โอวาทวันนี้ 31/01/2560

318

อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 1)

♡ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ♡

“อัลอาดิล” {ผู้ทรงยุติธรรม} เป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (ศีฟัต) แต่ทำไมศิฟัตนี้ จึงถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในรากฐานของศาสนา(อูศูลุดดีน)

เหตุผลประการหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งมากที่สุด ในที่นี้การอธิบายความยุติธรรมของพระเจ้านั้น ประเด็นหลักของความขัดแย้ง { เรื่องความดี ความชั่ว และเรื่อง กอดอ กอดัร “การกำหนดสภาวะ” }นั้น ที่มีทัศนะสุดโต่งมีอยู่สองจำพวก และอีกทัศนะหนึ่ง ยึดหลักทางสายกลาง

  • ทัศนะกลุ่มแรก คือ กลุ่ม “อาชาอิเราะฮฺ”

“อาชาอิเราะฮฺ”กลุ่มนี้ มีทัศนะในเรื่อง “กอฎอ กอฎัร” แบบ “ญับรฺ”

แบบ “ญับร” มีความเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีสิทธ์เลือกทำอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างอัลลอฮ์(ซบ)เป็นผู้กำหนด

กลุ่ม”อาชาอิเราะฮฺ” ปฏิเสธเจตนารมณ์เสรีในการเลือก(อิคติยาร)ของมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง โดยอธิบายว่า มนุษย์ไม่มีสิทธิเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดอย่างอิสระเสรี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกกำหนดโดยพระเจ้า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพระองค์เป็นผู้ทรงกำหนดโดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆได้ พวกเขาจึงดำเนินชีวิตไปตามยถากรรม ไม่มีความกระตือรือร้นขวนขวายใดๆ เมื่อมีความเชื่อแบบนี้ พวกเขาก็นำไปสู่การปฏิเสธสิทธิในการเลือกของมนุษย์ (อิคติยาร)

ซึ่งทัศนะนี้ เราได้วิพากษ์และชี้ให้เห็นแล้วว่า แท้จริงมนุษย์มีอิสระเสรีในการเลือก ซึ่งเราได้พิสูจน์ด้วย “อิลมุลฮูศูรี” {ความรู้ที่มนุษย์รู้ได้ด้วยตัวเอง} คือ ความรู้โดยตัวตนของมนุษย์ เขามีสิทธิในการเลือก เป็นความรู้ที่อยู่ด้านในตัวตนของมนุษย์ เป็นความรู้ที่ไม่ต้องมีใครบอกกล่าวสั่งสอน เป็นการรับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆของมนุษย์เอง เช่น ความสุข ความสงบ ความเศร้าโศกเสียใจ ความเบิกบาน ฯลฯ

เรารับรู้ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ด้วยตัวเราเองว่ามันมีอยู่ และในเรื่องของ “อิคติยาร”(อิสระะเสรีในการเลือก)ก็เช่นกัน เรารับรู้ได้ว่าเรามีสิทธิในการเลือก เช่น เมื่อเข้าสู่วัยที่สมควรต่อการแต่งงาน ไม่มีใครมาบังคับให้เราแต่งงานกับใคร หรือกำหนดวันเวลาในการแต่งงาน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง มนุษย์โดยตัวตนของเขานั้น เขารู้ว่าเขามีสิทธิเลือกในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่น เขาเลือกเรียนด้านศาสนาหรือเรียนด้านอื่นๆ ทั้งหมดล้วนมาจากการเลือกอย่างเสรี(อิคติยาร)โดยตัวของมนุษย์

โดยตัวตนมนุษย์รู้ว่า เขามีสิทธิทำสิ่งต่างๆ แต่บางครั้งการที่มนุษย์ไม่สามารถทำบางประการได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะเลือก เขามีสิทธิที่จะเลือก เพียงแต่เขาไม่มีความสามารถเพียงพอ เขายังไม่เข้มแข็งพอในการทำสิ่งนั้นๆ

ดังนั้น เมื่อกลุ่มนี้มีทัศนะปฏิเสธ “อิคติยาร” ความคิดริเริ่มในการจะเปลี่ยนแปลง สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อพวกเขาเชื่อว่า หากจะมีอะไรเกิดขึ้น พระเจ้าก็จะบันดาลให้กับเขา

สมมุติ : บุคคลหนึ่งจะร่ำรวยขึ้นมา พระองค์ก็จะบันดาลให้บุคคลนั้นร่ำรวยขึ้นมา ในประเด็นนี้ มีฮาดิษบทหนึ่งรายงานว่า
“พระองค์จะไม่ทรงกำหนดภาระใดๆนอกจากต้องมีสาเหตุเริ่มของมัน และ”อิคติยาร” ก็เป็น สาเหตุหนึ่ง”

  • ทัศนะที่สอง คือ กลุ่ม“มุฮฺตะซิละฮฺ”

“มุอฺตะซิละฮฺ” มีทัศนะเรื่องในเรื่อง “กอฎอ กอฎัร” แบบ “ตัฟวีฎ”

แบบ “ตัฟวีฎ” มีความเชื่อที่ตัดขาดจากอำนาจการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร)อย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งพิงพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด

สมมุติ : ถ้ามนุษย์เลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลจากการกระทำนั้นๆ พระเจ้าไม่ได้เข้าแทรกแซงเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ คือ เชื่อว่า ต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ปฏิเสธการเป็นผู้กำหนดผลของการกระทำของอัลลอฮ์(ซบ) เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์เสร็จแล้วประองค์จะไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆอีก แต่หากเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์หรือผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น แม้บางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์เลือกกระทำเองแล้วและตั้งใจกระทำอย่างดี แต่ผลลัพธ์ในสิ่งนั้นกลับยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ได้รับผลจากการกระทำนั้นๆตามที่หวังกันทุกคน

ตัวอย่าง :

สมมุติ บุคคลหนึ่ง ขยันขันแข็งในการทำงานอย่างหนักเพื่อหวังความมั่งคั่ง แต่เขาอาจยังคงจนอยู่เหมือนเดิม ไม่ร่ำรวยเหมือนบางคน หากพิจารณาจากตรรกะทั่วไป เหตุเป็นเช่นใดผลของของมันย่อมเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงในชีวิตมนุษย์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

กรณีสมมติฐานข้างต้น บุคคลที่ทำงานหนักกลับไม่ใช่บุคคลที่ร่ำรวยกันทุกคน เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีที่มีความเชื่อในการเลือกและรับผลของมันเองอย่างสมบูรณ์ โดยพระเจ้าไม่ได้เข้าแทรกแซงใดๆ จึงเป็นทัศนะที่ขัดกับความเป็นจริง เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้กลับทำให้ มนุษย์สามารถรับรู้ได้ว่า อำนาจในการเลือกและผลของมันนั้น แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว เพราะอำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของพระองค์ผู้ทรงอภิบาล ทรงควบคุมและทรงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านั้น

  • ทัศนะสายกลาง

ทัศนะนี้ เป็นความเชื่อแนวทางชีอะห์ เป็นทัศนะที่เป็นทางสายกลาง ซึ่งจาก ฮาดิษของอิมามศอดิก(อ) ความว่า

“لاجبرولاتفویض ولکن امر بین الامرین”

“ไม่ใช่ทั้ง”ญับร์”{กลุมที่ปฏิเสธสิทธิเสรีในการเลือกของมนุษย์} และไม่ใช่ทั้ง”ตัพวีฎ”{กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีในการเลือก โดยที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการงานของเขาอีก} แต่ทว่ามันคือเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสอง”

ทัศนะ “ชีอะห์” เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิในการเลือก(อิคติยาร)และกระทำสิ่งต่างๆพร้อมรับกับการเชื่อว่า พระองค์เป็นผู้กำหนดผลของการเลือกของเขา พระองค์เป็นผู้ประทานความสำเร็จ ในสิ่งที่มนุษย์เลือกกระทำ

กลุ่มแนวนี้ปฏิเสธทัศนะที่สุดโต่งของสองกลุ่มข้างต้น โดยอธิบายว่า มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร) ในการกระทำใดๆที่อยู่ภายในกรอบของศาสนา แต่ผลของการเลือกนั้นจะเกิดขึ้นหรือเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับการควบคุมการอภิบาลและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ตัวอย่าง : บุคคลหนึ่งมีความขยันมั่นเพียรในการทำงาน แต่เขาก็จะไม่กล่าวอย่างมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จหรือไม่นั้น พระองค์คือผู้ประทานให้ ดังนั้นแล้ว มนุษย์จึงทำได้เพียงเลือกกระทำหรือไม่กระทำเท่านั้น แต่ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว พระองค์จะให้เกิดขึ้นตามตรรกะและเหตุผล โดยวิถีทางธรรมชาติของโลกสรรพสิ่ง

ข้อสังเกต ชีอะห์เชื่อว่า ก่อนที่ “กอฎอ กอฎัร” จะเกิดขึ้นได้นั้น มันต้องมีปฐมเหตุ (มุก็อดดิมะฮ์) มันต้องมีที่มาที่ไปของมัน ดังนั้นแล้ว หากไม่มีที่มาที่ไป เป็นไปไม่ได้ที่อะไรต่างๆนานาจะเกิดขึ้นได้ และแต่ละปฐมเหตุ {มุก็อดดิมะฮ์} ก็จะนำไปสู่ “กอฎอและกอฎัร” ที่แตกต่างกันไป เมื่อปฐมเหตุ(มุก็อดดิมะฮ์)เปลี่ยน “กอฎอกอฎัร” ของมันก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

ตัวอย่าง : ปฐมเหตุของการเกิดขึ้นของมนุษย์

มนุษย์ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น ผ่านการแต่งงาน ผ่านการปฏิสนธิ กว่าจะโตต้องได้รับสารอาหาร ต้องได้รับปัจจัยต่างๆอย่างมากมายและสุดท้ายกว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ได้นั้นอยู่ที่การทำคลอด หากรอดชีวิตมาได้ก็ออกมาเป็นมนุษย์แต่ถ้าไม่รอดชีวิตก็จบลง เฉกเช่นเดียวกัน “การกอฎอและกอฎัร” ของพระองค์นั้นมีขั้นตอน มีสถานที่ มีเวลา แต่ผลของการกระทำต่างๆเป็นสิทธิของพระองค์ในการกำหนดจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด

ตัวอย่าง : มนุษย์ต้องการเป็นเศรษฐี

ขั้นตอนแรก เขามีสิทธิที่จะเลือกปฐมเหตุ ที่นำไปสู่ความร่ำรวยจนเป็นเศรษฐี คือ การทำงาน เบื้องต้นเขาต้องขยัน ส่วนจะรวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ “การกอฎอกอฎัร”ของพระองค์ ไม่ใช่หวังอยากรวยขึ้นมา แต่กลับไม่ได้ทำอะไรและไม่ต้องทำอะไร ในเมื่อพระองค์กำหนดให้รวยแล้ว พระองค์ก็จะบันดาลให้ร่ำรวยขึ้นมา ความเชื่อแบบนี้นั้นไม่ถูกต้อง และเช่นกันเมื่อมนุษย์ขยันขันแข็งในการทำงาน เพื่อหวังความมั่งคั่ง แต่อาจยังคงจนอยู่เหมือนเดิม ไม่ร่ำรวยเหมือนบางคน ในประเด็นที่มีความตั้งใจทำงาน ขยันขันแข็งแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่ำรวยร้อยเปอร์เซนต์กันทุกคน ต้องตระหนักด้วยว่า พระองค์เป็นผู้ประทานและไม่ประทานความสำเร็จ ในสิ่งที่มนุษย์เลือกกระทำด้วย

ดังนั้น มนุษย์มีสิทธิแค่เลือกในการทำปฐมเหตุต่างๆ พระองค์จะกำหนดไปตามปฐมเหตุที่มนุษย์เลือก พระองค์จะให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ให้ประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับพระประสงค์พระองค์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ให้เกิดขึ้นนั้นมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่

บ่งบอกว่า มนุษย์จะร่ำรวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดของพระองค์ และในเรื่องอื่นๆก็เช่นเดียวกัน มนุษย์มีสิทธิแค่เลือกทำปฐมเหตุ ในการนำไปสู่ความต้องการในด้านต่างๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลของมันจะเกิดไปตามปฐมเหตุนั้นๆ เว้นแต่บางครั้งพระองค์ไม่ให้เกิด มันมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่ และบางครั้งอาจหมายถึง ถ้าพระองค์ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเขา จะส่งผลความไม่ปลอดภัยต่อความศรัทธาของเขา หรืออื่นๆ เพราะพระองค์รู้ว่า การไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการนั้น สำหรับเขามีผลที่ดีมากกว่า

555

ติดตามอ่านต่อ อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 2)