📝บางส่วนจากการบรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามฯ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี เนื่องในวันอีดุลมับอัษ 27 รอญับ ฮ.ศ. 1443 [28 ก.พ. 2565] ขอแสดงความยินดียังท่านอิมามประจำยุคสมัย อิมามมะฮ์ดี (อ) และผู้ศรัทธาทุกท่าน
___________________
••• อัลฮัมดูลิลลาฮฺ ก่อนอื่น ขอชูโกรในเนียตมัต และเตาฟิกอันยิ่งใหญ่ของค่ำคืนนี้ ซึ่งเป็นอีกค่ำคืนหนึ่ง ที่ได้มีคำสั่ง ให้ถือว่า เป็นค่ำคืนแห่งวันอีด
อีดในสายรายงานของเรานั้น มีอยู่ 4 วันด้วยกัน
1. อีดุลฟิตรฺ
2. อีดุลอัฎฮา
3. อีดุลฆอดีร
4. อีดุลมับอัษ *นั่นคือ ในค่ำคืนนี้
ทำไมวันที่ 27 ของเดือนรอญับ จึงเป็นวันอีดุลมับอัษ
อีดุลมับอัษ ยิ่งใหญ่แค่ไหน เพียงใด? จึงได้ถูกถือให้พวกเราใช้ชีวิตในวันดังกล่าว เฉกเช่นวันอีด?
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจคำว่า มับอัษก่อน
คำว่า มับอัษ (مبعث)โดยตรง ตามพจนานุกรม ที่ اصطلاح หรือที่ นักวิชาการอิสลามให้ความหมาย ก็คือ วันแห่งการแต่งตั้งศาสดา
มับอัษ คือ การแต่งตั้งศาสดา รากศัพท์มาจากคำว่า بعث (บะอะษะ) ซึ่งในอัลกุรอานจะมีคำนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยมี 3-4 ความหมาย ที่เป็นความหมายหลักๆ ด้วยกัน
ความหมายตามหลักภาษา แปลว่า ส่ง เทิด หรือ ยกให้สูงขึ้น ลุกขึ้น ก็ใช้คำว่า บะอะษะ — ฟื้นคืนชีพ ก็ใช้คำๆนี้เช่นเดียวกัน ผันไปตามรูป เช่น يَوْمِ يُبْعَثُونَ หรือ
يَوْمَ الْقِيَامَةِ تُبْعَثُونَ
ในอัลกุรอาน มีตรัสบ่อยครั้งเป็นอย่างมาก ความว่า: “วันที่พวกเจ้าทั้งหมด จะฟื้นคืนชีพ” ซึ่งก็ใช้คำ [จากรากศัพท์] بعث (บะอะษะ) เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ที่เราจะใช้ในค่ำคืนนี้ ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับมับอัษ ซึ่ง มับอัษหมายถึง การแต่งตั้งศาสดา — บะอะษะ ที่จะใช้กับเรื่องของมับอัษ ณ ที่นี่นั้น จึงแปลว่า เทิดขึ้นมา ยกขึ้นมา หรือว่า ส่ง ก็ได้ โดยหากแปลว่า ส่ง ก็จะเหมือนคำว่า ارسل หรือ أرسانا (อัรซันนา) — ‘เราได้ “ส่ง” นบีไป…’
แต่หากใช้ “เทิด” ก็จะมีความหมายที่ดีกว่า สูงกว่า กล่าวคือ ‘การเทิดมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมาให้เป็นรอซูลฯยกขึ้นมา [เป็นรอซูลฯ] ‘ในหมู่พวกเขา’
ในความหมายใดก็ตาม ซึ่งเมื่อเป็นกริยาจะใช้คำว่า بِعثَة เบียะษะฮฺ — หากพูดในสำเนียงของภาษาฟาร์ซี จะใช้คำว่า بعثت เบียะษัต แต่ถ้าเป็นสำเนียงอาหรับ จะเป็น بعثه เบียะษะฮฺ — เบียะษะฮฺ คือ วันที่ทำให้เกิด มับอัษ
กล่าวคือ ให้ทำความเข้าใจความหมายของ ‘มับอัษ’ และ ‘บะอะษะ’ เพราะในอัลกุรอาน คำว่า มับอัษโดยตรงไม่มี หากใครพอมีความรู้ภาษาอาหรับอยุ่บ้าง จะทราบว่า ไม่มีคำว่ามับอัษ — คำว่า มับอัษ จะมีอยู่ในฮาดิษ แต่ในกุรอานจะมีคำว่า บะอะษะ
นี่คือ ความหมายของคำว่า มับอัษ คือ วันที่แต่งตั้งท่านนบี(ศ็อลฯ) วันที่มนุษย์คนหนึ่งที่อัลลอฮ (ซ.บ) ทรงเลือกแล้ว มอบให้เขาประกาศตัวตนว่า เขาคือ ศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ศาสดาแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)
ซึ่งมีนบี(อ.) จำนวนมาก ที่ได้ถูกมับอัษขึ้นมาให้เป็นนบี ตามที่พวกเราทุกคนทราบดี ในบรรดานบีทั้งหมด —พูดในภาพรวม เพราะจริงๆแล้ว มีรายละเอียดอยู่มาก — ทว่าให้รู้ไว้ [ในเบื้องต้น]ว่า เป้าหมายหลักของพวกท่านโดยทั่วไป กล่าวคือ ทุกๆ ศาสดา ที่ถูกมับอัษขึ้นมาให้เป็นนบีนั้น มิใช่เป็นเพียงการเลือกขึ้นมาในหมู่พวกเรา มาพิจารณาดูว่า ณ ที่ตรงนี้ ใครเป็นคนดีที่สุด แล้วเลือกมาสักคน ไม่ใช่แบบนี้
ทว่าบรรดานบีนั้น ถูกเลือกตั้งแต่ก่อนที่จะมาสู่ในโลกนี้ กล่าวอย่างง่าย อัลลอฮฺ(ซ.บ) ทรงรู้แล้วว่า ใครคือนบีของพระองค์ และได้ส่งลงมารอคำสั่ง เพื่อให้เริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ
เมื่อใดก็ตาม ที่คำสั่งให้ทำงานอย่างเป็นทางการมาถึง วันนั้น คือ วันมับอัษ ไม่ใช่เพิ่งมาเลือกในวันนั้น ทว่าเป็นวันมับอัษ ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของศาสดาอย่างเป็นทางการ
อันนี้ เป็นการอธิบายโดยสังเขป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเพิ่งมาเลือก ณ ที่ตรงนี้ ว่าใครดีที่สุด เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย ทว่า อัลลอฮ(ซ.บ) ทรงเลือกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
อาจจะสามารถยืนยันด้วยฮาดิษบทหนึ่ง ที่พี่น้องอะฮลิซุนนะฮ์ ก็มีรายงานเช่นกัน ซึ่งผมก็เคยอ่าน —จริงๆแล้ว มีฮาดิษอีกหลายบท (ในลักษณะเช่นฮาดิษที่กำลังจะกล่าวถึง)
มีฮาดิษบทหนึ่ง ที่ท่านนบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ) ได้พูดไว้หนึ่งประโยค ที่สำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับการอธิบายคำว่า ส่ง คำว่าเทิด คำว่า ยกขึ้นมา (ในประเด็นการเบียะษัต)นั้ร ไม่ได้แปลว่า ยกขึ้นมาในหมู่ของมนุษย์ โดยเป็นใครก็ได้ มิใช่เช่นนั้น
ท่านนี(ศ็อลฯ)ของเราได้กล่าวเอาไว้ว่า:
کُنْتُ نَبِیّآ و آدَمُ بَیْنَ الْماءِ وَ الطِّینِ
ความว่า — ‘ฉันเป็นนบี ในขณะที่อาดัมยังเป็นน้ำกับดิน’ — กล่าวคือ น้ำกับดินยังไม่ได้ผสมกัน
‘น้ำกับดินยังไม่ได้ผสมกัน’ หมายความว่า ท่านนบีอาดัม(อ.) จะเป็นมนุษย์ได้หรือไม่? — ซึ่งตรงนี้ ให้ความหมายว่า เป็นมนุษย์ก็ยังไม่ได้ แต่ทว่าท่านนบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ) บอกว่า:
کُنْتُ نَبِیّآ ‘ฉันเป็นบีแล้ว’ ตั้งแต่น้ำกับดิน ยังไม่ผสมกัน ณ ที่อาดัม เลย
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า การเป็นนบีนั้น เขามาเลือกกันที่นี่ มิใช่เช่นนั้น — ทว่าในส่วนของรายละเอียด อินชาอัลลอฮ์ จะทำการอธิบายในโอกาสอื่น
ทีนี้ เรามาดูเป้าหมายของ “มับอัษ”….
[โปรดติดตามตอนต่อไป]
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم