ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ บทที่ ๒/๑
มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.) ค่ำที่ ๒ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๐ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ก่อนอื่นขอชุโกรในเนี้ยะมัตและเตาฟีกแห่งเดือนมุฮัรรอมุลฮารอม ที่เอกองค์ อัลลอฮ์ ซบ. ได้ประทานเตาฟีกนี้ ให้กับพวกเราทุกๆ คน ได้เป็นผู้ที่ร่วมกันรำลึก ถึงการรำลึกอันยิ่งใหญ่ การรำลึกที่เป็นการรำลึกเเห่งสากลจักรวาล การรำลึกที่จะทำให้เรานั้นรอดพ้น หรือจะทำให้เรานั้นเป็นผู้รอดในวันกิยามัต
ชัดแจ้งว่า การรำลึกนี้มีค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อค่ำคืนที่ ๑ มุฮัรรอม ๑๔๔๐ นั้น ก็ได้อธิบายบะรอกัตบางส่วน ดั่งตัวอย่าง
๑. เสื้อดำ ที่เราสวมใส่ในเดือนมุฮัรรอมและศอฟัร อาจจะเป็นเสื้อที่ทำการชะฟาอัตเราได้
๒.น้ำตา ที่เราได้หลั่งในทุกค่ำคืนเหล่านี้ อาจจะเป็นน้ำตาที่ทำการชะฟาอัตเราได้
๓.ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ที่เราได้ใช้จ่ายไปในมัจญลิซเหล่านี้ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เช่น ร่วมกันบริจาคในการซื้อผ้าดำ ร่วมกันบริจาคการทำอาหารให้กับมัจญลิซ หรืออะไรก็ตามที่ใช้ในการนี้ พึงรู้เถิดว่า เงินทองที่เราใช้จ่ายไปกับสิ่งเหล่านี้ จะทำการชะฟาอัตเราได้
ทว่าเงินทองและทรัพย์สินอื่นๆ ที่เราใช้จ่ายในการส่วนตัวของเราเองนั้น ไม่มีค่าใดๆ ในโลกหน้า
ดังนั้น ทรัพย์สินเงินทองที่เราบริจาคไปในหนทางศาสนาเท่านั้น ที่จะช่วยเหลือเราในวันกิยามัตได้ และโดยเฉพาะทรัพย์สินเงินทองที่ “เอี้ยะฮ์ยา” เรื่องราวของอิมามฮูเซน (อ.) และที่บริจาคเพื่อให้เรื่องราวของอิมามฮูเซน(อ)นั้น ยังคงดำรงและเร่าร้อนอยู่ ตรงนี้ ขอให้มั่นใจเถิดว่า ทรัพย์สินเงินทองที่ใช้ในการศาสนาเหล่านี้ สามารถชะฟาอัตเราได้
ดังนั้น จงอย่าตระหนี่ถี่เหนียวให้มาก เพราะในอัลกุรอ่าน และในฮะดิษได้บอกรายละเอียดทั้งหมด ว่า “อินนัล บาฆิล มัน บาฆิลา ลินัฟซิห์” ความหมาย : “แท้จริงพวกบะฆีลทั้งหลายนั้น คือ พวกที่บะฆีลสำหรับตนเอง”
และขอย้ำเตือนว่า การใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองในหนทางศาสนานั้น ต้องไม่เป็นเศษสตางค์ และต้องไม่เป็นเศษอาหาร
ฉะนั้น ขอให้คิดถึงเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะหากเราตระหนี่ถี่เหนียวในการบริจาคทรัพย์สินเงินทองในหนทางของศาสนา พึงรู้เถิดว่า…น้ำตาที่เราร้องไห้ให้กับอิมามฮูเซน(อ) ในขณะที่เรายังดำเนินวิถีแบบตระหนี่และการกระทำอื่นๆ เพื่ออิมามฮูเซน(อ)นั้น รับรู้ได้เลยว่า เป็นน้ำตาที่ไร้ค่า
เพราความหมายที่แท้จริงของน้ำตาที่หลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ) นั้น คือ น้ำตาที่สามารถชำระล้างจิตวิญญาณได้
ตัวอย่าง
• ความบะฆีล
น้ำตาที่แท้จริงที่หลั่งให้กับอิมามฮูเซนนั้น จะต้องล้างความบะฆีน(ความตระหนี่ถี่เหนียว) นี้ให้เราได้
• ความขี้ขลาด
น้ำตาที่เราหลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ)นั้น จะต้องเป็นน้ำตาที่ล้างความขี้ขลาดของเราได้
• ความเห็นแก่ตัว
หากในสังคม เราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวอยู่เสมอ
น้ำตาที่หลั่งให้กับอิมามฮูเซน(อ) ที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นน้ำตาที่ล้างความเห็นแก่ตัวให้กับเราได้• ความอิจฉาริษยา
หากเราเป็นคนที่อิจฉาริษยาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราร้องให้กับอิมามฮูเซน(อ) น้ำตานี้ จะเป็นน้ำตาที่ล้างความชั่วทางจิตวิญญานของเราได้ และเรื่องอื่นๆทั้งหมด ที่เราหลั่งน้ำตาด้วยความเข้าใจแบบนี้เท่านั้น จึงจะชะฟาอัตให้กับเราได้
■ มรรคผลที่ได้จากการหลั่งตาให้กับอิมามฮูเซน(อ)
ปกติทั่วไป ส่วนมากพบว่า การหลั่งน้ำตาแห่งศาสนา ถือเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ บางคนทั้งชีวิตอาจจะยังไม่เคยหลั่งน้ำตาให้กับศาสนาก็ได้
ทว่าความดีอย่างหนึ่งของการรำลึกเรื่องราวของอบาอับดิลลาฮูเซน กลับทำให้เราสามารถร้องไห้ได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นในเรื่องราวของอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)ในเมื่อสามารถทำให้น้ำตาของมนุษย์นั้นหลั่งมาอย่างง่ายดายได้แล้ว เราจะต้องตรวจสอบพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราด้วยว่า น้ำตาต่างๆเหล่านี้ได้ชำระล้างความสกปรกทางจิตวิญญานของเราหรือไม่
ทีนี้มาทำความเข้าใจ ความสกปรกทางจิตวิญญาณพอสังเขป ซึ่งในที่นี้ หมายถึงรวมทั้งหมด เพราะสิ่งสกปรกทางจิตวิญญานนั้น ไม่ได้แปลเฉพาะการทำชั่วเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ความบะฆีล ความเห็นแก่ตัว ความเอาเปรียบสังคม ความตระหนี่ถี่เหนียว ความอิจฉาริษยา และอีกมากมาย.
เพื่อชี้ว่า บริบทข้างต้น คือ ความสกปรกทางจิตวิญญาน ซึ่งโดยปกติเราก็จะต้องชำระล้างอยู่แล้ว แต่ในโอกาสแห่งการรำลึกถึงอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) การร้องไห้ให้กับอะลุลบัยต์ (อ.) นั้น จึงมีบาระกัตที่เหนือกว่า บาระกัตที่มากกว่า ที่จะสามารถช่วยชำระล้างจิตวิญญานของเราได้
■ ความมหัศจรรย์ของการรำลึกเรื่องราวแห่งกัรบาลา
สิ่งแรกที่อยากจะฝาก เพราะเราบอกไว้แล้วว่า เรื่องราวแห่งกัรบาลามีมิติต่างๆอย่างมากมาย เพื่อชี้ว่า กัรบาลา ไม่ใช่เรื่องของการฟันดาบแล้วหลั่งเลือดเพียงอย่างเดียว และแม้นกัรบาลาอาจจะเริ่มในรูปลักษณะของสงคราม แต่ความจริงแล้ว มันไม่ได้มีบริบทของสงครามเพียงอย่างเดียว
ทว่าบริบทที่แท้จริง บริบทที่ยิ่งใหญ่แห่งวีรกรรมนี้ เป็นการนำมนุษย์เข้าสู่อูบูดียะฮ์ต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างแท้จริงและอย่างสมบูรณ์
• อูบูดียะฮ์ คือ การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริงและอย่างสมบูรณ์
• อูบูดียะฮ์ คือ การดำเนินชีวิตของเราทั้งชีวิต (รีฎอ รอฎี)พึงพอใจในสิ่งที่เอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นผู้กำหนด และดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ (ซบ.) ด้วยความยินดี นั่นเอง
ข้อพิจารณา มีคำว่า “ด้วยความยินดี”
คำถาม จะมีใครสักกี่คนบนโลกนี้ที่ดำเนินขีวิตตามพระประสงค์ของอัลลอฮ(ซบ) ด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ด้วยความพึงพอใจ พร้อมที่จะปฏิบัติทุกคำสั่งของพระองค์ ถึงแม้นว่ามันจะลำบากกายและลำบากใจขนาดไหน แต่เขาก็พร้อมที่จะปฏิบัติ
เพราะการปฏิบัติในเรื่องราวของศาสนานั้น มี 2 สิ่งที่เป็นควาามลำบาก ซึ่งในอัลกุรอ่านก็ใช้คำนี้ตลอดมา (บะซา อิวัฎฎ็อรรอ…)
๑. การลำบากใจ เช่น ถูกรบกวนใจ …
๒.ลำบากกาย เช่น ถูกทุบตี ถูกเฆี่ยน ถูกฆ่า ถูกคุมขัง ถูกจับกุม
เห็นได้ว่า ทั้ง 2 ความลำบาก อยู่ในคำว่า “ฎ็อรรอ” ฉนั้น การนับถือศาสนาจะถูกทดสอบด้วย 2 สิ่งนี้
บ่งบอกว่า ปราศจากอูบูดียะฮ์ที่แท้จริง มนุษย์ไม่มีทางที่จะรอดพ้น และชี้ไปที่บทเรียนแห่งกัรบาลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ บทเรียนแห่งอูบูดียะฮ์นี้ และเป็นบทเรียนที่สูงกว่าทุกๆ อูบูดียะฮ์ที่มีมาในโลกนี้ อินชาอัลลอฮ์ในคืนต่อไป เราจะมาอธิบายว่ามันสูงส่งกว่าทุกๆ อูบูดียะฮ์อย่างไร
ดังนั้น อย่าได้สรุปศาสนา ด้วยกับการละหมาดครบห้าเวลา ส่วนกรณี ผู้ที่ไม่ละหมาดนั้น คงไม่ต้องไม่ต้องกล่าวถึงแล้ว เพราะไม่มีใครโชคร้ายเท่าพวกนี้อีกแล้ว เพราะเขาเกิดมาเสียชาติเกิด และอย่าได้คิดว่าเราคลุมฮิญาบแล้ว ส่วนคนที่ไม่คลุมฮิญาบก็เช่นกัน คงไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะศาสนาไม่ได้สรุปเรื่องราวต่างๆเหล่านี้เพียงเท่านั้น
และเมื่อใดก็ตาม หากเราสรุปการทำอิบาดัต การเคารพภักดีอัลลอฮ์ (ซบ.) ในแบบดังกล่าวข้างต้น พึงรู้เถิดว่า การละหมาด ที่เราก้มๆเงยๆนั้น ไม่มีอะไรที่ต่างกันระหว่างเรากับอิบลิสเลย
และยิ่งหากเราเข้าไปในรายละเอียดการทำอิบาดัต จะพบว่า อิบลิสดีกว่าเรา เพราะอิบลิสทำอิบาดัตมากกว่าเราถึง 6,000 ปี และแน่นอนมนุษย์ไม่มีใครอายุถึง 6,000 ปี อย่างมากแค่ 100 ปี หลังจากนี้ ที่อยู่รอดก็เหลือน้อยแล้ว
ดังนั้น อย่าได้สรุปศาสนาอยู่ที่เพียงการทำละหมาดครบ หรือไม่กินเหล้า หรือคลุมฮิญาบ ฯลฯ เพราะความดีของศาสนาต้องดูที่องค์รวมทั้งหมด
ตัวอย่าง : ผู้ศรัทธาที่แท้จริงต้องอยู่ในแถวหน้าของทุกสนาม
เป็นที่น่าแปลกในเรื่องการบริจาค เรามักจะอยู่แถวหลัง ในขณะเวลาละหมาดทุกคนกลับอยากยืนอยู่แถวหน้า อาจเป็นเพราะไม่ต้องเสียเงินเสียทองและดูเท่ห์
เห็นได้ว่า ลักษณะนี้ ไม่ใช่การนับถือศาสนาที่แท้จริง
ดังนั้น ในเรื่องการบริจาค เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ด้วยการพยายามอยู่แถวหน้าของการบริจาคให้ได้ รวมไปถึงองค์รวมเมื่อพูดถึงบริบทของสิ่งหนึ่งที่อิสลามกำหนด (หากทำได้)ผู้ศรัทธาที่แท้จริง จะต้องอยู่ในแถวหน้าของทุกสนามนั่นเอง
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
………………………………..
ถอดบทความโดย กัสมา พีรูซอะลี
หมายเหตุ : มีทั้งหมด ๕ ตอน