ไชฏอนศึกษา บทเรียนที่ 1 ตอนที่ 3

1443

วิชาตัฟซีร(การอรรถาธิบาย)พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน

ไชฏอนศึกษา บทเรียนที่ 1 ตอนที่ 3

โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

ณ ศูนย์เรียนรู้จริยธรรมอิสลาม ตำบล ปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
22 พฤศจิกายน 2557

♔•●✺ اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم ✺●•♔
ไชฏอนคืออะไร ?

ทำไม…มันถึงเป็นไชฏอน เมื่อมันเป็นไชฏอนแล้ว มันมีธุระอะไรกับเรา มันดีหรือร้ายกับเรา

เมื่อเรารู้ว่ามันร้ายกับเรา มันหลอกลวง มันวางแผนที่จะพาเราลงนรก แผนของมันเป็นอย่างไร?

เกมของมันเป็นอย่างไร?

วิธีการหลอกล่อ วิธีการหลอกลวงของมันนั้นมีอะไรบ้าง?

เราจะสู้กับมันอย่างไร ?

เราจะต่อกรกับมันอย่างไร…เราถึงจะรอดพ้นจากการหลอกลวงของมัน

พี่น้องเชื่อหรือไม่…อัลกุรอานบอกถึงวิธีการลวงล่อของมันทั้งหมด และวิธีการอะไร อย่างไรนั้น
นั่นคือ เหตุผลที่เราเลือก“ไชฏอน ”มาศึกษา เพราะมันคือ คู่หูของเรา

มันเป็นคู่หูที่เป็นศัตรูของเราด้วย มันอยู่กับเรา เราอยู่กับมัน

ถ้ามันเป็นมิตร ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องไปเรียนรู้มันมากมาย แต่ไชฏอน อยู่กับเรา เราอยู่กับมัน ไชฏอนจึงเป็นศัตรูของเรา

 
อะไร คือ ภารกิจของไชฏอน
ภารกิจของมันคือ ทำอะไรก็ได้ วิธีไหนก็ได้ให้เราลงนรก !!! ถ้ามันชนะ เราแพ้ตลอดกาล !!!

ทำไมเราต้องแพ้ตลอดกาล ?

เพราะ ‘นรก’มันเป็นเรื่องของตลอดกาล ถ้าลงนรกก็เป็นเรื่องของการแพ้ตลอดกาล

เรื่องไชฏอนจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าศึกษา

 

ตัฟซีรกุรอานเรื่อง “ไชฏอนศึกษา”
การรู้จักศัตรูที่ร้ายที่สุดตัวหนึ่งของเรา เพื่อให้เราเตรียมตัวรับศึกกับมัน

ถ้าใช้ภาษาปัจจุบันคือ “รู้เขารู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ”

ปัญหาที่เราพ่ายแพ้ไชฏอน เพราะไชฏอนมันรู้เรา แต่เราไม่รู้ไชฏอน มีรายละเอียดในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
อัลลอฮ์(ซบ.)

Holy Quran [Surat Al-Araf : 27]

——————

يَا بَنِي آدَمَ لَا يَفْتِنَنَّكُمُ الشَّيْطَانُ كَمَا أَخْرَجَ أَبَوَيْكُمْ مِنَ الْجَنَّةِ يَنْزِعُ عَنْهُمَا لِبَاسَهُمَا لِيُرِيَهُمَا سَوْآتِهِمَا ۗ إِنَّهُ يَرَاكُمْ هُوَ وَقَبِيلُهُ مِنْ حَيْثُ لَا تَرَوْنَهُمْ ۗ إِنَّا جَعَلْنَا الشَّيَاطِينَ أَوْلِيَاءَ لِلَّذِينَ لَا يُؤْمِنُونَ

ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย! จงอย่าให้ชัยฏอนหลอกลวงพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่มันได้ให้พ่อแม่ของพวกเจ้า ออกจากสวนสวรรค์มาแล้ว โดยที่มันได้ถอดเครื่องนุ่งห่ม ของเขาทั้งสองออกเพื่อที่จะให้เขาทั้งสองเห็นสิ่งที่น่าละอาย ของเขาทั้งสองแท้จริงทั้งมัน และเผ่าพันธุ์ของมันมองเห็นพวกเจ้าโดยที่พวกเจ้าไม่เห็นพวกมัน แท้จริงเราได้ให้บรรดาชัยฏอนเป็นเพื่อนกับบรรดาผู้ที่ไม่ศรัทธา

—————————————————————

อัลลอฮ(ซบ.)ตรัสว่า

ۗ إِنَّهُ يَرَاكُمْ هُوَ وَقَبِيلُهُ مِنْ حَيْثُ لَا تَرَوْنَهُمْ

(แท้จริงทั้งมัน และเผ่าพันธุ์ของมันมองเห็นพวกเจ้าโดยที่พวกเจ้าไม่เห็นพวกมัน)

“لَا تَرَوْنَهُمْ”

มีรายละเอียดในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน “ระวังให้ดีนะ” อัลลอฮ์(ซบ.) ตรัสว่า “มนุษย์ระวังให้ดีนะ”

เพราะพวกมนุษย์ไม่เห็นไชฏอน แต่ไชฏอนเห็นพวกเจ้า อัล-กุรอานได้ยืนยันในสิ่งนี้

คำว่า ‘ไม่เห็นไชฏอน’ คือ บางครั้งเราไม่รู้ตัวว่า ตอนนี้เรากำลังถูกมันทั้งล่อลวง ทั้งดึง ทั้งกระชาก ทั้งจูงและลากอยู่ เรากำลังถูกมันถีบอยู่ บางคนถูกมันถีบโดยไม่ต้องจูงก็ไปแล้ว บางคนก็เดินตามมันก็มี บางคนแค่มันทำเสียง

คำอธิบายของอาเล็มอูลามาอฺ คำว่า ‘ทำเสียง’ แค่ไชฏอนทำเสียงกระซิบในรูปแบบที่ทำให้เราหลงใหล เสียงกระซิบที่มัวเมา เสียงที่บอกให้เราทำผิดแล้วปลอบว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีใครรู้” นั่นแหละคือ เสียงของไชฏอน

เมื่อได้ยินเสียงนี้ก็เดินตามไปเลยก็มี แต่เราไม่เห็นว่า มันทำอย่างนี้อยู่ หมายถึง มันเรียกในใจของเรา ไชฏอนไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ในตัวคนทุกคน นั่นคือ กิเลศ อารมย์ ใฝ่ต่ำนั่นเอง

วันใดคุณฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮ์(ซบ) วันนั้นเราได้สื่อสารกับมันแล้ว เพราะอัลกุรอานบอกว่า ระวัง! ระวังหน่อย !ศัตรูที่เจ้ามองไม่เห็น แต่มันเห็นเจ้า !!!

ดังนั้น เสียงของไชฏอนจึงเป็นเสียง

– แห่งการมุสาหรือเสียงแห่งการโกหก เพื่อที่จะนำคนไปสู่ความบาป

– แห่งการล่อลวงหรือหลอกลวง เพื่อที่จะนำคนให้ห่างไกลจากพระเจ้า

นี่เป็นบางตัวอย่าง อินชาอัลลอฮ์…..

“ไชฏอน” เป็นเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ ที่ต้องทำการศึกษาทั้งหมด

เรามาทำความรู้จักกับ “ไชฏอน”โดยผ่าน การตัฟซีรอัลกุรอาน

เรื่องของ “ไชฏอน”ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่?

คำว่า “ไชฏอน”เริ่มมีขึ้นเมื่อไหร่ ? ปรากฏ ‘ชื่อนี้’ ขึ้นเมื่อไหร่ ?

เมื่อก่อนไม่มีคำว่าไชฏอน !!! ไม่มีคำว่าอิบลีส !!!
ก่อนหน้าที่อัลลอฮ์(ซบ.) จะสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น มี 2 มัคลูกที่ทำอามัลอิบาดัต คือ มลาอิกะฮฺและญิน ทั้ง 2 เป็นมัคลูกที่ทำอิบาดัตโดยตรง และทำอิบาดัตก่อนสิ่งอื่นๆทั้งหมด หมายถึง ก่อนหน้านี้ มีมลาอีกะฮฺและญิน ทำการอิบาดัตอยู่แล้ว ทั้ง 2 มัคลูกนี้ ทำอิบาดัตเป็นรูปลักษณะดังนี้

** ‘มลาอิกะฮฺ’ ทำอิบาดัตไม่ได้ทำแบบมีหน้าที่ แต่มี (تكليف )(ตักลีฟ) คือ ถูกสร้างมาเพื่อภารกิจแห่งการปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว เกิดขึ้นมาเพื่อทำอิบาดัต ในลักษณะที่ไม่มีสิทธิที่จะฝ่าฝืน เกิดมาก็เพื่อสิ่งนี้
** ‘ญิน’ เป็นมัคลูกที่มีหน้าที่ เป็นหน้าที่ หมายถึง จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ จะฝ่าฝืนก็ได้ จะปฏิบัติตามก็ได้ คือ มีทางเลือก จนกระทั่งมีญินตัวหนึ่งเคร่งครัดในศาสนา น่ารักเป็นอย่างมาก ญินตัวนี้รักอัลลอฮฺ(ซบ.)เป็นอย่างมาก อยู่กับการนมาซอยู่กับการซูญูด ตามรูปลักษณะของญิน ญินทำอิบาดัต จนกระทั่ง ในริวายัตในฮะดิษบอกว่าไม่มีในดุนยา
ในดุนยา คือ ถ้าเราเอามือวางบนพื้น หัวแม่มือของเรา ก็จะเจอกับรอยซูญูดของญินตัวนั้น ถ้าหัวแม่มือไม่ชนกับเราซูญูด นิ้วมือของเราจะต้องเจอกับรอยซุญูดของมัน

ในฮะดิษบอกไว้ขนาดนี้ บางริวายัตบอกว่า ญินทำอิบาดัต 6000 กว่าปี หกพันกว่าปีที่ซูญูดวิงวอน ร้องไห้กับอัลลอฮ์(ซบ.)
แน่นอน !!! การทำอิบาดัตย่อมมีมรรคผลของมัน ทำให้เกียรติยศของ ‘อิบาดัต’สูงขึ้น พัฒนาสูงขึ้น สูงขึ้น

การพัฒนาอิบาดัต คือ พัฒนาดะรอญะฮ์ (درجة) ของเขาจะสูงขึ้น เมื่อมนุษย์หรือญินหรือใครก็ตามทำอีบาดัต อิบาดัตทุกอิบาดัตที่ทำ ดะรอญะฮ์(درجة)จะสูงขึ้น

ถ้าเราอ่านอัลกุรอาน ดะรอญะฮ์(درجة)ของเราก็จะสูงขึ้น ยิ่งอ่านมากก็จะยิ่งสูงขึ้น

ถ้าเรานมาซ ทำอิบาดัตมาก ดะรอญะฮ์(درجة)ของเราก็จะสูงขึ้น

(ดะรอญะฮ์(درجة) คือ ตำแหน่งเกียรติยศ )

‘ญิน’ตัวนี้มีดะรอญะฮ์สูง จนกระทั่งได้อยู่ร่วมกับมลาอิกะฮฺ คือพัฒนาจนกระทั่งอยู่ในระดับเดียวกับมลาอิกะฮฺ

ญินตัวนี้ชื่ออะไร ?

ชื่อเดิมของมันคือ อาซาซีล (عزازيل) อยู่กับมวลมลาอิกะฮฺ
มีริวายัตถึงขั้นที่ว่า มลาอิกะฮฺชั้นล่าง อิจฉาอามั้ลอิบาดัตของมัน
ญินทำอิบาดัตอย่างมากมาย มันทำอิบาดัตมาก !! และอิบาดัตของมันมีคะแนน !! เพราะว่ามันถูกสร้างมาให้เลือกทำหรือว่าเลือกไม่ทำ แต่มลาอีกะฮฺไม่มีคะแนน ทุกอย่างที่ทำเท่าเดิม ไม่มีการลดหรือเพิ่มคะแนนสำหรับมาลาอิกะฮฺ
เมื่อ ‘อาซาซีล’ ( عزازيل) รู้มากในความลับทั้งหมด จนเป็นที่ยกย่องของมวลมลาอิกะฮฺ มันก็เดินอย่างภาคภูมิใจเมื่ออยู่ในมวลมลาอิกะฮ์
ความภาคภูมิใจนี้ อย่าว่าแต่ญินเลย พวกเราเองก็เช่นกัน หากทำอิบาดัตแล้ว ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกับมลาอิกะฮฺ มีมลาอิกะฮฺเป็นเพื่อน น่าภาคภูมิใจขนาดไหน

จนกระทั่งอัลลอฮ์(ซบ.) ต้องการพิสูจน์ให้มลาอิกะฮฺได้เห็นอากีกัตที่แท้จริงของการทำอิบาดัตอันมากมายนั้น อัลลอฮ์(ซบ.) ก็ได้ทรงดำริที่จะสร้างอีกมัคลูกหนึ่งขึ้นมา คือ “มนุษย์”

และกลไกของ อัลลอฮ์(ซบ.)ในการพิสูจน์ ‘ญิน’และ ‘มนุษย์’ นั้นแยบยลเป็นอย่างมาก ซึ่งในตัวตัฟซีรก็จะมีกลไกอยู่
เราจะใช้ว่า“กลไก”ในการทดสอบที่จะทำให้ ‘ญิน’และ ‘มนุษย์’ ได้ฉีกหน้ากากตัวเองออกมา อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงวางแผนได้อย่างลํ้าลึก ถ้าซ้อนแผนไม่มีใครซ้อนแผนได้ดีกว่าอัลลอฮฺ(ซบ.) ถ้าวางแผนให้ใครตกหลุมรับรองว่าตกแน่นอน

(وَاللَّهُ خَيْرُ الْمَاكِرِينَ )

อัลลอฮ์(ซบ.)สร้างมนุษย์แบบเอานูร (نور)มา ทำนูร(نور) นั้นให้เป็นรูปร่าง แล้วก็เป่ารูห์(روح)ลงไปในนูร(نور)นั้น ถามว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ทำได้ไหม?

ตอบ ทำได้ แต่ทำไมอัลลอฮ์(ซบ.)ไม่ทำ
อัลลอฮ์(ซบ.)เอาอะไรมาสร้างมนุษย์
วัตถุดิบเบื้องต้น ปฐมวัตถุ วัตถุดิบเบื้องต้นในการที่จะสร้างมนุษย์ ซึ่งในอนาคต(اشرف المخلوقات) จะเป็นมัคลูกที่ประเสริฐสุดในบรรดามัคลูกทั้งหมด
คำถาม : อัลลอฮ์(ซบ.)เอาอะไรมาสร้าง

คำตอบคืออัลลอฮ์(ซบ.)สร้าง มนุษย์มาจาก ‘ดิน’

พระองค์มีแผนตั้งแต่ตรงนี้….คือ เอาดินมาสร้างและไม่ใช่ว่าเป็นดินที่สวยงามประการใด เพราะดินที่พระองค์เลือก เป็นดินดำดินเหนียว ซึ่งในภาษาอาหรับเรียกว่า طین (ฏีน)ดินดำดินเหนียว เมื่อปั้นเสร็จเป็นรูปร่างเรียบร้อย

(وَنَفَخْتُ فِيهِ مِن رُّوحِي )

อัลลอฮ์(ซบ.)ก็ได้เป่ารูห์ลงไปในรูปปั้นดินเหนียวนั้น ดินดำนั้นก็เคลื่อนไหวมีชีวิต เกิดมัคลูกใหม่อีกหนึ่งมัคลูกขึ้นมา

หลังจากนั้น…..อัลลอฮ์(ซบ.) ได้นำไปสอน ไปอบรมเสร็จเรียบร้อย ก็นำมาโชว์

Holy Quran [Surat Al-Baqara : 31]

——————
وَعَلَّمَ آدَمَ الْأَسْمَاءَ كُلَّهَا ثُمَّ عَرَضَهُمْ عَلَى الْمَلَائِكَةِ فَقَالَ أَنْبِئُونِي بِأَسْمَاءِ هَٰؤُلَاءِ إِنْ كُنْتُمْ صَادِقِينَ

(และพระองค์ได้ทรงสอนบรรดานามของทั้งปวงให้แก่อาดัม ภายหลังได้ทรงแสดงสิ่งเหล่านั้นแก่มะลาอิกะฮฺ แล้วตรัสว่า จงบอกบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่ข้า หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง)

เบื้องต้นคำว่า “عَرَضَ” แปลว่า เอามาโชว์ เอามาแสดงให้เห็น

((ثُمَّ عَرَضَهُمْ عَلَى الْمَلائِكَة))

ถ้าจะอธิบายในเชิงตัฟซีร คำว่าโชว์ คำว่าแสดงให้เห็นนี้ ใช้กับอะไร???

ลองทดสอบทักษะของนักเรียน คำว่าแสดงใช้กับอะไร ?

((ثُمَّ عَرَضَهُمْ عَلَى الْمَلائِكَة))

หลังจากสร้างเสร็จ อบรมเสร็จเรียบร้อย ขัดสีฉวีวรรณแล้ว มอบวิชาการจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว

((ثُمَّ عَرَضَهُمْ عَلَى الْمَلائِكَة))

เอาประติมากรรมที่เสร็จแล้วนี้ เอามาโชว์ให้มะลาอิกะฮฺดู

คำตอบ คือ ต้องเป็นของดีแน่นอน !!!

ถามว่า มีใครเอาผ้าขี้ริ้วในบ้าน มาแสดงให้เพื่อนดูไหม ?

ตรงนี้มีมิติของการอรรถาธิบายตัฟซีร เบื้องต้นเอามาแสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นประติมากรรมล้ำค่าที่สุด เพราะเป็นการแสดงให้มลาอิกะฮฺดู ไม่ใชแสดงให้คนธรรมดาดู แล้วก็มีเป้าหมายในการแสดงให้เห็น

อัลลอฮ์(ซบ.)ได้แสดงสิ่งหนึ่งให้มลาอิกะฮฺ และให้ตอบในคำถามนั้น คือ

فَقَالَ أَنْبِئُونِي بِأَسْمَاءِ هَٰؤُلَاءِ إِنْ كُنْتُمْ صَادِقِينَ)

แต่มลาอิกะฮฺไม่สามารถที่จะตอบในสิ่งที่อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงถามได้

อัลลอฮฺ(ซบ.)จึงได้ตรัสกับท่านนบีอาดัมว่า… “โอ้อาดัม !!! จงบอกกับมวลมลาอิกะฮฺสิ คำถามทั้งหมดที่ฉันถามไป” …..

คำถามหนึ่ง คำถามจำนวนหนึ่ง ชุดข้อสอบหนึ่งที่อัลลอฮ์(ซบ.)สอบมลาอีกะฮฺนั้น มลาอีกะฮฺตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว

เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)ให้ท่านนบีอาดัม(อ)ตอบคำถามชุดเดียวกัน

ท่านนบีอาดัม (อ)ตอบคำถามนั้นได้ทั้งหมด

มลาอิกะฮฺก็รับรู้แล้วว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น !!!

มลาอิกะฮ์รับรู้แล้วว่าทำไมอัลลอฮฺ(ซบ.) จึงสร้างมนุษย์ !!!

นี่ก็เป็นอีกกลไกหนึ่ง คือ ก่อนที่อัลลอฮ์(ซบ.) จะสั่งให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นคำสั่งที่ยากลำบากเป็นอย่างมากสำหรับผู้ปฏิบัตินั้น พระองค์ก็จะแสดงอะไรให้เห็นก่อน

กล่าวคือ ให้ผู้ที่มีสติปัญญาเข้าใจก่อน หลังจากที่มลาอิกะฮฺยอมรับ

คือ อธิบายให้เราเข้าใจได้ง่ายๆว่าหลังจากที่มลาอิกะฮฺยอมรับในความรู้ของตัวเองนั้นน้อยกว่าอาดัม(อ) มลาอีกะฮฺยอมรับแล้วว่าตอบคำถามทั้งหมดไม่ได้ แต่ท่านนบีอาดัม(อ)ตอบคำถามนี้ได้ทั้งหมด

โองการที่ 1 การอรรถาธิบายในเชิงตัฟซีร

ดังนั้น เมื่อมวลมลาอีกะฮ์ยอมรับว่าตัวเอง สู้ท่านนบีอาดัม(อ)ไม่ได้ พระองค์ก็ทรงตรัสโองการแรกว่า….

Holy Quran 2:34(ซูเราะฮ์บากอเราะห์โองการที่34)

——————

وَإِذْ قُلْنَا لِلْمَلَائِكَةِ اسْجُدُوا لِآدَمَ فَسَجَدُوا إِلَّا إِبْلِيسَ أَبَىٰ وَاسْتَكْبَرَ وَكَانَ مِنَ الْكَافِرِينَ

และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮฺว่า พวกเจ้าจงซูญูด แก่อาดัมเถิด แล้วพวกเขาก็ซูญูดกัน นอกจากอิบลีส โดยที่มันไม่ยอมซูญูด และแสดงโอหัง และมันจึงได้กลายเป็นผู้สิ้นสภาพแห่งการศรัทธา (กาฟิรฺ)

อัลลอฮ์(ซบ.)จึงได้ตรัสกับมลาอิกะฮฺว่า

اسجدوا لآدم

ดังนั้น เมื่อเจ้ายอมรับแล้ว ก็จงทำการซูญูดให้กับอาดัม

فسجدوا

มวลมลาอิกะฮ์ทั้งหมดจึงได้ทำการซูญูด

إلا إبليس เว้นแต่” “อิบลีส”

จากนั้น “อาซาซีล” จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ อิบลีส ”

อิบลีส คือ พฤติกรรมการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซบ.)
(ในเชิงภาษาจะกล่าวทีหลัง)

เบื้องต้น คำว่า “อิบลีส” คือพฤติกรรมที่ทำการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์

มลาอิกะฮฺทั้งหมดทำการซูญูดให้กับอาดัมเว้นแต่ إلا إبليس และปรากฏชื่อขึ้นมา ปรากฏนามอันใหม่ขึ้นมาปฏิเสธ واستكبر และตะกับบุร

وكان من الكافرين และมันคือกาเฟร

อันนี้แปลแบบตรงๆก่อน กล่าวคือ เป็นหมู่พวกปฏิเสธ ได้เป็นกาเฟรไปแล้ว
ถามว่า “การที่อิบลีสไม่ซูญูดแล้วมันผิดตรงไหน ในเมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)สั่งกับมวลมลาอิกะฮฺ ?”

وإذ قلنا للملائكة اسجدوا لآدم

คำตอบ เบื้องต้นให้ทำความเข้าใจ เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.)สั่งกับมลาอิกะฮฺ แต่อิบลีสไม่ซูญูด แล้วบอกว่าอัลลอฮ์(ซบ.)ไม่ได้สั่งฉันนี่ !!!

ความจริงแล้ว สิ่งนี้ยิ่งพิสูจน์ได้ว่า เมื่อพูดกับมลาอิกะฮฺ ก็คือ พูดกับอิบลิสเหมือนกัน คือ การสั่งมันกับการสั่งมลาอิกะฮฺเป็นคำสั่งเดียวกัน

ตรงนี้มีมุมที่น่าหวาดกลัวเป็นอย่างมากพี่น้อง !!!

ที่เราบอกว่าเรียนเรื่องนี้ก่อน จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

ทำไม…. ภาษาวิชาการ เขาบอกว่า เป็นบุคคลที่พัฒนาตนเองจนอยู่ในหมู่เดียวกับมลาอิกะฮฺ คือ

ถ้าพูดกับอิบลีส ก็คือ พูดกับมลาอิกะฮฺ

ถ้าพูดกับมลาอิกะฮฺ ก็คือ พูดกับอิบลีส

พัฒนาการตรงนี้คือ มันเป็นหนึ่งเดียวกับมลาอิกะฮฺแล้ว แม้นว่ามันไม่ใช่มลาอิกะฮฺ แต่โดยดะรอญะฮ์ มันเป็นหนึ่งเดียวกับมลาอิกะฮ์แล้ว เพียงแต่โดยกำเนิดมันไม่ใช่ เมื่อโดยกำเนิดมันไม่ใช่ มันจึงมีสิทธิที่จะฝ่าฝืนเช่นเดิม เหมือนที่ได้นำเสนอไปในเบื้องต้นแล้วว่า มลาอิกะฮฺไม่มีสิทธิฝ่าฝืนใดๆ เพราะถูกสร้างมาเพื่อภารกิจแห่งการปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว

คำว่า ‘มลาอิกะฮฺ’ ถ้าศัพท์ทางวิชาการก็คือว่า ไม่มี “ اختیار ”(อิคติยาร )ไม่มีทางเลือก สูงสักขนาดไหนก็อยู่ตรงนั้น เพราะอัลลอฮ์(ซบ.)ไม่ได้สร้างมลาอิกะฮฺให้มีทางเลือกให้เป็นอื่น มลาอิกะฮฺจะไม่ทำสิ่งใด เว้นแต่สิ่งที่พระองค์ทรงสั่ง ส่วนอิบลีสได้พัฒนาจนอยู่ในดะรอญะฮ์เดียวกับมลาอิกะฮฺนั้น จะสั่งมัน ก็คือ สั่งผ่านมลาอิกะฮ์

พระองค์สั่งมลาอิกะฮฺ ก็คือสั่งอิบลิส เพราะถ้าไม่สั่งรวมอิบลิสด้วย อัลลอฮ์(ซบ.)ก็จะไม่ตรัสว่า…

إِلَّا إِبْلِيسَ (อิบลีส) ตนเดียวที่ไม่ยอมซูญูด ดังนั้น แสดงว่าในคำที่บอกว่ากล่าวกับมวลมลาอิกะฮฺนั้น อิบลีสก็อยู่ในคำกล่าวเดียวกันกับมวลมลาอิกะฮฺด้วย

ทีนี้ มัคลูคหนึ่งที่พัฒนาไปถึงขั้นสูงส่ง แต่กลับต้องตกต่ำไปถึงขนาดไหน

เรามาดูในโองการอื่นๆ นั้นเบื้องต้นอาจจะยังไม่อธิบายมากก่อน เบื้องต้นนั้น อิบลีสปรากฏชื่อขึ้นมา

ในคำว่า “อิบลีส” คำว่า أبى แปลว่า ปฏิเสธ

واستكبر และก็ตะกับบุร

อาลิมอุลามาอฺตัฟซีร ที่เน้นเพราะสำคัญเป็นอย่างมาก คำๆหนึ่งซึ่งตรงนี้ถ้าเราไม่เรียนตัฟซีร เราจะไม่รู้เลย

นี่คือ ประโยชน์ของการเรียนตัฟซีร

ดังนั้น وكان من الكافرين แปลตามหลักภาษาหลักตัฟซีร

คำว่า “ كان ” ในภาษาอาหรับเป็นPast Tense คือ เป็นคำกริยาในอดีต

อดีตเรียกว่า was

(وكان من الكافرين)

เมื่อแปลว่า was ลองแปลเป็นภาษาไทยให้ตรงกับคำว่า was ก็คือ… “was a kafir” เป็นกาเฟรมาแต่เดิม หมายความว่าเป็นกาเฟรมาแต่แรกแล้ว (وكان من الكافرين)

อัลลอฮ์(ซบ.) ไม่ได้ตกใจเลยเมื่ออิบลีสเป็นกาเฟร เพราะอัลลอฮ์(ซบ.)ทรงรู้ว่า มันเป็นกาเฟรตั้งแต่ตอนนมาซหรือสซูญูดแล้ว เนื้อหานี้หนักเป็นอย่างมาก….

ตรงนี้ที่บอกว่าเราเริ่มต้นไป บางที เราเข้าใจผิดคิดว่าเรานมาซแล้ว บางคนนมาซเสร็จเห็นสวรรค์ของตัวเองไปแล้ว

สมมุติว่า เห็นสวรรค์ เห็นรางวัลอะไรทั้งหมด ถ้านมาซไหนมีนางฟ้าเป็นรางวัล ผู้ชายก็เกือบจะเห็นแก้มของนางฟ้าแล้ว แต่หารู้ไม่ว่า นมาซที่กำลังทำอยู่นั้น อัลลอฮ์(ซบ.)มองว่าเป็นนมาซของกาเฟรคนหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนอามั้ลที่ไม่มีอิหม่านไม่มีผลอะไรใดๆทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่ที่จะไม่ได้รับรางวัล แต่จะได้รับคำสาปแช่งแทนด้วย

وكان من الكافرين

อย่างที่บอกว่า นมาซแล้วอย่าเพิ่งมั่นใจ เรายังไม่รู้ว่านมาซตรงนี้ อัลลอฮฺ(ซบ.)จะมองว่าเป็นนมาซของอะไร??

กาเฟรนั้นแต่เดิม ตัวตนมันเองก็อาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นกาเฟร แต่อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงรู้กลไกในการสร้างทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้เห็น คือ ถ้ามีอะไรซ่อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์ บางครั้งซ่อนถึงขั้น เจ้าตัวไม่รู้ อัลลอฮ์(ซบ.)ก็จะเอามันออกมา เป้าหมายของการออกมา อาจจะมีมาก แต่เป้าหมายหนึ่ง คือ ให้เรายอมรับในสิ่งที่ซ่อนอยู่ หรือ ให้คนอื่นได้เห็นในสิ่งที่เราซ่อนอยู่

จึงยืนยันที่มาของกุรอาน บอกว่า “พระองค์ทรงรู้ แม้สิ่งที่เจ้าซ่อนอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของทรวงอก”

อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงรู้ แล้วนำมันออกมา ออกมาเพื่อให้เจ้ารู้ หนึ่งในความโชคร้ายที่ซ่อนอยู่ถูกเปิดเผยออกมา เพื่อให้คนทั้งโลกจะได้รู้ว่ามันคือใคร???

ถึงแม้จะซูญูดจนหน้าผากดำแล้ว ตัวตนของมันคือใคร???

ถึงแม้จะอ่านกุรอานจนลิ้นไหม้แล้ว ตัวตนของมันนั้นคือใคร??

อัลลอฮ์(ซบ.)ไม่ได้ให้ราคากับจำนวน เบื้องต้นสำหรับคนบางคน ถึงแม้นว่าจะนมาซมา 6000 ปี
ถึงแม้นว่าแผ่นดินในโลกนี้ ไม่มีว่างจากรอยซูญูดของมัน (เต็มไปด้วยรอยซูญูดของมัน)ก็ไม่เกี่ยว ก็ไม่ได้มีค่าอะไร ถ้าไม่ได้มีศรัทธาที่แท้จริง

อัลลอฮ์(ซบ.)ก็จะเอามันออกมาและพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์

وكان من الكافرين

นี่คือการอธิบายในเชิงตัฟซีร ว่า มันเป็นกาเฟรมาตั้งแต่เดิม นี่เป็นสิ่งที่อันตรายอันหนึ่ง ซึ่งอันนี้คือ หนึ่งโองการนะครับ

♔•●✺ اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم ✺●•♔

♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔

 

(โปรดติดตาม ตอนที่ 4)

ถอดเทปโดย : Solihah zahra binti Solah

ค้นคว้าอัลกรุอานโดย :

1.มูฮัมหมัด เบเฮสตี้

2. Mizanalee kepan

ภาพประกอบโดย มูฮัมหมัดฮูซัยนี บิน ซัมซูดีน
♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔♔