โอวาทวันนี้ 05/03/2560

298

อัดลฺอิลาฮี  (ตอนที่ 18)

♡ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ♡

● ข้อแตกต่างระหว่างความยุติธรรมของมนุษย์กับของพระผู้เป็นเจ้า ●

เรายังอยู่ในประเด็นสำคัญในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งหากเราทบทวนในอัดลฺอิลาฮี 17 จะเห็นว่า ผลจากการทำบาปต่างๆ ส่งผลทำให้บทลงโทษในวันกิยามัตนั้นมีแต่ความรุนแรง อาทิเช่น การกินลูกไฟ การกินน้ำเดือด น้ำหนอง การกินผลจากต้นซักกูม (ต้นไม้ที่มีหนามลักษณะยาวและแหลมคม) ฯลฯ

คำถาม : การลงโทษในรูปแบบต่างๆเหล่านี้นั้น เป็นการลงโทษที่รุนแรงและโหดร้ายหรือไม่?

คำตอบ : การลงโทษดังกล่าวนั้น นอกจากจะไม่รุนแรงแล้ว ยังถือว่าไม่โหดร้ายด้วย ทว่ามนุษย์ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บทลงโทษในวันนั้นเป็นบทลงโทษแบบ ‘ฮากีกี’ คือ เป็นผลจริงของการกระทำนั้นๆโดยตรง ซึ่งแตกต่างกับบทลงโทษในโลกนี้ เห็นได้ว่า การพิจารณาการลงโทษ เกิดมาจากทัศนะที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น และแต่ละประเทศก็มีกฎหมายในการพิจารณาตัดสินความที่แตกต่างกันไป

เราจะพบว่า ในกฎหมายที่มนุษย์คิดขึ้นมานั้น ประสบปัญหาอย่างมากมาย บางบทลงโทษรุนแรงกว่าความผิดจริง บางบทลงโทษเบากว่าความผิดจริง

☆ สาระศึกษาและข้อสังเกต

● กฏหมายที่มนุษย์คิดค้นยุติธรรมหรือ ●

☆ ตัวอย่าง : “คดี ตา-ยาย เก็บเห็ดในป่าสงวนในประเทศไทย”
(คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553)

ตากับยายตกเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกและตัดไม้ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 30 ปี แต่ภายหลังรับสารภาพจึงลดโทษครึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 15 ปี กระทั่งทั้งสองยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือจำคุก 15 ปี

ประเด็นนี้ ทำให้มนุษย์ที่มีสติปัญญาวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีนี้ ตากับยายถูกตัดสินจำคุกถึง 15 ปีนั้น ถือเป็นบทลงโทษที่รุนแรงและเกินกว่าเหตุ หากพิจารณา จะเห็นได้ว่า กฏหมายที่มนุษย์ใช้ตัดสินเริ่มประสบปัญหาเพราะเป็นการตัดสินที่ไร้สติปัญญา ทว่าเมื่อเราศึกษาและตั้งข้อสังเกตด้วยการใช้สติปัญญา จะพบว่า การลงโทษของพระองค์นั้น พระองค์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดการลงโทษ อีกทั้งการลงโทษในวันกิยามัตนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสมมุติฐานขึ้นมา ทว่าการลงโทษของพระองค์นั้น เป็นการลงโทษแบบฮากีกี ซึ่งเป็นผลจริงจากที่มนุษย์กระทำต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งเกิดจากอามั้ลอย่างหนึ่งผลของมันจึงเป็นเช่นนั้น

● ผลการกระทำที่เป็นฮากีกี ●
จากตัวอย่าง “การเล่นไม่ระวัง” ที่ได้กล่าวในอัดลฺอิลาฮี 17 การเอาเข็มทิ่มไปที่ลูกตาดำเพียงชั่ววินาทีเดียว เป็นไปได้ว่า อาจส่งผลทำให้คนที่โดนเข็มทิ่มตา ต้องบอดตลอดชีวิต และในวันกิยามัตก็เช่นกัน ผู้ที่ลงโทษ และผู้ที่ออกแบบการลงโทษ คือ ตัวตนของมนุษย์เองทั้งสิ้น ประเด็นความผิดลักษณะนี้ในคัมภีร์อัล-กรุอาน มีโองการจำนวนหนึ่งที่ได้อธิบายไว้ด้วยเช่นกัน ดังนี้
ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน โองการที่ 30

يَوْمَ تَجِدُ كُلُّ نَفْسٍ مَّا عَمِلَتْ مِنْ خَيْرٍ مُّحْضَرًا وَمَا عَمِلَتْ مِن سُوءٍ تَوَدُّ لَوْ أَنَّ بَيْنَهَا وَبَيْنَهُ أَمَدًا بَعِيدًا ۗ وَيُحَذِّرُكُمُ اللَّهُ نَفْسَهُ ۗ وَاللَّهُ رَءُوفٌ بِالْعِبَادِ

“วันที่แต่ละชีวิตจะพบความดีที่ตนได้ประกอบไว้นำมาอยู่ต่อหน้า และความชั่วที่ตนประกอบไว้ด้วย แต่ละชีวิตนั้นชอบหากว่าระหว่างตนกับความชั่วจะมีระยะทางที่ห่างไกล และอัลลอฮฺ(ซบ)ทรงเตือนพวกเจ้าให้ยำเกรงพระองค์และอัลลอฮฺ(ซบ)นั้นเป็นผู้ทรงกรุณาปราณีต่อปวงบ่าวทั้งหลาย”

คำอธิบาย : อัลกรุอานบอกว่า วันนั้นตัวตนของมนุษย์จะพบกับ “مَّا عَمِلَتْ” สิ่งที่เขาได้ทำเอาไว้จะปรากฏ หากมนุษย์ทำความดี ความดีที่มนุษย์ทำจะปรากฏ เช่น บางคนเห็นสวรรค์ บางคนเห็นนางฟ้า

คำว่า “ตัวตน” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง พระองค์เอารางวัลมาให้ แต่ทว่าเป็นตัวตนที่มนุษย์ได้กระทำไว้นั้นจะปรากฏ หากมนุษย์กระทำความชั่ว ตัวตนของความชั่วที่มนุษย์กระทำก็จะปรากฏเป็นบทลงโทษ ความดีก็เช่นกัน “หากมนุษย์กระทำความดี ความดีก็จะปรากฏเป็นรางวัลแก่เขา”

ดังนั้น ทั้งรางวัลทั้งบทลงโทษที่ปรากฏ มนุษย์เป็นผู้ทำเองและที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นในการปรากฏครั้งนี้เป็นการปรากฏที่ตัวของมนุษย์เป็นการปรากฏอยู่กับตัวของมนุษย์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น มันจึงไม่มีช่องว่างระหว่างมนุษย์กับการกระทำของเขา แน่นอนว่ารางวัลก็อยู่ในตัวของเขา การลงโทษก็อยู่ในตัวของเขา ด้วยเหตุแล้ว จึงเป็นที่มาของประโยคต่อไปในโองการ คือ “คนที่ทำชั่วก็หวังว่าอยากจะให้เกิดช่องว่างระหว่างเขากับการกระทำของเขา” แต่มันไม่มีระยะห่างใดๆ ทั้งรางวัลและการลงโทษมันเป็นสิ่งที่มนุษย์นำมา เพียงแต่อยู่ในโลกนี้มนุษย์ยังไม่สามารถที่จะรับรู้ถึงผลที่แท้จริงได้ ซึ่งในคัมภีร์อัล-กรุอาน จากโองการนี้ชี้ให้เห็นว่า รางวัลและการลงโทษทั้งหมดนั้น ได้กล่าวแล้ว มาจากน้ำมือของมนุษย์เอง

ซูเราะฮ์ อัลกะฮ์ฟิ โองการที่ 49

وَوُضِعَ الْكِتَابُ فَتَرَى الْمُجْرِمِينَ مُشْفِقِينَ مِمَّا فِيهِ وَيَقُولُونَ يَا وَيْلَتَنَا مَالِ هَٰذَا الْكِتَابِ لَا يُغَادِرُ صَغِيرَةً وَلَا كَبِيرَةً إِلَّا أَحْصَاهَا ۚ وَوَجَدُوا مَا عَمِلُوا حَاضِرًا ۗ وَلَا يَظْلِمُ رَبُّكَ أَحَدًا

“และบันทึกจะถูกเปิดออก ดังนั้นเจ้าจะเห็นบรรดาผู้กระทำผิดหวั่นกลัวสิ่งที่มีอยู่ในบันทึก และพวกเขาก็จะกล่าวว่า โอ้ความวิบัติของเราเอ๋ย บันทึกอะไรกันนี่มันมิได้ละเว้นสิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่โตเลย เว้นแต่ได้บักทึกไว้อย่างครบถ้วน และพวกเขาได้พบสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ปรากฏต่อหน้า และพระผู้อภิบาลไม่ได้อธรรมต่อผู้ใดเลย”

คำอธิบาย : สิ่งที่จะปรากฏในวันนั้นก็คือ “مَا عَمِلُوا حَاضِرًا” สิ่งที่ปรากฏคือสิ่งที่เขากระทำมา ถ้าเขาทำความดี สิ่งที่จะปรากฏของความดีคือรางวัล แต่ถ้าเขาทำความชั่ว สิ่งที่จะปรากฏของความชั่วคือบทลงโทษ

ดังนั้นแล้ว สิ่งปรากฏตามโองการนี้ คือ สิ่งที่มนุษย์ได้กระทำมา ซึ่งในโองการ ได้กล่าวว่า “ทั้งสิ่งเล็กน้อยและทั้งสิ่งที่ใหญ่” และพระองค์ก็ยืนยันว่า “พระผู้อภิบาลจะไม่ทรงอธรรมต่อผู้ใด ไม่อธรรมต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด” ซึ่งคำจำกัดความ คำว่า ไม่อธรรมตามเนื้อหาอันนี้ คือ การปรากฏของรางวัลในครั้งนี้ไม่ขาดไม่เกิน บทลงโทษก็เช่นเดียวกันไม่ลงโทษเลยเถิดจนกลายเป็นความอธรรม ทว่าผลที่จะปรากฏนั้นเป็นการตัดสินกันตามสิ่งที่มนุษย์สมควรจะได้รับนั่นเอง

สมมุติ คนที่จะได้รางวัลระดับสิบ พระองค์ก็ให้ระดับสิบ ถ้าหากให้สิบเอ็ด ก็ถือว่าเป็นความเมตตา ถ้าเป็นบทลงโทษให้ระดับสิบก็ไม่จัดว่าเป็นความอธรรม แต่ถ้าให้ระดับเก้าถือเป็นการให้อภัย แต่มนุษย์พึงรู้ไว้ก่อนว่า เบื้องต้นนั้นไม่มีขาดไม่มีเกิน ใครทำอะไรมา สิ่งนั้นจะปรากฏและจะถูกตอบแทน

ซูเราะฮ์ ซิลซิละฮ์ โองการที่ 7 – 8
فَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَرَهُ وَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَرَهُ

“ดังนั้นผู้ใดกระทำความดีหนักเท่าละอองธุลีเขาก็จะเห็นมัน และผู้ใดกระทำความชั่วหนักเท่าละอองธุลีเขาก็จะเห็นมัน”

ซูเราะฮ์นี้ พระองค์ยกรายละเอียดหนึ่ง ซึ่งบางกรณีอาจฉายภาพให้เห็นในโลกนี้ แต่บางกรณีให้ได้เห็นในวันกิยามัต

ซูเราะฮ์ อัลนิซาอฺ โองการที่ 10
إِنَّ الَّذِينَ يَأْكُلُونَ أَمْوَالَ الْيَتَامَى ظُلْمًا إِنَّمَا يَأْكُلُونَ فِي بُطُونِهِمْ نَارًا وَسَيَصْلَوْنَ سَعِيرًا

“แท้จริงบรรดาผู้ที่กินทรัพย์สินของบรรดาเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริงพวกเขา เขาได้กินไฟลงไปในท้องของเขา และพวกเขาก็จะเข้าสู่เปลวเพลิง”

คำอธิบาย : ผลของอามั้ล ผลของการนินทาคือ สิ่งนี้ ซึ่งในวันนี้มนุษย์อาจจะยังไม่รู้สึกตัวแต่ความจริงในวันกิยามัตนั้นท้องของเขาจะเดือดเป็นไฟ

ซูเราะฮ์ อัลฮัชร โองการที่ 18
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَلْتَنظُرْ نَفْسٌ مَّا قَدَّمَتْ لِغَدٍ ۖ وَاتَّقُوا اللَّهَ ۚ إِنَّ اللَّهَ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์(ซบ)ให้มากๆ จงพิจารณาตัวเองว่า เจ้าได้เตรียม ได้ส่งอะไรไว้สำหรับวันกิยามัตแล้วบ้าง และจงเกรงกลัวอัลลอฮ์(ซบ)เถิด แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”

คำอธิบาย : จากโองการนี้ อัลลอฮ(ซบ) ตรัสว่า สิ่งที่มนุษย์จะได้พบในโลกหน้า คือ สิ่งที่มนุษย์ส่งไปล่วงหน้า และในสิ่งที่มนุษย์กระทำนั้น เป็นการเตรียมและส่งไปในวันกียามัตไว้สำหรับตัวเอง บ่งชี้ว่า เบื้องต้น ทั้งรางวัลและบทลงโทษมันมาจากน้ำมือของมนุษย์เอง และในโองการยังได้ย้ำสำทับอีกครั้งว่า “จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ จงมีตักวา” หากพิจารณา จะเห็นว่าในโองการนี้ ได้กล่าวถึงการมีตักวาถึงสองครั้งเพื่อเน้นและเพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ


66

ติดตามอ่านต่อ อัดลฺอิลาฮี (ตอนที่ 19)