โอวาทวันนี้ 05/02/2560

407

อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 5)
♡ ความยุติธรรมพระผู้เป็นเจ้า ♡

● คำนิยามที่สมบูรณ์ของอัดลฺ ●

นิยามของอัดลฺ(ความยุติธรรม) ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ การสร้างความสมดุลในสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่บนรูปแบบที่สมบูรณ์{งดงามยิ่ง} และมีฮิกมะฮ์ (วิทยปัญญาหรือปรัชญาของเป้าหมาย) เป็นการกระทำที่ยุติธรรม มีเหตุมีผล เหมาะสม ลงตัว บนพื้นฐานแห่งความจริงแท้และสมบูรณ์ อีกทั้งไม่มีความบกพร่องใดๆ

แท้จริงความเป็นวิทยปัญญาแห่งองค์อัลลอฮฺ(ซบ) นั้น มีสองประเภท คือ ปรัชญาทั้งด้านความรอบรู้ และปรัชญาทางด้านการกระทำ

☆ ตัวอย่าง

สมมติ ถ้านักเรียนคนหนึ่งไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ครูกลับลงโทษเขา ย่อมเกิดความสงสัยจากนักเรียนว่า ทำไมครูลงโทษเขา? และหากครูตอบว่า “ไม่มีอะไรแค่อยากจะลงโทษ”

กรณีนี้ ชี้ถึงประเด็นปรัชญาทางด้านการกระทำของครู ถือว่าไม่มีฮิกมะฮ์ ทว่าหากครูตอบว่า เพราะเธอทำความผิดและได้อธิบายถึงพฤติกรรมที่นักเรียนคนนั้นประพฤติไม่ดี ถือว่าการลงโทษนั้นมีฮิกมะฮ์ มีความถูกต้อง นัยยะนี้บ่งบอกถึง “เมื่อการใดมีฮิกมะฮ์แล้ว แน่นอนว่าความยุติธรรมย่อมอยู่ในตัวโดยปริยาย”

◇ ทำไมพระผู้เป็นเจ้า ไม่สร้างมนุษย์ให้เหมือนกัน ◇

การสร้างสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้าก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากพระองค์สร้างมนุษย์ขึ้นมาเหมือนกันหมด ถือว่ามีฮิกมะฮ์หรือไม่?
กรณีสมมติฐานข้างต้น อะไรจะเกิดขึ้น หากมนุษย์มีความเหมือนกันหมด
ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลหุญร๊อต (Al-Hujurat) อายะฮที่ 13 ความว่า

يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَىٰ وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا ۚ إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ

โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชาย และเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺ(ซบ)นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺ(ซบ)นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

คำอธิบาย : ฮิกมะฮ์ประการหนึ่ง ในที่นี้ ประเด็นข้อเท็จจริง พระองค์สร้างมนุษย์ไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย ดั่งที่กล่าวมานั้น เพื่อที่จะให้มนุษย์เข้าถึงปรัชญาแห่งเป้าหมาย ที่ว่า เมื่อพระเจ้าทรงสร้างนรกและสวรรค์ พร้อมไปถึงการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน ก็เพื่อให้เป็นสนามทดสอบมนุษย์ ให้มนุษย์ใช้สติปัญญาในการจำแนกแยกแยะความดีความชั่วได้อย่างถูกต้อง เช่น อะไรคือความดี ทำแล้วได้ผลบุญ อะไรคือความชั่ว ทำแล้วได้ผลบาป และอะไรทำไปแล้ว จะนำไปสู่นรกและสวรรค์

☆ ตัวอย่าง

สมมติ ครอบครัวหนึ่งมีบุตรสิบคน หากทุกคนเหมือนกันหมด ย่อมทำให้เกิดความสับสน แยกแยะไม่ออกว่าใครเป็นใคร
ฉะนั้น ดุลยภาพหรือความสมดุลที่แท้จริงนั้น เรียกร้องไปสู่ความแตกต่างและความหลากหลาย หากปราศจากซึ่งความสมดุลย่อมไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ได้ และปัจจัยหนึ่งที่สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในจักรวาล คือ ความแตกต่างและความหลากหลายนั่นเอง

สมมุติ หากในสังคม ทุกคนรวยกันหมด แน่นอนว่า สังคมย่อมมีปัญหาเพราะไม่มีความแตกต่าง เห็นได้ว่า ความไม่แตกต่างนั้นคือ ปัญหา ฉะนั้น ความจนกับความรวยต้องถ่วงดุล มนุษย์ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้

♡ ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ♡

หากจะกล่าวถึงความประณีตของพระองค์แล้วไซร์ แม้แต่การวางบทบัญญัติ พระองค์ยังกำหนดบทบัญญัติให้มีความแตกต่าง

☆ ตัวอย่าง : การกำหนดภาระหน้าที่ต่อบุคคล เช่น

– การจ่ายซะกาต(จ่ายทาน) เป็นข้อบังคับสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการบริจาคเท่านั้น ในที่นี้ ชี้ไปที่มุสลิมคนรวย ที่จำเป็นต้องจ่ายทรัพย์สินส่วนเกินจำนวนหนึ่ง ให้แก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับเมื่อครบรอบปี ส่วนคนยากจน หากไม่มีความสามารถไม่ต้องจ่ายและไม่ถือเป็นความผิดบาป

– การประกอบพิธีฮัจญ์ ถือเป็นข้อบังคับ(วาญิบ)สำหรับทุกคนที่มีความสามารถ ในที่นี้ หมายถึง มีสุขภาพดี มีทรัพย์เพียงพอทั้งไปและกลับและครอบครัวมีค่าใช้จ่ายโดยไม่เดือดร้อน และมีความสามารถในการปฏิบัติพิธี
กรณีคนจน รวมถึงคนที่ไม่มีความสามารถตามที่กล่าวข้างต้น ไม่ถือว่ามีความผิดแต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่า พระผู้เป็นเจ้า วางบทบัญญัติ จำแนกภาระหน้าที่ บางกรณีขึ้นอยู่กับเพศสภาพและบางกรณีขึ้นอยู่กับความสามารถ ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่าด้วยการกำหนดภาระหน้าที่แก่มนุษย์ ตามความสามารถของแต่ละบุคคลไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้

☆ ตัวอย่าง ในซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 286

“لا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفسًا إِلّا وُسعَها”

“พระองค์จะไม่กำหนดหน้าที่แก่ผู้ใด เว้นแต่ตามศักยภาพและสามารถของเขาผู้นั้น”

คำอธิบาย : “วุซอะห์”(وسعة) หมายถึง ศักยภาพ ความกว้างในการรองรับ บุคคลที่มีพื้นที่รองรับที่กว้าง คือ บุคคลใดมีความสามารถมาก ก็ควรมีภาระหน้าที่มากด้วย ส่วนบุคคลที่มีความสามารถน้อย ภาระหน้าที่ของเขา ก็ควรน้อยกว่าเป็นไปตามสามารถของเขาด้วย

สิ่งนี้ถือเป็นความยุติธรรมประการหนึ่ง เพราะมนุษย์บนโลกนี้มีความแตกต่างกัน จะเห็นได้ว่า มีบุคคลจำนวนหนึ่งมีหน้าที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้ ปฏิวัติสังคม บางบุคคลมีความสามารถลุกขึ้นมาโค่นล้มผู้ปกครองที่อธรรมได้ แต่ในบางหมู่ชนหากยังไม่มีความสามารถ พระองค์ก็จะกำหนดไปตามความสามารถ “วุซอะห์” ของพวกเขา หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น การนมาซตะฮัดญุดเป็นวาญิบ(ข้อบังคับ)สำหรับบรรดาศาสดา จะขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว ทว่าอิบาดัตนี้กลับไม่ได้เป็นวาญิบต่อมนุษย์โดยทั่วไป เพราะพวกเขายังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะได้ตื่นขึ้นนมาซทุกคืน ซึ่งในบทซูเราะฮ ยุนุซ โองการ ที่ 54 พระองค์ทรงตรัส ความว่า…

“وَقُضِيَ بَيْنَهُم بِالْقِسْطِ وَهُمْ لاَ يُظْلَمُونَ”

“ถูกกำหนดในระหว่างพวกเขาด้วยความยุติธรรม และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรมใดๆ”

คำอธิบาย : ทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกกำหนดด้วยความยุติธรรม หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกกำหนดในหมู่มนุษย์นั้น มีฮิกมะฮ์ของความยุติธรรมอยุ่ เพราะหนึ่งในกระบวนการที่จะทำความเข้าใจความยุติธรรมของพระเจ้าได้ดี คือ การมีฮิกมะฮ์ คือ ต้องเข้าใจปรัชญาของเป้าหมายในเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าด้วย

หากพิจารณาในโลกความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างหลากหลายมากมาย เป็นที่ชัดเจนว่า มีทั้งคนจน คนรวย มีทั้งคนรูปหล่อไม่หล่อ มีทั้งร่างกายปกติหรือพิการ และเพื่อให้เข้าใจถึงฮิกมะฮ์(ปรัชญาแห่งเป้าหมาย)ในความแตกต่างเหล่านี้ ดั่งในซูเราะฮ์ ยาซีน โองการที่ 54 กล่าวว่า

“فَالْيَوْمَ لَا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَيْئًا وَلَا تُجْزَوْنَ إِلَّا مَا كُنتُمْ تَعْمَلُونَ”

“ในวันนั้นไม่มีชีวิตใดจะถูกอธรรมแต่อย่างใด และพวกเจ้าจะไม่ได้รับการตอบแทนใดนอกจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ปฏิบัติไว้”

คำอธิบาย : ความยุติธรรมของพระองค์นั้น มีตั้งแต่โลกนี้ไปจนถึงโลกหน้าและ แท้จริงสัจธรรมที่กล่าวถึงความยุติธรรม ความว่า “ในวันนั้นจะไม่มีการอธรรมแก่ผู้ใด”นั้น หมายถึง ในวันกิยามัตไม่มีเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่มนุษย์จะไม่ได้รับความยุติธรรม และไม่มีการตอบแทนใดๆเว้นแต่สิ่งที่มนุษย์ได้กระทำมาแล้ว และ ความยุติธรรมนั้น จะดำรงอยู่ตลอดไป

………………………………………………………………………………………………………………………….

555

ติดตามอ่านต่อ อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 6)