มัจญลิสวันคล้ายวันวีลาดัตอิมามริฎอ (อ)ตอนที่ ๑
ค่ำที่ ๑๑ ซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. ๑๔๔๐ ( ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒)
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ณ มัสยิดรูฮุลลอฮฺ จ.นครศรีธรรมราช
อิมามริฎอ(อ) อิมามุรรออูฟผู้ยิ่งใหญ่
หนึ่งในฉายานามที่มีชื่อเสียงของท่านอิมามริฎอ (อ) คือ “อิมามรออูฟ” ที่มาของการตั้งฉายานาม “อิมามุรรออูฟ”
คำว่า “รออูฟ” หมายถึง ความเมตตาพิเศษ ที่ละเอียดอ่อน และละมุนละไม
ฉายานาม “อิมามุรรออูฟ” ท่านอิมามริฎอ(อ)คือ อิมามเพียงท่านเดียวที่ได้ฉายานี้ แน่นอนเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินกันนัก
ทว่าที่ท่านได้ฉายานี้ สืบเนื่องมาจากความละเอียดอ่อนทางด้านความเมตตา การช่วยเหลือ การชาฟาอัตที่มีต่อบรรดาชีอะฮ์ รวมทั้งบุคคลที่มีความรักต่อท่านอิมามริฎอ(อ) ทั้งบุคคลที่ได้ไป และไม่ได้ไปซิยารัตยังฮะรัมของท่าน
ด้วยกับเรื่องการชะฟาอัตของท่านอิมามริฎอ(อ)เป็นที่ร่ำลือและมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่า อิมามที่ให้การชะฟาอัตทุกเรื่อง ทุกแง่มุม ให้กับผู้คนนับเป็นจำนวนมากและเห็นกันมากที่สุด คือ ท่านอิมามริฎอ (อ)
คุณูปการอันยิ่งใหญ่ประการต่อมา เนื่องจากฮะรัมของอิมามริฏอ(อ) คือ ฮะรัมที่มีผู้คนไปซิยารัตมากที่สุด โดยเฉพาะในค่ำคืนนี้ หากนับจำนวนผู้คนที่ไปซิยารัต พบว่า ไม่น้อยกว่าสองล้านคน ได้มาปรากฏตัวอยู่ในฮะรัมของท่านอิมามริฎอ (อ)
และบางปีในค่ำคืนนี้พบว่ามีคลื่นมหาชนจากทั่วสารทิศรวมตัวกันถึงสามล้านคน ต่างมาเพราะคำร่ำลือ ซึ่งเล่ากันว่า ท่านอิมามริฏอ(อ.) สามารถชะฟาอัตเรื่องของทางโลกได้ทุกปัญหา
ข้อสังเกต : เราจะเห็นผู้คนที่ไปขอชะฟาอัตในทุกเรื่องราวกับท่านอิมามริฏอ(อ.) บางคนยืนอยู่ ณ ฮะรัมของท่าน บางคนยืนอยู่หน้าซาเรี๊ยะฮ์หรือไปยืนอยู่ที่ประตูเหล็กแห่งการชะฟาอัต
อินชาอัลลอฮฺขอให้พวกเราทุกๆคนมีโอกาส อย่างน้อย ๑ ครั้งในชีวิตได้ไปปรากฏตัวอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประตูเหล็กแห่งการชะฟาอัตหรือในซาเรี๊ยะฮ์ ในตัวโดมของท่านอิมามริฎอ (อ.) เพื่อไปสัมผัสถึงบรรยากาศแห่งจิตวิญญาณ สัมผัสถึงการช่วยเหลือที่เป็นการช่วยเหลือที่ลี้ลับ ซึ่งเหนือมิติที่มนุษย์ทั่วๆไป จะทำความเข้าใจได้
นี่คือ อีกหนึ่งคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่มนุษยชาติได้รับจากท่านอิมามริฎอ(อ)
อิมามริฎอ(อ)คือ ฆอริบัล ฆุรอบา(غَرِيبَ الغُرَبَأ )
อิมามริฎอ(อ) ได้ฉายานี้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวครั้งแรกของท่าน เป็นการ เคลื่อนไหวที่โดดเดี่ยว และเดียวดาย แน่นอน “ฆอรีบัล ฆุรอบา” ทุกคนรู้จัก และคุ้นเคยเป็นอย่างดี
“السَلامُ عَلَيْكَ ياغَرِيبَ الغُرَبَأ”
(อัสลามูอาลัยกา ยาฆอรีบัลฆุรอบา)
คำอธิบาย : สลามไปยังอิมามที่ “غريب” ที่สุด (คำว่า “ฆอรีบ” แปลว่า โดดเดี่ยว เดียวดาย) เพราะ อิมามริฎอ(อ) คือ อิมามที่จะต้องกลายเป็นคนแปลกหน้า อีกทั้งอิมามริฎอ (อ) ยังเป็นอิมามเพียงท่านเดียวที่ไปเสียชีวิตนอกแผ่นดินอาหรับคือ ไปเสียชีวิตในดินแดนของอะญัม(عجم)ส่วนอิมามท่านอื่นๆนั้น เสียชีวิตในแผ่นดินอาหรับ ซึ่งอะญัม(عجم) ในที่นี้ หมายถึง บุคคลที่ไม่ใช่อาหรับ แต่เป็นอะญัมที่ประเสริฐสุด ที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้วางไว้
ความประเสริฐและความยิ่งใหญ่ของชาวอิหร่าน
ความประเสริฐของชาวอิหร่าน มีปรากฏทั้งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และในบรรดาฮาดิษอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่ฮาดิษที่มาจากท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลฯ) จนกระทั่งถึงอิมามทั้ง 12 ท่าน และเรายังมีฮาดิษจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (สลามุลลอฮฯ) ซึ่งหากย้อนหลังไปประมาณ 50-60 ปีที่แล้ว เราอาจจะยังมองไม่ออกและยังสงสัยอยู่ว่า ชาวอิหร่านมีความประเสริฐและยิ่งใหญ่ตรงไหน ถึงขั้นที่ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลฯ) ได้ตัฟซีรกุรอานไว้ล่วงหน้า
ซูเราะฮ์ มูฮัมหมัด โองการที่ 38
——————
“إِن تَتَوَلَّوْا يَسْتَبْدِلْ قَوْمًا غَيْرَكُمْ ثُمَّ لَا يَكُونُوا أَمْثَالَكُم”
(อินตะตะวัลเลา ยัซตับดิล เกามัน ฆ็อยรอกุม สมมาลา ยากูนู อัมซาละกุม)
ความว่า ถ้าพวกเจ้าผินหลังออก พระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนชนชาติอื่นแทนพวกเจ้า แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะไม่เป็นเช่นพวกเจ้า
บรรดาศอฮาบะฮ์ จึงถามว่า “ยารอซูลุลลอฮฺ ใครกันหรือ ประชาชาติอื่นที่อัลลอฮฺจะนำมาทดแทนพวกเรา และจะดีไม่เหมือนเช่นพวกเรา”
คำอธิบาย : คือ ประชาชาติที่ดีมาก ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ไม่กลับกลอกไปเรื่อยๆ
ท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) ได้ตบด้วยมือของท่านไปที่หัวไหล่ของท่านซัลมาน อัลฟาร์ซี ต่อหน้าบรรดาซอฮาบะฮ์ทุกคน โดยกล่าวว่า
“هَذَا وَقَوْمُهُ”
(ฮาซา วะเกามูฮู)
“นี่ ชายคนนี้และประชาชาติของเขา”
และ ท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ)ยังได้ต่อฮะดิษบทนี้ด้วยประโยคที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดว่า
“وَ لَوْ كَانَ الْإِيمَانُ بِالثُّرَيَّا”
(วะเลากานัล อีมานุบิซซูร็อยยา)
และมาตรแม้นว่าอิหม่าน หรืออุปมาว่า คนเราจะมีอิหม่านได้ ต้องขึ้นไปเอาที่ดาวลูกไก่ “بِالثُّرَيَّا” (บิซซูร็อยยา) ซึ่งหากเปรียบกับพวกเรา อิมามขึ้นมัสยิดแล้ว พวกเรายังมาไม่ถึงกันเลย อีกทั้งจำนวนมากของพวกเรา แม้เพียงจะเดินทางจากบ้าน เพื่อร่วมมัจญลิสที่มัสยิด ยังเป็นสิ่งที่ยากลำบาก
อย่างไรก็ดี เราขอชมเชยด้วยการให้คะแนนคนที่มาไกล ไม่ว่าจะมาจากกระบี่ สตูล หรือมาจากไหนก็ตาม ถือว่าได้อานิสงส์นี้ไป
ทว่าสำหรับชาวอิหร่านที่ท่านรอซูลุลลอฮฺ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวถึง พวกเขาเดินทางไม่ใช่เพียงจากสตูล หรือกระบี่ มายังนครศรีธรรมราช แต่รอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า… “มาตรแม้นอิหม่าน คือ จะมีอิหม่านได้ ต้องไปเอาที่ดาวลูกไก่” และยิ่งยุคสมัยนั้น ชาวอาหรับไม่มีจรวด ไม่มีอะไรเลย นอกจากขี่อูฐในทะเลทราย แต่รอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) กล่าวว่า
( “لَتَناَوَلَهُ رِجاَلٌ مِنَ الْفُرْسِ”
(ลาตะนาวะละฮุ รีญาลุน มินัลฟุรซี)
ถ้าอิหม่านอยู่ที่ดาวลูกไก่ ชาวเปอร์เซียก็จะไปเอาอิหม่านที่นั้น หมายความว่า อะไรที่ทำให้มีอิหม่านได้ แม้จะอยู่ไกลมากขนาดไหน ชาวเปอร์เซียก็ไปถึง แล้วคว้าเอามาได้อย่างแน่นอน
คำอธิบาย : เพื่อให้เข้าใจง่ายว่า ไม่ว่าจะยากลำบากขนาดไหนพวกเขา(ชาวเปอร์เซีย)ก็จะไป ซึ่งต่างกันมากกับพวกเรา ในขณะที่พวกเราเพียงมาสุเหร่า มามัสยิด มาร่วมมัจญลิส ทั้งๆที่รู้ว่า อิหม่านของเราเพิ่มแล้ว แต่เราก็ยังมากันไม่ได้ ครั้นเมื่อพวกเราลงจากมัสยิดไปแล้ว อิหม่านจะลดลงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเมื่อใดที่พวกเราขึ้นมัสยิด มาฟังคำบรรยายศาสนา จากบรรดาเชคหรือบรรดาซัยยิดต่างๆนั้น พึงมั่นใจเลยว่า อิหม่านของเราเพิ่มขึ้นแล้วแน่นอน
ดังนั้น เมื่ออิหม่านของเราเพิ่มขึ้นแล้ว การจะรักษาระดับให้อยู่ได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง แต่สำหรับชาวอิหร่าน ท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
“وَ لَوْ كَانَ الْإِيمَانُ بِالثُّرَيَّا لَتَناَوَلَهُ رِجاَلٌ مِنَ الْفُرْسِ”
(วะเลากานัล อีมานุบิซซูร็อยยา ลาตะนาวะละฮุ รีญาลุน มินัลฟุรซี)
“และมาตรแม้นการจะได้อิหม่าน แสนยากเย็น ทุกข์เข็ญ ลำบากเสมือนกับการต้องขึ้นไปเอาบนดาวลูกไก่ ชาวเปอร์เซียก็จะไปถึง และไปเอามันลงมา”
โปรดติดตาม ตอนที่ ๒….
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.
ถอดบทความโดย คอยรูนนีซา ธำรงทรัพย์