วันคล้ายวันประสูติ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)และ วันคล้ายวันสมภพ ท่านอยาตุลลอฮฺ ซัยยิดรุฮุลลอฮฺ มูซาวี โคมัยนี(รฎ.) (ตอนที่ 3)

228

มัคลูกหนึ่ง ที่ถูกเทิดเกียรติ ทั้งชั้นฟากฟ้าและชั้นแผ่นดิน…..
“เป็นแก้วตาดวงใจแห่งศาสดา เป็นเทียนทองส่องทางผู้ศรัทธานิรันดร์”

♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡

เรามาดูท่าทีที่ท่านนบีมุฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ได้แสดงออกต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) หลายๆกรณีที่ตำราเล่มแล้วเล่มเล่าได้กล่าวถึงบุคลิกภาพและสถานะทางจิตวิญญาณที่สูงส่งของนาง แม้ว่าปัญญาของมนุษย์จะถ่ายทอดความสูงส่งของนางในรูปของหนังสือหรือสุนทรพจน์ให้มากกว่านี้อีกสักร้อยสักพันเท่า ก็ยังเทียบได้เพียงหยดน้ำในมหาสมุทรความดีงามของนาง และถึงแม้ว่าเราไม่อาจจะตีแผ่ทั้งหมด ก็ถือว่ายังดีที่ได้นำเสนอละอองความดีงามของนาง ณ ที่นี้ ดังที่นักกวีได้ประพันธ์ไว้ว่า “แม้มิอาจดื่มน้ำทะเลให้เหือดแห้ง อย่างน้อยขอจิบให้ได้แรงก็ยังดี”

ด้วยกับบุคลิกภาพของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ปัญญาที่เฉียบแหลมที่สุดในหมู่มนุษยชาติก็ยังงุนงงกับความสูงส่งทางบุคลิกภาพ และหากต้องการจะเข้าใจบุคลิกภาพของนางอย่างลึกซึ้ง จำเป็นต้องน้อมศึกษาวิถีแห่งการดำเนินจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ)

ตัวอย่างที่ 1 : การแสดงออกที่เหนือคำอธิบาย

การได้รับเกียรติ ในรายงานกล่าวไว้ว่า ทุกครั้งที่ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)พบกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ท่านจะลุกขึ้นยืน และให้นางมานั่งในที่ของท่าน หรือ เมื่อท่านไปเยี่ยมนาง ท่านก็จะนำมือของนางขึ้นมาจูบและนางก็จะลุกขึ้น แล้วให้ท่านนบีนั่งแทนที่ของนาง”

เนื่องจากว่า ท่านหญิงฟาฏีมะฮฺ (อ) เกิดในสมัยยุคมืดของชาวอาหรับ ที่มีแต่ความโสมมในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มชนในยุคนั้น กับการปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง ยุคที่ไร้ซึ่งจริยธรรมในการดำเนินชีวิต และการฝังบุตรสาวของตนทั้งเป็น การบีบบังคับสตรีให้ใช้ชีวิตแต่งงาน หรือการลิดรอนสิทธิของสตรี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกที่จะใช้ชีวิต หรือการได้รับสิ่งที่นางสมควรจะได้ เช่น มรดกของผู้เป็นบิดา หรือสามี รายได้ที่นางได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของพวกนางเอง

สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้น ในสมัยของอาหรับยุคมืด การประกาศอิสลาม และการปฏิบัติของท่านศาสดาที่มีต่อบุตรีของท่านเป็นแบบอย่างที่สำคัญ และเป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนอาหรับในยุคนั้นด้วย

ดังนั้น การที่อิสลามได้ประกาศความเป็นอิสระของสตรีในการเลือก หรืออิสลามได้ให้ความเท่าเทียมความเป็นมนุษย์ระหว่างหญิงและชาย หรือแม้แต่การปฏิบัติคุณงามความดีทั้งหลาย ถือว่าสตรีนั้นมีส่วนร่วมและสามารถได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ(ซบ) เท่าเทียมกับเหล่าบรรดาบุรุษ ท่าน นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ปฏิบัติต่อบุตรีของท่านตรงข้ามกับที่ชนอาหรับยุคนั้นปฏิบัติต่อบุตรีของพวกเขา เช่น ท่านให้ความรัก ความเอ็นดู ให้เกียรติต่อบุตรสาวของท่าน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชนชาติอาหรับ

ดังกล่าวนี้ เป็นการถ่ายทอดอิริยาบทการพบกันระหว่างท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)กับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)ซึ่งหากเราพิจารณา สตรีในยุคนั้น ถูกปฏิบัติเหมือนสาวใช้ และโดนดูถูกในความเป็นสตรีของพวกนาง ดังนั้น การแสดงออกที่เหนือคำอธิบายนี้ จึงเป็นเนี๊ยะมัตประการหนึ่ง สำหรับสตรีในยุคนั้น ที่ส่งผลจนถึงปัจจุบัน

● ฮะดิษจากบรรดาอะฮฺลุลเบต(อ)

ในเรื่องราวของศาสนา ไม่มีเรื่องใดที่จะไม่มีคำอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน อะไร อย่างไร หรือจากหนังสือทั่วไป เราจะพบว่า ฮะดิษซอแฮะห์ ที่รายงานโดยอะเล็มอุลามะฮฺชั้นสูง และจากที่เปิดดูค้นหาของอะเล็มอุลามะฮฺ หลายๆท่านที่รายงานฮะดิษนี้ เกือบทั้งหมดจะเหมือนกัน จะมีที่ต่างกันบ้างก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตัวอย่าง : ฮะดิษจากท่านอิมามญะฟัร(อ)

เมื่อพูดถึงตำแหน่งของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) หรือบางฮะดิษได้กล่าวว่า….

“نحن حجة الله علی الخلق و فاطمة حجة الله علينا”

(นะฮฺนูฮุจญตุลลอฮฺ อะลัล ค็อลกิ วะฟาฏิมะตา ฮุจญตุลลอฮิอะลัยนา)

อะฮฺลุลเบต หมายถึง พวกเราบรรดาอิมามเป็นฮุจญัตเป็นข้อพิสูจน์ของอัลลอฮฺ สำหรับมนุษย์ทั่วไป สำหรับสิ่งถูกสร้างทั้งหมด บางคนอาจจะอธิบายเพิ่มอีกว่า…

“แม้แต่มวลมะลาอิกะฮฺ แม้แต่ทุกๆสิ่งถูกสร้าง บรรดาอะฮฺลุลเบต คือ ฮุจญัตของพระองค์ทั้งหมด จะถูกยอมรับหรือไม่ถูกยอมรับ จะถูกกีดกันหรืออะไรก็ตาม ทว่าทั้งหมด อะฮฺลุลเบต คือข้อพิสูจน์”

คำอธิบาย : อะฮฺลุลเบต ในที่นี้ หมายถึงอิมาม ส่วนท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)คือ ฮุจญัตของอัลลอฮฺเหนือเรา (ตรงนี้อาจจะเข้าใจยาก) ทว่า นัยยะของ อะฮฺลุลเบตนี้ หมายถึง บรรดาอิมามนั้น จะถูกตัดสินและถูกพิสูจน์ด้วยท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

หากจะกล่าวด้วยภาษาให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ก็คือ ต้องให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)เป็นผู้มารับรอง” ในที่นี้ ประเด็นสำคัญๆที่จะอธิบายมีดังนี้

• บรรดาอิมามจะผ่านหรือไม่ผ่าน ขึ้นอยู่กับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) เพราะนางคือ ผู้ที่เป็นข้อพิสูจน์ของอัลลอฮ

• ถึงแม้ในภาพนอก นาง คือ ตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นความภาคภูมิใจของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะบรรดาชีอะฮฺ แต่ลึกลงไปนั้นคือความภาคภูมิใจของบรรดาสตรีด้วย เพราะมัคลูกอันยิ่งใหญ่นี้ ถูกปรากฎใน…
“عالم المخلوقات”
(อะลัมมุล มัคลูก็อต) ด้วยสภาวะของสตรี จึงทำให้นางมีมะกอมที่สูงส่งและยิ่งใหญ่กว่า

• ท่านหญิง คือบทพิสูจน์สำหรับทั้งหมด อีกทั้งเป็นแบบอย่างของมวลมนุษยชาติ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้น เนี๊ยะมัตนี้ สำหรับสตรี เพราะมัคลูกที่พระองค์ทรงเลือกนี้ถูกให้ปรากฏในสถานะของสตรี
นี่คือ เสี้ยวหนึ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของท่านหญิง

ดังนั้น ประเด็นการให้เกียรติสตรี หากเรารู้จักท่านหญิง แน่นอน เราจะรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนาอิสลามอย่างแท้จริง

● มัคลูกที่พิเศษสุด คือ สตรี

ด้วยฐานะภาพและความประเสริฐของท่านหญิง อัลลอฮ(ซบ) ได้ตรัสเจาะจงไปที่นามของสตรีที่คู่ควรทำให้เรารู้จัก ที่พระองค์นำเสนอ คือ มัคลูกนี้ ซึ่งในความพิเศษต่างๆเหล่านี้เราก็รู้กันมาพอสมควร อีกเช่นกันหากจะกล่าวในนามของมัคลูกทั้งหมด พระองค์ก็ทำให้เรารู้จักกับสตรีผู้นี้ โดยจะใช้ฮะดิษจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)บทหนึ่ง สั้นๆ มาเป็นฮะดิษหลักดังนี้

ฮะดิษจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ที่เกี่ยวกับชื่อหลักของท่านหญิง”ฟาฏิมะฮฺ” ท่านนบี(ศ็อลฯ)ได้กล่าวว่า….

“انما سميت فاطمة بفاطمة لان الله فطمها ومحبيها من النار”

(แท้จริงฟาฏิมะฮฺที่ถูกเรียกว่าฟาฏิมะฮฺนั้น เพราะพระองค์ได้ตัดขาดนางและบุคคลที่มีความรักต่อนางจากไฟนรก)

คำอธิบาย : ฟาฏิมะฮฺ มาจากรากศัพท์ของคำว่า “ฟัฏม์” หมายถึง การถูกตัดหรือถูกแยก นัยยะนี้ หมายความว่า ฟาฏิมะฮฺ คือ สตรีที่ได้รับการปกป้องหรือป้องกัน ด้วยกับชื่อนี้ จะไม่มีวันพบกับไฟนรก โดยยังไม่ต้องไปกล่าวถึงตัวตน{เจ้าของชื่อ}

● เหตุผลที่ถูกเรียกฟาฏิมะฮฺ

จุดประสงค์ของฮะดิษนี้ เพื่อเน้นไปยัง เหล่ามุฮิบบีนของท่านหญิง คือ จะตัดผู้ที่มีความรักต่อนาง ให้รอดพ้นจากไฟนรก เพราะ แท้จริงอัลลอฮ ได้ ‘ฟาฏอมาฮา’ ได้ตัดนาง(ยับยั้ง)ตัดคนที่มีความรักนางจากไฟนรกชื่อนี้จะไม่มีวันพบนรก ทุกคนที่มีความรักต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮฺจะพ้นจากไฟนรก

ดังนั้น หากจะกล่าวในภาษาที่เข้าใจง่าย หมายความว่า “ไฟนรกเป็นฮะร่ามสำหรับพวกเขา บุคคลที่ได้มีความรักต่อท่านหญิงจะไม่มีวันได้สัมผัสกับไฟนรก” เพราะตัวตนของท่านหญิงได้รับสถานภาพเช่นนี้ และรวมถึงผู้ที่มีความรักต่อนางทุกคนด้วย


 

บรรยายพิเศษโดย
ฮุจญะตุลอิสลาม วัลมุสลิมีน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

มัจญลิซ ค่ำคืนที่ 20 ญะมาดิษษานี = 18 มีนาคม 2560(ค่ำลง)

777

ติดตามอ่านต่อ วันคล้ายวันประสูติ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)และ วันคล้ายวันสมภพ ท่านอยาตุลลอฮฺ ซัยยิดรุฮุลลอฮ มูซาวี โคมัยนี(รฎ.) (ตอนที่ 4)