โอวาทวันนี้ 08-06-2560

68

นะบูวะห์ (ตอนที่ 19)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศาสดาแห่งอิสลาม

บรรดาศาสดาในอดีตล้วนได้รับมอบหมายมาเพื่อชี้นำมนุษยชาติในการดำรงชีวิตในทุกๆด้าน ไม่มีการยกเว้น แม้อายุ เพศ เผ่าพันธ์ หรือฐานันดร ซึ่งหากจะนับห้วงเวลาในแต่ละยุคที่ผ่านมา นับจากยุคแรกๆในศาสดาจำนวนมากมาย จะมีศาสดาเฉพาะองค์เท่านั้นที่เป็นผู้ที่ได้รับบทบัญญัติของพระเจ้าโดยตรง เพื่อลงมาประกาศเผยแผ่โองการของพระองค์ และลักษณะคำประกาศของแต่ละศาสดาจะแตกต่างกันไปตามสภาวะสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัยอย่างที่กล่าวไว้ในนะบูวะห์ 16 แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกศาสดาประกาศออกมาเหมือนกัน คือ ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกันและห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุโดยสิ้นเชิง

ทว่าในหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนการปรากฏตัวของศาสดาอิสลามกลับพบว่า แผ่นดินมักกะฮฺเป็นแผ่นดินที่เลวร้ายที่สุด ซึ่ง ณ สมัยนั้นหลังจากยุคศาสดาอิบรอฮีม(อ) แม้แต่ศาสนาคริสต์หรือชาวคริสต์สักคนก็ยังไปไม่ถึงแผ่นดินมักกะฮฺแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผ่นดินมาดีนะฮฺในยุคนั้นยังพอมีร่องรอยทางศาสนาที่ศาสดาก่อนหน้าได้วางอยู่บ้าง และกอปรกับชาวมะดีนะฮฺในยุคนั้นเป็นกลุ่มชนที่พอรู้เรื่องราวศาสนาพอสมควร จึงเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) ตัดสินใจอพยพสู่มาดีนะฮฺเพื่อลงหลักปักฐาน

ทีนี้ เรามาดูบริบทความพิเศษเฉพาะ “นะบูวัตคอส” ของศาสดา

● นะบูวัตคอส

คำว่า “นะบูวัตคอส” หมายถึง เนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นศาสดาที่เฉพาะเจาะจงไปยังศาสดาองค์หนึ่ง ในที่นี้บ่งชี้ถึง ศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)แห่งอิสลาม

เป็นที่ยอมรับว่าศาสดานับแสนๆองค์ได้ปรากฎในโลกนี้ได้ไปถึงทุกกลุ่มชน ทุกประชาชาติ และความเป็นศาสดานั้น ได้รับการยืนยันจากอัลกุรอาน

ซูเราะฮฺอัลนะฮลฺ โองการที่ 36

وَ لَقَدْ بَعَثْنَا فىِ كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللَّهَ وَ اجْتَنِبُواْ الطَّغُوت

“และโดยแน่นอนเราได้ส่งศาสดามาในทุกๆประชาชาติ โดยบัญชาว่าพวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺองค์เดียวและจงออกห่างจากฏอฆูต(ผู้นำหรือพระเจ้าจอมปลอม)”

คำอธิบาย : บรรดาศาสดาในทุกๆประชาชาติ ได้นำมนุษย์เข้าสู่การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ(ซบ) และออกห่างจาก “ฎอฆูต”ในทุกรูปแบบ

● รูปแบบการมาของระบบ“ฏอฆูต”

คำว่า “ฏอฆูต”นั้น แน่นอน รูปแบบการมาไม่ได้จำเพาะเจาะจงถึงระบบใดระบบหนึ่ง แต่จะมุ่งเน้นให้เห็นถึงเหตุปัจจัยการเกิดฏอฆูตโดยรวม ที่ทำลายอารยธรรมที่ดีงามทั้งระบบ ที่ไม่ได้อยู่ในชารีอัตของอัลลอฮ(ซบ) และทำลายศาสดาของพระองค์ ซึ่งบางครั้งอาจจะมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจ การปกครอง ทุนนิยม ระบบดอกเบี้ย หรือมาในรูปแบบอารยธรรมที่ชั่วช้า อาทิ ความส่ำส่อนทางเพศ การเบี่ยงทางเพศ ทั้งหมดดังกล่าวนี้นั้นล้วนแล้วเป็นฏอฆูตทั้งสิ้น

● การปรากฏของบรรดาศาสดา

จากโองการในซูเราะฮฺอัลนะฮฺลฺ โองการที่ 36 เป็นที่ชัดเจนว่า ศาสดาถูกส่งมาเพื่อเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์เข้าสู่การเคารพพระเจ้าองค์เดียวและออกห่างจากผู้ปกครองที่อธรรม (ฏอฆูต) รวมไปถึงนำมนุษย์เข้าสู่การพัฒนา เข้าสู่ความสมบูรณ์ ด้วยการให้มนุษย์ออกห่างเจว็ดทางวัตถุและออกห่างจากเจว็ดทางจิตวิญญาณ ซึ่งเจว็ดที่ชั่วร้ายที่สุดคือ เจว็ดแห่งอัตตาของมนุษย์ ตามที่กล่าวในนะบูวะห์ ที่ 2

ทว่าในบรรดาศาสดาเหล่านี้ กลับพบว่า บางท่านประสบความสำเร็จสูงสุดเพราะสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองได้อย่างสมบูรณ์ จนนำไปสู่การปกครองที่ใช้ชารีอัตของพระผู้เป็นเจ้า เป็นสังคมแห่งเตาฮีด สังคมที่ประชาชนเคารพพระเจ้าองค์เดียว อย่างไรก็ตาม บางศาสดาถึงแม้อาจจะไม่ได้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็นับได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความพยายามสานต่อข้อกำหนด(ชารีอัต) ตามแบบฉบับศาสดาแห่งยุคสมัยของตน เพื่อที่จะนำมนุษย์ออกจากระบบ ‘ฏอฆูต’ในรูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ในบรรดาศาสดาทั้งหมดนั้นมีศาสดาอยู่ห้าท่าน(ศาสดาอูลุลอัซมี่) ที่มาพร้อมกับชารีอัต(บทบัญญัต)เป็นของตนเอง เบื้องต้น คือ สี่ท่านที่มาพร้อมชารีอัตที่สมบูรณ์ ซึ่งเราได้อธิบายไปแล้วว่า บางศาสดามีเพียงคัมภีร์แต่ไม่มีชารีอัตเป็นของตนเอง

ตัวอย่าง

1. ศาสดาดาวูด(อ) มีคัมภีร์แต่ท่านใช้ชารีอัตของศาสดามูซา(อ)

2.ศาสดายูซุฟ(อ)เป็นกษัตย์ผู้ยิ่งใหญ่ ท่านไม่มีชารีอัตของตนเอง แต่อยู่ภายใต้ชารีอัตของศาสดาอิบรอฮีม(อ)

เมื่อพิจารณา การใช้ชารีอัตของศาสดาอูลุลอัซมี่ที่มาก่อนหน้า เราพบว่า บรรดาศาสดาที่มาพร้อมชารีอัตนั้นมีคำสั่งสอนอย่างสมบูรณ์ มีระบบสังคม มีระบบการปกครอง ระบบเศษรฐกิจ ระบบการเมือง ระบบจริยธรรม ศีลธรรม พร้อมกับคัมภีร์ซึ่งเป็นคัมภีร์แห่งชารีอัตอย่างสมบูรณ์ ส่วนศาสดาที่ไม่มีชารีอัตกรณีที่มีคัมภีร์นั้น คัมภีร์ของท่านล้วนเป็นเรื่องราวทางจิตวิญญาณ เกี่ยวกับดุอาอฺต่างๆ

● ชารีอัตในแต่ละยุคสมัย

การประทานคัมภีร์ในแต่ละยุคสมัย อัลลอฮฺ(ซบ) ได้ตรัสในอัลกรุอาน ดังนี้

ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 44

إِنَّا أَنزَلْنَا التَّوْرَاةَ فِيهَا هُدًى وَنُورٌ ۚ يَحْكُمُ بِهَا النَّبِيُّونَ الَّذِينَ أَسْلَمُوا لِلَّذِينَ هَادُوا وَالرَّبَّانِيُّونَ وَالْأَحْبَارُ بِمَا اسْتُحْفِظُوا مِن كِتَابِ اللَّهِ وَكَانُوا عَلَيْهِ شُهَدَاءَ ۚ فَلَا تَخْشَوُا النَّاسَ وَاخْشَوْنِ وَلَا تَشْتَرُوا بِآيَاتِي ثَمَنًا قَلِيلًا ۚ وَمَن لَّمْ يَحْكُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ فَأُولَٰئِكَ هُمُ الْكَافِرُونَ

“แท้จริงเราได้ให้อัต-เตารอตลงมา โดยที่ในนั้นมีข้อแนะนำและแสงสว่าง ซึ่งบรรดานบีที่สวามิภักดิ์ ได้ใช้อัต-เตารอต ตัดสินบรรดาผู้ที่เป็นยิว และบรรดาผู้ที่รู้แล้วในอัลลอฮฺ และนักปราชญ์ทั้งหลายก็ได้ใช้อัต-เตารอต ตัดสิน ด้วย เนื่องด้วยสิ่งที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้รักษาไว้ (นั่นคือ) คัมภีร์ของอัลลอฮฺ และพวกเขาก็เป็นพยานยืนยันในคัมภีร์นั้นด้วย ดังนั้นพวกเจ้า จงอย่ากลัวมนุษย์แต่จงกลัวข้าเถิด และจงอย่าแลกเปลี่ยนบรรดาโองการของข้ากับราคาอันเล็กน้อย และผู้ใดที่มิได้ตัดสินด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือผู้ปฏิเสธการศรัทธา”

ต่อมาพระองค์ลง ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 46

وَقَفَّيْنَا عَلَىٰ آثَارِهِم بِعِيسَى ابْنِ مَرْيَمَ مُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ التَّوْرَاةِ ۖ وَآتَيْنَاهُ الْإِنجِيلَ فِيهِ هُدًى وَنُورٌ وَمُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ التَّوْرَاةِ وَهُدًى وَمَوْعِظَةً لِّلْمُتَّقِينَ

“และเราได้ให้อีซาบุตรของมัรยัมตามหลังพวกเขามา ในฐานะผู้ยืนยันสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเขาคือ อัต-เตารอต และเราได้ให้อัล-อินญีลแก่เขา ซึ่งในนั้นมีคำแนะนำและแสงสว่าง และเป็นที่ยืนยันสิ่งที่อยู่เบื้องหน้ามัน คืออัต-เตารอต และเป็นคำแนะนำ และคำตักเตือนแก่ผู้ยำเกรงทั้งหลาย”

ต่อมาหลังจากคัมภีร์ทั้งสองถูกบิดเบือน ในท้ายที่สุด พระองค์ได้ประทานคัมภีร์กุรอานลงมา

ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 48

وَأَنزَلْنَا إِلَيْكَ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ مُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ الْكِتَابِ وَمُهَيْمِنًا عَلَيْهِ ۖ فَاحْكُم بَيْنَهُم بِمَا أَنزَلَ اللَّهُ ۖ وَلَا تَتَّبِعْ أَهْوَاءَهُمْ عَمَّا جَاءَكَ مِنَ الْحَقِّ ۚ لِكُلٍّ جَعَلْنَا مِنكُمْ شِرْعَةً وَمِنْهَاجًا ۚ وَلَوْ شَاءَ اللَّهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَٰكِن لِّيَبْلُوَكُمْ فِي مَا آتَاكُمْ ۖ فَاسْتَبِقُوا الْخَيْرَاتِ ۚ إِلَى اللَّهِ مَرْجِعُكُمْ جَمِيعًا فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمْ فِيهِ تَخْتَلِفُونَ

“และเราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่เจ้า(ท่านนบีมูฮัมมัด) )ด้วยความจริง ในฐานะเป็นที่ยืนยันคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้ามันและเป็นที่ควบคุมคัมภีร์(เบื้องหน้า)นั้น (สิ่งที่ถูกปกปิด จักต้องถูกเปิดเผย สิ่งที่ถูกเพิ่มเติม จักต้องถูกถอดถอน) ดังนั้น เจ้าจงตัดสินสินระหว่างพวกเขา(ชาวคัมภีร์) ด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานลงมาเถิด(กุรอาน)
และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา โดยเขวออกจากความจริงที่ได้มายังเจ้า สำหรับแต่ละประชาชาติในหมู่พวกเจ้านั้น เราได้ให้มีบทบัญญัติและแนวทางไว้ และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนก็ทรงให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกันแล้ว แต่ทว่าเพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงแข่งขันกันในความดีทั้งหลายเถิด ยังอัลลอฮ์นั้นคือ การกลับไปของพวกเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงแจ้งให้พวกเจ้าทราบในสิ่งที่พวกเจ้ากำลังขัดแย้งกันในสิ่งนั้น”

และปิดท้ายด้วย ซูเราะฮฺ อัลฮิจรฺโองการที่ 9

إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ

“แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัลกุรอาน)ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน”

คำอธิบาย : กรณีชารีอัตของอิสลาม แท้จริง อัลลอฮฺ(ซบ) ได้ลงโองการในอัลกุรอาน เพื่อเป็นข้อตักเตือน เป็นข้อสั่งใช้ให้เป็นทั้งสิ่งที่ชี้นำทางจิตวิญาณและเป็นทั้งชารีอัต โดยกรณีชารีอัตของศาสดามูซา(อ) ท่านปรากฏตัวพร้อมกับ “คัมภีร์เตารอต” เมื่อคำสอนต่างของ ‘เตารอต’ถูกบิดเบือนจนไม่สามารถหาแก่นแท้อันดั้งเดิมได้ อัลลอฮฺ(ซบ) ก็ได้ส่งศาสดาองค์ใหม่ นามว่า ศาสดาอีซา(อ) ให้ปรากฏขึ้นมาพร้อมกับ “คัมภีร์อีนญีล” ที่เป็นศาสนาใหม่พร้อมกับคัมภีร์ที่สมบูรณ์กว่า ยิ่งใหญ่กว่า‘เตารอต’

และไม่เพียงเท่านั้น การมาของศาสดาอีซา(อ) ยังมาเพื่อที่จะขจัดสิ่งแปลกปลอมในคัมภีร์เตารอต เพื่อที่จะให้มนุษย์รู้จักสิ่งที่มนุษย์นำสิ่งแปลกปลอมอื่นเข้ามาในเตารอต ด้วยการมายืนยัน(ตัศดีก)และสนับสนุน สิ่งที่มีอยู่จริงในคัมภีร์เตารอตโดยตรงนั่นเอง

และหลังจากที่ศาสดาอีซา(อ) จากไปไม่นาน คำสอนใน“คัมภีร์อินญีล”กลับถูกบิดเบือนเช่นเดิม แต่เนื่องจากว่า การลงของคัมภีร์ทั้งสอง เป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ก่อนการมาอัลกุรอาน และการลงโองการที่เกี่ยวดองกันนั้น กรุอานระบุชัดว่า ทั้งเตารอตและอีนญีลถูกบิดเบือนเกือบจะไม่หลงเหลือสัจธรรมใดๆ ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม อาลิมอุลามะอฺที่เข้าใจนะบูวัต และเข้าใจในอูศูลหลัก เช่น เตาฮีด นะบูวัต มะอาด แน่นอน หากเขามาอ่านคัมภีร์เตารอตและอีนญีล เขาจะรู้ได้ทันทีว่า คัมภีร์ที่พระองค์ประทานก่อนหน้านี้ กลายเป็นคัมภีร์ที่ถูกบิดเบือนอย่างร้ายแรง และไม่ใช่คัมภีร์ของพระองค์อีกต่อไป

■ ตัวอย่าง คัมภีร์เตารอต(โตราห์) ฉบับบิดเบือน พอสังเขป

-“พระเจ้า ปรากฏในโลกนี้ในรูปแบบของมนุษย์”

-“พระเจ้า ไม่ได้มีความรู้ที่สมบูรณ์”

-“พระเจ้า ได้เสียใจในการกระทำบางอย่างของพระองค์”

-“พระเจ้า มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ วันดีคืนดีพระเจ้าลงมาเล่นมวยปล้ำกับศาสดายะอฺกูบและได้แพ้ให้กับศาสดายะอฺกูบ”

จากตัวอย่างเหล่านี้บ่งชี้ว่า คัมภีร์ของอัลลอฮ(ซบ)ถูกบิดเบือนจนไม่เหลือร่องรอยของเตาฮีด ดังนั้น ในสิ่งที่เกินความเชื่อทางด้านสติปัญญา คนที่เข้าใจในอูศูล จะเชื่อได้อย่างไรว่า พระเจ้าจะมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์

■ ตัวอย่าง เนื้อหาที่ถูกบิดเบือนที่เกี่ยวข้องกับศาสดา

– “ท่านศาสดาดาวูด(อ) นั้น มีความรักยังพี่สาวและน้องสาวของตัวเอง ไปถึงขั้นได้ร่วมประเวณีกับน้องสาวของตนเอง”

– ”ศาสดาลูต(อ) ดื่มสุราจนเมา”

นี่คือ ตัวอย่างการบิดเบือนที่เกินสติปัญญาที่มนุษย์จะรับได้ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ใช้สติปัญญาจะเข้าใจได้ว่า คัมภีร์เตารอตไม่ได้เป็นคัมภีร์ของพระเจ้าอีกต่อไป

■ ตัวอย่าง การบิดเบือนคัมภีร์อินญีล(ไบเบิล)

“จากเอกภาพของพระเจ้าถูกบิดเบือนจนเป็นตรีเอกานุภาพ” เป็นการบิดเบือนความเชื่อจากพระเจ้าองค์เดียว แต่แบ่งออกเป็นสามภาคในภายหลัง มีภาคพระบิดา พระบุตร และพระจิต (คาทอลิก) หรือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ โดยบิดเบือนให้ศาสดาอีซา(เยซู)เป็นภาคของพระบุตร ส่วนการบิดเบือนที่เป็นส่วนปลีกย่อยที่เหลือนั้น จะมีรูปแบบที่คล้ายๆกับเนื้อหาในคัมภีร์เตารอต

ซึ่งในความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่า ศาสดานั้นไม่มีสิทธิทำบาปใดๆ การบิดเบือนการสังคายนาเหล่านี้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนต่างๆ ที่ได้ผลประโยชน์ เช่น บรรดาปุโรหิต และพระชั้นสูงที่มีอำนาจในตระกูลยิวในบนีอิสรออีล เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จาการตั้งตนเป็นเจ้าของศาสนานั่นเอง

เมื่อศึกษาในศาสนาคริสต์ก็เช่นกัน จากประวัติศาสตร์ การบิดเบือนล้วนทำเพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองทั้งสิ้น แน่นอนผู้ที่รับประโยชน์ คือ บาทหลวงและชนชั้นปกครอง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่คัมภีร์ถูกบิดเบือน

ประเด็นผู้ที่ได้ประโยชน์ หลังจากคัมภีร์ถูกบิดเบือน หากพิเคราะห์บทบาททางการเมือง จะเห็นศาสนาที่ถูกบิดเบือนได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งระบบ แม้แต่ระบบกษัตริย์ จะมีบาดหลวงได้อ้างอำนาจเหนือกษัตริย์และขุนนางในฐานะของผู้สถาปนากษัตริย์ จนกษัตริย์ทั้งหมดในยุโรปต้องฟังคำสั่งของบาทหลวงคริสต์โดยศิโรราบ และไม่เพียงเท่านั้นบาดหลวงยังมีอำนาจเหนือประชาชนในสังคมทุกระดับชั้น ประชาชนจึงมีความเกรงกลัวการไต่สวนและการลงโทษของคริสตจักรนี้เป็นอย่างมาก

หรือบางยุคบางสมัยเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

■ ตัวอย่าง กรุงโรมในยุคหนึ่ง ชาวโรมเข้ารับศาสนาคริสต์ทั้งหมด แต่อยู่ภายใต้การปกครองของบาทหลวงที่บิดเบือนคำสั่งสอนของศาสดาอีซา(อ) ซึ่งมีการบิดเบือนในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น เมื่อศาสนาที่ยิ่งใหญ่ถูกบิดเบือนเกือบหมดสิ้น ทั้งโลกก็เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ถือว่าโลกเข้าสู่ยุคมืดที่เป็นช่วงเวลาของความเสื่อมโทรมทั้งทางวัฒนธรรมและทางสังคมอย่างสูงสุดยุคหนึ่ง เพราะโรมในวันนั้นได้รุกรานโจมตีดินแดนต่างๆ พร้อมทั้งเข่นฆ่ามนุษย์อย่างอำมหิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับคำสั่งสอนของศาสดาอีซา(อ)โดยสิ้นเชิง เพราะวิกฤติที่ปรากฏ ไม่เหลือร่องรอยใดๆของศาสนาที่แท้จริง จะคงเหลือศาสนาไว้เพียงเปลือกนอกเท่านั่นเอง

ต่อมาหลังจากท่านศาสดาอีซา(อ)จากไปประมาณหกร้อยกว่าปี ก่อนที่ท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล)จะปรากฎ ศาสนาที่ถูกบิดเบือนก็ได้ปกคลุมเหนือมนุษยชาติเกือบเบ็ดเสร็จ และในสังคมมักกะฮฺก็เช่นกัน ในยุคนั้นยังไม่มีคำสั่งสอนใดๆมาถึงพวกเขามาก่อน และตามประวัติศาสตร์อาหรับในยุคนั้น เป็นเผ่าพันธุ์อาหรับที่ไม่มีอารยธรรม เป็นสังคมที่ไร้จริยธรรม เป็นสังคมที่ไม่รู้หนังสือ เป็นสังคมที่มีจิตวิญญาณที่มืดมิดที่สุดในโลก และเป็นที่ชัดเจนในอดีต ไม่มีที่ใดที่จะมืดมิดไปกว่าสังคมชาวมักกะฮฺอีกแล้ว

■ ตัวอย่าง ความมืดมิดทางจิตวิญญาณ

สังคมมักกะฮฺในอดีตก่อนการมาของอิสลาม ชาวอาหรับได้ตกอยู่ในแนวคิดที่เรียกว่า “ญาฮิลียะฮฺ” พวกเขาเหยียดหยามผู้หญิง และหนึ่งในพฤติกรรม ที่สะท้อนแนวคิดนี้ ก็คือการฝังทารกหญิงทั้งเป็น อันเนื่องความอัปยศอับอาย เป็นภาพที่หดหู่ที่สุด ที่มนุษย์ด้วยกันปฏิบัติต่อเพศหญิงอย่างน่าสะพรึงกลัว

หากพิจารณาทางด้านสติปัญญาของชาวอาหรับในยุคนั้น จะพบว่าพวกเขาไร้สติปัญญาเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการก่อสงครามใหญ่เป็นเวลาหลายร้อยปี ด้วยเหตุผล เพียงคนสองเผ่าทะเลาะกัน เพราะเรื่องอูฐ เบื้องต้นพวกเขาถกเถียงกันว่า อูฐของเผ่าไหนสวยกว่าและดีกว่า เถียงกันไปเถียงกันมา จนเกิดสงคราม มีการฆ่ากันตายกันเป็นจำนวนมากเพียงเพราะอูฐของใครสวยกว่าเท่านั่นเอง

จากพฤติกรรมข้างต้น บ่งบอกว่า ชาวอาหรับในยุคนั้นมีความมืดบอดทางจิตวิญญาณอย่างสุดที่จะเปรียบ ไม่มีอารยธรรมที่ดีเป็นของตนเอง ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไร้การศึกษาและไม่รู้หนังสือ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือที่เหมาะสมและคู่ควรมาชี้นำ จนในที่สุดศาสดาองค์หนึ่งซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้าย จึงถูกประทานจากฟากฟ้าลงมาในสภาพสังคมที่เลวร้ายที่สุด ท่านมาพร้อมด้วยฮิกมะฮฺ คำสั่งสอน และคัมภีร์ที่สมบูรณ์ เป้าหมายเพื่อนำความเป็นนิรันดร์มาสู่มนุษยชาติ ด้วยระบอบที่สมบูรณ์และทุกสิ่งทุกอย่างที่สมบูรณ์ ซึ่งเนื้อหาและเป้าหมายนี้ ปรากฏอยู่ในอัลกรุอาน

ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โองการที่ 164

لَقَدْ مَنَّ اللَّهُ عَلىَ الْمُؤْمِنِينَ إِذْ بَعَثَ فِيهِمْ رَسُولًا مِّنْ أَنفُسِهِمْ يَتْلُواْ عَلَيهِْمْ ءَايَاتِهِ وَ يُزَكِّيهِمْ وَ يُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَ الْحِكْمَةَ وَ إِن كاَنُواْ مِن قَبْلُ لَفِى ضَلَالٍ مُّبِين

“และโดยแน่นอนยิ่งอัลลอฮฺทรงมีพระคุณแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลายโดยที่พระองค์ได้ส่งศาสดาองค์หนึ่งจากพวกเขามาในหมู่พวกเขา โดยที่เขาจะอ่านโองการต่างๆของพระองค์ให้พวกเขาฟังและจะทำการขัดเกลาพวกเขา และสอนคัมภีร์และความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติข้อบัญญัติศาสนาแก่พวกเขา และแท้จริงเมื่อก่อนนั้นพวกเขาอยู่ในความหลงผิดอันชัดแจ้งก็ตาม”

คำอธิบาย : โองการบอกว่า ศาสดามาพร้อมคำสั่งสอนที่สมบูรณ์ เพื่อที่จะนำพวกเขาเข้าสู่การขัดเกลาอย่างสมบูรณ์ นั้นคือการปรากฏตัวของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล)ซึ่งเป็นลูกหลานของอิบรอฮีม(อ)ในศตวรรตที่หกของคริสต์ศักราชท่านลงมาเพื่อปลดแอกมนุษย์ออกจากการหลงผิดนั่นเอง

คำถาม : การประกาศตัวของศาสดาองค์นี้มีอะไรรับรอง

คำตอบ แบบแผนของพระผู้เป็นเจ้าจะถูกแสดงผ่านความสมบูรณ์ทางบุคลิกภาพ คำสั่งสอนและวิถีการดำเนินชีวิตของศาสดา โดยการใช้สติปัญญาตรวจสอบพฤติกรรมย้อยหลัง แน่นอนหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเป็นศาสดาได้

ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 20)