ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ (ตอนที่ 4)

1038

วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ล้วนมีความคลาสสิคในการดำเนินชีวิต

กัรบาลาอฺของท่านอิมามฮุเซ็น(อ) ไม่ได้เกิดกับบุคคลที่สิ้นไร้ไม้ตอก หรือบุคคลที่ผิดหวังในดุนยาหรือครอบครัว แต่ตรงข้ามกัน วีรชนทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีนั้น มาจากครอบครัวที่มีความสุข… มีความผูกพัน บางครอบครัวเพิ่งแต่งงานกับสตรีที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดชีวิต มีรายละเอียดในเรื่องราวต่างๆเหล่านี้อย่างครบถ้วน

พวกเราส่วนมากที่อยากจะพลีนั้น คือ เมื่อหมดหวังกับชีวิต อาจจะเพราะยากจน หรือล้มเหลวในชีวิตครอบครัว หรืออาจจะด้วยเหตุใดก็ตาม เกิดรู้สึกอยากตายขึ้นมาจึงไปพลี แต่ชีวิตครอบครัวของวีรชนกัรบาลาอฺมาจากครอบครัวที่มีความเข้มแข็งในความรักทางด้านดุนยาด้วย อินชาอัลลอฮฺ หากมีโอกาสดีๆ จะอธิบายอย่างสมบรูณ์ในมิตินี้

ในกัรบาลาอฺไม่ใช่เพราะแม่ไม่รักลูก แล้วจึงส่งลูกไปพลี……. ไม่ใช่ภรรยาไม่รักสามีแล้วจึงดันหลังสามี ให้ออกไปตายข้างหน้า…….. หรือไม่ใช่เพราะสามีไม่รักภรรยา แล้วจึงชวนกันไปเผชิญกับความเจ็บปวด ณ แผ่นดินกัรบาลาอฺ………

ในค่ำคืนนี้ จะขอยกเพียงตัวอย่างเดียวจากเมาลาของเราโดยตรง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าท่านอิมามฮุเซ็น(อ) มีความรัก มีความผูกพันและมีความสุขในดุนยาสักเพียงใด

ท่านอิมาม ได้สะท้อนเป็นบทกวีบทหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความรักความผูกพันของท่านที่มีต่อครอบครัว

“……… ขอสาบานด้วยชีวิต ฉันมีความรักในบ้านหลังหนึ่งที่มีสุกัยนา(ลูกสาว)ของฉัน และมีรูบาบ(ภรรยาที่เป็นสุดที่รักฉัน)และพร้อมที่จะจ่ายทรัพย์สิน และเงินทองทั้งหมดเพื่อบุคคลเหล่านี้ และการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องด่างพร้อยแต่ประการใดสำหรับฉัน ………. ”

คำกวีนี้ถูกขับขานที่กัรบาลาอฺ เรามีรายละเอียดว่า มีความรักมีความสุขในการดำเนินชีวิตครอบครัว ถึงขนาดมีการสารภาพความรักที่มีต่อลูกและภรรยาที่แผ่นดินกัรบาลาอฺ…….

เสด็จพลี ด้วยมีรัก

มิใช่ไร้เคหานิวาสถาน
ขอสาบานด้วยสิทธิ์ชีวิตฉัน กี่สาบานไม่พอขอยืนยัน ในความรักของฉันอันตราตรึง
ในบ้านรักหวานฉ่ำทุกค่ำเช้า สุไกนาบุตรสาวอันสุดซึ้ง รักรุบ๊าบล้นยิ่งสิ่งคำนึง
เคหาหนึ่งซึ้งใจหาใดปาน เพื่อรุบ๊าบสุไกนาที่น่ารัก จะทุ่มเทหมดตักในทุกด้าน
ภารกิจสิทธิทุกประการ เหนือทรัพย์ศฤงคารที่ฉันมี ดุจเดียวชุฮาดาผู้มาพร้อม
มีอุ่นอ้อมไอรักเป็นสักขี จากอาชีพการงานอันมั่งมี บ้างเพิ่งจากนารีคืนวิวาห์
หยุดโลกทั้งหลายหมายติฉิน หาใช่คนพลัดถิ่นอนาถา ฮุเซ็น หลานมุฮัมหมัดศาสดา
มิติดค้างดุนยาไร้ราคี หากหวังสุขสุขนักรักในบ้าน หวังเกียรติเกียรติท่านวานวงศ์ศรี
หวังหาทรัพย์ เมดินาก็พอมี แต่มุ่งพลีพิทักษ์ ฮักสัจจา จักเชิญจริงเชิญเท็จเสด็จรู้
เสด็จจึงเสด็จดูให้รู้ว่า เสด็จเหนือเทียมเท็จเสด็จมา เสด็จ กัรบาลาอฺ เสด็จธรรม

บทกวีนี้ ท่านอิมาม(อ) ต้องการจะสื่อสารอะไร ?

คำตอบ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ผู้พลีแห่งกัรบาลาอฺ นั้น คือ ผู้พลีที่มีความคลาสสิกในชีวิต เป็นชีวิตของมนุษย์ปุทุชนธรรมดา คำว่า ฉันรักสองสิ่งนี้ คือ สุกัยนาและรุบาบ และพร้อมที่จะจ่ายทรัพย์สิน และเงินทองทั้งหมดเพื่อบุคคลเหล่านี้ เป็นการรักลูกรักเมียใน ดุนยา และพร้อมที่จะใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด เพื่อสองคนนี้ ลองพิจารณาดูว่า ท่าน อิมามฮุเซ็น(อ) รักครอบครัวมากเพียงใด? และ ผู้พลี ณ แผ่นดินกัรบาลาอฺทุกคนก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดก็มีความสมบูรณ์ในชีวิตของเขาทั้งเรื่องดุนยาและอาคีเราะฮฺ พวกเขาเหล่านั้น ประกาศความรักแบบนี้ ณ กัรบาลาอฺ “และการ กระทำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องด่างพร้อยแต่ประการใดสำหรับฉัน…..”
สมมุติว่า ท่านอิมามฮุเซ็น(อ) ได้ใช้ทรัพย์สินเงินทองอย่างมากมาย เพื่อความสุขของภรรยาและลูกๆ การกระทำนี้ไม่มีใครมีสิทธิ์ตำหนิท่านได้ เพราะนี่คือหน้าที่ของสามีที่ดี

ในปีที่ผ่านมาได้พูดถึงประเด็นหนึ่ง ว่าคนที่มีหนี้สินเป็นชะฮีดที่กัรบาลาอฺไม่ได้……..!!! “ท่านอิมามฮุเซ็น(อ) ให้ฮาบีบ บิน มะซอเฮร ควบม้าไปยังกระโจมของบรรดาศอฮาบะฮฺ เพื่อตรวจสอบว่า ใครที่ยังมีหนี้สินติดค้างต้องเคลียร์ให้หมดเสียก่อน อย่าให้คนที่มีหนี้สินร่วมเป็นชะฮีดกับฉันเป็นอันขาด ทุกคนจะต้องไม่มีข้อด่างพร้อยใดๆทั้งสิ้น….. เพราะวีรกรรมครั้งนี้จะเป็นแบบอย่างสุดท้ายให้กับมวลมนุษยชาติจนถึงวันสิ้นโลก……”

การเป็นชะฮีดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะชะฮีดที่กัรบาลาอฺ คือ บุคคลที่รู้หน้าที่ และรักผูกพันในครอบครัวอย่างแท้จริง บุคคลที่ดำเนินชีวิดไม่มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่ต้องอ้างเรื่อง กัรบาลาอฺ หรือแสดงตนเป็นผู้กล้า

หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าความรักของท่านอิมามฮุเซ็น(อ) มีต่อครอบครัวว่ามากซักเพียงใด หลังจากเหตุการณ์ที่กัรบาลาอฺ เมื่อท่านหญิงรูบาบถูกปลดปล่อยออกมาจากซีเรีย ท่านหญิงไม่ขอ กลับมาดีนะฮฺทันที แต่ขอเฝ้ากุโบร์ของท่าน อิมามฮุเซ็น(อ) เป็นเวลาถึงหนึ่งปี

ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ) ได้อนุญาตและสร้างกระโจมที่พักใกล้ๆกับสุสานของอิมามฮุเซ็น(อ) เพื่อให้ความรักท่วมท้น ที่ภรรยาเช่นท่านหญิงรูบาบมีต่อสามี ซึ่งแน่นอนก่อนนั้น ในการใช้ชีวิตร่วมกัน สามีเช่นอิมามฮุเซ็น(อ) ก็จะต้องเป็นที่รักของภรรยาอย่างมากมาก่อน

ตามที่ได้บอกไปหลายครั้งแล้วว่ากัรบาลาอฺ ไม่ใช่เรื่องของการฟันดาบหลั่งเลือดหรือการพลีเพียงประการเดียว ที่ กัรบาลาอฺยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่เราจะต้องศึกษาในความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ทุกแง่มุม เพราะฉะนั้นท่านอิมามฮุเซ็น(อ) จึงกล่าวบทกวีบทนี้

ซึ่งถ้าเป็นคำพูดของอิมามมะอฺซูม ถึงแม้ว่าจะเป็นบทกวี แต่เราก็ถือว่าเป็นฮะดิษ บทกวีนี้กล่าวถึงว่า ไม่มีใครที่จะตำหนิได้ ถ้าฉันจะใช้ทรัพย์สินเงินทองของฉันมากมายก่ายกองเพื่อครอบครัว..เพื่อสุกัยนา…เพื่อรูบาบ…ก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะตำหนิฉัน…….. นี่เป็นการสะท้อนความรับผิดชอบต่อครอบครัวพูดกันที่กัรบาลาอฺ

อีกประเด็นที่จะขอย้ำ เรื่องการใช้ชีวิต มีนักแสดงมากมายที่ทำตัวเป็นวีรชน ทั้งๆที่เรื่องราวในชีวิตของตัวเองนั้น ไม่ได้พิจารณาดูว่ามันเน่าเหม็นอย่างไร ???? ไม่เคยทบทวน..ไม่เคยพิจารณา ตัวเอง อย่างนี้เป็นชะฮีดไม่ได้……

ท่านอิมามฮุเซ็น(อ) กล่าว ว่า ผู้จะไปเป็นชะฮีดจะต้องไม่มี “ฮักกุนนาส”

ไม่ว่าในลักษณะใด จะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองหรือการซอลิมเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ตาม…..สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่มีในเหล่าบรรดาวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ

กัรบาลาอฺจุลภาค

บุคคลที่พาครอบครัวไปพลีที่กัรบาลาอฺนั้น คือ ครอบครัวของผู้ที่มีความรักซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ เช่นตัวอย่างบทกวีข้างต้น วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ล้วนเป็นบุคคลเช่นนี้ และ อิมามมะฮฺดี(อ) มาปฏิวัติโลกก็เช่นเดียวกัน อิมามมะฮฺดี(อ) ไม่ใช่จะมาไล่ล่าฆ่าฟันมนุษย์ทั้งโลก แต่ท่านอิมาม(อ) จะมาพร้อมกับคำสั่งสอน… มาพร้อมกับวิถีชีวิตที่สมบูรณ์…มา บอกชาวโลกว่า ครอบครัวมุสลิมที่แท้จริงอยู่กันเช่นนี้ สามีภรรยาอยู่กันเช่นนี้ มาสั่งสอนสิ่งต่างๆ เช่นนี้ มนุษย์ทุกคนมีภาระหน้าที่ต่อพระเจ้า…ต่อสังคม…ต่อครอบครัว ซึ่งได้ถูกอธิบายไว้หมดในกัรบาลาอฺ

ถึงแม้นว่าภาพของกัรบาลาอฺ จะโดดเด่นในเรื่องของการหลั่งเลือดก็ตาม แต่กัรบาลาอฺ ก็ยังฉายภาพ…ฉายแสงของความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ในทุกแง่มุมของชีวิตด้วย และ การปรากฏตัวของ อิมามมะฮฺดี(อ) ก็เพื่อต้องการนำพามนุษย์ไปสู่สิ่งนี้เช่นกัน

ดังนั้น สาวกหรือผู้ร่วมอุดมการณ์กับท่านอิมามมะฮฺดี(อ) ก็จะต้องมีวิถีชีวิตแบบนี้ เราจะพบว่า วีรชนบางท่าน ภรรยาเป็นคนเชิญชวน…เป็นคนผลักดันมา เช่น ท่านฮาบีบ มะซอเฮร ช่วงต้นๆขณะอยู่ในเมืองกูฟะฮฺเดินวนไปเวียนมายังตัดสินใจไม่ได้ จนภรรยาของท่านบอกว่า…

“โอ้ …. ‘ฮาบีบ’เจ้ายังมีความสุขกับลูกเมียหรือ ในขณะที่หลานศาสดากำลังถูกปิดล้อมอยู่ที่กัรบาลาอ….. ”

ข้อเท็จจริงนั้น ท่านฮาบีบ พร้อมและเข้าใจพันธะกิจของตนเองแล้ว แต่ต้องการที่จะให้ภรรยาเป็นผู้แสดงออก…….เป็นผู้เชิญชวน เพื่อบ่งชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วมกัรบาลาอฺครั้งนี้ ทุกคนมาร่วมด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับหรือจำยอม เมื่อท่านฮาบีบได้ยินภรรยาถามเช่นนั้น ก็ไม่รีรออะไร ห่อผ้าข้าวของต่างๆพร้อมหมดแล้ว เพียงต้องการเห็นความสมัครใจของภรรยา…….ต้องการจะพิสูจน์จิตวิญญาณของภรรยาว่าห่วงลูกหลานนบีหรือไม่ เท่านั้นเอง

ถ้าเรารอคอยอิมามมะฮฺดี(อ) วันนั้นจะต้องมาถึงอย่างแน่นอน เราอาจจะได้แสดงบทกัรบาลาอฺจุลภาค…… ก่อนการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮฺดี (อ) หรือเราอาจจะมีชีวิตยืนยาว กระทั่งได้แสดงบทกัรบาลาอฺมหาภาค ในวันที่ท่าน อิมามมะฮฺดี(อ) ปรากฏ อินชาอัลลอฮฺ

ขอเสริมเชิงประจักษ์ในประเด็นนี้ เพิ่มอีกสักเล็กน้อย การเกิดขึ้นของกัรบาลาอฺภาคย่อย เป็นเรื่องสำคัญที่จะขาดไม่ได้ การปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงในทั่วทุกมุมโลก เป็นการปูทาง เป็นการสร้างกระแส ให้ชาวโลกหันมาให้ความสนใจ เช่น เกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน หรือการเคลื่อนไหวของฮิซบุลลอฮฺในเลบานอน กระทั่งพัฒนาเป็นกองทัพได้ และยังมีที่กำลังเกิดขึ้นในเยเมน…ในบาห์เรน…ในซาอุดิอาระเบีย และในอิรัก

วันนี้พี่น้องชาวอิรัก เริ่มมีความเข้มแข็งและเข้าใจเป้าหมายในการรำลึกแห่งอาชูรอ…แห่งกัรบาลาอฺ กลุ่ม ‘ยัยชุลมะฮฺดี’ ภายใต้การนำของซัยยิดมุรตะฎอ ศ็อร์ด กำลังพัฒนาเป็น “ฮิซบุลลอฮฺแห่งอิรัก” และถ้าเราติดตามภาพข่าวอะไรต่างๆกองกำลังเหล่านี้ ไม่ว่าจะเคลื่อนพลไปทางไหน เมื่อตั้งแคมป์แล้ว ภารกิจหนึ่งที่พวกเขาจะปฏิบัติทุกวัน คือ การมะตั่ม…… การร้องเพลง….. ไม่ใช่เฉพาะเดือนมุฮัรรอม แต่ก่อนหน้านี้หลายเดือน เพราะพวกเขารู้แล้วว่าจิตวิญญาณแห่งนักสู้……..แห่งการพลี การเป็นทหารที่จะปกป้องแผ่นดิน ณ ปัจจุบันให้พ้นจากภัยร้ายของไอซิสนั้น จะต้องขับกล่อมจิตวิญญาณของเขาด้วยลำนำแห่งกัรบาลาอฺ

………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ เล่ม 2
ค่ำคืนที่ 10 มุฮัรรอม 1436 บรรยายโดย… ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี
………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ติดตามอ่านต่อ ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ (ตอนที่ 5)

ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ (ตอนที่ 5)