นะบูวะห์ (ตอนที่ 10)
♡ ความเป็นศาสดา ♡
สิ่งสำคัญยิ่งในการแสวงหาความรู้ทั้งปวง เริ่มต้นจากความสงสัย และความสงสัยทำให้เราต้องคิดหาเหตุผล เมื่อแก้ข้อสงสัยได้เมื่อใด ความรู้ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงสอนให้มนุษย์ใช้เหตุผล ใช้ปัญญา และสามัญสำนึกในการแสวงหาความใกล้ชิดยังพระผู้เป็นพระเจ้า ด้วยการให้มนุษย์ใคร่ครวญอย่างหนักว่าใครคือผู้สร้างและบุคลากร(บรรดาศาสดา)ที่พระองค์คัดสรรมา ให้มนุษย์ประจักษ์ ในแบบอย่างที่ดีที่สุดเพื่อชี้นำยังมวลมนุษย์นั้น จำต้องมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง ?
ทว่าแม้บรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าลงมาเพื่อให้กระจ่างชัดเพียงใด มนุษย์ก็ยังคงแปลความหมายไม่ชัดแจ้งและมีข้อชุบฮะห์ต่างๆ(ข้อสงสัยที่ไร้เหตุผลทางวิชาการ)ในเรื่องความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดาอยู่นั่นเอง
ดังนั้น การหักล้าง “ซุบฮะห์”(ข้อสงสัยที่ไร้เหตุผลทางวิชาการ) จำเป็นต้องพิเคราะห์หาเหตุและผล ความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดา ดังนี้
● ชุบฮะห์ที่ 1
ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาเกิดจากการรับรองและปกป้องจากอัลลอฮฺ(ซบ) ไม่ให้บาปต่างๆเข้าใกล้พวกเขา ถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าบรรดาศาสดาบริสุทธิ์เพราะถูกบังคับให้เป็น โดยท่านไม่มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือกด้วยตัวตนของท่านเอง ซึ่งก็หมายถึงไม่ได้มีความประเสริฐใดๆ
คำตอบ : การที่บุคคลกลุ่มหนึ่งได้รับการรับรองจากอัลลอฮฺ(ซบ)ในความบริสุทธิ์ของพวกเขานั้น เนื่องจากพวกเขาได้พัฒนาการขัดเกลาตัวเองมาก่อน พัฒนาจนกระทั่งไปถึงระดับหนึ่งที่อัลลอฮฺ(ซบ)ทรงรับรอง และที่พระองค์ทรงรับรองเพราะพระองค์ทรงรู้ว่า แน่นอนพวกเขาเหล่านั้นสามารถรักษาความบริสุทธิ์ให้คงอยู่ตลอดไปได้ และการรับรองก็ไม่ได้เป็นสาเหตุบังคับให้ต้องเป็นไปเช่นนั้น
ทีนี้ มาพิจารณา ประเด็นการได้รับการปกป้อง เบื้องต้นมนุษย์ทุกคนได้รับการปกป้องจาก อัลลอฮฺ(ซบ)ให้พ้นจากบาป ให้พ้นจากการล่อลวงของไชฏอนมารร้าย ซึ่งก็หมายความว่าพระองค์ทรงประทานฟิตเราะฮฺ (มโนธรรม) และสติปัญญาติดตัวให้แก่มนุษย์มาแต่เดิมแล้ว
ดังนั้น ถ้ามนุษย์ใช้สติปัญญา แน่นอนย่อมสามารถป้องกันจากความชั่วได้ อีกทั้งพระองค์สำทับด้วยการส่งบรรดาศาสดาเพื่อชี้นำอบรมสั่งสอน นำบทบัญญัติ “ชารีอัต”(ข้อบังคับทางศาสนา) และบางครั้งพระองค์ให้ความคุ้มครองมนุษย์ให้รอดพ้นจากไชฏอนอีก ดั่งที่พระองค์มีดำรัสว่า พวกเจ้า จงขอความคุ้มครองจากฉันให้พ้นจากไชฏอนมารร้าย
أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ “
“อาอูซุ บิลลาฮิ มินัช ไชฏอ นิร รอญีม”
ความว่า : “ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ(ซบ)ให้พ้นจากการล่อลวงของไชฏอนมารร้าย”
คำอธิบาย : การขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ถือเป็นเนี๊ยะมัตหนึ่งที่พระองค์ให้มนุษย์รอดพ้นจากการล่อลวงของไชฏอนมารร้าย ฉะนั้น พระดำรัสนี้จำเป็นต้องฝังลึกอยู่ภายในจิตวิญญาณของมนุษย์ตลอดเวลาให้ได้ เพราะบางครั้ง เมื่อมนุษย์เกิดอารมณ์โมโหฉุนเฉียว หรือที่เรียกว่า สภาวะที่โกรธจัด ควบคุมสติอารมณ์ไม่ได้ อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหรือก่อความเสียหาย เช่น ทำบาป หรือก่อความชั่วโดยไม่รู้ตัว
ดังนี้แล้ว มนุษย์จำเป็นต้องนำตัวเองออกมาจากความชั่วและจำต้องห่างไกลจากบาปให้ได้ นัยยะคือ มนุษย์ต้องไม่ทำบาป เท่ากับมนุษย์กำลังพัฒนาตัวเองอยู่ด้วย แน่นอนเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์พยายามพัฒนาและปกป้องตัวเองให้รอดพ้นปลอดภัยจากการล่อลวงของไชฏอนมารร้ายได้สำเร็จ เมื่อนั้นแล้วพระองค์ก็จะทรงปกป้องเขาเช่นกัน
กรณี มนุษย์ที่ได้รับการปกป้องมาก เป็นเพราะเขาพัฒนาตนเองมาก ยิ่งเขาพัฒนาตัวเองมากเท่าใด พระองค์ก็จะทรงยิ่งปกป้องเขามากยิ่งขึ้นเช่นกัน จนไปถึงจุดหนึ่งที่พระองค์จะปกป้องเขาอย่างสมบูรณ์
เมื่อพิเคราะห์คำถามข้างต้น ที่กล่าวว่า ศาสดามีเหตุถูกบังคับไม่ให้ทำบาปนั้น เราจะพบคำตอบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะบรรดาศาสดาได้ปกป้องตัวของพวกเขาเองมาแต่เดิม ด้วยการหันหลังให้กับบาปกรรม พฤติกรรมชั่วร้าย และความผิดต่างๆ โดยสิ้นเชิง อีกทั้งสภาพดังกล่าวยังปกป้องศาสดาให้รอดพ้นจากความผิดพลาด และการหลงลืม โดยปราศจากการปฏิเสธเจตนารมณ์เสรี หรือมีการบีบบังคับให้บุคคลนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่เป็นเช่นนี้ เป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเผยแผ่ บ่งชี้ว่า พวกเขาเป็น “มุคลิศีน” ผู้ที่ขัดเกลาตนเองมาก่อน ก่อนที่พวกเขาจะเป็น “มุคละศีน” ผู้ที่ได้รับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์นั่นเอง
● ชุบฮะห์ที่ 2 บรรดาศาสดามีความบริสุทธิ์จริงหรือ
– ทำไมศาสดาต้องกล่าวขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ(ซบ)?
– ทำไมอัลกุรอานบางโองการมีกล่าวถึงความผิดพลาดของศาสดา?
– เหตุใดศาสดาบางท่าน สารภาพว่าไชฏอนมาร้ายได้ล่อลวงท่าน ?
– การกระทำดังกล่าวขัดกับความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ของบรรดาศาสดาหรือไม่?
– โองการอัลกุรอานหลายโองการบอกว่า ศาสดามีบาป โองการดังกล่าวขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ของศาสดาหรือไม่?
จากคำถามเหล่านี้ เบื้องต้นจำเป็นต้องพิจารณาโองการอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันต้องไม่มองข้ามความหมายภายนอกของโองการในตอนแรกด้วย
ประการต่อมา อย่าลืมว่า ความเร้นลับแห่งความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดานั้น คือ สติสัมปชัญญะ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาที่สมบูรณ์ และความรักที่มีต่ออาตมันบริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ(ซบ) พร้อมกับการยึดมั่นอยู่กับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และคุณลักษณะอันสูงส่งและสง่างามของพระองค์ประกอบด้วย
ทีนี้กลับมาศึกษาระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ เราจะพบว่ามนุษย์มีจิตวิญญาณหลายขั้นหลายระดับด้วยกัน มีทั้งระดับทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกัน และมีทั้งสภาวะทางจิตวิญญาณที่ไม่เหมือนกัน และแน่นอนว่าศาสดามีจิตวิญญาณที่สูงส่งกว่ามนุษย์ทั่วไปโดยสิ้นเชิง
ทว่าเพื่อทำความเข้าใจ ในสิ่งที่ศาสดากล่าวขออภัยโทษจาก อัลลอฮฺ(ซบ)นั้น ไม่ใช่เพราะศาสดาทำความผิดหรือละเมิดคำสั่งที่เป็นที่เป็นชารีอัต(ข้อบังคับทางศาสนา)ของพระองค์ แต่ความหมายหนึ่งเพื่อเป็นการยกระดับจิตวิญญาณให้สูงขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ทั่วไปที่กล่าวอภัยโทษเนื่องจากความผิดบาป
กรณีข้อคลางแคลง คำว่า “บาป” เหตุใดในอัลกุรอานบางครั้งให้ความหมายที่เป็นการละเมิดคำสั่งที่เป็นชารีอัต(เป็นข้อบังคับทางศาสนา) และบางครั้งใช้ในความหมายการละเมิดคำสั่งที่ไม่เป็นชารีอัต(ไม่เป็นข้อบังคับทางศาสนา)
ประเด็นนี้ หากพิจารณาบทเรียนที่ผ่านมา เราเคยอธิบายไปแล้วว่า กรณีนี้ไม่ขัดกับความบริสุทธิ์ “อิศมัต” ทว่าเป้าหมายหนึ่ง เพื่อให้มนุษย์มีแบบอย่างไว้ใช้ในการดำเนินชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์นึกถึงปมด้อยและความอ่อนแอของตัวเอง
แน่นอนว่ามาตรฐานของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราจะยกวิถีแห่งการดำเนินของท่านอิมามอาลี(อ) ซึ่งหากศึกษาชีวประวัติของท่าน เราพบว่า การกินนูนที่ดีนั้น สำหรับท่านถือว่าเป็นความอ่อนแอทางจิตวิญญาณ ท่านจึงกินแต่นูนที่แข็ง
ทว่าบางศาสดาก็มีความสนใจไปยังดุนยา ตัวอย่างเช่น ศาสดาอิบรอฮีม(อ)ที่มีความรักต่อศาสดาอิสมาอีล(อ)เป็นอย่างมาก พระองค์ประสงค์ที่จะให้ศาสดาอิบรอฮีม(อ)สลัดความรู้สึกนี้จึงสั่งให้กุรบานอิสมาอีล ที่พระองค์รับสั่งเช่นนี้ เพื่อให้บรรดาศาสดารู้ว่าสิ่งเหล่านี่เป็นบาปทางจิตใจ บ่งชี้ว่า นอกจากอัลลอฮ(ซบ)แล้ว มนุษย์ไม่ควรให้ใครนั่งอยู่ในจิตใจ และถ้าหากมีสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เกิดขึ้นมาบ้าง ไม่ได้หมายความว่าบรรดาศาสดาทำบาปทางชารีอัต กลับกันความรู้สึกนี้เป็นบาปทางจิตวิญญาณเท่านั้นเอง
ดังนั้น เพื่อที่จะสลัดสิ่งนี้ออกไป จึงกล่าว “อัสตัฆฟิรุลลอฮะรอบบี” ซึ่งความผิดพลาดของบรรดาศาสดาก็อยู่ในความหมายที่สอง หมายถึง การละเมิดที่ไม่ได้เป็นบาป หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตัรกุลเอาลา” (คือการละทิ้งข้อเสนอที่ดีกว่า) ซึ่งไม่ได้เป็นบาปแต่อย่างได แต่เป็นเพียงความอ่อนแอหรือปมด้อยหนึ่งที่ไม่ได้เป็นบาปตามหลักชารีอัต และอีกความหมายหนึ่งที่บรรดาศาสดาขออภัยโทษก็เพื่อขจัดความบกพร่องเหล่านี้นั้นเอง