ความสิ้นหวังในระบอบการปกครองโดยมนุษย์ ก่อนการมาปรากฏของอิมามะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 2)

16
⚖️ อิหร่าน ต้นแบบธรรมาธิปไตย รัฐที่นำศาสนาเข้ามามีบทบาทในการเมือง

[เนื้อหาต่อจากธารธรรมในหัวข้อ “ความสิ้นหวังในระบอบการปกครองโดยมนุษย์ ก่อนการมาปรากฏของอิมามมะฮ์ดี (อ.) (ตอนที่ 1)

📝บางส่วนจากธารธรรมโดย ฮุจญตุลอิสลามฯ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
______________

••• ถ้าเราติดตามข่าวสารในประเทศไทย จะพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งเริ่มพูดถึงธรรมาธิปไตย

คำว่า ” ธรรมาธิปไตย ” คือ มีอำนาจของธรรมะอยู่ด้วย ซึ่งอันนี้น่าจะดีกว่าระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ เพราะระบอบประชาธิปไตยนั้นมีนิยามอยู่หลากหลายและแตกต่างกันมาก ซึ่งเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าอันนี้ คือ ประชาธิปไตย 100% บางประเทศเรียก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ส่วนลาวก็เรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อเมริกาก็ถือว่าตนเองปกครองด้วยประชาธิปไตย นิยามของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น ยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ แต่วันนี้พบปัญหาในระบบการปกครองต่างๆดังกล่าวแล้ว

อิสลามก็มีประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยในนิยามของศาสนา ไม่ใช่ในนิยามที่คนทั่วไปแต่งตั้งกันมา เราไม่สามารถบอกได้ว่าอิสลามปฏิเสธระบบประชาธิปไตย แต่อิสลามก็ยอมรับระบบประชาธิปไตย

🔶 ถ้าเราจะดูตัวอย่างการปกครองในอิสลาม ระบบการเมืองในอิสลามที่จะนำไปศึกษา นำไปเปรียบเทียบ ณ วันนี้ เรามีประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เพราะประกาศตนเป็นรัฐอิสลามอย่างแท้จริง ชื่อ ก็บอกแล้วว่าเป็น “สาธารณรัฐอิสลาม ”

สำหรับประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นประเทศที่มีมุสลิม 100% แต่ในประเทศซาอุดิไม่ยอมรับในระบบประชาธิปไตย

ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะเอาระบบการปกครองในประเทศซาอุดิอารเบียมาเป็น “โมเดล ” ต้นแบบประชาธิปไตยสำหรับโลกอิสลามได้ จริงๆแลัวเขาเป็น คิงดอม (Kingdom) เขาเป็นราชอาณาจักร ซึ่งไม่มีการเลือกตั้งใดๆ ประชาชนก็ไม่มีสิทธิมีเสียง ประเทศนี้ พึ่งจะเริ่มคิดเมื่อกระแสประชาธิปไตยเริ่มเกิดขึ้นในโลก เพราะเริ่มถูกกดดัน จึงเริ่มคิดแต่ก็ไม่ใช่แบบอย่างของประชาธิปไตย อื่นๆในประเทศมุสลิมก็ไม่มีระบบประชาธิปไตย

➡️ จะมีก็แต่อิหร่านเป็นประเทศเดียวที่เป็นนักประชาธิปไตย ถ้าเราอยากศึกษาประชาธิปไตยแบบอิสลาม อิหร่านมีแบบอย่างที่สมบูรณ์ ควรแก่การศึกษา อิหร่านมีสภา พูดง่ายๆว่า ส.ส. เลือกโดยประชาชน ประธานาธิบดีเลือกโดยประชาชนโดยตรง สภาผู้นำที่จะไปคัดเลือกผู้นำให้เป็นประมุขสูงสุด ก็คือประชาชนเป็นคนเลือกสมาชิกของสภานี้ และบุคคลในสภานี้จะไปเลือกผู้นำสูงสุดต่อไป

เพราะฉะนั้น อิหร่านมีการเลือกตั้งเกือบจะทุกองค์กร ที่เป็นองค์กรที่สำคัญของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก มันมีระดับ มีขอบเขต มีธรรมะกำกับประชาธิปไตยอยู่ และธรรมะประกอบอย่างไรนั้น มันจะแตกต่างกับประชาธิปไตยทั่วไปที่ใครก็ตาม ใครก็ได้ ที่มีวุฒิสายสามัญก็สามารถเข้ามาได้

สมมุติประเทศนี้มีกฏไว้ว่า คนที่สมัคร ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี ใครที่จบก็มาสมัครได้ แต่เมื่อเราดูประชาธิปไตยในอิหร่าน เขาจะมีธรรมะเข้ามาด้วยในกฏหมายในการสร้างประชาธิปไตยของเขา

ในอิหร่านกฏหมายการเลือกตั้ง กำหนดว่า บุคคลที่จะมาสมัคร
1. ต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษา
2. ต้องมีคุณสมบัติหลักๆทางศาสนา

ดังนั้น ส.ส. อิหร่าน นอกจากต้องมีคุณวุฒิทางการศึกษาแล้วในระบบการปกครองต้องมีการกำหนดคุณลักษณะของตัวแทนของประชาชนด้วยศีลธรรม ด้วยบทบาททางศาสนา และเขียนเป็นกฏหมายไว้เลยว่าเป็นข้อกำหนด ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ ส.ส. ต้องไม่เป็นบุคคลที่ละเมิดทางศาสนาในคำสั่งสอนที่เป็นหลักๆสำคัญด้วย

สมมุติใครคนหนึ่งถูกจับได้ว่าดื่มเหล้า เขาก็จะสิ้นสภาพการเป็น ส.ส. ทันที เพราะถือว่า เขาฝ่าฝืนคำสั่งของศาสนา นั้นถือว่าคนนี้ไม่มีคุณสมบัติในการที่จะเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นการอธิบายสั้นว่า นี่คือความหมายของประชาธิปไตยแบบธรรมะเข้ามามีบทบาท

ฉะนั้น ถ้าเอาธรรมะเหล่านี้มาใช้ในประเทศที่ผิดศีลได้ ประเทศที่กินเหล้าได้ รับรองได้ว่า ไม่มีใครมีสิทธิที่จะสมัคร เพราะส่วนมากของบุคคลที่เข้ามาในการเมืองนี้ เพราะบุคคลที่มาเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนมากจะอยู่กับอบายมุขต่างๆ เช่น การพนัน ดื่มเหล้า ผิดประเวณี นี่คือผลพวงของการไม่ให้บทบาทของศาสนา เราอาจจะเรียกว่าไม่ให้อำนาจนั้นในที่นี้ หมายถึง ไม่อาจให้บทบาทของทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาททางการเมือง

ดังนั้น ขอทวนคำปุจฉา ** วันนี้ต้องกลับมาคิดกันใหม่ สำหรับประเทศไทยว่าเราจะเอาประชาธิปไตยแบบไหน ผมก็เคยเสนอความคิด ซึ่งก็อาจจะตรงความคิดของบางคนว่า เราคนไทยก็ควรจะคิดให้มีประชาธิปไตยที่มันเหมาะสมกับคนไทย

ที่ยกอิหร่านเพราะเขาเป็นมุสลิม เขาเป็นประเทศอิสลาม เป็นประเทศที่เคร่งครัดในศาสนา ประชาธิปไตยต้องมีไหม? ประชาธิปไตยก็ต้องมี เพราะอิสลามไม่ได้ปฏิเสธสิทธิเสียงอำนาจของประชาชน แต่ประชาธิปไตยนั้นก็จะต้องว่าไปตามคนมุสลิม คนมุสลิมถ้าจะต้องมีประชาธิปไตยนั้นต้องมีแบบไหน **

🔹 สรุป ประเทศอิหร่าน คือ แบบอย่างของประชาธิปไตยอิสลามที่สมบูรณ์แบบ เพราะอิหร่านเป็นประชาธิปไตยแบบธรรมะ ที่เอาหลักศีลธรรมมาเป็นเกณฑ์ในการการกำหนดตัวแทนของ ประชาชนด้วยบทบาทศีลธรรมทางศาสนา โดยนำคำสั่งสอนของทางศาสนานั้นเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง และอิหร่านมีการเลือกตั้งเกือบจะทุกองค์กร ที่เป็นองค์กรที่สำคัญของรัฐอิสลาม•••

[โปรดติดตามตอนต่อไป]