ชะฮาดัต “ท่านอิมาม มุฮัมมัด บากิร (อ)” ผู้เปิดประตูความรู้ของนบี (ตอนที่ 2 )

122

มัจญลิสวันชะฮาดัต ท่านอิมาม มุฮัมมัด บากิร (อ) ตอนที่ ๒

บรรยายโดย: ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี


อิมามบากิร(อ)ผู้เปิดประตูความรู้ของนบี

อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) เป็นอิมามท่านที่ห้าของโลกมุสลิมชีอะฮฺอิมามียะฮฺ ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) โดยตรงและเป็นผู้เปิดประตูความรู้ของอะฮฺลุลบัยตฺ(อ)….!!!

ในสมัยการดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประชาชาติอิสลามของท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) คือยุคสมัยที่ความรู้ของอิสลามได้ถูกเผยแผ่ออกไปอย่างแพร่หลายมากที่สุด ถึงแม้ว่าบรรดาศัตรูของวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยตฺ (อ) ในคราบมุสลิมจอมปลอมจะคอยขัดขวางและทำลายอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่สามารถกล่าวได้ว่า…

 ยุคของ อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) คือ “ยุคแห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาการความรู้แห่งอะฮฺลุลบัยตฺ (อ) อย่างเต็มรูปแบบ”

เนื่องจากก่อนหน้านี้บรรดาอิมาม (อ)ทุกท่านล้วนแต่อยู่ในภาวะที่ถูกบีบบังคับ และได้รับความกดดันจากผู้ปกครองที่กดขี่อย่างมาก ทว่าในยุคของท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ) เป็นยุคที่บนีอุมัยยะฮฺกำลังอยู่ในภาวะแห่งการล่มสลาย จึงทำให้ภาวะความกดดันจากผู้ปกครองของราชวงศ์บนีอุมัยยะฮฺลดน้อยลง ความขัดแย้งภายในรุนแรงของราชวงศ์บนีอุมัยยะฮฺจึงไม่มีเวลาใส่ใจต่อประชาชนเท่าใดนัก

ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ) จึงใช้โอกาสในช่วงนี้ทำการเผยแผ่วิชาการของอิสลามของอะหลุลบัยตฺ(อ) จนสามารถสร้างลูกศิษย์ที่มีคุณภาพจำนวนมากมอบให้กับโลกอิสลาม ถึงแม้ว่า วิชาการแห่งอิสลามจะรุ่งเรืองที่สุดในยุคของท่าน อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) แต่ผู้วางรากฐานที่แท้จริงคือ อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ)

อิมามมุฮัมมัดบากิร (อ) จะมุ่งแค่การสอนสั่งวิชาการ และเผยแผ่ศาสนา แต่นักปกครองในตระกูลอุมัยยะฮ์ ก็ไม่สามารถจะทนรับสภาพการดำรงอยู่ของอิมามบากิร (อ) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประชาชนได้ตระหนักถึงเกียรติคุณ และวิชาการของท่านอิมาม (อ)

ดังนั้น ด้วยกับบุคลิกภาพทั้งในด้านจริยธรรม และมนุษยธรรมของท่านได้ทำให้ประชาชนนิยมยกย่อง ขณะเดียวกับที่ท่านมีเชื้อสายสืบไปถึงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) โดยตรง ยิ่งทำให้ฐานภาพของท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) มีความยิ่งใหญ่อยู่ในหัวใจของบรรดามุสลิมทั้งหลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเป็นคนมีความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า แก้ไขปรับปรุงสภาพสังคม และรับใช้อิสลามตลอดทั้งมวลมุสลิม และได้เผยแผ่ความรู้ของบรรดาอะฮฺลุลบัยต (อ) จนตกทอดมายุคปัจจุบันนี้……

อิมามบากิร(อ) ในเหตุการณ์กัรบาลาอฺ

ทีนี้ เรามาศึกษาเรื่องราวของท่านอิมามบากิร(อ) มีรายงานบันทึกว่า ท่านถือกำเนิดในช่วงใกล้ๆกับเหตุการณ์กัรบาลาอฺ ช่วงเกิดเหตุการณ์กัรบาลาอฺนั้นท่านมีอายุประมาณ 3 ขวบเศษ ซึ่งในบางริวายัตได้บอกว่าท่านอยู่ในเหตุการณ์กัรบาลาอฺ แต่ว่ายังเป็นเด็กทารกอยู่ หลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺช่วงจังหวะหนึ่งสถานการณ์เกิดการพลิกผัน ตลอดระยะเวลา 50 ปีหลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺอันเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และทั้งในประวัติศาสตร์ของศาสนา ที่บนีอุมัยยะฮ์ได้สร้างเอาไว้ที่กัรบาลาอฺนั้นได้นำความอ่อนแอสู่โลกอิสลาม

หลังจากเลือดของท่านอิมามฮูเซน(อ)และบรรดาชูฮาดาทั้งหมดที่ร่วมกับท่านอิมามฮูเซนในกัรบาลาอฺได้หลั่งลงบนพื้นแผ่นดินกัรบาลาอฺ นั่นคืออำนาจของบนีอุมัยยะฮ์เริ่มนับถอยหลังอย่างชัดแจ้ง ซึ่งสืบเนื่องจากบนีอุมัยยะฮ์ได้สร้างฐานอำนาจที่ชาม (ซีเรียในยุคปัจจุบัน) แต่ว่าชามในอดีตนั้นอาจจะรวมไปถึงเลบานอนและรวมไปยังบางส่วนของจอร์แดน โดยในแผ่นดินนั้นพบว่า บุคคลที่เข้ารับอิสลามในยุคที่บนีอุมัยยะฮ์เรืองอำนาจนั้นไม่เคยสัมผัสกับความรู้ที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะอิสลามที่พวกเขาเข้าใจและเรียนรู้อิสลามที่ถูกยัดเหยียดให้กับพวกเขานั้น คือ อิสลามแห่งบนีอุมัยยะฮ์ที่ได้ถูกก่อขึ้น

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้มุสลิมในแผ่นดินชามเกือบทั้งหมด คือมุสลิมที่ต่อต้านอะฮลุลบัยต(อ) ถึงขั้นที่มีการสาปแช่งบรรดาอะฮลุลบัยต(อ)ในพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา

สัญลักษณ์และภารกิจในยุคของ ๓ อิมาม
  •  สัญลักษณ์ของอิมามฮูเซน(อ)คือ สัญลักษณ์ของการพลี….. สัญลักษณ์ของความห้าวหาญ…… แบบฉบับแห่งการปฏิวัติอันนี้ได้ถูกมอบให้กับอิมามฮุเซน(อ)
  • สัญลักษณ์ของท่านอิมามฮาซัน อัลมุจญตะบา(อ) คือ สัญลักษณ์ของการเมืองการเจรจา ที่ทำให้แนวทางนี้รอดพ้นมาได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยความสามารถและความอดทนของท่านอิมามฮาซัน อัลมุจญตะบา(อ)
  • สัญลักษณ์ของ อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ)

จากการค้นคว้า พบว่า สัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของท่านอิมามบากิร(อ)คือ สัญลักษณ์ของความรู้ ถ้ามีความรู้ที่สำคัญที่ยิ่งใหญ่ในอิสลามที่สูงส่ง ที่หลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าความรู้นั้นจะอยู่ในฝ่ายพี่น้องชาวอะฮฺลิสซุนนะฮฺ หรือความรู้นั้นจะอยู่ในแนวทางแห่งชีอะฮฺอิมามียะฮฺ พึงรู้ไว้เถิดว่าความรู้ที่สูงส่งเหล่านั้นมาจากบะรอกัตของท่านอิมามบากิร(อ.).

แม้นว่าบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)จะมีความรู้ที่เหมือนๆกันและมีความรู้ที่เท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากบรรดาอิมามต่างๆเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้แสดงความรู้อันยิ่งใหญ่ที่ได้ถูกส่งมอบกันมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน ทว่าท่านอิมามบากิร(อ.)ได้ประสบโอกาสอันนั้น เพราะท่านได้มีชีวิตหรือดำรงตำแหน่งอิมามในเวลาที่เหมาะสมสำหรับเรื่องๆนี้ (เรื่องของความรู้ ) ที่สืบเนื่องจากท่านอิมามบากิร(อ.)ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมามหลังจากเรื่องราวกัรบะลาอฺ

และหลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺนั้นท่านก็ยังมีชีวิตอยู่อีกสามสิบกว่าปี อีกทั้งหลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นและเป็นเหตุการณ์ที่เป็นประโยชน์กับบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ.) นั้นคือ หลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺและการปฏิวัติของท่านอิมามฮุเซน(อ.)สถานการณ์ในวันนั้นได้สร้างความระส่ำระสายและสั่นคลอนต่ออาณาจักรทรราชของบนีอุมัยยะฮฺ

ในการชี้ว่า หลังจากที่พวกเขาได้ก่ออาชญากรรมกับวงศ์วานของรอซูล(ซล)อย่างมากมาย ก็เกิดปฏิกิริยามากมายจากประชาชาติอิสลาม เกิดการปฏิวัติอื่นๆตามมา….เกิดการก่อกบฏต่ออำนาจการปกครองรัฐทรราชของบนีอุมัยยะฮฺ ทั้งในเมืองมะดีนะฮฺ…. มักกะฮฺ….. และในอิรักโดยเฉพาะในเมืองกูฟะฮฺ

อีกทั้งเกิดขบวนการต่างๆขึ้นอย่างมากมายไม่ว่าขบวนการนั้นจะเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจก็ตาม เพราะหลายๆขบวนการที่เกิดขึ้นนั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงอำนาจ อย่างเช่น เกิดขบวนการต่อต้านการปกครองของบนีอุมัยยะฮฺจากลูกหลานของซุเบร โดยเฉพาะภายใต้แกนนำของอับดุลลอฮฺ อิบนิ ซุเบร ได้ก่อกบฏและประกาศตัวเป็นอิสระจากการปกครองของบนีอุมัยยะฮฺ ซึ่งชาวมะดีนะฮฺก็ได้ก่อกบฏและก่อการจลาจลเช่นกัน

ต่อมาหลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺอีกเช่นกัน พบว่าในเมืองกูฟะฮฺซึ่งถือเป็นเมืองหลวงที่สำคัญในอดีต หมายถึงในอิรักเกือบทั้งหมดก็ได้เกิดขบวนการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเตาวาบีน ซึ่งเป็นขบวนการแรกที่ถูกก่อขึ้นมาเพื่อล้างแค้นให้กับท่านอิมามฮุเซน(อ.) และเมื่อขบวนการนี้ได้ถูกทำลายลง ก็เกิดขบวนการต่อสู้ของมุคตารฺ อัซซากาฟี

และช่วงปลายๆของมุคตารฺ อัซซากาฟี บนีอับบาสก็เริ่มคิดที่แย่งชิงอำนาจมาจากบนีอุมัยยะฮฺ นั้นคือ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน และในช่วงระยะเวลาเกือบ 50 ปี ความกระสับกระสายอันนี้ บ่งชี้ว่า อำนาจของบนีอุมัยยะฮฺไม่เบ็ดเสร็จ อำนาจจะมีช่องว่างอยู่ตลอดเวลา และบนีอุมัยยะฮฺก็ต้องใช้กองกำลังเข้าไปปราบปรามตามหัวเมืองต่างๆของอาณาจักรอิสลาม และในช่วงเวลานั้นเองโอกาสที่จะพุ่งเป้ามาทำลายล้างแนวทางแห่งอะฮฺลุลบัยตก็ได้ลดน้อยลงไป

ความจริงแล้ว บนีอุมัยยะฮฺ พยายามจะสกัดกั้นแนวทางแห่งอะฮฺลุลบัยต(อ.)ตลอดเวลา มีการปรับฐานอะไรต่างๆมากมายหลังจากเหตุการณ์กัรบะลาอฺเพื่อที่จะให้ดำรงอยู่ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในสิ่งที่มุอาวิยะฮฺและยะซีดได้สร้างเอาไว้

ทว่า อุมัร บิน อับดุลอะซีซ หนึ่งในคอลิฟะฮฺร่วมยุคสมัยของท่านอิมามบากิร(อ) ซึ่งพวกเราที่มีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ ก็จะรู้ว่า อุมัร บิน อับดุลอะซีซ ต้องการซื้อใจประชาชาติอิสลาม หลังจากที่บรรพบุรุษของเขาได้ทำผิดกับอะฮฺลุลบัยตและบนีฮาชิม โดยได้เสนอว่า จะคืนที่ดินฟะดักให้กับบนีฮาชิมที่เคยถูกยึดมาในสมัยของท่านหญิงฟาติมะฮฺ อัซซะฮฺรอ(อ) และได้สั่งการยกเลิกการสาปแช่งด่าทอท่านอิมามอะลี(อ)ซึ่งการสาปแช่งนี้เริ่มมาจากสมัยของบนีอุมัยยะฮฺ และได้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการว่า…

“จากนี้เป็นต้นไปห้ามสาปแช่งท่านอิมามอะลี(อ)และบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)บนแท่นเทศนาธรรม (มิมบัร) อีกต่อไป และได้ทดแทนคำสาปแช่งด้วยอายัตกรุอานอายัตหนึ่ง” ความว่า

إِنَّ اللَّهَ وَمَلَائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا

“แท้จริงอัลลอฮฺและมะลาอิกะฮฺของพระองค์ประสาทพรแก่ท่านนบี โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าจงประสาทพรให้เขาและกล่าวทักทายเขาโดยคารวะ”

คำอธิบาย : โองการนี้ถ้าทุกท่านเคยไปนมาซวันศุกร์กับพี่น้องอะฮฺลิลซุนนะฮฺก็จะรู้ว่า มีการอ่านโองการนี้อย่างเป็นทางการ และก่อนหน้าที่โองการนี้จะถูกกำหนดนั้น สิ่งที่อ่านเป็นทางการก่อนการขึ้นคุตบะฮ์ คือ การกล่าวสาปแช่งท่านอิมามอะลี(อ)และสิ่งนี้เริ่มชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของบนีอุมัยยะฮฺ นั่นเอง

วิกฤติการณ์ก่อนอิมามบากิร(อ)จะขึ้นดำรงตำแหน่ง

ท่านอิมามบากิร(อ)ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมามัต หลังจากการเป็นชะฮีดของ(บิดาของท่าน) ท่านอิมามซัยนุล อาบิดีน(อ.) ประกอบกับอิมามท่านที่สี่รู้ว่านี่คือ ช่วงเวลาเหมาะที่สุดที่จะต้องยกมรดกอันยิ่งใหญ่สำหรับอิสลาม แต่ความจริงแล้วสำหรับบรรดาชีอะฮฺนั้นก็คือมรดกแห่งความรู้ ซึ่งเป็นมรดกที่ยังมิได้เปิดเผยอย่างชัดแจ้ง

แม้ในเบื้องต้นเราอาจเข้าใจว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ.)รับวะฮฺยูมาแล้ว เอามาเก็บเอามาตั้งไว้เพียงเท่านั้น ซึ่งเราก็อาจจะรู้เพียงแค่ความรู้เบื้องต้นและพื้นฐานเท่านั้นเพราะจริงๆแล้วท่านรอซูลุลลอฮฺไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ทำการอรรถาธิบายความหมายที่ลึกซึ้งต่างๆของคัมภีร์อัลกุรอาน

อีกทั้ง เราต้องไม่ลืมว่า วะฮฺยูที่ลงมา ตลอดยี่สิบสามปีของการเผยแพร่ นบีประกาศศาสนาในมักกะฮฺสิบสามปี และอีกสิบปีในมะดีนะฮฺ และในช่วงดังกล่าวมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งการตับลีฆ การเผยแพร่ การสงคราม รวมทั้งการสถาปนารัฐ ซึ่งแน่นอนโอกาสที่จะทำการอรรถาธิบายความลึกซึ้งของพระมหาคัมภีรอัลกุรอานนั้นแทบจะไม่มีเลย

กระนั้นก็ตาม ท่านก็ได้ถ่ายทอดให้กับท่านอิมามอะลี(อ)เมื่อท่านอิมามอะลี(อ)ขึ้นปกครอง โอกาสที่จะเผยแพร่ความรู้ต่อสาธารณะชน ซึ่งจะมีก็เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับความรู้จากท่านอิมามอะลี(อ)แต่การเผยแพร่อิสลามที่สมบูรณ์…….อิสลามที่สะอาดบริสุทธิ์…… อิสลามที่ถูกตีความอย่างถูกต้องให้กับสาธารณะชนไม่เกิด เพราะหลังจากท่านรอซูลุลลอฮฺ(ศ.) วะฟาต ท่านก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทันที กลับกันท่านต้องรอเป็นเวลา 20 กว่าปี กว่าจะได้มาอยู่ในตำแหน่งคอลิฟะฮฺคนที่ 4 และเมื่อขึ้นมาเป็นเป็นคอลิฟะฮฺแล้ว ปรากฏว่า ทำให้บิดอะฮฺต่างๆ(อุตริกรรม)ที่เข้ามาในศาสนานั้นมีจำนวนมาก

ดังนั้น การต้องขจัดสิ่งแปลกปลอมในศาสนา จึงใช้เวลามากพอสมควร และความรู้ใหม่ๆที่ลึกซึ้งที่ท่านอิมามอาลี(อ)ได้รับการถ่ายทอดจากรอซูลุลลอฮ(ศ.)ยังมีอีกมากมาย ทว่าด้วยกับท่านอิมามอาลี(อ)มีโอกาสปกครองเพียง 4 ปีเศษๆเท่านั้น อีกทั้งใน 4 ปีนั้น ก็ถูกก่อสงครามใหญ่ๆถึง 3-4 ครั้ง และสงครามบางสงครามใช้เวลานับแรมปี เช่น สงครามซิฟฟีน หรือบางสงครามก็ใช้เวลาเป็นเดือนในการเดินทัพและเผชิญหน้ากับบรรดาทรราช

แน่นอน เป็นที่ทราบกันดีว่า ในยุคนั้น สงครามที่ใหญ่สุด คือ สงครามซิฟฟีน สงครามอูฐ สงครามกับคอวาริจ ซึ่งหากจะกล่าวโดยสรุป มีการก่อกบฏตลอดเวลา

ด้วยเหตุผลนี้ โอกาสที่จะนำเสนอความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรอซูลุลลอฮฺ(ศ.) อย่างถูกต้องสมบูรณ์ แทบจะไม่มีเลย

ครั้น เมื่อถึงยุคของท่านอิมามฮาซัน อัลมุจญตะบา(อ) ถือเป็นยุคที่บนีอุมัยยะฮฺไปถึงอำนาจเกือบสมบูรณ์ ณ วันนั้นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้อะฮฺลุลบัยต (อ)
ต่อมา เมื่อถึงยุคของท่านอิมามฮุเซน(อ.)ก็เป็นยุคแห่งการพลีเพียงอย่างเดียว หมายความว่า ในยุคนี้ไม่มีการรักษาอิสลามด้วยวิธีการอื่นใด นอกจากการพลีเพียงเท่านั้น….!!!

ถัดมา ครั้นเมื่อยุคของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ)ก็เป็นยุคสมัยที่จะต้องนำขวัญกลับมาสู่ประชาชาติอิสลามอีกครั้ง หลังจากที่ขวัญกระเจิงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่กัรบะลาอฺ
ทีนี้ เมื่อเข้าสู่ยุคของท่านอิมามบากิร(อ) ปรากฏว่า สถานการณ์ได้เอื้ออำนวยและเหมาะสมที่สุดเพราะบนีอุมัยยะฮฺกำลังมีอำนาจที่อ่อนแอลง อีกทั้งบนีอุมัยยะฮฺกำลังถูกท้าทายไปทั่วหน้าแผ่นดิน บนีอุมมัยยะฮฺจึงไม่มีเวลาพอในการจัดการกับอะฮฺลุลบัยตโดยงตรง

กอปรกับชาวเมืองในเมืองมะดีนะฮ์เริ่มเบื่อหน่ายกับสถานการณ์ทางการเมืองและเริ่มมองเห็นแล้วว่า สิ่งนี้ คือ ฟิตนะฮฺ เมื่อประชาชนเริ่มเบื่อหน่าย โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่เป็นทหารของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแล้ว ท่านอิมามบากิร(อ)ก็เริ่มสบโอกาสในการที่จะเผยแพร่ความรู้แห่งอะฮฺลุลบัยต(อ)ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้รับการยอมรับในอุมมัตอิสลามทั้งหมด

(โปรดติดตามตอนที่ ๓)

اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم

เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.✍

ถอดบทความโดย ๑. วราภรณ์(ซัยหนับ) บินตี นาบาวี

๒.มัยซาเราะฮ์ โต๊ะหลี

หมายเหตุ : รวมการปาฐกถาพิเศษ ๒ มัจญลิส(ภูเก็ตและสตูล)