ชะฮาดัตอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) อิมามท่านที่ห้าของโลกมุสลิมชีอะฮฺอิมามียะฮฺ ผู้สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) โดยตรงและเป็นผู้เปิดประตูความรู้ของอะฮฺลุลบัยตฺ(อ)….!!!
ความประเสริฐของเดือนซุลฮิจญะฮฺ
ด้วยกับวันชะฮาดัตของท่านอิมามบากิร(อ) ตรงกับวันที่ 7 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺถือเป็นเดือนสำคัญเดือนหนึ่งสำหรับมวลมุสลิม ที่มีอะมั้ลอิบาดัตและเรื่องราวต่างๆอย่างมากมายในเดือนนี้
อนึ่งในเดือนนี้มีวันที่สำคัญที่สุด คือ วันแห่งอีดุลกุรบาน อีดุลฆอดีร อีดุลมูบาฮาละฮ์ ซึ่งในแต่ละวันก็มีรายละเอียดต่างๆในตัวของมันเอง
ดังนั้น เดือนซุลฮิจญะฮ์ จึงเป็นเดือนของการทำอะมั้ลอิบาดัต และเป็นเดือนหนึ่งของการแสวงหาความใกล้ชิดกับเอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ) มีริวายัตจำนวนมากที่ได้กล่าวให้กับบุคคลผู้ที่มีความสามารถให้ถือศีลอด 9 วันแรกของเดือนคือวันที่ 1 ถึงวันที่ 9 ส่วนวันที่ 10 คือวันอีดุลกุรบาน เราเฉลิมฉลองไม่มีการถือศีลอด
สำหรับบุคคลที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้ทั้ง 9 วัน อย่างน้อยที่สุดในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺก็ต้องพยายามถือศีลอดให้ได้ ซึ่งตรงกับวันอารอฟะฮฺ เป็นอีกวันหนึ่งที่การถือศีลอดนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผลบุญนั้นมีแน่นอนและมากมาย วิถีชีวิตหรือมรรคผลที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา โดยเฉพาะชีวิตทางจิตวิญญาณนั้นจะเกิดขึ้นสำหรับบุคคลที่ถือศีลอดในวันอารอฟะฮฺและที่สำคัญกว่าศีลอดในวันอารอฟะฮ์ก็คือการอ่านดุอาอารอฟะฮฺ ซึ่งสำคัญกว่าการถือศีลอด ฟัตวาของอาเล็มอุลามาอฺเป็นเอกฉันท์ว่า “ใครก็ตามถ้าหากเขาถือศีลอดในวันอารอฟะฮฺ และศีลอดนั้นทำให้เขาหมดเรี่ยวแรงไม่สามารถที่จะอ่านดุอาอฺวันอารอฟะฮ์ได้ เป็นการมุสตะฮับให้เขาละทิ้งการถือศีลอดและเก็บแรงนั้นเอาไว้อ่านดุอาอฺอารอฟะฮฺ
วันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺที่เรียกว่าวันอารอฟะฮ์นั่น การอ่านดุอาอฺอารอฟะฮ์นั้นมีความสำคัญมากกว่าการถือศีลอด แต่ถ้าใครมีความสามารถทั้ง 2 อย่างถือว่าเขาโชคดีเป็นอย่างมาก อินชาอัลลอฮ์หวังว่าเราทุกคนจะให้ความร่วมมือนัดหมายอ่านดุอาอารอฟะฮ์ในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งจะเริ่มอ่านประมาณสี่โมงเย็น จบใกล้ๆกับมักริบเพราะดุอาอฺนี้ความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่า
ในชีวิตของเราให้ได้บารอกัตสัมผัสกับดุอาอฺบทนี้สักครั้ง ความสำคัญของดุอาอฺบทนี้ถือว่าเป็นดุอาอฺบทสุดท้ายของท่านอิมามฮูเซน(อ) ที่ท่านได้อ่านอย่างเป็นทางการเพื่อทิ้งไว้ก่อนที่จะไปพลีที่กัรบาลาอฺ เพราะท่านอิมามฮูเซน(อ)ได้เดินทางก่อนจะถึงที่อารอฟะฮ์ ท่านได้อ่านดุอาอฺอารอฟะฮ์จนจบใกล้พลบค่ำ
หลังจากนั้นท่านอิมามฮูเซน(อ)ก็ได้ออกจากแผ่นดินมักกะห์มุ่งสู่กัรบาลาอฺ เป็นดุอาอฺที่มีเนื้อหาที่สูงส่งเป็นอย่างมาก และมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ดุอาอฺที่จะทำให้เราใกล้ชิดกับเอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ)ได้มาก ดุอาอฺที่จะทำให้เราเข้าใจหลักเตาฮีดและปัญหาต่างๆระหว่างเรากับอัลลอฮ์(ซบ) ดุอาอฺที่จะทำให้เราเข้าใจตำแหน่งของเรากับตำแหน่งของอัลลอฮฺ(ซบ) เป็นดุอาอฺที่ให้คำตอบมากมายในชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะบุคคลที่แสวงหาอัลลอฮฺ(ซบ)อย่างแท้จริง เป็นดุอาอฺที่จะเสริมสร้างจิตวิญญาณของเราให้เข็มแข็ง ทำความเข้าใจกับพระองค์
อนึ่งท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร(อ)มิได้เป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่บรรดาชีอะฮฺเท่านั้น แต่เป็นที่รู้จักและยอมรับจากมวลมุสลิมอย่างเอกฉันท์ ยกเว้นลัทธิแห่งซาตานที่พยายามจะปกปิดเรื่องราวและเนื้อหาของอะฮฺลุลบัยต(อ)
ดังนั้น ในค่ำคืนแห่งการรำลึกและค่ำคืนแห่งการไว้อาลัยก็อยากจะย้ำเตือน ว่า เมื่อวันต่างๆเหล่านี้มาถึงพวกเราทุกคนจะต้องแสดงหน้าที่ในการแสดงความจงรักภักดีให้เหมาะสมกับวาระต่างๆที่บรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)นั้นได้กำหนดเอาไว้ นี่คือสิ่งหนึ่งหรือหัวใจสำคัญประการหนึ่งของความเป็นชีอะฮฺ
สูตรสำรวจการเป็นชีอะฮ์ที่แท้จริง
ผมใคร่ที่จะนำเสนอฮาดิษบทหนึ่งเบื้องต้น ซึ่งได้นำเสนอมาแล้วในหลายๆครั้ง และหากนำมาเสนอซ้ำอีกก็จะเป็นการดีเพื่อตอกย้ำในความเป็นชีอะฮฺของพวกเราทุกคน
ฮะดิษบทหนึ่งจากท่านอิมาม ญะอฺฟัร อัซซอดิก(อ) ซึ่งท่านได้ทำการแยกแยะชีอะฮฺและไม่ใช่ชีอะฮฺด้วยฮาดิษบทนี้
ท่านอิมาม ญะอฺฟัร อัซซอดิก(อ.)ได้กล่าวว่า
شِیعَتُنا خُلِقُوا مِنْ فاضِلِ طِینِتِنا وَ عُجِنُوا بِماءِ وَلایَتِنا یَحْزَنُونَ لِحُزْنِنا ویَفْرَحُونَ لِفَرَحِنا
ความว่า: แท้จริงชีอะฮฺของเราถูกสร้างมาจากดินที่เหลือจากการสร้างเรา และถูกหล่อหลอมด้วยน้ำแห่งวิลายัตของเรา จะมีความโศกเศร้ากับความโศกเศร้าของเรา และมีความสุขกับความสุขของเรา
(การที่นำเสนอในวันนี้นั้นเพื่อเป็นการย้ำเตือนในภาระหน้าที่ของพวกเราที่เกี่ยวข้องกับวันต่างๆเหล่านี้)
ดินที่สร้างอะฮฺลุลบัยตนั้นเป็นการพูดในเชิงอุปมา อุปไมย เพื่อทำให้เราเข้าใจว่า ความจริงแล้วพวกเราทุกคนที่ได้เป็น ชีอะฮฺนั้นเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ) ถึงแม้ว่าเราจะเป็นส่วนที่เหลือจากการสร้างอะฮฺลุลบัยต(อ)ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนที่เหลือที่มีค่าเป็นอย่างมาก…..!!!
บรรดาชีอะฮฺที่ถูกสร้างมาจากดินที่เหลือจากการสร้างอะฮฺลุลบัยต์ เรามาจากวัตถุธาตุอันเดียวกันกับอะฮฺลุลบัยต(อ)
นี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของเราในการเป็นชีอะฮฺ…..!!! เป็นการบ่งชี้ว่า ดินที่ว่านั้นเป็นดินที่อัลลอฮฺ(ซบ.)โปรดปรานมากเป็นพิเศษ ดินก้อนนี้ถูกทำให้ฮะรามสำหรับไฟนรก
คำว่าการเป็นชีอะฮฺไม่ใช่เป็นตำแหน่งที่เล็กๆพี่น้อง….!!!
แต่ชีอะฮฺคือตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าฮะดิษบทนี้จะพูดถึงวัตถุธาตุ …..จะพูดถึงความเป็นดินเดียวกัน……แต่ก็ยังมีฮะดิษบทอื่นๆที่ยืนยันมากกว่าความเป็นหนึ่งเดียวทางด้านวัตถุธาตุ เช่น ฮะดิษจากท่านอิมาม บาเกร(อ)และจากท่านอิมามญะอฺฟัร(อ) ที่ได้กล่าวว่า…
“อินนะ ชีอะตะนา ฮุม มะอะนา ฟีดารอญะตีนา”
{ ชีอะฮฺที่แท้จริงของเรานั้นเขาจะอยู่ในดารอญะฮฺ (ฐานันดร)เดียวกับเรา }
ฮะดิษบทแรกเป็นบทพิสูจน์ถึงความเป็นดินเดียวกัน ส่วนฮะดิษที่สองพิสูจน์ถึงจิตวิญญาณเดียวกัน และดารอญะฮฺเดียวกันที่บรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)ได้ยืนยัน
หลังจากที่อิมามบอกว่า ชีอะฮฺถูกสร้างมาจากดินที่เหลือจากการสร้างเราแล้ว ท่านอิมามญะอฺฟัร อัซ-ซอดิก(อ.)ยังได้กล่าวเสริมอีกเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าชีอะฮฺที่แท้จริงดูได้ที่ตรงไหน ?
สาระศึกษา : ดูจากความเป็นชีอะฮฺ ที่มาจาก “ฏินนิยะห์” หมายถึง ดินก้อนเดียวกับบรรดาอิมาม ตรงนี้สำคัญเป็นอย่างมาก อยากให้พี่น้องให้ความสำคัญกับประโยคต่อไปนี้
ข้อสังเกตการเป็นชีอะฮฺที่แท้จริง
ประการที่ ๑ ท่านอิมามบากิร(อ)ได้กล่าวไว้ว่า พวกเขาเหล่านั้นจะโศกเศร้ากับความโศกเศร้าของเรา (ของอะฮฺลุลบัยต์)
คำอธิบาย : หมายความว่า เรื่องราวหรือวันแห่งความโศกเศร้าของบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ(อ) ชีอะฮฺก็จะร่วมโศกเศร้าด้วย ตัวอย่างเช่น ในค่ำคืนชะฮาดัต ทุกคนมาที่มาพร้อมกันแต่งเสื้อดำ และชุดสีดำก็เป็นสัญลักษณ์แห่งความโศกเศร้า สัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์ไว้อาลัย ซึ่งเราก็ได้ร่วมในความเศร้าอันนี้ แต่ไม่ใช่เพียงเท่านี้ ในวันพรุ่งนี้อีกวันเราก็ต้องรักษารูปแบบและลักษณะของการไว้ทุกข์ ไว้อาลัยด้วย เพราะวันพรุ่งนี้เป็นวันโศกเศร้าของบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)
ดังนั้น การดำเนินชีวิตของเราต้องให้ความสำคัญกับมัจญลิสต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงเข้าร่วมมัจญลิส…… หรือรู้สึกโศกเศร้าแค่ในมัจญลิสเพียงเท่านั้น แต่เราจะต้องมีความโศกเศร้าไปตลอดทั้งวัน เพราะถ้าเป็นความโศกเศร้าเราก็ต้องเศร้า
และก้าวแรกในการนี้คือการเข้าร่วมมัจญลิส หลังจากนั้นต้องสำรวจตน การทำความเข้าใจในเนื้อหาของมัจญลิสที่เราได้ฟังและได้ยินมาทบทวนในวันเวลาของมัน เหมือนกับว่าคืนนี้และวันพรุ่งนี้เป็นการรำลึกถึงท่านอิมามบาเกร(อ.)อย่างแท้จริง…..!!!
ประการที่ ๒ “เขาจะมีความสุขกับความสุขต่างๆของเรา”
ชีอะฮฺไม่ใช่เศร้าเพียงอย่างเดียว วันแห่งความสุข….. วันแห่งการถือกำเนิด….. วันแห่งฆอดีรคุม….. วันแห่งมับอัษ…. วันแห่งนิซฟูชะอฺบาน เราก็จะต้องมีส่วนร่วมและมีความสุข ซึ่งวิธีการในการสร้างความสุขก็มีมากมายหลายรูปแบบ ในวันนั้นชีอะฮฺที่มีศักยภาพก็จะต้องมีส่วนร่วมในการทำบุญ คนที่มีฐานะก็ทำบุญในวันเกิดของอิมามนั้นคือ การร่วมเฉลิมฉลองร่วมมีความสุขกับวันของบรรดาอิมาม นี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นของการเป็นชีอะฮฺที่แท้จริง
ไม่ใช่เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในวันชะฮาดัตในวันแห่งความสูญเสีย วันโศกเศร้าของบรรดาอะฮฺลุลบัยต์ หากเรามีความสุขกับเรื่องของเรา โดยที่ไม่มีการโศกเศร้า ไม่มีการสำรวม จะเป็นการย้อนแย้งกับการที่เราได้ร่วมมัจญลิสในค่ำคืนที่เพิ่งผ่านมา ในวันรุ่งขึ้นก็เหมือนกับไม่ใช่วันโศกเศร้า เพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของอะอ์ลุลเบต
ดังนั้นแล้ว ถ้าเรามีวิถีชีวิตแบบนี้ ขอยืนยันว่าเราไม่ใช่ชีอะฮฺตามที่ฮะดิษบทนี้หมายถึง เพราะชีอะฮฺที่มาจากดินก้อนเดียวกับอะฮฺลุลบัยต(อ)นั้น จะต้องเศร้าในวันโศกเศร้าของบรรดาอะฮฺลุลบัยต จะต้องสุขในวันที่บรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ.)นั้นมีความสุข การให้ความสำคัญกับมัจญลิสเหล่านี้ คือ ความลับแห่งความสำเร็จทางจิตวิญญาณของเราในเรื่องของศาสนา
ท่านอยาตุลลอฮฺ เบฮฺญัต ได้มีวลีสั้นๆว่า…
“บุคคลที่รำลึกในวันต่างๆเหล่านี้แม้นว่าเขาอยากจะเป็นคนดี หรือไม่ก็ตาม แต่หลังจากนั้นเขาได้เป็นคนดี ก็มาจาก บารอกัตต่างๆของมัจญลิสเหล่านี้”
ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้หากไม่เจ็บป่วยจริงๆ หากไม่มีอะไรหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ก็ต้องมีส่วนร่วมและคำว่ามีส่วนร่วมก็ไม่ใช่ว่าแค่มาร่วมฟังมัจญลิสเพียงอย่างเดียว คนที่มีศักยภาพก็ต้องมีส่วนร่วมให้มากไปกว่านี้ ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่างๆในมัจญลิส ไม่ว่าจะเป็นการตระเตรียมอาหารหรือสิ่งอื่นๆ
มีลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านอยาตุลลฮฺเบฮฺญัต ถามว่า เป็นไปได้อย่างไร “เราอยากจะเป็นคนดีหรือไม่อยากเป็นคนดี เขาก็ได้เป็นคนดีถ้าเขาได้เข้าร่วมมัจญลิสเหล่านี้” ?
ท่านอยาตุลลอฮฺ เบฮฺญัต ได้อธิบายว่า เสมือนกับคนที่เขาได้กระโดดไปในถังน้ำหอม เขาอยากจะมีกลิ่นหอมหรือไม่ก็ตาม เขาก็ต้องได้รับความหอมอันนั้นอย่างแน่นอน
นี่คือ ความสำคัญอันหนึ่งของมัจญลิสและเป็นหนึ่งในวิถีทางที่รักษาแนวทางนี้ให้รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆที่ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมานั้นแนวทางนี้ตกอยู่ในการทำลายล้างและโจมตีจากบรรดาศัตรูตลอดมา แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดและยืนยงคงกระพันมาได้จนถึงทุกวันนี้ แหละนี่คือหนึ่งในเหตุผลของความบารอกัตในการร่วมมัจญลิสต่างๆเหล่านี้
การรำลึกถึงท่านอิมามบาเกร(อ) จึงเป็นหนึ่งในอิมามที่เป็นความภาคภูมิใจของอิสลามโดยเฉพาะความภาคภูมิใจในแนวทางของชีอะฮฺอิมามมียะฮฺ เพราะท่านคือสัญลักษณ์แห่งความรู้ของอะฮฺลุลบัยต(อ) ซึ่งบรรดาอะฮฺลุลบัยต(อ)แต่ละท่านก็จะมีลักษณะจำเพาะ
(โปรดติดตามตอนที่ ๒…)
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.✍
ถอดบทความโดย: ๑. วราภรณ์(ซัยหนับ) บินตี นาบาวี ๒.มัยซาเราะฮ์ โต๊ะหลี
หมายเหตุ : รวม ๒ มัจญลิส(ภูเก็ตและสตูล)