โอวาทวันนี้ 02-04-2560

300

นะบูวะห์ (ตอนที่ 7)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● “อิศมัต” ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

ความหมายของ “อิศมัต” (ความบริสุทธิ์)คือ ความโปรดปรานพิเศษของอัลลอฮฺ(ซบ)ที่เป็นสาเหตุให้บุคคลหนึ่งไม่มีสิ่งเร้าใจให้ละทิ้งการเคารพภักดีต่อพระองค์และไม่มีแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ในขณะที่เขามีโอกาส ความสามารถที่จะกระทำสิ่งเหล่านั้นได้

ด้วยหลักการนี้ ดังนั้น บุคคลที่เขามีแรงจูงใจที่อยากจะทำบาปแต่กลับไม่ได้กระทำ เพราะมีอุปสรรคต่างๆขัดขวาง หรือเขาไม่มีความสามารถพอที่จะกระทำได้ จึงไม่ถือว่าเขาเป็น “มะศูม” ผู้บริสุทธิ์ และในทางกลับกันผู้ที่เป็นมะศูม เขามีความสามารถที่จะทำสิ่งที่เป็นบาปแต่ทว่าเขาเลือกที่จะไม่ทำมัน

● ทำไมต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา

ประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา เนื่องจากบรรดาศาสดาเป็นผู้ประกาศและเผยแพร่สาส์นของอัลลอฮฺ(ซบ) ดังนั้น การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในขั้นตอนต่างๆของผู้ถ่ายทอดสาส์นนั้นจำเป็นต้องไม่เป็นที่สงสัย และต้องปลอดภัยจากความผิดพลาดทั้งปวง อีกทั้งต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์

ประกอบกับ คำวิวรณ์ “วะฮฺยู” ของพระองค์นั้น บางเรื่องราวที่ศาสดานำมา ด้วยกับสติปัญญาของมนุษย์ที่เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ชัดเจนว่า ยังมีความสามารถและมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบด้วยตัวเองได้ อีกทั้งอาจถูกแทรกแซงจากไชฎอนหรือการลืมเลือนของมนุษย์เองด้วย ทว่าแม้มีบางเรื่องราว เช่น คำบัญชาเกี่ยวกับการห้ามสิ่งมึนเมาโดยสิ้นเชิง ที่มนุษย์สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า การดื่มสุราของมึนเมา นอกจากจะมีผลต่อจิตประสาทออกฤทธิ์ ทำให้มึนเมาเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์สติสัมปะชัญญะได้แล้ว ยังทำให้เกิดผลเสียต่อเนื่องที่จะก่อบาปอื่นๆตามมาอย่างมากมาย บางคนเสียสติ ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น บางคนลักเล็กขโมยน้อย บางคนนำไปสู่การผิดประเวณี หรือ ฯลฯ

จากคำอธิบายข้างต้น แท้จริงแล้ว “การเลือกตัวแทน” อัลลอฮ(ซบ) ทรงรอบรู้ยิ่ง ที่จะทรงมอบสาส์นของพระองค์ไว้ตรงที่ใด ดังนั้น “การเลือกตัวแทน” มนุษย์จำเป็นจะต้องได้รับฮิกมะฮฺ(วิทยปัญญา)และความการุณย์จากพระองค์ เพราะพระองค์เท่านั้นที่กำหนดได้ว่าผู้บริสุทธิ์จากบาปกรรมและความผิด หรือแม้แต่การกระทำที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลายที่เกิดจากความพลั้งเผลอและความหลงลืม ที่เรียก ศาสดาเท่านั้น ที่ลงมาเป็นตัวแทนของพระองค์ได้ เพื่อว่าประชาชนจะได้ไม่คิดว่าการหลงลืมเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำความผิด เช่นนี้แล้ว เท่ากับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้สติปัญญาของมนุษย์สามารถตรวจสอบและเข้าใจได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี

● ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาจากความเชื่อของกลุ่มต่างๆ

1. ชีอะฮฺเชื่อว่า บรรดาศาสดาทุกคนมี “อิสมัต”{ความบริสุทธิ์} จากความผิดและบาปทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ บาปที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือแม้แต่จะกระทำด้วยความพลั้งเผลอและความหลงลืมก็ตาม ซึ่งคุณลักษณะนี้มีติดตัวนับตั้งแต่วันแรกที่กำเนิดออกมาจนกระทั่งวันที่ท่านอำลาจากโลกไป

2. มุสลิมกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์เฉพาะจากบาปใหญ่เท่านั้น หมายความว่าไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นบาปเล็ก พร้อมกันนั้นท่านได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อบังคับทางศาสนาตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งจากโลกนี้ไป

3. มุสลิมกลุ่มนี้เชื่อว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์จากบาปใหญ่ หลังจากบรรลุนิติภาวะทางศาสนา อีกทั้งมีความเชื่ออีกว่า บรรดาศาสดาบริสุทธิ์จากบาปใหญ่ภายหลังจากการได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดาอย่างเป็นทางการ “บิอฺษัต”

4. มุสลิมกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธเรื่องความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดา พวกเขาเชื่อว่า บรรดาศาสดาเป็นคนปกติธรรมดาทั่วไป ที่ว่าความหลงลืมและความผิดพลาดอาจเกิดได้ทุกเมื่อ แม้แต่ในช่วงที่เป็นศาสดา ก็อาจกระทำความผิดด้วยความตั้งใจได้ ทว่ากลุ่มนี้มีความเชื่อว่า “การเผยแพร่สาส์นของพระองค์นั้นมีความบริสุทธิ์”

● “อิศมัต” {ความบริสุทธิ์} ที่แท้จริงคืออะไร

– ผู้ที่สามารถเรียกว่า “อิศมัต” ได้นั้น นอกจากไม่ทำบาปแล้ว ยังต้องมีความบริสุทธิ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานคุณสมบัติอุปนิสัยด้านบวกของ “มวลมะลาอิกะฮฺ” หมายถึง สิ่งๆนั้นกลายเป็นเรือนร่างเดียวกับตัวของเขา ซึ่งอุปนิสัยอันนี้ได้มาจากการที่เขาได้เสริมสร้างมันขึ้นมา และเขายังสามารถควบคุมตัวเองจากการทำบาปในทุกๆสภาพได้ อีกทั้งอุปนิสัยการเป็นมะลาอิกะฮฺที่ดี ที่เป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในตัวเขา จนกระทั่งคุณลักษณะนั้นไม่สามารถที่จะแยกออกจากตัวเขาได้

– ความบริสุทธิ์ที่ขึ้นอยู่กับ“ชารีอัต” ของแต่ละยุคของบรรดาศาสดา ในที่นี้หมายถึง การไม่ทำบาปตามหลัก “ชารีอัต” บทบัญญัติทางศาสนาของตนเอง คือ ชารีอัตในยุคศาสดาแต่ละท่านมีความแตกต่างกัน เช่นในยุคสมัยศาสดาอาดัม(อ) อนุญาตให้พี่กับน้องสามารถแต่งงานได้ แต่ในยุคศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา

ดังนั้น จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่า การกระทำสิ่งนี้ในยุคศาสดาอาดัม(อ)เป็นบาป เพราะไม่ได้ขัดกับชารีอัตในยุคสมัตของท่าน และไม่ได้ขัดกับความเป็น “มะอฺศูม” ผู้บริสุทธิ์ด้วย

– ในแต่ละศาสดามีคำสั่งใช้ทั้งที่เป็น “ชารีอัต” (เป็นข้อบังคับ) และมีคำสั่งใช้ที่ไม่ได้เป็น “ชารีอัต” (ไม่ได้เป็นข้อบังคับ) และมีคำสั่งห้ามที่เป็นชารีอัตและคำสั่งห้ามที่ไม่ได้เป็นชารีอัต

คำว่า “ซัมบุน”(ذنب) และ “อิศยาน”))(عصيان) ซึ่งทั้งสองคำแปลว่า “บาป” ซึ่งคำว่า “บาป”ในอัลกุรอาน จะใช้รวมกันระหว่างบาปที่หมายถึงการละเมิดชารีอัต และบาปที่หมายถึงการละเมิดสิ่งที่ไม่ใช่เป็นชารีอัต

เมื่อพิจารณาบางครั้งใช้กับการละเมิดที่เป็นชารีอัต บางครั้งใช้กับการละเมิดที่ไม่เป็นชารีอัต บางครั้งเมื่อคำเหล่านี้ใช้กับศาสดาบางท่าน ก็ไม่ได้หมายความว่าศาสดาทำบาป เพราะไม่ได้เป็นการละเมิดชารีอัต แต่เรียกว่า “ตัรกุลเอาลา”

“ตัรกุลเอาลา” หมายถึง การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า หรือการละทิ้งสิ่งที่ดีที่สุดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ถูกนำเสนอจาก อัลลอฮฺ(ซบ)ซึ่งการละทิ้งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นบาปตามหลักชารีอัต เช่นตัวอย่างของท่านศาสดาอาดัม(อ) ในวันนั้นศาสดาอาดัม(อ) อยู่ ณ สรวงสวรรค์หนึ่ง อัลลอฮฺ(ซบ)ได้ตรัสกับศาสดาอาดัม(อ)

ในซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 35

وَ لَا تَقْرَبَا هَاذِهِ الشَّجَرَةَ فَتَكُونَا مِنَ الظَّالِمِين

“และเจ้าทั้งสอง จงอย่าเข้าใกล้ต้นไม้ต้นนั้น มันจะทำให้เจ้าทั้งสองกลายเป็นผู้อธรรม”

ทว่าศาสดาอาดัม(อ)ได้เข้าใกล้ต้นไม้ต้นนั้นและได้กินผลของมัน ซึ่งเป็นการละเมิดข้อเสนอที่ดีกว่าของพระองค์แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นการทำผิดชารีอัต ดังนั้น ความหมายอีกประการหนึ่งของ”อิสมัต” (ความบริสุทธิ์) คือ การไม่ละเมิดบทบัญญัติทางศาสนาที่เป็น “ชารีอัต”นั่นเอง

-“อิศมัต” {ความบริสุทธิ์} ที่แท้จริงประการสุดท้าย คือ อิศมัตที่สูงสุด เป็นความเร้นลับแห่งความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาซึ่งสิ่งนั้นเป็นความรู้ประจักษ์ แม้แต่ความรู้ ความคิด การรู้อนาคต การรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ บ่งชี้ถึงความรู้ที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดที่เป็นแก่นแท้ของวิชาการทั้งปวง

● “อิศมัต” และ “อิคติยาร” (ความบริสุทธิ์และเจตนารมณ์ในการเลือก)

ความบริสุทธิ์กับเจตนารมณ์ในการเลือก ถือเป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่า ทั้งสองนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน แต่เป็นไปได้ว่าอาจจะมีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นว่า เนื่องจากเพราะความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาที่เป็นตัวบังคับและเป็นเกราะป้องกันศาสดาไม่ให้ทำบาปโดยที่ศาสดาไม่ได้มีเจตนารมณ์ในการเลือกเป็นของตัวเองในการละทิ้งบาป ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

ทีนี้ เรามาศึกษา “ความคิดที่ถูกต้อง” เมื่อเราศึกษาพบว่า บรรดาศาสดา คือ บุคคลที่มีความสามารถหรือมีความรู้ที่รู้ถึงแก่นแท้ของวิชาการทั้งปวงและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์และความประเสริฐในขั้นต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งความบริสุทธิ์ของเขาเป็นที่โปรดปรานพิเศษของ อัลลอฮฺ(ซบ)

ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์ ประโยค“ความคิดที่ถูกต้อง” จึงหมายความว่า บรรดาศาสดามีเจตนารมณ์ในการเลือกและมีความสามารถของท่านเองในการออกห่างจากบาปทั้งปวง

ชัดเจนว่า บรรดาศาสดา คือ บุคคลที่มีความที่รู้ลึกซึ้ง ซึ่งสามารถมองเห็นแก่นแท้รองร่อยและจุดจบที่เลวร้ายของบาปต่างๆได้ พวกท่านจึงไม่มีความต้องการที่จะกระทำบาปใดๆ ประเด็นนี้ เราขอตั้งสมมุติฐานขึ้นมา เพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ดังนี้

สมมติ : มีบุคคลหนึ่งเกิดความกระหายน้ำอย่างรุนแรงและในขณะเดียวกันเขาอยู่ในสถานที่ที่มีความร้อนจัดและเบื้องหน้าเขามีน้ำเย็นที่ดูใสสะอาด แต่ทว่าน้ำนั้นถูกผสมไปด้วยยาพิษ และบุคคลดังกล่าวก็รู้ด้วยว่า ในน้ำนี้มียาพิษผสมอยู่ เป็นที่แน่นอนว่า เขาจะต้องต่อสู้อย่างหนักกับเสียงกระซิบกระซาบที่พยายามผลักดันให้ดื่มน้ำ เพื่อที่เขาจะดับความหิวกระหายได้ และในระหว่างนั้นเขาจะต้องยืนหยัดจากการไม่ดื่มน้ำนั้นด้วย

ซึ่งในสภาวะดังกล่าว เห็นได้ว่า การดื่มน้ำหรือไม่ดื่มน้ำนั้น เขามี “อิคติยาร” เขามีเสรีในการเลือก แต่เนื่องจากที่เขารู้ว่าน้ำมียาพิษ และการกินน้ำนั้นเป็นสาเหตุให้เขาตายได้

ทีนี้ เรากลับมาในอีกด้านหนึ่ง มาดูบริบทของบรรดาศาสดาหรือมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ สำหรับบุคคลประเภทนี้ความดีและความชั่วทั้งหมดเป็นที่ประจักษ์สำหรับเขาไปแล้ว

บ่งบอกว่า พวกเขากำลังดื่มด่ำอยู่กับความสวยงามและความสมบูรณ์ของพระผู้อภิบาลของพวกเขา และมองเห็นคุณลักษณะแห่งความสวยงามความมั่งคงของพระองค์ด้วยดวงตาแห่งจิตวิญญาณ และกำลังดื่มด่ำความรักจากพระผู้เป็นที่รักของพวกเขา แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่อนุญาตให้ตัวเองขัดความพึงพอใจจากผู้ที่เป็นที่รักของเขา อีกทั้งจะไม่ทำการละเมิดด้วย

เหล่านี้คือ ความแตกต่างประการหนึ่ง ระหว่างศาสดาหรือมนุษย์ที่บริสุทธิ์กับบุคคลทั่วไป ซึ่งก็เนื่องมาจากความรู้ดังกล่าวที่ทำให้ศาสดาออกห่างจากบาป ไม่ใช่เพราะพวกท่านไม่มีอิคติยาร เสรีในการเลือกนั่นเอง


777

ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 8)