โอวาทวันนี้ 06/02/2560

234

อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 6)

♡ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ♡

● อะไร คือ บทพิสูจน์ความยุติธรรมและฮิกมะฮ์ของพระผู้เป็นเจ้า ●

เมื่อเรามองไปที่การสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า เราจะพบว่า พระองค์เป็นผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงมีอำนาจ(กุดรัต) และทรงมีเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร) อย่างสมบูรณ์ ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกรุอาน

ซูเราะฮ์ยาซีน โองการที่ 82

إِنَّمَا أَمْرُهُ إِذَا أَرَادَ شَيْئًا أَن يَقُولَ لَهُ كُن فَيَكُونُ

“แท้จริงพระบัญชาของพระองค์ เมื่อทรงประสงค์สิ่งใด พระองค์ก็จะตรัสแก่มันว่า “จงเป็น” แล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา”

คำอธิบาย : ข้อพิสูจน์ประการหนึ่ง โองการนี้ได้อธิบายไว้อย่างลึกซึ้งและเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดถึงพลังอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์ กล่าวคือ นอกจากอำนาจของพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว ยังไม่มีอำนาจใดอยู่เหนืออำนาจและเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ของพระองค์ ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นตามเจตนาและพระประสงค์ของพระองค์ และทุกสรรพสิ่งไม่ได้บังเกิดมาจากการบีบบังคับใดๆยังพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการบีบบังคับในรูปแบบใดก็ตาม เว้นแต่ยังพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงทุกสรรพสิ่งและจบสิ้นที่พระองค์

♡ เจตนารมณ์เสรีและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ♡

หากการงานนั้นมาในรูปแบบ เจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร) ที่มีภววิสัยเป็นปัจจัยเสริม หรือประกอบการตัดสินใจ ถือว่าการตัดสินใจนั้น เป็นเจตนารมณ์เสรี ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเข้ามาแทรกแซง
หากมีการพิจารณาประเด็นรายละเอียดถึงการกระทำ จำต้องตระหนักว่า ในทุกสรรพสิ่งจะต้องไม่เกิดจากการบังคับ ถูกจูงใจ หรือมีสภาวะที่ต้องได้รับการสนับสนุน อีกทั้งสภาพแวดล้อมรูปแบบใดก็ตามไม่สามารถส่งผลใดๆต่อพระองค์ได้ เช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ที่สมบูรณ์ นัยยะนี้บ่งบอกคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าเป็น “ผู้ทรงกามาล” {พระองค์คือผู้สมบูรณ์}หรือพระองค์คือ “ผู้ทรงสัมบูรณ์” {สมบูรณ์ยิ่ง}
คำอธิบาย : คำว่า “กามาล” คือ อะไรก็ตามที่เป็นความสมบูรณ์

☆ ตัวอย่าง “ความสมบูรณ์ทางด้านความรู้ (อิลมฺ)ของพระองค์”

สำหรับพระองค์ ‘อิลมฺ’ เป็นความรู้ที่สมบูรณ์ และ เป็นความรู้ที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องพึ่งพิงความรู้ใดๆจากแหล่งอื่น อีกทั้งพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ (กุดรัต) และทรงมีเจตนารมณ์เสรี (อิคติยาร)ที่สมบูรณ์ ดังนั้นแล้ว เมื่อความประสงค์ (อิรอดัต) นี้ มาจากผู้ที่มีอำนาจและเจตนารมณ์เสรีอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่า ความประสงค์ (อิรอดัต)ที่สมบูรณ์ย่อมเกิดขึ้น

การสร้างพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ เมื่อมนุษย์เข้าใจว่าพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ พระองค์เป็นผู้ทรงมีเจตนารมณ์เสรีและเป็นผู้ทรงมีความประสงค์ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งแท้จริงแล้วไม่ได้มาจากการถูกบีบบังคับ หรือจากสภาวะหนึ่งสภาวะใดมามีส่วนร่วมในพระประสงค์ของพระองค์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า พระประสงค์ของพระองค์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ทั้งในเรื่องให้เป็นหรือไม่ให้เป็น ให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ให้ทำหรือไม่ให้ทำ สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากพระประสงค์ของพระองค์ที่สมบูรณ์โดยไม่มีปัจจัยใดๆ เข้ามามีส่วนร่วมในพระประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น ซึ่งหาก มองในด้าน ‘ฮิกมะฮ์’ แล้ว อัลลอฮฺ(ซบ)เป็นพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงวิทยปัญญา(ฮากีม) และผู้ทรงรอบรู้(อาลีม) ที่สัมบูรณ์

ฉะนั้น พระประสงค์ของพระองค์ จึงเป็นพระประสงค์ที่มาจากความรอบรู้และมาจากวิทยปัญญาที่สมบูรณ์และถูกต้อง อีกทั้งพระประสงค์ของพระองค์จะไม่มีวันไร้สาระ เช่นนี้แล้ว เมื่อพระองค์กำหนดสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่มนุษย์ สิ่งนั้นย่อมมี ฮิกมะฮ์(ปรัชญาของเป้าหมาย) เหตุผล เพราะมาจากผู้ทรงวิทยปัญญา(ฮากีม)โดยแท้จริง ดังนั้นแล้ว เมื่อมีฮิกมะฮ์ จึงเป็นความยุติธรรมโดยอัตโนมัตินั่นเอง

● เหตุใด เราต้องศึกษา เรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ●

เป้าหมายในการเรียนอัดลฺ{ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า} เหตุผลเพื่อให้มนุษย์ได้รู้ถึงความเมตตาและความละเอียดอ่อนในกิจการงานของพระองค์ อีกทั้งเพื่อหาความยุติธรรมทั้งหมดของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสรรพสิ่ง เช่น มนุษย์ถามหาความยุติธรรมหลายหลาย บางคนถามเรื่องบางเรื่อง บางคนถามหาในเรื่องหนึ่ง บางคนถามหาในอีกเรื่องหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า เรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คือความยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งหมด

◇ คำถาม : ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เกิดขึ้นจากอะไร ◇

คำตอบ : เกิดมาจากความประสงค์ของพระองค์ พระประสงค์ของพระองค์ (ตะอัลลุก) เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกๆเรื่องในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งหากพระองค์ไม่ประสงค์ แน่นอนว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นมาได้

ดังนั้น มนุษย์ไม่มีสิทธิ์บอกว่าในเรื่องนี้หรือเรื่องนั้นพระองค์ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเหตุผลที่ว่า พระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวข้องไปยังทุกๆเรื่อง ถึงแม้ว่าเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะสพอารมณ์และบางเรื่องอาจไม่สพอารมณ์ของมนุษย์

โดยส่วนมากมนุษย์จะถามหาความยุติธรรมในเรื่องที่ไม่สพอารมณ์(ความพึงพอใจในลักษณะถูกจริต) เมื่อมนุษย์พบเรื่องที่ไม่สพอารมณ์ ประสพเรื่องที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดคำถามขึ้นมา เพื่อหาความยุติธรรมจากพระองค์ว่า ความประสงค์ของพระองค์ยุติธรรมแล้วหรือ?

จะเห็นได้ว่า เรื่องที่ไม่สพอารมณ์ในชีวิตของมนุษย์มีมากมายและหลากหลาย มนุษย์บางคนไม่สพอารมณ์ ถึงขั้นถามว่า สร้างฉันมาทำไม? หรือบางคนพูดว่าฉันอยากเป็นผู้ชาย ให้ฉันเกิดมาเป็นผู้หญิงทำไม? หรือบางคนอยากเกิดมารวยแต่กลับเกิดมายากจน

การถามหาความยุติธรรมจากพระองค์มีหลายรูปแบบ หรือบางครั้งใช้ดุลยพินิจของตน ด้วยการตั้งคำถาม สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาแล้วสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาทำไมอีก ดูแล้วมันไม่ยุติธรรมเลย

☆ ตัวอย่าง :

มีนักปราชญ์ของบางศาสนาท่านหนึ่ง ได้เขียนในหนังสือของเขาว่า “พระเจ้าไม่ฉลาดและไม่ยุติธรรม”
เขาเขียนว่า “เมื่อพระเจ้าสร้างหนูขึ้นมา แล้วสร้างแมวขึ้นมาทำไม ?”
ในทัศนะของเขา เข้าใจแต่เพียงว่า สัตว์ 2 ชนิดนี้พระองค์สร้างมาเพื่อเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า “พระเจ้าทำให้หนูถูกแมวกิน พระเจ้าทำให้แมวกินหนู หนูถูกสร้างมาให้แมวกินทำไม?”

ในที่นี้ เราต้องยอมรับว่าทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลก มาจากพระประสงค์ของพระองค์ ในซูเราะฮ์ เตาบะฮ์ โองการที่ 51

“قُلْ لَنْ يُصِيبَنَا إِلَّا مَا كَتَبَ اللَّهُ لَنَا هُوَ مَوْلَانَا ۚ”

ความว่า “จงกล่าวเถิดมูฮัมมัด ไม่มีสิ่งใดประสพกับพวกเรา เว้นแต่สิ่งที่พระองค์ได้กำหนดให้แก่เราแล้ว”

คำอธิบาย : เบื้องต้นมนุษย์ต้องทำความเข้าใจโดยภาครวม ซึ่งประเด็นหลัก ก่อนที่มนุษย์จะถามหาความยุติธรรมของพระองค์ได้นั้น

ประเด็นสำคัญ เขาจะต้องยอมรับในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า หากการคุยกับบุคคลที่ยังไม่ยอมรับในการมีอยู่ของ พระผู้เป็นเจ้า จำเป็นจะต้องทำให้เขาเชื่อในการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าเสียก่อน จึงจะพูดกันในเรื่องของความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้ ซึ่งเนื้อหาของมันอยู่ในวิชาเตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า)

เมื่อเขาเชื่อว่า มีพระเจ้า ลำดับต่อมา เขาเชื่อในรายละเอียดต่างๆของพระองค์ เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นเอกะ เมื่อเขาเข้าใจเตาฮีดแล้ว เราจึงมาทำความเข้าใจถึงความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าต่อไปได้ และหัวข้อหลักๆในเตาฮีดที่ต้องนำมาสู่การทำความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า คือ อาลีม (พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้)
♡ อาลีม (พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้) ♡

ประโยค “พระองค์ทรงรอบรู้” เราได้พิสูจน์ในวิชาเตาฮีดไปแล้วว่า พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ เมื่อพระองค์ทรงรอบรู้ ความประสงค์ (อิรอดัต) ของพระองค์ย่อมเกิดมาจากความรอบรู้อย่างสมบูรณ์

คำว่า “สมบูรณ์” คือ ไม่ต้องเพิ่มเติมใดๆ พระองค์ไม่จำเป็นต้องแสวงการพัฒนาไปสู่ความบริบูรณ์ใดๆอีก [บริบูรณ์ คือ ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีมากกว่านี้แล้ว]

จะเห็นได้ว่า พระองค์สมบูรณ์มาแต่เดิม ไม่ต้องการสิ่งใดในทุกเรื่อง และเช่นเดียวกันความรู้ของพระองค์สมบูรณ์ ไม่มีความผิดพลาดใดๆ ไม่มีความบกพร่องใดๆ และนอกจากพระองค์ทรงรอบรู้แล้ว พระองค์ยังเป็นผู้ทรงวิทยปัญญาที่สมบูรณ์(ฮากีม) คือ ทรงมีวิทยปัญญา มีเหตุมีผล

ดังนั้น เมื่อพระองค์ประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นกับมนุษย์และทุกสรรพสิ่งแล้ว แสดงว่า มาจากความรอบรู้ มาจากความมีวิทยปัญญาของพระองค์ หากพระองค์ประสงค์ จึงมีปรัชญาของเป้าหมาย“ฮิกมะฮ์”อยู่ นอกจากนั้นยังพบว่าในความประสงค์ของพระองค์นั้นมาจากอำนาจ(กุดรัต)และเจตนารมณ์เสรี(อิคติยาร)ที่สมบูรณ์ของพระองค์อีกด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ประสพกับมนุษย์ มันจึงไม่มีอะไรเลย นอกจากเพื่อความสมบูรณ์ คือ สมบูรณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกแง่มุม ที่พระองค์ทรงกำหนดให้บังเกิดนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของมนุษย์ทั้งสิ้น

ความประสงค์จากผู้ทรงสัมบูรณ์[สมบูรณ์ยิ่งจากผู้ทรงรอบรู้ที่สุด จากผู้ทรงวิทยปัญญาที่สุดนั้น ไม่มีอะไรนอกจากมีวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์)อยู่

● อะไรคือ ความสมบูรณ์ของมนุษย์ ●

ความสมบูรณ์ของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์ได้พัฒนาไปสู่ความดีทั้งหมด รวมไปถึงได้รวบรวมความดีงามทั้งหมดและขจัดสิ่งไม่ดีงามทั้งหมดออกไปจากตัวตน อีกทั้งได้พัฒนาไปสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์ ไม่เพียงเท่านั้นยังได้พัฒนาขัดเกลาจิตวิญญาณ ให้ได้เป็นบ่าวของพระองค์อย่างแท้จริง

แน่นอนว่า ความประสงค์ของพระองค์เพื่อสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้มนุษย์ไปสู่ความดีที่สูงสุด ไปสู่ตำแหน่งที่สูงสุด ดังนั้น ด้วยความสมบูรณ์ดังกล่าวนี้ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่า “การงานของพระผู้เป็นเจ้ามีความยุติธรรมและ มีฮิกมะฮ์เสมอ

………………………………………………………………………………………………………………………….

555

ติดตามอ่านต่อ อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 7)