วันคล้ายวันประสูติ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)และ วันคล้ายวันสมภพ ท่านอยาตุลลอฮฺ ซัยยิดรุฮุลลอฮฺ มูซาวี โคมัยนี(รฎ.) (ตอนที่ 4)

271

มัคลูกหนึ่ง ที่ถูกเทิดเกียรติ ทั้งชั้นฟากฟ้าและชั้นแผ่นดิน…..
“เป็นแก้วตาดวงใจแห่งศาสดา  เป็นเทียนทองส่องทางผู้ศรัทธานิรันดร์”

♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡

● บริบทแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่

 

เรากำลังชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) หากจะมีความรักให้กับอะฮฺลุลเบต ต้องเข้าใจบริบทแห่งความรักให้ได้อย่างลึกซึ้งเสียก่อน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “หัวใจของอะฮฺลุลเบต” คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) และ ในคำว่า “อะฮฺลุลเบต” ทั้งในอัลกุรอานและฮะดิษ ได้ยืนยันว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ คือ ความลับของอะฮฺลุลเบต

ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายของมัน เกี่ยวกับเนื้อหาความรักที่ยิ่งใหญ่นี้ จึงต้องถูกเปิดเผยในนามของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)เท่านั้น เพียงมีความรักต่อท่านหญิง เราก็จะเข้าใจในมิติแห่งความรักที่มีต่ออะลุลเบต(อ)ที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์

เบื้องต้น ด้วยบะรอกัตมัจญลิซของท่านหญิง ท่านหญิงได้ให้ทุกคนมาปรากฎตัว ได้มารวมตัวกัน บางคนอยู่ไกล บางคนอยู่ใกล้ บ้างอาจจะดิ้นรน ขวนขวาย เพื่อมาแสดงความรักที่มีต่อท่านหญิง

ทีนี้จะเข้าสู่เนื้อหาของการตัฟซีร ว่าด้วย “การแสดงความรัก”

คำถาม : เราจะแสดงความรักแบบไหน ถึงจะเรียกว่ามีความรักต่อท่านหญิงอย่างแท้จริง

ตัวอย่าง

สมมติ ในวันกิยามัต เราถูกนำตัวไปยังนรก และเมื่อเราเห็นว่าอัลลอฮ(ซบ)กำลังจะลงโทษ เราอุทธรณ์กับพระองค์ว่า อย่าเพิ่งลงโทษเราเลย แล้วถามพระองค์ว่า จะเอาเราลงนรกได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นคนหนึ่งที่มีความรักต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

และถ้าอัลลอฮ (ซบ)ย้อนถามเรากลับว่า “ตรงไหนที่เจ้าบอกว่า มีความรักต่อท่านหญิง เจ้ามีความรักแบบไหน ไหนลองพิสูจน์ให้ฉันดูสิ”

-คำตอบใดที่จะทำให้พระองค์ยอมรับและอนุญาตให้เราเข้าสวรรค์
-คำตอบไหนที่ชี้ว่าเรามีความรักยังท่านหญิง

เราจะตอบกับพระองค์ว่าอย่างไร?

บางคนตอบพื้นๆว่า อ่านอัลกุรอาน บางคนตอบว่าอ่านดุอาอฺ บางคนอ่านซิยารัตของท่านหญิง ตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ดีและต้องตระหนักด้วยว่า สำหรับผู้ที่อ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานบางจำพวก อัลลอฮ(ซบ.) กลับสาปแช่ง! แม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติการนมาซ ทำไมถึงมีที่ถูกสาปแช่งด้วย

คำตอบ เพราะการอ่านกรุอานและการปฏิบัตินมาซของเขาไม่มีมะอฺรีฟัตนั่นเอง

ดังนั้น หากคำตอบยังเป็นแบบพื้นๆอย่างนี้ พระองค์ไม่ยอมรับแน่นอน ทำไมถึงไม่ยอมรับ ก็เพราะเป็นความรักเพียงแค่ลมปากเป่าที่เชื่อถือไม่ได้ คือ พูดให้ดูสวย อ่านอย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองเลย

บางคนตอบว่า ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตของท่านหญิง คำตอบนี้ถือว่า ยังเป็นคำตอบที่ไม่ถูกยอมรับ เพราะเป็นเพียงแค่เรียนรู้แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม

ดังนั้น เมื่ออัลลอฮฺ(ซบ) ย้อนถามเรากลับว่า ไหนเจ้าลองพิสูจน์ แน่นอน สิ่งเดียวที่จะพิสูจน์ว่า ความรักที่มีต่อท่านหญิง นั้นคือ เราบอกพระองค์ว่า….

“โอ้อัลลอฮฺ ชีวิตของเราได้เดินตามรอยเท้าของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)”

ประโยค “การเดินตามรอยเท้าท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)เท่านั้นเอง” คือคำตอบ เห็นได้ว่า การปฏิบัติตามต้นแบบต่างหากที่พิสูจน์ความรัก หากมีสิ่งนี้(เดินตามรอยท่านหญิง) นรกฮ่ะร่ามสำหรับเขาแน่นอน จากฮะดิษที่ว่า บุคคลที่เขามีความรักต่อท่านหญิง อัลลอฮฺ(ซบ) ยืนยันว่า “จะไม่ให้พวกเขาลงนรก จะตัดขาดพวกเขาจากไฟนรก”

● การพิสูจน์ความรัก

การเดินตามรอยเท้าของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) คือ การแสดงความรักที่น่าภาคภูมิใจ
เพราะอัลลอฮ(ซบ) ยืนยันแล้วว่าใครก็ตามที่มีความรักอย่างแท้จริงและพิสูจน์ให้เห็นได้ถึงความรักที่มีต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)นั้น ในวันกิยามัตไม่ต้องกลัวนรก นรกจะไม่กล้าเข้าใกล้เขา เพราะนรกเป็นฮะร่ามสำหรับเขา

ทว่าปัญหาใหญ่ คือ จะดำเนินชีวิตแบบไหน ที่สามารถยืนยันกับพระองค์ได้ว่าเราคือ มุฮิบบีนของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

เมื่อบอกว่ารักใครสักคน คนที่รักกัน ไม่ว่าจะหญิงหรือชายที่บอกรักกันต้องพิสูจน์กันไหม บางคนบอกรักพ่อแม่ ต้องพิสูจน์หรือเปล่า พูดด้วยลมปากนั้นเพียงพอไหม?

สมมติ เราไปนั่งอยู่ในกลุ่มคน แล้วพูดว่า เรารักพ่อแม่ แต่มีคนรู้ดีว่าการกระทำของเราสวนทางกับคำพูด หรือถ้าจะดูคำตอบก่อนหน้า ที่บางคนตอบว่า อ่านซิยารัตท่านหญิง

คำถาม : เราปฏิบัติตามที่อ่านไหม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องอ่านซิยารัต ทว่าเมื่ออ่านไปแล้ว เราต้องปฏิบัติอย่างที่อ่าน คือ คำพูดและการกระทำของเราจากการอ่านซิยารัตต้องตรงและเหมือนกันด้วย

เห็นได้ว่า การเป็น “มุฮิบบีน” ไม่ใช่เป็นกันง่ายๆ แต่ก็อัลฮัมดุลิลละฮฺ ที่เราถูกต้อนให้เข้ามาสู่แนวทางแห่งความรักนี้ ดังนั้น ถ้าเราจะเป็นมุฮิบบีนของท่านหญิง เราต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ได้ เพราะสูงสุดของอะลุลเบต คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ตรงนี้ ขอยกบรรดาอิมาม เพราะ…

~ จุดศูนย์กลางของบรรดาอิมามก็คือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)
~ หัวใจและสูงสุดของอะฮฺลุลเบตฺก็คือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

“การเป็นมุฮิบบีน”ในที่นี้ คือ ต้องมีวิถีตามแบบท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ไม่ใช่ถึงกับเหมือนท่านหญิง แต่ให้อยู่ในซิรอฏอลมุสตากีม คือ เดินอยู่ในทางเดียวกันกับท่านหญิง และมันคือสิ่งที่เป็นไปได้

จริงอยู่ว่าไม่มีใครเป็นอย่างท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ได้ แต่เราเดินตามรอยทางหรือเดินตามรอยเท้าของท่านได้ ถึงแม้ท่านหญิงจะล่วงหน้าไปไกลกันเป็นโยชน์แล้ว ก็ไม่เป็นไร ถึงจะช้าแต่เราก็ยังเดิมตามหลังท่านอยู่ ไม่นานก็ถึง แต่ถึงในจุดที่เป็นสถานภาพของเรา

บทสรุป พึงตระหนักเถิด ความรักอื่นเพียงลมปากนั้นไม่สามารถพิสูจน์ใดๆได้ ทว่าด้วยความรักแบบนี้ คือ เดินตามรอยท่านหญิงเท่านั้น ที่พิสูจน์ความรักอย่างแท้จริงได้

ดังนั้น เมื่อสตรีท่านนี้ คือ ผู้ที่ถูกเลือกเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับมวลมนุษยชาติ จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน โดยเฉพาะบรรดาสตรี ในเมื่อเราบอกว่ารักท่านแล้ว เราจะต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาชีวประวัติ ศึกษาอุดมการณ์ของท่านหญิงหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ทุกอย่าง รวมทั้งแบบฉบับต่างๆของท่าน เพราะท่าน คือต้นแบบของการเสียสละในหนทางของศาสนา ไม่มีเรื่องอื่นเพราะเรื่องศาสนา คือทุกเรื่องในการดำเนินชีวิต ซึ่งแน่นอนจะต้องเข้าไปในรายละเอียดของมันจึงจะไปถึงได้

● ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) คือ ต้นแบบการเสียสละในหนทางของศาสนา

หากถามว่า เราเคยเอาความเสียสละของเรา มาตวงวัดว่า มีน้ำหนักบ้างหรือเปล่า?
เบื้องต้นต้องตรวจสอบก่อนว่า การเสียสละของเรามีน้ำหนักแล้วหรือ หรือมีพอที่จะนำไปชั่งบ้างไหม เคยตวงบ้างไหม

เมื่อเราพิจารณาต้นแบบ(ความเสียสละของท่านหญิงในเรื่องของศาสนา) ถามว่า ตัวเรามีความเสียสละเพียงพอที่จะพูดได้ว่า เราเสียสละตามแบบอย่างท่านหญิงได้บ้างแล้วหรือ คำถามนี้ ถามใจเราเอง ทบทวนเงียบๆไม่ต้องบอกใคร หรือถ้าจะก้าวไปในข้อปลีกย่อยของท่านหญิง เช่น ทางด้านการบริจาค ความกล้าหาญ และบทบาททางการเมือง ฯลฯ มีหลักฐานบ่งชี้ชัดแจ้งว่า ท่าน คือ แบบฉบับประเด็นดังกล่าวนี้เช่นกัน

● ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) คือ แบบฉบับของการบริจาค

ซูเราะอัลอินซาน โองการที่ 8-9

——————
وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِ مِسْكِينًا وَيَتِيمًا وَأَسِيرًا

ความว่า “และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก”

——————
إِنَّمَا نُطْعِمُكُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ لَا نُرِيدُ مِنكُمْ جَزَاءً وَلَا شُكُورًا

ความว่า “(พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของ อัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด”

คำอธิบาย : ทำไมท่านหญิงจึงเป็นแบบฉบับของการบริจาค… ก็เพราะการบริจาคของท่านหญิง อัลลอฮ์(ซบ.)เป็นผู้รับรองการบริจาค ซึ่งหากพิจารณาเรื่องราวของท่านหญิงที่เกี่ยวกับการบริจาคที่ถูกรับรองในอัลกรุอาน ชัดเจนว่า กรุอานชี้แบบอย่างให้เรามีความรักในการบริจาค และคนที่จะเป็นมุฮิบบีนของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ได้นั้น ต้องรักการบริจาคตามแบบอย่างของท่านด้วย

ทีนี้ เมื่อทำความเข้าใจแล้ว เราจะกลับไปศึกษาในยุคนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ว่า ในยุคนั้นมีคนบริจาคมากไหม ถามว่าในยุคนั้นมีการบริจาคไหม คำตอบ คือ มี ในเมื่อมีบุคคลจำนวนมากได้บริจาค แต่ประเด็น คือ การบริจาคของใครกัน ที่ถูกนำมาบันทึก ถูกยกไว้ในอัลกุรอานและเป็นการบริจาคที่ถูกรับรองจากอัลลอฮ(ซบ)ด้วย

ขอย้ำเตือนว่าพระองค์ได้เอาการบริจาค ณ เหตุการณ์นั้นมาลงไว้ในอัลกุรอานเพื่อให้อยู่ไปจนกัลปาวสาน และให้เรื่องการบริจาคครั้งนี้ เป็นแบบอย่างให้กับมนุษยชาติไปตราบจนวันสิ้นโลก

สำหรับการบริจาคของท่านหญิง แน่นอนว่า รู้ตั้งแต่ยังไม่จากโลกนี้ไปว่าอัลลอฮ(ซบ)ทรงยอมรับ ดังนั้น ในเมื่อท่านหญิงคือต้นแบบของการบริจาคที่ถูกยอมรับจากพระองค์แล้ว เราจำต้องกลับไปที่คำถามของเราอีกครั้งว่า เราเคยตวงวัดตัวเราเองบ้างไหมว่า การบริจาค การช่วยเหลือของเรานั้นมันมีน้ำหนักพอแล้วหรือ ที่จะขึ้นตาชั่งของ อัลลอฮฺ(ซบ)ในวันกิยามัต

ฉะนั้น ผู้ที่บอกว่ารักท่านหญิง ต้องทบทวนและตรวจสอบว่า เรามีความรักในการบริจาคไหม? ไม่ใช่ปากบอกว่า รักในการบริจาคแบบที่ท่านหญิงรัก แต่เรากลับมีการบริจาคในแบบของเรา หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราไปไม่ถึงแบบอย่างท่านหญิงแน่นอน

ทั้งนี้ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในคำว่า การมีให้บริจาค นั้น มีแล้วหรือ (มีน้อยมีมากตามศักยภาพ) ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องบริจาคมาก แต่บอกให้เรามีความรักในการบริจาคเพราะท่านหญิงมีความรักในการบริจาค {ตรงนี้อัลกุรอานยืนยัน ซูเราะห์อินซาน ที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น } และเราเองต้องเป็นผู้ที่รักในการบริจาคด้วย แน่นอนหากเรามีความรักในการบริจาคแล้ว เราก็จะมีการบริจาคตามแบบฉบับท่านหญิงเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ในเมื่อเราทุกคนทั้งหญิงและชาย ยอมรับว่าท่านหญิงคือแบบอย่างในทุกสิ่งทุกอย่าง แน่นอนคนที่รักท่านหญิงก็ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย


 

บรรยายพิเศษโดย
ฮุจญะตุลอิสลาม วัลมุสลิมีน  ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

มัจญลิซ ค่ำคืนที่ 20 ญะมาดิษษานี = 18 มีนาคม 2560(ค่ำลง)

777

ติดตามอ่านต่อ วันคล้ายวันประสูติ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)และ วันคล้ายวันสมภพ ท่านอยาตุลลอฮฺ ซัยยิดรุฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี(รฎ.) (ตอนที่ 5)