِيمًا
“เพื่ออัลลอฮฺ(ซบ)จะได้ทรงอภัยโทษให้แก่เจ้าซึ่งบาปก่อนหน้านี้และที่จะเกิดภายหลังจากนี้และจะทรงให้ความโปรดปรานของพระองค์ครบสมบูรณ์แก่เจ้าและทรงชี้แนะทางแก่เจ้าคือทางอันเที่ยงตรง”
โองการนี้บอกว่า อัลลอฮฺ(ซบ)ทรงอภัยโทษในบาปให้กับท่านศาสดา ทั้งบาปก่อนหน้านี้ และจะได้รับการอภัยในบาปที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
โองการที่ 1 ความว่า “ฉันจะพิชิตให้กับเจ้า ซึ่งเป็นชัยชนะที่ชัดแจ้ง” ซึ่งหากจะไขปริศนาโองการนี้ เบื้องต้นเราต้องศึกษาบริบทของบาปเสียก่อนว่า บาปนี้คืออะไร และความผิดอันนี้คืออะไร ที่เมื่อชนะอันนี้แล้ว ผลของมัน คือ ชัยชนะที่ได้รับการอภัยบาปจากพระองค์
เรื่องราวลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยท่านศาสดามูซา(อ) ถูกไล่ล่า จนต้องอพยพจากอิยิปต์ และศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ก็เช่นกันท่านต้องอพยพ ด้วยเหตุผลดังนี้
ประการที่ 1
เนื่องจากว่า ท่านศาสดา ได้รับคำบัญชาจาก อัลลอฮฺ(ซบ) ให้ประกาศศาสนา และในระหว่างเผยแพร่นั้น ได้โจมตีและทำลายบรรดาเทวรูปและเจว็ดต่างๆ อันเป็นที่สักการะบูชาของชาวมักกะฮฺ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ สำหรับชาวมักกะฮฺ ถือเป็นความผิดที่รุนแรงเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงแสดงท่าทีเกลียดชังและประกาศเป็นศัตรูกับท่านศาสดา ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังลอบสังหารท่านด้วย
ประการ 2
ที่ท่านศาสดาอพยพไปยังมะดีนะฮฺ เนื่องจากว่าท่านไม่สามารถกลับมายังมักกะฮฺได้ เพราะตามทัศนะของมุชรีกีนมักกะฮฺ ถือว่าท่านศาสดาได้กระทำความผิดไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความผิดในมุมมองของพวกมุชริกีนชาวมักกะฮฺนั้น ชัดเจน ไม่ได้หมายถึงการฝ่าฝืนคำสั่งของ อัลลอฮฺ(ซบ) ทว่าเพื่อขจัดข้อคลางแคลง เกี่ยวกับคำว่า “ซัมบุน” บาปในโองการนี้ จึงหมายถึง บาปในทัศนะของชาวมักกะฮฺ พวกเขาถือว่าท่านศาสดา กระทำผิดต่อชาวมักกะฮฺเท่านั้น จึงไม่ได้หมายถึงการละเมิดชารีอัตแต่อย่างใด
ประการ 3
การพิชิตมักกะฮฺครั้งนี้ อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงประทานให้ศาสดามีอำนาจเหนือมุชรีกีนแห่งมักกะฮฺ เป้าหมายเพื่อให้การเผยแพร่ในวันข้างหน้าของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)สมบูรณ์ อีกทั้งเพื่อที่ชาวมุชรีกีนมักกะฮฺจะได้ไม่นำมาเป็นข้ออ้างจากข้อกล่าวหาทั้งหมดอีกต่อไป
● ซุบฮะห์ที่ 9
ข้อสงสัยนี้ อยู่ในซูเราะฮฺอัลอะฮฺซาบ โองการ 37
وَ تخَْشىَ النَّاسَ وَ اللَّهُ أَحَقُّ أَن تخَْشَئه
“เจ้าเกรงกลัวมนุษย์หรือ ในขณะที่อัลลอฮฺ(ซบ)นั้นทรงสิทธิ์กว่าในการที่จะเกรงกลัว”
โองการดังกล่าว พูดกับท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) ซึ่งเมื่อพิจารณา เห็นได้ว่า มันขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของศาสดา แน่นอนว่าศาสดามีความยิ่งใหญ่ไม่สมควรที่จะเกรงกลัวมนุษย์ ทว่าจากโองการนี้บอกว่า ท่านศาสดา(ศ็อล)เกรงกลัวมนุษย์ คือ กลัวมนุษย์เสียเอง ทั้งๆที่พระองค์ทรงสิทธิ์กว่าในการมอบความเกรงกลัว
คำถาม : เหตุใดโองการนี้จึงถูกประทานมายังท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)
คำตอบ : เรื่องราวมีอยู่ว่า ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)มีบุตรบุญธรรมคนหนึ่งชื่อ ‘เซด’ และ ‘เซด’ คนนี้มีภรรยาชื่อซัยหนับ ทว่าด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้เซดได้หย่าร้างกับซัยหนับ
ทีนี้ เรามาเข้าสู่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท่านศาสดา เนื่องจากสภาพสังคมอาหรับยุคก่อนการมาของอิสลาม(ซุนนะฮฺญาฮีลียะฮฺ)ก่อนหน้านี้มีธรรมเนียมหนึ่ง ที่ชาวอาหรับได้ยึดถือกันอย่างจริงจัง ราวกับเป็นกฎหมายของตน คือ “ลูกบุญธรรมจะอยู่ในสถานะเดียวกับลูกที่เป็นทายาทที่แท้จริง”
กล่าวคือ หากบ้านใด ลูกบุญธรรมมีภรรยา ถือเป็นลูกสะใภ้จริง บิดาไม่สามารถที่จะแต่งกับลูกสะใภ้ได้
แต่หลังจากอิสลามปรากฏขึ้นในคาบสมุทรอาหรับ อัลลอฮฺ(ซบ)ต้องการประกาศว่า ธรรมเนียมนี้ไม่ถูกต้องและขัดกับอิสลาม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงบัญชาเสนอยังท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ให้ทำลายธรรมเนียมนี้ โดยสามารถแต่งงาน กับซัยหนับได้
นัยยะนี้ คือ หลังจากซัยหนับหย่ากับเซดและครบอิดดะฮฺแล้ว ท่านศาสดาสามารถเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีและความเช่ือดั้งเดิมอันไม่ถูกต้อง
ประเด็นสำคัญ คือ อัลลอฮฺ(ซบ)ต้องการที่จะทำลายธรรมเนียมญาฮีลียะฮฺนี้ ศาสดาเมื่อได้รับคำแนะนำ ในเวลานั้นท่านยังรั้งรอ เพราะความกลัวอยู่ แต่กลัวในที่นี้ไม่ใช่กลัวมนุษย์ ทว่าในสิ่งที่ท่านกลัวเป็นเพราะซัยหนับ คือสตรีที่มีรูปลักษณ์สวยงามเป็นอย่างมาก และการกลัวฟิตนะฮฺ นี้ อาจจะทำให้บรรดาสาวกที่มีความศรัทธายังอ่อนแอ คิดว่าศาสดาอ้าง อัลลอฮฺ(ซบ)เพียงเพื่ออยากจะได้สตรีที่สวยมาเป็นภรรยา และหากบรรดาสาวกมีความเชื่อว่า สิ่งที่ศาสดาประกาศไม่ได้มาจากอัลลอฮฺ(ซบ) เท่ากับเขามุรตัด(ตกศาสนา) และเหตุผลอีกประการหนึ่ง อาจทำให้สาวกเกิดความกระด้างกระเดื่องและต่อต้าน โดยป่าวประกาศโพทะนากันว่า ที่ท่านศาสดาจะแต่งงานกับซัยหนับนั้น เป็นการทำลายขนมธรรมเนียมประเพณีและทำลายเกียรติบรรพบุรุษความเป็นอาหรับของพวกเขา
ดังนี้แล้ว โองการที่ว่า “เจ้าเกรงกลัวมนุษย์หรือ” นัยยะนี้ คือ การปกป้องเพราะศาสดากลัวว่ามนุษย์จะตกศาสนา(มุรตัด) นั่นเอง
นี้คือความกลัวของศาสดา อย่างไรก็ตาม อัลลอฮฺ(ซบ)ไม่ยินยอม เพราะการทำลายวัฒนธรรมญาฮีลียะห์นี้มีความสำคัญกว่า เพราะหากไม่ทำลายตั้งแต่วันนี้ ธรรมเนียมนี้ก็จะถูกยึดถือต่อไปอีก
ด้วยเหตุนี้ การแต่งงานกับภรรยาของบุตรบุญธรรมที่ได้หย่าร้างกันแล้ว จึงเป็นสิ่งที่อนุญาตจากพระองค์
กรณีสมมุติ หากศาสดาไม่ทำตามคำเสนอของอัลลอฮฺ(ซบ) แน่นอนว่า หลังจากนี้จะไม่มีใครกล้าทำ อีกทั้งจะนำเป็นข้ออ้างว่า แม้แต่ท่านศาสดาเองยังไม่ทำ ดังนั้นเพื่อขจัดซุบฮะฮฺนี้ พระองค์ จึงตรัสว่า “เจ้าอย่ากลัวว่าใครจะตกมุรตัด อัลลอฮฺ(ซบ)เท่านั้นที่ควรจะกลัว” และการกลัวในลักษณะนี้ กลับชี้ให้เห็นถึง ความศรัทธาที่เข้มแข็ง และไม่ได้หมายถึงการเกรงกลัวต่อมนุษย์แต่อย่างใด
● ซุบฮะห์ที่ 10
ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ โองการที่ 43
عَفَا اللَّهُ عَنكَ لِمَ أَذِنتَ لَهُمْ
“อัลลอฮฺได้อภัยโทษให้กับเจ้าแล้ว เพราะเหตุใดเล่าเจ้าจึงอนุมัติให้แก่พวกเขา”
โองการนี้บอกว่า ในห้วงที่ท่านศาสดาได้ประกาศสงครามฮุนัยนฺ
ซึ่งถือว่าเป็นสงครามที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับโลกอิสลาม ทว่าเพราะต้องเดินทางไกล มุสลิมจำนวนหนึ่งที่มีความอ่อนแอทางศรัทธาและพวกมุนาฟิก ไม่ต้องการที่จะออกสงคราม สาวกกลุ่มหนึ่งได้มายังบ้านท่านศาสดา แล้วกล่าวว่า “โอ้รอซูลุลลอฮฺ อินทผาลัมและองุ่นของเราใกล้จะสุกแล้ว ถ้าเราออกสงคราม ณ เวลานี้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยู่ดูแลสวนของเรา”
เมื่อท่านศาสดาได้ยินดังนั้น ท่านจึงอนุญาตให้ไปเก็บอินทผาลัมและองุ่นก่อน โดยไม่ต้องออกสงครามในครั้งนั้น ไม่เพียงเท่านั้นท่านศาสดายังอนุญาตให้อยู่ในเมือง เพราะกลัวพวกเขาจะตกมุรตัด
เห็นได้ว่า ท่านศาสดา(ศ็อล) มีความพยายามรักษาศาสนาของพวกเขาเอาไว้ก่อน โดยไม่เปิดช่องให้ ซึ่งหากเปิดช่อง พวกเขาต้องตกมุรตัดทันที อีกทั้งเป็นเหตุผลที่ดีเพื่อที่จะรักษาอีหม่านความศรัทธาของพวกเขา ทว่า อัลลอฮฺ(ซบ)ไม่อนุมัติ พร้อมทั้งประทานโองการลงมา ประหนึ่งตำหนิท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)
อีกโองการหนึ่ง ซูเราะฮฺอัตตะรีม โองการ 1
يَأَيهَُّا النَّبىُِّ لِمَ تحَُرِّمُ مَا أَحَلَّ اللَّهُ لَكَ تَبْتَغِى مَرْضَاتَ أَزْوَاجِكَ وَ اللَّهُ غَفُورٌ رَّحِيم
“โอ้ศาสดา ทำไม ทำให้มันเป็นสิ่งต้องห้ามในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงอนุมัติให้แก่เจ้าเพื่อแสวงหาความพึงพอใจบรรดาภริยาของเจ้าเล่า ? และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตา”
เรื่องราวมีว่า ท่านศาสดาไปกินน้ำผึ้งที่บ้านท่านซัยหนับภริยาท่านหนึ่งของท่าน ทว่ารู้ไปถึงหูท่านหญิงอาอิชะฮฺและท่านหญิงฮับเซาะฮฺ ด้วยความอิจฉาที่ท่านศาสดาไปกินน้ำผึ้งที่บ้านท่านซัยหนับ ประกอบกับเกิดความหึงหวงเพราะท่านศาสดารักท่านซัยหนับมาก ท่านหญิงทั้งสองจึงก่อกวน สร้างความไม่พึงพอใจ สร้างความลำบากใจและรำคาญใจแก่ท่านศาสดาเป็นอย่างมาก ท่านศาสดาจึงตัดสินใจว่า ต่อไปนี้จะไม่กินน้ำผึ้งอีก
ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ(ซบ) จึงทรงประทานโองการมาว่า พระองค์ไม่เห็นด้วย พร้อมบอกไม่ต้องใส่ใจและไม่ต้องเอาใจพวกนาง และตรัสว่า
“โอ้ศาสดา ทำไมเจ้าทำให้น้ำผึ้งเป็นสิ่งต้อห้าม ทั้งที่มันเป็นที่อนุญาตแก่เจ้า”
โองการนี้ประทานลงมาประหนึ่งตำหนิท่านศาสดา ทว่าเมื่ออิศมัตของท่านศาสดานั้นสูงกว่าการทำผิด นัยยะ หมายถึง อิศมัตของท่านศาสดาทั้งในเรื่องของความรู้ก็มีความบริสุทธิ์รองรับอยู่
ด้วยเหตุผลนี้ ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)จึงไม่ต้องการให้เกิดการเยาะเย้ยเพราะการเยาะเย้ยจะทำให้เป็นมุรตัด ท่านจึงบอกกับท่านหญิงทั้งสองให้หยุดเยาะเย้ย ถ้าพวกเจ้าสัญญาว่าจะหยุด ฉันก็จะไม่กินน้ำผึ้งอีกต่อไป
อะไรคือปรัชญาของโองการดังกล่าว
จากโองการทั้งสอง อัลลอฮฺ(ซบ)ประสงค์จะบอกว่า ศาสดาองค์นี้รักประชาชาติของท่านมากที่สุด แม้บางกรณี พระองค์ทรงเข้มงวด กลับพบว่า ท่านศาสดาก็ยังรั้งและดึงไว้ เป้าหมายเพื่อให้เกิดผลดีกับประชาชาติของท่านให้ได้มากที่สุด (ยกเว้นในกรณีที่พระองค์ไม่อนุญาต)
ซึ่งหากศึกษาให้ลึกซึ้ง ชัดเจนโองการนี้ไม่ได้ตำหนิแต่เป็นการชมทางอ้อม ซึ่งสำนวนไทยเรียกว่า “ติเพื่อชม” หรือ การชมโดยผ่านการติ ซึ่งการติที่ถือเป็นการชมนี้ เพื่อมุ่งหวังให้สะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น บางครั้งเพื่อที่จะรักษาความศรัทธาของมนุษย์เอาไว้ จึงยอมไม่ให้ออกสงคราม และบางครั้งเพื่อที่จะรักษาความศรัทธาของภรรยาเอาไว้จึงยอมไม่กินน้ำผึ้ง ที่เป็นเช่นนั้น อัลลอฮฺ(ซบ)ประสงค์จะบอกว่า พวกเจ้าโชคดีขนาดไหนที่มีศาสดาแบบนี้ ขนาดพระองค์จะลงโทษแล้ว แต่ศาสดาก็ยังยับยั้งไว้
ชัดเจนว่า ศาสดาองค์นี้คอยช่วยประชาชาติเสมอมา แต่หลังจากที่อัลลอฮฺ(ซบ)ประทานเพื่อชี้ว่าโองการนี้ลงมาเพื่อชมท่านศาสดาเพียงแต่บางโวหารนั้นเสมือนเป็นการติ ภายหลังท่านศาสดาก็ไม่อนุญาตให้ใครหยุดสงคราม เว้นแต่บุคคลที่ได้รับการยกเว้น
ซูเราะฮฺต่อมา คือ ซูเราะฮฺอัชชุอารออฺ โองการ 3
لَعَلَّكَ بَاخِعٌ نَّفْسَكَ أَلَّا يَكُونُواْ مُؤْمِنِين
“บางทีเจ้า(มูฮัมหมัด)เป็นผู้ทำลายชีวิตของเจ้า เพราะพวกเขาไม่เป็นผู้ศรัทธา”
ห้วงที่ท่านศาสดาเผยแพร่อิสลามนั้น ชาวมักกะฮฺส่วนมากยังคงปฏิเสธ ท่านศาสดารู้สึกเสียใจและมีความโศกเศร้าที่ผู้คนปฏิเสธสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ ทั้งๆที่สัจธรรมนั้นมีความชัดเจน แต่พวกเขาเลือกที่จะลงนรก ส่งผลทำให้ท่านศาสดากินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะความเป็นห่วงประชาชาติของท่าน จนกระทั่งอัลลอฮฺ(ซบ)ได้ตรัสห้ามว่า ไม่ต้องไปทุกข์ระทมถึงขนาดนี้ ซึ่งโองการนี้ลงมาห้ามท่านศาสดาเช่นกัน บ่งชี้ว่า เพื่อที่จะชมเชย ชี้ให้เห็นถึงความเมตตาของท่านศาสดานั่นเอง
ซูเราะฮฺฏอฮา โองการ 2
مَا أَنزَلْنَا عَلَيْكَ الْقُرْءَانَ لِتَشْقَى
“ฉันไม่ได้ประทานอัลกุรอานเล่มนี้มาเพื่อที่จะให้เจ้านั้นทุกข์ระทมโอ้มูฮัมหมัด”
เนื่องจากว่าโองการที่ประทานลงมาเป็นสิ่งที่ยากสำหรับบางคนในการปฏิบัติ ดังนั้นเมื่ออัลกุรอานลงมา ยิ่งอัลกุรอาน ถูกประทานลงมาท่านศาสดาก็ยิ่งโศกเศร้ามากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากโองการอัลกุรอานมีความสูงส่งเป็นอย่างมาก ด้วยกับสติปัญญาของมนุษย์ จำนวนหนึ่งอาจไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ จึงเป็นการยากที่จะอธิบายให้มนุษย์ได้รับรู้ ได้เข้าใจถึงเป้าหมายและยอมรับได้
อัลลอฮฺ(ซบ)จึงตรัสว่า “เจ้าอย่าได้โศกเศร้า เอาเท่าที่คนปฏิบัติตาม เพราะเราไม่ได้ประทานอัลกุรอานมาเพื่อให้เจ้าทุกข์ระทม” ดังนี้แล้ว เมื่อใคร่ครวญบริบทของโองการชัดเจนว่า พระองค์ทรงติเพื่อชม เป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นว่าศาสดาองค์นี้มีความรัก มีความเมตตาประชาชาติของท่านอย่างล้นเหลือนั่นเอง
ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 14)