โอวาทวันนี้ 19-06-2560

126

นะบูวะห์ (ตอนที่ 21)

♡ ความเป็นศาสดา ♡

● ความนิรันดร์ของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

นักวิชาการได้ค้นพบความนิรันดร์ที่ปรากฏในคัมภีร์นี้ในมิติต่างๆอย่างมากมายในขณะที่คัมภีร์อัลกรุอานถูกประทานลงมาเป็นเวลามากกว่า 14 ศตวรรษ กอปรกับความมหัศจรรย์ที่คัมภีร์อัลกรุอานมีความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างมาเทียบเคียงได้

จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า อัลกุรอาน คือ วจนะที่ดีที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา คำสั่งสอน ถ้อยคำ ความหมาย ตลอดจนแบบอย่างและอุทาหรณ์ต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์ตระหนักได้ว่า คัมภีร์นี้มิใช่อื่นใดเลย นอกจากเป็นข้อตักเตือน เป็นอุทาหรณ์ เป็นครรลองในการดำเนินชีวิต และเป็นบทเรียนให้มนุษย์ทั้งหลายได้ใคร่ครวญถึงความมหัศจรรย์และสัญลักษณ์นานัปการที่ปรากฏอยู่ในอัลกรุอานในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ความนิรันดร์ของคัมภีร์อัลกุรอานได้ประมวลศาสตร์ในด้านต่างๆไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งบางครั้งระบุตัวบทที่ชัดเจนและบางครั้งได้อธิบายในเชิงชี้แนะภาษาและความหมายในแง่มุมต่างๆได้อย่างหลากหลาย ซึ่งในยุคนั้น ได้อธิบายความลึกซึ้งของอัลกรุอานในเรื่องของฟาศอฮะฮฺและบาลาเฆาะฮฺ

● ฟาศอฮะฮฺและบาลาเฆาะฮฺ คืออะไร

คำว่า “ฟาศอฮะฮฺ” หมายถึง ความถูกต้องและสมบูรณ์ของภาษา ส่วน “บาลาเฆาะฮฺ หมายถึง โวหารวาทะกรรม หรือธรรมโวหาร ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย เป็นวาทะศิลป์ที่สูงส่ง

ตัวอย่าง : นะฮฺญุลบาลาเฆาะฮฺของท่านอิมามอาลี(อ)

นะฮฺญุลบาลาเฆาะฮฺของท่านอิมามอาลี(อ) เป็นธรรมโวหารที่เต็มไปด้วยปรัชญาขั้นสูง เป็นทั้งกรอบแนวความคิดและหลักคิด เป็นทั้งขุมทรัพย์ทางปัญญาที่ลึกซึ้ง กว้างขวาง ประณีต และตรึงใจ เพื่อชี้แนะต่อมนุษยชาติทั้งหลาย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้อ่านทุกยุคทุกสมัยเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยนั้นได้แล้ว ยังสามารถนำโวหารนี้มาใช้ในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ดังนั้น อัลกุรอานในฟาศอฮะฮฺของมันและบาลาเฆาะฮฺของมัน จึงถูกนับว่าเป็นหนึ่งในมุอฺญิซาต

ตัวอย่างจากอัลกุรอาน อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 38

وَ السَّارِقُ وَ السَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا جَزَاءَ بِمَا كَسَبَا نَكَالًا مِّنَ اللَّهِ وَ اللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيم

“และชายที่ขโมยและหญิงที่ขโมยนั้นจงตัดมือของพวกเขาทั้งสอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองได้แสวงหา เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษจากอัลลอฮฺและอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพทรงปรีชาญาณ”
คำอธิบาย : บาลาเฆาะฮฺในโองการนี้ พูดเรื่องขโมย เริ่มต้นด้วยผู้ชายก่อนแล้วตามด้วยผู้หญิง เพื่อชี้ว่า ส่วนมากในเรื่องการขโมยนั้นผู้ชายอยู่ในแนวหน้า ส่วนผู้หญิงอยู่ในแนวหลัง ซึ่งก็สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะส่วนมากของหัวขโมยเป็นผู้ชาย

อีกโองการหนึ่ง ซูเราะฮฺอันนูร โองการที่ 2

الزَّانِيَةُ وَ الزَّانىِ فَاجْلِدُواْ كلَُّ وَاحِدٍ مِّنهُْمَا مِاْئَةَ جَلْدَة

“หญิงที่ทำซินาและชายที่ทำซินา พวกเจ้าจงโบยพวกเขาทั้งสองหนึ่งร้อยครั้ง”

คำอธิบาย : ความเป็นบาลาเฆาะฮฺในโองการนี้ ต้องการอธิบาย ประเด็น “เรื่องซินาการผิดประเวณี” ที่เริ่มด้วยผู้หญิงก่อน ก็เพื่อชี้ว่า เรื่องซินา ผู้หญิงอยู่ในแนวหน้า ฉะนั้นฝ่ายที่สำคัญ คือ ฝ่ายหญิง และส่วนมากการทำซินาต้องมีการยินยอมหรือการยอมรับจากฝ่ายหญิง

ดังนั้น หากฝ่ายหญิงไม่เปิดโอกาส ไม่ยินยอม แน่นอน การผิดประเวณี ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น เช่นนี้แล้ว การป้องกันการผิดประเวณี จำต้องป้องกันจากผู้หญิงก่อน

ฮิกมะฮฺในดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า อัลกุรอาน คือ มุอฺญิซาตในยุคนั้น เพราะในยุคก่อนการมาของอิสลามนั้น มีผู้ค้าประเวณีกันอย่างแพร่หลายและทั้งหมดของผู้ค้าประเวณีนั้นเริ่มด้วยผู้หญิง และประเด็นอื่นๆก็เช่นกัน เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับมนุษย์ ฮิกมะฮฺต่างๆ จึงปรากฏขึ้นตามยุคสมัยต่างๆ

ตัวอย่าง : เหตุการณ์ในสมัยศาสดามูซา(อ)และศาสดาอีซา(อ)

ในยุคสมัยศาสดามูซา(อ) เป็นยุคที่มายากลกำลังรุ่งเรือง ศาสดามูซา(อ) จึงนำมุอฺญิซาตที่สูงส่งกว่ามายากลมาสำแดง ต่อมาในยุคสมัยท่านศาสดาอีซา(อ) เรื่องการแพทย์ พบว่า ยุคนี้การแพทย์รุ่งเรืองที่สุด กอปรกับยุคนี้มีโรคเรื้อน มีโรคตาบอดแต่กำเนิด หรือแม้แต่ความตาย เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีใครสามารถรักษาให้ฟื้นจากความตายได้ ทว่าสามโรคนี้ ศาสดาอีซา(อ) ได้สำแดงมุอฺญิซาต รักษาให้หายได้

ซึ่งหากศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุคศาสดาอีซา(อ) แม้ความเจริญทางด้านการแพทย์จะรุ่งเรืองสักขนาดไหน แน่นอน มนุษย์ย่อมรู้ว่าสิ่งที่ศาสดาอีซา(อ)นำมาสำแดงนั้น เป็นสิ่งที่น่าฉงน เพราะเกินสติปัญญาและความสามารถของมนุษย์ที่จะกระทำได้ นัยยะนี้ เพื่อชี้ว่า ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งนี้ได้

และเช่นเดียวกัน เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังการมาของอิสลาม จะพบว่า การแต่งกาพย์โคลงกลอนเป็นที่แพร่หลายทั้งในหมู่ชาวอาหรับ บ่งบอกถึงวิถีการดำเนินของชาวมักกะฮฺในยุคนั้น เมื่อว่างเว้นจากการทำงาน พวกเขาจะไปรวมตัวที่กะอฺบะฮฺกัน เพื่อร่ายกาพย์กลอนกวี(กลอนกวียุคญาฮีลียะฮฺ )กันอย่างสนุกสนาน และในช่วงเวลานั้นอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา ด้วยภาษาที่สละสลวย และมีความงดงามทางด้านฟาศอฮะฮฺและบาลาเฆาะฮฺที่สูงส่ง มาพร้อมกับความหมายที่ลึกซึ้ง จึงสร้างความงงงวยให้แก่ชาวอาหรับเป็นอย่างมาก

● การค้นพบความมหัศจรรย์แห่งอัลกรุอาน

อีกมุอฺญิซาตหนึ่ง คือ ผู้ที่รับโองการนี้เป็นอุมมี ซึ่ง คำว่า “อุมมี” ในที่นี้หมายถึง ผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือแปลรวมไปถึง ผู้ที่ไม่เคยเรียนหนังสือรวมไปด้วย เพราะการเรียน การอ่านและการเขียนก็คือ สื่อที่นำไปสู่ความรู้

ดังนั้น เมื่อ “อุมมี” คือ ผู้ที่มาสอน สามารถสอนด้วยภาษาที่งดงาม มีอรรถรส และมีชีวิตชีวา ซึ่งแต่เดิมท่านไม่เคยเรียน เขียนไม่เป็นอ่านไม่ออก ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อลฯ) คือ ผู้ที่นำมาเป็นอุมมี และท่านเป็นผู้ที่ได้รับโองการนี้ นำอัลกุรอาน คัมภีร์อันสูงส่ง ที่เปี่ยมไปด้วยกวีและเนื้อหาที่นักปราชญ์แม้อัจฉริยะปานใดก็ไม่สามารถทำได้นั่นเอง

● อัลกรุอานกับสรรพสิ่งที่สอดคล้องกัน

อัลกรุอาน สามารถชี้และพิสูจน์มุอฺญิซาตว่าเป็นคัมภีร์ที่แตกต่างไปจากคัมภีร์เล่มอื่นๆ หมายความว่า คัมภีร์อัลกรุอานเป็นคัมภีร์ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ที่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และทุกสรรพสิ่งอย่างมีแบบแผน รวมไปถึงการนำเสนอวิถีการดำเนินชีวิตให้แก่มนุษย์ได้อย่างสอดคล้องในทุกแง่ทุกมุม และเพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าอัลกรุอานไม่ได้ขัดแย้งกันในด้านความหมาย

ทว่าเป็นไปได้ว่า มนุษย์เขียนหนังสือเรื่องหนึ่ง อาจจะไม่เกิดความขัดแย้งใดๆได้ แต่แน่นอนว่า หากมนุษย์เขียนหลายๆเรื่อง และทุกสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์ถูกเขียนไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น การเมือง เศรษฐกิจ การปกครอง การสงคราม ความเมตตา การล้างแค้น โดยใช้ระบบที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเองนั้น ในประวัติศาสตร์พบว่า มนุษย์ประสบกับผิดหวังตลอดมา เพราะระบบที่มาจากมนุษย์ล้วนมีความขัดแย้งทั้งภายนอกและขัดแย้งกันเองกันอย่างมากมาย

ขัดแย้งภายนอก หมายถึง ขัดแย้งกับความเป็นจริงหรือพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งนี้ไม่มีอยู่ในอัลกุรอาน ดังนั้น การไม่มีความขัดแย้งในเนื้อหานั้นคือ สิ่งที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ซึ่งอัลลอฮฺ(ซบ) ทรงยืนยันดังนี้

ซูเราะฮฺอัลนิซาอฺ โองการที่ 82

أَ فَلَا يَتَدَبَّرُونَ الْقُرْءَانَ وَ لَوْ كاَنَ مِنْ عِندِ غَيرِْ اللَّهِ لَوَجَدُواْ فِيهِ اخْتِلَافًا كَثِيرًا

“พวกเขาไม่พิจารณาดูอัลกุรอานบ้างหรือ และหากอัลกุรอานมาจากผู้อื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนพวกเขาจะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันอย่างมากมาย”

คำอธิบาย : ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์มาแล้วว่า หนังสือที่มนุษย์เขียนขึ้นมานั้น เมื่อวันเวลาผ่านไป มนุษย์จะพบกับความขัดแย้ง ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น การร่าง“รัฐธรรมนูญ” เบื้องต้น ผู้คนจำนวน 300 – 400 คน ได้คิดค้นร่วมกันร่าง และกว่าจะลงมติอย่างเอกฉันท์ ต้องใช้เวลาถกเถียงกันเป็นปีๆ

ทว่าเมื่อใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญนี้ไประยะเวลาหนึ่ง กลับพบข้อขัดแย้ง บางครั้งกฎหมายลูกขัดกับกฎหมายแม่ บางครั้งขัดกับความเป็นจริง ทั้งที่ก่อนจะลงมติมีการตรวจสอบจากหลายๆฝ่ายอย่างละเอียดแล้ว

ความแตกต่างที่เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม อัลกุรอานเป็นคัมภีร์เดียวเท่านั้นที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่เคยมีการสังคายนาใดๆ และไม่เคยถูกชำระใดๆทั้งสิ้น

ดังกล่าวนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า อัลกรุอาน คือ คัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ที่ถูกรักษาไว้ ด้วยภาษาอาหรับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงอักษรเดียว และมุสลิมทั่วโลกต่างอ่านคัมภีร์เล่มเดียวกัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย หรือนานเพียงใดก็ตาม

● ความมหัศจรรย์ของคัมภีร์อัลกรุอาน

อัลกุรอานรู้ได้อย่างไร แม้ในยุคที่ไม่มีเครื่องมือล้ำยุคและไม่มีแม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ เหตุใดอัลกุรอานกลับเป็นกุญแจไขปัญหาสิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างสมบูรณ์

คำตอบ : เพราะความรู้ในอัลกุรอานมีมากมาย มีอย่างไม่มีวันจบสิ้น และความลึกซึ้งทางด้านวิทยาการใหม่ๆที่สำคัญๆมีมาก ซึ่ง ณ ช่วงหนึ่งอาจจะเกินสติปัญญาของมนุษย์ที่จะรับได้ ทว่าอัลลอฮฺ(ซบ) ทรงประสงค์จะยืนยันให้มนุษย์ได้ใช้สติปัญญาในการใคร่ครวญถึงความมหัศจรรย์ของคัมภีร์อัลกุรอานและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ภายหลังพระองค์จึงค่อยๆทยอยส่งหลักฐานทางวัตถุและปรากฏการณ์ต่างๆให้มนุษย์ได้ใช้สติปัญญาในการรับรู้ทีละน้อยๆตามลำดับ และกว่านักวิชาการจะค้นพบวิทยการใหม่ๆที่อัลกุรอานได้บอกไว้ล่วงหน้าถึง 14 ศตวรรษให้หลัง ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเป็นอย่างมาก

หลังจากอัลกุรอานได้ถูกพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงด้วยเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ บ่งชี้ว่า มนุษย์พึ่งค้นพบความล้ำยุคล้ำสมัยในวิชาการและคำสั่งสอนของอัลกุรอานที่สามารถใช้ได้กับทุกยุคสมัย แน่นอน สิ่งสำคัญที่ถูกค้นพบในแต่ละยุคมีมากมายหลายเรื่อง ทว่าในแต่ละเรื่องล้วนเป็นไปตามที่อัลกุรอานได้ระบุล่วงหน้าไว้ทั้งสิ้น

ตัวอย่าง : เรื่องน่าฉงนเกี่ยวกับการเดินทางไปยังดวงจันทร์

มุอฺญิซาตของคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับการเดินทางไปยังดวงจันทร์ แน่นอนหากมีผู้ใดพูดในยุคหนึ่งพันสีร้อยปีที่แล้ว เขาจะต้องถูกกล่าวหาว่า เป็นคนที่มีสติฟั่นเฟือน แม้แต่พวกอาหรับกันเองก็ยังกล่าวหาว่า บ้าเพ้อเจ้อทั้งนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะไปเหยียบดวงจันทร์ได้

แต่ทันที อะพอลโล 11 (16 กรกฎาคม ค.ศ. 1969) ยานอวกาศลำแรกลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จและลูกเรือประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง (Neil Alden Armstrong) ผู้บังคับการ, เอดวิน อัลดริน (Adwin Aldrin) และ ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) 3 ท่านนี้ไปยังดวงจันทร์สำเร็จ และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย

ประเด็น “อะพอลโล 11” ไปถึงดวงจันทร์ได้ อุลามาอฺอิสลาม บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะอัลกุรอานได้บอกเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว

ซูเราะฮฺอัรเราะฮฺมาน โองการที่ 33

يَامَعْشَرَ الجِْنِّ وَ الْانسِ إِنِ اسْتَطَعْتُمْ أَن تَنفُذُواْ مِنْ أَقْطَارِ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ فَانفُذُواْ لَا تَنفُذُونَ إِلَّا بِسُلْطَان

“โอ้ชุมนุมแห่งญินและมนุษย์ทั้งหลาย เอ๋ย !!! หากพวกเจ้ามีความสามารถที่จะผ่านไปให้พ้นจากขอบฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้ได้ ก็จงผ่านไปให้พ้นเถิด แต่ว่าพวกเจ้าไม่สามารถที่จะผ่านไปให้พ้นได้ เว้นแต่ด้วยพลัง(พระบัญชาและพระประสงค์ของอัลลอฮฺ)”

คำอธิบาย : เนื้อหาในโองการนี้เป็นวิชาการที่ล้ำยุคเป็นอย่างมาก บ่งชี้ว่าในยุคที่มนุษย์ยังคงใช้อูฐเป็นยานพาหนะ แต่คัมภีร์เล่มนี้นอกจากกล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพิชิตห้วงอวกาศแล้ว ยังกล่าวถึงมุอฺญิซาตอื่นๆ เช่น ทางตัวเลข ฟิสิกส์ เคมีและในวิชาการต่างๆ อีกมากมาย มาก่อนหน้าเป็นศตวรรษแล้ว

ตัวอย่าง : มุอฺญิซาตตัวเลขในอัลกุรอาน

นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอัลกุรอานและได้ค้นพบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของตัวเลขในอัลกุรอานทางด้านวิทยาศาสตร์ดังนี้

– ตัวเลขในอัลกุรอานมีคำว่า “เดือน” สิบสองครั้ง แน่นอนมนุษย์จะประพันธ์หนังสืออย่างไรให้มีคำว่า “เดือน”ให้ครบจำนวนสิบสองครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก

– ทีนี้มาพิจารณา เหตุใดจึงพบ คำว่า “วัน”ในอัลกรุอานมีจำนวน 365 ครั้ง คำว่า “มุนาฟิก” มีจำนวน 72 คำ และคำว่า “มุอฺมิน” มีจำนวน 72 คำ แน่นอนไม่ใช่เรืองง่ายที่จะให้สอดคล้องกันทุกเรื่อง

ถามว่าข้อเท็จจริงนี้เป็นเรื่องบังเอิญหรือ?

แล้วใครกันเล่าที่สอนเรื่องเหล่านี้ให้แก่ศาสดามูฮัมหมัด(ศ)

คำตอบจะเกิดขึ้นในใจทันที อัลลอฮ(ซบ) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่เท่านั้นที่สอนท่าน

และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ทั้งๆที่อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มีในยุคที่ยังไม่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ กอปรกับศาสดาเป็นคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น เป็นผู้นำมาสอนด้วย และจนถึงวันนี้คำสอนในคัมภีร์เล่มนี้ก็ยังไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงใดๆ อีกทั้งไม่เคยพบความล้าสมัยของมันแม้แต่เรื่องเดียว

ตัวอย่าง อัลกรุอานห้ามกินดอกเบี้ย ห้ามดื่มเหล้า ห้ามทำผิดประเวณี

ความจริงแล้ว กรุอานมีคำสั่งใช้ ห้ามกินดอกเบี้ย ห้ามดื่มเหล้า ห้ามทำผิดประเวณี เมื่อ 14 ศตวรรษที่แล้ว ทว่าปัจจุบันมนุษย์พึ่งยอมรับว่า ดอกเบี้ย คือ สิ่งที่อันตรายทางด้านเศรษฐกิจ การห้ามดื่มเหล้าทำผิดประเวณีก็เช่นกัน วันนี้มนุษย์ก็ยอมรับแล้วถึงผลของความชั่วร้ายที่มาจากการดื่มเหล้า การทำผิดประเวณี เช่นนี้ เป็นที่ชัดแจ้งว่า ไม่มีคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามใดๆที่ชี้ว่า สิ่งที่อัลกรุอานกล่าวล่วงหน้านั้น จะล้าสมัยแม้แต่เรื่องเดียว


ติดตามอ่านต่อ นะบูวะห์ (ตอนที่ 22)