“เมาลิดินนบีความเมตตาแห่งสากลจักรวาล”- สัญลักษณ์แห่งเอกภาพและภราดรภาพ (ตอนที่ 2 )

132

🔘 ฮะดิษ การศอละวาตเสียงดัง

มีฮะดิษมากมายเกี่ยวกับเรื่องการศอละวาตด้วยเสียงที่ดัง

🔻ตัวอย่าง

“إرفَعُوا أصواتَكُم بالصَّلاةِ عَلَی؛ فَإنَّها تَذْهَبُ بِالنِّفاقِ.”

(อิรฟาอู อัศวา ตะกุม บิศศอละวาต. ฟาอินนะฮา ตัซฮะบู บินนิฟากฺ )

ความว่า “จงกล่าวศอละวาตด้วยเสียงดัง เพราะมันจะขจัดความกลับกลอกออกไป”

คำอธิบาย : การขจัดความกลับกลอกของพวกเรา ด้วยการศอละวาตให้เสียงดัง แท้จริงแล้วมีมรรคผลต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งถ้าทุกคนอ่านทุกฮะดิษ ขอยืนยันว่า พี่น้องจะศอละวาตผ่านเสียงที่ดังกันทั้งคืน

❤ اللَّهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ وآلِ مُحَمَّدٍ وعَجِّلْ فَرَجَهُمْ ❤

ในค่ำคืนนี้ ขอนำเสนอเนื้อหาของท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ๓ หัวข้อหลักตามที่ได้แจ้งไว้ข้างต้น เริ่มด้วยการอรรถธิบายโองการในอัลกุรอาน เพื่อให้พวกเราได้ทำความเข้าใจ โดยจะอธิบายพอสังเขป ส่วนคำไหนต้องการเน้นในเชิงตัฟซีร ก็จะเน้นสักเล็กน้อย

🔴 ข่าวดีครั้งที่ ๑

เมื่อพิจารณาซูเราะฮฺอัลอะฮฺซาบ โองการ 45,46,47 แน่นอนว่า ถือเป็นอีกโองการหนึ่ง ควรที่จะทำการศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อทำความรู้จักถึงสถานภาพอันยิ่งใหญ่ของรอซูลลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ซึ่งในต้นของโองการอัลลอฮฺ(ซบ)

أَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ

🔻ซูเราะฮฺอัลอัฮซาบ โองการที่ 45 อัลลอฮฺ ตรัสว่า….

——————

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا
โอ้ นะบีเอ๋ย! แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน
คำอธิบาย :“يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ”(ยาอัยยุฮันนบี)
โอ้นบีเอ๋ย !!! อัลลอฮ์(ซบ)ตรัสกับนบี

ข้อสังเกต โองการนี้ ขอให้ทุกคน พึงจดจำไว้ว่า ประโยคนี้ จริงอยู่ อัลลอฮ์(ซบ)ตรัสกับนบี แต่ความหมายของประโยคนั้น คือ พระองค์ตรัสให้เราฟัง โดยเราไม่ต้องแอบฟังด้วย เพราะพระองค์ตรัสเสียงดัง ซึ่งในที่นี้ หมายถึง พระองค์บันทึกไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

“إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا”

(อินนาอัรซัลนา กะ ชาฮิดัน วะมุบัชชิรัน วะนะซีรอ)

“ แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นประจักษ์พยาน และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน”

🔘 คำแรก คำว่า “ شَاهِدًا” เพื่อเป็นประจักษ์พยาน

คำๆนี้คำเดียว หากจะตัฟซีรให้ได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งคำ

ในการชี้ว่า การส่งนบีองค์นี้ มาเพื่อเป็นพยานทุกเรื่องราวทั้งหมด ยืนยันต่ออัลลอฮ์(ซบ) และในโองการอื่นๆก็เข้ามายืนยัน คำว่า ‘พยาน’ กล่าวคือ นบีมายืนยันทุกการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะอยู่ ณ จุดใดของโลก

นี่คือ คำยืนยัน อินชาอัลลอฮ์ ถ้าเราเรียนตัฟซีรค่อยศึกษารายละเอียดเชิงลึกกัน

ดังนั้น ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะยืนอยู่ ณ ที่ใดของโลก ทั้งในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และในช่วงที่ท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พึงตระหนักเลยว่า นบี คือ หนึ่งในประจักษ์พยานการยืนยันของอัลลอฮ์(ซบ)ในวันกิยามัต

บรรดาอาเล็มอุลามาอฺ เมื่ออ่านถึงโองการเหล่านี้ บอกไว้ว่า ทุกอย่างที่เรากำลังทำ ท่านนบีกำลังมองอยู่ กำลังจ้องมองอยู่ เพราะนบี คือ ‘ชาฮิดัน’ ประจักษ์พยานยืนยัน ที่เป็นฮุจญัตที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์(ซบ)ฮุจญัตหนึ่ง

🔘 คำที่สอง คำว่า “وَمُبَشِّرًا” (วะมุบัชชิรัน) “และเป็นผู้แจ้งข่าวดี”

นี่คือ คุณลักษณะที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)ให้คุณลักษณะของรอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ซึ่งถ้าเราตั้งใจฟังและทำความเข้าใจ เราจะมีความสุข เพราะนบีมาเพื่อ “وَمُبَشِّرًا” (วะมุบัชชิรัน) แจ้งข่าวดีแก่มวลมนุษยชาติ และ “لِّلْعَالَمِينَ” มาเพื่อแจ้งข่าวดีครอบคลุมทั่วจักรวาล

แน่นอน ถามว่าในโลกนี้มีใครบ้างที่ไม่ชอบข่าวดี ทุกวันนี้มนุษย์รอแต่ข่าวดีทั้งสิ้น แต่ปัญหา คือ ข่าวดีของพวกเรานั้นยังไม่ใช่ข่าวดีจริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากสภาวะที่เห็น พบว่า ยังเป็นข่าวดีชั่วคราว ยังเป็นข่าวดีที่หลอกลวง ยังเป็นข่าวดีที่นำความทุกข์มาให้ แต่ถ้าวันใดมนุษย์รู้ว่า มัน คือข่าวดีจริงๆ จะไม่มีใครปฏิเสธข่าวดีแน่นอน

คำว่า “ข่าวดี” นี้ เบื้องต้นท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) มาบอกทางไปสวรรค์ให้กับมนุษย์ ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งหมดที่เราทำนั้น เป้าหมายเพื่อให้ได้อยู่บนสวรรค์ แน่นอนแม้อยู่ในโลกนี้ เราก็อยากได้สวรรค์ อยากได้อะไรได้ดั่งใจ นั่นคือ คุณลักษณะของสวรรค์

ฉะนั้น พึงจำไว้ให้ดี การอยู่ในโลกนี้เราจะไม่มีอะไรได้ดั่งใจทุกอย่าง แต่ถ้าใครอยากได้อะไรให้ได้ดั่งใจทุกอย่าง ขอบอกว่า มี แต่ไม่ใช่ในโลกนี้ แต่อยู่ในสวรรค์ เพราะในโลกนี้มนุษย์ จะไม่ได้อะไรดั่งใจแม้แต่อย่างเดียว

และขอยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เช่น เรื่องสามี เรื่องภรรยา เรื่องลูก เรื่องครอบครัว เรื่องญาติพี่น้อง เรื่องเพื่อนฝูง เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ รวมทั้งหมดในโลกดุนยา มนุษย์จะไม่ได้ดั่งใจทุกอย่างแน่นอน ทว่ามีสถานที่หนึ่ง ที่มนุษย์จะได้ดั่งใจทุกอย่าง คือ “สวรรค์” ดั่งพระมหาคัมภีร์อัลกรุอ่านตรัสว่า

🔻ตัวอย่าง : ซูเราะฮฺ วากีอะฮฺ โองการที่ 21

—————————

وَلَحْمِ طَيْرٍ مِّمَّا يَشْتَهُونَ

(วะละฮฺมี ฏ็อยริน มิมมายัสตะฮูน)

ความว่า และเนื้อนกที่พวกเขาอยากรับประทาน

คำอธิบาย : คำว่า “يَشْتَهُونَ” คือ ทุกอย่างที่เขาประสงค์ อัลลอฮ์(ซบ) อนุมัติจัดให้ เขาจะได้ทั้งหมด

🔻ตัวอย่าง : ซูเราะฮฺ วากีอะฮฺ โองการที่ 20

—————————

وَفَاكِهَةٍ مِّمَّا يَتَخَيَّرُونَ

(วะฟากิฮะติน มิมมายะตะคัยยะรูน)

ความว่า : และผลไม้หลากชนิด ตามแต่พวกเขาจะเลือกกิน

คำอธิบาย :ในอัลกุรอานบอกว่า เขาจะได้“يَتَخَيَّرُونَ”ทุกอย่างตามที่เขาเลือก

🔻ตัวอย่าง : ซูเราะฮฺ วากีอะฮฺ โองการที่ 33

—————————

لَّا مَقْطُوعَةٍ وَلَا مَمْنُوعَةٍ

(ละมักฏูว อะติววะลา มันวูอะฮฺ)

ความว่า : โดยไม่หมดสิ้นตามฤดูและไม่เป็นที่ต้องห้าม

โองการในซูเราะฮ์วากีอะฮ์นี้บอกว่า ในสวรรค์มีสิ่งสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ไม่มีการตัด “لَّا مَقْطُوعَةٍ”

๒. ไม่มีการห้าม “لَا مَمْنُوعَةٍ”

คำอธิบาย : ในสวรรค์ไม่มีการตัด ไม่ขาดตอน ไม่มีการห้าม และในสวรรค์ไม่มีว่า อันนี้ขอไม่ได้ ไม่มีว่า สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนั้นไม่มี หรือในสวรรค์ไม่มีว่า สิ่งที่ต้องการทั้งหมดไม่มี ซึ่งหากจะกล่าวโดยสรุป อยากอะไรได้ ก็จะได้ตามนั้นนั่นเอง

🔘 คำที่สาม คำว่า “وَنَذِيرًا” และผู้ตักเตือน

อย่างไรก็ดี การแจ้งข่าวดีกับมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องสวรรค์นั้น เพียงแค่เบื้องต้นเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) มีข่าวดีมากกว่านี้อีก แต่เหตุผลที่ท่านเก็บเอาไว้ ซึ่งข่าวดี “مُبَشِّرًا” (มุบัชชิรัน) หรือการจะแจ้งข่าวดีว่าหมายถึงเรื่องอะไรบ้างที่ถือว่าดีที่สุดนั้น ก็จะมีรายละเอียดที่ทุกคนต้องค้นคว้าขึ้นไปอีก ตามที่อัลกรุอ่านบอกไว้

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا

และเป็นผู้ที่ตักเตือน เป็นผู้ที่เตือนภัยให้กับมนุษย์ อาทิ อย่าไปทางนี้ อย่าเดินทางนี้ เพราะทางนี้อันตราย มีนรกตลอดกาลรออยู่ และในนรกนั้นมีความทุกข์ที่ไม่มีความสุขใดๆเลย ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากระหายน้ำในนรก สิ่งที่เราจะได้รับคือ ความกระหายเพิ่ม

ดังนั้น “ในนรก” สิ่งที่ต้องตระหนัก ตรงนี้ให้ทุกคนลองจินตนาการกันเอาเองว่า หากเรากระหายน้ำในนรก เมื่ออัลลอฮ์(ซบ)บอกไม่มีน้ำเย็นให้เราได้ดื่มกิน เราจะทุกข์ขนาดไหน

🔻ซูเราะฮ์วากีอะฮ์ โองการที่ 44

—————————

لَّا بَارِدٍ وَلَا كَرِيمٍ

(ลาบา ริดิว วะลาการีม)

ความว่า ไม่ร่มเย็น และไม่เป็นที่น่าชื่มชม

คำอธิบาย : ไม่มีน้ำให้ดื่มกิน ไม่มีความเมตตาใดๆจากพระองค์ แน่นอน เมื่อเราจินตนาการ เราจะเห็นสภาวะ การอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีความเมตตาใดๆจากพระองค์ มีแต่ความทุกข์ไม่มีสุขใดๆเหลืออยู่เลย ก็คือ การอยู่ในนรกในโลกหน้า

ดังนั้น ในดุนยานี้ ไม่มีใครที่ดำเนินชีวิตที่มีแต่ทุกข์ ไม่มีสุข ชัดแจ้งว่าไม่มีในโลกนี้ ไม่ต้องทำตัวน่าสงสาร บางคนทำตัวลำบาก และทุกข์มากจนเกินไป

นี่คือ ส่วนหนึ่งของความหมาย คำที่สาม คือ “نَذِيرًا” (นะซีร)

และในซูเราะฮ์อัลอะฮฺซาบ มีโองการหนึ่ง กล่าวถึงกลุ่มคนที่มีอิหม่านอ่อนแอ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นมูนาฟิก ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ประกาศสงครามในห้วงหน้าร้อน ที่พวกเขาไม่ออกสงคราม โดยตอบด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะในแผ่นดินทะเลทรายตอนนั้นร้อน

เมื่อนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ถามว่า ทำไมพวกเจ้าไม่ออกไปทำสงคราม ในเมื่อมีคำสั่งให้ออกไปทำการญิฮาด

พวกเขาตอบว่า เรื่องอะไรเราจะพุ่งตัวเองไปหาความร้อน ยารอซูลลุลลอฮ์ เราทนไม่ไหวหรอก เพราะมันร้อน

เมื่อนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ได้ยินเช่นนั้น อัลลอฮ์(ซบ) จึงตรัสลงมาผ่านนบี(ศ็อลฯ)ทันที

🔻ซูเราะฮฺอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 81

قُلْ نَارُ جَهَنَّمَ أَشَدُّ حَرًّا ۚ لَّوْ كَانُوا يَفْقَهُونَ

“ จงกล่าวเถิด(มุฮัมหมัด) บอกกับพวกเขาว่า นรกญะฮัมนัมนั้นร้อนแรงยิ่งกว่า หากพวกเขาเข้าใจ”

คำอธิบาย : อัลลอฮ(ซบ) ให้บอกพวกเขาว่า สถานที่ที่ร้อนกว่านี้ยังมีอีก และเป็นสถานที่ที่พวกเจ้าจะได้เจอความร้อนที่ยิ่งกว่า หากพวกเจ้าไม่ได้ออกสงครามในครั้งนี้

กรุอ่านบอกชัดว่า ‘นรกญะฮันนัม’ นั้นร้อนกว่านี้อีก ดังนั้น หากกลัวความร้อนที่โน่นก็จงออกไปหาความร้อนในทะเลทรายแห่งนี้ ตามที่อัลลอฮ์(ซบ)สั่ง

“ในเมื่อพวกเจ้ากลัวความร้อน เช่นนี้แล้ว ก็จงออกไปสู่ความร้อนในโลกนี้ เพื่อเจ้าจะได้ไม่ต้องไปสู่ความร้อนที่ร้อนกว่าในโลกหน้า”

เพื่อชี้ว่า คำว่า “أشد حرا” (อะชัด ดุวฮัรรอ) คือ ความหมายที่ซูเราะฮ์อัลอะฮฺซาบได้กล่าวไว้ และอีกมากมายนานับประการ ที่นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) เตือนมนุษย์ให้รู้

ดังนั้น อะไรที่มนุษย์กลัว ซึ่งหากจะตัฟซีร เช่น การกลัวงู แมงป่อง สมมุติ ขณะที่เรากำลังนอนหลับ จู่ๆ มีงูตัวหนึ่ง ได้เลื้อยขึ้นมาบนเตียง

บริบทนี้ ลองจินตนาการดู หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา จะเป็นอย่างไร แน่นอนทุกคนกลัวงู แต่ที่สิ่งน่ากลัวกว่า คือ ในกุโบร กำลังรอเราอยู่เต็มไปหมด

เพราะแท้จริงแล้วในหลุมฝังศพมีทุกชนิด มีทั้งงู แมงป่อง และอสรพิษต่างๆมากมายที่เราจินตนาการไม่ถึง เหล่านี้จะนอนคู่กับเราในหลุมฝังศพ

แน่นอนในหลุมฝังศพไม่มีใครอยากจะเจอบรรดาอสรพิษต่างๆเหล่านี้ เช่นนี้แล้ว ถ้าไม่อยากเจออสรพิษเหล่านี้ พึงสังวรณ์เลยว่า จงอย่าทำสิ่งใดในโลกนี้ ที่เมื่อเราถูกฝังแล้ว จะได้ไม่ต้องมีบรรดาอสรพิษเหล่านี้มานอนเป็นเพื่อนกับเรา จนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ

ทว่ากรณี หากการกระทำของเรา ทำให้อสรพิษเหล่านี้มานอนกับเราด้วยแล้ว พึงตระหนักไว้เลยว่า บรรดาอสรพิษเหล่านั้น มันไม่ได้มานอนเฉยๆ แต่มันจะฉกเช้าฉกเย็น กัดเช้ากัดเย็น รวมทั้งรัดตัว เสมือนงูเหลือมรัดตัว จนเรารวยริน อยู่ในสภาพเกือบตาย มันก็จะปล่อย จากนั้นมันก็รอให้เราแข็งแรงขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วมันก็กลับมาปฏิบัติการใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ

ดังนั้น ด้วยกับความน่าสะพรึงกลัวเหล่านี้ ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) จึงถูกส่งลงมาบอกว่า อย่าทำอย่างนี้ อย่านินทาคน อย่าให้ร้ายคน อย่าตักกะโบร อย่างจองหอง อย่าลำพอง อย่าอะไรต่อมิอะไร

ดังนั้น เราต้องศึกษาในหนังสือ “เรื่องผลของอามั้ล” อินชาอัลลอฮฺ ผลของอามั้ลต่างๆที่มนุษย์ทำนั้น เบื้องต้น นบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) มาเพื่อการนี้ นั่นก็คือ

“وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا “

(ผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน)

นี่คือ ข่าวดีประการแรก

🔴 ข่าวดีประการ ๒

🔻 ซูเราะฮฺอัลอัฮซาบ โองการที่ 46

——————

وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ بِإِذْنِهِ وَسِرَاجًا مُّنِيرًا

และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ ตามพระบัญชาของพระองค์ และเป็นดวงประทีปอันแจ่มจรัส

คำอธิบาย : โองการนี้ หากมีเวลาตัฟซีร จะยิ่งทำให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น

“وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ بِإِذْنِهِ”

(วะดาอิยัล อิลัลลอฮิ บิอิซนิฮฺ)

คำอธิบาย : และเป็นผู้เรียกร้องเชิญชวน เป็น “ دَاعِيً ”(ดาอียฺ) ไปยังอัลลอฮ์ “بِإِذْنِهِ” (บิอิซนิฮฺ) ด้วยอนุมัติของพระองค์

ทีนี้ หากพิจารณาประโยคข้างต้น จะเห็นว่า คำนี้พิเศษ ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก อุปมาว่า ถ้าเราจะบอกว่า นี่คือ การสั่งสอน เผยแผ่ศาสนาแบบทั่วไป หรืออะไรทั้งหมด เราเรียกว่า

“ وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا”

และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน แต่มีภารกิจพิเศษ ที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้นพระองค์ตรัสว่า….

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ إِنَّا أَرْسَلْنَاكَ شَاهِدًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا

โอ้ นะบีเอ๋ย! แท้จริง เราได้ส่งเจ้ามาเพื่อให้เป็นพยาน และผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน โดยปิดท้ายด้วยประโยค

“وَدَاعِيًا إِلَى اللَّهِ”

(วะดาอิยัล อิลัลลอฮฺ)

และเรียกร้องเชิญชวนพามนุษย์ไปยังอัลลอฮ์(ซบ)

ณ ตรงนี้ ขอ(วงเล็บ)เน้นว่า ไม่ใช่การเผยแพร่ศาสนาโดยทั่วไป แต่จะพูดในภาษาที่บรรดาอุลามาอฺอิรฟานให้ทัศนะ ซึ่งความหมายนี้ คือ “وصل” (วัศลฺ) มนุษย์ไปยังอัลลอฮ์(ซบ)

คำว่า “وصل” (วัศลฺ) หมายถึง การเชื่อม และ “วัศลฺ” ในที่นี้ ก็คือ การเชื่อมต่อมนุษย์ไปยังอัลลอฮ์ เช่นนี้แล้ว สิ่งนี้จึงไม่ใช่เรื่องคำสั่งสอนธรรมดาทั่วไป ทว่ายังมีคำที่สูงส่งมากกว่านี้ ซึ่งหากว่าเราจะพูดในค่ำคืนแห่งบะรอกัตนี้ ก็คือ การทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับอัลลอฮ์(ซบ) นั่นเอง

“การทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับอัลลอฮ์(ซบ)” คือ การพัฒนาการทางศาสนาที่สูงสุดที่เคยมีมา หรือเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยปรากฏในคัมภีร์ใดๆด้วย อัลฮัมดุลิลลาฮฺ