คุณลักษณะของเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ
ทุกคนที่ฟังเรื่องราวและบุคคลที่มีความหวาดกลัวและโศกเศร้าเสียใจนั้นไม่สามารถที่จะเข้าร่วมในภารกิจอันนี้ กล่าวคือภารกิจของเอาลิยาอฺของ อัลลอฮฺเท่านั้น และคุณลักษณะหนึ่งของเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺที่อัลกุรอาน กล่าวถึงบ่อยเป็นอย่างมาก ซึ่งในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน มีโองการอยู่จำนวนหนึ่งที่อัลลอฮฺ(ซบ)จะชี้ให้เรารู้จักว่าใครคือเอาลิยาอฺของ อัลลอฮฺ ? แต่ที่กล่าวบ่อยครั้งถึงคุณลักษณะของเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน คือ
أَلَا إِنَّ أَوْلِيَاءَ اللَّهِ لَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ
ความว่า “พึงรู้เถิดว่า ! แท้จริง บรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺนั้น จะไม่มีความหวาดกลัวและพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจใดๆ”
นั้นหมายความว่า พวกเขาไม่กลัวสิ่งใด ซึ่งในภาษาอาหรับ หมายความว่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และเรื่องที่ยังไม่เกิดแต่เรากลัวล่วงหน้า เช่นถ้าเราไม่ถูกฆ่า เรากลัวจะถูกฆ่าอันนี้เขาเรียกว่าความกลัว คนตายแล้วกลัวจะถูกฆ่าไหม? ไม่กลัว ดังนั้นคำว่าความกลัวจะใช้กับสิ่งที่ยังไม่เกิดแต่เรากลัวก่อน
ส่วนความเศร้าจะใช้กับสิ่งที่เกิดแล้ว ซึ่งเรามาเสียใจภายหลัง เช่นสมมุติบางคนอาจจะร่วมเดินทางไปแล้วก็ถูกปิดล้อมแล้วเราเสียใจว่า เรามาทำไม ไม่น่ามาเลย……
เหมือนกับในระหว่างเส้นทางที่อิมามฮุเซ็น(อ)เดินทางไปมีคนเริ่มถอย…..เริ่มไม่เอา……เริ่มไม่สู้ แต่เมื่อถึงจุดสุดท้ายถึงจุดที่ทุกคนยืนหยัดและยืนยันนั้นเขาไม่มีความกลัวสิ่งใด เขาไม่ได้เศร้าว่าพลาดไปแล้วที่เรามา นั่นคือเป็น
คุณลักษณะอันหนึ่งของ เอาลิยาอฺอัลลอฮฺ ซึ่งแน่นอนในความเป็น เอาลิยาอฺของอัลลอฮฺของแต่ละคนก็อาจจะมีความแตกต่าง รวมทั้งนบีก็เป็นเอาลิยาอฺ วะซียฺก็เป็นเอาลิยาอฺ อุลามาอฺก็เป็น เอาลิยาอฺได้
ดังนั้นเอาลิยาอฺไม่ได้หมายความว่าถ้าเป็นเอาลิยาอฺได้แล้วจะเหมือนกันหมด แต่มีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน แต่ความเป็น เอาลิยาอฺขั้นพื้นฐานจะต้องมีเหมือนกันทุกคน บรรดาเอาลิยาอฺและบรรดาวะลียุลลอฮฺจะไม่มีความกลัวใดๆ นั่นคุณลักษณะหนึ่งของการเป็นเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ(ซบ)
กัรบะลาอฺเป็นสนามของบรรดาเอาลิยาอฺ เมื่อกัรบาลาอฺเป็นสนามของบรรดาเอาลิยาอฺแล้ว ท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ก็คือหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้ เราไม่ต้องถามความเป็นเอาลิยาอฺอัลลอฮฺของท่านหญิงซัยหนับ (ซ) อะไรคือเครื่องพิสูจน์ถึงความเข้มข้นและความเข้มแข็งของสตรีผู้นี้ ?
มีอีกหลายเรื่องราวที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ทว่าทุกวันนี้โดยส่วนมากเรามองภาพวีรกรรมของท่านหญิงซัยหนับ (ซ)หลังจากการเป็นชะฮีดของท่าน อิมามฮุเซน(อ)เพียงเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ววีรกรรมของท่านหญิงซัยหนับและบทบาทของท่านหญิงนั้นเริ่มตั้งแต่ที่ออกมาจากเมืองมะดีนะฮฺแล้ว สตรีผู้หนึ่งที่ขออนุญาตสามีติดตามผู้นำของการปฏิวัติ พร้อมนำลูกชาย 2 คนไปด้วย
ซึ่งรู้ล่วงหน้าว่าจะนำไปพลีที่นั้น เพราะที่นั้นคือสนามแห่งการพลี และการที่ผมได้บอกกับพี่น้องว่า อย่ามองว่าการปฏิวัติอันนี้นั้นคนที่เดินร่วมกับ อิมามฮุเซ็น(อ)จะไม่รู้จุดจบโดยเฉพาะท่านหญิงซัยหนับ(ซ)
อีกทั้งก่อนที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซซะฮรอ(ซ)จะวะฟาต ก็ได้มอบเสื้อตัวหนึ่งไว้กับท่านหญิงซัยหนับ(ซ) พร้อมกำชับกับท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ไว้ว่า “จงเก็บรักษาเสื้อนี้ไว้ให้ดี” วันไหนที่เจ้าติดตามพี่ชายของเจ้าไปยังแผ่นดินหนึ่ง(หรือบางริวายะฮฺบอกว่าไปยังแผ่นดินกัรบาลาอฺ )แล้ว วันใดที่พี่ชายของเจ้ามาขอเสื้อตัวนี้ จงรู้เถิดว่านั่นคือนาทีสุดท้ายแห่งชีวิตของพี่ชายเจ้า……. และท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ก็ยังพกเสื้อตัวนี้ติดตัวไปยังแผ่นดินกัรบะลาอฺด้วย ดังนั้นเราจะบอกว่าท่านหญิงไม่รู้เหตุการณ์นั้นมันเป็นไปไม่ได้…..!!!
กัรบะลาอฺคือ ขบวนการต่อสู้ที่รู้รายละเอียดของการต่อสู้เกือบทั้งหมด ท่านอิมามฮุเซ็น(อ)รู้รายละเอียด และอีกหลายๆท่านก็รู้รายละเอียดในเรื่องนี้ บรรดาอัศฮาบรู้ถึงจุดจบ เพียงแต่อาจจะไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดเหมือนกับบรรดาลูกหลานของบนีฮาชิมรู้เท่านั้น
เมื่ออับดุลลอฮฺ บิน ญะอฺฟัร รู้ว่าท่านหญิงซัยหนับ(ซ)จะติดตามท่าน อิมามฮุเซ็น(อ)ไป จึงมอบลูกไป 2 คนแล้วบอกว่าจงปกป้องชีวิตอาของเจ้าให้ดีน่ะลูกรัก ดังนั้นบางครั้งนักประวัติศาสตร์ก็เปรียบเทียบว่าการที่ท่านหญิง ซัยหนับ(ซ)เดินทางตามท่านอิมามฮุเซ็น(อ)ไป แล้วพาลูกชาย 2 คนไปด้วย ก็เหมือนกับสตรีผู้หนึ่งที่ออกเดินทางไปทำฮัจญฺแต่เป็นฮัจญฺที่กัรบะลาอฺพร้อมกับนำกุรบาน 2 คนที่จะเอาไปทำฮัจญฺและพลีที่กัรบะลาอฺ แหละนี่คือบทบาทที่สำคัญ…..!!!
ในระหว่างทางเมื่อเจ้าเมืองมะดีนะฮฺทราบว่าท่านอิมามฮุเซ็น(อ)ออกเดินทางถึงมักกะฮฺแล้ว และจากนั้นก็ออกจากนครมักกะฮฺมุ่งสู่กัรบาลาอฺแล้ว ก็มีการส่งสาส์นไปให้ท่านอิมามฮุเซ็น(อ)ในระหว่างทางเพื่อยกเลิกภารกิจนี้ เพราะย่อมรู้ดีว่าภารกิจนี้จะมีจุดจบเช่นไร และถ้าไม่หยุดภารกิจอันนี้ก็ให้เด็กๆและผู้หญิงกลับมาดีกว่า อย่าเอาเด็กๆและผู้หญิงไปร่วมชะตากรรมที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้เลย กล่าวคือท่านอิมามฮุเซ็น(อ)อ่านสาส์นของเจ้าเมืองมะดีนะฮฺให้กับทุกคนฟังด้วยความจงใจ รวมทั้งท่านหญิงซัยหนับ(อ)เด็กๆและสตรีด้วย
ในริวายะฮฺได้กล่าวว่าเมื่อท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ได้ยินคำว่า “ถ้าเจ้ายังคงยืนยันจะเดินทาง เพื่อต่อต้านยะซีดก็ส่งเด็กๆและผู้หญิงกลับมา” ท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ก็ได้ตะโกนออกมาจากหลังม่านด้วยเสียงอันดังเป็นอย่างมากว่า ช่างเป็นสนธิสัญญาที่อัปยศยิ่ง ..!!! เสนอเช่นนี้มาได้อย่างไร….!!! และท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ได้พูดคำหนึ่ง ซึ่งเป็นคำพูดที่สวยงามและยิ่งใหญ่มากเหมือนกับคำพูดที่ท่านหญิงซัยหนับ(ซ)ได้กล่าวในเมืองกูฟะฮฺต่อหน้าอิบนิ ซิยาด ว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรับข้อเสนออันอัปยศอันนี้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะชีวิตของเรานั้นถูกสร้างมาให้มีชีวิตกับเขา คือให้มีชีวิต กับอิมามฮุเซ็น(อ)เท่านั้น กล่าวคือถ้าจะมีชีวิตเราก็จะมีชีวิตร่วมกับท่านอิมามฮุเซ็น(อ) ชีวิตของเรามิอาจที่จะแยกจากท่านอิมามฮุเซ็น(อ)ได้ นี่คือคำพูดของสตรีผู้หนึ่ง
และเราก็ต้องตายกับฮุเซนและแบบฮุเซ็น(อ) กล่าวคือ อยู่เพื่อฮุเซ็น(อ) และตายเพื่อฮุเซ็น(อ) นี่คือชีวิตของเรา หรือนี่คือชีวิตของฉัน แต่ท่านหญิง ซัยหนับ(ซ)ใช้คำพูดที่เป็นพหูพจน์ “ชีวิตของพวกเรา” ชีวิตของซัยหนับจะอยู่เพื่อฮุเซ็นและตายเพื่อฮุเซ็น เพื่อเป็นการยืนยันคำนี้อีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะถึงแผ่นดินกัรบะลาอฺ ในระหว่างทางมักกะฮฺที่กำลังมุ่งสู่เมืองกูฟะฮฺ นี่คือสตรีคนหนึ่งต้องการที่จะให้รู้ว่าชีวิตที่จะต้องถวายเพื่ออุดมการณ์นั้นเป็นหน้าที่ของหญิงและชาย นี่คืออธิบายสั้นๆที่สุดไม่ต้องไปไกลให้เข้าใจยากว่าชีวิตของมนุษย์ที่จะต้องถวายเพื่ออุดมการณ์นั้นเป็นหน้าที่ของทั้งหญิงและชาย การอยู่เพื่ออุดมการณ์ และการตายเพื่ออุดมการณ์
ศาสนาไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชายเพียงเท่านั้นแต่เป็นหน้าที่ของผู้หญิงด้วย แหละนี่คือวาทกรรมหนึ่งของท่านหญิงซัยหนับ (ซ) อิมามฮุเซ็น(อ)มีเจตนารมณ์ที่จะอ่านสาส์นของเจ้าเมืองมะดีนะฮฺให้ทุกคนได้ยินเพื่อจะเอาคำพูดอันนี้ออกมาจากท่านหญิงซัยหนับ(ซ)
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………… ปาฐกถา เนื่องในวันคล้าย วันชะฮาดัต ท่านหญิงซัยหนับ(ซ)
(บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี)……………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ติดตามอ่านต่อ ซัยหนับ วีรสตรีผู้ผดุงสาส์นแห่งกัรบะลาอฺ (ตอนที่ 4)