วิชาตัฟซีร(การอรรถาธิบาย)พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน
ไชฏอนศึกษา บทเรียนที่ 2 ตอนที่ 2
♔•●✺ اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم ✺●•♔
‘อิบลิส’ ขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต
(الى يوم يبعثون ) คือ ประโยคที่ ‘อิบลิส’ ขอโอกาสจนถึงวันกิยามัต
(الى يوم يبعثون )คือ วันที่ถูกทำให้ฟื้นคืนชีพ
ซึ่งแน่นอนวันแห่งการฟื้นคืนชีพ คือ วันกิยามัต เป็นวันที่โลกนี้เสร็จสิ้น จบไปแล้ว เพราะวันแห่งการฟื้นคืนชีพนั้นไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว
การฟื้นคืนชีพจะเกิดขึ้น ก็คือ ดุนยานี้สลายแล้ว เมื่อดุนยานี้เกิดการกิยามัต
แต่ ‘อิบลิส’ ขอโอกาสของมันให้เลยวันกิยามัตขึ้นไปอีก ซึ่งความจริงแล้ว วันฟื้นคืนชีพ ก็คือ วันกิยามัต แต่เป็นขั้นตอนหลัง
วันกียามัต คือ วันที่เกิดเหตุการณ์ที่แผ่นดิน ภูเขา ทะเล จะเอ่อล้น กลายเป็นทะเลเพลิง วันที่แผ่นดิน ดวงอาทิตย์ และภูเขาจะถูกเก็บ ดวงดาวทั้งหมดก็จะร่วงหล่น และหลังจากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น มนุษย์จึงจะฟื้นคืนชีพ หมายความว่า มันขอโอกาสข้ามโลก ขอโอกาสข้ามพิภพกันเลย
นี่คือ ความหมายประการแรก يوم يبعثون ฟื้นคืนชีพ วันฟื้นคืนชีพก็จะเกิดหลังจากปฐมบทของวันกิยามัตแล้ว
วันฟื้นคืนชีพทั้งหมด คือ หลังวันกิยามัต ไม่มีใครฟื้นคืนชีพก่อนวันกิยามัต
แต่คำตอบที่อัลลอฮ(ซบ)ให้ พระองค์ไม่ได้ตอบตรงตามที่มันขอ มันขอจนถึงวันฟื้นคืนชีพ แต่อัลลอฮ์(ซบ.)ก็ไม่ได้ให้ตามมันขอ แต่กล่าวว่า…
قال فانك من المنظرين
“เจ้าจะได้รับการผ่อนปรน”
แต่ว่า الى يوم الوقت المعلوم ไปยังวันๆหนึ่ง ซึ่ง คือ วันเวลาของมันเป็นที่เรารู้กัน
ส่วนนี้คือ ถ้าจะเอาตัฟซีรแบบลึกซึ้งนั้น อยู่ในขั้นสูงส่งเป็นอย่างมาก
การตัฟซีรเบื้องต้น…
“อิบลิสไม่ได้ตามคำขออย่างร้อยเปอร์เซ็นต์”
อันนี้คือเบื้องต้นก่อน เพราะมันขอจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ แต่ที่อัลลอฮ์(ซบ.)ตอบนั้น ให้มันแค่วันที่รู้กัน ตามวันเวลาที่เป็นที่รู้กัน
ซึ่งก็มีการหาคำตอบ ส่วนพวกที่หาคำตอบไม่ได้ หาคำตอบไม่เจอ ก็จะสรุปว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ให้มันนั่นเอง
(يوم الوقت المعلوم ) ก็รวมวันกิยามัตไปด้วย คือ เหมารวมไปเลย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ตรง มันไม่ใช่อย่างนั้น เบื้องต้นก็จะลงลึกไปก่อน วันหนึ่งในโลกนี้ ก่อนวันกิยามัตจะเกิดขึ้น อำนาจการหลอกลวงอะไรของมันนั้นจะหมดไป
ถามว่า ก่อนวันกิยามัต มีเหตุการณ์อะไรบ้าง ?
ก่อนวันกิยามัตเป็นที่รู้ว่า จะเข้าสู่ยุคอาคิรุซซามาน เป็นยุคสุดท้าย เราทุกๆคนอาจจะเคยได้ยินว่า ในก่อนวันกิยามัต ประตูเตาบัตจะถูกปิด เป็นการจบสิ้นการเตาบัต ซึ่งส่วนมากก็อธิบายว่าประตูเตาบัต จะถูกปิดไปในแง่ที่ลบ น้อยมากที่จะอธิบายไปในแง่ที่บวก
ประตูเตาบัตจะถูกปิดในแง่ที่บวก คือ ในวันนั้น มนุษย์ส่วนมากจะเป็นคนดี ซึ่งแตกต่างกับวันนี้ มนุษย์ส่วนมากยังเป็นคนชั่ว
ดังนั้น ก่อนวันกิยามัต มนุษย์ส่วนมากจะเป็นคนดี จะมีสังคมที่ดีงาม สังคมที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ) และคนที่ชั่วก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ในยุคนั้น คนที่ชั่วโดยกมลสันดาน ก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและจะไม่มีวันที่จะเตาบัตด้วย
หนึ่งในความหมายของคำว่า ‘ประตูเตาบัต’จะถูกปิด คือ ไม่มีใคร ‘เตาบัตตน’ ‘เตาบัตตัว’อีกต่อไปแล้ว
เหตุผลที่มนุษย์ส่วนมาก จะเป็นคนดีในวันนั้น หรือเราเรียกว่าในช่วงเวลานั้น ก็เพราะว่าอำนาจของ ‘อิบลิส’ หรือ ‘ไชฏอน’ หรือ ‘ซาตาน’นั้นเริ่มหมดลงไป
แต่ถึงอำนาจของมันจะหมดไป ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่ลวงหลอก ซึ่งมันยังคงลวงหลอก แต่จำนวนที่มันลวงหลอกได้นั้น น้อยเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนกับหมดอำนาจแล้ว ไม่ใช่ว่ามันไม่มีลูกน้อง มีบ้างแต่มีน้อย และลูกน้องที่มีก็ไม่เพียงพอ ที่จะทำตัวเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ได้อีกต่อไป
นี่คือ หนึ่งในความหมายเบื้องต้น และเป็นความหมายสมบูรณ์ที่มาจากโองการต่างๆ มีรีวายัตจำนวนมาก มายืนยันอีกครั้งหนึ่ง หมายถึง ความสมบูรณ์แห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)
แน่นอน !!! ก่อนการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) นั้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี การพัฒนาความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อศาสนาและความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อแผนร้ายต่างๆของไชฏอนมารร้าย ก็ค่อยๆจะมีมากขึ้นๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มนุษย์ไม่ได้เข้าใจอะไรมากมายและไม่ใช่อยู่ดีๆอิมามจะปรากฏตัวทันที
อิมามมะฮ์ดี(อ)จะปรากฏ ก็ต่อเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าใจศาสนา มนุษย์เริ่มเข้าใจในธรรม มนุษย์เริ่มมีสติปัญญาที่สูงขึ้นๆ ซึ่งก็มีริวายัตเป็นจำนวนมากที่จะยืนยันในสิ่งๆนี้
يوم الوقت المعلوم คือ วันแห่งการปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) วันที่อิมามได้สถาปนารัฐอิสลามอันยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมาในโลก อำนาจของอิบลิสก็จะหมดไปในวันนั้น
ดังนั้น จากโองการนี้ อัลลอฮ์(ซบ)ก็ได้อรรถาธิบาย รีวายัตและอัลกรุอานและอายะฮ์อื่นๆก็จะบอกว่า หมายถึง วันปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮดี(อ)
สิ่งนี้เราอธิบายพอสังเขป ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกริวายัตต่างๆเพราะว่า เราต้องการให้เป็นบทเรียนในประเด็นการอรรถาธิบายอัลกุรอาน ทั้งนี้ก็จะบอกว่า ถ้าจะเอากันแบบตัฟซีรให้ครบถ้วนตามกระบวนนั้น เราก็จะต้องมาอธิบายคำว่า…
( يوم الوقت المعلوم ) อิบลิสก็พอใจ อย่างน้อยๆก็อีกเป็นหมื่นๆปี หลายหมื่นปีที่มันมีโอกาสได้ทำภารกิจของมันให้สมบูรณ์
ภารกิจของอิบลิส คือ ล้างแค้นมนุษย์
โอกาสที่ ‘อิบลิส’ได้รับจากอัลลอฮ์ (ซบ) มีเวลายาวนานเกือบๆที่จะถึงวันกิยามัตแล้ว แต่มันเอาโอกาสทั้งหมด ที่พระผู้เป็นเจ้าให้มานั้น เอาไปทำในสิ่งที่เสียหาย และเพิ่มพูนในการทำความชั่วต่อไป
‘อิบลิส’ไม่ได้ขอเวลาเพื่อการปรับปรุงตัว หรือเปลี่ยนแปลง หรือกลับเข้าหาพระองค์ แต่ทว่ากลับเอาวันเวลาและโอกาสที่พระผู้เป็นเจ้าให้นั้น มาสานต่อความชั่วที่ของตัวเองให้ดำเนินต่อไป
ดังนั้น หลังจากที่อัลลอฮ์(ซบ)ผ่อนปรนให้กับมันจนถึง…
يوم الوقت المعلوم
ซึ่งเราได้อธิบายความหมายของโองการที่ลึกซึ้งของมันไป กล่าวคือ เป็นช่วงของวัน ซึ่งจะเป็นวันไหนในห้วงเวลาไหนนั้น โองการนี้ก็ปรากฏในซูเราะฮ์ อัล-ฮิจญ์ร โองการที่ 37
قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنْظَرِينَ
พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา”
——————————
ซูเราะฮ์ อัล-ฮิจญ์ร โองการที่ 38
إِلَىٰ يَوْمِ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ
จนกระทั่งถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว”
—————————————-
และยังปรากฏในซูเราะฮ์ตุลศ็อด อายะฮ์ที่ 80
قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنْظَرِينَ
(พระองค์ตรัสว่า “ดังนั้น แท้จริงเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา”)
—————————————-
และซูเราะฮ์ตุลศ็อด อายะฮ์ที่ 81
إِلَىٰ يَوْمِ الْوَقْتِ الْمَعْلُومِ
(จนกระทั่ง ถึงวันแห่งเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว)
—————————————-
เมื่อรู้วันเวลา เมื่อรู้ว่าได้รับการผ่อนปรน ถึงแม้จะไม่ได้ตามที่ตัวเองขออย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม คือ อิบลิสได้จำนวน เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ประกาศเจตนารมณ์ ประกาศภารกิจที่มันจะทำทันที
เมื่อรู้ว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ให้แล้ว คือ พระองค์ไม่ทรงคืนคำอยู่แล้ว และอิบลิส มันไม่บอกเหตุผลด้วย มันคงคิดว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ไม่รู้ว่า ที่มันขอนั้น มันขอเวลาไปทำอะไร? เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)ให้มันแล้วยิ่งดี เพื่อให้มันนั้นได้แสดง มันนึกว่ามันหลอกอัลลอฮ์(ซบ.)ได้
ตอนแรกมันไม่บอกว่า มันขออะไร
อัลลอฮ์(ซบ.) ก็ให้ไปเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ตามที่มันขอ เมื่อให้แล้วพระองค์ก็ไม่ได้คืนคำ หลังจากนั้น มันก็บอกกับพระองค์ว่ามันจะทำอะไร
قال رب
โอ้พระผู้อภิบาล
بما أغويتني
ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ฉันถูกหลงทาง ถูกทิ้งขว้างจากพระองค์ ด้วยสิ่งนั้น
สิ่งนั้น คือ อะไร? สิ่งที่ทำให้ฉันหลงทาง กลายเป็นผู้หลงทาง ฉันอยู่เฉยๆอิบาดัตของฉัน ทำมาหลายพันปี อยู่เฉยๆฉันกลับกลายเป็นผู้หลงผิด อยู่เฉยๆฉันกลายเป็นผู้หลงทาง
ถามว่าตรงนี้ ด้วยสิ่งนั้นหมายถึงอะไร بما?
คำตอบ สิ่งนั้น คือ มนุษย์
ด้วยมนุษย์นั่นแหละ เพราะมนุษย์ ฉันจึงต้องเป็นแบบนี้
มันโทษมนุษย์ มันฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์มันบอกว่าเพราะมนุษย์ มันเป็นศัตรูกับเรา(มนุษย์)จริงๆ เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่รู้ก็จงรู้ว่า มันเป็นศัตรูกับเราจริงๆ
ดังนั้น ด้วยสิ่งนั้น(มนุษย์)
بما أغويتني لأزينن لهم في الأرض
ด้วยเหตุนั้น หรือขอสาบานด้วยพวกนั่นแหละ ฉันต้องกลายเป็นผู้ที่หลงผิด
لأزينن لهم في الأرض ฉันจะทำให้พวกเขานั้น หลงใหลเพลิดเพลินในหน้าแผ่นดินนี้ ฉันจะทำให้ดุนยานี้สวยงาม ทำให้มันน่าหลงใหล น่าเพลิดเพลิน น่าทำทุกสิ่งทุกอย่าง
ซึ่งเราก็ไม่ต้องอธิบาย ซึ่งมันก็มีมากมายหลายรูปแบบ อันที่หนึ่งฉันจะทำให้เขาคิดแบบนี้ก่อน คือ อะไรก็ตามที่ทำให้ดุนยาน่าอยู่ ดุนยาน่าพิศวง ดุนยาน่าเพลิดเพลิน
สรุปเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ เริ่มต้นอันแรก คือ ทำให้มนุษย์หลงในดุนยา
ถ้าเอาจากรากศัพท์เลย ก็คือ ทำให้ดุนยานั้นดูสวย ดูสวยงาม
คนที่หลงดุนยาเกือบทั้งหมด คือ คนที่มองดุนยาตรงกันข้ามกับที่อัลลอฮ์(ซบ)และรอซูล(ศ็อลฯ)บอก คือ มองตรงกันข้าม
ผู้ศรัทธาที่แท้จริง จะต้องมองดุนยาเป็นดุนยา ไม่ใช่ตัวของวัตถุ จะต้องมองดุนยาเป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว ซึ่งเรามาอยู่ที่นี่(ดุนยา)เพราะว่าเรามีความจำเป็น นั้นคือ มุมมองของศาสนา
ส่วนคนที่ถูกทำให้หลงนั่น ก็คือ มองดุนยานี้สวยงาม
สรุปคือ การงานของอิบลิส (ไชฏอน) คือ ทำให้มนุษย์มองดุนยาเป็นสิ่งที่สวยงาม
เพราะการทำให้มนุษย์ มองเห็นดุนยานี้สวยงามนั้น นั่นคือ การทำงานของอิบลิส (ชัยฏอน)นั่นเอง
ภารกิจของอิบลิส
ولأغوينهم أجمعين
“ฉันก็จะทำให้พวกเขานั้นหลงทาง เหมือนกับที่พระองค์ได้ทำให้ฉันนั้น
หลงทาง”
ฉันจะทำให้พวกเขาทั้งหมดนั้นหลงทาง
ดังนั้น ถ้าใครกลัวไชฏอนมารร้ายแล้ว หากไม่ต้องการเป็นพลพรรคของมัน จะต้องเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง
อะไรจะเกิดขึ้น หากเราเป็นสมาชิกและเห็นด้วยกับพรรคของไชฏอน
ผลทั้งหมดจะเกิดจากจุดเบื้องต้น เมื่อมนุษย์มองดุนยาเป็นสิ่งที่สวยงาม มองดุนยานั้นน่าอยู่ อยากอยู่ แล้วก็จะค่อยๆทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้อยู่ในดุนยา โดยไม่แยกแยะว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก คือ อยากจะมีดุนยา โดยไม่แยกแยะว่ามันผิดหรือถูก
เมื่อมนุษย์มีความอยากในทุกอย่าง ซึ่งจริงๆแล้วดุนยาวัตถุโดยตัวของมันเองแล้วนั้นก็ไม่ใช่ดุนยา แต่ถ้าเราหลงใหลมัน จนลืมขอบเขตที่อัลลอฮ์(ซบ)ได้วางไว้ นั้นเราเรียกว่า ‘ดุนยา’
จะอธิบายอีกสักนิดหนึ่ง เมื่อมนุษย์มีความสามารถสรรหาทรัพย์สินได้อย่างมากมาย หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่า พี่น้องอาจจะมีสักหมื่นหรือสักแสนล้าน แต่การมีนั้นไม่ได้ทำให้หลงใหลในมันสักนิดเดียว
ตัวอย่างเช่น คนที่มีทรัพย์สินเป็นหมื่นล้านแสนล้าน แต่ไม่ได้หลงใหลในมันสักนิดเดียว หมายความว่า ในทรัพย์สินทั้งแสนล้านนั้น เช่น มีรถ มีเงินสด มีทองคำ มีคฤหาสน์หรืออะไรก็ตาม ถึงจะมีมากเพียงไหน แต่ถ้าไม่ได้หลงใหลในมันนั้น มันก็ไม่ได้เป็นดุนยาแม้แต่สักนิดเดียว
เราต้องทำความเข้าใจกันสักนิดหนึ่งว่า อาจจะมีบางคนนั้นอธิบายดุนยาให้เราเข้าใจผิดๆ กล่าวกันว่า ถ้าไม่เอาดุนยานั้นจะต้องทิ้งสิ่งต่างๆทั้งหมด คือ มันไม่ได้เป็นดุนยาทั้งหมด และทรัพย์สินทั้งแสนล้านที่เรามีอยู่ ถ้าเราใช้มันนั้นถูกวิธี เป็นประโยชน์กับศาสนา ตรงตามอัลลอฮ์(ซบ)ทรงใช้ ทรงรัก ทรงชอบ อะไรก็ตาม ซึ่งมีใช้ มีรัก มีชอบ
ฉะนั้น ถ้าเรามีทรัพย์สินอย่างมากมายมหาศาลเป็นแสนๆล้าน แล้วเราใช้ในทางที่พระองค์ทรงรักทรงชอบนั้นทั้งหมด นั่นคือ อาคิรัตทั้งหมดเป็นสวรรค์ ในจำนวนเงินเป็นแสนๆล้าน เราไม่ได้ปฏิเสธวัตถุแต่วัตถุจะมีค่าหรือไม่มีค่า จะเป็นดุนยา หรือ อาคิรัตนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้มัน
วันนี้ ถ้าเราไม่มีทรัพย์สินต่างๆเหล่านี้ พี่น้องไม่สามารถจะมานั่งเรียนได้ที่นี่ ภายใต้พัดลม มีเครื่องเสียงอย่างดี คือ ถ้ามีไม่กี่บาทนั้น เราอาจจะพูดกับโทรโข่งก็ได้ แต่เพราะว่า เรามีริสกีที่อัลลอฮ์(ซบ)ให้มา มีการพิมพ์เอกสารแจก นั้นก็ต้องใช้ทรัพย์สินเหมือนกัน พิมพ์เอกสารแจก มีอาหารเลี้ยง ถ้าเรามีไม่มากทุกคนต้องกินข้าวมาจากที่บ้านเอง
ดังนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจว่าทรัพย์สินมีได้ แต่ถ้ามีแล้วไม่กล้าใช้ ไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเลี้ยงใคร ไม่กล้าทำบุญ ไม่กล้าเปิดไฟ มีบางคนเป็นมหาเศรษฐีแต่ไม่กล้าเปิดแอร์ ทั้งๆที่บ้านตัวเองติดแอร์แต่กลับเปิดหน้าต่าง ผมเคยเห็นเศรษฐีที่มีเงินเป็นสิบ ยี่สิบ สามสิบล้าน แต่ไม่กล้าเปิดแอร์ อย่าว่าแต่จะให้กับคนอื่น แม้แต่จะให้กับตนเองก็ยังเสียดาย ลักษณะนี้ เรียก ดุนยาล้านเปอร์เซ็นต์
กับตัวเองเขายังเสียดาย แล้วเขาจะให้กับคนอื่นได้อย่างไร???
อยากจะสะสมเก็บมันไว้ เพราะมองว่า การเก็บมัน คือ สิ่งที่สวยงาม มองว่าการเก็บไว้มันจะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของเรา
มีฮะดิษ ของ รอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)บทหนึ่ง สั้นๆ ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) ประโยคแรก มีวจนะ ว่า
الدنيا دارمن لادارله
“ดุนยาเป็นบ้านของคนที่ไม่มีบ้าน” ในภาษาไทยหากจะอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่าย คือ เป็นที่พำนักถาวร สำหรับคนไม่มีที่พำนักที่ถาวร
ในความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรือ ไม่ว่าจะเป็นฮะดิษ สอนให้เรามอง ‘ดุนยา’ คือ ศาลากลางทาง หรือ ศาลาพักชั่วคราว(ศาลา)นั่นเอง
สิ่งนี้มีอยู่ในอัลกุรอาน มีอยู่ในฮะดิษเกือบทั้งหมด ดุนยาที่อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสไว้ คือ ที่พักเหนื่อย ที่สนุกชั่วคราว
ผมจะเสริมด้วยคำถาม เพื่อให้พี่น้องได้ทำความเข้าใจดังนี้
คำถาม : ใครที่ยึดศาลาเป็นที่พักถาวรบ้าง?
เมื่อประมวลคำตอบ ปรากฏว่า เป็นคนจรจัด หรือ คนบ้า ลองสังเกตดู คือ คนบ้าจะประจำศาลาของตัวเอง
ถ้าเราสังเกตว่าชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้ จะเห็นได้ว่า ส่วนมากจะเป็นคนบ้าที่ยึดศาลา หรืออาจจะเป็นป้ายรถเมล์หรืออะไรทำนองนี้ โดยทั่วไปมนุษย์ปกติที่นั่งตามศาลาก็เพื่อรอรถ อาจจะเป็นเมล์ หรือ รถสองแถว เมื่อรถมา ก็ขึ้นรถไป แต่คนที่นั่งตามศาลาเมื่อรถเมล์มาแล้วไม่ขึ้นรถ นั้นคือ คนบ้า แล้วคนบ้านั้นจะอยู่ศาลาเดิม ไม่เปลี่ยนศาลา
ดังนั้น นบีบอกว่า… الدنيا دارمن لادارله
ดุนยาถ้าใครยึดเป็นที่พักถาวรนั้นคือ คนไม่มีบ้าน
คนที่ไม่มีบ้าน คือ คนที่ไม่มีอะไรในวันอาคิรัต ไม่มีความหวังใดๆ
ในอัลกุรอาน ในฮะดิษต่างๆรายงานว่า ที่พำนักสุดท้ายของเรา คือ
جنات تجري من تحتهاالأنهار
คือ สวน ซึ่งมีน้ำไหลผ่านอยู่ข้างใต้ของมัน ในที่พำนักนั้นจะมีธารแห่งน้ำนม ธารแห่งน้ำผึ้ง ธารแห่งน้ำจัน และมีสิ่งต่างๆอีกมากมายรอเราอยู่
ประโยคที่สอง
فلهايجمع من لا عقل له
คือ เขารวบรวมมันไว้
คนที่รวบรวมดุนยา นั้นคือ บุคคลที่ “ไม่มีสติปัญญา” เปรียบเสมือนกับคนบ้าที่เก็บขยะ แต่ในลักษณะหนึ่งของคนบ้า ส่วนมากจะเหมือนกัน คือ เก็บขยะ เก็บของ เก็บสิ่งต่างๆ เห็นอะไรเป็นต้องเก็บทุกอย่างใส่ในถุง ลักษณะนี้เรียกว่า คนบ้าหอบฟาง
เราก็เช่นกัน ไม่ได้มองว่า สิ่งที่เราเก็บสะสมนั้นเป็นขยะ ซึ่งเหมือนกับคนบ้า สิ่งที่เขาเก็บทั้งหมด เขาก็ไม่ได้มองเป็นขยะ เพราะในความบ้าของมัน มันมองว่าเป็นสิ่งที่มีค่า
แม้แต่ซองบุหรี่ บางคนก็มองกระดาษซองบุหรี่เป็นเงิน ก็เพราะว่ามันบ้า แต่เรามองคนบ้านั้นแค่ทางสรีระ เราไม่เคยหันมามองคนบ้าทางสติปัญญา คนบ้าทางจิตวิญญาณ คนบ้าทางศรัทธา ทุกคนรู้ว่าทรัพย์สินที่รวบรวมทั้งหมดนั้น วันหนึ่งเราจะต้องทิ้งและเราก็ต้องจากไป ไม่เคยมีใครเอาไปได้แม้แต่สักบาทเดียว แต่ก็ยังจะรวบรวมเอาไว้และ ไม่ให้ใคร
บางคนหนักถึงขั้นไม่ให้แม้กระทั่งกับตัวเอง แต่ก็ยังรวบรวมมันไว้ เห็นว่ามันสวยงาม มองเห็นการสะสม
สิ่งนี้ผมพูดแค่มุมเดียว สิ่งที่อธิบายไป เป็นเพียงมุมหนึ่ง ที่ไชฏอนบอกว่า…
لأزينن لهم ฉันจะทำให้มัน(มนุษย์)เห็นความสวยงาม ทำให้มันหลงด้วยวิธีนี้ เห็นความสวยงามของการเก็บ เห็นความสวยงามของการตระหนี่ถี่เหนียว เห็นความสวยงามของการทำชั่วอะไรต่างๆทั้งหมด เมื่อเขามองเห็นสิ่งที่หลงผิดเหล่านี้ มองสวยงามแล้ว มันก็จะบอกว่า… ولأغوينهم أجمعين
ฉันก็จะทำให้พวกมันทั้งหมดนั้นหลงทาง ด้วยวิธีนี้
(โปรดติดตามตอนที่ 3)
♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ณ ศูนย์เรียนรู้จริยธรรมอิสลาม ตำบล ปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ถอดบทความโดย : Solihah zahra binti Solah
เรียบเรียงโดย : เชคอิบรอฮีม อาแว
ภาพประกอบโดย มูฮัมหมัดฮูซัยนี บิน ซัมซูดีน
♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔