บางส่วนจากการบรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามฯ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ในวันคล้ายวันอีดุลมับอัษ 27 รอญับ ฮ.ศ. 1443 ตรงกับวันที่ 28 ก.พ. 2565
___________________
••• ทีนี้ มาดูมับอัษที่เกี่ยวข้องกับท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) โดยตรง ในประเด็นนี้ สิ่งที่เราอ่านไปก่อนหน้า [ซึ่งเกี่ยวกับการมับอัษบรรดานบีในภาพรวมนั้น] ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)ก็ต้องมี แต่ทว่าในการมับอัษบรรดาศาสดาทั้งหมด มีมับอัษของท่านมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) ที่มีเรื่องอื่นเข้ามา หรือมีสิ่งพิเศษอื่นเข้ามา อันทำให้การมับอัษท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)นั้น พิเศษกว่าทุกๆศาสดา
กลับไปยังอายัต ที่เราอ่านตอนเริ่มต้นในการเปิดมัจญลิส ซึ่งเอกองค์อัลลอฮ์(ซ.บ)ตรัสไว้ ในซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 164 ความว่า
لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ رَسُولًا مِّنْ أَنفُسِهِمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ
“แน่แท้อัลลอฮฺ(ซบ.)นั้นมีบุญคุณอย่างล้นเหลือกับบรรดาผู้ศรัทธา เมื่อได้ส่งรอซูลลงมาในหมู่พวกเขาโดยที่เขา(นบี)จะมาสาธยายโองการของพระองค์ให้พวกเขาฟัง และทำการขัดเกลาพวกเขาและจะสอนคัมภีร์และความรู้ให้กับพวกเขา…”
لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ….
لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ — แน่แท้แน่นอน”
لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ อัลลอฮ์(ซบ)ตรัสว่า
“อัลลอฮ์นั้นได้มีบุญคุณอย่างล้นเหลือกับบรรดามุมิมีน “ — หรือ บรรดาผู้ศรัทธา
ตรงนี้มี 2 เรื่องที่เข้ามา:
1) มับอัษทั่วไป อัลลอฮ์(ซ.บ) พูดกับประชาชาติในภาพรวม
2) แต่มับอัษท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) อัลลอฮ์ (ซ.บ) ตรัสกับมุอฺมิน
อย่างไรก็ดี หากไปดูอายัตอื่น อัลลอฮ์(ซ.บ)ก็พูดกับประชาชาติในภาพรวมเช่นเดียวกัน อาทิ อายัตต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงตรัสกับท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)โดยตรง
إِنَّآ أَرْسَلْنَـٰكَ .. แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามา.. หรือ
…وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا كَافَّةً لِلنَّاسِ
แท้จริง โอ้มูฮัมมัดเอ๋ย ที่เราส่งเจ้าลงมาเพื่อมนุษยชาติทั้งหมด [ซูเราะฮฺอัลสะบะฮ์:28]
ดังนี้ เป็นการยืนยันว่าท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)ก็ถูกส่งมาเพื่อประชาชาติทั้งหมด
นอกจากนั้น ตัวของอัลกุรอานเอง ก็ยืนยันสิ่งนี้ โดยอัลกุรอานได้ยืนยันตามที่พระองค์ตรัสว่า
هدی للناس
[อัลกุรอาน] มาเพื่อ “ชี้นำมนุษยชาติทั้งหมด” ซึ่งเราจะไม่เข้าไปยังรายละเอียด ทว่าตรงนี้เป็นการสร้างความมั่นใจว่า ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) มาเพื่อมวลมนุษยชาติทั้งหมด เหมือนกับท่านนบีทุกองค์
อย่างไรก็ตาม ในอายัตนี้ กล่าวคือ ในซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โองการที่ 164 — ทำไมอัลลอฮ์(ซ.บ) จึงตรัสแบบ
นี้..ตรัสว่า: لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ
‘แท้จริงอัลลอฮ์(ซบ)ได้มีบุญคุณอย่างมากกับบรรดามุอฺมิน’
คำถาม : มับอัษของนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)เพื่อมนุษยชาติทั้งหมดหรือไม่?
[ตอบ] มับอัษของท่านนบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ) เพื่อมนุษยชาติทั้งหมด — [ถึงกระนั้น] หากมับอัษของท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)เป็นไปเพื่อมนุษยชาติทั้งหมด แล้วทำไมอัลลอฮ์(ซ.บ) จึงตรัสว่า บุญคุณนี้สำหรับมุอฺมินเท่านั้น? — *อันนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่จะเก็บคำตอบไว้ ณ ท้ายมัญลิส
“บุญคุณอย่างใหญ่หลวง” ณ ที่นี่ ในภาษาวิชาการ ในผู้ที่รู้อาหรับ หรือฟาร์ซีจะบอกว่า ‘ทำไมอัลลอฮ์(ซ.บ) منت (มินนัต) ทำไมอัลลอฮ์(ซ.บ)ทวงบุญคุณ’ — เนื่องจาก لَقَدْ مَنَّ اللَّه นั้น คือ อัลลอฮ์(ซ.บ)พูดว่า ‘นี่เป็นบุญคุณอย่างมาก ที่ส่งมูฮัมมัดให้กับพวกเจ้า’ — หรือหากพูดให้พี่น้องสามารถเข้าใจได้ง่าย คือ เหมือนกับว่า อัลลอฮ์(ซ.บ) ทวงบุญคุณ
คำถาม: ทวงบุญคุณกับใคร??
[ตอบ] กับมุอฺมิน มิใช่ทวงบุญคุณกับมนุษยชาติ ทวงบุญคุณกับมุอฺมิน แต่ไม่ได้ทวงบุญคุณกับมนุษยชาติ — อนึ่ง เหตุผลของมัน จะมีคำตอบอยู่ ณ ท้ายมัจญลิส — ดังนั้น มีความไม่เหมือนกันอยู่ตรงนี้
ความแตกต่างของการมับอัษนบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ) กับบรรดานบีองค์อื่นๆ
ความไม่เหมือนกันลำดับที่หนึ่ง คือ การเบียะษัตของทุกๆนบีนั้น อัลลอฮ์(ซ.บ)ไม่เคยทวงบุญคุณ — ดูได้จากที่ใด? — สามารถดูจากอัลกุรอาน ไม่เคยมี[ระบุ] แต่หากอัลลอฮ์(ซ.บ) ทรงไปทวงบุญคุณจากที่อื่นนั้น เราไม่ทราบ เราดูจากอัลกุรอานว่าไม่มี เช่น ไม่เคยตรัสว่า لقد من الله علی قوم نوح แท้จริงเรามีบุญคุณกับประชาชาติของนุฮ์ .. หรือ กับประชาชาติของนบีซอและฮ์ — ไม่มีบอกเช่นนี้ในอัลกุรอาน
มีเพียง 2 ที่เท่านั้น ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงทวงบุญคุณในอัลกุรอาน ดังที่มีการใช้คำว่า یمن/ من (ยามุนนา/ มันนา) ซึ่งหมายถึง พระองค์กำลังทวงบุญคุณกับผู้อ่าน คือ:
1)ในการส่งนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) เป็นการทวงบุญคุณครั้งที่หนึ่ง
2)ในการส่งอิมามมะฮ์ดี(อ) เป็นการทวงบุญคุณครั้งที่สอง *อินชาอัลลอฮ์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่จะได้ฟังในมัจลิสค่ำคืนที่ 15 ชะอฺบาน*
ย้อนกลับมา [ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง] มันมีอะไรพิเศษ ที่สำคัญ ในการมับอัษท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)จนถึงขั้นที่อัลลอฮ์(ซ.บ)ต้องทวงบุญคุณ และทำไมจึงทวงบุญคุณเฉพาะกับบรรดามุอฺมิน? — ซึ่งประเด็นทวงบุญคุณกับผู้ศรัทธานี้ ให้เราเก็บเอาไว้ก่อน…
ปรัชญาเบื้องหลังการมับอัษนบี “ในหมู่พวกเขา”
لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ
แท้จริงอัลลอฮ์(ซ.บ)มีบุญคุณอย่างมากกับบรรดาผู้ศรัทธา
إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ
เมื่อได้ทำการมับอัษ “ในหมู่พวกเขา“
“ในหมู่พวกเขา” ณ ที่นี่ บางอุลามาอฺบอกว่า [หมายถึง] ในหมู่มวลมนุษย์นี่แหละ ส่งศาสดาในหมู่พวกเขา แปลอย่างง่ายในเบื้องต้น โดยไม่ลงรายละเอียดในทุกคำ คือ การนำเอามนุษย์มาเป็นศาสดาของพวกเขา
رسولا من انفسهم — จากพวกเขา แบบเดียวกับพวกเขา ซึ่งบางอาเล็มอุลามาอฺ บางนักตัฟซีรให้ความหมาย انفسهم ว่า ศาสดาที่เหมือนกับพวกเขา คือ มีเจ็บ มีนอน มีตาย มีกิน มีเลือด มีปวด เหมือนมาจาก جنس หรือ มาจากชนิดเดียวกันกับพวกเขา
อัลลอฮ์(ซ.บ) ไม่ได้นำเอามลาอิกัตมาเป็นนบี ซึ่งเมื่อก่อน หลายๆคนถามว่า ‘ทำไมอัลลอฮ์(ซ.บ)ไม่ส่งมลาอิกัตมาเป็นนบี?’ — มลาอิกัตเก่งนะ ทำได้ทุกอย่าง เหาะก็ได้ ไม่ดีกระนั้นหรือ?
แต่หากอัลลอฮ์(ซ.บ)ส่งมลาอิกัตมาเป็นนบี ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น?
[ตอบ] ก็เป็นข้ออ้างสำหรับเราได้ มลาอิกัตไม่ใช่มนุษย์ มลาอิกัตไม่หิว ไม่นอน ทำอะไรก็ได้ นมาซทั้งคืน ก็สามารถทำได้ แต่เราทำไม่ได้ (ฯลฯ)
ดังนั้น ถ้ามลาอิกัตเป็นนบี มนุษย์ก็จะมีข้ออ้างอย่างมากมาย นั่นคือเหตุผลที่ อัลลอฮ์(ซบ)จึงนำเอามนุษย์มาเป็นนบี ให้ต่อสู้ ให้ทำเป็นแบบอย่างให้เราดู
ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) หากนมาซมากเกินไป จะเป็นอย่างไร? อะไรจะเกิดขึ้น— [ตอบ] ขาก็จะบวม อาจต้องหายามากินเหมือนกัน หากเราจะบอกว่า ‘นมาซมากมายขนาดนั้น เมื่อยจะตาย’ ท่านนบีก็เมื่อยเช่นเดียวกัน ท่านนบีถือบวช แล้วท่านอิ่มทิพย์กระนั้นหรือ? — ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะท่านนบี ก็หิวไม่ต่างกัน
หิวมากเพียงใด? หิวถึงขนาดที่ว่า [ตัวอย่างเช่น] ท่านอิมามอะลี (อ) ได้นำเอาก้อนหินมาผูกที่ท้อง ผูกไว้ให้แน่น เพื่อให้กระเพาะชิดกัน เพราะเมื่อกระเพาะชิดกันแล้ว จะมีอาการพออิ่มบ้าง หากไม่รัดไว้ กระเพาะจะห่าง ทำใหัอาการหิวมีมากขึ้น
ดังนั้น [บรรดาฮุจญาตของพระองค์] ก็หิวเช่นเดียวกับเรา ท่านอิมามอะลี(อ) ก็เช่นเดียวกัน หิวถึงขั้นที่ว่าเอาหินมาผูกที่ท้อง และแม้จะหิวในสภาพนั้น ท่านอิมาม(อ.) ก็ยังบริจาคของที่ตัวเองจะกินให้กับผู้อื่น
เพื่อจะตัดเหตุผลอันหนึ่ง อัลลอฮ์(ซ.บ)จึงตรัสว่า
من انفسهم
[ส่งนบี]จากหมู่พวกเขา เป็นการแสดงให้พวกเขาดู ‘ทุกอย่างที่ฉันให้เจ้าทำ ฉันก็ทำเอง ถ้าฉันใช้ให้พวกเจ้าบริจาค ฉันก็บริจาคมากกว่า ถ้าฉันใช้ให้นมาซ ฉันนมาซมากกว่า ถ้าฉันใช้ให้พวกเจ้าถือบวช ฉันถือบวชมากกว่า ถ้าฉันใช้ให้พวกเจ้าสู่สงคราม ฉันก็ออกสงครามมากกว่า ถ้าฉันถูกฟันเลือดก็ออก ถ้าฉันถูกตี ฉันก็เหมือนกับเจ้าทุกประการ’
นี่คือหนึ่งในปรัชญาที่อัลลอฮ์(ซ.บ)
رَسُولًا مِّنْ أَنفُسِهِمْ
“ส่งรอซูลมาในหมู่พวกเขาเอง” จากประเภทของพวกเขาเอง แบบเขาทุกอย่าง •••
[โปรดติดตามตอนต่อไป]
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم