นะบูวะห์ (ตอนที่ 12)
♡ ความเป็นศาสดา ♡
– ซุบฮะห์(ข้อสงสัย)ในความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดา
● ชุบฮะห์ที่ 5 อิศมัตของศาสดาอิบรอฮีม(อ)และศาสดายูซุฟ(อ)
เนื่องจากบรรดาศาสดาเป็นผู้ประกาศและเผยแพร่สาส์นของอัลลอฮฺ(ซบ) ดังนั้น การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในขั้นตอนต่างๆของผู้ถ่ายทอดสาส์นนั้นจำเป็นต้องไม่เป็นที่สงสัย และต้องปลอดภัยจากความผิดพลาดทั้งปวง อีกทั้งต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์
เช่นนี้แล้ว“อิสมัต” จึงเป็นฟันเฟือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหากพิจารณาด้วยสติปัญญา จะเห็นว่า หากบรรดาศาสดาขาดความบริสุทธิ์ “อิสมัต” นี้แล้ว การงานเป้าหมายของพระผู้เป็นเจ้า นอกจากมิอาจบรรลุอย่างสมบูรณ์ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆทั้งระบบตามมาแน่นอน
ดังนั้น ผู้ที่มีความบริสุทธิ์ “อิศมัต” จึงหมายถึง ผู้ที่ดำรงตน ด้วยการไม่ละเมิดชารีอัต(คำสั่งที่เป็นข้อบังคับ)ของ อัลลอฮฺ(ซบ) หรือปลอดภัยจากการทำบาปใหญ่บาปเล็กทั้งปวง และการพูดโกหกก็คือบาปหนึ่งและเป็นบาปใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะการโกหก คือ ฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้หลุดจากความเป็นผู้บริสุทธิ์ “อิศมัต” เช่นกัน
ตัวอย่าง : ซูเราะฮฺอัศ-ศอฟฟาต โองการที่ 89
فَقَالَ إِنِّي سَقِيمٌ
“เขา(อิบรอฮีม)กล่าวว่า แท้จริงฉันไม่สบาย”
คำอธิบาย : ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)กล่าวกับพวกมุชรีกีนที่เชิญชวนท่านออกไปทำชีริกนอกเมืองว่า ฉันไม่สบาย ซึ่งในความจริงท่านสบายดี เมื่อชาวเมืองออกไปเฉลิมฉลองกันหมด ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)เห็นว่าเป็นโอกาสดี จึงได้ทำลายเจว็ด โดยใช้ขวานตัดหัวเจว็ดในเมืองทั้งหมด เหลือแต่เจว็ดตัวใหญ่ที่สุดเพื่อแขวนขวานไว้
ครั้นเมื่อบรรดาชาวเมืองกลับมา พวกเขาก็พบว่า เจว็ดที่พวกเขาเคารพศรัทธาพังพินาศเต็มไปหมด พวกเขาจึงกล่าวถามศาสดาอิบรอฮีม(อ)ว่า “ท่านใช่ไหมที่ทำลายพระเจ้าของพวกเรา”
ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)ตอบว่า “ฉันไม่ได้ทำ พวกเจ้าลองถามเจว็ดตัวใหญ่ดูสิ”
ทั้งๆที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)เป็นผู้กระทำ ทว่าการพูดลักษณะนี้ คือ การโกหกและเป็นบาปใหญ่ ซึ่งขัดกับชารีอัตของ อัลลอฮฺ(ซบ) และเท่ากับว่าขัดกับความบริสุทธิ์ของความเป็นศาสดาหรือไม่
ก่อนจะไปสู่คำตอบ ประเด็นนี้ เรามาดูซูเราะฮฺอัลอัมบียาอฺ โองการที่ 63
قَالَ بَلْ فَعَلَهُ كَبِيرُهُمْ هَٰذَا فَاسْأَلُوهُمْ إِن كَانُوا يَنطِقُونَ
“ศาสดาอิบรอฮีมได้กล่าว่า หามิได้ เจว็ดตัวใหญ่นี่ต่างหากที่ตัดหัวเจว็ดตัวอื่น พวกเจ้าจงถามมันดูถ้ามันพูดได้”
และอีกกรณีหนึ่ง จากเรื่องราวของท่านศาสดายูซุฟ(อ)ความจริงแล้ว ศาสดายะอฺกูบ(อ) บิดาของท่านรู้ถึงความอิจฉาของบรรดาพี่ๆต่างมารดาของท่านมาก่อนหน้าแล้ว ในที่นี้ จะขอยกเหตุการณ์ เมื่อศาสดาซูยุฟ(อ)พบกับ “เบนญามิน” น้องชายร่วมมารดาที่มีจิตใจงดงามเช่นเดียวกับท่าน แต่ด้วยบรรดาพี่ๆต่างมารดา เกิดความอิจฉาริษยาในความรักที่ศาสดายะอฺกูบมอบมายังศาสดายูซุฟ(อ)และเบนญามิน พวกเขาจึงวางกุศโลบายกำจัดศาสดายูซุฟ(อ) เช่นนี้แล้วนบียะอฺกูบ จึงปกป้องคุ้มครองท่านทั้งสองเสมอมา
และแล้ววันหนึ่งศาสดายูซุฟ(อ)ได้หายไป เรื่องราวของท่านเงียบหายไปนาน จนกระทั่งวันหนึ่งท่านได้เป็นถึงเสนาบดีการคลังของกษัตย์แห่งอิยิปต์ ซึ่งในช่วงนั้นเมืองอิยิปต์และเมืองกันอานเป็นเมืองที่ศาสดายะอฺกูบ(อ)และพี่น้องอีกสิบเอ็ดคนของศาสดายูซุฟ(อ)อาศัยอยู่นั้น ประสบความแห้งแล้ง จึงได้พากันเดินทางไปหาเสบียงที่เมืองอิยิปต์
เมื่อบรรดาพี่ๆ มาถึงอียิปต์ ศาสดายูซุฟ(อ)ก็จำพี่ๆทุกคนได้ทันที ในขณะเดียวกันบรรดาพี่ๆ กลับจำท่านไม่ได้ เพราะสำหรับพี่ๆ ไม่มีท่านอยู่ในความทรงจำอีกแล้ว เนื่องจากว่าพวกเขาได้โยนท่านลงไปในบ่อน้ำก่อนหน้านี้มาหลายปีแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสดายูซุฟ(อ) จึงได้วางแผนอย่างสมเหตุสมผลเพื่อที่จะจับตัวเบนญามินไว้ไม่ให้กลับไป วันรุ่งขึ้น ขณะที่กำลังมีการนำเสบียงไปให้แก่กองคาราวานของบรรดาพี่น้องของศาสดายุซุฟ(อ) ในขณะนั้นท่านก็ได้สั่งให้ผู้ติดตามนำถ้วยทองของกษัตริย์ ที่ใช้ในการตวงเมล็ดข้าว ไปใส่ไว้ในกระสอบบินญามินติดไปด้วย เมื่อกองคาราวานของบรรดาพี่ๆเดินทางออกจากเมือง เพื่อมุ่งหน้ากลับไปยังเมืองกันอาน ท่านศาสดายูซุฟ(อ) จึงได้ส่งทหารม้าวิ่งไล่ตามพร้อมร้องตะโกนออกมาว่า “ โอ้ คณะนักเดินทาง พวกเจ้าเป็นขโมย”
ซูเราะฮฺ ยูซุฟโองการที่ 70
فَلَمَّا جَهَّزَهُم بِجَهَازِهِمْ جَعَلَ السِّقَايَةَ فِي رَحْلِ أَخِيهِ ثُمَّ أَذَّنَ مُؤَذِّنٌ أَيَّتُهَا الْعِيرُ إِنَّكُمْ لَسَارِقُونَ
“เมื่อเขาได้จัดเตรียมเสบียงอาหารของพวกเขาให้แก่พวกเขาแล้ว เขาได้ใส่ขันน้ำ ลงในย่ามของน้องชายเขา แล้วผู้ประกาศได้ประกาศว่า ‘โอ้คณะเดินทางทั้งหลายเอ๋ย! แท้จริงพวกท่านเป็นพวกขโมย’ ”
ในโองการต่อมา โองการที่ 71
قَالُوا وَأَقْبَلُوا عَلَيْهِم مَّاذَا تَفْقِدُونَ
พวกเขา(บรรดาพี่น้องของศาสดายูซุฟ(อ)ได้กล่าวพลางหันไปทางพวกเขา(ผู้ประกาศ) ว่า “มีอะไรหายไปจากพวกท่าน?”
โองการที่ 72
قَالُوا نَفْقِدُ صُوَاعَ الْمَلِكِ وَلِمَن جَاءَ بِهِ حِمْلُ بَعِيرٍ وَأَنَا بِهِ زَعِيمٌ
พวกเขากล่าวว่า “ขันน้ำของกษัตริย์หายไปจากเรา และผู้ใดนำมันมาคืนเขาจะได้รับสะเบียงเป็นรางวัลหนึ่งตัวลา และฉันเป็นผู้รับรอง”
คำอธิบาย : เห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวของศาสดายูซุฟ(อ) เป็นการโกหกและเป็นวางแผนใส่ร้ายน้องชายคนเล็ก
ต่อมาบรรดาพี่น้องของศาสดายูซุฟ(อ) ยังได้โต้ตอบว่า “แท้จริงท่านก็รู้ดีว่า เราไม่ได้มาเพื่อสิ่งนี้ เราไม่ได้มาเพื่อก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน”
ทหารที่ตามมา กล่าวว่า ถ้าพวกเจ้าโกหก อะไรคือสิ่งลงโทษที่พวกเจ้าจะได้รับ
พี่น้องของศาสดายูซุฟ(อ) ตอบว่า “บทลงโทษคือ ถ้าพบขันน้ำของกษัตริย์ในเสบียงของใคร ก็ให้จับตัวคนนั้นไป”
ทีนี้ เรามาพิจารณาสิ่งที่ท่านศาสดายูซุฟ(อ)วางแผน เบื้องต้นเรามาศึกษาธรรมเนียมของชาวกันอาน กรณี หากมีการขโมย ผู้ที่ขโมยจะต้องถูกจับไปเป็นทาสของเจ้าของทรัพย์สิน
จากบริบทธรรมเนียมดังกล่าวข้างต้น เป็นเพราะท่านรู้ธรรมเนียมของชาวกันอานดีนี้เอง ดังนั้น เมื่อทหารตรวจค้น ก็พบขันน้ำอยู่ในกระสอบเสบียงของเบนญามิน ซึ่งความจริงเป็นการใส่ร้ายและโกหก
คำถาม การกระทำดังกล่าวนี้ ถามว่า ท่านศาสดาได้หลุดจากความเป็นผู้บริสุทธิ์ “อิศมัต” หรือไม่
คำตอบ คือ กรณีทั้งศาสดาอิบรอฮีม(อ)และศาสดายูซุฟ(อ) คือ หลักในวิชาฟิกฮฺประการหนึ่ง เรียกว่า เตารียะฮฺ ในที่นี้หมายถึง การพูดอย่างหนึ่งแล้วมุ่งไปยังอีกความหมายหนึ่ง หรือ การกระทำอย่างหนึ่งเพื่อมุ่งหวังไปยังอีกความหมายหนึ่ง ในฮุกุ่มของพระองค์นั้นถือว่าไม่ผิด
ดังกล่าวนี้มีมากมายหลายวิธีที่เป็นเตารียะฮฺ และบางอาลิมอุลามาอฺได้ตอบอีกในรูปลักษณะหนึ่ง เช่นในกรณีของศาสดาอิบรอฮีม(อ)ท่านศาสดาได้กล่าวว่า “พระเจ้าตัวใหญ่ของพวกมันเป็นผู้กระทำ พวกเจ้าจงถามมันสิ ถ้าหากว่าพวกมันพูดได้”
หากพิจารณา จะเห็นได้ว่า ประโยคนี้เป็นการตอบที่เป็นเงื่อนไขอยู่ ความว่า “เจว็ดตัวใหญ่นี้แหละทำ ถ้ามันพูดได้” และถ้ากลับประโยคว่า “ถ้าเจว็ดตัวใหญ่พูดได้ มันนั้นแหละทำ”
ดังนั้น กรณีศาสดาอิบรอฮีม(อ) บ่งชี้ความจริงว่า ถึงแม้เจว็ดพูดไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไมได้ทำ และจากตรรกะ คำพูดของศาสดาอิบรอฮีม(อ) เห็นได้ว่า นอกจากท่านไม่ได้โกหกแล้ว ท่านยังมีความระมัดระวังในการพูดและกรณีนี้เพื่อให้ชาวมุชริกีนได้พิสูจน์ด้วยว่า เจว็ดคือพระเจ้าจริงหรือ
กลับมา กรณีของท่านศาสดายูซุฟ(อ) อัลลอฮฺ(ซบ) ตรัส ในโองการที่ 76
كَذَالِكَ كِدْنَا لِيُوسُف
“และเช่นนั้นแหละเราได้วางแผนให้แก่ยูซุฟ”
คำอธิบาย : เรื่องดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เป็นการจัดการ วางแผนโดยอัลลอฮ(ซบ)และสิ่งที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ จะถือว่า ไม่เป็นบาปอย่างแน่นอนและเหตุการณ์ที่เกิดโดยความสมยอมของเบนญามินด้วย
● ชุบฮะห์ที่ 6 ข้อสงสัยว่าด้วยศาสดามูซา(อ)ฆ่าคนตาย
เรื่องราวคือ ท่านศาสดามูซา(อ) เห็นชาวอิยิปต์เจ้าของพื้นที่กำลังข่มเหงชาวบนีอิสรออีล ผู้เป็นทาสในแผ่นดินอิยิปต์อยู่ เมื่อท่านเห็นความอยุติธรรม เช่นนี้แล้วกำหนดอัลลอฮ(ซบ) ต้องเกิดขึ้น ท่านจึงได้ต่อยไปยังชายชาวอิยิปต์คนนั้นเพียงแค่หนึ่งหมัด
ประเด็นคือ หนึ่งหมัดที่ต่อยไปนั้นมีพลังเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้ชายชาวอิยิปต์คนนั้นตายทันที ทว่ารูปการ เท่ากับท่านศาสดา(อ)ได้ฆ่าคนตายไปแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วท่านศาสดาเพียงแค่ปกป้องชาวบนีอิสรออีลเพียงเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิดและข่มเหงเขาแต่อย่างใด
กรณีนี้ ชารีอัตก็ไม่ได้อนุญาตให้ฆ่าด้วย ประกอบกับการฆ่าคนตายนั้นเป็นบาปใหญ่ ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดามูซา(อ)จึงต้องเดินทางออกจากเมืองอิยิปต์ ภายหลังอัลลอฮฺ(ซบ)มีคำสั่งให้ศาสดามูซา(อ)กลับไปยังอิยิปต์เพื่อเริ่มภารกิจเชิญชวนฟิรอูนเข้าสู่การศรัทธา
ทว่าท่านศาสดาได้ตอบกลับยังเอกอัลลอฮฺ(ซบ)ในซูเราะฮฺ อัชชุอารออฺ โองการที่ 14 ความว่า
وَ لهَُمْ عَلىََّ ذَنبٌ فَأَخَافُ أَن يَقْتُلُون
“และพวกเขามีข้อกล่าวหาต่อฉัน ดังนั้นฉันกลัวว่าพวกเขาจะฆ่าฉัน”
คำอธิบาย : หากมีการฆ่าคนตาย ธรรมเนียมในอิยิปต์ต้องทดแทนด้วยกับชีวิต ยิ่งเป็นการฆ่าชาวพื้นเมืองด้วย อีกทั้งศาสดามูซา(อ) เป็นบนีอิสรออีล และชาวบนีอิสรออีลซึ่งในขณะนั้นท่านยังคงเป็นทาสอยู่ในอียิปต์ด้วย
ครั้นเมื่อศาสดามูซา(อ)กลับไปยังอิยิปต์ ฟิรอูนได้กล่าวกับศาสดามูซา(อ)ว่า เราไม่ได้เลี้ยงดูเจ้าหรือในตอนที่เจ้าเป็นเด็ก แล้วทำไมเจ้าได้ฆ่าชาวเมืองของฉัน ทั้งที่ชาวอิยิปต์ได้เลี้ยงดูเจ้ามา แต่เจ้าได้เป็นผู้ที่เนรคุณต่อพวกเขา
และในซูเราะฮฺ อัชชุอารออฺ โองการที่ 20 ต่อมาท่านศาสดามูซา(อ)ได้ตอบว่า
قَالَ فَعَلْتُهَا إِذًا وَأَنَا مِنَ الضَّالِّينَ
เขา (มูซา) กล่าวว่า ฉันได้กระทำมันโดยที่ฉันไม่รู้
คำอธิบาย : การฆ่าคนตายในครั้งนี้ไม่ได้เกิดมาจากความตั้งใจ เพราะท่านศาสดามูซา(อ)ไม่ได้รู้ในพลานุภาพของหมัดนั้นและไม่รู้ถึงผลของมันว่า จะทำให้ถึงแก่ความตาย
ดังนั้น การฆ่าคนตายโดยไม่ได้เจตนาตามหลักชารีอัตไม่ถือว่าเป็นบาปแต่ต้องชดใช้ในความประมาท แต่ถ้ามีเจตนา หลักชารีอัตถือเป็นบาปและต้องชดใช้
และคำว่า “ซัมบุน” บาปในโองการนี้หมายถึง บาปในทัศนะของชาวอิยิปต์ พวกเขาถือว่าท่านศาสดามูซา(อ) กระทำผิดต่อชาวอิยิปต์ เพราะการต่อยคนตายนั้นเป็นบาป ถือเป็นความผิดสำหรับพวกเขา
● ชุบฮะห์ที่ 7
ตัวอย่าง ซูเราะฮฺอัลยูนุส โองการ 94
فَإِن كُنتَ فِي شَكٍّ مِّمَّا أَنزَلْنَا إِلَيْكَ فَاسْأَلِ الَّذِينَ يَقْرَءُونَ الْكِتَابَ مِن قَبْلِكَ ۚ لَقَدْ جَاءَكَ الْحَقُّ مِن رَّبِّكَ فَلَا تَكُونَنَّ مِنَ الْمُمْتَرِينَ
“ถ้าเจ้ามีความคลางแคลงสงสัยใดในสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า ก็จงถามบรรดาผู้อ่านคัมภีร์ก่อนหน้าเจ้าโดยแน่นอนสัจธรรมได้มายังเจ้าแล้วจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า ดังนั้นเจ้าอย่าอยู่ในบรรดาผู้คลางแคลง”
ซูเราะฮฺอัซซะยาดะฮฺ โองการที่ 23
وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوسَى الْكِتَابَ فَلَا تَكُن فِي مِرْيَةٍ مِّن لِّقَائِهِ ۖ وَجَعَلْنَاهُ هُدًى لِّبَنِي إِسْرَائِيلَ
“และโดยแน่นอนเราได้ประทานคัมภีร์แก่มูซา ดังนั้นเจ้า(มูฮัมหมัด)อย่าได้อยู่ในการสงสัยในการพบมันเลย และเราได้ทำให้มัน (คัมภีร์อัตเรารอฮฺ) เป็นแนวทางที่ถูกต้องแก่วงศ์วานของอิสรออีล”
คำอธิบาย : โองการต่างๆเหล่านี้ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) และชี้ว่าศาสดามีความสงสัย ศาสดาเองมีความสงสัยในขณะที่ได้พิสูจน์ไปแล้วว่า แม้แต่ความรู้ของศาสดาก็มีความบริสุทธิ์
คำถาม :โองการอัลกุรอานในลักษณะดังกล่าวขัดกันหรือไม่
คำตอบ คือ หนึ่งในหลักของการอรรถธิบายอัลกุรอานที่เป็นที่ยอมรับทั้งซุนนีทั้งชีอะฮฺ เพื่อให้เข้าใจลักษณะการสื่อ เมื่อนำมาเปรียบสำนวนไทยที่ใกล้เคียงที่สุด เราเรียก “ตีวัวกระทบคลาด” หมายถึงพูดกับบุคคลหนึ่งเพื่อที่จะสอนกับอีกบุคคลหนึ่ง
โองการนี้ได้ประทานลงมาให้ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) เป้าหมายเพื่อเตือนมุสลิมทุกคน เป็นการพูดผ่านท่านศาสดา ประเด็นนี้ในสำนวนอาหรับ เรียก “การทุบกำแพง” จุดประสงค์เพื่อให้คนได้ยินเสียงทุบกำแพง ทว่าไม่ได้หมายถึงการทุบกำแพงแต่อย่างใด
ซึ่งหากจะกล่าวโดยสรุปโองการเหล่านี้ อัลลอฮฺ(ซบ)ต้องการที่จะบอกและเตือนมนุษยชาติอย่าได้สงสัยในสิ่งที่ถูกประทานลงมา อย่าได้สงสัยในสัจธรรม และอย่าได้สงสัยความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดา
อีกตัวอย่าง ซูเราะฮฺ อะบะซะ โองการที่ 1
عَبَسَ وَتَوَلَّىٰ
เขา (มุฮัมมัด) ทำหน้าบึ้ง และผินหน้าไปทางอื่น
ซูเราะฮฺ อะบะซะ โองการที่ 2
أَن جَاءَهُ الْأَعْمَىٰ
“เมื่อคนตาบอดมาหาเจ้าหรือ”
คำอธิบาย : แน่นอนว่าโองการในอัลกุรอานลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก ทว่าที่ยกตัวอย่างมานั้น เพียงให้ใช้สติปัญญาใคร่ครวญ เพื่อทำความเข้าใจว่า ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด ทว่าอัลลอฮฺ(ซบ)ต้องการที่จะตำหนิบุคคลอื่น โดยวะฮฺยูตำหนิผ่านท่านศาสดา(ศ็อล) เป้าหมายที่พระองค์ประทานโองการลงมาเพื่อให้ท่านศาสดาประกาศให้มนุษย์รู้พระประสงค์ของพระองค์นั่นเอง
ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 13)