โอวาทวันนี้ 05/06/2560

59

นะบูวะห์ (ตอนที่ 18)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● คำสอนของศาสดาครอบคลุมไปยังมัคลูก(สิ่งถูกสร้าง)อื่นด้วยหรือไม่?

หากจะกล่าวไปยังมัคลูกอื่นๆ เบื้องต้นเราต้องย้อนกลับไปยังบริบทการสร้างของ อัลลอฮฺ(ซบ) แน่นอน อัลกุรอานได้กล่าวอย่างชัดแจ้งว่า พระองค์ทรงสร้างโลกใบนี้ มีเป้าหมายเพื่อแสดงอนุภาพให้มัคลูกทุกสรรพสิ่งในโลกเเซ่ซ้องสดุดี และเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียวโดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนใดๆ และพระองค์ ทรงตรัสอีกว่า

ซูเราะฮฺ อันอาม โองการที่ 130

يَا مَعْشَرَ الْجِنِّ وَالْإِنسِ أَلَمْ يَأْتِكُمْ رُسُلٌ مِّنكُمْ

“หมู่ญินและมนุษย์ทั้งหลาย! บรรดาร่อซูลจากพวกเจ้ามิได้มายังพวกเจ้าดอกหรือ?”

คำอธิบาย : เมื่อพิจารณาโองการ เราพบว่า บรรดาศาสดามิได้มาเผยแพร่เพื่อมนุษย์เพียงอย่างเดียว จึงเป็นที่รู้ว่า มีสิ่งถูกสร้างหนึ่ง คือ ญินที่มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดา เพราะญินเป็นสิ่งถูกสร้างหนึ่งที่มีอิคติยาร (มีสิทธิในการเลือกปฏิบัติ) เมื่อมีอิคติยารก็มีหน้าต้องปฏิบัติทางศาสนาด้วย เพียงแต่ข้อปลีกย่อยอาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งเราขอยกหลักฐานพอสังเขป ดังนี้

ซูเราะฮฺ อะฮฺกอฟ โองการ 29

وَإِذْ صَرَفْنَا إِلَيْكَ نَفَرًا مِّنَ الْجِنِّ يَسْتَمِعُونَ الْقُرْآنَ فَلَمَّا حَضَرُوهُ قَالُوا أَنصِتُوا ۖ فَلَمَّا قُضِيَ وَلَّوْا إِلَىٰ قَوْمِهِم مُّنذِرِينَ

“และจงรำลึกเมื่อเราได้ให้ญินจำนวนหนึ่ง มุ่งไปยังเจ้า เพื่อฟังอัลกุรอาน ครั้นเมื่อพวกเขามาปรากฏตัวต่อหน้าอัลกุรอาน พวกเขากล่าวว่า จงนิ่งฟังซิ เมื่อ (การอ่าน) จบลงแล้ว พวกเขาก็หันกลับไปยังหมู่ชนของพวกเขาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตักเตือน”

ซูเราะฮฺ อะฮฺกอฟ โองการ 30

قَالُوا يَا قَوْمَنَا إِنَّا سَمِعْنَا كِتَابًا أُنزِلَ مِن بَعْدِ مُوسَىٰ مُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ يَهْدِي إِلَى الْحَقِّ وَإِلَىٰ طَرِيقٍ مُّسْتَقِيمٍ

“พวกเขากล่าวว่า โอ้หมู่ชนของเราเอ๋ย แท้จริงเราได้ฟังคัมภีร์ (อัลกุรอาน) ถูกประทานลงมาหลังจากมูซา เป็นการยืนยันในสิ่งที่ได้มีมาก่อนอัลกุรอาน เพื่อชี้แนะทางไปสู่สัจธรรม และแนวทางที่เที่ยงตรง”

ซูเราะฮฺ อะฮฺกอฟ โองการ 31

يَاقَوْمَنَا أَجِيبُواْ دَاعِىَ اللَّهِ وَ ءَامِنُواْ بِهِ يَغْفِرْ لَكُم مِّن ذُنُوبِكمُْ وَ يجُِرْكُم مِّنْ عَذَابٍ أَلِيم

“โอ้หมู่ชนของเราเอ๋ย จงตอบรับต่อผู้เรียกร้องของอัลลอฮฺเถิด และจงศรัทธาต่อเขา พระองค์จะทรงอภัยโทษจากความผิดของพวกท่านให้แก่พวกท่าน และจะทรงให้พวกท่านรอดพ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวด”

คำอธิบาย : จากบริบทการสร้างสรรพสิ่ง อัลลอฮฺ(ซบ)ได้ตรัสว่า เป้าหมายในการสร้างญินและมนุษย์ เพื่อให้เเซ่ซ้องสดุดี และเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า คำสั่งสอนของศาสดาได้ครอบคลุมไปถึงญินด้วย เช่นนี้แล้ว ญินจึงมีหน้าที่ทางศาสนา คือ เป็นผู้ที่ถูกกำหนดให้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาสดา เพียงแต่ในรายละเอียดการปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับญินนั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามที่ได้กล่าวข้างต้น

● ปฏิกิริยาของมนุษย์ในแต่ละยุคกับบรรดาศาสดา

โดยทั่วไปแล้วบรรดาศาสดามักเผชิญหน้ากับการต่อต้าน และการปฏิเสธจากมนุษย์เกือบทุกยุคทุกสมัย ทั้งๆที่ภารกิจของบรรดาศาสดาทั้งหลาย มาเพื่อชี้นำเชิญชวนมนุษย์ไปสู่ความดี และมาเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่มนุษย์สิ้นหวัง เพราะด้วยสติปัญญาของมนุษย์นั้น สามารถไปได้แค่ส่วนหนึ่ง วะฮฺยูจึงมาเติมเต็มสิ่งที่สติปัญญาไม่สามารถไปถึงได้

วะฮฺยู คือ สิ่งที่ศาสดานำมาชี้นำมนุษย์ให้ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยการยับยั้งความชั่วและสนับสนุนให้กระทำแต่ความดี ทว่าในประวัติศาสตร์กลับพบว่า มนุษย์โดยส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาต่อต้านบรรดาศาสดาเกือบทั้งหมด

คำถาม : ทำไม พวกเขาจึงตั้งตนเป็นปรปักษ์และต่อต้านกับทุกๆศาสดา

คำตอบ : เหตุผลที่พวกเขาตั้งตนเป็นปรปักษ์และต่อต้าน เป็นเพราะคำสั่งของบรรดาศาสดาไปขัดกับประโยชน์ของบุคคลกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากว่า แนวทางการชี้นำ การอบรมสั่งสอน เป็นภารกิจหลักของศาสดาในการเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียวและให้ออกห่างจาก “ฏอฆูต” นั่นเอง

● ประเภทของฏอฆูต

คำว่า “ฎอฆูต” สามารถนิยามได้หลายประเภท ดังนี้

– นิยาม “ฏอฆูต”ทางด้านการปกครอง คือ การปกครองของคนที่ไม่มีศีลธรรม ไม่มีจริยธรรม

– นิยาม “ฏอฆูต”ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ระบบดอกเบี้ย ระบบเศรษฐกิจที่กดขี่ ระบบทุนนิยม ระบบบริโภคนิยม และนิยามนี้รวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่อยากดำเนินชีวิตอย่างอิสระเสรี ไม่อยากให้ใครมากำหนดวิถีชีวิตของพวกเขา อยากจะทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน อยากจะดื่มเหล้า อยากจะทำซินา(ผิดประเวณี)

จากนิยามข้างต้น การที่ท่านศาสดาเชิญชวนมนุษย์ให้ปฏิเสธฏอฆูตเหล่านี้ เป็นการเรียกร้องที่ขัดกับฮาวานัฟ(กิเลสใฝ่ต่ำ)ของพวกเขา จึงทำให้เกิดการต่อต้าน ส่งผลทำให้การกลั่นแกล้งศาสดาในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในแต่ละยุคกับบรรดาศาสดา

ซึ่งทั้งหมดครอบคลุมประเด็นสำคัญต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งการต่อต้านศาสดาของพวกเขาได้ผล บางครั้งไม่ได้ผลและกลุ่มชนที่ต่อต้านศาสดามากที่สุดก็คือกลุ่มชนที่มีอำนาจอยู่ในสังคมและกลุ่มชนที่เสียผลประโยชน์ ดังนี้

1. ผู้ปกครอง 2.นายทุน 3.ขุนพล

เราพบว่า ณ วันนี้ ความอำมหิตที่ฝังอยู่ในกมลสันดานอันมืดบอดของ “ฏอฆูต”สามกลุ่มนี้ มีผลอย่างมากในการต่อต้านศาสดา เพราะพวกเขามีพลัง โดยใช้อำนาจ ทหาร การเงินที่มีอยู่ นำมาขัดขวาง ด้วยการเชิญชวนประชาชนให้ปฏิเสธคำสั่งสอนของศาสดา

ตัวอย่าง บุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของฏอฆูต

ฟิรอูน ,กอรูน ,ฮามาน คือ สัญลักษณ์หนึ่งของ ผู้ปกครอง นายทุน และขุนศึก บางครั้งพวกเขาใช้เงินซื้อประชาชนเพื่อไม่ให้ปฏิบัติตามศาสดา ส่วนกลุ่มที่สี่อาจจะไม่มีอะไรมาก เพราะเป็นความอยากที่จะใช้ชีวิตตามฮาวานัฟซูของตัวเอง

เรายังพบว่า ในโลกปัจจุบัน มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ถูกมอมเมา หลายๆประเทศที่กำลังเกิดขึ้นให้อิสระต่างๆ ไปถึงขั้นอิสระที่จะนำมนุษย์ออกจากความเป็นมนุษย์

บางประเทศออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชายแต่งงานกับผู้ชายได้ บางประเทศอนุญาตให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงได้ แน่นอนว่า สิ่งเหล่าไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ แม้แต่การพนัน การดื่มเหล้าและสิ่งมึนเมาต่างๆ ได้เกิดอย่างอิสระ ถูกกฎหมายไปแล้ว

เหล่านี้ คือ การมอมเมาให้มนุษย์ห่างไกลจากคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น เมื่อศาสดาปรากฏขึ้น ทั้งๆที่ท่านเป็นคนดีและเป็นผู้ที่ไม่กระทำบาป ทว่าพวกเขากลับต่อสู้ ต่อต้านศาสดาและใช้วิธีการต่างๆ เพื่อขัดขวาง หยุดยั้ง ความก้าวหน้า และความสำเร็จในการเผยแพร่ของศาสดา เช่น

– ทำให้ศาสดาหมดความน่าเชื่อถือ ด้วยการกลั่นแกล้ง รังควาน ดูหมิ่น ดูถูก ดูแคลน เหยียบหยามให้ประชาชนเห็น

– กล่าวร้ายให้ร้าย เช่น กล่าวหาว่าศาสดาเป็นคนบ้า เป็นคนโกหก เป็นนักมายากล มีเวทมนต์คาถา รวมทั้งกล่าวหาว่าเป็นผู้โง่เขลาไม่มีสติ

– การโต้เถียงที่ไร้เหตุผลใดๆ ขอยกหลักฐานจากอัลกุรอานเกี่ยวกับ เรื่องราวศาสดาอิบรอฮีม(อ)กับกษัตริย์นัมรูดแห่งอาณาจักรบาบิโลน

ซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 258

أَ لَمْ تَرَ إِلىَ الَّذِى حَاجَّ إِبْرَاهِمَ فىِ رَبِّهِ أَنْ ءَاتَئهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِمُ رَبىَِّ الَّذِى يُحْىِ وَ يُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْىِ وَ أُمِيتُ قَالَ إِبْرَاهِمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتىِ بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بهَِا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِى كَفَرَ وَ اللَّهُ لَا يهَْدِى الْقَوْمَ الظَّالِمِين

“เจ้ามูฮัมมัดมิได้มองดูผู้ที่โต้แย้งอิบรอฮีมในเรื่องพระเจ้าของเขาดอกหรือ เนื่องจากอัลลอฮฺได้ทรงประทานอำนาจแก่เขา ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่าพระผู้อภิบาลของฉันนั้น คือ ผู้ทรงให้ชีวิตและให้ความตายได้ เขาก็กล่าวว่า ข้าก็ให้ชีวิตและให้ความตายได้ อิบรอฮีมกล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ทรงนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด แล้วผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นก็ได้รับความงงงวยและพระองค์นั้นจะไม่ทรงประทานแนวทางอันถูกต้องแก่ผู้อธรรมทั้งหลาย”

คำอธิบาย : โองการดังกล่าว บอกว่า นัมรูดได้โต้แย้งกับศาสดาอิบรอฮีม(อ) เขาถามท่านศาสดาอิบรอฮีมว่า พระเจ้าองค์ไหนกัน ที่ท่านเรียกร้องเชิญชวนไปสู่พระองค์ ยังมีผู้ใดอีกที่จะสู่งสงไปกว่าข้า เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่าการงานทั้งหมดนั้นอยู่ในมือของข้า ประชาชนน้อมรับบัญชาของข้า ประชาชนมีความเกรงกลัวต่อข้า เจ้ายังมีความสงสัยต่อความเป็นพระเจ้าของข้าอีกหรือ นี้คือคำพูดของนัมรูด

ท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)ได้กล่าวตอบว่า พระผู้อภิบาลของฉันคือผู้ที่ให้ชีวิตและคือผู้ทำให้ตาย และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่สร้างสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมาทั้งหมด

เมื่อ “นัมรูด” ได้ยินดังนั้น ด้วยกับความอหังการของมัน มันได้สั่งให้นำนักโทษสองคน แล้วออกคำสั่งให้ฆ่าหนึ่งคนและอีกคนหนึ่งปล่อยให้เป็นอิสระ แล้วมันก็กล่าวว่า ฉันก็สามารถให้ชีวิตและให้ความตายได้

เมื่อศาสดาอิบรอฮีม(อ) เห็นดังนั้น จึงได้กล่าวว่า “เป้าหมายของฉันไม่ใช่การให้ชีวิตและการให้ความตายในความหมายจอมปลอมที่เจ้าได้แสดง เพราะนั้นเป็นการกระทำที่ไม่กินกับสติปัญญาและเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง”

และศาสดาอิบรอฮีม(อ) ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “พระผู้อภิบาลของฉันคือผู้ที่ให้ดวงอาทิตย์ขึ้นมาจากทิศตะวันออก และได้ทรงวางระบบระเบียบที่มั่นคงอันนั้นไว้ให้ดำรงอยู่ และหากว่าเจ้าอ้างตัวเองว่า เป็นพระเจ้าก็จงนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันตกเถิด และจงเปลี่ยนแปลงระบบที่มั่นคงนี้ของพระผู้อภิบาลของฉัน”

เมื่อมาถึงตรงนี้นัมรูดก็ไร้คำพูดใดๆที่จะตอบโต้ศาสดาอิบรอฮีม(อ)อีกเพราะมันไม่สามารถทำได้ เหลือแค่เพียงรอเวลาเพื่อที่จะแก้แค้นศาสดาอิบรอฮีม(อ) และเป็นการเปิดเผยถึงความโกหกของมันต่อหน้าประชาชนอย่างชัดแจ้ง

แม้นัมรูดจะจนด้วยหลักฐานไม่สามารถโต้แย้งกับศาสดาอิบรอฮีม(อ)ได้ แต่ด้วยกมลสันดานอันมืดบอดของนัมรูด และบุคคลที่เป็นฏอฆูตคนอื่นๆ แน่นอน พวกเขาจะใช้วิธีการต่างๆเพื่อทำลายทุกๆศาสดา เช่น

– ข่มขู่ และขับไล่บรรดาศาสดาให้ออกจากเมือง และการข่มขู่ที่สูงสุดคือ การข่มขู่ฆ่าบรรดาศาสดา

– การใช้ความรุนแรงและการเข่นฆ่า เช่น ทุบตีทำร้ายร่างกาย จับศาสดาเผ่าทั้งเป็น ทำสงคราม ซึ่งวิธีนี้ชาวบนีอิสรออีล(ชาวยิว)นิยมใช้มากที่สุด มีทั้งหลักฐานในคัมภีร์อัลกรุอานและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้บันทึกอย่างชัดแจ้งว่า ชาวยิวคือ ประชาชาติที่ฆ่าบรรดาศาสดามากที่สุด

ซูเราะฮฺ อัล บากอเราะฮฺ โองการที่ 87

وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوسَى الْكِتَابَ وَقَفَّيْنَا مِن بَعْدِهِ بِالرُّسُلِ ۖ وَآتَيْنَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ الْبَيِّنَاتِ وَأَيَّدْنَاهُ بِرُوحِ الْقُدُسِ ۗ أَفَكُلَّمَا جَاءَكُمْ رَسُولٌ بِمَا لَا تَهْوَىٰ أَنفُسُكُمُ اسْتَكْبَرْتُمْ فَفَرِيقًا كَذَّبْتُمْ وَفَرِيقًا تَقْتُلُونَ

“และแท้จริงนั้น เราได้ให้คัมภีร์มูซาและหลังจากเขา เราได้ให้บรรดาร่อซูล ติดตามมาและเราได้ให้หลักฐานต่าง ๆ อันชัดเจน แก่ อีซา บุตรของมัรยัม และเราได้สนับสนุนเขาด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์ แล้วคราใดที่ได้มีร่อซูลนำสิ่งที่ไม่สบอารมณ์ของพวกเจ้า มายังพวกเจ้า พวกเจ้าก็ยะโสแล้วกลุ่มหนึ่งของศาสดาพวกเจ้าก็ปฏิเสธ และอีกกลุ่มหนึ่ง(ของศาสดา)พวกเจ้าก็ฆ่าเสียกระนั้นหรือ ?”

ซูเราะฮฺ อัล บากอเราะฮฺ โองการที่ 91

وَإِذَا قِيلَ لَهُمْ آمِنُوا بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ قَالُوا نُؤْمِنُ بِمَا أُنزِلَ عَلَيْنَا وَيَكْفُرُونَ بِمَا وَرَاءَهُ وَهُوَ الْحَقُّ مُصَدِّقًا لِّمَا مَعَهُمْ ۗ قُلْ فَلِمَ تَقْتُلُونَ أَنبِيَاءَ اللَّهِ مِن قَبْلُ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ

“และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่เขาเหล่านั้นว่า จงศรัทธาต่อสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า เรากำลังศรัทธาต่อสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่เราอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้นคือ ความจริง โดยยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับพวกเขา จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า เพราะเหตุใด เมื่อก่อนโน้นพวกท่านจึงฆ่าบรรดาศาสดาของอัลลอฮฺ ถ้าหากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา”


ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 19)