โอวาทวันนี้ 11-06-2560

79

นะบูวะห์ (ตอนที่ 20)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● มาตรวัดการเป็นศาสดา

ท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อลฯ) คือ ศาสดาองค์สุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งมา โดยมีบทบัญญัติและหลักคำสอนเป็นคัมภีร์อัลกรุอาน ที่ทุกๆมิติในคัมภีร์มีความละเอียด มีความประณีต มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมวิถีชีวิตทุกด้านให้กับมวลมนุษย์

ดังนั้น การจะกล่าวอ้างตนว่าเป็นศาสดา นอกจากต้องได้รับการคัดสรรและถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดาโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า ยังต้องมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญอีก 3 มาตรวัดที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยสติปัญญาดังนี้

1. คำสั่งสอน

2.บุคลิกภาพ

3.วิถีการดำเนินชีวิต

จากบริบทดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ศาสดาแห่งอิสลามได้ผ่านมาตรวัดทั้งสามอย่างสมบูรณ์ ด้วยกับความรู้ สัญลักษณ์ และด้วยพฤติกรรมในคำสั่งสอนที่อัจฉริยะของท่าน เช่นนี้ เราจะเข้าไปในรายละเอียดสำคัญที่ทำให้ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการเผยแผ่อิสลาม ดังนี้

1.ศาสดามูฮัมมัด(ศ็อลฯ) กับฉายา “อัลอามีน” (ผู้ได้รับความไว้วางใจ)

หากย้อนยุคสมัยท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ในยุคมืดหรือช่วงเสื่อมถอยที่สุดของชาวอาหรับในหน้าประวัติศาสตร์โลก จะรู้ว่าท่านเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมอาหรับที่เรียกว่า ญาฮิลียะฮฺ เป็นยุคที่สภาพทางสังคมไร้ศีลธรรม มีแต่ความป่าเถื่อน ไม่มีศาสนาที่ชัดเจน ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีระบบการปกครอง

ในขณะเดียวกัน วิถีการดำเนินชีวิตของท่านกลับได้รับการยอมรับจากสังคมว่าท่านเป็นคนดี มีศีลธรรม มีจรรยามารยาทที่งดงาม เพราะสิ่งที่ท่านพูดคือ สิ่งที่ท่านปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ความเป็นมิตรแท้ ความเอื้ออาทร ความซื่อสัตย์ และคำพูดที่อยู่บนพื้นฐานความสงบมั่นภายใน และความรับผิดชอบในหน้าที่ จนได้รับฉายาว่า “อัลอามีน” (ผู้ได้รับความไว้วางใจ)

● การเป็นอัลอามีนของท่านศาสดา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่เฉพาะแต่ในสังคมอาหรับเท่านั้น แต่รวมไปถึงสังคมทั้งโลกที่มีอยู่ในระยะนั้น ซึ่งหากศึกษาจะพบว่า ท่านศาสดาแตกต่างไปจากกลุ่มชนรอบๆ ตัวท่าน เพราะ คนในประเทศทั้งหมดสามารถเป็นพยานได้อย่างเอกฉันท์ถึงความซื่อสัตย์ของท่าน แม้แต่ศัตรูที่ร้ายกาจก็ไม่อาจกล่าวหาในเรื่องการกล่าวเท็จได้ ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม

ตลอดชีวิตของท่านมีวาจาที่สุภาพไม่เคยใช้ภาษาหยาบคาย ท่านมีบุคลิกที่สง่างามและมีลักษณะที่ชนะจิตใจทุกคนที่ได้พบเห็นท่าน

หากจะมองในมิติด้านการค้า แน่นอน ไม่มีใครได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่ดีจากท่าน เพราะท่านเป็นต้นแบบการดำเนินการค้าที่มีความยุติธรรมและสุจริตใจ ท่านได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่ ถึงขนาดชาวอาหรับที่มีฐานะร่ำรวยมั่นใจที่จะนำทรัพย์สินมากมายฝากไว้กับท่าน และ แม้แต่ศัตรูก็ฝากสมบัติอันมีค่าไว้ในความอารักขาของท่าน ซึ่งท่านก็ได้รักษาความไว้วางใจนั้น

● บุคลิกภาพของนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)ในวัยเด็ก

แม้แต่ในวัยเด็ก นักบูรพาคดีชาวตะวันตกได้บันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือของชาวตะวันออก เกี่ยวกับบุคลิกภาพท่านศาสดาว่า ชาวอาหรับจะมีประเพณีหนึ่ง คือ การแจกอินทผาลัมให้แก่เด็กๆ ซึ่งในสมัยนั้นท่านศาสดาในวัยเด็กก็ได้ไปรับอินถผาลัมที่แจกเช่นกัน

ทว่าการรับของแจกกลับแตกต่างกับบรรดาเด็กๆที่ร่วมสมัยกับท่าน เด็กบางคนได้ยกชายเสื้อเพื่อที่ให้ได้อินทผลัมในจำนวนที่มาก แต่ท่านไม่เคยยกชายเสื้อของท่านเพื่อหวังให้ได้อินถผาลัมจำนวนมาก แม้เพียงเลยหัวเข่าก็ไม่เคยให้ใครได้เห็น ซึ่งการยกชายเสื้อขึ้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องบาป แต่บ่งชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่สูงส่งในมิติอื่นๆ เช่น ปราศจากความไม่สุภาพ การไม่ละโมบ ไม่เคยเข้าร่วมงานรื่นเริง งานมหรสพ

ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีคนมาคะยั้นคะยอเพื่อให้ท่านไปงานรื่นเริงงานหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ได้ขัดใจเพื่อน ในขณะที่เดินระหว่างทาง ด้วยความที่ท่านรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำ ท่านก็เชิญชวนให้เด็กๆที่เดินทางด้วยกันพักผ่อนใต้ต้นไม้กันก่อน แต่ด้วยความเหนื่อยล้า ท่านและทุกคนได้หลับใต้ต้นไม้กันหมดกันนาน จนไม่ได้ไปร่วมงานรื่นเริงจนงานเลิก

และเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือ การบูรณะซ่อมแซมอัลกะบะฮฺครั้งใหญ่ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายหินดำด้วย ด้วยหินดำ“อัลฮะจะรุลอัสวัด” เปรียบประหนึ่งเป็นศักดิ์ศรี และเป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจแห่งการปกครองคาบสมุทรอารเบีย คือ อาหรับเผ่าไหนได้ครอบครอง ก็ถือว่าเผ่านั้นมีอำนาจในการปกครอง และเป็นเผ่าที่มีเกียรติ

ปัญหาคือ ใครจะเป็นผู้ได้รับเกียรติให้ยกหินดำกลับไปไว้ที่เดิม มีการทะเลาะกันระหว่างเผ่าต่างๆของอาหรับอย่างรุนแรง เพราะถือว่าเผ่าไหนได้ยกหินดำ ถือเป็นเกียรติที่ยิ่งใหญ่ เพราะประวัติศาสตร์จะได้บันทึกว่าเผ่าไหนเป็นผู้ยก มีการถกเถียงกันเกือบจะฆ่าฟันกันตาย

ทว่าในสมัยนั้นท่านศาสดาเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากทุกฝ่ายว่าเป็นคนมีคุณธรรมและเป็นกลางที่สุด และจากความขัดแย้งนี้ จึงได้ตกลงกันว่าให้มูฮัมหมัด(ศ็อล)เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองมักกะฮฺ

และในวันนั้นในมักกะฮฺมีสี่เผ่าที่เป็นเผ่าที่ยิ่งใหญ่ ดังนี้แล้ว ด้วยปฏิภาณไหวพริบ ท่านศาสดาจึงตัดสินแก้ปัญหาด้วยการให้ทุกฝ่ายได้รับเกียรติเท่าเทียมกัน

เบื้องต้นท่านเอาผ้าดำมาวางไว้บนพื้น จากนั้นท่านเป็นคนยกหินดำวางบนผ้า แล้วท่านให้ผู้แทนของสี่เผ่าจับมุมผ้าสี่มุม ช่วยกันยกมุมผ้านำหินดำกลับไปตรงจุดวางก่อน เมื่อถึงเวลายกกลับท่านได้ยกหินดำไปวางที่อัลกะบะฮฺด้วยตัวของท่านเองอีกครั้ง เหล่านี้คือ ความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ ความซื่อสัตย์ได้รับการยอมรับจากทั้งหมดเหนือคนธรรมดา

ประเด็นต่อมา เมื่อวะฮฺยูแรกถูกประทานลงมาให้ท่านประกาศ ท่านศาสดาได้เรียกหัวหน้าชาวอาหรับมาทั้งหมดแล้วกล่าวกับพวกเขาว่า ถ้าฉันจะบอกว่า หลังภูเขานี้ข้าศึกกำลังจะโจมตีมักกะฮฺพวกท่านจะเชื่อหรือไม่

พวกเขาบอกว่าแน่นอนเราเชื่อท่าน โอ้มูฮัมหมัด !!! เพราะท่านคือ “อัลอามีนแห่งมักกะฮฺ” เพราะในชีวิตของเราไม่เคยเห็นท่านพูดโกหกแม้แต่ครั้งเดียว หลังจากนั้นท่านศาสดาจึงบอกว่า ดังนั้นจงฟัง ฉันคือศาสดาของพระเจ้า ฉันคือ ศาสดาองค์สุดท้าย ฉันลูกหลานของอิบรอฮีม(อ)

ดังนั้น การปรากฏตัวของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)นั้น ด้วยกับคำสั่งสอน บุคลิกภาพและวิถีการดำเนินชีวิตของท่าน จึงปราศจากความคลางแคลงใดๆทั้งสิ้น ทว่าในท้ายที่สุด บางส่วนของพวกเขากลับปฏิเสธท่านศาสดาเช่นเดิม

2. ศาสดาองค์สุดท้ายกับคำพยากรณ์

ความเป็นศาสดาพยากรณ์ มีรีวายะฮฺว่า ท่านศาสดามูอัมหมัด(ศ็อลฯ) เป็นศาสดาที่มีคำพยากรณ์อยู่ในทุกๆศาสนา เช่น ชาวคริสต์และชาวยิว แน่นอนพวกเขารู้จักศาสดาองค์นี้มากยิ่งกว่าการที่พวกเขารู้จักลูกๆของพวกเขาเสียอีก รู้ว่าท่าน คือ ศาสดาอย่างแน่นอน รู้ถึงวันที่จะถือกำเนิด และรู้ในรายละเอียดการปรากฏอย่างมากมาย

ตัวอย่าง : จากคัมภีร์ไบเบิล ฉบับของ เซนต์ บาร์นาบัส ซึ่ง Lonsdale and Laura Ragg แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษา อิตาเลียน เป็นภาษาอังกฤษ ที่ห้องสมุดอิมพีเรียลกรุงเวียนนา) ดังนี้

ครั้นปุโรหิตถามว่า “มาซีฮานั้นจะถูกเรียกอย่างไร และอะไรเป็นสัญญาณแสดงให้เราเห็นถึงการมาของเขา ?”

พระเยซูตอบว่า “(นามของมาซีฮานั้น) คือ (ผู้ได้รับ) การสรรเสริญ พระเจ้าทรงให้นามแก่เขา ขณะที่พระองค์ทรงให้บังเกิดวิญญาณของเขา และสถิตอยู่ในสรวงสวรรค์”

พระเจ้าตรัสว่า จงคอยมุฮัมหมัด เพื่อประโยชน์ของเจ้า เราจึงให้บังเกิดสวรรค์ โลก และสิ่งที่ถูกให้บังเกิดอันมากมาย เราให้เจ้ากำเนิดเป็นของขวัญ ผู้ใดให้พรแก่เจ้า ผู้นั้นจะได้รับพร และผู้ใดสาปแช่งเจ้า ผู้นั้นก็จะถูกสาปแช่งด้วย เมื่อเราจะส่งเจ้าไปยังโลก เราจะส่งเจ้าในฐานะศาสนทูตของเราเพื่อความรอดพ้น และโลกของเจ้าจะถูกนำไปสู่ทางอันเที่ยงตรง แม้นฟ้าและแผ่นดินจะสิ้นสลาย แต่ความศรัทธาของเจ้าจะไม่สลาย”

“มุฮัมหมัด เป็นนามที่พระองค์ทรงให้พร”

บรรดาพวกเขาต่างก็แซ่ซร้องร้องว่า “โอ้พระเจ้า โปรดประทานศาสนทูตของพระองค์ลงมาเถิด โอ้มุฮัมหมัด จงมาเร็วๆเถิด เพื่อนำโลกไปสู่ทางแห่งความรอดพ้น”

เช่นแล้ว ชัดเจนว่า ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ไม่ได้ปรากฏตัวขึ้นโดยไม่มีใครคาดฝัน เพราะจากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบรรดานบีก่อนหน้านี้ได้พูดถึงการมาของท่านไว้ล่วงหน้าแล้ว

ซูเราะฮฺอัล อิมรอม 81

وَإِذْ أَخَذَ اللَّهُ مِيثَاقَ النَّبِيِّينَ لَمَا آتَيْتُكُم مِّن كِتَابٍ وَحِكْمَةٍ ثُمَّ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مُّصَدِّقٌ لِّمَا مَعَكُمْ لَتُؤْمِنُنَّ بِهِ وَلَتَنصُرُنَّهُ ۚ قَالَ أَأَقْرَرْتُمْ وَأَخَذْتُمْ عَلَىٰ ذَٰلِكُمْ إِصْرِي ۖ قَالُوا أَقْرَرْنَا ۚ قَالَ فَاشْهَدُوا وَأَنَا مَعَكُم مِّنَ الشَّاهِدِينَ

“และจงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮ์ได้ทรงเอาข้อสัญญาแก่นบีทั้งหลายว่า สิ่งที่ข้าได้ให้แก่พวกเจ้านั้นไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ก็ดี และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติในบัญญัติศาสนาก็ดี ภายหลังได้มีร่อซูลคนใดมายังพวกเจ้าซึ่งเป็นผู้นยืนยันในสิ่งที่มีอยู่กับพวกเจ้าแล้ว แน่นอนพวกเจ้าจะต้องศรัทธาต่อเขา และช่วยเหลือเขา พระองค์ตรัสว่า พวกเจ้ายอมรับและเอาข้อสัญญาของข้าดังกล่าวนั้นแล้วใช่ไหม? พวกเขากล่าวว่า พวกข้าพระองค์ยอมรับแล้ว พระองค์ตรัสว่า พวกเจ้าจงเป้นพยานเถิด และข้าก็อยู่ในหมู่เป็นพยานร่วมกับพวกเจ้าด้วย”

คำอธิบาย : คัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดแจ้งว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ให้บรรดานบีทั้งหลายทำสัญญาว่าจะเชื่อและจะช่วยเหลือศาสนทูตผู้ที่จะมาในภายหลังเพื่อยืนยันคำสอนที่บรรดาศาสดาทั้งหลายได้นำมา

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อท่านอบูฏอลิบไปค้าขาย ระหว่างค้าขายท่านได้พบกับบาทหลวงคริสต์เตียนท่านหนึ่ง ชื่อ “นุฮัยรอ” เมื่อทั้งสองสนทนากัน จากการสอบถาม และผลจากการตรวจสอบ นุฮัยรอก็ได้บอกกับอบูฏอลิบว่า

“จงปกป้องเด็กน้อยคนนี้จากชาวยิวให้ดี เพราะถ้าพวกมันรู้ความจริงว่า เด็กคนนี้คือศาสดาองค์สุดท้ายตามคำพยากรณ์พวกมันจะฆ่าเขา “

กรณีนี้ อัลลอฮ(ซบ) ได้ยืนยันไว้ มีปรากฏในอัลกุรอาน

ซูเราะฮฺอัศศอพ โองการที่ 6

وَإِذْ قَالَ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ يَا بَنِي إِسْرَائِيلَ إِنِّي رَسُولُ اللَّهِ إِلَيْكُم مُّصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيَّ مِنَ التَّوْرَاةِ وَمُبَشِّرًا بِرَسُولٍ يَأْتِي مِن بَعْدِي اسْمُهُ أَحْمَدُ ۖ فَلَمَّا جَاءَهُم بِالْبَيِّنَاتِ قَالُوا هَٰذَا سِحْرٌ مُّبِينٌ

“และจงรำลึกเมื่ออีซาบุตรของมัรยัมได้กล่าวว่าโอ้วงศ์วานบนีอิสรออีลเอ๋ย แท้จริงฉันเป็นรอซูลของอัลลอฮฺมายังพวกท่าน เป็นผู้ยืนยันสิ่งที่อยู่ในเตารอตก่อนหน้าฉันและเป็นผู้แจ้งข่าวดีถึงรอซูลคนหนึ่งผู้ที่จะมาหลังจากฉัน ชื่อของเขาคืออะหฺมัด ครั้นเมื่อเขาได้มายังพวกเขา พร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้งแล้ว พวกเขาก็กล่าวว่านี่คือมายากลแท้ๆ”

แม้แต่อุลามาอฺบนีอิสรออีลก็รู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ และไม่เพียงเท่านั้นยังมีชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในยุคก่อนการประกาศศาสนาอิสลาม ก็รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ซูเราะฮฺชุอารออฺ โองการที่ 195 ,196, 197

بِلِسَانٍ عَرَبىٍِّ مُّبِين

“เป็นภาษาอาหรับอันชัดแจ้ง”

وَ إِنَّهُ لَفِى زُبُرِ الْأَوَّلِين

“และแน่แท้มันมีอยู่ในคัมภีร์ก่อนๆหน้า”

أَ وَ لَمْ يَكُن لهَُّمْ ءَايَةً أَن يَعْلَمَهُ عُلَمَؤُاْ بَنىِ إِسْرَ ءِيل

“และมันมิได้เป็นเครื่องหมายแก่พวกเขาดอกหรือว่า บรรดาผู้รู้ของบนีอิสรออีลรู้ดีในเรื่องนี้”

บรรดาอุลามาอฺบนีอิสรออีลที่มีความศรัทธา ได้ประกาศชื่อของศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล)ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของพวกเขาเช่นกัน แน่นอนชาวยิว ชาวอาหรับและกลุ่มชนต่างๆ ล้วนได้ยินเรื่องนี้เป็นอย่างดี

3. มุอฺญิซาตของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)

ริวายะฮฺจำนวนมากได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือต่าง ๆ ของอิสลามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาต) ของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)

ตัวอย่าง : ศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ดุอาอฺขอฝน

เนื่องจากเมืองมาดีนะฮฺเกิดความแห้งแล้ง ส่งผลทำให้พืชพันธุ์และปศุสัตว์เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก บรรดาศอฮาบะฮฺจึงมาหาท่านศาสดา พร้อมร้องขอให้ท่านช่วยขอฝนจากอัลลอฮ(ซบ)ด้วยเถิด ท่านศาสดาจึงได้ยกมือขอดุอาอฺและแล้วฝนก็ตกลงมาถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน บรรดาศอฮาบะฮฺก็ร้องขออีกว่า ขอให้ฝนหยุดได้แล้ว เพราะน้ำจะท่วม ท่านศาสดามองด้วยรอยยิ้ม จากนั้นดุอาอฺให้ฝนหยุดตกอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดฝนก็หยุด

ตัวอย่าง : ศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ดุอาอฺขออาหาร

ขณะที่ท่านศาสดา ได้เชิญบรรดาศอฮาบะฮ มารับประทานอาหาร แต่อาหารนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากว่า มีอาหารในหม้อเล็กๆเพียงหนึ่งหม้อเท่านั้น แต่เมื่อท่านศาสดาอ่านดุอาอฺ อาหารที่มีอยู่เพียงน้อยนิดกลับเพิ่มขึ้นจนสามารถเลี้ยงอาหารคนนับร้อย นับพันคน ได้อย่างปฏิหาริย์

ตัวอย่าง : มุอฺญิญาตอื่นๆอีกหลายกรณี

– บางครั้งเมื่อท่านเดินพร้อมศอฮาบะฮฺ ระหว่างทางต่างกรรมต่างวาระ ศอฮาบะฮฺได้ยินได้เห็นก้อนหิน ต้นไม้ และสรรพสัตว์ได้กล่าวสลาม กล่าวชาฮาดะฮฺมายังท่านศาสดา

บางครั้งสรรพสัตว์ต่างๆนอกจากให้สลามแก่ท่านแล้ว บรรดาศอฮาบะฮฺยังได้เห็นและได้ยินเหล่าสรรพสัตว์ได้มาอุทธรณ์ยังท่านศาสดาด้วย

– ทารกในเปลกล่าวชาฮาดะฮฺยังท่านศาสดา

– ท่านศาสดารักษาโรคต่างๆเหมือนที่ท่านศาสดาอีซา(อ)รักษาได้อย่างปฏิหาริย์ เรื่องราวมีอยู่ว่าในสงครามอุฮุดนั้น มีศอฮาบะฮฺท่านหนึ่ง ถูกธนูของศัตรูที่ใบหน้าของเขา ทำให้ตาของเขากระเด็นหลุดออกจากเบ้า

เมื่อท่านศาสดาเห็นดังนั้น จึงได้เก็บดวงตาที่หลุดออกมานั้นกลับคืนไว้ที่เดิม ภายหลังจากท่านศาสดาขอดุอาอฺ ปรากฏว่า ดวงตาของศฮาบะฮฺท่านนั้น นอกจากกลับมายังที่เดิม โดยไม่ประสบกับความเจ็บปวดใดๆแล้ว ดวงตาของเขายังดีกว่าเดิมอีกด้วย

– การผ่าดวงจันทร์(ชักกุ้ลกอมัร) เนื่องจากว่าท่านศาสดาถูกขู่ โดยอบูญะฮัลพร้อมด้วยผู้รู้ชาวยิวคนหนึ่ง ว่า ถ้าหากเจ้าเป็นผู้สัจจริงในการกล่าวอ้างตนเป็นศาสดา ดังนั้น เจ้าก็จงแสดงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาต) และสิ่งมหัศจรรย์ให้เราเห็นกับตาเถิด มิเช่นนั้นแล้วเราจะฆ่าเจ้า

เมื่อท่านศาสดาได้ยินดังนั้น จึงได้แสดงมุอฺญิซาตโดยวิงวอนขอดุอาอฺ และได้ชี้นิ้วไปยังดวงจันทร์ และได้แยกมันออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งหยุดอยู่กับที่ และอีกซีกหนึ่งได้เคลื่อนที่ไปอีกด้านหนึ่ง และได้ดำเนินไปเช่นนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

หลังจากนั้นท่านศาสดา จึงทำให้ดวงจันทร์ทั้งสองซีกประกบเข้าด้วยกันเหมือนเดิม และกลับกลายเป็นดวงจันทร์เพ็ญอีกครั้งหนึ่ง

– การฟื้นชีวิตคนตาย กรณีท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินติ อะซัร มารดาของท่านอิมามอาลี(อ) มีมุอฺญิซาตประการหนึ่ง คือ ท่านศาสดาได้ทำให้นางฟื้นขึ้นมาพูดคุยครู่หนึ่ง จากนั้นก็ทำให้นางกลับไปอยู่ในกุโบร์เช่นเดิม

จากหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ เป็นมุอฺญิซาตเพียงส่วนหนึ่งของท่านศาสดาเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วบรรดาผู้รู้กล่าวว่า มุอญิซาตของท่านศาสดามีสี่พันสี่ร้อยสี่สิบเรื่อง ซึ่งก็หมายความว่าเป็นไปได้ ที่ว่าท่านมีทุกๆมุอฺญิซาตที่บรรดาศาสดาก่อนหน้าได้สำแดง และท่านศาสดาก็สำแดงให้เหล่าศอฮาบะฮฺได้เห็นเกือบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่า มุอฺญิซาตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คือ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานตรงกับนิยามของมุอฺญิซาต หมายความว่า คัมภีร์เล่มนี ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลง และมนุษย์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือเลียนแบบ หรือสร้างขึ้นมาใหม่แทนคัมภีร์เล่มนี้ได้ และคัมภีร์เล่มนี้ ยังเป็นคัมภีร์ที่ยืนยัน ถึง คัมภีร์ก่อนหน้านี้ด้วย

ทว่ามิติทางด้านมุอฺญีซาตของอัลกุรอาน ถือเป็นเรื่องที่แปลกเป็นอย่างมาก ในขณะที่อิสลามมีศัตรูอย่างมากมาย มีทั้งศัตรูภายนอก มีทั้งศัตรูภายในที่คอยลบลู่และทำลายอิสลามตลอดมา

กลับพบว่า อัลกุรอานได้ท้าศัตรูทุกคน มานับเป็นเวลาหนึ่งพันสี่ร้อยปี ที่คิดว่า คัมภีร์เล่มนี้มาจากมนุษย์ ด้วยตัวของอัลกุรอานเองในรูปแบบประกาศศักดา เช่น หากมนุษย์และญินร่วมมือกัน เพื่อจะแต่งคัมภีร์ เล่มหนึ่งให้มีเนื้อหาเป็นกลอน เป็นกวี มีความสละสลวย และงดงาม ให้ได้ความหมายอย่างสมบูรณ์และทันใหม่อยู่ตลอดเวลา และสามารถใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย เหมือนกับคัมภีร์อัลกุรอาน พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ แม้จะร่วมมือกันทั้งโลกก็ตาม

ซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ โองการที่ 88

قُل لَّئنِِ اجْتَمَعَتِ الْانسُ وَ الْجِنُّ عَلىَ أَن يَأْتُواْ بِمِثْلِ هَاذَا الْقُرْءَانِ لَا يَأْتُونَ بِمِثْلِهِ وَ لَوْ كاَنَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ ظَهِيرًا

“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด แน่นอนหากมนุษย์และญินรวมกันที่จะนำมาเช่นอัลกุรอานนี้ พวกเขาไม่สามารถนำมาเช่นนี้ได้ และแม้บางคนในหมู่พวกเขาจะช่วยเหลืออีกบางคนก็ตาม”

หากพิจารณารูปแบบและวิธีการนำเสนอ จะพบความยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ในความเป็นมุอฺญิซาตของอัลกุรอานที่ยิ่งใหญ่กว่ามุอฺญิซาตอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า นอกจากมนุษย์ไม่สามารถทำได้แล้ว ญินก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน และถึงแม้ชาวอาหรับในยุคนั้น จะแต่งกลอน แต่งกวีเก่งที่สุด หรือแม้เป็นอาหรับแห่งยุคกวีที่มีชื่อเสียงสักขนาดไหน ก็ไม่สามารถแต่งคัมภีร์ ที่เหมือนกับคัมภีร์เล่มนี้ได้ ซึ่งตั้งแต่วันแรก จนถึง วันนี้ ก็ยังไม่มีใคร สามารถประพันธ์คัมภีร์ใดๆ ให้เหมือนกับอัลกุรอานได้

เช่นนี้แล้ว อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงท้ามนุษย์อีก โดยให้มนุษย์นำมาเพียงสิบซูเราะฮฺ เวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถยกมาได้ พระองค์ก็ลดจำนวนให้อีก ให้นำเพียงหนึ่งซูเราะฮฺ​ ซึ่งบางครั้งบางซูเราะฮฺมีเพียงสามโองการเท่านั้น เช่น อัลเกาษัร หรือบางซูเราะฮฺมีเพียงสี่โองการ เช่น ซูเราะฮฺนัศรฺ หมายความว่า พระองค์เปิดโอกาสให้มนุษย์ประพันธ์เพียงสาม หรือ ห้าโองการเท่านั้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถแต่งสำนวนให้เหมือนกับอัลกุรอานได้เช่นเดิม

ซูเราะฮฺฮูด โองการที่ 13

أَمْ يَقُولُونَ افْترََئهُ قُلْ فَأْتُواْ بِعَشْرِ سُوَرٍ مِّثْلِهِ مُفْترََيَاتٍ وَ ادْعُواْ مَنِ اسْتَطَعْتُم مِّن دُونِ اللَّهِ إِن كُنتُمْ صَادِقِين

“หรือพวกเขากล่าว เขา(มูฮัมหมัด)ได้ปลอมแปลงอัลกุรอานขึ้นมา (มูฮัมหมัด) จงกล่าวเถิด ดังนั้นพวกเจ้าจงนำมาสักสิบสิบซูเราะฮฺที่ถูกปลอมแปลงขึ้นให้ได้อย่างอัลกุรอานและพวกเจ้าจงเรียกผู้ที่มีความสามารถในหมู่พวกเจ้านอกจากอัลลอฮฺให้มาช่วย ถ้าพวกท่านเป็นผู้สัจจริง”

ซูเราะฮฺยูนุส โองการที่ 38

أَمْ يَقُولُونَ افْترََئهُ قُلْ فَأْتُواْ بِسُورَةٍ مِّثْلِهِ وَ ادْعُواْ مَنِ اسْتَطَعْتُم مِّن دُونِ اللَّهِ إِن كُنتُمْ صَادِقِين

“หรือพวกเขากล่าว เขา(มูฮัมหมัด)ได้ปลอมแปลงอัลกุรอานขึ้นมา (มูฮัมหมัด) จงกล่าวเถิด ดังนั้นพวกเจ้าจงนำมาสักหนึ่งซูเราะฮฺเยี่ยงอัลกุรอานนั้น และพวกเจ้าจงเรียกผู้ที่มีความสามารถในหมู่พวกเจ้านอกจากอัลลอฮฺให้มาช่วย ถ้าพวกท่านเป็นผู้สัจจริง”

บทสรุปวันเวลาที่ผ่านไป ในที่สุดแม้มนุษย์และญินร่วมมือกันแล้ว ก็ไม่สามารทำได้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าอัลกุรอานนั้นมาจากพระเจ้า และในขณะเดียวกันก็ได้พิสูจน์ความเป็นศาสดาที่นำสาส์นนี้มาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์และญินไม่สามารถทำได้

ดังนั้น เมื่อศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) คือผู้นำคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นมุอฺญิซาตหลักที่สำคัญที่สุดมายังมนุษย์ และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มนุษย์เองก็ยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ จึงเป็นหลักฐานประการสำคัญ เพื่อชี้ว่า เมื่อคัมภีร์นี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า แน่นอนศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) ก็ต้องเป็นบุคลากรของพระผู้เป็นเจ้า


ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 21)