คัดบางส่วนจากคุตบะฮ์อีดิล-อัฎฮา ปี 1438
ณ มัสยิดรูฮุลลอฮฺ 1 กันยายน 2560
โดย ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ช่วงเทศกาลฮัจญ์ ครั้งหนึ่งในยุคสมัยของอิมามบาเก็ร(อ) สาวกผู้ใกล้ชิดของท่าน(อ) ได้เห็นบรรยากาศของประชาชาติอิสลามจำนวนนับแสนคนเข้าร่วมพิธีฮัจย์ ต่างตะโกนเสียงดังตอบรับการเดินทางเข้าร่วมพิธีของตนเอง ว่า
لَبَّيْكَ اللَّهُمَّ لَبَّيْكَ لَبَّيْكَ لَا شَرِيْكَ لَكَ لَبَّيْكَ إِنَّ الْحَمْدَ وَالنَّعْمَةَ لَكَ وَالمُلْكَ لاَ شَرِيْكَ لَكَ
(ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกฺ ลับบัยกะลาชะรีกะละกะลับบัยกฺ อินนั้ลฮำดะ วันนิอฺมะตะ ละกะวั้ลมุล กฺ ลาชะรีกะลัก) เสียง “ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกฺ” ดังกึงก้องทั่วท้องทุ่ง นำความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจแก่บรรดาเหล่าสาวกของท่านอิมาม(อ) มีสาวกคนหนึ่งยืนอยู่ใกล้ๆกับท่านอิมาม(อ) ได้กล่าวว่า “มาชาอัลลอฮฺ “ما أكثر الحجيج” ( มาอักษารู หะญีย์ญีย์ )ความว่า โอ้…ฮุจญัตมากจริงๆ มาชาอัลลอฮฺ อิสลามของเรายิ่งใหญ่แล้ว
ท่านอิมามบาเก็ร(อ)หันไปมองแล้วกล่าวว่า “เจ้าพูดผิด ต้องบอกว่า…
“ بل ما أكثر الضجيج وأقل الحجيج “
(บัลมาอักษารู ฎอญีย์ญีย์ วะอะกิลลู ฮะญีย์ญีย์)คนตะโกนนั้นมีมาก แต่ฮัจญีนั้นช่างน้อยเสียเหลือเกิน” นัยยะของคำว่า “บัลอักษารู ฎอญีย์ญีย์” หมายถึงมันเป็นเพียงแค่เสียงตะโกนโหวกเหวก แม้ขณะตะโกน คำว่า “ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกฺ” เพราะไม่ได้มีความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของมัน
คำว่า “ฮัจญี” เป็นนามเฉพาะที่ศักดิ์สิทธิ์
การที่อิมามกล่าวว่า “ฮัจญีนั้นมีน้อยเสียเหลือเกิน” หมายถึง บุคคลที่นับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยความเข้าใจ รู้เป้าหมาย และปฏิบัติตนไปตามเป้าหมายของศาสนกิจนั้นๆ มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของผู้คน
ทั้งนี้เหล่าบรรดา ศอฮาบะฮฺ เกิดความสงสัยว่าท่านอิมาม(อ) กล่าวเช่นนี้หมายความว่าอย่างไร?
ท่านอิมาม(อ) จึงชูสองนิ้วขึ้นมา และเรียกศอฮาบะฮฺ เหล่านั้นให้มายืนอยู่ข้างหลังท่าน(อ) พลางบอกให้พวกเขา มองผ่านระหว่างนิ้วทั้งสองของท่าน(อ) ไปยังผู้คนที่กำลังเดินตอวาฟ(เวียน)รอบกะฮฺบะฮฺ
เมื่อเหล่าศอฮาบะฮฺ (สาวก)มองออกไป ถึงกับผงะตกใจอย่างมาก เพราะภาพที่พวกเขาเห็นกลับเป็นฝูงสรรพสัตว์ต่างๆกำลังเดินกันอยู่ นานๆกว่าจะเห็นมีมนุษย์หลุดเข้ากรอบมาซักคน และแท้จริงที่เห็นเป็นสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น รูปลักษณะที่เป็นไปตามนิสัย ตัวตนของพวกเขานั่นเอง
เชิงอรรค : ฮะญีย์ญีย์ กับ ฎอญีย์ญีย์ ใช้ประกอบธารธรรม คุตบะฮฺอีดกรุบาน
ประเด็นนี้ เป็นไปตามที่อุลามาอฺ สายอัคลากได้อธิบายว่า มนุษย์ที่เห็นแก่ตัวนั้น ไม่ว่าจะนมาซ จะถือศิลอด หรือปฏิบัติศาสนกิจประเภทใดก็ตาม เขาก็ยังเป็นสัตว์ตัวนั้นอยู่ในทัศนะของอัลลอฮฺ เพราะเขายังคงพฤติกรรมเป็นสัตว์
ประเภทของมนุษย์ที่อุลามาอฺเปรียบเทียบกับสรรพสัตว์
ตัวอย่าง คนที่ตระหนี่ถี่เหนียว อุลามาอฺได้เปรียบเหมือน งู ซึ่งมีลักษณะพฤติกรรม หวงของตัวเองอย่างมาก แต่ในที่นี้ หากเป็นเพียงงูที่เป็นสัตว์ปกติทั่วไป จะไม่ถูกเรียกว่า ปีศาจงู คำว่า ปีศาจ นั้นจะถูกนำมาใช้เมื่อมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เท่านั้น หมายถึง มนุษย์ ที่มีพฤติกรรมเช่น สัตว์ชนิดหรือประเภทนั้นๆ
ดังนั้น เมื่อมนุษย์ที่เป็นเช่นนี้ เมื่อเขา นมาซ เขาจึงเป็นงูในรูปมนุษย์ เราจึงเรียกว่า “ปีศาจงู” เป็นปีศาจตนหนึ่งที่กำลังกำลังนมาซ หรือการปฏิบัติศาสนกิจใด รูปการณ์ก็จะเป็นเพียง ปีศาจกำลังถือศีลอด ดุอาอฺ ตอวาฟ เดินสะแอ ซึ่งบันทึกกรรม ณ.อัลลอฮ(ซบ) ก็จะนำไว้ในบัญชีเฉพาะของกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น หากมีผู้หญิงคนหนึ่งชอบโอ้อวดความสวย ความงาม หรือพฤติกรรมทำนองนี้ ก็จะเป็น เสมือน “ปีศาจนกยูง” เพราะนกยูงเป็นสัตว์ที่ถูกสาป มาจากบรรดาสตรีที่หลงใหลตัวเอง
ดังนั้น หากนางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ก็คือ ปีศาจนกยูงเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ หรือ บางคนที่ดำรง นมาซแต่ชอบนินทาผู้อื่นเป็นนิจสิน หากเขาไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอัคลากของตนเอง เขาก็คือ สุนัขตัวหนึ่งที่กำลังนมาซ หากเข้าร่วมพิธีฮัจย์ ก็เป็น สุนัขตัวหนึ่งที่กำลังเดินตอวาฟ
หรือบางคนที่มีพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก เขาก็คือ ลิงตัวหนึ่ง หากมีกำลังทรัพย์ ก็สามารถเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ ได้เช่นกัน แต่ก็คือ การเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ของปีศาจลิง แน่นอนว่าถึงแม้เบื้องต้น มนุษย์ต้องนมาซ ถือศีลอด หรือปฏิบัติศาสนกิจใดๆก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อการปรับปรุงตัวเอง เมื่อปฏิบัติศาสนกิจเพิ่มพูนขึ้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองก็ควรต้องปรับปรุงเพิ่มขึ้นเช่นกัน
หากจะสรุปสั้นๆว่า “ศาสนา คือ การเปลี่ยนแปลงตัวเอง” ย่อมไม่ผิดความหมาย และการปฏิบัติศาสนกิจหรืออามั้ลอิบาดัต ต้องควบคู่กับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ดังนั้น พึงตระหนักไว้ว่า ศาสนาคือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนิสัย พฤติกรรม อุดมการณ์ในทุกๆมิติ และการปฏิเสธพฤติกรรมของสิงสาราสัตว์ต่างๆ ก็คือการปฏิเสธพฤติกรรมที่ไม่ดีงามที่อยู่ในตัวเรา ซึ่งศาสนาก็ได้อธิบายให้เห็นอย่างละเอียดแล้ว
จะขอกล่าวถึงอีกอิบาดัตที่สูงส่งอีกอิบาดัตหนึ่ง คือ การเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ เป็นอิบาดัตแห่งการพลีและการเสียสละ หากมนุษย์ไม่ทิ้งความเป็นสัตว์ต่างๆในตัวตนของพวกเขา ศาสนกิจหรืออามั้ลอิบาดัตต่างๆของเขาจะไปไม่ถึงอัลลอฮฺ(ซบ) เพราะเขายังมีพฤติกรรมของสัตว์นั่นเอง
คำถาม : ทำไมอัลลอฮ(ซบ) ทรงบังคับมวลมุสลิมทั้งโลก ให้ไปรวมตัวกันที่มหานครกะบะฮฺ
ซุเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 97
۞ جَعَلَ اللَّهُ الْكَعْبَةَ الْبَيْتَ الْحَرَامَ قِيَامًا لِّلنَّاسِ
“ญะอัลลัลลอ ฮุลกะบะตัล บัยตัล ฮะรอ มะกิยา มัล ลินนาส”
ความว่า” อัลลอฮ์ได้ทรงให้อัล-กะอ์บะฮ์ อันเป็นบ้านที่ต้องห้ามนั้นเพื่อการกิยาม(ลุกขึ้นสู้)สำหรับมนุษยชาติ
ถามว่า อัลลอฮฺสร้างกะบะฮฺขึ้นมาทำไม ?
คำตอบ ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ได้กิยามขึ้นมา หมายความว่า ฮัจญ์และกะบะฮฺคือ “จุดเริ่มต้นของการกิยามของมวลมุสลิมทั้งโลก”
คำว่า “กิยาม” แปลว่า การยืน ในที่นี้หมายถึงการลุกยืนเพื่อการปฏิวัติ เพื่อการต่อสู้
เราไปทำฮัจญ์เพื่ออะไร
เราไปทำฮัจญ์เพื่อกิยามมุลนาส ให้ประชาชาติอิสลามได้กิยามทั่วทั้งโลก
การลุกขึ้นของประชาชาติอิสลามเพียงประเทศหนึ่งประเทศใดนั้นยังไม่เพียงพอ ถ้าเราถามว่าทำไมประชาชาติอิสลามต้องกิยามทั่วทั้งโลกโดยมีฮัจญ์เป็นจุดเริ่มต้น และมีกะบะฮฺเป็นศูนย์กลาง เพราะปัญหามุสลิม เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น อะไรกำลังเกิดขึ้นกับพี่น้องของเราในเยเมน ?
สิ่งที่เห็น คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พี่น้องมุสลิมในเยเมน ด้วยกับอาวุธชนิดต่างๆ แม้แต่ชนิดที่กฎบัตรสหประชาชาติได้ห้ามไว้ แต่กลับถูกนำมาใช้ในเยเมน โดยทุกคนปิดปากเงียบไม่พูดถึงมัน
เหตุการณ์ในเยเมน เป็นตัวชี้วัดว่า ถ้ามุสลิมไม่กิยามขึ้นมาทั้งโลก ปัญหานี้จะไม่มีวันแก้ไขได้ เพราะทั้งสหประชาชาติ ยุโรป อเมริกา พวกเขาทำทีมองไม่เห็น นั้นเป็นเพราะพวกเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนั้นเอง
- ปัญหาโลกมุสลิม
คำถาม ปัญหาดังกล่าวมันเกิดขึ้นในเยเมนที่เดียวหรือไม่?
คำตอบ มันเกิดขึ้นทั่วโลก มีทั้งปัญหาในอิรัค ปาเลสไตน์ วันนี้ใกล้บ้านเรา คือ ปัญหาของพี่น้องโรฮิงยาที่เกิดขึ้นในพม่า
คำถาม ฮัจญ์ได้ถูกใช้ไปตามเจตนารมณ์ตามเป้าหมายของอัลลอฮฺ(ซบ) หรือไม่?
คำตอบ ไม่!! เพราะมีคนที่เข้าใจในปรัชญาของฮัจญ์ ยังน้อยอยู่ เราคิดแต่เพียงว่า มีโอกาสได้จุมพิตกะบะฮฺ หินดำ หรือได้ไปนมาซที่กุโบรนบี 40 วัน จะได้ขึ้นสวรรค์ เราคิดเพียงเท่านั้น
ทั้งๆที่อัลกุรอานยืนยันว่า ถึงแม้จะอ่านอัลกุรอาน ณ.กุโบรนบีหรือนมาซในกะบะฮฺก็ตาม แต่หากไม่มีเป้าหมายก็ถือว่าเป็นการอ่านอัลกุรอานหรือนมาซที่ถูกสาปแช่งได้เช่นกัน
ดังนั้น แม้จะอยู่ร่วมในฮัจญ์ได้ตอวาฟและได้นมาซในอัลกะบะฮฺแล้วก็ตาม หากเรายังปฏิบัติโดยไม่เข้าใจเป้าหมายของศาสนา ก็เสมือนเรายังคงเอาความเป็นสัตว์ไปร่วมพิธีฮัจญ์ และสุดท้ายก็นำความเป็นสัตว์กลับมา แน่นอนว่า รูปการณ์ก็ยังคงเป็นสัตว์ในทัศนะของอัลลอฮฺ(ซบ)นั่นเอง
- พิธีฮัจย์จากการแสดงของบรรดาอะอิมมะฮฺ(อ)
วันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ เป็นวันอะรอฟะฮฺ มีอามั้ลอิบาดัต หลายอย่างในวันนี้ แต่จะขอนำเสนอให้สอดคล้องกับประเด็นข้างต้น
ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ อิมามฮูเซน(อ)ตัดสินใจ หันหลังให้กับการทำฮัจญ์ ในวันอะรอฟะฮฺ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจให้ดี ข้อเท็จจริงนั้น อิมามฮูเซน(อ) เคยเข้าร่วมพิธีฮัจญ์วาญิบมาแล้ว ซึ่งถือว่าภายหลังจากนั้นการร่วมพิธีฮัจญ์ไม่เป็นวาญิบสำหรับท่านอีกต่อไป
ในเมื่อไม่วาญิบสำหรับท่าน การหันหลังให้กับการทำฮัจญ์ในวันอะรอฟะฮฺ และเดินทางมุ่งสู่กัรบาลาอฺ ในครั้งนั้นของท่าน จึงมีนัยยะสำคัญ หากพิเคราะห์ เราจะเห็นรูปธรรมความแตกต่างของการเข้าร่วมพิธีฮัจย์
ตามที่ได้อธิบายข้างต้น ฮัจญ์ที่ไม่เข้าใจเป้าหมายและอุดมการณ์ ถือเป็น ฮัจญ์ของสรรพสัตว์ในรูปกายมนุษย์ ที่เป็นปีศาจ แต่อิมามฮูเซน(อ) กำลังสำแดงมุ่งเข้าไปสู่ฮัจญ์ที่แท้จริงทางด้านอุดมการณ์ คือ การพลีเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺ เป็นการกระทำเช่นเดียวกับ อิสมาอีล(อ)และอิบรอฮีม(อ)ได้กระทำ รวมถึงท่านหญิงซัยหนับและบรรดาสตรีแห่งกัรบาลา ได้กระทำเช่นเดียวกับที่ท่านหญิงฮาญัร
นี่คือ เป้าหมายของศาสนา
เมื่อพิธีกรรมหนึ่ง ไม่เหลือไว้ซึ่งอุดมการณ์ใดๆแล้ว ท่านอิมามฮูเซน(อ)จึงหันหลังให้พิธีกรรมนั้นและจากไป เพื่อเข้าสู่พิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การพลี เพื่อปกป้องรักษาอุดมการณ์และศาสนา
การปลูกฝังจิตวิญญาณของอุดมการณ์ต่างๆนั้น (ในพิธีฮัจญ์) ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองเพื่อไปร่วมที่มักกะฮฺ แต่ทุกคนสามารถเป็นฮัจยีได้เช่นกัน หากดำรงตนอยู่กับการเสียสละ พร้อมที่จะใช้จ่ายในหนทางของศาสนา แม้นแต่การพลีชีวิตของตัวเองในหนทางของศาสนา เราก็จะอยู่ในสถานะของการเป็นฮัจยีที่แท้จริงได้ คือ สถานะฮัจยีในภาคปฏิบัติ
คำถาม ฮัจญ์ที่ไม่มีเป้าหมายตามอุดมการณ์ของศาสนา มีประโยชน์กับพี่น้องเยเมน พี่น้องโรฮิงยา พี่น้องปาเลสไตน์หรือมวลมุสลิมไหม ?
คำตอบ ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะพวกเขาไปร่วมพิธีด้วยความเลินเล่อ ด้วยมันสมองของบรรดาสรรพสัตว์ เพราะการร่วมพิธีฮัจญ์ของเขานั้น เขาไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคำสั่งของอัลลอฮฺ(ซบ) ประกอบกับคำสั่งสอนต่างๆในหนทางของศาสนา ที่ได้กล่าวถึง เป้าหมายและอุดมการณ์ของ “ฮัจญ์”
อินชาอัลลอฮฺ ฮัจญ์ในปีนี้
ยาอัลลอฮ ขอให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นกับมวลพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย
ยาอัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงประทานเตาฟีกในการทำอามั้ลอิบาดัตให้กับพวกเราทุกๆคน เพื่อที่ทุกๆอามั้ลที่เราปฏิบัติ ทุกความดีและอิบาดัตที่เรากระทำ ขอให้เราได้เข้าใจความหมายและเป้าหมายของอิบาดัตนั้น และขอพระองค์ทรงนำเราเข้าสู่ความสำเร็จในการมุ่งสู่เป้าหมายนั้นด้วยเถิด
ยาอัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมทั่วทั้งโลก ที่กำลังถูกกดขี่จากบรรดาศัตรูทุกประเภท ทั้งศัตรูภายนอกและศัตรูภายใน และขอจงปัดเป่าขจัดความทุกข์ยากของพวกเขาด้วยเถิด ยาอัลลอฮฺ
ถอดคำบรรยายโดย ซัยหนับ บินตี นาบาวี 1-9-2560
อ้างอิง : บิฮารุนอันวาร 48/261
قال أبوبصير للباقر عليه السلام : ما أكثر الحجيج وأعظم الضجيج !
อบูบะซีร กล่าวกับอิมามบาเก็ร(อ) ว่า “โอ้ ผู้แสวงบุญ ช่างมีจำนวนมากเสียนี่กระไร และเสียงตะโกนช่างยิ่งใหญ่เหลือเกิน
فقال : بل ما أكثر الضجيج وأقل الحجيج ، أتحب أن تعلم صدق ما أقوله ، وتراه عيانا ؟ فمسح يده على عينيه ودعا بدعوات فعاد بصيرا
อิมามบาเก็ร : มิใช่เช่นนั้น ทว่า เสียงตะโกนช่างมากมาย แต่ฮุจญาจ กลับมีจำนวนน้อยเสียเหลือเกิน เจ้าอยากจะเห็นความจริงในสิ่งที่ข้าพูด และดูมันด้วยตาของตัวเองหรือไม่ ?
จากนั้นท่านก็ได้นำมือของตนเอง ลูบดวงตาของอบูบะซีร และกล่าวดุอาอฺบทต่างๆ จากนั้นเขาจึงกลับมามองเห็นอีก
فقال : انظر يا أبا بصير إلى الحجيج قال : فنظرت فإذا أكثر الناس قردة وخنازير ، والمؤمن بينهم مثل الكوكب اللامع في الظلماء فقال أبوبصير : صدقت يا مولاي ما أقل الحجيج وأكثر الضجيج
อิมามกล่าวว่า “จงดูเหล่าฮุจญาตเถิด
อบูบาซีร (เมื่อเขาเห็นบรรดาฮุจญาต)เขาก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าเห็น มนุษย์มากมาย กลายเป็น ลิง และ สุกร และผู้ศรัทธา ในหมู่เขาเหล่านั้น เปรียบดัง ดวงดาวที่ส่องแสงในความมืดมิด ท่านกล่าวความจริงแล้ว โอ้ นายของฉัน คนตะโกนช่างมีมาก คนแสวงบุญ ช่างมีน้อย จริงๆ”