เสวนา ปุจฉา-วิสัชนา ตอนที่ 1 ณ มัสยิดอิมามอาลี (อ) อ.ท่าแพ จ.สตูล

1134

เสวนา ปุจฉา – วิสัชนา ตอนที่ 1

เนื่องในวโรกาส วันที่ 1 ซุลฮิจยะฮ์ วันคล้ายวันอภิเษกสมรสของหญิงฟาตีมะฮฺอัซซะฮฺรอ(อ)และท่านอิมามอาลี(อ.)

โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

♔ اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم ♔

السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

อัลฮัมดุลิลละฮ์ ก่อนอื่นขอชูโกรในเนี๊ยะมัตและเตาฟีกต่างๆ
ที่เอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ.)ได้ประทานให้กับพวกเราทุกๆคน โดยเฉพาะเนี๊ยะมัตและเตาฟีกแห่งจิตวิญญาณ เนี๊ยะมัตและเตาฟีกในการทำความเข้าใจศาสนาและนำสู่การได้รับฮิดายัตการชี้นำจากพระองค์ผู้ทรงสูงส่งและยิ่งใหญ่

เบื้องต้นก็จะสรุปให้พี่น้องฟังว่าบทเรียน อิหร่านกับอิสลามของเรา นั้น ถือว่าได้นำเสนอจบแล้ว ซึ่งก็จบอย่างสมบูรณ์อาจมีรายละเอียดปลีกย่อย ก็จะค่อยๆนำเสนอในโอกาสต่างๆ นั้นเมื่อจบบทเรียนแล้ว บทเรียนใหม่ หัวข้อใหม่ก็กำลังคิดอยู่ว่า จะใช้หัวข้ออะไรที่เหมาะสมที่เราจะพูดคุยกันต่อ

ซึ่งเหมาะสมในที่นี้ ก็คือ ทั้งเหมาะสมกับสถานการณ์โดยตรง หัวข้อที่จะทำให้เรานั้นเข้าใจเรื่องราวของศาสนาได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และในโอกาสนี้ซึ่งก็มี 2-3 วโรกาสด้วยกันที่ได้มาเยี่ยมพี่น้อง ณ สถานที่แห่งนี้อีกครั้ง
เรื่องที่หนึ่ง : งานวาลีมะฮ์

สิ่งแรกที่เป็นเหตุให้เรามาเจอกันวันนี้อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากงานวาลีมะฮ์ลูกหลานของเรา เบื้องต้นก็อีกครั้งหนึ่ง ขอให้คู่บ่าวสาวในวันนี้พบกับความบารอกัตความสิริมงคล มีชีวิตในแนวทางแห่งอะหฺลุลเบต(อ.) มีชีวิตครอบครัวเยี่ยงท่านหญิงฟาตีมะฮฺอัซซะฮฺรอ(อ)และท่านอิมามอาลี(อ)ให้ตรงกับวันที่เราอ่าน”อักดฺนิกะฮ์ “

เราได้อ่านอักดุลนิกะฮ์(عقد النکاح)เมื่อวานซึ่งตรงกับวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันอภิเษกสมรสของท่านอิมามอาลี(อ.) ซึ่งก็จะไม่พูดรายละเอียดอะไรมาก ส่วนพี่น้องที่สนใจชีวิตคู่ที่แท้จริง ชีวิตคู่สำหรับทุกคน และที่ไม่ใช่บ่าวสาวในวันนี้ ทั้งคนที่แต่งงานมานานแล้วก็สามารถที่จะปรับปรุงได้

(ขอแนะนำให้อ่านหนังสือ ที่พี่น้องเราได้จัดทำขึ้น คือ นิตยสารอัลอินติซอรฺ )

ผมได้พูดเรื่องของชีวิตคู่ของชาวสวรรค์ เนื่องในวันอ่านอักดฺนิกะห์คู่หนึ่งซึ่งตรงกับวันที่ 1 ซุลฮิจยะฮ์ในปีที่ผ่านมาก็เลยรวบรวมเป็นรูปเล่ม

ท่านอาจารย์สมบูรณ์ สิทธิมนต์ ก็ได้ตั้งชื่อจุลสารนี้ว่า “สยุมพรแห่งสรวงสวรรค์”

ฉะนั้นคนที่ยังไม่แต่งงานนั้นควรอ่านที่สุด คนที่แต่งงานแล้วก็ควรอ่านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อว่าก่อนที่จะจากโลกนี้ไปอาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตครอบครัวของตัวเองให้เป็นครอบครัวของชาวสวรรค์

ชีวิตคู่ในครอบครัวนั้น อิสลามให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ความสำเร็จทางศาสนานั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ แม้ว่าจะสามีหรือภรรยา
ภรรยาก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นภรรยาที่ดีที่สุดที่สมบูรณ์ที่สุด
สามีก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ที่สุด ให้ดีที่สุดตามคำสั่งสอน ตามคำแนะนำของอิสลาม โดยเฉพาะอิสลามที่ผ่านการถ่ายทอดโดยบรรดาอะหฺลุลเบต(อ.)

ชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในศาสนา ก็คือ ชีวิตการครองคู่ของท่านอิมามอาลี(อ)กับท่านหญิงฟาตีมะฮฺอัซซะฮฺรอ(อ) ซึ่งเป็นชีวิตคู่ที่ไม่มีข้อบกพร่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เราจะหาที่ติไม่ได้จากฝ่ายที่เป็นภรรยาอย่างท่านหญิงฟาตีมะฮฺอัซซะฮฺรอ(อ.) และเราก็จะหาที่ติไม่ได้จากผู้ที่เป็นสามีอย่างท่านอิมามอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ(อ)

ดังนั้น จึงควรแก่การศึกษาสำหรับทุกๆคน ความสำเร็จในชีวิตคู่เป็นพื้นฐานหรือจะกล่าวว่าเป็นปฐมเหตุเบื้องต้น ที่จะนำสู่ความสำเร็จทุกๆเรื่องในศาสนา

บางครั้ง ภรรยาถึงแม้นว่าจะมีสามีเป็นนบี หากภรรยานั้นไม่ต้องการที่จะพัฒนาตัวตน การเป็นนบีของสามีก็ไม่ได้มีส่วนช่วยในการที่จะพัฒนาภรรยาได้

บางครั้งสามีที่เป็นชาวนรกอย่างฟิรอูน ความเป็นชาวนรกของสามีก็ไม่ได้ทำให้ภรรยาเป็นชาวนรกด้วย อย่างเช่น ท่านหญิงอาซียะฮ์ภรรยาของฟิรอูน เป็นผู้หญิงที่อัลลอฮ(ซบ.)รับรองสวรรค์ตั้งแต่นางยังไม่ได้จากโลกนี้ไป

ฉะนั้น เนื่องใน 1 ซุลฮิจยะฮ์ และก็เรามาร่วมในงานวาลีมะห์ของลูกหลานของเราก็อยากจะย้ำเตือนสิ่งนี้ ทุกคนไม่ใช่คนที่ยังไม่ได้แต่งงาน หรือคนที่เพิ่งแต่งงาน คนที่แต่งงานแล้วมีลูกมีหลานแล้วก็ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องชีวิตคู่อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เป็นความลับของความสำเร็จ
ในเรื่องอื่นๆของศาสนา
เรื่องที่สอง : บทเรียน “อิหร่านอิสลาม”

ตามที่ได้บอกไปในช่วงต้น เราได้นำเสนออย่างสมบูรณ์แล้ว บทเรียน “อิหร่านอิสลาม” นั้นถือว่าเป็นเนื้อหาที่ทรงคุณค่าอันหนึ่งที่พี่น้องจะต้องทบทวนและให้ความสำคัญ ก่อนที่ท่านเชคมาลิกีมัรฮูมของเราจะจากไป ท่านได้ทำเป็นจำนวนพอสมควรในการรวบรวมเป็นรูปเล่ม เหลือแต่รายละเอียดอื่นๆซึ่งก็ได้มอบหมายให้บุคคลอื่นได้ทำต่อ และคิดว่า อินชาอัลลอฮ คงจะรวบรวมเป็นรูปเล่มขึ้นมา

ดังนั้น ในวันนี้จึงคิดว่าเหมาะที่สุด ประกอบกับสถานการณ์โลกปัจจุบันนี้ก็ควรที่จะติดตาม

สรุปก็คือ เรามาเสวนาพูดคุย-ซักถาม หาความกระจ่างในเรื่องต่างๆ ทั้งจากเรื่องบทเรียนที่ผ่านมาและก็เรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน หากพี่น้องมีคำถามก็ให้ส่งมา เพื่อการพูดคุยของเรานั้นจะได้ลื่นไหล ส่วนคนที่ไม่เขียนก็สามารถที่จะถามสด ถามตรงได้ หรือในคำตอบอยากจะให้เพิ่มเติมอะไรก็สามารถที่จะยกมือถามได้ เพื่อที่เราจะได้อธิบายรายละเอียดคำตอบในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ
คำถามแรก : เคยมีริวายัตเกี่ยวกับบทบาทในการช่วยเหลืออิมามมะฮ์ดี(อ) โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นประเทศไทยหรือไม่ ?

ตอบ : ประเทศไทยไม่อยู่ในเอเชียใต้นะครับ เอเชียใต้เป็นภูมิภาคของทวีปเอเชีย เป็นที่ตั้งของประเทศอินเดีย ปากีสถาน บัง คลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และ มัลดีฟส์ ภูมิภาคนี้ยังเป็นที่รู้จักกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า อนุทวีปอินเดีย ประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ทั้งหมดต่างก็เป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือใน ภูมิภาคเอเชียใต้ (The South Asian Association for Regional Cooperation หรือ SAARC)

ส่วนประเทศไทยจากพม่าลงมา อยู่ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ เอเชียอาคเนย์ เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในทวีปเอเชีย ประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย พม่า ไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม ติมอร์ตะวันออก

มีริวายัตปรากฏบ้าง แต่รายละเอียดอาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก เราเคยอ่านฮะดิษจำนวนหนึ่ง แม้ยังไม่ได้ตรวจสอบฮะดิษเหล่านั้นอย่างสมบูรณ์ แต่ก็พอที่จะอนุมานได้บ้าง ซึ่งอ่านแล้วน่าสนใจ ในประเด็นที่เกี่ยวกับ ผู้ช่วยเหลือคนสำคัญๆของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) จะขอยกตัวอย่างสักหนึ่งฮะดิษก่อน คือ ริวายัตได้กล่าวถึงผู้ช่วยเหลืออิมามจากพื้นที่ ในภูมิภาคที่อยู่ริมทะเลมีชายหาดและมีต้นมะพร้าวมาก อินชาอัลลอฮ หากได้ทำการตรวจสอบวินิจฉัยก่อน อาจจะอธิบายได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น จะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่มีมะพร้าวมากที่สุด ที่เป็นข้อสังเกต คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบอินโดจีน

ดังนั้น ฮะดิษที่พูดถึงผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามมะฮฺดี(อ)ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือจะกระชับเข้ามาอีก ก็คือ อาเซียน นั้นเอง ในนี้มีไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีริวายัตหลักฐานยืนยันว่า…

กลุ่มชนจากดินแดนนี้ ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือท่านอิมามมะฮฺดี(อ.) จะมีจำนวนเท่าไร ทั้งหมดหรือไม่นั้น อินชาอัลลอฮ เมื่อมีรายละเอียดและการตรวจสอบที่สมบูรณ์ จะได้นำมาอธิบายมากขึ้น

ส่วนฮะดิษที่สามารถยืนยัน คือ ฮะดิษที่อุลามาอฺนำมาเขียนในหนังสือของท่านแล้ว อันนั้นเราไม่ต้องตรวจสอบ แต่ถ้าฮะดิษที่มาจากหนังสือฮะดิษนั้นโดยตรง จะต้องมีการตรวจสอบกันก่อนเสมอ จึงสามารถจะนำเสนอได้

ซึ่งแน่นอนกลุ่มชนแรก ก็หมายถึง มุสลิมและที่ลงลึกมากกว่านั้น เมื่อตรวจสอบแล้วและอีกข้อสังเกต

เมื่อท่านอยาตุลลอฮมัรวีได้มาเยือนดินแดนแถบนี้ ท่านเคยเดินทางไปมาเลเซีย อินโดนีเซียและ เมืองไทย บ่อยครั้ง ทำให้ท่านเกิดความมั่นใจ ถึงขนาดท่านได้สั่งเสียให้ “พวกเรา” นั้นทำงานให้มาก

คำว่า ”พวกเรา” คือ ทุกคนให้ทำงานในการเผยแพร่แนวทางแห่งอะฮฺลุลเบต(อ.)ให้มาก โดยไม่เลือกกลุ่มเป้าหมาย คือ เผยแพร่คำสั่งสอนของอะฮฺลุลเบต(อ.)กับพี่น้องชาวพุทธ กับพี่น้องชาวคริสต์ กับพี่น้องต่างศาสนิกโดยไม่แบ่งแยก

ถ้าจะให้เหตุผลเพราะเรามีริวายัตจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกต้องและซอเฮียะฮ์ยืนยันว่า…. หนึ่งในกองกำลังที่จะช่วยเหลือท่านอิมามมะฮฺดี(อ) ตัวบทริวายัตท่านอยาตุลลอฮ์มัรวีพูดบ่อย จนกระทั่งผมจำภาษาอาหรับได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องกลับไปดูตำรา ความว่า….

“อัลละซีนะยะบูฎู นัชชัมสีวัลกอมัร วัลซาญัร วัลฮัจญัร วัลนาฮัร”

มีฮะดิษในลักษณะที่ว่า บุคคลที่จะมาช่วยเหลืออิมามมะฮดี(อ) นอกเหนือจากมุสลิม นอกเหนือจากชีอะฮ์แล้ว ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไหว้พระจันทร์ ไหว้ดวงอาทิตย์ ไหว้ต้นไม้ ไหว้ภูเขา ไหว้แม่น้ำ “วัลฮัจญัร” ไหว้ก้อนหิน

ดังนั้นในแนวทางของเรา เราไม่ดูถูกบุคคลเหล่านี้ เราไม่ได้กล่าวว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นมันถูกต้อง แต่เรามีหน้าที่แนะนำฮิดายัตด้วยทางที่ดีเหมือนกับคำสั่งเสียที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานในอายะห์ท้ายๆของ ซูเราะห์ตุลนะฮ์ลฺ

“ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ”

ประการแรกพวกเราส่วนมากจะข้ามขั้นตอน พวกเราเมื่อจะสอนศาสนามักใช้วิธีแบบโต้เถียงกัน ขึ้นต้น “ยาดิลูฮุม” หมายถึงโต้กัน
ซึ่งนั้นไม่ถูกต้อง ในกุรอานบอกวิธีการนำเสนอศาสนา ประเด็นนี้ควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าอัลกุรอานนั้นมีฮิกมัตในการเรียบเรียงถ้อยคำ ซึ่งกุรอานจะให้ความสำคัญในการเรียงลำดับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ฉะนั้น การเรียงของกุรอานก็เป็นหนึ่งในยุทธวิธี เป็นยุทธศาสตร์ หากพิจารณาโองการนี้ เมื่อกรุอานแนะนำให้ตับลีก..เชิญชวน…ได้กล่าวว่า

“ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ”

จง เรียกร้องเชิญชวนมายังหนทางของพระผู้อภิบาลของเจ้า

“بِالْحِكْمَةِ” อันแรกคือด้วย “ฮิกมะฮ์” คำพูดใดก็ตามที่มัน “สอดรับกับสติปัญญา” ของผู้ฟัง… มีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง ฟังแล้วซาบซึ้ง คือ สรุปว่าต้องใช้ “ฮิกมะฮ์”ก่อนเบื้องต้น การใช้ “ฮิกมะฮ์” นั้น ถ้าเราอธิบายลงรายละเอียด คือ ก่อนที่เราจะมี “ฮิกมะฮ์” เราเองจำต้องมีความรู้ก่อน เพราะ “ฮิกมะฮ์” จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีความรู้

>>>“ฮิกมะฮ์”เกิดขึ้นกับคนที่มีความรู้ คือ เมื่อมีความรู้เมื่อมีความเข้าใจ “ฮิกมะฮ์”จึงจะเกิด <<<

ดังนั้น คนที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของความรู้ ไม่ให้ความสำคัญในการใฝ่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา “ฮิกมะฮ์” จะไม่มีเกิดขึ้นกับเขา เพราะ “ฮิกมะฮ์” เป็นเนียะมัตพิเศษที่อัลลอฮ(ซบ.)จะทรงประทานให้กับบุคคลที่พระองค์ทรง
เลือก

“يُؤْتِي الحِكْمَةَ مَن يَشَاءُ”

พระองค์จะให้ฮิกมะฮฺกับใครก็ตามแต่ที่พระองค์ทรงประสงค์

“وَمَن يُؤْتَ الحِكْمَةَ فَقَدْ أُوتِيَ خَيْراً كَثِيراً ”

โองการนี้ คือ กุรอานกล่าวว่า ดังนั้น ถ้าใครได้รับ “ฮิกมะฮ์” แล้ว ในที่นี้คือ ใครที่วิถีชีวิตของเขามี “ฮิกมะฮ์” แล้ว ถือว่าเขาได้รับ

“خَيْراً كَثِيراً ”

เขาได้รับความดีที่มากมาย ความดีที่ล้นเหลือ หากชีวิตไม่มีเงิน ไม่มีทอง ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอำนาจ ไม่มีอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการไม่มี “ฮิกมะฮ์” และถือเป็นความความล้มเหลวของมนุษย์ทั้งชีวิตส่วนตัว ทั้งชีวิตทางสังคม

ฉะนั้น เหตุผลที่สำคัญ ของชีวิตบุคคลที่ล้มเหลวเหล่านี้เป็นชีวิตที่ไม่มี “ฮิกมะฮ์” ย้ำอีกครั้งหนึ่ง “ฮิกมะฮ์” นั้นก็จะไม่มีวันเกิดสำหรับคนที่ไม่ไขว่คว้าหาความรู้ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความรู้
ต่อมาหลังจากมี “ฮิกมะฮ์” กรุอานได้กล่าวว่า

“ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ”

เมื่อมี “ฮิกมะฮ์” แล้ว ต่อมาคือ การตักเตือน แต่ก็ต้องเป็นการตักเตือนที่ดี หลังจากนั้นหากยังคุยกันไม่รู้เรื่อง จนต้องโต้แย้งกันแล้ว กรุอานได้แนะนำว่า

“ وَجَادِلْهُم بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ ”

หากโต้เถียงกันก็จะต้องโต้เถียงด้วยทางที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ประณามด่าทอกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามนำมาเสนอประเด็นนี้เพิ่มเติม เพราะมีคำถามเกี่ยวกับผู้ช่วยเหลืออิมามมะฮฺดี(อ)

คำตอบ คือ ผู้ช่วยเหลืออิมามมะฮฺดี(อ)ที่มีในริวายัตของอะฮฺลุลเบต คือ พวกเราก็อยู่แนวหน้าแน่นอน ซึ่งเรียกว่าสหายชั้นใน

สหายชั้นในทั่วไป คือ พวกเรา ต่อจากนั้นก็เป็นพี่น้องชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ จากนั้นแล้วก็เป็นพี่น้องต่างศาสนิก ซึ่งถูกกล่าวถึงเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราทำงานของเรา อัลฮัมดุลิลละฮ์ เราอย่าคิดว่าเมื่อเราพูดเรื่องของอิมามมะฮฺดี(อ)แล้ว จะเป็นเรื่องที่คนเขาตลกขบขำ

ปัจจุบันนี้ จากประสบการณ์การทำงาน พี่น้องเราหลายคน มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ เราพบสิ่งที่น่าทึ่งเป็นอย่างมาก เมื่อเราคุยเรื่องราวของอิมามมะฮฺดี(อ)ให้คนต่างศาสนิกฟัง กลับได้รับการตอบรับ ได้รับการสนใจ กระทั่งถึงระดับผู้ใหญ่ ในบ้านในเมืองซึ่งเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ เป็นนักคิดนักเขียนของบ้านเมือง ต่อเมื่อเขาได้ฟังรายละเอียดแล้ว เขาบอกว่า…”ผมขอยืนยันว่า…ผมคนหนึ่งที่จะเป็นทหารของท่านอิมามมะฮฺดี(อ)” ขณะที่เขายังนับถือศาสนาอื่น และทั้งๆที่เขายังไม่รู้จักอัลลอฮ(ซบ) แต่เขารักอิมามมะฮฺดี(อ)แล้ว

ฉะนั้น ปัญหา ในประเด็นนี้ จึงอยู่ที่พวกเราต่างหาก ที่ยังไม่ให้ความสำคัญ..ยังไม่เข้าใจอะไรต่างๆอีกมาก ตัวอย่างที่ยกมาเรื่องคนต่างศาสนิก ยอมรับอิมามมะฮ์ดี(อ) ภายหลังจากที่พูดคุยกัน เขาบอกพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ช่วยเผยแพร่เรื่องราวต่างๆของอิมามมะฮฺดี(อ) แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่เชื่อว่าพี่น้องเราจำนวนหนึ่งก็รู้ว่าบุคคลที่ว่านี้ มีความสำคัญต่อบ้านเมืองนี้คนหนึ่ง

(โปรดติดตามตอนที่ 2)
♔ اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم ♔

ณ มัสยิดอิมามอาลี (อ) อ.ท่าแพ จ.สตูล

(เสาร์ที่ 27 กันยายน 2557)

ถอดคำบรรยายโดย คุณ ซัยหนับ บินตี นาบาวี