โอวาทวันนี้ 08/02/2560

376

อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 7)

♡ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ♡

ด้วยคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า “ผู้ทรงกามาล” {พระองค์คือผู้สมบูรณ์}หรือพระองค์คือ “ผู้ทรงสัมบูรณ์” {สมบูรณ์ยิ่งเท่านั้นที่เป็นหัวใจหลักในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อความต่อเนื่องแนะนำให้อ่าน “อัลดฺอิลาฮี 6” ที่ผ่านมา

◇ เป้าหมายการสร้างมนุษย์ ◇

พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อให้เคารพภักดีพร้อมกับประทานบทบัญญัติศาสนาข้อสั่งใช้ข้อสั่งห้ามให้มนุษย์พัฒนาตัวตนไปสู่ความสมบูรณ์ ด้วยการรู้จักใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ แยกแยะ ซึ่งหมายถึงการมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในความดีและความชั่ว ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกรุอาน

Holy Quran 30:8

أَوَلَمْ يَتَفَكَّرُوا فِي أَنفُسِهِم ۗ مَّا خَلَقَ اللَّهُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضَ وَمَا بَيْنَهُمَا إِلَّا بِالْحَقِّ وَأَجَلٍ مُّسَمًّى ۗ وَإِنَّ كَثِيرًا مِّنَ النَّاسِ بِلِقَاءِ رَبِّهِمْ لَكَافِرُونَ

“พวกเขามิได้ใคร่ครวญ ในตัวของพวกเขาดอกหรือว่า อัลลอฮฺมิได้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และสิ่งที่อยู่ระหว่างทั้งสอง เพื่อสิ่งอื่นใดเลย เว้นแต่เพื่อความจริงและเวลาที่ถูกกำหนดไว้ และแท้จริงส่วนมากของมนุษย์เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อการพบพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา”

Holy Quran 51:56

وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ

“และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า”

Holy Quran 65:12

اللَّهُ الَّذِي خَلَقَ سَبْعَ سَمَاوَاتٍ وَمِنَ الْأَرْضِ مِثْلَهُنَّ يَتَنَزَّلُ الْأَمْرُ بَيْنَهُنَّ لِتَعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ عَلَىٰ كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ وَأَنَّ اللَّهَ قَدْ أَحَاطَ بِكُلِّ شَيْءٍ عِلْمًا

“อัลลอฮฺผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งเจ็ด และทรงสร้างแผ่นดินก็เยี่ยงนั้น พระบัญชาจะลงมาท่ามกลางมันทั้งหลาย (ชั้นฟ้าและแผ่นดิน) เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้ว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งอย่าง และแท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงห้อมล้อมทุกสิ่งอย่างไว้ด้วยความรอบรู้ (ของพระองค์)”

คำอธิบาย : แท้จริงพระผู้เป็นเจ้า คือ ผู้ทรงรอบรู้ พระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่า อะไรดีทีสุดสำหรับมนุษย์ ซึ่งหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงการรังสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า จะเห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและทุกเรื่องราว ที่พระองค์เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตมนุษย์ ทั้งในเรื่องการสร้าง การทำให้มี สิ่งที่ไม่มีทรงทำให้มี สิ่งที่มีทรงทำให้เร้นหาย การทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิด เป้าหมายของพระองค์เพื่อนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งสิ้น

เมื่อพระองค์มีความประสงค์(อิรอดัต) ที่จะให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด

คำถาม : มนุษย์สามารถพัฒนาตัวตนไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดได้หรือไม่?
คำตอบ : กรณี หากมนุษย์สามารถพัฒนาตัวตนไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดได้ เนื้อหาก็จะไปในรูปแบบหนึ่ง กลับกันหากพัฒนาไม่ได้เนื้อหาก็จะไปอีกรูปแบบหนึ่ง

☆ ตัวอย่างที่ 1 :

สมมติ จะเกิดอะไรขึ้น หากมนุษย์ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่า ความประสงค์ของพระองค์ย่อมไม่มีปรัชญาของเป้าหมาย(ฮิกมะฮ์)

ดังนั้น เมื่อไม่มีปรัชญาของเป้าหมาย”ฮิกมะฮ์”แน่นอนว่า ไม่มีความยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประเด็นนี้ เราได้ทำความเข้าใจไปแล้วในนิยามหนึ่งของความยุติธรรม คือ “การวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะสมที่สุดของมัน” {ความยุติธรรมคือการวางของถูกที่ “ตามนิยามที่ 4”} ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกรุอาน ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 286

“لا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفسًا إِلّا وُسعَها”

“พระองค์จะไม่กำหนดหน้าที่แก่ผู้ใด เว้นแต่ตามศักยภาพและสามารถของเขาผู้นั้น”

คำอธิบาย : หากพระองค์วางสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้ให้มีการพัฒนานั้น ถือเป็นการวางไม่ถูกที่ จึงเป็นสิ่งไม่ยุติธรรม เพราะตามสมมุติฐานข้างต้น(สมมติ)มนุษย์เป็นสิ่งที่พัฒนาไม่ได้ ทว่าพระองค์กลับทรงให้พัฒนา จึงเป็นการวางภาระหน้าที่เกินความสามารถ ซึ่งอัลกุรอาน ได้กล่าวไว้ว่า การกำหนดภาระหน้าที่ที่เหนือความสามารถเป็นการวางภาระหน้าที่ที่ผิดและไม่ยุติธรรม

☆ ตัวอย่างที่ 2 :

สมมติ มนุษย์สามารถพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ได้ แต่พระองค์ไม่สนับสนุน ไม่เปิดโอกาส ไม่ช่วยเหลือใดๆ เช่นนี้แล้วยุติธรรมหรือไม่?
คำตอบ คือไม่ยุติธรรม เพราะอีกนิยามหนึ่งของความยุติธรรม คือ “การให้สิทธิตามที่สิ่งนั้นๆสมควรจะได้รับ”

ดังนั้น การไม่ให้สิทธิตามที่ควรจะได้รับ คือ ความไม่ยุติธรรม รวมไปถึงการไม่ช่วยเหลือ การไม่ชี้นำ การไม่สนับสนุนให้มนุษย์พัฒนาด้วย

เราจะทำการพิสูจน์ว่า มนุษย์ถูกสร้างมาอย่างยุติธรรมหรือไม่ ?
ในที่นี้ เราได้อธิบายไปแล้วในอัดลฺอิลาฮ 4 ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ไปพร้อมๆกับมอบฟิตรัต เพื่อให้มนุษย์สามารถจำแนกแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ซึ่งสองสิ่งนี้นอกจากไม่มีขอบเขตจำกัดแล้วยังสามารถพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้นและยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด การรับรู้และแยกแยะชั่วดี ก็สามารถลงลึกในรายละเอียดและสูงส่งมากขึ้นเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า เมื่อพระองค์มอบสิทธิให้มนุษย์เกิดขึ้นมาได้ พระองค์ก็ให้สิทธินั้นแก่มนุษย์ด้วย กล่าวคือ จะได้รับสิทธิตามที่สมควรได้รับ

◇ อะไร คือ ความหมายของความยุติธรรม ◇

พื้นฐานโดยทั่วไปเมื่อมนุษย์เกิดมา หากใช้วิทยปัญญา {การเลือกทำให้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วดี และไม่นำสู่ความหายนะ}และเหตุผลแล้ว มนุษย์มีสิทธิบอกได้ไหมว่า ไม่ยุติธรรม ประเด็นนี้มนุษย์ไม่สามารถพูดอย่างนี้ได้ คนที่พูดว่าไม่อยากเกิดมา เป็นการพูดที่ไม่มีสติ เพราะปฏิเสธสิทธิ หรือเมื่อได้รับสิทธิ แต่ไม่พึงพอใจต่อสิทธิที่ได้รับ

แน่นอนว่า มนุษย์สามารถพัฒนาไปไกลกว่าที่คิด ทั้งนี้ต้องอยู่ในที่ที่ถูกต้อง อยู่ถูกที่ถูกทาง ทำในสิ่งที่ควรทำ จะต้องเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ต้องพัฒนาไปสู่หนทางที่ถูกต้อง ไปยังจุดที่มนุษย์สมควรอยู่อย่างแท้จริง

ดังนั้น หากพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า มนุษย์เกิดมาด้วยความยุติธรรม อีกทั้งได้รับฟิตรัตติดตัวมาด้วย ทว่าด้วยสติปัญญามนุษย์ต้องพัฒนาด้วยตัวตนของเขา ต้องมีความยุติธรรมกับตนเอง หมายความว่า มนุษย์ต้องใช้สติปัญญาพัฒนาตัวตน ส่วนความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้านั้น พระองค์จะทรงช่วยเหลือ ชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ อนุมานเมื่อมนุษย์พัฒนาตนเอง เท่ากับว่า มนุษย์มีความยุติธรรมต่อตนเอง ส่วนที่พระองค์ทรงชี้นำนั้นเป็นความยุติธรรมของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์

การพัฒนาของมนุษย์ คือ การที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม เหมาะสมกว่าเดิม ในที่นี้ หมายถึง การทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำสิ่งที่นำไปสู่ความสมบูรณ์ และต้องออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการออกห่างจากสิ่งที่ขัดขวางไปสู่การพัฒนา

คำถาม : การพัฒนาโดยตัวของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียวเกิดขึ้นได้หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะมนุษย์ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ปราศจากความช่วยเหลือ การสนับสนุน การชี้นำจากพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ไม่สามารถพัฒนาได้และไม่สามารถเดินในหนทางของการพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการชี้นำ จำเป็นต่อการได้รับทางนำ เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาแล้ว สิ่งใดที่เป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ สิ่งนั้นคือ สิทธิของมนุษย์ การได้รับการชี้นำก็เป็นสิทธิของมนุษย์ พระองค์จึงทรงประทานให้โดยส่งผู้ชี้นำมา

♡ การชี้นำแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ♡

ประเภทแรกคือ ได้รับทางนำและผู้ชี้นำในแนวทางที่ถูกต้อง พร้อมกับส่งผู้ชี้นำมาด้วย ซึ่งหมายถึง การส่งศาสนา คัมภีร์จากฟากฟ้าและบรรดาศาสดามายังมวลมนุษยชาติ

จะเห็นได้ว่า การปรากฏของศาสดา ศาสนาและการประทานคัมภีร์จากฟากฟ้า สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อมาชี้นำมนุษย์ ซึ่งพระองค์ได้ให้สิทธินี้ตามที่มนุษย์ควรจะได้รับ ส่วนคนที่ปฏิเสธศาสนา ปฏิเสธคัมภีร์ ปฏิเสธศาสดา บุคคลเหล่านี้ คือคนที่ปฏิเสธสิทธิของตัวเอง กล่าวคือ เป็นลักษณะของคนที่ไม่มีหรือไม่ใช้สติปัญญา

ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีความสามารถที่จะไปสู่ความสมบูรณ์และมีศักยภาพที่จะพัฒนา แน่นอนว่า พระองค์สนับสนุนอย่างเต็มที่
คำถาม : ทำไมจึงมีมนุษย์จำนวนหนึ่งนอกจากไม่ประสบความสำเร็จแล้วยังไม่มีการพัฒนา และเหตุใดจึงยังมีคนที่ไม่ดีหลงเหลืออยู่?
คำตอบคือ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งพระองค์สร้างมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ด้วยสิทธิอันนี้ที่ทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้รับทางนำและมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งหลงทาง สิทธิอันนี้เรียกว่า “เจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร)”

จะเห็นได้ว่า โดยตัวตนของมนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกพัฒนาหรือเลือกที่จะไม่พัฒนาได้ ทว่าการพัฒนาที่เกิดมาจากการบังคับ โดยที่มนุษย์ไม่มีทางเลือกนั้น ไม่ใช่การพัฒนาอย่างแท้จริง และไม่ยุติธรรมเพราะไม่ได้สิทธิในการเลือก เมื่อพระองค์ให้สิทธิ มนุษย์จึงมีสิทธิที่จะได้รับทางนำ หรือปฏิเสธทางนำก็ได้

ดังนั้น มนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกพัฒนาหรือเลือกที่จะไม่พัฒนา กรณีมนุษย์เลือกพัฒนาตนเอง โดยปฏิบัติตามทางนำ แน่นอนว่า เขามีความยุติธรรมต่อตนเอง ส่วนมนุษย์เลือกที่จะไม่พัฒนา เขาคือ ผู้ที่ปฏิเสธทางนำ จึงเป็นการอธรรมต่อตนเอง ผลที่ตามมาจะนำมนุษย์ไปสู่ความอัปยศ ตกต่ำ และมีบทลงโทษ ส่วนมนุษย์ที่เลือกที่จะพัฒนาตนเอง เขาคือ ผู้ที่ยุติธรรมต่อตนเอง เขาจะได้รับรางวัลและความสำเร็จ

………………………………………………………………………………………………………………………….

555

ติดตามอ่านต่อ อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 8)