ประตูแห่งปรารถนา (ตอนที่ 1)

796

โลกความรู้ทางวิชาการแห่งอิสลามอันบริสุทธิ์นั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถเรียนรู้ได้เองโดยไม่ผ่านองค์ความรู้จากอัลกุรอาน โดยการอรรถาธิบาย และเผยแพร่จากท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) อันเป็นศาสนทูตของพระองค์และความรู้บางประการจากบรรดาอะอิมมะฮฺของท่าน อัลอิสลามที่ถูกเผยแพร่โดยท่านศาสนทูตและอะอิมมะฮฺของท่านเท่านั้นจึงมั่นใจได้เต็มเปี่ยมว่า นั่นคือ อัลอิสลามอันบริสุทธิ์ถูกต้อง

ในบรรดาวงศ์วานท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ที่อยู่ในช่วงศตวรรษที่สองถึงศตวรรษที่สามแห่ง ฮ.ศ. จะมีอิมามอาลี(อ) อิมามฮะซัน(อ) และอิมามฮุเซน(อ) อยู่ในศตวรรษต้นๆ ส่วนอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ) อิมามบากิรฺ(อ) และอิมามญะอฺฟัรฺ(อ) ก็ยังอยู่ในช่วงศตวรรษที่หนึ่ง อิมามมูซา กาซิม(อ) จะอยู่ในช่วงต้นศตวรรษที่สอง ส่วนท่านอิมามมะฮฺดี(อ) ก่อนการเร้นกายนั้นจะอยู่ในช่วง ฮ.ศ. 255-256 เป็นการย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สาม ท่านเหล่านี้ คือ ผู้สืบทอดศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

นักปราชญ์ทางศาสนาอิสลามหลายท่าน เจ้าสำนักความคิดหลายมัศฮับล้วนแล้วแต่เป็นสานุศิษย์ของบรรดาอิมามทั้งสิ้น ดังเช่น มีรายงาน(ริวายะฮฺ) ในเสี้ยวหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์อิสลามว่า “อิมามฮานาฟี” เจ้าของสำนักคิดฮานาฟี (มัศฮับ) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของสำนักคิด (มัศฮับ) ใหญ่ของอิสลาม ได้เคยปวารณาตนเป็น สานุศิษย์ของท่าน อิมามญะอฺฟัร(อ) เป็นเวลาสองปี

โดยเป็นสองปีแห่งความภาคภูมิใจ…. ความศรัทธา…. และความเทิดทูน ในฐานะของความเป็นครู กอปรกับเป็นวงศ์วานแห่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จนกระทั่งอิมามฮานาฟีต้องเอ่ยวาจาว่า

“ถ้าไม่มีสองปีนั้น นุอฺมาน (ชื่อของท่านอิมามฮานาฟี) ต้องพินาศแน่นอน”

นอกจากนั้น ยังมีนักวิชาการอาวุโสอีกหลายท่านได้เขียนถึงคุณงามความดี… ความรัก…ความศรัทธา…ต่อบรรดาวงศ์วานท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เช่น “อิมามชาฟีอี” เจ้าของสำนักคิดชาฟีอีี (มัศฮับ) ซึ่งเป็นนักวิชาการอาวุโสที่เป็นที่ยอมรับโดยนักวิชาการอะฮฺลิสซุนะฮฺจำนวนมาก

จะมีเพียงสำนักเดียวที่ไม่อาจยอมรับท่านได้ก็คือมุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวาฮาบ เพราะอย่าว่าแต่ท่านอิมามชาฟีอีนั่นเลย ใครก็ตามที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเขาก็จะถูกเจ้าสำนักคิดวะฮาบีคนนี้ตราหน้าว่าเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา ในยุคที่เขามีอำนาจสูงสุดได้ร่วมมือกับต้นราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย สังหารเข่นฆ่ามุสลิมผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมากในข้อหาคิดแตกต่างไปจากพวกตน

“สาละฟุศฺศอลิฮฺ” ที่แท้จริง

คำว่าผู้สืบทอดศาสนาอิสลามอันบริสุทธิ์ หรือ “สลัฟ” นั้น ในปัจจุบันมีการพูดถึงคำนี้กันอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะ “วะฮาบี” ที่ในตอนนี้ได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่ เพราะนามสกุลเดิมของวะฮาบี มุฮัมมัด อิบนิ อับดุลวาฮาบ นั้นส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วทั้งประชาชาติอิสลาม จึงต้องเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น “สลัฟ”

บรรพชนรุ่นแรกของพวกเขาเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 7 ชื่อ อิบนุ ตัยมียะฮฺ บรรดานักวิชาการอาวุโสอิสลามในยุคนั้นเกือบทั้งหมดต่างตั้งฉายาให้เขาว่าเป็นศาสตราจารย์สติเฟื่องบ้าง… เป็นอุลามาอฺจัญไรบ้าง… เป็นอุลามาอฺวิตถารบ้าง… เป็นบ้องตันบ้าง… ที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้นเขาถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ปฏิเสธ หลักการอิสลามไปเลยทีเดียว แต่ที่แน่นอนที่สุดเขามีความคิดวิตถาร บิดเบือน ข้อเท็จจริงทั้งในหลักการศาสนาอิสลามและความเป็นเอกภาพแห่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยมีหนังสือเป็นจำนวนมากที่บันทึกเรื่องราวของ อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดกรุงไคโร

วันนี้เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันชะฮาดัต ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) เนื้อหาบทเรียนที่จะกล่าวถึงจึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท่าน ซึ่งท่านนั้นถือว่า เป็นประตูไปสู่การทูลขอดุอาอฺจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตั้งแต่ครั้งท่านดำรงชีวิตจนไปสู่ความเมตตาของพระองค์ สุสานของท่านจึงเป็นสถานที่ที่พี่น้องมุสลิมผู้ศรัทธาไปเยี่ยมคาราวะอย่างเนืองแน่นในวันชะฮาดัตของท่าน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กระบวนการทำลายล้างอิสลามอันบริสุทธิ์ต้องหาทางกำจัดความเชื่อมั่นศรัทธานี้ให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการชั่วร้าย “วะฮาบี”

ท่านอิมาม มูซา กาซิม(อ) เป็นยอดแห่งกัลยาณชน เป็นบุคคลที่ประเสริฐยิ่ง ดำรงอยู่กับการอิบาดะฮฺ… เป็นผู้ให้… เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน…. มีเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง… มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่… เป็นผู้ที่มีสุขภาพพลานามัยที่ดียิ่ง… ร่างกายแข็งแรงบึกบึนสมชายชาตรี สมกับเป็นหนึ่งจากบรรดาอะอิมมะฮฺสิบสอง และนี่คือสลัฟที่ศอลิฮฺที่แท้จริง ในความเชื่อของชีอะฮฺอิมามียะฮฺถือว่าท่านเป็นมะอฺศูม และถูกเรียกในหมู่บรรพชนว่าเป็นบ่าวผู้ประเสริฐ….. เป็นผู้สืบทอดที่ใสพิสุทธิ์
คำสดุดีของนักปราชญ์อะฮฺลิสซุนนะฮฺที่มีแด่ท่านอิมาม กาซิม(อ)

ประวัติศาสตร์ของพี่น้องอะฮฺลิสซุนนะฮฺได้เขียนถึงท่านว่า เป็นบุคคลที่ น่าศรัทธาเชื่อถืออย่างแท้จริง เป็นผู้ให้ เป็นผู้มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง ถ้ามีคนคอยกลั่นแกล้งท่านทำให้ท่านเดือดร้อน ท่านก็จะทดสอบพวกเขาด้วยการเป็น ผู้ให้ บางครั้งให้เงินไปเป็นจำนวนมาก แม้แต่ อิบนิ ฮาญัรฺ อัลฮัยศามี ผู้เป็นที่ยอมรับทั้งพี่น้องอะฮฺลิสซุนนะฮฺและวะฮาบี ทั้งนี้นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่ชื่อ อิบนิ ฮาญัรฺ มีสองคนคือ อิบนิ ฮาญัรฺ อัลอัสกอลานี กับ อิบนิ ฮาญัรฺ อัลฮัยศามี สำหรับท่านอัลฮัยศามีได้เขียนตำราที่โด่งดังเอาไว้หลายเล่ม แต่ที่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการอะฮฺลิสซุนนะฮฺเกือบทั้งหมดก็คือ “อัศศอวาอิกุลมุฮฺริกอฮฺ”

อิบนิ ฮาญัรฺ อัลฮัยศามี กล่าวถึงท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) ว่า ท่านอิมามเป็นผู้ที่รับมรดกจากบิดาของท่าน คือ อิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก(อ) คงไม่มีมุสลิมประชาชาติอิสลามคนใดที่มีความคลางแคลงสงสัยท่านอิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก (อ) เพราะว่าศิษย์ของท่านล้วนเป็นเจ้าสำนักความคิดในมัศฮับ อะฮฺลิสซุนนะฮฺทั้งหมด อัลฮัยศามีจึงยืนยันว่าท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) เป็นบุคคลที่เป็นทายาท เป็นผู้สืบทอดทั้งองค์ความรู้ ทั้งมะอฺรีฟะฮฺจากบิดาของท่านจึงเป็นความประเสริฐอย่างแท้จริง!!!!!

ท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) เป็นผู้ที่มีความอดทน…. คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้ด้อยโอกาส… มีขันติธรรมที่สูงส่ง อัลฮัยศานีได้กล่าวยกย่องถึงบุคลิกภาพ องค์ความรู้และความน่าเชื่อถือศรัทธาของท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) เอาไว้ ข้อความที่ยกย่องท่านอิมามนั้นได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นหนังสือที่รู้จักมักคุ้นกันดีในหมู่นักวิชาการเกือบจะพอๆ กับตำราศอฮีหฺบุคคอรี

ท่านอิมาม มูซา กาซิม(อ)คือ บาบุลฮาวาอิจญฺ

ท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอิรักเป็นส่วนใหญ่ หลังจากท่านถูกจับตัวจากมะดีนะฮฺเอาไปขังไว้ที่แบกแดด จากนั้นนำมาขังไว้ที่กาซีมียะฮฺ ตั้งแต่ท่านอายุประมาณ 20 ปีก็ถูกจับตัว ถูกเชิญตัวแกมบังคับให้ไปรับตำแหน่งอิมามในอิรัก จนเป็นที่รู้จักเลื่องลือในบรรดาชาวอิรักว่าเป็นประตูแห่งฮะญัตฺ(บาบุลฮาวาอิจญฺ) ของอัลลอฮฺ(ซบ) พวกอาหรับมีความเชื่อว่าผู้ใดที่จะทูลขออะไรจาก เอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ) ให้มาประตูนี้ ท่านอิมามเป็นประตูที่มนุษย์จะมาทูลขอสิ่งใดจากอัลลอฮฺ(ซบ) เพราะคำว่า “ฮาวาอิจญฺ” เป็นพหูพจน์ของคำว่าฮาญัตฺ คือทุกความต้องการที่มนุษย์จะทูลขอให้เข้าทางประตูนี้!!!!

อิมามมูซา กาซิม(อ) จึงเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่ยอมรับของชาวอิรักด้วยฉายาว่า “บาบุลฮาวาอิจญี อิลัลลอฮฺ” เป็น บาบุลฮาวาอิจญฺแห่งอัลลอฮฺ(ซบ)… เป็นบุคคลที่ทำอิบาดะฮฺมากที่สุดสำหรับมนุษย์ในยุคนั้น… เป็นบุคคลที่มีความรู้มากที่สุด

008_2
ความเป็นบาบุลฮาวาอิจญฺของท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) ไม่เพียงแต่เฉพาะของมุสลิมคนหนึ่งคนใด แต่เป็นประตูแห่งความปรารถนาที่จะทูลขอต่ออัลลอฮฺ(ซบ) กับประชาชาติมุสลิมโดยรวม

ด้วยความเป็นบาบุลฮาวาอิจญฺของท่านอิมามมูซา กาซิม(อ) ท่านจึงเป็นที่เคารพรักศรัทธาของพี่น้องมุสลิมทั้งพี่น้องชีอะฮฺและพี่น้องอะฮฺลิสซุนนะฮฺเป็นอย่างยิ่ง การได้ไปเยี่ยมคาราวะที่สุสานของท่านถือได้ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าในชีวิตของทุกคน นอกจากได้แสดงกตัญญูเมตตาคุณต่อท่านแล้ว การได้ตะวัซซุลเพื่อทูลขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺ(ซบ) พระองค์จะทรงตอบรับดุอาอฺที่ทูลขอนั้นอย่างแน่นอน แม้บางครั้งดุอาอฺที่ทูลขอนั้นพระองค์อาจจะไม่ทรงตอบรับตรงตามที่ได้ทูลขอไป แต่จงมั่นใจว่าพระองค์อาจจะทรงให้สิ่งที่ดีกว่าที่ได้ทูลขอไปก็ได้ พรจากพระองค์นั้นอาจจะทรงให้ในวันนี้หรือวันหน้า ในโลกนี้หรือโลกหน้า ขอเพียงเราทุกคนจงมั่นใจเสมอว่าพระองค์ทรงเมตตากรุณาปราณีนิรันดร์

การขอดุอาอฺที่ผู้ขออาจจะไม่ได้รับได้ดั่งใจเสมอไป อุปมาดั่งลูกที่ขอจากพ่อแม่ บางครั้งอาจไม่ได้ดั่งใจปรารถนาไปทุกเรื่อง แต่พ่อแม่อาจจะให้สิ่งที่ดีกว่าลูกขอไปเสียอีก อัลกุรอานยืนยันว่าอัลลอฮฺ(ซบ) ทรงรักบ่าวของพระองค์ยิ่งกว่าที่พ่อแม่รัก ดังนั้นการทูลขอดุอาอฺตามที่ใจปรารถนา หากพระองค์ทรงเห็นว่าจะทำให้เกิดโทษมากกว่าคุณก็อาจไม่ทรงตอบรับ แต่จงมีความมั่นใจในพระกรุณาปราณีไว้เสมอว่าการทูลขอนั้นไม่สูญเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทูลขอผ่านการ ตะวัซซุลผ่านอะอิมมะฮฺย่อมถูกทรงตอบรับอย่างแน่นอน


777

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………… ปาฐกถา เนื่องในวันคล้าย วันชะฮาดัต ท่านอิมาม มูซา กาซิม(อ)

(บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี)……………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ติดตามอ่านต่อ ประตูแห่งปรารถนา (ตอนที่ 2)