โอวาทวันนี้ 07/05/2560

360

นะบูวะห์ (ตอนที่ 11)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

– ชุบฮะห์(ข้อสงสัย)ในความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดา

● ชุบฮะห์ที่ 3

ในคัมภีร์อัลกรุอานมีโองการจำนวนหนึ่ง ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา เช่นโองการที่กล่าวถึงไชฏอนมารร้ายไม่สามารถเข้ามามีอำนาจเข้ามาหลอกลวง ล่อลวงและยุแหย่บ่าวที่เป็น “มุคละศีน” (บุคคลที่ถูกขัดเกลาให้บริสุทธิ์) ได้ แต่ทำไมในบางโองการกลับพบว่าบรรดาศาสดาได้รับคำสั่งจากอัลลอฮฺ(ซบ)ว่า อย่าให้ไชฏอนล่อลวงเจ้า หรือในกรณีหนึ่งมีโองการที่ว่าด้วยไชฏอนเคยล่อลวงศาสดาอาดัม(อ)มาแล้ว

คำถาม : กรณีต่างๆเหล่านั้นขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของศาสดาหรือไม่ ดั่งตัวอย่างที่ปรากฏในโองการต่างๆ ดังต่อไปนี้

ซูเราะฮฺอัลฮัจญฺ โองการที่ 52

وَ مَا أَرْسَلْنَا مِن قَبْلِكَ مِن رَّسُولٍ وَ لَا نَبىٍِّ إِلَّا إِذَا تَمَنىَّ أَلْقَى الشَّيْطَنُ فىِ أُمْنِيَّتِهِ

“และเราไม่ได้ส่งศาสนทูตและศาสดาคนใดมาก่อนหน้าเจ้า เว้นแต่เมื่อเขาหวังตั้งใจ ไชฏอนก็จะเข้ามายุแหย่ให้หันเหออกจากความหวังของพวกเขา”

คำอธิบาย : โองการดังกล่าว พระองค์ทรงตรัสกับศาสดามุฮัมมัด(ศ็อล)ว่า ทุกครั้งที่ส่งศาสดาลงมา ไชฏอนจะเข้ามายุแหย่ ทำให้ความหวัง ความตั้งใจของศาสดาเหล่านั้นหันเหและอ่อนแอลง อีกทั้งยังถูกไชฏอนบั้นทอนความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งหากพิจารณาบริบทนี้ จะเห็นว่า แม้แต่บรรดาศาสดาก็ต้องเผชิญหน้ากับไชฏอนเช่นกัน ดังนั้นแล้ว เพื่อให้ศาสดาบรรลุสู่ความสูงส่ง เขาจึงต้องผ่านกระบวนการทดสอบต่างๆนานา

ซูเราะฮฺศอศ โองการที่ 41

وَ اذْكُرْ عَبْدَنَا أَيُّوبَ إِذْ نَادَى رَبَّهُ أَنىِّ مَسَّنىَِ الشَّيْطَانُ بِنُصْبٍ وَ عَذَاب

“และจงรำลึกถึงบ่าวของเราอัยยูบเมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระผู้อภิบาลของเขาโดยกล่าวว่า ไชฏอนได้ทำให้ฉันได้รับความเหนื่อยยากและความทรมาน”

คำอธิบาย : ไชฏอนมีส่วนทำให้ศาสดารู้สึกเหนื่อยท้อแท้ในเรื่องศาสนา ท่านจึงได้อุทธรณ์ยังพระองค์ว่าไชฏอนทำให้ฉันเหน็ดเหนื่อยและทรมาน ประหนึ่งว่าไชฏอนยังเข้ามาครอบงำได้อยู่

ซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ โองการที่ 27

يَابَنىِ ءَادَمَ لَا يَفْتِنَنَّكُمُ الشَّيْطَانُ كَمَا أَخْرَجَ أَبَوَيْكُم مِّنَ الْجَنَّة

“โอ้ลูกหลานของอาดัม(อ) จงอย่าให้ไชฏอนหลอกลวงพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มันได้หลอกลวงพ่อแม่ของพวกเจ้า(อาดัมกับฮาวา)ออกจากสวรรค์มาแล้ว”

คำถาม : โองการดังกล่าวบ่งบอกว่าท่านศาสดาอาดัม(อ)ถูกไชฏอนหลอก มันขัดกันหรือไม่ ที่บางโองการกล่าวว่ามุคละศีนนั้น ไชฏอนไม่สามารถล่อลวงได้

ซูเราะฮฺฏอฮา โองการที่ 121

وَ عَصىَ ءَادَمُ رَبَّهُ فَغَوَى

“และอาดัมได้ละเมิดพระผู้อภิบาลของเขา เขาจึงหลงทาง”

คำธิบาย : อัล-กุรอาน กล่าวถึงชนบางกลุ่มว่าเป็น มุคละศีน (หมายถึงบุคคลที่ถูกขัดเกลาให้บริสุทธิ์) ซึ่งคำว่า มุคละศีน กับคำว่ามุคลิศีน มีความแตกต่างกัน เพราะคำว่า มุคลิศีน หมายถึงบุคคลที่กระทำการงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ

ดังนั้น ชนที่เป็นมุคละศีน จึงเป็นกลุ่มชนที่แม้แต่ไชฏอนมารร้ายก็ไม่อาจลวงล่อให้เขาหลงทางได้ แม้ว่าไชฏอนจะสาบานต่อพระเจ้าว่าจะทำให้ลูกหลานของอาดัม(อ) ทั้งหมดหลงทางยกเว้นกลุ่มชนที่เป็นมุคละศีนก็ตาม

เช่นนี้แล้ว หากพิจารณาคำตอบของชุบฮะห์ทั้งหมด จากโองการต่างๆเหล่านี้ กลับพบว่าไม่มีโองการใดที่พิสูจน์และบ่งชี้ว่า ศาสดาได้ฝ่าฝืนละเมิดคำสั่งที่เป็นชารีอัต(ข้อบังคับ)ของอัลลอฮฺ(ซบ) และยังพบว่า ที่ไชฏอนหลอกลวงศาสดานั้นเป็นแค่เพียงการหลอกลวงให้ฝ่าฝืนคำสั่งที่ไม่ใช่ชารีอัต(ไม่เป็นข้อบังคับทางศาสนา)เพียงเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ปรากฏนี้ถือว่าไม่ได้มีความผิดบาปแต่อย่างใด และไม่ได้หมายถึงการหลงทางออกจากชารีอัต และไม่ได้ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ “อิศมัต”อีกด้วย

หากจะกล่าวโดยสรุป สำหรับผู้ที่เป็น “มุคละศีน”นั้น ชัดเจนว่า นอกจากไม่ขัดแย้งแล้ว ไชฏอนยังไม่สามารถหลอกหลวงได้ จริงอยู่ถึงแม้ไชฏอนจะเป็นศัตรูที่น่าสะพรึงกลัว แต่ก็มิได้มีอำนาจเหนือบรรดาศาสดาแต่อย่างใด

ทว่าสิ่งชี้ชัด ที่ทำให้มนุษย์ออกจากความบริสุทธิ์ได้นั้น คือ การทำบาป การละเมิดสิ่งที่เป็นชารีอัต(ข้อบังคับทางศาสนา) ต่างหาก

ดังนั้น เมื่อพิจารณาบริบทอย่างถ่องแท้ จะพบว่า การยุแหย่ของไชฏอนนั้นเพียงแต่ทำให้การพัฒนาของศาสดานั้นล้าช้าลง หรือบางกรณีทำให้ศาสดาเหน็ดเหนื่อยเพิ่มขึ้นเพียงเท่านั้น ประกอบกับพระองค์ทรงปกป้องไว้ล่วงหน้า โดยตรัสในอัลกรุอานว่า ทุก ๆ ความผิดนั้นเกิดจากมนุษย์กดขี่ตนเอง

ด้วยเหตุนี้ บรรดาศาสดาทั้งหลาย เมื่อเป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรจากอัลลอฮฺ(ซบ) แน่นอนย่อมจำเป็นต้องบริสุทธิ์จากการกดขี่ทุกประเภทและความผิดทั้งหลายโดยปริยาย

● หน้าที่ต่างๆ(ตักลีฟ)และข้อบังคับทางศาสนาของบรรดาศาสดา

หากพิจารณาตัวบทในอัลกรุอาน ประเด็น หน้าที่ต่างๆ(ตักลีฟ)และข้อบังคับทางศาสนาของบรรดาศาสดา เราพบว่า โองการที่ศาสดาอาดัม(อ)ปฏิบัตินั้น ไม่ได้ปฏิบัติในโลกนี้ อีกทั้งในโลกที่ศาสดาอาดัม(อ)อยู่นั้นยังไม่มีชารีอัต และวันนั้นไม่ได้เป็นคำสั่งของพระองค์ที่เป็นข้อบังคับทางศาสนา ทว่าเป็นเพียงข้อเสนอหรือการชี้แนะที่ดีกว่า(อัมรุลอิรชาดี)

ทีนี้ เรามาศึกษา “ปรัชญาข้อเสนอ” เพื่อทำความเข้าใจตัวแปรของมัน คือ สามารถทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ คำถามต่อมา อะไร คือ สิ่งที่ยืนยันว่าเป็นข้อเสนอเพราะในวันนั้นยังไม่มีคำสั่งที่เป็นชารีอัต (ข้อบังคับทางศาสนา) อาจมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วข้อเสนอของพระองค์ไม่ดีหรือ

คำตอบ แน่นอนว่าดี ทว่าศาสดาอาดัม(อ)กลับไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้น เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็ต้องถูกลดลงมาให้อยู่ในโลกนี้ เพราะสิ่งนั้นเป็นการ “ตัรกุลเอาลา” เป็นเพียงการละทิ้งข้อเสนอที่ดีของพระองค์แต่ไม่ได้มีความผิดทางชารีอัตใดๆ

● ลำดับขั้นความเป็นผู้บริสุทธิ์

ความเป็นผู้บริสุทธิ์มีหลายระดับขั้น ขั้นต่ำสุดของมัน คือ การไม่ทำบาปและระดับสูงสุดของความบริสุทธิ์ คือ แม้แต่ความรู้ก็เป็นความบริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิดผลาดใดๆในที่นี้ หมายถึง การรู้จักอัลลอฮฺ(ซบ)อย่างสมบูรณ์

ทว่า เมื่อพบว่า การดำเนินชีวิตในโลกของศาสดาอาดัม(อ)นั้น มีปมด้อยหนึ่ง ศาสดาจึงถูกลดมาให้อยู่ในโลกนี้ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาสดาบางองค์สูงส่งกว่าศาสดาอีกบางองค์

ซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 253

تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ مِّنْهُم مَّن كَلَّمَ اللّهُ وَرَفَعَ بَعْضَهُمْ دَرَجَاتٍ

“นั้นคือบรรดาศาสดา และเราได้ทำให้บางองค์จากพวกเขาสูงส่งกว่าอีกบางองค์ ในหมู่พวกเขานั้น มีผู้ที่อัลลอฮฺ(ซบ)ตรัสด้วย และได้ทรงยกฐานันดรบางคนในหมู่พวกเขาขึ้นหลายระดับชั้น”

คำอธิบาย : ศาสดาบางองค์ ที่ปฏิบัติตามข้อเสนอขอพระองค์ ในอัลกรุอานมีระบุบางศาสดา แม้แต่ “ตัรกุลเอาลา” (ละทิ้งข้อเสนอของอัลลอฮฺ(ซบ)ก็ไม่ปฏิบัติ แต่การที่ศาสดาองค์หนึ่งมีความประเสริฐน้อยกว่าบางองค์ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะต้องหลุดจาก “อิศมัต” {ความบริสุทธิ์}

● ชุบฮะห์ที่ 4 ความรู้ของศาสดา บริสุทธิ์จริงหรือ

ซูเราะฮฺอัศศอฟฟาต โองการ 159

سُبْحَانَ اللَّهِ عَمَّا يَصِفُونَ

“มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ จากสิ่งที่พวกเขากล่าวอ้าง(สาธยาย)”

ซูเราะฮฺอัศศอฟฟาต โองการ 160

——————
إِلَّا عِبَادَ اللَّهِ الْمُخْلَصِينَ

“เว้นแต่ปวงบ่าวของอัลลอฮฺ ผู้ถูกทำให้บริสุทธิ์”

คำอธิบาย : โองการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ความรู้ของบรรดาศาสดา บรรดามุคละศีนนั้น ก็มีความบริสุทธิ์ แต่ในที่นี้พระองค์ไม่ได้จำกัดแค่ศาสดา ในอัลกุรอานใช้คำว่า “มุคละศีน” ซึ่งเราได้อธิบายเพื่อทำความเข้าใจไปแล้วว่า ศาสดาทุกคนเป็นมุคละศีนแต่มุคละศีนทุกคนไม่ใช่ศาสดา บางมุคละศีนอาจจะเป็น ศิดดีกีน เป็น ศอลิฮีน หรือวะลียุลลอฮฺก็ได้ ซึ่งความรู้ของพวกเขาที่เกี่ยวกับพระองค์ แน่นอนต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องบริสุทธิ์ด้วยเช่นเดียวกัน

● เหตุผลทางสติปัญญาที่บอกว่าบรรดาศาสดาบริสุทธิ์

เบื้องต้นต้องสะอาดบริสุทธิ์จากการกระทำบาปและความผิดต่างๆ เพราะนอกจากบรรดาศาสดาจะมีหน้าที่ในการประกาศวะฮฺยูและสาส์นของพระเจ้าเพื่อสั่งสอนและชี้นำประชาชาติแล้ว ท่านยังต้องรับผิดชอบด้านการอบรม ปรับปรุงสังคมและการเป็นผู้นำ ด้วยการแสดงแนวทางที่ถูกต้อง ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังต้องขัดเกลาจิตวิญญาณมวลมนุษย์ เพื่อไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ในขั้นสุดท้ายด้วย

ฉะนั้น ด้วยกับหน้าที่เหล่านี้ ตัวกำหนดความบริสุทธิ์ของท่าน จึงจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่ถูกเลือกสรรมาอย่างดี กล่าวคือ ต้องดีที่สุด อีกทั้งนอกจากต้องมีความรู้ที่สูงส่งแล้ว ยังต้องมีความสามารถมากที่สุดของสังคมอีกด้วย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้จะเหมาะสมกับบุคคลที่เป็นมนุษย์ผู้มีความสมบูรณ์และมีการยกระดับจิตใจในขั้นสูงสุดเท่านั้น


33

ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 12)