โอวาทวันนี้ 08/03/2560

354

อัดลฺอิลาฮี (ตอนจบ)

♡ ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ♡

● การชาฟาอัตในวันกิยามัต ●

ประเด็นนี้แม้อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก แต่ก็ถูกนำมาวิพากษ์เพื่อปฏิเสธความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าหรือความเชื่อเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระองค์ อยู่เสมอ

เรื่องของชาฟาอัตในวันกิยามัตนั้น จะถือว่าขัดกันกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?

ชาฟาอัต คือ การช่วยเหลือ การอนุเคราะห์ให้พ้นจากการลงโทษในวันกิยามัต เป็นการช่วยเหลือของคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง

คำถาม : ประเด็นนี้ได้มีข้อโต้แย้ง ที่แสดงถึงความไม่ยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไรบ้าง?

คำตอบ : ประเด็นที่มีการมีวิพากษ์ว่า การยอมรับหรือการให้สิทธิ ในชาฟาอัต ก็คือ ให้สิทธิ คนกลุ่มหนึ่งอยู่เหนือกฎหมาย กระทำผิดแล้วกลับได้รับการละเว้นโทษ เพราะได้รับสิทธิบางอย่างจากการ รู้จักหรือเป็นที่รัก ของอภิสิทธิชน ซึ่งดูว่ามันขัดกับความยุติธรรม แต่ทว่าแนวทางชีอะฮ์นั้นมีความเชื่อเช่นนี้ กล่าวคือ บรรดาอะฮ์ลุลเบต(อ) ถือเป็นอภิสิทธิชน สามารถให้การช่วยเหลือผู้อื่นได้

กรณีนี้ เพื่อไม่ให้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า จะอธิบายได้อย่างไร ?

คำตอบ คือ ชาฟาอัตหรือการอนุเคราะห์เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการอภัยบาป เป็นประตูอภัยความผิดพลาดให้กับมนุษย์รอดพ้นอีกหนทางหนึ่ง

คำถาม : มีมนุษย์คนใดบ้างที่บอกว่าการอภัยบาป การยกโทษ เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

คำตอบ : แน่นอนว่าไม่มี เพราะการอภัยบาปเป็นทางรอดพ้นหนึ่งของผู้ที่กระทำผิด

เบื้องต้น เรามาพิจารณากันว่าในโลกนี้ บุคคลประเภทใดที่กล่าวว่าการอภัยบาปเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม เราจะพบว่า บุคคลเหล่านี้ก็คือผู้ที่ไม่ได้รับหรือไม่มีสิทธิรับการอภัย

พวกเขาไม่ได้อ้างว่าการอภัยบาปไม่ยุติธรรม แต่เป็นเพราะเขาไม่ได้รับ จึงเห็นว่ามันไม่ยุติธรรม ดังนั้น เบื้องต้นมนุษย์ทุกคนยอมรับการให้อภัย และหลักการ ชาฟาอัต(อนุเคราะห์)ในวันกิยามัตก็อยู่ในลักษณะการตอบสนองช่องทางนี้ กล่าวคือ อยู่ในลักษณะเดียวกับการอภัยบาป นั่นเอง

โดยหลักการแล้ว การให้อภัยของพระองค์ที่จะทำให้มนุษย์สามารถรอดพ้นจากความผิดได้ โดยไม่ต้องพึ่งการชาฟาอัตมีมากมายหลายรูปแบบ เช่น การขออภัยโทษ การเตาบัตกลับตัวกับใจ การชดใช้การชดเชยอามั้ลต่างๆที่ขาดไป เช่นเดียวกันการให้อภัยบาปของพระองค์ในวันกิยามัตก็มีหลายรูปแบบ และการชาฟาอัตเป็นการอภัยอีกรูปแบบหนึ่ง ในรูปแบบของความเมตตา

ซึ่งเหตุผลของความเมตตานั้น มาจากความรักที่มีต่อมนุษย์โดยตรงไม่ใช่มาจากเหตุผลอื่นใด ทว่านัยยะแห่งความรักความเมตตานั้นมีความแตกต่างกับการละเว้นกฎหมายในโลกนี้

● ข้อแตกต่างระหว่างการชาฟาอัตกับการละเว้นกฏหมายในโลก●

ทำไม การชาฟาอัตในรูปแบบของความเมตตา จึงมีข้อแตกต่างกับการละเว้นกฎหมายในโลกนี้

ข้อสังเกต กฎหมายในโลกนี้เมื่อได้รับการละเว้น มันจะถูกตั้งข้อสงสัยในความยุติธรรมของมัน สิ่งที่ทำให้กฎหมายในโลกนี้อ่อนแอและการไม่บังคับใช้กฎหมายทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมนั้น มาจากสาเหตุสามประการด้วยกัน คือ

1.ทรัพย์สิน
2.พวกพ้อง
3.อำนาจ

◇ สาเหตุประการที่หนึ่ง เราจะพบว่า ‘ทรัพย์สิน’ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มนุษย์พ้นความผิดได้ ซึ่งรูปแบบการทำให้พ้นผิด คือ การวิ่งเต้นด้วยการ ติดสินบน เพื่อล้มคดี

◇ สาเหตุประการที่สอง ‘พวกพ้อง’ สามารถช่วยเหลือให้พ้นผิดได้

☆ ตัวอย่าง : กรณี มีญาติพี่น้องเป็นบุคลากรที่ขับเคลื่อนทางด้านกฎหมาย

สมมุติ มีญาติเป็นอัยการ อาจเป็นโอกาสที่ทำให้มนุษย์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการข้ามพ้นความผิดได้ จะเห็นได้ว่า การทำงานของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมของมนุษย์นั้น นอกจากต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะแล้ว ยังต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในหน้าที่ และการใช้อำนาจอย่างสูงอีกด้วย เพราะหากขาดสิ่งเหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

เท่าที่ผ่านมา เราจะพบว่า ปัญหาที่มนุษย์เดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ล้วนมาจากมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นเหตุเกิดจากความไม่รอบคอบในการปฏิบัติและการใช้ดุลยพินิจ บางกรณีอาจเกิดจากการขาดความชำนาญ หรือความไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ซึ่งข้อบกพร่องเหล่านี้แตกต่างจากการชาฟาอัตในรูปแบบของความเมตตา ซึ่งเป็นความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกรายละเอียด

◇ สาเหตุประการที่สามคือ อำนาจ

จะเห็นว่าอำนาจเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพที่แตกต่างกันของมนุษย์ ดังนั้นการใช้อำนาจที่ผิดๆจึงขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ทว่าเรื่องของอำนาจนี้ไม่เพียงทำให้มนุษย์ที่ครองอำนาจมีความพอใจและแสดงออกมาเพียงเท่านั้นแต่ผู้ไม่มีอำนาจทั้งหลายก็ยังยกย่องและเคารพบุคคลตามอำนาจที่บุคคลนั้นมีอยู่อีกด้วย ผู้ใดไม่มีอำนาจ อาจถูกเบ่งทับได้ง่าย ด้วยเหตุที่อำนาจมีความสำคัญ ในสังคมมนุษย์อำนาจจึงเป็นตัวกำหนดทำให้คนมีสถานภาพสูงต่ำ เป็นที่สรรเสริญหรือเหยียดหยาม มีความสุขความทุกข์นี้เอง อำนาจจึงเป็นสิ่งพึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์แทบทุกคน

เมื่อมนุษย์บางคนทำตัวลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ รังแกใครได้ตามใจชอบ สมมุติ เป็นทหาร ตำรวจ ยศสูงๆ อาจจะระดับนายพล นายพัน หรือมีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเมื่อพวกเขากระทำความผิด ไม่มีใครกล้าจับ ไม่มีใครกล้าเอาเรื่อง ด้วยเหตุผลเพราะเขามีอำนาจนั่นเอง

● ข้อแตกต่างที่เป็นข้อสังเกต ●

มนุษย์ใช้อำนาจ อ้างว่ายุติธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ทว่าพระผู้เป็นเจ้านั้น สร้างความยุติธรรมเพื่อมนุษย์ทั้งมวล

หลังจากเราได้ทำความเข้าใจในสาระศึกษาและข้อสังเกตแล้ว จะพบว่า การชาฟาอัตในวันกิยามัต ที่บอกว่า อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนักแต่มันสามารถนำมาปฏิเสธความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้ บางครั้งเอาประเด็นนี้มาปฏิเสธความยุติธรรมของพระองค์ บางครั้งเอาความเชื่อเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้ามาปฏิเสธประเด็นนี้ เป้าหมายเพื่อจะบอกว่ามันขัดกับความยุติธรรมของพระองค์นั้น จึงถือเป็นประเด็นอีกประการหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาซึ่งละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก

ฉะนั้น มนุษย์พึงตระหนักไว้เถิด สิ่งสามประการดังกล่าวนั้น นอกจากจะทำให้กฎหมายในโลกนี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว และเช่นเดียวกันในวันกิยามัตยังถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย ดังนั้นแล้ว จงพิจารณาข้อคิดและบทเรียนอันล้ำค่าดูเถิด โดยเฉพาะเรื่องของชาฟาอัต เพราะในวันกิยามัตไม่มีใครเอาสามสิ่งนี้พาไปได้ ไม่มีใครสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้กับอัลลอฮ(ซบ)หรือมาลาอิกะฮ์ได้ ไม่มีใครเอาเงินไปติดสินบนให้มาลาอิกะฮ์ได้ ไม่มีใครเอาพวกพ้องไปข่มเหงได้ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่มีบทบาทต่อเรื่องชาฟาอัตเลย ซึ่งอัลกุรอานยืนยันไว้ในซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 48

وَاتَّقُوا يَوْمًا لَّا تَجْزِي نَفْسٌ عَن نَّفْسٍ شَيْئًا وَلَا يُقْبَلُ مِنْهَا شَفَاعَةٌ وَلَا يُؤْخَذُ مِنْهَا عَدْلٌ وَلَا هُمْ يُنصَرُونَ

“จงเกรงกลัววันหนึ่ง วันที่ไม่มีชีวิตใดที่สามารถปกป้องอีกชีวิตหนึ่งได้ ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือใครได้ และวันนั้นการชาฟาอัตการช่วยเหลือจะไม่ถูกยอมรับ และพระองค์ไม่รับการไถ่ถอน ทดแทนและจะไม่มีใครได้รับการช่วยเหลือ”

คำอธิบาย : โองการนี้ เบื้องต้นปฏิเสธชาฟาอัต(อนุเคราะห์)เช่นกัน แต่เป็นการปฏิเสธชาฟาอัตที่ขัดกับความยุติธรรม ชาฟาอัตที่ทำให้กฎหมายอ่อนแอ สิ่งที่ทำให้กฎหมายอ่อนแอนั้นมีอยู่สามประการที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้ในวันกิยามัต เมื่อใช้ไม่ได้แสดงว่าในวันกิยามัตไม่มีอะไรทำให้กฎหมายหมดความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีสิ่งใดทำให้กฎหมายไม่ยุติธรรม และโองการอีกจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธอิทธิพลของสิ่งเหล่านี้

ซูเราะฮ์ อัชชุอรออ์โองการที่ 88

يَوْمَ لَا يَنْفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُون

“ในวันกิยามัตนั้นทรัพย์สินเงินทอง ลูกๆไม่สามารถอำนวยประโยชน์ใดๆได้”

คำอธิบาย : ชาฟาอัตในโลกหน้าไม่ใช่แบบที่มนุษย์เข้าใจในโลกนี้ ชาฟาอัตในวันกิยามัตนั้นเป็นชาฟาอัตที่เป็นบวก และเป็นเรื่องที่ไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เป็นการอภัยโทษอย่างหนึ่งที่มาจากความเมตตา เป็นความเมตตาที่สูงส่งกว่าความยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่า พระผู้เป็นเจ้าหาทางที่จะอภัยให้กับมนุษย์ในทุกรูปแบบด้วยซ้ำไป

● ความแตกต่างระหว่างมีชาฟาอัตกับไม่มีชาฟาอัต ●

ถ้าเราจะดูจากกฎหมายในโลกนี้ การอภัยโทษกับคนที่กระทำความผิด สมมุติ คนทำผิดห้าคน คนหนึ่งให้การดีให้ความร่วมมือทั้งๆที่ทำผิด ก็จะถูกศาลนำมากันเป็นพยานเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี อาจจะได้รับการลดโทษด้วย ส่วนคนอื่นที่ถูกกักขังไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่ามันไม่ยุติธรรม เพราะกรณีนี้คนที่ให้การดีเขาไม่ได้ใช้ พรรคพวก เงิน หรืออำนาจเลย แต่เขาได้รับการลดโทษด้วยกับการสำนึกผิดของเขาและพร้อมที่จะให้การให้ความร่วมมือ

ในวันกิยามัตก็เช่นกัน เมื่อพระองค์ทรงเปิดช่องทางของการอภัยโทษ แน่นอนการจะได้รับการอภัยโทษนั้นมีขั้นตอนมีเงื่อนไข มีกฎเกณฑ์ เพราะถ้าไม่มีเงื่อนไขไม่มีกฎเกณฑ์ทุกคนก็จะได้รับหมด ถ้าได้รับทุกคนก็ไม่จำเป็นต้องมีชาฟาอัต เพราะไม่มีความแตกต่างระหว่างมีชาฟาอัตกับไม่มีชาฟาอัต ซึ่งเงื่อนไขของมันก็คือ ความดี

กรณี มนุษย์ที่ทำผิดที่ไม่มั่นใจว่าได้ชดใช้ไปหมดแล้ว เช่น คนบางคนขาดนมาซมา 20 ปีเตาบัตชดใช้ได้ 18 ปีแต่ตายก่อนเหลืออีกสองปี แน่นอนว่า มีสิทธิ์ที่จะโดนลงโทษ กรณีเช่นนี้เวลาที่จะชดเชยความผิดพลาดก็ไม่มีอีกแล้ว

สมมุติต่อไปอีก ประตูอภัยบาป มีประตูเดียว คนที่เตาบัตกลับตัวกลับใจแล้วแต่ชดใช้ยังไม่ครบ สิ่งที่ยังไม่ชดใช้จึงมีสิทธิ์ที่จะต้องโดนลงโทษ ฉะนั้น หากประตูอภัยโทษมีประตูเดียว มนุษย์จะประสพความยุ่งยากลำบากเป็นอย่างมาก ทว่าด้วยกับความเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงเปิดประตูแห่งการชาฟาอัตขึ้นมาอีก เปิดโอกาสต้อนรับทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้เข้าประตูนี้ แต่ทั้งนี้ต้องมีคุณสมบัติที่ดี กล่าวคือ ต้องมีความรัก มีความผูกพันกับบรรดาบุคคลที่อัลลอฮ(ซบ)มอบสิทธิแห่งการชาฟาอัตให้กับพวกเขาเช่นนบีหรืออะฮฺลุลเบต(อ)

ดังนั้นแล้ว เมื่อใดที่มนุษย์ มีความรัก มีความผูกพันกับบรรดาอะฮฺลุลเบต(อ) แล้ว ประตูนี้จะเปิดต้อนรับ ประตูนี้พร้อมให้ทุกคนที่ทำความรู้จักกับบรรดาอะฮ์ลุลเบต(อ) จะไม่มีใครถูกตัดสิทธิ์นี้เพราะเขาจน จะไม่มีใครถูกตัดสิทธิ์นี้เพราะเขาไม่มีอำนาจ หรือไม่มีพรรคพวก ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับชาฟาอัตจากอะฮ์ลุลเบต(อ)

จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขเบื้องต้น ต้องทำความรู้จักและมีความรักต่ออะฮ์ลุลเบต(อ)อย่างแท้จริง ซึ่งมีรากฐานมาจากอัลกุรอานจากความประสงค์ของท่านศาสดามูฮัมมัด(ศ) ในซูเราะฮ์ อัชชูรอ โองการที่ 23

قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ

“จงกล่าวเถิดมูฮัมมัดฉันไม่ขอสิ่งใดในการเผยแพร่ศาสนา นอกจากให้มีความรักต่อบรรดาเครือญาติสนิท(อะฮ์ลุลเบต)ของฉัน”

คำอธิบาย : ถ้าหากมนุษย์ไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะโวยวายหรือตัดพ้อว่า มันไม่ยุติธรรม เพราะอัลกุรอานได้เสนอแนวทางในการรอดพ้น เสนอหนทางไห้มนุษย์ได้รับการชาฟาอัต(อนุเคราะห์)ไว้แล้ว

คำถามที่เป็นข้อสงสัยเล็กๆอีกประการหนึ่ง คือ ถ้าพระผู้เป็นเจ้ายุติธรรม ทำไมมนุษย์จำนวนหนึ่งได้เกิดมาเป็นมุสลิม และอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้เกิดมาเป็นมุสลิม

ประเด็นนี้ มีคำตอบสั้นๆดังนี้

1. ไม่มีมนุษย์คนใดได้ขึ้นสวรรค์เพราะเป็นมุสลิมตั้งแต่กำเนิด

2.มนุษย์จะได้ขึ้นสวรรค์ก็ต่อเมื่อวิถีชีวิตของเขาดำเนินอยู่ในหลักการอิสลามอย่างแท้จริง

3.ไม่มีใครตกนรกเพราะเขาไม่ได้เป็นมุสลิมมาตั้งแต่กำเนิด

ดังนั้น หากพิจารณาความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้านั้น แท้จริงแล้วพระองค์จะทรงชี้นำมวลมนุษย์เหมือนกันหมด ด้วยการใส่ฟิตรัตติดตัวมาด้วย เห็นได้ว่า พระองค์มอบสามัญสำนึก หรือสัญชาติญาณด้านในเพื่อให้มนุษย์แสวงหาสัจธรรม แสวงหาพระองค์และธรรมชาติดั้งเดิมในการเคารพภักดีพระองค์ไว้ในตัวของมนุษย์อย่างสมบูรณ์แล้ว


66