โอวาทวันนี้ 06-04-2560

319

นะบูวะห์ (ตอนที่ 8)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● หลักฐานทางสติปัญญาที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

โดยธรรมชาติ ถ้าไม่มีศาสนา มนุษย์เราก็ไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์เดรัจฉาน ที่ห้ำหั่นเข็ญฆ่ากันด้วยสัญชาติการเอาตัวรอด นึกจะฆ่าใคร ก็ฆ่าเพราะไม่ร้จักบาปบุญคุณโทษว่าเป็นอย่างไร สังคมจะเกิดความวุ่นวายโกลาหล แล้วในท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นสังคมของสัตว์ป่า ที่ปกครองกันด้วยกำลัง ซึ่งนั้นก็คือการสิ้นสุดของอารยธรรมของมนุษย์ จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า หากไม่มีศาสดาของศาสนามาชี้นำแล้วไซร้ มนุษยชาติจะอยู่กันอย่างไร

ฉะนั้น จากปรากฏการณ์ดังกล่าว มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีศาสดาที่ถูกส่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า มาทำหน้าที่เป็นศูนย์รวม เป็นที้ยึดเหนี่ยวจิตใจ คอยชี้นำ อบรม สั่งสอน ขัดเกลา กระตุ้นเตือนให้ทำดี และ มีเมตตาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งหมดนี้เป็นการทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข แต่ทั้งนี้มนุษย์ก็ยังคลางแคลงที่จะยอมรับและเชื่อมั่นต่อบรรดาศาสดาที่ถูกส่งมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เรามาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา ด้วยหลักฐานทางสติปัญญา ดังนี้

ประการที่ 1 หากศาสดาไม่มี “อิศมัต” {ความบริสุทธิ์} แน่นอนเป้าหมายของการแต่งตั้งศาสดามาไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะการปฏิบัติตามที่สมบูรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

สมมติ หากศาสดาเป็นผู้ฝ่าฝืนและเป็นผู้กระทำบาปเสียเอง ผลที่ตามมา นอกจากจะเป็นสาเหตุให้ความเป็นผู้ชี้นำของท่านสูญเสียแล้ว ยังเป็นสาเหตุส่งเสริมให้มนุษยชาติทำความความชั่วด้วย

ดังนั้น การอบรมสั่งสอนตักเตือนมนุษย์ด้วยการพูดอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ทว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด บรรดาศาสดา(ผู้ตักเตือนผู้ชี้นำ) จะต้องสั่งสอนพร้อมปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับมนุษยชาติด้วย

โดยสรุป ศาสดา คือ ผู้ที่ดึงดูดมนุษย์ให้ใช้สติปัญญาและความรู้ เพื่อเข้าหาหลักธรรม ฉะนั้น มนุษย์จำต้องเรียนรู้ว่าในการอบรมสั่งสอนมนุษย์ การมีแบบอย่างให้เห็นประจักษ์นั้นมีผลเป็นอย่างมาก เพราะทุกการเป็นต้นแบบมีผลต่อการปฏิบัติตามและสามารถพัฒนาจิตวิญญาณมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

เช่นนี้แล้ว ถ้าหากบรรดาศาสดาไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์(มะอฺศูม)หรือเป็นผู้ทำความผิดเสียเองแล้ว นอกจากจะทำให้เป้าหมายในการแต่งตั้งศาสดาบกพร่องแล้วมันยังขัดกับ “ฮิกมะฮ์” ปรัชญาในเป้าหมายของพระผู้เป็นเจ้าด้วยเช่นกัน

ดังนั้น บรรดาศาสดา จำเป็นต้องเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพื่อที่จะได้ไม่ขัดกับฮิกมะฮฺปรัชญาแห่งเป้าหมาย โดยเฉพาะต้องตรงกับคุณลักษณะที่อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้อย่างสมบูรณ์และมีความประเสริฐในขั้นต่าง ๆ ที่มากมายนั่นเอง

ประการที่ 2 หากศาสดาไม่มี “อิศมัต”{ความบริสุทธิ์} การอบรมสั่งสอนของท่านก็จะวางอยู่บนพื้นฐานที่ผิดบ้างถูกบ้าง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าไม่สามารถนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ได้

ตัวอย่าง “การปฏิบัติกับเชลยศึก”

เมื่อเกิดสงคราม แน่นอนว่า ต้องมีฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งที่ต้องพ่ายแพ้แล้วตกเป็นเชลย และการทำสงครามเมื่อจับเชลยศึกมาได้ บางครั้งการฆ่าเชลยศึกทั้งหมดมีผลดี และบางครั้งการให้อภัยเชลยศึกกลับมีผลที่ดีกว่า

ทว่าในอิสลาม มีกรณีหนึ่งที่ต้องฆ่าเชลยแต่ท่านศาสดากลับให้อภัย และมีอีกกรณีหนึ่งที่หลายๆคนคิดว่าต้องให้อภัยแต่ในมุมมองของศาสดากลับมีคำสั่งให้ฆ่า เพราะหากเชลยคนนี้ได้รับการอภัย เขาสามารถนำไปสู่ความเสียหายและอาจก่อปัญหาอื่นๆที่จะตามมาได้นั่นเอง

หลักฐานในอัลกุรอานที่พิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา ในที่นี้
อัลกุรอานไม่ได้อธิบายความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาไว้อย่างชัดแจ้ง(โดยตรง ) แต่ด้วยการนำโองการอัลกุรอานจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาพร้อมๆกัน ก็จะสามารถเข้าใจถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา ดังนี้

ซูเราะฮฺศอศ โองการที่ 82
——————
قَالَ فَبِعِزَّتِكَ لَأُغْوِيَنَّهُمْ أَجْمَعِينَ

“เขา(ไชฏอน)กล่าวว่าฉันขอสาบานด้วยอำนาจของพระองค์ แน่นอนฉันจะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงทาง”

ซูเราะฮฺศอศ โองการที่ 83
——————
إِلَّا عِبَادَكَ مِنْهُمُ الْمُخْلَصِينَ

“เว้นแต่บ่าวของพระองค์ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์(“มุคละศีน”)”

คำอธิบาย : จากโองการดังกล่าวคำว่า “มุคละศีน” مُخْلَصِينَ (ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์)

“มุคละศีน” مُخْلَصِينَ ในที่นี้ คือ บุคคลที่ไชฏอนมารร้ายยอมรับว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้เท่านั้น ที่มันไม่สามารถหลอกลวงได้

ดังนั้น เมื่อไชฏอนไม่สามารถหลอกหลวงพวกเขาให้ทำความผิดบาปได้ จึงเป็นหลักฐานทางสติปัญญาประการหนึ่ง ที่พิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา
ซูเราะฮ์อัศศอฟฟาต โองการที่ 159

——————
سُبْحَانَ اللَّهِ عَمَّا يَصِفُونَ

“มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ จากสิ่งที่พวกเขาสาธยาย”

ซูเราะฮ์อัศศอฟฟาต โองการที่ 160
——————
إِلَّا عِبَادَ اللَّهِ الْمُخْلَصِينَ

“เว้นแต่บ่าวของพระองค์ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์ “มุคละศีน”

คำอธิบาย : โองการดังกล่าว พระองค์ยืนยันว่า ไม่มีใครอธิบายเกี่ยวกับความประสงค์หรืออธิบายเกี่ยวกับอาตมันของพระองค์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ นอกจากปวงบ่าวของพระองค์ผู้เป็น “มุคละศีน” ชัดเจนว่า เมื่อพระองค์ชี้เจาะจงไปที่ บุคคลที่ “มุคละศีน” ที่สามารถอรรถธิบายเรื่องราวต่างๆของพระองค์อย่างสมบูรณ์ได้ จึงเท่ากับเป็นหลักฐานทางสติปัญญาอีกประการหนึ่ง ที่พิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา ที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้ของพวกเขาเท่านั้น ที่เป็นความรู้ที่ไม่มีความผิดพลาดใดๆ

ดังนั้น สำหรับ“อิศมะตุลอิลมี” {ความรู้ที่ได้รับการปกป้องจากความผิดพลาด} ชีอะฮฺไม่ได้มีความเชื่อว่าศาสดาบริสุทธิ์จากบาปเพียงเท่านั้น แต่ยังเชื่ออีกว่าแม้แต่ความรู้ และทัศนะของบรรดาศาสดาก็มีความบริสุทธิ์ด้วยช่นกัน

หลังจากนั้น พระองค์ทรงตรัสเสริมอีกว่า บรรดามุคละศีนเหล่านั้น หมายถึงใคร

ในซูเราะฮฺศอศ โองการที่ 45

——————
وَاذْكُرْ عِبَادَنَا إِبْرَاهِيمَ وَإِسْحَاقَ وَيَعْقُوبَ أُولِي الْأَيْدِي وَالْأَبْصَارِ

“และจงรำลึกถึงปวงบ่าวของเรา อิบรอฮีม อิสหาก และยะอฺกู๊บ บุคคลเล่านี้เป็นผู้ที่มีพลังอำนาจและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล”

ซูเราะฮฺศอศ โองการที่ 46
——————
إِنَّا أَخْلَصْنَاهُم بِخَالِصَةٍ ذِكْرَى الدَّارِ

“แท้จริง เราได้ทำให้พวกเขาบริสุทธิ์เพื่อเตือนให้รำลึกถึงปรโลก”

คำอธิบาย : จากโองการดังกล่าว คำว่า “อัคลัสนา” أَخْلَصْنَا มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า “มุคละศีน” مُخْلَصِينَ

“อัคลัสนา” أَخْلَصْنَا หมายความว่า เรา(อัลลอฮ(ซบ)ได้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งนั้นสะอาดบริสุทธิ์ หรือ ผู้ที่ถูกทำให้สะอาดบริสุทธิ์

“เขา” ในที่นี้ คือ “กรรม” ซึ่งตามภาษาอาหรับก็ตรงกับความหมายของ “มุคละศูน” คือบุคคลที่ถูกทำให้บริสุทธิ์โดยอัลลอฮฺ(ซบ) โองการนี้หมายถึงศาสดา อิบรอฮีม อิสหาก ยะอฺกูบ และโองการอีกจำนวนหนึ่งก็ได้กล่าวถึงศาสดาอื่นๆ ดังนี้

ซูเราะฮฺอัลมัรยัม โองการที่ 51

وَ اذْكُرْ فىِ الْكِتَابِ مُوسىَ إِنَّهُ كاَنَ مخُْلَصًا وَ كاَنَ رَسُولًا نَّبِيًّا

“จงรำลึกถึงเรื่องของมูซา(อ)ที่อยู่ในคัมภีร์ แท้จริงเขาเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้บริสุทธิ์ “มุคลัศ” และเขาคือศาสนทูตและศาสดา”

และ ซูเราะฮฺยูซุฟ โองการที่ 24

كَذَالِكَ لِنَصْرِفَ عَنْهُ السُّوءَ وَ الْفَحْشَاءَ إِنَّهُ مِنْ عِبَادِنَا الْمُخْلَصِين

“เช่นนี้แล้ว พระองค์ได้นำออกจากเขา “ยูซุฟ” ซึ่งความชั่วร้ายและสิ่งไม่ดีงามต่างๆ แท้จริง เขาคือบุคคลหนึ่งจากป่วงบ่าวผู้ได้รับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์”

คำอธิบาย : จากโองการต่างๆเหล่านี้ อัลลอฮ(ซบ) ได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งด้วยสติปัญญาของมนุษย์ แน่นอนว่าสามารถพิสูจน์หลักฐานต่างๆจากแบบอย่างในภารกิจที่เป็นภาคปฏิบัติของบรรดาศาสดาที่มีต่อมนุษยชาติได้ด้วยตันตนของมนุษย์เอง


777

ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 9)